bloggang.com mainmenu search
แนวทางการพัฒนากล้วยไม้สกุล Doritis ตอนที่ 4 ม้าวิ่งแคระ

ถึงตอนที่ 4 ม้าวิ่งแคระ Doritis regnieriana แล้วนะครับ ตอนแรกนึกว่าจะเขียนได้ง่าย แต่เอาเข้าจริงพบว่าเขียนยากพอสมควร ลองพิจารณากันเลยครับ

- ใน Gruss, 1995 และ Masaaki, 2002 ไม่ได้พูดถึง ม้าวิ่งแคระแต่อย่างไร

- ข้อมูลส่วนใหญ่จึงได้มาจาก Christenson, 2001 ซึ่งผมเห็นว่าบางส่วนผมเห็นผ้อง แต่บางส่วนให้รายละเอียดไม่เพียงพอ หากนำมาเทียบกับที่ผมเคยเห็นม้าวิ่งแคระตามแหล่งปลูกเลี้ยงต่างๆ โดยไม่เคยเห็นสภาพม้าวิ่งแคระในธรรมชาติ (ขอออกตัวไว้ก่อนนะครับ)

ข้อน่าสังเกตลักษณะของม้าวิ่งแคระ

1. สัณฐานวิทยาของดอกม้าวิ่งแคระ

ตามการแบ่งของ Christenson, 2001 แยกขนาดกลีบดอกด้านบนสุด (dorsal sepal) ดังนี้

:- กลีบดอกด้านบนสุด (dorsal sepal) ของแดงอุบลมีความยาว 2.2 cm.

:- กลีบดอกด้านบนสุดของม้าวิ่งกับม้าวิ่งแคระให้เท่ากัน คือ มีความยาว 1.2 cm โดยให้แยกความแตกต่างของม้าวิ่งกับม้าวิ่งแคระที่ส่วนของปาก (lip) คือ

:- ที่ lateral lobules of midlobe ของม้าวิ่ง (รูปร่างเป็น erect and subparallel) จะมีขนาดใหญ่กว่าของม้าวิ่งแคระ (รูปร่างเป็น involute)

ถ้าดูภาพสเก็ตของ Christenson, 2001 จะวาดไว้ให้ lateral lobules ของม้าวิ่งแคระ ตั้งขึ้นมาน้อยมาก ซึ่งไม่น่าจะจริงนัก ดูภาพประกอบนะครับ ผมว่า lateral lobules of midlobe ของม้าวิ่งแคระก็จะตั้งขึ้นและเป็นรูปร่างเป็น subparallel เช่นเดียวกับม้าวิ่ง

:- ส่วนที่เห็นได้ชัดระหว่างม้าวิ่ง กับม้าวิ่งแคระอยู่ที่ตรงขนาดของ midlobe โดยม้าวิ่งมีขนาด midlobe ใหญ่กว่าม้าวิ่งแคระ และไม่เป็นรูป (lip tapered) แต่ม้าวิ่งแคระ midlobe จะมีรูปร่างเป็น tip tapered

:- สังเกตส่วนของ callus (Doritis ทั้งหมดมี callus ที่มีลักษณะเป็นเส้า 2 เส้าตั้งขนานกัน ตรงส่วนฐานของปาก ใน Phalaenopsis ทั้งหมดไม่มีโครงสร้างนี้, ในตอนที่ 2 แดงอุบล ผมใช้คำว่า "X" structure ที่ถูกมันคือ callus นะครับ) ซึ่งเจ้า callus จะถูกนำมาใช้แยกม้าวิ่ง แดงอุบล ม้าบิน และม้าวิ่งแคระออกจากกันได้อีกด้วย

โดยที่ ม้าวิ่ง แดงอุบล ม้าบิน เจ้า callus จะเป็นเส้า 2 เส้าโผล่ขึ้นมา แล้วด้านบนจะเป็นรูปกลมๆ สีเหลืองอยู่ แต่ในม้าวิ่งแคระส่วนของ callus จะเป็นแผ่นแบนๆ เล็กๆ (อาจมีสีเหลือง หรือไม่มีสีก็ได้) โดยไม่มีตุ่มรูปกลมๆ อยู่ด้านบน (callus bifid)

ภาพที่ 1 มาดูดอกของม้าวิ่งแคระกันครับ



2. ลักษณะของต้นและใบของม้าวิ่งแคระ

:- ใน Christenson, 2001 บรรยายให้ม้าวิ่งเฉยๆ กับม้าวิ่งแคระ เหมือนกันทุกประการ ในเรื่อง

2.1 การเป็นพืชแบบ terrestrial plant รวมถึงการเจริญเติบโตก็คล้ายกันอีก (จริงๆ Doritis ทั้งหมดเป็น terrestrial habit)

2.2 leaf morphology (สัณฐานวิทยาของใบ), inflorescenece structure (รูปร่างของช่อดอก), dimensions และรูปร่างของดอก ให้ม้าวิ่งกับม้าวิ่งแคระ เหมือนกันหมด ยกเว้นขนาดของ midlobe ของม้าวิ่งแคระจะเป็น tip tapered และ callus bifid ที่กล่าวข้างต้นว่าแตกต่าง

2.3 ย้อนกลับไปนิดในตอนที่ 1, 2 และ 3 ผมไม่ได้พูดถึงรูปร่างใบของม้าวิ่ง แดงอุบล และม้าบินมาก่อนเลย

:- เนื่องจาก ลักษณะของรูปร่างใบในม้าวิ่ง แดงอุบล และม้าบิน มีรูปร่างได้หลายแบบ (oblong to elliptic, ellipitic-obovate, acute, concave) จึงไม่สามารถแยกม้าวิ่ง แดงอุบล และม้าบิน ออกจากกันได้โดยดูจากลักษณะของใบ แต่ต้องดูลักษณะสัณฐานวิทยาของดอกเป็นสำคัญ

บางครั้งพบใบของแดงอุบลเหมือนม้าวิ่งมาก มีขนาดเล็กเท่าม้าวิ่งทั่วไป แต่เมื่อออกดอกเป็นแดงอุบลสะงั้น หรือบางทีก็พบขนาดของต้นและขนาดของใบเหมือนแดงอุบล แต่เมื่อออกดอกกลายเป็นม้าวิ่งสะงั้น รวมถึงม้าวิ่ง กับม้าบิน ก็ไม่สามารถแยกจากกันโดยดูจากสัญฐานวิทยาของใบได้เช่นเดียวกัน ส่วน pigmentation ที่ปรากฏบนใบของม้าวิ่ง ม้าบิน หรือแดงอุบล ไม่ได้บ่งบอกว่าสีของดอกจะมีลักษณะไปในทิศทางเดียวกันอีกด้วย (ยกตัวอย่าง ใบมีสีม่วงแดง ไม่ได้บอกว่าจะมีดอกสีม่วงเข้มเสมอไป หรือใบมีสีเขียวอ่อน ไม่ได้บอกว่าจะได้สีของดอกเป็นสีโทนอ่อนเสมอไปเช่นเดียวกัน)

:- ส่วนของสัณฐานวิทยาใบของม้าวิ่งแคระผมเห็นน่าจะมี 2 พวกด้วยกัน คือ

a. รูปร่างของใบม้าวิ่งแคระเหมือนม้าวิ่งทั่วๆ ไป (ให้ดูดอกเป็นสำคัญจึงจะแยกม้าวิ่งออกจากม้าวิ่งแคระได้) พวกนี้สามารถพบในประเทศไทย แถบอีสานบ้านเราครับ (ใน Christenson, 2001 ให้ม้าวิ่งแคระเป็น endemic to Thailand แต่ไม่ได้ระบุว่าเจอที่ไหน)

b. รูปร่างของใบจะค่อนข้างกลม การเจริญเติบโตช้า ใบเรียงเป็นวงกลม พวกนี้น่าจะเจอเฉพาะที่แผ่นดินลาวเท่านั้น (รอผู้ยืนยัน)

ภาพที่ 2 เป็นลักษณะต้นและใบของม้าวิ่งแคระ ที่ใบค่อนข้างกลม ติดกันเป็นแผง เป็นต้นเดียวกับภาพที่ 1 ที่มีแหล่งกำเนิดอยู่ในแผ่นดินลาว



ภาพที่ 3 เป็นม้าวิ่งแคระที่พบในแถบอีสาน บ้านเรา ให้สังเกตสัณฐานวิทยาของดอก...ใช่เลยม้าวิ่งแคระ



ภาพที่ 4 แต่ใบเหมือนม้าวิ่งทั่วไป แต่ดอกเป็นม้าวิ่งแคระ เป็นต้นและใบของดอกม้าวิ่งแคระในภาพที่ 3



ภาพที่ 5 มาดูลักษณะของใบ
A= แดงอุบล Doritis buyssoniana ที่มีขนาดใหญ่โตพอๆ กับ Phalaenopsis

B= แดงอุบล Doritis buyssoniana ที่มีขนาดปกติ ซึ่งม้าวิ่ง Doritis pulcherrima หรือ ม้าบิน Doritis pulcherrima var. choompornensis ก็เจอลักษณะของใบแบบนี้ได้เช่นเดียวกัน

C= ม้าวิ่งแคระ Doritis regnieriana รูปร่างใบขนาดเล็ก รูปร่างกลม การเจริญเติบโตช้า ใบเจริญติดๆ กันเป็นแผง เป็นลักษณะของม้าวิ่งแคระที่พบในแผ่นดินลาว



ภาพที่ 6 มาดูม้าวิ่งแคระสีอื่นๆ นะครับ ในภาพฟอร์มดอกตึง ไม่ลู่เหมือนม้าวิ่งแคระทั่วๆ ไป



ภาพที่ 7 ชมกันเพลินๆ ของม้าวิ่งแคระสามสี (พบได้เหมือนม้าวิ่งสามสี แดงอุบลสามสีเช่นเดียวกัน)



ภาพที่ 8 ม้าวิ่งแคระสีม่วงอ่อนๆ ดูคล้ายสีบูลเหมือนกัน



ภาพที่ 9 ม้าวิ่งแคระสีโทนอ่อนๆ



ภาพที่ 10 ม้าวิ่งแคระ ที่หู (เขี้ยวเหลือง) (ในแบบของม้าวิ่งหูเหลืองได้เช่นเดียวกัน)



ถึงตรงนี้หากเราต้องการพัฒนากล้วยไม้ม้าวิ่งแคระ ต้องเริ่มจากอะไรได้บ้างนะครับ

1. คำนึงถึงการรวบรวมสายพันธุ์แท้ของม้าวิ่งแคระ โดยใช้หลักการเช่นเดียวกับม้าวิ่ง (ตอนที่ 1) แดงอุบล (ตอนที่ 2) และม้าบิน (ตอนที่ 3) คือการคัดไม้ฟอร์ม จากความหลากหลายของม้าวิ่งแคระในแง่ของ สีกลีบดอก หู ปาก ไม่แตกต่างจากม้าวิ่งทีเดียว

2. คำนึงถึงลักษณะของการเจริญเติบโตของม้าวิ่งแคระจะเติบโตช้ากว่า ม้าวิ่ง แดงอุบล และม้าบิน แต่ถ้าใช้ลักษณะของม้าวิ่งแคระที่ได้จากแผ่นดินลาว แล้วคัดเลือกรูปทรงของต้นและใบให้ดูกระทัดรัดเหมาะต่อการเป็นไม้กระถางขนาดเล็กๆ ก็คิดว่าเป็นอีกแนวทางหนึ่งนะครับ

ภาพที่ 11 เป็นต้นม้าวิ่งแคระที่ผู้ปลูกเลี้ยงคัดเลือกลักษณะให้ทรงต้น ขนาดของใบ ให้เหมาะต่อการเป็นไม้กระถาง



คำถามเกี่ยวกับม้าวิ่งแคระที่มักถูกพูดถึง (ขำ ขำ)

1. ทำมัยชื่อม้าวิ่งแคระ
:- ง่ายๆ ก็มันเป็นม้าวิ่งแคระ อะไรก็เหมือนม้าวิ่งไปเสียหมด แต่ให้สังเกตดูที่ขนาดของปากของม้าวิ่งแคระจะยาวๆ เป็นรูป tip tapered โดยม้าวิ่งแคระที่พบในแถบอีสานบ้านเฮ้า ใบจะเหมือนม้าวิ่ง (ดูใบแยกม้าวิ่งเฉยๆ กับม้าวิ่งแคระไม่ได้) แต่ถ้าม้าวิ่งแคระจากแผ่นดินลาว ดูใบก็แยกได้แล้ว คือใบกลม ใบอัดกันแน่น ง่ายๆ ชิลๆๆ

2. เจอม้าวิ่งแคระยากหรือปล่าว
:- ไม่ยาก แค่มีเงินไปแผ่นดินลาว แล้วไปหาดู หรือรอที่ลานดิน เจเจก็ได้ ง่ายๆ ชิลๆๆ เช่นกัน

3. เจอม้าวิ่งแคระเผือกหรือปล่าว
:- ไม่ยาก กลับไปอ่านคำตอบของม้าวิ่งเผือก ตอนที่ 1

4. เจอม้าวิ่งแคระบูลป่าว
:- ไม่เจอหรือไม่แน่ใจ

5. เป็นม้าวิ่งแคระแท้หรือปล่าว
:- ไม่ค่อยมีคนถามแฮ่ะ....ทำมัยไม่ถามก็ไม่รู้....ไม่มีความเห็น

ฯลฯ

จบตอนที่ 4 ม้าวิ่งแคระ
Create Date :11 กันยายน 2550 Last Update :13 กันยายน 2550 20:17:52 น. Counter : Pageviews. Comments :16