bloggang.com mainmenu search
สวัสดีครับ อากาศเริ่มเย็น ๆ มาแล้ว ท้องฟ้าแจ่มใส วันนี้เลยขออาสาพาเที่ยวสวนกล้วยไม้สวนหนึ่งใจกลางเมืองเชียงใหม่ ผมจะพาไปรู้จักกับไม้ไทย ๆ ที่สวยและหอม ตัวหนึ่งกัน !

เอื้องสามปอยขุนตาน Vanda denisoniana เป็นกล้วยไม้ที่พบแถบทางเหนือบนเทือกเขาขุนตานที่จังหวัดลำพูน ชื่อของสามปอยชนิดนี้ก็มาจากชื่อ เขาขุนตาน นั่นเองครับ หลาย ๆ ท่านมักจะเขียนผิดเป็น สามปอยขุนตาล ซึ่งกลายเป็น ตาลโตนดไป ทำให้กลายเป็นว่า สามปอยชนิดนี้ขึ้นบนตาลโตนดแทน เย้ย !



สามปอยขุนตานนั้นเป็นสามปอยที่ทรงสเน่ห์มากชนิดหนึ่งของประเทศไทยเรา ครั้งหนึ่งผมได้ลองพูดคุยกับนักเพาะเลี้ยงกล้วยไม้ท่านหนึ่ง ท่านได้ให้ความเห็นว่า "สามปอยขุนตานนั้นเป็นกล้วยไม้ที่หอม กลิ่นของสามปอยขุนตานนั้นจะแตกต่างจากสามปอยชนิดอื่นที่หอมหวาน ไม่ได้หอมฉุน" ส่วนหอมหวานหรือหอมฉุนเป็นอย่างไร คงต้องลองดมดูกันเองละครับแบบนี้ "สามปอยขุนตานจะเป็นสามปอยที่มีลักษณะกลีบมัน สีเหลืองนวล บางต้นจะสีคล้ายกับเปลือกกล้วย หรือถ้าเข้มมากก็จะเป็นสีส้มเหมือนเปลือกส้ม นอกจากนี้ยังมีสามปอยที่สีซีดมาก ๆ จนเป็นสีขาวเลยก็มี" ท่านกล่าวไปพลางพาเดินชมสวนไป

ด้วยกลิ่นที่หอมกลุ่นดุจอบเชยของมัน สามปอยขุนตานกลายมาเป็นกล้วยไม้ที่ได้รับความนิยมชนิดหนึ่งของไทยเรา



ไม่น่าเชื่อว่ากลิ่นหอมของสามปอยจะกลายมาเป็นที่ชื่นชอบของชาวต่างชาติอีกด้วย "เมื่อครั่งก่อนมีนักท่องเที่ยวชาวรัสเซียมาเที่ยวที่สวนละ ผมก็เอาดอกสามปอยให้นักท่องเที่ยวได้ลองดมกลิ่นดู ปรากฏว่านักท่องเที่ยวคนนั้นชอบติดใจมาก ถึงกับขอซื้อกล้วยไม้ที่ทำเป็นกล้วยไม้ขวดกลับบ้านไป" นักเพาะเลี้ยงท่านหนึ่งกล่าวกับผม เป็นที่น่ายินดีที่กล้วยไม้ไทยเราสามารถซื้อใจชาวต่างชาติได้ด้วยกลิ่น

ผมได้ลองค้นประวัติสามปอยเล่น ๆ ดู ก็พบเว็บไซค์มาก ๆ มายที่เขียนเรื่องราวเกี่ยวกับสามปอยขึ้น โดยเฉพาะสามปอยขุนตาน ซึ่งเป็นกล้วยไม้ที่ถูกนำไปผสมข้ามสายพันธุ์ ก่อให้เกิดแวนด้าหลากหลายสายพันธุ์ที่สวยงามที่เรามักพบเห็นได้ตามราวแขวนประกวดและในงานมหกรรมไม้ดอกต่าง ๆ ในบ้านเรา



ย้อนหลังกลับไปสมัยคุณตาคุณยายยังละอ่อน ผมได้ฟังเรื่องราวเกี่ยวกับสามปอยที่น่าสนใจ "เมื่อสมัยก่อน ในเชียงใหม่จะมีงานปอยเกิดขึ้นอยู่บ่อย ๆ ครั้ง และ หญิงสาวมักจะใช้กล้วยไม้ชนิดหนึ่งเหน็บไว้ที่หูและที่ผม เพื่อให้มีกลิ่นหอมอบอวน ใช้แทนกลิ่นอบเชย" เรื่องเล่านี้ทำให้ผมต้องกลับไปดูรูปวาดเก่า ๆ ตามฝาผนังในหมู่บ้านชนบท เรามักจะพบภาพวาดสาวลานนา ฟ้อน และบนหัว จะมีกล้วยไม้ชนิดหนึ่งเหน็บอยู่ มันคือเอื้องสามปอยนั่นเอง แน่นอนว่า ผู้เฒ่าผู้แก่ท่านก็บอกมาเองเลยว่า ดอกที่ใช้เหน็บคือสามปอย และด้วยฤดูกาลของกล้วยไม้ชนิดนี้ซึ่งมักจะบานทบกับช่วงที่มีงานปอยของชาวลานนาอยู่บ่อยครั้งนั่นเอง ทำให้มันได้ชื่อแบบไทย ๆ ว่า สามปอย ส่วนคำว่าสาม ผมสันนิษฐานขึ้นมาเองว่า น่าจะมาจากจังหวะของงานปอยที่จัดขึ้นอยู่สามช่วง และดอกของสามปอยก็คงไปบานช่วงนั้นพอดี ส่วนสามปอยหลวง ไม่แน่ใจว่าเกิดขึ้นเพราะไปบานช่วงงานสามปอยหลวงพอดีหรือว่าเอื้องสามปอยธรรมดาแต่มีขนาดดอกใหญ่เป็นพิเศษ ชาวบ้านจึงตั้งชื่อให้ว่าสามปอยหลวง ? ซึ่งก็หาข้อสรุปไม่ได้



ปัจจุบันสามปอยกลายเป็นกล้วยไม้ที่หายากขึ้นในบ้านเมืองของเรา การค้ากล้วยไม้ป่ามีจำนวนสูงมากขึ้น และเมื่อสื่ออินเตอร์เนตเข้ามามีบทบาทเรื่องของการค้า มันทำให้การค้าสินค้าที่ผิดกฎหมายอย่างกล้วยไม้ป่าเป็นไปอย่างคล่องตัว น่าเสียดายที่กล้วยไม้สามปอยขุนตานบ้านเราเริ่มลดน้อยลงทุกที แต่ก็น่ายินดีที่มีนักเพาะเลี้ยงกล้วยไม้ที่ยังช่วยคงอนุรักษน์สายพันธุ์กล้วยไม้ชนิดนี้ไว้ ในตอนนี้หากคุณได้ลองไปเดินในห้างหรือโรงแรมที่มีงานสังสรรค์เกิดขึ้น กล้วยไม้ที่ถูกตกแต่งในงานที่คุณพบนั้น อาจจะมีเลือดสามปอยขุนตานผสมอยู่ก็เป็นได้ ลองดมดูสิครับ !

Create Date :23 พฤศจิกายน 2552 Last Update :9 เมษายน 2554 23:14:43 น. Counter : Pageviews. Comments :3