bloggang.com mainmenu search


สุโขทัยพบแหล่งเตาเผาสำคัญ 3 แห่ง ได้แก่

เตาทุเรียงบริเวณเมืองเก่าสุโขทัย ใกล้กับวัดพระพายหลวงตามแนวฝั่งลำน้ำโจน
พบเตาเผาสังคโลกไม่น้อยกว่า 49 เตา เต็มไปด้วยร่องรอยมูลดินกับเศษถ้วยชาม
เป็นเตาเผาแบบอิฐ ทำเป็นรูปคล้ายประทุนเกวียน กว้าง 1.50-2.00 ม. ยาว 4-5 ม.
แบ่งเป็น 3 ตอน คือ ที่ใส่ไฟ ที่วางถ้วยชาม และปล่องไฟ

เครื่องปั้นดินเผาที่พบส่วนใหญ่เป็นภาชนะที่เป็นของใช้สอย เคลือบสีดำหรือสีน้ำตาล
เนื้อดินค่อนข้างหยาบชุบน้ำดินสีขาวลวดลายสีดำ แล้วเคลือบใสสีเขียวอ่อน
การเรียงถ้วยชามเข้าเตาเผาจะใช้กี๋ คือจานที่มีขา ปุ่ม 5 ปุ่ม วางคั่นระหว่างชามต่อชาม
ฉะนั้นภายในชามของเตาสุโขทัยจึงมีรอย 5 จุด ปรากฏอยู่

และยังมีการค้นพบเตาทุเรียงอีก 49 แห่งใน 3 พื้นที่ด้วยกัน คือ
พบเตาทุเรียง 37 แห่งทางทิศเหนือของคูเมือง ทิศใต้ใกล้กับกำแพงเมือง 9 แห่ง
และทิศตะวันออกอีก 3 แห่ง



กลุ่มเตาเผาบ้านเกาะน้อย ตั้งอยู่ทางตอนเหนือห่างจากเมืองศรีสัชนาลัย
ไปทางตอนเหนือประมาณ 5 ก.ม. ขุดพบเตาเผาเครื่องถ้วยสังคโลก
มากกว่า 500 เตา ในระยะทางยาวประมาณ 1 กิโลเมตร
มีทั้งแบบเตาตะกรับซึ่งเป็นเตาเผาแบบเดิม และเตาประทุนที่ใหม่กว่า

กลุ่มเตาทุเรียงบ้านป่าซาง อยู่ทางเหนือของตัวเมืองศรีสัชนาลัย ไปทางเหนือ 1 ก.ม.
ก่อขึ้นจากอิฐดิบไม่ใช่เตาที่ขุดเข้าไปในเนินดินริมแม่น้ำแบบเตาที่บ้านเกาะน้อย
และเป็นแหล่งเตาเผาที่มีคุณภาพดีกว่ากลุ่มเตาเผาบ้านเกาะน้อย
ผลิตเครื่องถ้วยชามเคลือบเขียวไข่กาและตุ๊กตาและเครื่องประดับ

ลวดลายที่ปรากฏในถ้วยชามสังคโลกทั้สองแห่งเป็นลวดลายเฉพาะ
ที่พบมากในจาน ชาม คือ รูปปลา กงจักร ดอกไม้
โดยเฉพาะรูปปลานั้นสันนิษฐานว่าเป็น ปลากาเพราะในชามสังคโลกใบหนึ่ง
มีอักษรลายสือไทเขียนบอกชื่อปลาไว้ว่า แม่ปลาก่า อยู่ใต้ตัวปลา



ศูนย์การศึกษาและอนุรักษ์เตาสังคโลกเริ่มขึ้นในปีพ.ศ. 2503 และ 2507
โดยคณะโบราณคดีมหาวิทยาลัยศิลปากร ได้ทำการขุดแต่งเพื่อศึกษา
ความเป็นมาและรูปแบบเตา พ.ศ. 2514 -2515 หน่วยศิลปากรที่ 3
จังหวัดสุโขทัยได้ดำเนินกาอนุรักษ์ซ่อมแซมเตาจำนวน 5 เตา

พ.ศ. 2523 โครงการโบราณคดี เครื่องถ้วยไทย โดยคณะวิจัยไทย
ออสเตรเลีย เริ่มต้นวิจัยแหล่งเตาเผาสังคโลกอย่างจริงจัง
พบเตาเผามากกว่า 150 เตา

พ.ศ. 2526 คณะวิจัยไทย-ออสเตรเลีย พบเตาทุเรียงหมายเลข 61
บริเวณริมคลองบอน บ้านเกาะน้อย อ. ศรีสัชนาลัย จ. สุโขทัย
และดำเนินการขุดค้นได้ประมาณ 20%
จึงได้หยุดลงเพื่อวิเคราะห์ข้อมูลและหมดงบประมาณ

บริษัทปูนซีเมนต์ไทยได้บริจาคเงินเพื่อสำรวจกลุ่มเตาเผาบ้านเกาะน้อย
เพิ่มเติมจนพบเตาสังคโลกอีก 3 เตา หมายเลข 176,177 และ 178

พ.ศ. 2528 บริษัทปูนซีเมนต์ไทยได้บริจาคเงิน 2,400,000 บาท
และกรมศิลปากรจัดงบประมาณสมทบอีก 800,000 บาท
รวมเป็นงบประมาณ 3,200,000 บาท เพื่อสร้างอาคารจัดแสดง
4 พ.ย. 2530 สมเด็จพระเทพฯ เสด็จพระราชดำเนินมาทรงทำพิธีเปิด

ศูนย์ศึกษาประกอบด้วยอาคาร 2 หลัง ตัวอาคารสร้างครอบเตา
อาคารแรก คือ เตาที่ 42 เป็นเตาบนดิน อาคารที่สอง คือ เตาที่ 61
เป็นเตาใต้ดิน ภายในตัวอาคารจัดแสดงโบราณวัตถุ เอกสารทางวิชาการ
ตลอดจนวิวัฒนาการเครื่องถ้วยสมัยโบราณ
Create Date :02 กันยายน 2558 Last Update :4 กันยายน 2558 15:44:48 น. Counter : 2572 Pageviews. Comments :3