bloggang.com mainmenu search
สถานที่ท่องเที่ยว : พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ น่าน, น่าน Thailand
พิกัด GPS : 18° 46' 34.49" N 100° 46' 14.98" E

ดูแผนที่เพิ่มเติม
 



สถานที่ท่องเที่ยวในตัวเมืองน่านแห่งถัดไปที่จะพาไปเที่ยวกันเป็นหนึ่งในสถานที่  “ห้ามพลาด”  เมื่อมาเยือนเมืองน่านครับ  สถานที่แห่งนี้อยู่กลางเมืองน่านเลย  ตรงข้ามวัดภูมินทร์เลยครับ
 
 
 



พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ  น่าน 



 
 

พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติน่าน  ตั้งอยู่บนถนนผากองกับถนนสุริยพงษ์  ตรงข้ามกับวัดภูมินทร์และวัดพระธาตุช้างค้ำ  เรียกได้ว่าอยู่กลางใจเมืองน่านเลยครับ
 
 
อาคาร
พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติน่าน แห่งนี้เคยเป็น  “หอคำ”  (แปลว่าที่อยู่อาศัย)  ของเจ้า ..... เรียก  “เจ้า”  คงไม่ถูกนัก  เพราะเจ้าเมืองน่านได้รับพระราชทานยศเป็นพิเศษเทียบเท่า  “กษัตริย์ผู้ครองเมืองน่าน”
 
 
เขตที่ประทับของผู้ครองเมืองน่านนั้นเรียกรวมๆว่า 
“คุ้มหลวง”  โดยประกอบด้วยอาคารหลายๆหลังทำหน้าที่แตกต่างกันไป  แต่ที่สำคัญจะไม่ตกทอดเป็นมรดกแก่ทายาท  แต่จะตกทอดไปกับตำแหน่งเจ้าผู้ครองนครน่าน  ดังนั้นเมือ่สิ้นเจ้าผู้ครองนครคนใด  “คุ้มหลวง”  จะไม่ตกทอดไปยังทายาทของเจ้าผู้ครองนครน่านคนเก่า   ครอบครัวทั้งหมดจะต้องย้ายออกไป  เจ้าผู้ครองนครน่านคนใหม่จะย้ายเข้ามาอยู่แทน 







 

 
การสร้าง 
“หอคำ”  เมืองน่านปรากฏอยู่ใน  “พงศาวดารเมืองน่าน”  ระบุไว้ว่าใน  พ.ศ. 2399  พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้าฯ  สถาปนาพระยาอนันตยศเป็น  “เจ้าอนันตยศวรฤทธิเดช”  เจ้าผู้ครองเมืองนานให้มีเกียรติยศสูงยิ่งกว่าเจ้าผู้ครองเมืองน่านที่มีมาแต่ก่อน  ได้รับพระราชทานฉัตรห้าชั้น  ( “นิราศเมืองหลวงพระบาง”  แต่งขึ้นประมาณ  พ.ศ. 2428)  เจ้าอนันตยศวรฤทธิเดชได้สร้างคุ้มหลวงขึ้นเรียกว่า  “คุ้มแก้ว”  ประกอบไปด้วย  คุ้มหลวง  หอคำราชโรงหลวง  หอซ้าย  หอขวา  หอหลัง  หอธรรม  และหอครัว  ลักษณะของคุ้มแก้วในสมัยเจ้าอนันตยศวรฤทธิเดชเป็นอย่างไรไม่ปรากฏหลักฐาน  ต่อมาเจ้าอนันตยศวรฤทธิเดชพิราลัย  เจ้าสุริยพงษ์ผริตเดชได้ครองเมืองน่านสืบต่อ  ได้เรียกพื้นที่   “คุ้มแก้ว”  ว่า  “คุ้มหลวง” 
 
 
ในปี  พ.ศ.  2446  พระบามสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ  สถาปนาเจ้าสุริยพงษ์ผริตเดช  เป็น 
“พระเจ้าสุริยพงษ์ผริตเดช”  ผู้ครองนครน่าน  เจ้าราชดนัย  (ยอดฟ้า  ณ น่าน)  บุตรของพระเจ้าสุริยพงษ์ผริตเดช  ที่ได้สมรสกับเจ้าสุพรรณวดี  ธิดาเจ้าหลวงเมืองแพร่  และได้รับตำแหน่งเจ้าราชบุตรเมืองแพร่  หลังจากเกิดเหตุการณ์กฎบเงี้ยวเมืองแพร่  เจ้าสุริยพงษ์ผริตเดชได้ขอย้ายเจ้าราชบุตรกลับมารับราชการที่เมืองน่าน  และได้ขอรับพระราชทานสัญญาบัตรเป็นเจ้าราชดนัยในปี  พ.ศ.  2446 
 









พระเจ้าสุริยพงษ์ผริตเดชได้รื้อหอต่างๆในคุ้มเจ้าหลวงทั้ง  7  หลัง  ออกทั้งหมด 
 
1. มอบให้แก่เจ้าจันทองดี  ธิดา  1  หลัง
2. มอบให้เจ้าทิพยเกสร  ธิดา  1 หลัง
3. มอบให้เจ้าเทพเกสร  ธิดา  1  หลัง
4. มอบให้เจ้าแม่ยอดหล้า  ภรรยา  1  หลัง
5. มอบให้วัดหัวเวียง  1  หลัง
6. มอบให้วัดสวนหอม  1  หลัง
7  มอบให้วัดเข้าน้อย  1  หลัง
 
แล้วสร้างหอคำหลังใหม่ขึ้นในปีเดียวกัน
 
เจ้าราชดนัยที่ได้เล่าให้ฟังเมื่อกี๊นี้เป็นผู้ที่มีอิทธิพลกับสถาปัยกรรมของคุ้มหลวงเมืองน่านมาก  เนื่องจากท่านได้ไปเห็นคุ้มหลวงเจ้าเมืองแพร่  (ตึกสีเขียวที่ใช้เป็น  location  ละครพีเรียดหลายเรื่อง  เช่น  รอยไหม  เดี๋ยวตอนท้ายๆจะพาไปเที่ยวด้วย)  ได้นำเอารูปแบบสถาปัตยกรรมของคุ้มหลวงเจ้าเมืองแพร่มาสร้างเป็นต้นแบบให้แก่คุ้มหลวงเมืองน่าน  โดยสร้างเป็นตึกก่ออิฐในรูปแบบของบ้านขนมปังขิง  (Gingerbread  House  Style)  ซึ่งได้รับความนิยมมากในชาติตะวันในช่วงปลายรัชกาลที่  4  -  รัชกาลที่ 5 

 
อาคารแบบบ้านขนมปังขิง  (Gingerbread  House  Style)  มีลักษณะเด่นคือมีการประดับตกแต่งส่วนต่างๆด้วยไม้ฉลุลวดลายอ่อนช้อย  เช่น  ชายคา  ปั้นลม  ช่องแสง  ฯ  ลวดลายฉลุไม้เกิดจากการฉลุด้วยเลื่อยมือ  ยิ่งมีลวดลายที่ซับซ้อนมากยิ่งต้องใช้ฝีมือในการฉลุมาก 





 






ลักษณะทางสถาปัตยกรรมของคุ้มหลวงเมืองน่าน  เป็นอาคารตึกก่ออิฐ  2  ชั้น  มีตรีมุข  ชั้นล่างแบ่งออกเป็นห้องหลายห้อง  เดิมมีบันไดขึ้นชั้น  2  จากภายนอกตรงข้างๆตรีมุขทั้ง  2  ด้าน  (ขอบคุณรูปภาพจาก  https://www.museumthailand.com/th/museum/Nan-National-Museum) ที่กรอบหน้าต่าง  กรอบประตูจะมีลายปูนปั้นประดับ





 





ด้านหน้าของชั้น  2  เป็นเฉลี่ยง  ด้านหลังเป็นห้องท้องพระโรง  และแบ่งเป็นห้องเล็กๆอีกหลายห้อง  มีบันไดหลังลงไปยังชั้นล่าง  ปัจจุบันจัดแสดงสิ่งของหลายอย่างรวมถึงงานทอผ้า











 





หลังคาหอคำเดิมประดับช่อฟ้า  ใบระกา  หางหงส์  สันหลังคาประดับบราลี  ในพ.ศ.  2476  เครื่องประดับแสดงฐานานุศักดิ์พระเจ้าน่านได้ถูกถอดออกเพื่อปรับเปลี่ยนเป็นศาลากลางจังหวัดน่าน  มีหลักฐานเป็นลายพระหัตถ์ของนายพลตรีสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ  เจ้าฟ้าอัษฎางค์เดชาวุธ  กรมหลวงนครราชสีมา  เพื่อกราบบังคมทูลพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว  เมื่อคราวเสด็จตรวจราชการมณฑลพายับ  วันที่  12 – 16  ธันวาคม  พ.ศ.  2463  และได้ประทับแรมที่หอคำเมืองน่านว่า
 


“...ตึกทั้งหลังเป็นนี้เป็นตึกทาปูนขาว  น่าต่างไม้ทาสี ...
หลังคากระเบื้องไม้  มีช่อฟ้าใบระกาและบะราลี
เป็นศีร์ษะนาค ...”

 
 
 
เมื่อพระเจ้าสุริยพงษ์ผริตเดชพิราลัย  พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ  แต่งตั้งเจ้าพรหมสุรธาดาเป็นเจ้านครน่านในปี  พ.ศ.  2462  ได้เข้ามาอยู่ในพื้นที่คุ้มหลวงจนถึงแก่อสัญกรรมในปี  พ.ศ.  2474 
 
 
หลังจากนั้นก็ไม่มีการแต่งตั้งเจ้านครน่านอีกต่อไปทางราชการจึงได้ใช้พื้นที่คุ้มหลวงกับหอคำเป็นศาลากลางจังหวัดน่าน  และในพ.ศ.  2517  กระทรวงมหาดไทยได้ส่งมอบตึกหอคำนครน่านให้กรมศิลปากรจัดเป็นพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ  น่าน  จนถึงปัจจุบัน
 
 
เมื่อวันที่  16  มีนาคม  พ.ศ.  2501  พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร  มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช  บรมนาถบพิตร  และ  สมเด็จนางเจ้าสิริกิติ์  พระบรมราชินีนาถ  พระบรมราชชนนีพันปีหลวง  เสด็จพระราชดำเนินทรงเยี่ยมพสกนิกรในจังหวัดน่านเป็นครั้งแรก  ได้ประทับเสวยพระกระยาหารกลางวันที่ศาลากลางจังหวัดน่าน 





 



และในวันที่ 14  สิงหาคม  พ.ศ.  2530  สมเด็จพระกณิษฐาธิราชเจ้า  กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ  เสด็จพระราชดำเนินมาเปิดพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ  น่าน 





 
 
 
ห้องจัดแสดงห้องใหญ่ชั้นบน  (เดิมใช้เป็นท้องพระโรงสำหรับออกว่าราชการ)  จัดแสดงเกี่ยวกับประวัติของเจ้าผู้ครองนครน่าน  รวมถึงของใช้ประจำตำแหน่ง  ที่สำคัญมี  3  องค์  คือ  เจ้าอนันตวรฤทธิเดช  พระเจ้าสุริยพงษ์ผริตเดช  และเจ้ามหาพรหมสุรธาดา











 


ที่กลางห้องมีสิ่งศักดิ์สิทธิ์สำคัญของเมืองน่านจัดแสดงนั่นคือ 
“งาช้างดำ”
 

งาช้างกิ่งนี้เป็น 
“งาปลี”  หมายถึงงาที่มีความยาวไม่มากนักแต่ว่ามีเส้นรอบวงที่ใหญ่มาก  มีสีน้ำตาลเข้ม  เมื่อมองในระยะไกลจะเห็นเป็นสีดำ  ขนาดยาว  97  เซนติเมตร  ส่วนที่ใหญ่ที่สุดวัดเส้นรอบวงได้  47  เซนติเมตร  ด้านในเป็นโพรงลึก  14  เซนติเมตร  มีน้ำหนัก  18  กิโลกรัม  เป็นงาข้างซ้ายเพราะมีรอยเสียดสีกับงวงชัดเจนถูกถอดออกมาจากตัวช้างเมื่อมีอายุประมาณ  60  ปี  เดิมเป็นสมบัติของเจ้าผู้ครองนครน่านครองครองสืบต่อกันมาเป็นเวลานาน 

 
มีเรื่องเล่ากันว่า  พญาการเมือง  เจ้าเมืองพลั่ว  (เมืองปัว)  องค์ที่ 6  แห่งราชวงศ์ภูคา  (พ.ศ. 1896 - 1906) ได้ทำพิธีสาปแช่งให้งาช้างกิ่งนี้เป็นของคู่บ้านคู่เมืองน่านตลอดไป  ห้ามผู้หนึ่งผู้ใดนำไปเป็นสมบัติส่วนตัวและต้องเก็บรักษาไว้ที่หอคำเมืองน่านเท่านั้น   เพื่อเจ้ามหาพรหมสุรธาดา  เจ้าผู้นครเมืองน่านองค์สุดท้ายถึงแก่พิราลัย  ทายาทจึงมอบไว้ให้เป็นสมบัติของชาติ
 
 
เจ้าของบล็อกเคยได้ยินเรื่องงาช้างดำมาตั้งแต่เด็กๆ  ไม่นึกไม่ฝันว่าจะมาเห็นด้วยตาตัวเอง  ตอนที่วางแผนว่าจะมาเที่ยวน่านก็ลืมเรื่องนี้ไปสนิทเลย  เวลาเดินผ่านงาช้างดำรู้สึกขนลุกซู่ๆ เหมือนกันนะครับ








 

 
ห้องทางด้านข้างทั้ง  2  ห้อง  จัดแสดงพุทธศิลป์สกุลช่างเมืองน่าน  ที่สำคัญที่จะได้เห็นกันบ่อยๆเมื่อมาเที่ยววัดเก่าๆในเมืองน่านก็คือ 
“พระพุทธรูปไม้แกะ”  อันนี้เจ้าของบล็อกมีความเห็นว่าน่าจะเป็นความเชื่อจากลาว  (น่านมีชายแดนติดกับเมืองหลวงพระบาง  ประเทศลาว)  พุทธลักษณะของพระพุทธรูปไม้ก็จะแตกต่างหลากหลายมาก  มีทั้งปางสมาธิ  มารวิชัย  พระพุทธรูปยืน ทรงเครื่องก็มี  บางองค์ยังได้รับอิทธิพลมาจากพม่าด้วย












 





 
ห้องเล็กด้านหลังจัดแสดง
  “โกศ”  ใช้บรรจุพระศพพระเจ้าสุริยพงษ์ผริตเดช  และเจ้ามหาพรหมสุรธาดา  ก่อนที่พระโกศพระราชทานจะถูกจัดส่งมาจากกรุงเทพฯ
 









ที่ระเบียงทางด้านหลังจัดแสดงป้ายชื่อพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ  น่าน  กับตราพระครุฑพ่าห์  ซึ่งได้ถูกนำไปติดไว้ที่หน้าบันของหอคำเมื่อมีการมอบให้ทางราชการใช้งาน  ในครั้งนั้น  ช่อฟ้า  ใบระกา  บราลี  ซึ่งเป็นสิ่งประดับตกแต่งแสดงฐานานุศักดิ์ก็ได้ถูกนำลงมาหมด  เมื่อกรมศิลปากรพื้นฟูรูปแบบเก่าของหอคำจึงได้ประดับลวดลายตามเดิมเหมือนเมื่อครั้งแรกสร้างคือ  คือรูปพญานาค  2  ตน  กับรูปโคอุศุภราช  (โคตัวผู้ที่มีลักษณะเป็นศุภลักษณ์หรือมีลักษณะดี)  ในกรอบวงกลม  ล้อมรอบด้วยลายกนกและพื้นช่องไฟ
 
 
ตราโคอุศุภราชนี้พระเจ้าสุริยพงษ์ผริตเดชใช้ประทับในหนังสือสำหรับกราบบังคมทูลถวายรายงานแด่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยูหัว  มีตำนานเล่ากันว่า  พญาผากอง  เจ้านครน่าน  มีดำริที่จะสร้างเมืองน่านขึ้นใหม่  ได้ฝันเห็นโคอุศุภราชวิ่งข้ามแม่น้ำน่านแล้วไปหยุดถ่ายมูลเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าแล้วก็หายไป  เมื่อตื่นบรรทมทรงให้ออกตามหามูลโคมาพบมูลโคที่อีกฝั่งหนึ่งของแม่น้ำน่านเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าเหมือนดังฝันจึงทำการสร้างเมืองน่านใหม่ที่ริมฝั่งแม่น้ำน่าน 
 


อีกตำราหนึ่งก็ว่าเจ้านครน่านกับเจ้านครแพร่ตกลงจะปักปันเขตแดนกัน  เจ้านครน่านขี่โคไปยังสถานที่นัดหมาย  ส่วนเจ้านครแพ่ขี่ม้า  เมืองน่านเลยใช้ตราเป็นรูปโค  ส่วนเมืองแพร่ใช้ตราเป็นรูปม้า









 
ก่อนจะจากพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ  น่าน  ก็ต้องไม่ลืมที่จะมาถ่ายรูปที่ซุ้มลีลาวดีเป็นที่ระลึกซะหน่อยครับ

























 

139138137
Create Date :20 ธันวาคม 2562 Last Update :20 ธันวาคม 2562 14:34:40 น. Counter : 1829 Pageviews. Comments :19