"สิงโตพัดแดง" กล้วยไม้ที่ถูกสำรวจพบที่อุทยานแห่งชาติน้ำตกหงาว จ.ระนอง

เรื่องไม่ลับฉบับนักวิจัย รู้จักกล้วยไม้ป่า ความสวยงามที่ควรอยู่คู่ป่าเท่านั้น ศูนย์วิจัยและพัฒนานวัตกรรมอุทยานแห่งชาติ จังหวัดสุราษฎร์ธานี ขอแนะนำให้รู้จักกับกล้วยไม้ป่าอีกชนิดหนึ่งนั่นคือ สิงโตพัดแดง Bulbophyllum lepidum (Blume) J.J.Sm. โดยกล้วยไม้ชนิดนี้สำรวจพบที่อุทยานแห่งชาติน้ำตกหงาว จ.ระนอง ความสูงจากระดับน้ำทะเล 300 - 1,100 เมตร
เป็นกล้วยไม้อิงอาศัยขนาดค่อนข้างเล็ก เจริญด้านข้าง ต้นเป็นเหง้าทอดยาว ลำลูกกล้วยรูปไข่ กว้าง 1–1.5 เซนติเมตร ยาว 1.5–2.5 เซนติเมตร ใบ รูปแถบหรือรูปใบหอกกลับ มี 1 ใบ กว้าง 1.4–1.8 เซนติเมตร ยาว 10–15 เซนติเมตร แผ่นใบค่อนข้างหนาและเหนียว
ช่อดอก ยาวเท่าๆ ใบ ก้านช่อผอม เหนียว สีแดงอมม่วง ปลายสุดมีดอก 7–10 ดอก เรียงตัวแผ่แบนในแนวรัศมี คล้ายรูปครึ่งวงกลม หรือรูปพัด ดอก สีน้ำตาลอมม่วง กว้าง 0.5–0.7 เซนติเมตร ยาว 1.5–2 เซนติเมตร กลีบเลี้ยงคู่ข้าง รูปขอบขนานแกมรูปหอกยื่นยาว บิดตัวจนขอบนอกของกลีบมาเชื่อมติดกันจนมีลักษณะคล้ายรูปไข่กลับ กลีบเลี้ยงบน สั้น กลม ปลายแหลม ผิวด้านนอก สีน้ำตาลอม ม่วง
กลีบดอกคู่ข้าง มีลักษณะคล้ายกับกลีบเลี้ยงบน ปลายกลีบปากสีเหลือง เส้าเกสรสั้น มีคางยื่นยาว มีฝาครอบ กลุ่มเรณูมี 4 กลุ่ม ไม่มีก้านและแป้นก้านกลุ่มเรณู พบทั่วไปตามป่าดิบชื้น ช่วงเวลาในการออกดอก กันยายน - ธันวาคม
ที่มา : ศูนย์วิจัยและพัฒนานวัตกรรมอุทยานแห่งชาติ จังหวัดสุราษฎร์ธานี
#อุทยานแห่งชาติน้ำตกหงาว #ระนอง #กล้วยไม้ #กรมอุทยานแห่งชาติ
โฆษณา