25 ต.ค. 2023 เวลา 01:00 • สิ่งแวดล้อม

"เอื้องตาลหิน" กล้วยไม้ที่ถูกสำรวจพบที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าฮาลา-บาลา จังหวัดนราธิวาส

เอื้องตาลหิน Callostylis rigida Blume กล้วยไม้ชนิดนี้สำรวจพบที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าฮาลา-บาลา จ.นราธิวาส ความสูงจากระดับน้ำทะเล 300 - 1,400 เมตร
เป็นกล้วยไม้อิงอาศัย ลำลูกกล้วยเป็นหัวรูปรี โคนเรียวสอบและมีโคนกาบใบคลุม ปลายเรียว ผิวแห้งเป็นร่อง สีเขียวหม่นหรือ เขียวอมน้ำตาล เรียงตัวบนเหง้าเป็นระยะ เหง้าเป็นเส้นกลมแข็ง ใบ ใบรูปรีแกมรูปขอบขนาน แผ่นใบค่อนข้างหนาและเหนียว ผิวใบมัน ปลายมนเว้าตื้นๆ มี 4 - 6 ใบต่อลำลูกกล้วย ใบเกิดใกล้ยอด ดอก ช่อดอกออกตามข้อใกล้ยอด มี 2 - 5 ช่อ มีขนละเอียด สีน้ำตาลอ่อนตลอดช่อ ก้านและแกนช่อตรง ยืดตัวบานไปเรื่อยๆ จนดอกบานหมด ทั้งช่อยาว 10 - 15 เซนติเมตร
ดอกทยอยบาน คราวละ 1 ดอก ใบประดับเล็กๆยังคงติดอยู่ที่แกนดอก ผิวกลีบมีขนสั้นๆละเอียดคลุม กลีบปากสีม่วงแดงเข้ม ออกดอกช่วงเดือน มกราคม – เมษายน กระจายพันธุ์ในสิกขิม อินเดีย ลาว เวียดนาม มาเลเซีย และสุมาตรา ประเทศไทยพบในป่าดิบแล้ง และป่าเบญจพรรณทางภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคตะวันออก และภาคใต้ ช่วงเวลาในการออกดอก พฤษภาคม - มิถุนายน
ที่มา : ศูนย์วิจัยและพัฒนานวัตกรรมอุทยานแห่งชาติ จังหวัดสุราษฎร์ธานี สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 4 (สุราษฎร์ธานี)
#นราธิวาส #กรมอุทยานแห่งชาติ #เอื้องตาลหิน #กล้วยไม้
โฆษณา