21 มิ.ย. 2023 เวลา 01:00 • สิ่งแวดล้อม

พรรณไม้เกียรติประวัติไทย “เอื้องนิ่มดอยสุเทพ”

𝘗𝘪𝘯𝘢𝘭𝘪𝘢 𝘴𝘶𝘵𝘦𝘱𝘦𝘯𝘴𝘪𝘴 (Rolfe ex Downie) Schuit., Y. P. Ng & H. A. Pedersen
วงศ์ : ORCHIDACEAE
ย้อนกลับไปเมื่อ 111 ปีก่อน ในวันที่ 4 สิงหาคม A. F. G. Kerr นายแพทย์และนักพฤกษศาสตร์ ชาวไอริช ได้ทำการเก็บตัวอย่างเอื้องนิ่มดอยสุเทพ หมายเลขตัวอย่าง A. F. G. Kerr 311 บริเวณดอยสุเทพ จ.เชียงใหม่ หลังจากนั้น 13 ปี Dorothy G. Downie ได้รายงานเอื้องนิ่มดอยสุเทพเป็นพืชชนิดใหม่ของโลก
ตีพิมพ์ลงในวาสาร Bulletin of Miscellaneous Information (Royal Gardens, Kew) ในปี 1925 โดยใช้ชื่อพฤกษศาสตร์ว่า 𝘌𝘳𝘪𝘢 𝘴𝘶𝘵𝘦𝘱𝘦𝘯𝘴𝘪𝘴 Rolfe ex Downie โดยคำระบุชนิด “𝘴𝘶𝘵𝘦𝘱𝘦𝘯𝘴𝘪𝘴” มาจากชื่อดอยสุเทพ ซึ่งเป็นสถานที่เก็บตัวอย่างต้นแบบ ต่อมาในปี 2018 Yan Peng Ng และคณะ ได้ทำการศึกษาวิวัฒนาการชาติพันธุ์ของกล้วยไม้ในสกุล Eria และสกุลใกล้เคียง
การศึกษาส่งผลให้เอื้องนิ่มดอยสุเทพถูกจัดอยู่ในสกุล 𝘗𝘪𝘯𝘢𝘭𝘪𝘢 โดยใช้ชื่อพฤกษศาตร์ในปัจจุบันว่า 𝘗𝘪𝘯𝘢𝘭𝘪𝘢 𝘴𝘶𝘵𝘦𝘱𝘦𝘯𝘴𝘪𝘴 (Rolfe ex Downie) Schuit., Y. P. Ng & H. A. Pedersen
กล้วยไม้อิงอาศัยลำลูกกล้วยทรงกระบอกถึงทรงรี ใบเดี่ยว เรียงสลับ 3-5 ใบ รูปใบหอกแกมรูปแถบถึงรูปใบหอกกลับ กว้าง 0.9-2.9 ซม. ยาว 6-23 ซม. ปลายใบมน แหลม ถึงกึ่งเรียวแหลม ขอบใบเรียบ ช่อดอก แบบช่อกระจะ ออกที่ปลายยอด ยาว 4.5-16 ซม. แกนกลางช่อมักมีขนสั้นนุ่มและขนรูปดาว ใบประดับสีเหลือง กลีบเลี้ยงและกลีบดอกสีขาว กลีบปากแยกเป็น 3 แฉก แฉกข้างสีชมพูอมแดง แฉกกลาง สีเหลืองอ่อน
ในประเทศไทยมีการกระจายพันธุ์ทางภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคตะวันตกเฉียงใต้ พบขึ้นตามป่าผสมผลัดใบและป่าดิบเขา ที่สูงจากระดับทะเลปานกลาง 500-1,000 เมตร ออกดอกในเดือนเมษายน-กันยายน ในต่างประเทศพบทางตะวันออกเฉียงเหนือของอินเดีย จนถึงภูมิภาคอินโดจีน
เอกสารอ้างอิง
Pedersen, H. Æ., K. Bunpha, N. Tetsana, S. Chantanaorrapint, P. Traiperm. A. Nuammee, S. Watthana, S. Suddee. S. W. Gale, T. Seelanan & P. Rattanakrajang. 2022. Orchidaceae. In: K. Chayamarit & H. Balslev (eds.), Flora of Thailand 12(3): 671-1015. Prachachon, Bangkok.
ที่มา : สำนักวิจัยการอนุรักษป่าไม้และพันธุ์พืช กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช
#เอื้องนิ่มดอยสุเทพ #กรมอุทยานแห่งชาติ
โฆษณา