#รู้จัก...เอื้องเศวตจูงนาง พรรณไม้หายากของไทยหลังจากไม่ได้พบเห็นมานานหลายสิบปี จนคิดว่าอาจสูญพันธุ์ไปแล้วจากธรรมชาติ
1
เอื้องเศวตจูงนาง Thunia pulchra Rchb. f. ในวงศ์กล้วยไม้ (Orchidaceae) พบขึ้นตามต้นไม้ในป่าผลัดใบ ป่าดิบแล้งริมลำธาร ตามยอดเขาที่เปิดโล่งในพื้นที่ภูเขาหินทราย บริเวณเทือกเขาพนมดงรัก นอกจากนี้ยังมีการรายงานพบเพิ่มเติมในพื้นที่อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ จังหวัดนครนายก (คุณไพรวัลย์ ศรีสม, เพชร ตรีเพชร และคณะ)
1
ที่มาของชื่อ "เอื้องเศวตจูงนาง" มาจากคำว่า “เศวต” ที่แปลว่า สีขาว หมายถึงกลีบเลี้ยงและกลีบดอกที่มีสีขาว ส่วนคำว่า “จูงนาง” มาจากลักษณะของกลีบปากของกล้วยไม้ชนิดนี้ที่พบในประเทศไทย มีลักษณะคล้ายกับว่านจูงนาง และนอกจากนี้คำว่า “pulchra” มาจากรากคำในภาษาละติน แปลว่า สวย, ทรงคุณค่า, เยี่ยมยอด
1
ลักษณะทั่วไป: เป็นกล้วยไม้อิงอาศัยบนต้นไม้หรือขึ้นบนหิน ลำลูกกล้วยอวบยาว 50-100 ซม. เส้นผ่านศูนย์กลาง 1-1.2 ซม. กลุ่มใบมีจำนวนมาก เรียงสลับ รูปแถบถึงรูปใบหอก กว้าง 2.5-4.5 ซม. ยาว 15-30 ซม. ปลายแหลมถึงเรียวแหลม แผ่นใบด้านล่างมีนวล ช่อดอกออกที่ส่วนปลาย ห้อยลง ยาว 10-15 ซม. มี 6-10 ดอก
1
ก้านดอกยาวเรียว กลีบเลี้ยงรูปใบหอกถึงรูปขอบขนานแกมรูปใบหอก ปลายแหลม สีขาว กลีบดอกคล้ายกลีบเลี้ยงแต่ค่อนข้างแคบกว่า กลีบปากสีขาว ด้านในมีสันสีน้ำตาลอมแดงอยู่ตรงกลางหลายสันสลับกับแถบสีเหลืองถึงสีแดง ขอบกลีบหยักซี่ฟันถี่ถึงเป็นคลื่นไม่สม่ำเสมอ
1
มีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศไทยทางภาคตะวันออก (นครราชสีมา, อุบลราชธานี) และภาคตะวันออกเฉียงใต้ (ตราด) ต่างประเทศพบที่พม่าและเวียดนาม
1
ขอขอบคุณ: คุณไพรวัลย์ ศรีสม (นักวิจัยอิสระ), คุณจิรายุทธ บุญปก (เจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติภูจอง-นายอย) และผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้อง สำหรับภาพถ่ายที่สวยงาม
1
อ้างอิง
- Pedersen, H. Æ., Kurzeil, H., Suddee, S., de Vogel , E. F., Cribb, P. J., Chantanaorrapint, S., Watthana, S., Gale, S. W., Seelanan, T., Suwanphakdee, C. 2014. Orchidaceae: Thunia. In: T. Santisuk et. al. (eds.), Flora of Thailand 12(2): 654‒658. The Forest Herbarium (BKF).
หอพรรณไม้ Forest Herbarium - BKF
โฆษณา