10 ก.ค. 2021 เวลา 12:03 • สิ่งแวดล้อม
เอื้องหมายนา : พืชสมุนไพรที่มีดอกสวยแปลกตา
ชื่อวงศ์ : COSTACEAE
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Costus speciosus (Koen.) Sm.
ชื่อสามัญ : Crape ginger, Malay ginger, Spiral flag
ชื่อพื้นเมืองอื่น : ชู้ไลบ้อง, ซูเลโบ (กะเหรี่ยง-แม่ฮ่องสอน) ; เอื้องเพ็ดม้า (ภาคกลาง) ; เอื้องหมายนา (ทั่วไป) ; เอื้องช้าง (นครศรีธรรมราช) ; เอื้องใหญ่, บันไดสวรรค์ (ภาคใต้)
ลักษณะทางพฤกษศาสตร์
ไม้ล้มลุก (H) ที่มีเหง้าหัวอยู่ใต้ดิน สูงประมาณ 1.5-3 เมตร ลักษณะลำต้นเหนือดินกลม อุ้มน้ำ ตามลำต้นมีรอยแผลใบโดยรอบ รากจะเป็นหัวใหญ่ยาว ตามบริเวณโคนต้นจะติดหัวแข็งคล้ายไม้
ใบ เป็นใบเดี่ยว ออกเวียนสลับเป็นเกลียวคล้ายก้นหอย ลักษณะใบรูปหอกหรือรูปขอบขนาน ปลายใบเรียวแหลม โคนใบมน โคนใบมน ด้านบนเกลี้ยงหรือมีขนและมีส่วนหุ้มรอบลำต้น ด้านล่างมีขนนุ่มคล้ายเส้นไหม กาบใบอวบ สีเขียวหรือน้ำตาลแดงโอบรอบลำต้น ใบกว้าง 5-7 ซม. และยาวประมาณ 15-20 ซม.
ดอก จะออกดอกเป็นช่อตรงยอด ดอกย่อยจะอยู่รวมกันหนาแน่น ดอกย่อยจะมีกลีบเลี้ยงอยู่ 3 กลีบ เป็นแผ่นแบน ขอบมนเป็นสีม่วงแดง กลีบดอกนั้นจะติดเป็นหลอด ส่วนปลายจะแยกเป็นกลีบสีขาวหรือออกแดงเล็กน้อย ส่วนอีกกลีบหนึ่งจะมีลักษณะคล้ายลิ้น เป็นแผ่นสีขาวตรงกลางสีเหลือง ใบประดับมีสีม่วงแดงรูปไข่ แต่ละใบประดับจะมีดอกอยู่ 1 ดอก ออกดอกช่วงเดือนพฤษภาคม-ตุลาคม
ผล ลักษณะกลมรูปไข่ ยาว 1.5-2.5 ซม. มีเนื้อแข็ง สีแดงสด และมีกลีบเลี้ยงเหลือติดอยู่ ภายในจะมีเมล็ดเป็นมัน สีดำ
นิเวศวิทยา
มีถิ่นกำเนิดแถบอินเดียตะวันออก ภูมิภาคเอเชีย ชอบขึ้นตามบริเวณที่มีความชุ่มชื้น ใต้ต้นไม้ใหม่ ตามบริเวณเชิงเขา และริมทางน้ำ
การปลูกและขยายพันธุ์
เจริญเติบโตได้ในดินร่วนซุยที่มีความชื้นปานกลาง ขยายพันธุ์ด้วยการเพาะเมล็ด แยกหน่อหรือเหง้าหัว
ประโยชน์ทางยา
รสและสรรพคุณในตำรายา
ราก รสขมเมา ขับพยาธิ ขับเสมหะ แก้ไอ แก้โรคผิวหนัง
เหง้า รสขมเมา เผ็ดปร่า ขับปัสสาวะ แก้บวมน้ำ แก้ตกขาว แก้โรคติดเชื้อในทางเดินปัสสาวะ แก้แผลหนองอักเสบ บวม แก้พยาธิ เป็นยาถ่าย
เหง้าสด มีพิษมาก ทำให้ท้องร่วง อาเจียนอย่างรุนแรง ดังนั้นต้องทำให้สุกก่อนเสมอ (ในเหง้า สารชื่อ Diosgenin ใช้สังเคราะห์สเตอรอยด์ฮอร์โมน น้ำคั้นเป็นยาระบายรับประทานกับใบพลูแก้ไอ)
หน่ออ่อน รสปร่าขม ใช้เป็นอาหารได้ แต่ต้องทำให้สุกเสียก่อนเพื่อขจัดกลิ่นให้หมดไป โดยการต้มรับประทานกับน้ำพริกหรือแกง
ลำต้น คนเมืองจะใช้ลำต้นนำไปต้มกิน เชื่อว่าเป็นยาต้านโรคมะเร็ง
ใบ รสปร่า แก้ไข้
โฆษณา