เลือกตั้ง 2562 : พรรคการเมืองเพื่อพุทธศาสนา ใครจะหาทางออกให้สิทธิทางการเมืองของสงฆ์

พระสงฆ์รวมตัวกันเพื่อต่อต้านบทบาทของรัฐในศาสนาพุทธ ในปี 2559 ที่สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ

ที่มาของภาพ, Getty Images

คำบรรยายภาพ, พระสงฆ์รวมตัวกันเพื่อต่อต้านบทบาทของรัฐในศาสนาพุทธ ในปี 2559 ที่สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ
  • Author, นันท์ชนก วงษ์สมุทร์
  • Role, ผู้สื่อข่าวบีบีซีไทย

ภาพของพระสงฆ์ที่นัดประชุมพูดคุยเรื่องการเมืองที่วัดหรือองค์กรพุทธศาสนา การไปฟังปราศรัยทางการเมือง หรือแม้กระทั่งการจูงแขนลูกศิษย์ไปหาเสียง เป็นสิ่งที่เคยพบเห็นได้โดยทั่วไปในอดีต

ทว่านับตั้งแต่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เข้ามามีอำนาจภายหลังรัฐประหารเมื่อปี 2557 พระที่เคยเคลื่อนไหวทางการเมืองกลับต้องระมัดระวังมากขึ้น เมื่อฝ่ายการเมืองเข้ามามีบทบาทในพระพุทธศาสนาและคณะสงฆ์มากกว่าที่เคยเป็น ด้วยกลไกที่จะ "ปฏิรูปคณะสงฆ์"

"แต่ก่อนถ้ามีนักการเมืองฝีปากกล้ามาพูดที่สนามหลวง พูดเป็นสำนวนได้เลยว่า จะมีพระมาฟังมากกว่าโยม แต่ทุกวันนี้ยากแล้ว และการที่มาบอกว่า 'คนนี้ศิษย์อาตมา ถ้าไม่เลือกอย่ามาให้เห็นหน้านะ' เดี๋ยวนี้ไม่ได้แล้ว" พระสงฆ์นักเคลื่อนไหวรูปหนึ่งกล่าวกับบีบีซีไทย โดยขอไม่ระบุชื่อ เพราะเกรงผลกระทบที่อาจตามมาจากทางการ

"เดี๋ยวนี้ระวังตัวแจ แม้แต่การไปเจอหรือไปพบกัน การถวายสังฆทาน ก็ถูกจับตามองจากอำนาจรัฐ ถ้าไปสนับสนุนทางฝ่ายที่เห็นว่าเป็นพรรคตรงข้ามกับอำนาจรัฐ ก็จะถูกจับตามอง"

กลุ่มผู้สนับสนุนอดีตนายกรัฐมนตรีทักษิณ ชินวัตร ประท้วงขับไล่รัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เมื่อปี 2551

ที่มาของภาพ, Getty Images

คำบรรยายภาพ, กลุ่มผู้สนับสนุนอดีตนายกรัฐมนตรีทักษิณ ชินวัตร ประท้วงขับไล่รัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เมื่อปี 2551

ท่ามกลางการควบคุมและเฝ้าระวังการเคลื่อนไหวของพระสงฆ์โดยภาครัฐในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา  ไม่ว่าจะเป็นการจับกุม และจับสึกพระหลายรูป หรือแก้ไข พ.ร.บ.คณะสงฆ์ การเมืองกลับมามีบทบาทในการกำหนดทิศทางพระสงฆ์อย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน

โฆษกรัฐบาลชี้แจงเรื่องนี้ว่า ทางรัฐบาลให้ความสนับสนุนและดูและคณะสงฆ์อย่างปกติอยู่แล้ว แต่จะมีเฉพาะบางรายที่เป็นประเด็นเนื่องจากไม่ได้ปฏิบัติตามกิจของสงฆ์ เช่น หาเงินทุนเข้าวัด ทุจริตคอรัปชั่น หรือมีการพูดโน้มน้าวให้ความเข้าใจไม่ได้อยู่ในกรอบของพุทธศาสนา

"ถ้าเป็นพระที่ถือปฏิบัติตามพุทธศาสนาจริง ๆ ไม่ได้ทำให้เกิดความเสียหาย หรือไม่ได้ยุ่งเกี่ยวกับเรื่องทางโลก พระปกติก็อยู่ได้โดยไม่รู้สึกว่ารัฐบาลไปลิดรอนสิทธิ" นายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง และ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีกล่าวกับบีบีซีไทย

มีชัย ฤชุพันธุ์

ที่มาของภาพ, Getty Images

คำบรรยายภาพ, รัฐธรรมนูญไทย กฎหมายการเลือกตั้ง และกฎหมายพรรคการเมือง ได้ยกเว้นไม่ให้พระมีบทบาททางการเมืองอย่างเป็นทางการ

"บุคคลชายขอบ"

รัฐธรรมนูญไทย กฎหมายเลือกตั้งและกฎหมายพรรคการเมือง กำหนดไม่ให้พระมีบทบาททางการเมืองอย่างเป็นทางการ ไม่สามารถใช้สิทธิเลือกตั้ง ลงสมัครรับการเลือกตั้ง ดำรงตำแหน่งทางการเมือง หรือเป็นสมาชิกหรือผู้ก่อตั้งพรรคการเมืองได้

รัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2521 จนถึงฉบับปัจจุบัน ใช้ถ้อยคำเช่นเดียวกันตลอดมาว่า "บุคคลต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิเลือกตั้ง คือ เป็นภิกษุ สามเณร นักพรต หรือนักบวช" ซึ่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาเคยตีความไว้ว่า นักบวชนั้น รวมถึงแม่ชี และผู้ที่เข้าพิธีบวชตามหลักศาสนาต่าง ๆ

นักรัฐศาสตร์บางคน และพระนักเคลื่อนไหวบางรูปมองว่า เมื่อนักบวชไม่มีสิทธิในการเลือกตั้ง พวกเขาก็หมดสภาพในการต่อรองทางการเมือง และสิทธิทางกฎหมาย เช่น ไม่สามารถค้านหรือเสนอกฎหมายที่เกี่ยวกับศาสนาตนเอง รวมถึงค้านบุคคลที่มาดูแลเกี่ยวกับศาสนาตนเอง

พระมหาทนงค์ วิสุทฺธสีโล เลขานุการองค์กรพิทักษ์พระพุทธศาสนาแห่งชาติ (กลาง) ยื่นหนังสือที่ศาลรัฐธรรมนูญเมื่อปี 2561

ที่มาของภาพ, PHRAMAHA THANONG

คำบรรยายภาพ, พระมหาทนงค์ วิสุทฺธสีโล เลขาธิการองค์กรพิทักษ์พระพุทธศาสนาแห่งชาติ (กลาง) ยื่นหนังสือที่ศาลรัฐธรรมนูญเมื่อปี 2561

พระมหาทนงค์ วิสุทฺธสีโล เลขาธิการองค์กรพิทักษ์พระพุทธศาสนาแห่งชาติ กล่าวว่า พระไม่ควรถูกละเมิดสิทธิโดยการตัดสิทธิออก เนื่องจากพระมี 2 สถานะในตัวเอง คือนักบวช และพลเมืองของรัฐ ส่วนในบริบทของสิทธิมนุษชน การตัดสิทธิของพระสงฆ์ในรัฐธรรมนูญขัดกับสนธิสัญญาสากลที่ไทยเป็นภาคี และขัดกับรัฐธรรมนูญอีกด้วย เช่น พระยังต้องรับราชการทหารในฐานะที่เป็น "ปวงชนชาวไทย" แต่กลับถูกใส่ไว้ให้เป็นบุคคลที่มีลักษณะต้องห้ามไม่ให้ใช้สิทธิเลือกตั้ง

"พระเหมือนเป็นบุคคลชายขอบ เพราะไม่มีโอกาสที่จะไปพูดสะท้อนปัญหาตัวเอง หรือแม้แต่คนที่เขียนกฎหมายเอง ไม่ได้ถามพวกพระที่เป็นผู้ใช้กฎหมาย" พระมหาทนงค์ กล่าวกับบีบีซีไทย

พระในกัมพูชาเลือกตั้ง

ที่มาของภาพ, Getty Images

คำบรรยายภาพ, นอกจากไทยแล้ว ปัจจุบันมีเพียงประเทศเมียนมาและภูฏาน ที่ห้ามไม่ให้นักชวชเลือกตั้ง

พุทธศาสนา = ชาติ ?

ดร.โทมัส ลาร์สัน อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ ได้เขียนไว้ในบทความวิจัยเรื่องการเลือกตั้งและสงฆ์ ว่าพระพุทธศาสนาแสดงถึงความเป็นชาติที่รัฐบาลของไทย เมียนมาและภูฏาน มองว่ามีความเสี่ยงที่จะถูกทำลายหากนักบวชได้รับสิทธิในการเลือกตั้ง เนื่องจากประชาชาชนจะสูญเสียศรัทธาในคณะสงฆ์หากพระยุ่งเกี่ยวกับการเมืองอย่างจริงจัง

ดร.ลาร์สัน ระบุว่า นอกจากไทยแล้ว ปัจจุบันมีเพียงประเทศเมียนมาและภูฏาน ที่ห้ามไม่ให้นักบวชมีสิทธิเลือกตั้ง ในขณะที่ประเทศที่ประชากรส่วนใหญ่นับถือศาสนาพุทธอย่างศรีลังกา อนุญาตให้พระสงฆ์เลือกใช้สิทธิตั้งและลงสมัครรับเลือกตั้งได้

ข้อมูลจากบีบีซี ภาษาสิงหล ระบุว่า ปัจจุบันสภาผู้แทนราษฎรของศรีลังกามีพระสงฆ์เป็นสมาชิก 1 รูป

ในประเทศไทย ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา กระแสการเรียกร้องสิทธิในการเลือกตั้งของพระมีมากขึ้น โดยเฉพาะผ่านโซเชียลมีเดีย โดยปีที่แล้ว นายกรัฐมนตรี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้ออกมาตอบโต้พระที่ออกมาเคลื่อนไหวผ่านโซเชียลมีเดียเพื่อเรียกร้องให้มีการเลือกตั้งว่า "การที่พระมายุ่งเกี่ยวกับการเมืองมาก ๆ มันใช่กิจของสงฆ์หรือไม่"

พระสงฆ์รวมตัวกันเพื่อต่อต้านบทบาทของรัฐในศาสนาพุทธ ในปี 2559 ที่สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ

ที่มาของภาพ, Getty Images

คำบรรยายภาพ, พระสงฆ์เผชิญหน้ากับเจ้าหน้าที่ระหว่างการประท้วงต่อต้านบทบาทของรัฐในศาสนาพุทธ ในปี 2559 ที่สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ

และเมื่อเดือน ต.ค. ปีที่แล้ว พระสมาน คัมภีรปัญโญ อดีตแกนนำขบวนการประชาธิปไตยแห่งชาติที่ชุมนุมขับไล่นายทักษิณ ชินวัตร พร้อมกับคณะสงฆ์และแม่ชี ได้ยื่นหนังสือต่อสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ขอให้ยกเลิกการตัดสิทธิพระภิกษุทางการเมืองและการเลือกตั้ง

ความสัมพันธ์ที่ไม่ราบรื่น

พระมหาทนงค์กล่าวว่า ตอนนี้พระสงฆ์ในประเทศไทย ถือว่าตื่นตัวทางการเมืองมากขึ้น เนื่องจากได้รับผลกระทบที่เกิดจากการเมือง ถึงขนาดเป็น "ภัยคุกคาม" ที่กระทบกับกลุ่มพระ

"มีการฟันธงว่าพระในศาสนาพุทธ โดยเฉพาะฝ่ายมหาจุฬา [มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย] เป็นเสื้อแดง และพระวัดพระธรรมกายเป็นเสื้อแดง โดยอ้างว่าสนับสนุนทักษิณ [ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี] เป็นเหตุผลที่ทำให้ทางกลุ่มฝ่ายตรงข้าม และสนับสนุนรัฐบาลอยู่แล้ว ก็จะต้องมุ่งมาจัดการกับกลุ่มศาสนาพุทธเรา เป็นเหตุผลมาจากการเมือง" พระมหาทนงค์ กล่าวกับบีบีซีไทย

ที่มา: บีบีซีไทยรวบรวม

นายเข็มทอง ต้นสกุลรุ่งเรือง อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย อธิบายถึงเหตุผลที่ คสช. ให้ความสำคัญในเรื่องของการปฏิรูปวงการสงฆ์ว่า เป็นการยืนยันความชอบธรรมของตัวเองที่ขาดหายไปจากการที่เป็นรัฐบาลที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง

"การสนใจศาสนามาก แสดงว่าเป็นรัฐบาลที่มีศีลธรรมมากกว่ารัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง เป็นแผนในการหาความชอบธรรมจากแหล่งอื่น ๆ ที่เขาขาด" นายเข็มทอง กล่าว

นายพุทธิพงษ์ชี้แจงถึงสาเหตุที่รัฐบาลมองเห็นถึงความสำคัญของการปฏิรูปคณะสงฆ์ เนื่องจากที่ผ่านมาการบริหารจัดการของคณะสงฆ์มีปัญหาอยู่บ้าง เช่น การบริหารจัดการในวัดในเรื่องของเงินบริจาค การนำทรัพย์สินวัดไปใช้ในทางที่ไม่ถูกต้อง และพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมของพระบางรูป จึงต้องมีการปรับแก้กฎหมายเพื่อให้มีความกระชับ ทันสมัย และตรงกับสถานการณ์ความเป็นจริงให้บังคับใช้ได้ดีขึ้น

ประชาชนรวมตัวกันเพื่อต่อต้านบทบาทของรัฐในศาสนาพุทธ ในปี 2559 ที่สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ

ที่มาของภาพ, Getty Images

คำบรรยายภาพ, ประชาชนรวมตัวกันเพื่อต่อต้านบทบาทของรัฐในศาสนาพุทธ ในปี 2559 ที่สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ

"ภัย" จากศาสนาอื่น ?

ความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่ปะทุขึ้นมาเมื่อปี 2547 ที่มีการฆ่าพระสงฆ์และเผาวัดโดยกลุ่มผู้ก่อความไม่สงบเพื่อแสดงออกถึงการต่อต้านรัฐไทย ทำให้ชาวพุทธตื่นตระหนกและบางส่วนเชื่อว่าศาสนาพุทธจะพ่ายแพ้ต่ออิสลามในที่สุด

"ตั้งแต่มีเรื่องไฟใต้จากยุครัฐบาลทักษิณ ชาวพุทธบางกลุ่มมองว่าอิสลามดูเหมือนจะได้รับผลประโยชน์จากรัฐไทยมากขึ้น เช่น มีการตั้งธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย หรือมีการขยายชุมชนและตั้งมัสยิดในถิ่นที่ไม่เคยมีชุมชนมุสลิมมาก่อน โดยได้สิทธิตั้งคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดนั้น ๆ " ดร.เกษวดี กุหลาบแก้ว นักวิจัยรับเชิญของสถาบันเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา ประเทศสิงคโปร์ กล่าว

ในขณะเดียวกัน ก็เริ่มมีการปล่อยข่าวเกี่ยวกับ "แผนการลับ" ของชาวมุสลิมที่จะเปลี่ยนไทยเป็น "รัฐอิสลาม"

พระอ่านหนังสือพิมพ์

ที่มาของภาพ, Getty Images

ตั้งพรรคเพื่อผลักดัน

เมื่อเห็น "ปัญหา" นักเคลื่อนไหวเพื่อ "ปกป้อง" พุทธศาสนา และ เรียกร้องสิทธิทางการเมืองของพระสงฆ์จึงจัดตั้งพรรคการเมืองขึ้นเพื่อนำเสนอนโยบายให้ประชาชน พิจารณาในการเลือกตั้งทั่วไปปี 2562

พรรคแผ่นดินธรรม เป็นหนึ่งในพรรคการเมืองใหม่ที่ก่อตั้งขึ้นมาโดยมีเป้าหมายที่จะ "กอบกู้" พระพุทธศาสนา และนำหลักศีลธรรมมาบริหารประเทศ ด้วยสโกลแกน "ศีลธรรม นำชาติ"

นอกจากแผ่นดินธรรมแล้ว ยังมีพรรคเพื่อชาวพุทธที่จดทะเบียนเป็นพรรคการเมืองในปีที่ผ่านมาอีกหลายพรรค เช่น พรรคประชาธิปไตยเพื่อประชาชน และพรรคมหาโพธิ ซึ่งพระมหาทนงค์มองว่าเป็นเรื่องที่ดี เนื่องจากพรรคเหล่านี้ นอกจากจะมาช่วยดูแลผลประโยชน์พระพุทธศาสนาแล้วยังเป็นกระบอกเสียง นำเสนอความคิดเห็นพระเข้าสู่สภา เพราะพระเองไม่สามารถเล่นการเมืองได้

ดร.เกษวดีกล่าวว่า การตั้งพรรคการเมืองเพื่อสงฆ์และพุทธศาสนาขึ้นโดยเฉพาะนั้น สังคมไทยอาจยอมรับได้หากการโฆษณาชวนเชื่อเรื่อง ภัยคุกคามจากต่างศาสนาประสบความสำเร็จ จนทำให้ผู้คนรู้สึกคล้อยตามว่าพุทธศาสนาตกอยู่ในภาวะวิกฤตจริงและรัฐปกป้องไม่ได้ ทำให้ต้องยอมใช้มาตรการพิเศษเข้ากอบกู้ ซึ่งก็เป็นวาทกรรมทางการเมืองที่ฝ่ายสงฆ์ในปัจจุบันพยายามเผยแพร่อยู่ และค่อนข้างได้ผล

"วาทกรรมนี้แรก ๆ ฟังดูไร้สาระในสายตาของชนชั้นนำที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญด้านกฎหมายและการปกครอง แต่ในระดับชาวบ้าน คนทั่ว ๆ ไป เราเห็นคอมเม้นต์ตามโซเชียลมีเดียมันเผยแพร่ต่อไปเรื่อย ๆ ซึ่งถ้าไปถึงจุดหนึ่งที่คนเชื่อกันว่าพุทธศาสนาวิกฤต ถูกคุกคามสุด ๆ แล้ว เราจะต้องตั้งพรรคการเมืองที่ต่อสู้เพื่อพุทธ ถึงตอนนั้นผู้คนจะเปลี่ยนความคิดก็ไม่แปลก" เธอกล่าว

ผู้คนมาประท้วงเรื่องการบัญญัติพระพุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติในปี 2550

ที่มาของภาพ, Getty Images

คำบรรยายภาพ, ความพยายามในการบัญญัติพระพุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติมีมาแล้วสามครั้ง ในปี 2540, 2550 และในปี 2559

"สถาปนาความเหนือกว่าของพระพุทธศาสนา"

ความพยายามในการบัญญัติพระพุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติมีมาแล้ว 3 ครั้ง ในปี 2540, 2550 และในปี 2559 กลุ่มชาวพุทธได้นำรายชื่อประชาชน 100,000 รายชื่อที่สนับสนุนการกระทำดังกล่าวยื่นต่อกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ เพื่อให้บัญญัติเรื่องดังกล่าวในรัฐธรรมนูญปี 2560

แม้ว่าจะไม่ประสบผลสำเร็จ แต่นับเป็นครั้งแรกที่ให้รัฐส่งเสริมและสนับสนุนการศึกษาและการเผยแผ่หลักธรรมของ "พระพุทธศาสนาเถรวาท" และต้องมีมาตรการและกลไกในการป้องกันไม่ให้มีการบ่อนทําลายพระพุทธศาสนาไม่ว่าในรูปแบบใด

ในขณะเดียวกัน รัฐธรรมนูญปี 2560 ได้ตัดเรื่องการส่งเสริมความเข้าใจอันดีและความสมานฉันท์ระหว่างศาสนิกชนของทุกศาสนา ที่เคยมีในรัฐธรรมนูญปี 2540 และ 2550

"มีการพูดกันว่า คสช. มุ่งเป้าไปที่ธรรมกาย ซึ่งพวกเขามองว่าไม่ใช่เถรวาท" นายเข็มทอง กล่าว พร้อมเพิ่มเติมว่า การกระทำดังกล่าวทำให้ไทยมุ่งเข้าสู่การบัญญัติศาสนาพุทธเป็นศาสนาประจำชาติ และในขณะเดียวกันก็มีความเสี่ยงที่จะนำไปสู่ความขัดแย้งทางศาสนา

พระที่ปัตตานี

ที่มาของภาพ, Getty Images

คำบรรยายภาพ, เจ้าหน้าที่ทหารให้การคุ้มครองพระสงฆ์ในขณะออกบิณฑบาตที่ จ.ปัตตานี

นายเข็มทองให้ความเห็นว่า โดยหลักการแล้ว พระควรมีเสียงทางการเมือง เนื่องจากเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของคนทุกคน แต่ต่อให้พระได้สิทธินั้นมาแล้ว และเรียกร้องให้ออกกฎหมาย ต้องไม่นำไปสู่การเลือกปฏิบัติทางศาสนา

"อาเจนด้า (วาระ) ของเขาคือ ต้องการเสียงทางการเมืองเพื่อสถาปนาความเหนือกว่าของพระพุทธศาสนา (Buddhist supremacy) ซึ่งมันเป็นการกดขี่เสียงข้างน้อย ทำให้เกิดความตึงเครียดและความรุนแรงทางศาสนา...แม้กระทั่งในเรื่องของความรู้สึก ว่าทำให้ศาสนาอื่นถูกรู้สึกว่าเลือกปฏิบัติก็เป็นปัญหาแล้ว" นายเข็มทอง ซึ่งปัจจุบันศึกษาต่อระดับปริญญาเอกทางด้านกฎหมายที่มหาวิทยาลัยบริสตอล สหราชอาณาจักร โดยกำลังทำวิทยานิพนธ์เรื่อง ศาสนาพุทธกับกฎหมาย กล่าว

นี่เป็นสาเหตุที่ทำไมหลาย ๆ ประเทศกังวลอิทธิพลของศาสนากับการเมือง โดยการแยกรัฐออกจากศาสนาตามวิธีคิดของตะวันตกเรื่อง secularism ต่างจากของเอเชียอย่างประเทศไทยที่คิดว่ารัฐและศาสนาอยู่ด้วยกันได้ และมองว่าพระเป็นชนชั้นที่สูงส่งกว่าคนทั่วไป

ธรรมกาย, วัดพระธรรมกาย, ดีเอสไอ, ธัมมชโย, กรมสอบสวนคดีพิเศษ, สหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่น, ปทุมธานี, ฟอกเงิน, มาตรา 44, ม.44, คสช., พื้นที่ควบคุม, หมายจับ, หลบหนี

ที่มาของภาพ, WASAWAT LUKHARANG/BBC THAI

คำบรรยายภาพ, วัดพระธรรมกายและพื้นที่โดยรอบถูกประกาศเป็น "พื้นที่ควบคุม" ตั้งแต่วันที่ 16 ก.พ. 2560

ทั้งนี้ มีอยู่ 32 ประเทศที่ในระดับรัฐธรรมนูญไม่ให้ใช้ศาสนาเพื่อยุแยงให้เกิดความเกลียดชัง ส่วนใหญ่จะอยู่ในทวีปแอฟริกาและยุโรปตะวันออก และอีก 27 ประเทศที่ห้ามใช้ศาสนาเพื่อประโยชน์ทางการเมือง เช่น ใช้ศาสนาเป็นชื่อพรรคหรือรณรงค์การเลือกตั้ง

นอกจากนี้ยังมี 12 ประเทศ รวมถึงเมียนมา และบัลกาเรีย ที่ไม่ให้ใช้ศาสนาในทั้งสองกรณี

นายเข็มทอง ต้นสกุลรุ่งเรือง อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ที่มาของภาพ, PARIS JITPENTOM/BBC THAI

คำบรรยายภาพ, นายเข็มทอง ต้นสกุลรุ่งเรือง อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ล่าสุด เมื่อ 30 ส.ค. ปีที่แล้ว มหาเถรสมาคมได้ออกประกาศ เรื่อง ห้ามใช้วัดเป็นสถานที่ชุมนุมหรือสัมมนาหรือจัดกิจกรรมที่อาจก่อให้เกิดความไม่สงบ และความแตกแยกเกิดขึ้นในสังคม หลังจากมหาเถรสมาคมพบว่ามีการใช้พื้นที่ของวัดเป็นสถานที่จัดกิจกรรมเคลื่อนไหวทางการเมือง

ประกาศนี้มีขึ้นมาแม้ว่ามหาเถรสมาคมได้ออกคำสั่งตั้งแต่ปี 2538 เรื่อง ห้ามพระภิกษุสามเณรเกี่ยวข้องกับการเมือง แต่กฎเกณฑ์ดังกล่าวมีการบังคับใช้น้อยมาก ทำให้พระมหาทนงค์มองว่า การออกประกาศฉบับล่าสุดเป็นการแทรกแซงจากภาคการเมือง

บีบีซีไทยได้ติดต่อพระพรหมบัณฑิต กรรมการมหาเถรสมาคม เพื่อขอความคิดเห็นประกอบบทความนี้ แต่ยังไม่ได้รับคำตอบ ณ เวลาที่บทความนี้ถูกเผยแพร่

"จริง ๆ แล้วควรออกประกาศแค่ว่าพระไม่ควรไปลงเล่นการเมือง แต่อันนี้บอกว่าไม่ควรเข้าไปยุ่งเกี่ยวกับการเมือง แล้วห้ามใช้วัดเป็นที่จัดกิจกรรมการเมือง สอดรับกับการที่พรรคพุทธเกิดขึ้นพอดี เหมือนมีนัยยะบางอย่างซ่อนเร้นอยู่" พระมหาทนงค์ กล่าว

พระสงฆ์รวมตัวกันเพื่อต่อต้านบทบาทของรัฐในศาสนาพุทธ ในปี 2559 ที่สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ

ที่มาของภาพ, Getty Images

คำบรรยายภาพ, พระสงฆ์รวมตัวกันเพื่อต่อต้านบทบาทของรัฐในศาสนาพุทธ ในปี 2559 ที่สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ
Presentational grey line
แบนเนอร์เลือกตั้ง

คุณผู้อ่านสามารถติดตามความเคลื่อนไหว สัมภาษณ์พิเศษ บทวิเคราะห์ พร้อมทั้งทำความรู้จักกับ การเลือกตั้ง 2562 โดยทีมงานบีบีซีไทยได้ที่เว็บไซต์ www.bbc.com/thai/election2019 พร้อมทั้งสื่อสังคมออนไลน์บีบีซีไทยผ่านทาง เฟซบุ๊ก, อินสตาแกรม และ ยูทิวบ์ รวมทั้ง #ThaiElection2019 หรือ #เลือกตั้ง2562