พบนกสุดหายาก “มีสองเพศในตัวเดียว” ปรากฏตัวเป็นครั้งที่สองในรอบร้อยปี

A bird seen from the front which has one half blue feathers and the other half green

ที่มาของภาพ, John Murillo

คำบรรยายภาพ, นี่เป็นเพียงครั้งที่สองในรอบ 100 ปีเท่านั้น ที่มีการพบเจอนกสายพันธุ์หายากที่มีลักษณะสองเพศในตัวเดียวกันเช่นนี้

มีบางสิ่งแสนพิเศษอย่างยิ่งใน “นกตัวนั้น” ที่จอห์น มูรีโญ นักดูนกและนักปักษีวิทยามือสมัครเล่นได้พบเห็น ระหว่างที่เขาอยู่ในเขตอนุรักษ์ธรรมชาติ ดอน มิเกล ของประเทศโคลอมเบีย ห่างจากเมืองมานิซาเลสไปทางตะวันตกเฉียงใต้ราว 10 กิโลเมตร

เจ้านกป่าตัวที่สะดุดตามูรีโญนั้น เป็นสายพันธุ์ “ฮันนี่ครีปเปอร์เขียว” (Green Honeycreeper) หรือที่มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Chlorophanes spiza ซึ่งปกติแล้วเป็นนกที่สามารถพบเห็นกันได้ทั่วไป

แต่สิ่งที่ไม่ธรรมดาก็คือ นกตัวนี้มีขนซีกซ้ายของร่างกายเป็นสีเขียว ซึ่งเป็นลักษณะเฉพาะของนกตัวเมียในสายพันธุ์นี้ และในขณะเดียวกัน มันกลับมีขนซีกขวาของร่างกายเป็นสีฟ้า อันเป็นลักษณะของนกตัวผู้ด้วย

มูรีโญรีบแจ้งเรื่องนกประหลาดตัวดังกล่าวกับศาสตราจารย์ แฮมิช สเปนเซอร์ นักสัตววิทยาผู้เชี่ยวชาญด้านพันธุศาสตร์วิวัฒนาการ จากมหาวิทยาลัยโอทาโกของนิวซีแลนด์ ซึ่งบังเอิญอยู่ที่โคลอมเบียในขณะนั้น

ศ.สเปนเซอร์ กล่าวกับผู้สื่อข่าวบีบีซีว่า “มันน่าตื่นเต้นมาก นักดูนกส่วนใหญ่ไม่เคยพบเห็นนกที่มีสองเพศในตัวเดียวกันเช่นเลย แม้จะเที่ยวดูนกมานานเกือบตลอดชีวิตของพวกเขาก็ตาม การมีลักษณะของทั้งสองเพศในตัวเดียว ถือเป็นสิ่งที่หาได้ยากมากในสัตว์จำพวกนก”

นกที่หาได้ยากยิ่ง

ศ.สเปนเซอร์ อธิบายเพิ่มเติมว่า การมีลักษณะของทั้งสองเพศในตัวเดียว โดยแบ่งครึ่งร่างกายเป็นสองซีก (bilateral gynandromorphy) ทำให้นกตัวนี้มีสีขนของเพศเมียที่ครึ่งซีกซ้าย แต่มีสีขนของเพศผู้ที่ครึ่งซีกขวา ถือเป็นลักษณะหายากที่พบได้ในสัตว์หลายชนิด โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับสัตว์ที่มีภาวะทวิสัณฐานทางเพศ (sexually dimorphism) หรือสัตว์ที่ตัวผู้และตัวเมียมีลักษณะทางกายภาพแตกต่างกันนั่นเอง

A bird seen from behind which is one half blue and the other green

ที่มาของภาพ, John Murillo

คำบรรยายภาพ, นกตัวเมียสายพันธุ์นี้มักมีขนสีเขียว ส่วนนกตัวผู้มีขนสีฟ้า

อย่างไรก็ตาม สำหรับนกฮันนี่ครีปเปอร์เขียวแล้ว นี่คือการพบเห็นนกสองเพศในสายพันธุ์นี้เป็นครั้งที่สองตลอดช่วงเวลายาวนานถึงกว่าหนึ่งศตวรรษที่ผ่านมา นอกจากนี้ มูรีโญยังสามารถบันทึกภาพของมัน และได้ร่วมกับ ศ.สเปนเซอร์ รายงานการค้นพบครั้งนี้ลงตีพิมพ์ในวารสารวิชาการ “ปักษีวิทยาภาคสนาม” (Journal of Field Ornithology) อีกด้วย

ศ.สเปนเซอร์ ระบุในแถลงการณ์ของมหาวิทยาลัยโอทาโกว่า “การศึกษาสัตว์ที่มีลักษณะของทั้งสองเพศในตัวเดียว มีความสำคัญต่อการทำความเข้าใจเรื่องการกำหนดเพศ และพฤติกรรมทางเพศในสัตว์จำพวกนก ซึ่งการค้นพบตัวอย่างของนกสองเพศในครั้งนี้ ชี้ว่ามันก็เหมือนกับสัตว์สองเพศในตัวเดียวกันชนิดอื่น ๆ คือร่างกายทั้งสองซีกจะมีลักษณะของเพศหนึ่งเพศใดก็ได้ ไม่จำเป็นว่าลักษณะของเพศผู้จะต้องอยู่ฝั่งนี้ หรือลักษณะของเพศเมียจะต้องอยู่ฝั่งนั้น”

ปรากฏการณ์ที่ขนของนกตัวนี้มีสีสันแตกต่างกันเป็นสองซีก เกิดขึ้นจากองค์ประกอบในโครโมโซมของเซลล์ที่อยู่ใกล้กับขนกลุ่มนั้น มากกว่าจะเป็นผลจากความแตกต่างของฮอร์โมนเพศทั่วร่างกาย ซึ่งลักษณะนี้ยังพบได้ในแมลง เช่นผีเสื้อ รวมทั้งสัตว์น้ำมีเปลือกแข็งหุ้มลำตัว (crustaceans) แมงมุม หรือแม้กระทั่งกิ้งก่าและหนูด้วย

ทีมผู้วิจัยระบุว่า ปรากฏการณ์ดังกล่าวเกิดจากความผิดพลาดในการแบ่งตัวของเซลล์ ในขณะที่ตัวเมียกำลังสร้างเซลล์ไข่ ประกอบกับมีสเปิร์มเข้ามาผสมกับเซลล์ไข่นั้นซ้อนกันถึงสองตัว

เฝ้าสังเกตการณ์นาน 21 เดือน

ในพื้นที่ของเขตอนุรักษ์ธรรมชาติ ดอน มิเกล ซึ่งเป็นฟาร์มที่มีป่าทุติยภูมิขนาดใหญ่อยู่ด้วยนั้น มีการจัดตั้งสถานีให้อาหารนก โดยจัดหาผลไม้สดและน้ำหวานมาวางเอาไว้ เพื่อล่อนกป่าเข้ามาให้บรรดานักดูนกได้ยลโฉมกัน

Different angles of the rare bird

ที่มาของภาพ, John Murillo

คำบรรยายภาพ, ภาพนกสองเพศหายากตัวดังกล่าว จากหลาย ๆ มุม

รายงานของทีมผู้วิจัยระบุว่า นกส่วนใหญ่ที่เข้ามากินอาหารจะเป็นพวกนกทานาเกอร์ (Tanagers) รวมทั้งนกขมิ้น นกเดินดง และนกยูโฟเนีย (Euphonias) แต่นกฮันนี่ครีปเปอร์เขียวสองเพศตัวนี้ ถูกพบเห็นว่าเข้ามากินอาหารที่ฟาร์มดังกล่าวเป็นเวลาติดต่อกันนานถึง 21 เดือน ทว่าจะไม่เข้ามารวมกลุ่มกินอาหารกับนกตัวอื่น โดยจะคอยให้นกทุกตัวจากไปเสียก่อน

แม้พฤติกรรมของนกสองเพศตัวดังกล่าว จะคล้ายกับนกฮันนี่ครีปเปอร์เขียวส่วนใหญ่ แต่มันค่อนข้างหวงถิ่น โดยมันไม่ยอมให้นกสายพันธุ์เดียวกันเข้าใกล้สถานีให้อาหาร อีกทั้งยังหลีกเลี่ยงไม่ค่อยพบปะกับนกชนิดเดียวกันอีกด้วย ซึ่งนกพวกเดียวกันตัวอื่น ๆ ก็ดูจะหลีกเลี่ยงมันเช่นกัน

แม้ทีมผู้วิจัยจะยังไม่ทราบว่า พฤติกรรมแยกตัวโดดเดี่ยวดังกล่าวเกิดขึ้นเพราะสาเหตุใดกันแน่ แต่ก็พอจะทำให้คาดการณ์ได้ว่า นกสองเพศตัวนี้คงมีโอกาสน้อยมากที่จะได้สืบพันธุ์ และเป็นไปได้ว่าอาจไม่มีลูกหลานของมันในรุ่นต่อไปแล้ว