อะไรคือข้อถกเถียงในวงการศิลปะจาก AI หลังกระแส Midjourney

โดย วัชชิรานนท์ ทองเทพ

ผู้สื่อข่าวบีบีซีไทย

ผลงานทดลองสร้างภาพ ด้วย AI ของ ผศ.เกรียงไกร กงกะนันทน์ อาจารย์จากคณะดิจิทัลมีเดีย มหาวิทยาลัยศรีปทุม

ที่มาของภาพ, ผศ.เกรียงไกร กงกะนันทน์

คำบรรยายภาพ, ผลงานทดลองสร้างภาพ ด้วย AI ของ ผศ.เกรียงไกร กงกะนันทน์ อาจารย์จากคณะดิจิทัลมีเดีย มหาวิทยาลัยศรีปทุม

ปัจจุบันคำว่า "ปัญญาประดิษฐ์" หรือ Artificial Intelligence (AI) ไม่ใช่เรื่องไกลตัวและกำลังก้าวเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของวิถีชีวิตคนไทยเพิ่มมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการสร้างสรรค์ต่าง ๆ การทำงานและธุรกิจ

เมื่อไม่นานมานี้ หลายคนคงเห็นภาพที่แชร์ทางสังคมออนไลน์อย่างเฟซบุ๊กที่พูดคุยถึงเรื่องโปรแกรม Midjourney และภาพที่รังสรรค์โดยปัญญาประดิษฐ์ (AI art)ในรูปแบบต่าง ๆ จากการใช้ข้อความหรือคีย์เวิร์ดสำคัญ แล้วระบบจะประมวลผลและสร้างผลงานศิลปะออกมา

ทว่า ยังมีประเด็นข้อถกเถียงหลายอย่างที่กำลังเกิดขึ้นในวงการศิลปะเกี่ยวกับการนำปัญญาประดิษฐ์ แม้ว่าโปรแกรมใหม่จะมีความสามารถสร้างผลงานศิลปะจากคำสั่งมนุษย์ได้อย่างรวดเร็วและสวยงามก็ตาม

บีบีซีไทยประมวลเรื่องที่น่าสนใจบางส่วนจากวงเสวนาทางระบบออนไลน์ในหัวข้อ The Age of A.I. Art ซึ่งจัดโดยคณะดิจิทัลมีเดีย มหาวิทยาลัยศรีปทุมเมื่อวันที่ 21 ส.ค. มาเล่า ดังนี้

ความเหมือน-ความต่างระหว่างการสร้างงานศิลปะจากมือและ AI

แม้ว่ารูปแบบหรือขั้นตอนการสร้างสรรค์งานศิลปะจากมือของศิลปินและการสั่งให้ AI วาดภาพให้แตกต่างกัน ในมุมมมองของ ผศ.ดร. โกเมศ กาญจนพายัพ อาจารย์จากคณะมัณฑนศิลป์ มหาวิทยาลัยศิลปากร ผู้บรรยายในการเสวนาดังกล่าวอธิบายว่า งานศิลปะอย่างไรก็ประกอบด้วยองค์ประกอบไม่ต่างกัน

หากย้อนไปที่หัวใจของในการสร้างงานศิลปะหลัก ๆ แล้วประกอบด้วย 4 องค์ประกอบ หัวข้อเรื่องหรือสิ่งที่ศิลปินต้องการสร้าง องค์ความรู้ของศิลปินเกี่ยวกับชิ้นงาน รูปแบบสไตล์ และความชำนาญของศิลปิน ซึ่งสิ่งเหล่านี้ในงานศิลปะดิจิทัลก็ต้องอาศัยองค์ประกอบเหล่านี้เช่นกัน 

นิทรรศการแสดงภาพที่สร้างโดยเอไอ จัดแสดงในตุรกี เมื่อปี 2021

ที่มาของภาพ, Getty Images

คำบรรยายภาพ, นิทรรศการแสดงภาพที่สร้างโดยเอไอ จัดแสดงในตุรกี เมื่อปี 2021

อย่างไรก็ตาม การใช้เครื่องมือทางดิจิทัลในการสร้างงานศิลปะ จะทำให้ได้งานรวดเร็วมากขึ้น และมีประสิทธิภาพมากขึ้น

นักวิชาการผู้เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีเสมือนจริง (Virtual Reality-VR) และประติมากรรมดิจิทัล (Digital Sculpting) รายนี้กล่าวว่า อิทธิพลจากปัญญาประดิษฐ์เริ่มเห็นเด่นชัดในงานศิลปะมาตั้งแต่ปี 2015 นับตั้งแต่การเปิดตัวของโปรแกรมคอมพิวเตอร์ชื่อว่า DeepDream คิดค้นขึ้นโดยวิศวกรจากกูเกิล ที่สามารถจดจำโครงร่างของภาพได้ระดับหนึ่ง การประมวลผลจะเกิดขึ้นตามชุดข้อมูล (data set) ที่นำเข้าไปในโปรแกรม ส่วนคุณภาพของภาพที่ได้ขึ้นอยู่กับสองปัจจัยคือ จำนวนข้อมูลที่ป้อนเข้าไป และระยะเวลาที่กำหนดให้ระบบประมวล

"จริง ๆ ก็ไม่ต่างอะไรกับการทำงานในโลกความเป็นจริง เหมือนคำกล่าวที่ว่า งานศิลปะแต่ละชิ้นของศิลปินจะเสร็จก็ต่อเมื่อ เขาเซ็นชื่อ (ลงบนผลงาน) หากยังไม่เสร็จก็ยังไม่เซ็นชื่อเสียที เช่นเดียวกันกับตัว AI ที่จะให้ระบุเวลาเช่นว่า ประมาณ 60 วินาที ถ้าหากเราใช้เวลาน้อยกว่านั้นคุณภาพก็อาจจะได้น้อยกว่า" ผศ.ดร. โกเมศ กล่าว

การทำงานของ AI ต่างจากโปรแกรมฟิลเตอร์อย่างไร 

เมื่อพิจารณารูปแบบการทำงานของโปรแกรมวาดรูปศิลปะโดยปัญญาประดิษฐ์ที่ต้องใช้รูปใด ๆ เป็นส่วนอ้างอิงและป้อนข้อมูลต่าง ๆ ลงไปตามความต้องการของผู้ใช้งานหรือศิลปิน จะแตกต่างอย่างไรกับการใช้ฟิลเตอร์ ซึ่งถือเป็นเครื่องมือตกแต่งภาพที่พบเห็นแพร่หลายบนแอปพลิเคชันในมือถือและคอมพิวเตอร์

นักวิชาการรายนี้อธิบายว่า ระบบฟิลเตอร์ที่ใช้สร้างภาพใหม่ เวลาที่ผู้ใช้สั่งการให้สร้างภาพ ภาพที่ได้มามักจะเหมือนกันทุก ๆ ครั้ง ทว่า หากเป็นการใช้โปรแกรมที่ใช้ปัญญาประดิษฐ์ทุกครั้งที่สร้างภาพศิลปะมาจะมีความหลากหลายแตกต่าง ๆ ไม่เหมือนกัน เพราะเป็นการจำลองความเป็นมนุษย์เขาไป ที่ไม่ว่ามนุษย์วาดภาพเดียวกี่ครั้งก็ไม่เหมือนเดิม

บทบาทศิลปินเปลี่ยนไป เมื่อใช้ Al มาช่วยงานศิลปะ

พัฒนาการของการนำ AI เข้ามาในงานศิลปะที่เพิ่มมากขึ้นในช่วยหลังทำให้เริ่มมีการนำสไตล์ของศิลปินดัง ๆ ในอดีตหลายคนมาผสมกัน พร้อมกับป้อนคำสั่งหรือคีย์เวิร์ดเพิ่มเติม ทำให้ได้ผลงานตื่นตาตื่นใจมากขึ้น นอกจากนี้ยังสามารถกำหนดสัดส่วนของอิทธิพลจากรูปต้นแบบ ให้ประมวลเป็นภาพใหม่ในสไตล์แบบที่ผู้สร้างต้องการได้

 

ผศ.ดร. โกเมศ กล่าว จากมุมมองนี้ AI ได้เปลี่ยนบทบาทของผู้สร้างงานศิลปะให้เปลี่ยนไปจากเดิมที่มนุษย์เป็นศิลปินผู้ควบคุมทุกอย่าง ตั้งแต่การเลือกวัสดุ สีที่ใช้ แต่ต่อไปสิ่งนี้จะไม่ได้เป็นหน้าที่ของศิลปินแล้ว โดยจะเปลี่ยนบทบาทเป็น "ภัณฑารักษ์" แทน ด้วยการเป็นคนที่ช่วยดูว่าผลงานที่ออกมาเป็นไปอย่างที่แนวความคิดที่ต้องการหรือไม่

 

"สิ่งสำคัญคือการสร้างภาษาให้ AI เข้าใจง่าย จะทำให้ผลลัพธ์ที่ได้มีความใกล้เคียงกับสิ่งที่คาดหมายไว้"

 

คำบรรยายวิดีโอ, AI ช่วยตัดต่อภาพได้อย่างไร?

แล้วผลงานที่เกิดขึ้นจาก AI สามารถสะท้อนจิตวิญญาณของศิลปินได้หรือไม่ นักวิชาการรายนี้แนะนำว่า หากมีภาพต้นแบบที่ดีที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว เมื่อนำเข้าไปป้อนในโปรแกรม AI เมื่อระบบจดจำเอกลักษณ์ของภาพได้ก็จะประมวลผลออกมาเป็นไปตามรูปแบบ กลิ่นอาย หรือจิตวิญญาณที่แฝงเร้นในงานได้ด้วย  

ข้อถกเถียงเรื่องลิขสิทธิ์ภาพต้นแบบ

ประเด็นที่กำลังเป็นที่ถกเถียงของศิลปินหลายคนที่สะท้อนไปยังแฟลตฟอร์ม หรือ ผู้พัฒนาโปรแกรมไม่ว่าจะเป็น Midjourney หรือ DALL•E คือ การนำภาพที่มีลิขสิทธิ์ไปให้เป็นต้นแบบในการพัฒนาภาพโดย AI ถือเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ได้หรือไม่ และมีการดำเนินการอย่างไรต่อในอนาคต

ผศ.ดร. โกเมศยกตัวอย่างกรณีที่มีผู้ใช้งานคนหนึ่งที่ไม่เคยเรียนเกี่ยวกับวิชาศิลปะมาก่อน แต่สามารถวาดงานโดยปัญญาประดิษฐ์แบบเดียวกับกับศิลปินชื่อดังได้ โดยมีกลิ่นอายจากตั้งฉบับถึง 90%

“คำถามคือ ศิลปินควรจะรู้สึกภูมิใจหรือจะรู้สึกว่าถูกละเมิดลิขสิทธิ์” เขาถาม

ภาพมีชื่อว่า ‘Portrait of Edmond de Belamy’ นับว่าเป็นงานศิลปะโดยเอไอชิ้นแรกที่มีการประมูลขายด้วยมูลค่ากว่า 432,000 เหรียญสหรัฐ หรือ ราว 15 ล้านบาท ซึ่งประมูลที่บริษัทประมูล คริสตีส์ (Christie's)

ที่มาของภาพ, Getty Images

คำบรรยายภาพ, ภาพมีชื่อว่า ‘Portrait of Edmond de Belamy’ นับว่าเป็นงานศิลปะโดยเอไอชิ้นแรกที่มีการประมูลขายด้วยมูลค่ากว่า 432,000 เหรียญสหรัฐ หรือ ราว 15 ล้านบาท ซึ่งประมูลที่บริษัทประมูล คริสตีส์ (Christie's)

แม้ว่าเรื่องนี้ยังไม่มีข้อยุติ แต่มีเจ้าของลิขสิทธิ์หลายรายส่งเรื่องไปยัง Midjourney ไปให้ระบุของสไตล์งานของใครคนใดคนหนึ่ง เพื่อปกป้องลิขสิทธิ์ แต่ผู้พัฒนาจะให้สิทธิเฉพาะผู้ที่เป็นชำระค่าสมาชิกเท่านั้น โดยไม่รวมกับผู้ใช้งานฟรี

อะไรคือ Midjourney

โปรแกรม Midjourney ได้รับการพัฒนาและคิดค้นโดย เดวิด โฮลซ์ ผู้เชี่ยวชาญในวงการธุรกิจเทคโนโลยีและเป็นผู้ร่วมก่อตั้งและประธานเจ้าหน้าที่บริหารฝ่ายเทคโนโลยีของบริษัทสตาร์ทอับ ชื่อ Leap Motion ซึ่งสื่อหลายสำนักรายงานว่า โครงการสร้าง Midjourney ให้เป็นโปรแกรมสร้างภาพศิลปะโดยปัญญาประดิษฐจากข้อความของศิลปิน เป็นเพียงโปรเจกต์เพื่อความสนุกโดยมิได้หวังผลกำไรใด ๆ

สาเหตุที่เพิ่งมาเป็นกระแสในไทยและทั่วโลก ก็เนื่องจากโปรแกรมนี้เปิดตัวเมื่อวันที่ 2 ส.ค. ที่ผ่านมา ทำให้นักสร้างคอนเทนต์ศิลปะทดลองใช้กัน โดยมีชุมชนหลัก ๆ คือ ผู้ที่มีบัญชีดิสคอร์ด (Discord)

อย่างไรก็ตาม Midjourney ก็ไม่ใช่โปรแกรมที่วาดภาพโดยการประมวลผลของปัญญาประดิษฐ์ตัวแรก เพราะในตลาดยังมีอีกหลายตัว เช่น DALL•E ของ OpenAI และ Imagen ของ Google เป็นต้น

ผลงานทดลองสร้างภาพ ด้วย AI ของ ผศ.เกรียงไกร กงกะนันทน์ อาจารย์จากคณะดิจิทัลมีเดีย มหาวิทยาลัยศรีปทุม

ที่มาของภาพ, ผศ.เกรียงไกร กงกะนันทน์

คำบรรยายภาพ, ผลงานทดลองสร้างภาพ ด้วย AI ของ ผศ.เกรียงไกร กงกะนันทน์ อาจารย์จากคณะดิจิทัลมีเดีย มหาวิทยาลัยศรีปทุม