วันจันทร์ ที่ 20 พฤษภาคม พ.ศ. 2567 09:39 น.

ภูมิภาค

ชวนเที่ยวงานงานนมัสการพระแท่นศิลาอาสน์ ชมขบวนแห่อันยิ่งใหญ่ 9 อำเภอ พร้อมนางรำ 999 ชีวิต

วันพฤหัสบดี ที่ 08 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2567, 13.35 น.

เมื่อวันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2567 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่บริเวณหน้าวิหารวัดพระแท่นศิลาอาสน์ พระอารามหลวง อ.ลับแล จ.อุตรดิตถ์ พระวินัยสาทร เจ้าคณะจังหวัดอุตรดิตถ์ (ธรรมยุต) เจ้าอาวาสวัดพระแท่นศิลาอาสน์ พระอารามหลวง (ประธานฝ่ายสงฆ์) พร้อมด้วย นายศิริวัฒน์ บุปผาเจริญ ผู้ว่าราชการจังหวัดอุตรดิตถ์ (ประธานฝ่ายฆราวาส)   นายภูริวัจน์ โชตินพรัตน์ นายอำเภอลับแล นายสุรพันธ์ เจริญทรัพย์ วัฒนธรรมจังหวัดอุตรดิตถ์ และ นายนันท์สิทธิ์ โพธิ์งาม รองปลัดองค์การบริหารส่วนจังหวัดอุตรดิตถ์  แถลงข่าวต่อสื่อมวลชนถึงการจัดงานนมัสการพระแท่นศิลาอาสน์ ประจำปี 2567 ระหว่างวันที่ 11 - 24 กุมภาพันธ์ นี้ ณ  บริเวณวัดพระแท่นศิลาอาสน์ พระอารามหลวง เชื่อมโยงไปถึงวัดพระยืนพุทธบาทยุคล และ  วัดพระนอน  บนเนื้อที่การจัดงานกว่า 400 ไร่  เพื่อเป็นการสืบสาน รักษาประเพณีการบูชาพระแท่นศิลาอาสน์ ในวันเพ็ญเดือนสามของทุกปี เป็นการสืบทอดพระพุทธศาสนา และ เป็นการส่งเสริมการท่องเที่ยว สร้างรายได้ให้กับประชาชน ชุมชน และ  จังหวัดอุตรดิตถ์   โดยพิธีเปิดงานในวันอาทิตย์ที่ 11 กุมภาพันธ์ 2567 เวลา 17.00 น. โดยมีริ้วขบวนแห่อันยิ่งใหญ่จาก 9 อำเภอ  ชมการแสดงศิลปวัฒนธรรมทุกคืน มีหัวหน้าส่วนราชการฝ่ายพลเรือน ทหาร ตำรวจ ข้าราชการ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ตลอดจนผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น(อปท.) และ นางรำ 999 ชีวิต  ร่วมงานแถลงข่าว ท่ามกลางบรรยากาศเต็มไปด้วยความคึกคัก  

นอกจากนี้  ยังมีการกวนพุทราแขวนบาตร ที่สืบทอดมาตั้งแต่โบราณ   การฟังเทศน์มหาชาติ 13 กัณฑ์ การหล่อรูปเจ้าเงาะ    การทำบุญตักบาตรพระร้อย การเวียนเทียนรอบพระแท่น   ภายในงานสามารถเลือกซื้อสินค้าพื้นเมือง กว่า 2,000 ร้านค้า  อาทิ ฯ น้ำอ้อยกะทิ ประกอบด้วย ถั่ว งา มะพร้าว ปีหนึ่งหาทานได้เพียงครั้งเดียวที่งานนมัสการพระแท่นศิลาอาสน์แห่งนี้ ไม่มีขายตามท้องตลาด น้ำตาลโตนด น้ำตาลจากเมืองเพชรบุรี พุทรากวน ไม้กวาดตองกง ข้าวเกียบว่าว ข้าวเกียบงา เครื่องจักรสานพื้นบ้าน สินค้าท้องถิ่นที่ชาวบ้านนำมาจำหน่ายขายภายในงาน   รวมถึงผลิตภัณฑ์สินค้าโอท็อปของดีขึ้นชื่อจังหวัดอุตรดิตถ์

พระวินัยสาทร เจ้าคณะจังหวัดอุตรดิตถ์ (ธรรมยุต) เจ้าอาวาสวัดพระแท่นศิลาอาสน์ พระอารามหลวง  กล่าวว่า   พระแท่นศิลาอาสน์   เป็นพุทธสถานที่ชาวไทยทั่วประเทศเดินทางมาตามคำบอกเล่าของบรรพบุรุษว่า “ ไหว้พระแท่น 3 ครั้ง จะได้ไปสวรรค์ ”  โดยงานจะมีตั้งแต่วันที่ 11 - 24 กุมภาพันธ์ นี้ รวม 14 วัน14 คืน งานนมัสการพระแท่นศิลาอาสน์ ประจำปี 2567 มีการจัดขบวนแห่เครื่องนมัสการบูชาพระแท่นศิลาอาสน์  ขบวนแห่เทิดพระเกียรติ “พ่อขุนรามคำแหงมหาราช”  ขบวนแห่อุตรดิตถ์เมืองแห่ง 3 วัฒนธรรม ประกอบด้วย ขบวนแห่วัฒนธรรมล้านนา วัฒนธรรมล้านช้าง และ วัฒนธรรมไทยกลาง สุโขทัย สยาม การแต่งกายเพื่อแสดงถึงวิถีชีวิตและวัฒนธรรมท้องถิ่นถิ่นด้วยผ้าทอพื้นเมือง ขนบธรรมเนียมประเพณีของหมู่บ้านจาก 9 อำเภอ สะท้อนวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของชาวบ้านในพื้นที่ คือ วัฒนธรรมล้านนา ล้านช้างและภาคกลาง สุโขทัย สยาม มีนักท่องเที่ยวทั้งในพื้นที่จังหวัดอุตรดิตถ์และจังหวัดใกล้เคียงให้ความสนใจเที่ยวงานกันเป็นจำนวนมาก

“เป็นงานประเพณีที่มีมานานกว่า 100 ปี  พระแท่นศิลาอาสน์ เป็นแท่นศิลาแลง มีขนาดกว้าง  8  ฟุต ยาว 9  ฟุต สูง 3  ฟุต เป็นปูชนียวัตถุที่มีตำนานกล่าวว่า เป็นแท่นที่พระโพธิสัตว์ 5  พระองค์   เมื่อครั้งเสวยชาติเป็นเดรัจฉาน เสด็จมาประทับเพื่อบำเพ็ญพระบารมี ตั้งสัตยาธิษฐานเพื่อปรารถนาที่จะตรัสรู้เป็นพระพุทธจ้า ในภัทรกัปเดียวกันนี้ ต่อมาพระโพธิสัตว์ทั้ง  5  พระองค์ ได้ตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้าไปแล้ว 4  พระองค์ คือ พระกกุกสันโทพุทธเจ้า พระโกนาคมโนพุทธเจ้า พระกัสโปพุทธเจ้า และพระโคตโมพุทธเข้า ส่วนพระโพธิสัตว์องค์ที่  5  คือ พระศรีอาริยเมตไตโยโพธิสัตว์ จะเสด็จมาตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้าองค์ต่อไป เมื่ออายุกาลพระพุทธศาสนาของพระพุทธเจ้าองค์ ปัจจุบันล่วงพ้นมาแล้วกว่า 5,000 ปี “

พระวินัยสาทร เจ้าคณะจังหวัดอุตรดิตถ์   กล่าวอีกว่า   วัดพระแท่นศิลาอาสน์ เป็นวัดคู่บ้านคู่เมืองจังหวัดอุตรดิตถ์ และ  เป็นวัดที่สำคัญแห่งหนึ่งของประเทศไทย พระมหากษัตริย์หลายพระองค์ทรงเสด็จมานมัสการสักการะกราบไหว้ วัดแห่งนี้สังกัดคณะธรรมยุตนิกายและ เป็นพระอารามหลวงชั้นตรี ชนิดสามัญ มีหลักฐานการได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาเป็นเอกสารชัดเจนในสมัยรัชกาลที่ 5 เมื่อวันที่ 19 ตุลาคม 2452

โบราณว่า “ ผู้ใดมากราบไหว้พระแท่นศิลาอาสน์ถึง 3 ครั้ง จะได้ไปสวรรค์  ” งานนมัสการพระแท่นศิลาอาสน์ หากใครได้มาเที่ยว ถือมีบุญศักดิ์ใหญ่ได้เที่ยวงานวัดในคราวเดียวถึง 3 แห่งด้วยกัน  คือ วัดพระแท่นศิลาอาสน์ , วัดพระยืนพุทธบาทยุคล และ วัดพระนอนพุทธไสยาสน์  ซึ่งอยู่ในอาณาบริเวณรอบเขตสีมาติดต่อกันทั้ง 3 วัด การจัดงานถูกกำหนดให้มีในวันเวลาเดียวกัน และ มีแห่งเดียวในประเทศไทย   ประชาชนที่มาเที่ยวจะได้รับอานิงสงฆ์บุญอย่างเต็มอิ่ม   พร้อมยกพระเสี่ยงทายโชควาสนา หน้าที่การงาน คู่ครอง ความรัก โรคภัย ในวิหารพระแท่นศิลาอาสน์ปิดท้ายก่อนกลับบ้าน พระวินัยสาทร  กล่าว.

หน้าแรก » ภูมิภาค