‘วันช้างไทย’ 13 มีนาคม

‘วันช้างไทย’ 13 มีนาคม

รู้จัก “วันช้างไทย” 13 มีนาคมของทุกปี เพื่อให้คนไทยเห็นความสำคัญของ “ช้าง” สัตว์คู่บ้านคู่เมือง

ช้างถือเป็นหนึ่งในสัตว์มงคล คู่บ้านคู่เมือง วันช้างไทย จึงได้มีการริเริ่มจากคณะอนุกรรมการประสานงานการอนุรักษ์ช้างไทย ซึ่งเป็นหน่วยงานประสานงาน องค์การภาครัฐและเอกชนที่ทำงานเกี่ยวกับการอนุรักษ์ช้างไทยคณะกรรมการเอกลักษณ์ของชาติ สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี

เนื่องจากเล็งเห็นว่าหากมีการสถาปนา วันช้างไทย ขึ้น จะช่วยให้ประชาชนคนไทย หันมาสนใจช้าง รักช้าง หวงแหนช้าง ตลอดจนให้ความสำคัญต่อการให้ความช่วยเหลืออนุรักษ์ช้างมากขึ้น

คณะอนุกรรมการฯ จึงได้พิจารณาหาวันที่เหมาะสม ซึ่งครั้งแรกได้พิจารณาเอาวันที่สมเด็จพระนเรศวรมหาราชทำยุทธหัตถี มีชัยชนะเหนือพระมหาอุปราชา แต่วันดังกล่าวถูกใช้เป็นวันกองทัพไทยไปแล้ว จึงได้พิจารณาวันอื่น

กระทั่งเห็นว่าวันที่ 13 มีนาคม ซึ่งเป็นวันที่คณะกรรมการคัดเลือกสัตว์ประจำชาติ มีมติให้ช้างเผือกเป็นสัญลักษณ์ของประเทศไทยนั้นมีความเหมาะสม จึงได้นำเสนอให้ตั้งวันดังกล่าวเป็น วันช้างไทย โดยยื่นมติตามลำดับขั้นเข้าสู่คณะรัฐมนตรี โดยได้รับการสนับสนุนจากกระทรวงเกษตรและสหกรณ์อีกทางหนึ่ง 

คณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อ 26 พฤษภาคม พ.ศ. 2541 เห็นชอบให้ วันที่ 13 มีนาคม ของทุกปี เป็น วันช้างไทย และได้ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรีเมื่อ 29 พฤษภาคม พ.ศ. 2541ลงในราชกิจจานุเบกษา เมื่อ 18 มิถุนายน พ.ศ. 2541
ผลจากการที่ประเทศไทยมีวันช้างไทยเกิดขึ้น นับเป็นการยกย่องให้เกียรติว่าเป็นสัตว์ที่มีความสำคัญอีกครั้ง นอกเหนือจากเกียรติที่ช้างเคยได้รับในอดีต
ไม่ว่าจะเป็นช้างเผือกในธงชาติ หรือช้างเผือกที่เป็นสัญลักษณ์ของประเทศ หรือสัตว์คู่พระบารมีของพระมหากษัตริย์
ปัจจุบัน ข้อมูลจากกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช พบว่า มีอยู่ประมาณ 3,500 -6,000 ตัว ในพื้นที่ป่าอนุรักษ์ 68 แห่ง 7 กลุ่มป่า คือ  กลุ่มป่าตะวันตก พื้นที่ แก่งกระจาน สลักพระ ห้วยขาแข้ง 400-600 ตัว กลุ่มป่ารอยต่อตะวันออก 5 จังหวัด  300-400 ตัว กลุ่มป่าภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ป่าดงพญาเย็น-เขาใหญ่ ภูเขียว น้ำหนาว เขาใหญ่ ตาพระยา 500-600 ตัว กลุ่มป่าภาคใต้คลองแสง-เขาสก จ.สุราษฎร์ธานี 100-150 ตัว และกลุ่มป่าภาคเหนือ 110-300 ตัว