‘ห้วยน้ำนัก’ กับดักเศรษฐกิจพิเศษ

‘ห้วยน้ำนัก’ กับดักเศรษฐกิจพิเศษ

หลังฉาก‘ออนเซนเมืองตาก’ เรื่องไม่ลับในน้ำแร่ขวดนั้น ปัญหาการแย่งชิงทรัพยากรในหมู่บ้านเล็กๆ ที่ไม่มีใคร(อยาก)รู้

/////////////////////////////////////////////////////

ชื่อเสียงของชุมชน ‘ห้วยน้ำนัก’ ติดสอยห้อยตามบ่อน้ำพุร้อนที่วันนี้จัดเป็นของดีประจำอำเภอพบพระ แหล่งท่องเที่ยวระดับจังหวัดที่ถูกเทียบชั้นว่าเป็นออนเซนเมืองไทย
ข้อความประชาสัมพันธ์ว่าด้วยคุณสมบัติพิเศษของ ‘น้ำแร่’ ห้วยน้ำนัก เรียกตัวเลขนักท่องเที่ยวได้เป็นอย่างดี ปีที่ผ่านมาองค์การบริหารส่วนตำบลพบพระได้จัดสรรงบประมาณกว่า 14 ล้านบาทมาปรับปรุงพื้นที่ สร้างสิ่งอำนวยความสะดวกให้สมกับเป็น “ออนเซนเมืองตาก” ขณะที่อุทยานแห่งชาติน้ำตกพาเจริญ(เตรียมการ) ก็เร่งประกาศอาณาเขตครอบคลุมบริเวณของบ่อน้ำร้อนดังกล่าวเพื่อช่วงชิงอำนาจในการจัดการอย่างเต็มรูปแบบ
แต่นั่นก็ยังช้ากว่าบริษัทน้ำแร่ชื่อฝรั่งเศสที่ดึงน้ำจากบ่อน้ำพุร้อนมาบรรจุขวดขายมานานนับสิบปี โดยมีชาวบ้านในพื้นที่นั่งมองตาปริบๆ
............................................................................
“มอโก่ (บ่อน้ำร้อน) เมื่อก่อนเป็นของคนในหมู่บ้านทั้งหมด เราเชื่อว่าเป็นสิ่งที่ศักดิสิทธิ์ เวลามีคนป่วยเป็นคอพอก เป็นโรคผิวหนัง เราจะเอาธูปเทียนไปขอขมารักษาตัว เป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์มาก คนกะเหรี่ยงไม่กล้าที่จะไปอยู่ตรงนั้นด้วยซ้ำไป เวลาไปก็ต้องค่อยๆ เข้าไป ไม่กล้ากระทืบเท้าเพราะกลัวว่ามันจะผุดขึ้นมา เพราะฉะนั้นเราไม่กล้าที่่จะทำอะไรตรงนั้นเลย แม้กระทั่งทำไร่ทำนา”
ยงยุทธ เนตรนิรันดร ชาวบ้านห้วยน้ำนัก เล่าย้อนถึงที่มาของหมู่บ้านที่มีชื่อจริงในภาษาปกาเกอะญอว่า “เวหนะหนะ” จากคำบอกเล่าของผู้เฒ่าผู้แก่ ชุมชนแห่งนี้ก่อตั้งมากว่า 3 ชั่วอายุคน ตั้งอยู่ในหุบเขามีลำห้วยไหลมาบรรจบกัน ได้แก่ เซ่โพโกล ทีแพแหนะ ต้าโกล่ ทำให้มีน้ำมากธรรมชาติอุดมสมบูรณ์
ชาวปกาเกอะญอ หรือกะเหรี่ยงที่อาศัยอยู่ที่นี่ช่วยกันดูแลรักษาป่าต้นน้ำตามมิติความเชื่อทางวัฒนธรรมที่สืบทอดกันมา ไม่ว่าจะเป็น การนำสายสะดือไปแขวนไว้กับต้นไม้ สร้างสายสัมพันธ์ระหว่างเด็กกับต้นไม้ให้เจริญเติบโตไปพร้อมๆ กัน โดยเด็กเจ้าของสะดือจะมีพันธะสัญญาในการดูแลรักษาและห้ามใครตัดต้นไม้นี้ รวมไปถึงการประกอบพิธีกรรมในพื้นที่ต้นน้ำเพื่อยืนยันถึงความศักดิ์สิทธิ์ ห้ามใครบุกรุกทำลาย ทำให้จนถึงปัจจุบันป่าชุมชนห้วยน้ำนักยังคงความอุดมสมบูรณ์ เช่นเดียวกับบ่อน้ำร้อนที่ไม่เคยเหือดแห้งไป
“ชาวบ้านอยู่กันมากว่าร้อยปี ไม่เคยมีโฉนด แต่พอปี 2523 นายทุนมาซื้อที่ พอปี 2526 เขาก็ได้ นส.3 ก จากนั้นเขาก็สร้างโรงงาน โดยดึงน้ำแร่จากบ่อน้ำศักดิ์สิทธิ์ของเรา ซึ่งมีอยู่ 3 บ่อ คือบ่อกะชอ บ่อต่าข่อ บ่อทีกะเมอ ไปใส่ขวดขาย”
แม้จะเต็มไปด้วยคำถามในใจ แต่ชาวบ้านห้วยน้ำนักยังคงใช้ชีวิตพอเพียงเรียบง่ายตามวิถีของกลุ่มชาติพันธุ์ หลายปีที่ผ่านมาไร่หมุนเวียนถูกกล่าวหาว่าเป็นไร่เลื่อนลอย ขณะที่นายทุนก็พยายามยัดเยียดไร่ข้าวโพดมาแทนที่ ถึงอย่างนั้นป่าต้นน้ำและป่าชุมชนยังได้รับการปกป้องเป็นอย่างดี ผืนป่าสีเขียวที่เหลืออยู่จึงเปรียบเสมือนโอเอซิสท่ามกลางความร้อนแล้งที่บังเอิญไปเข้าตาเจ้าหน้าที่รัฐที่ต้องการ “ทวงคืนผืนป่า”
"ผืนป่าผืนนั้นที่เราอนุรักษ์มาจนถึงทุกวันนี้ ถ้าเฉพาะ ต.พบพระ ผมการันตีได้เลยว่าเป็นผืนป่าที่ใหญ่ที่สุดที่เหลืออยู่ใน 9 หมู่บ้าน ที่มันเหลือใหญ่ที่สุดเพราะเราอนุรักษ์ไว้ แต่ด้วยความสมบูรณ์ตรงนี้เองมันทำให้เจ้าหน้าที่ป่าไม้ เห็นว่าป่ายังสมบูรณ์อยู่ เขาก็พยายามจะเอาคืน
ผู้เฒ่าผู้แก่ที่นี่ พอเราบอกว่าป่าผืนนี้รัฐเขาจะเอาคืนแล้วนะ เขาบอก...มันถูกแล้วเหรอ พื้นที่ที่ป่าโล้นไปหมดทำไมเขาไม่ดูแลฟื้นฟู ตรงนี้ที่เราดูแลแล้วทำไมต้องมายึด เขากลัวว่าเราจะทำลายเหรอ ไม่นะครับ...ถ้าเราทำลาย เราทำลายมานานแล้ว ดูแลมา 4 ชั่วอายุคน ไม่น้อยกว่า 200 ปี 300 ปี" ยงยุทธ ตัดพ้อ ก่อนจะเล่าต่อถึงเหตุผลที่คนปกาเกอะญออนุรักษ์ป่าไว้
"เพราะมันเป็นปัจจัย 4 ทุกๆ สิ่ง ทุกๆ อย่างอยู่ในนั้นหมดเลย อย่างอาหาร เดือนมิถุนายนมีเห็ดถอบ เห็ดถอบเป็นแหล่งอาหารอย่างหนึ่งที่เรากินแล้วเหลือก็ไปขายให้กับคนที่อื่น ปีๆ หนึ่งขายได้ไม่ต่ำกว่าแสนบาทเป็นรายได้เข้าหมู่บ้านเรา แล้วก็ใบตองตึง เดือนกุมภาพันธ์ ตอนเช้าชาวบ้านจะไปเก็บมาเพื่อไปทำหลังคา เพราะชาวกะเหรี่ยงจะเชื่อว่าผีปู่ย่าจะอยู่บ้านที่เป็นไม้ไผ่ หลังคาเป็นใบตองตึง เพราะฉะนั้นจะเห็นว่ากะเหรี่ยงมีบ้านสองหลัง บ้านที่อยู่หลังนึง แล้วก็บ้านที่ทำพิธีซึ่งต้องทำจากใบตองตึงเท่านั้น แต่ปรากฎว่าหลังๆ มา ที่อื่นเขาทำลายป่าหมดแล้ว บ้านเราเลยกลายเป็นแหล่งเก็บใบตองตึง เหลือก็ขาย ปีๆ หนึ่งทำเงินเข้าหมู่บ้านไม่ใช่น้อย
ทีนี้เมื่อประกาศเป็นเขตอุทยานแล้ว กระทบแน่ๆ ถ้าเราจะไปเก็บของเหล่านั้น ผมเคยคุยกับหัวหน้าอุทยานฯที่ตาก เขาบอกว่าไม่ได้โหดร้ายขนาดนั้น เขาอนุโลมให้เก็บกินได้ แต่กินเท่านั้นนะ ห้ามขาย ถ้าขายมันไม่ถูกต้องละ ทีนี้ถามว่าเรารักษามานานทีเดียว ถึงเวลาที่เราจะได้เก็บเกี่ยวแล้วทำไมเขามาตัดท่อน้ำเลี้ยงเรา ซึ่งตอนนี้กระทบเยอะ ผมว่าส่วนหนึ่งน่าจะมาจากพื้นที่เศรษฐกิจพิเศษด้วย เพราะพื้นที่เศรษฐกิจพิเศษที่นี่เมื่อกุมภาพันธ์ปีที่แล้ว เขาก็ขอทำเป็นนิคมอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ ขอพื้นที่ 2 พันกว่าไร่ ซึ่งเราไม่ยอม"
ตัวแทนชาวบ้านห้วยน้ำนักแสดงความกังวลต่อแรงกดดันระลอกใหม่ หลังการประกาศพื้นที่เศรษฐกิจพิเศษเพิ่มเติมจากอำเภอแม่สอดอีกสองอำเภอ คือ อำเภอแม่ระมาดและอำเภอพบพระ เพื่อรองรับการขยายตัวทางด้านเศรษฐกิจ การค้าชายแดน การลงทุนในภาคอุตสาหกรรมและการท่องเที่ยว ซึ่งไม่เพียงชุมชนห้วยน้ำนักเท่านั้นที่เผชิญกับปัญหาการแย่งชิงทรัพยากร และผลกระทบที่คาดว่าจะเกิดขึ้นเมื่อมีการสร้างโรงงานอุตสาหกรรม การนำเข้าแรงงานต่างถิ่น แต่ยังหมายรวมถึงชุมชนหมู่บ้านฐานทรัพยากรอีกเป็นจำนวนมากในฝั่งตะวันตกของจังหวัดตาก ไล่ตั้งแต่อำเภอท่าสองยาง แม่ระมาด แม่สอด พบพระ อุ้มผาง ที่แค่เริ่ม...ก็เห็นเค้าลางแล้ว
“แม่สอดตั้งแต่อดีตมามันเป็นเมืองค้าขาย เป็นชุมทางการค้าอยู่แล้ว สินค้าทุกอย่างต้องผ่านทางนี้ไปถึงพม่า ถึงจีน อีกทางก็ไปอินเดีย ถ้าระบบโลจิสติกส์ดี การขนส่งดี พม่าเปิด มันไปได้หมด มันไม่ใช่เพราะเขตเศรษฐกิจพิเศษ ทุนของมันมีมาอยู่แล้ว ขอแค่ปรับเรื่องโลจิสติกส์เท่านั้นเอง ทุกอย่างมันก็จะดี แต่พอมันมาอยู่ในเรื่องเขตเศรษฐกิจพิเศษ ชาวบ้านจำนวนหนึ่งต้องยอมรับว่าเขาไม่มีข้อมูลอะไร พอมีอะไรที่ใหญ่ๆ เข้ามา เรื่องที่ดินมาก่อนเลย เมื่อก่อนก็หักร้างถางพงเอา ไม่ได้มองว่าเป็นสินทรัพย์ แต่หลังจากนี้ก็ขายกันหมด เขาไม่ได้มองหรอกว่าต่อไปมันจะเป็นยังไง ฉะนั้นในฐานะที่เราอยู่ที่นี่ เห็นเลยว่าเขาไม่มีภูมิคุ้มกันเรื่องนี้ วันนี้ขายที่ พรุ่งนี้ก็เป็นเศรษฐีแล้ว วันต่อไปไม่รู้” เพลินใจ เลิศลักขณวงศ์ ตั้งข้อสังเกตในนามพลเมืองตากถึงผลประโยชน์ที่อาจไม่ได้กระจายไปสู่คนท้องถิ่นเหมือนผลกระทบ
เนื่องจากสถานการณ์ที่กำลังเกิดขึ้นในจังหวัดตากขณะนี้ ด้านหนึ่งคือการสูญเสียที่ดินจากการกว้านซื้อของนายทุน อีกด้านคือการสูญเสียสิทธิในการจัดการทรัพยากรของชุมชนจากนโยบายของรัฐ
ดร.สุวิชาน พัฒนาไพรวัลย์ (ชิ สุวิชาน) นักวิชาการเชื้อสายปกาเกอะญอที่ลงมือทำงานวิจัยเรื่องนี้อย่างจริงจัง โดยเฉพาะในพื้นที่อำเภอชายแดนจังหวัดตากทั้ง 5 อำเภอ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นที่ตั้งของชุมชนชาวกะเหรี่ยง โดยมีชุมชนบ้านห้วยน้ำนัก อำเภอพบพระ เป็นหนึ่งในพื้นที่วิจัย ภายใต้การสนับสนุนของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ฝ่ายวิจัยเพื่อท้องถิ่น แสดงจุดยืนว่า
“ณ วันนี้เราถอยไม่ได้แล้ว เราต้องอยู่ที่นี่ครับ ต้องอยู่กับสิ่งที่เข้ามา ต้องอยู่กับสิ่งที่เรามี ทั้งสองอย่าง แต่เราจะอยู่อย่างไร อันนี้เป็นโจทย์ที่เราคิดกัน แล้วก็มาดูกันว่าตอนนี้เรามีอะไรบ้าง เรามีทุนเดิมอะไร แล้วอะไรที่มากระทบเรา”
“พอเราเริ่มเก็บข้อมูลสิ่งที่มากระทบชุมชน ส่วนใหญ่ก็มาจากนโยบายของรัฐ เช่นนโยบายการประกาศพื้นที่ป่าชนิดต่างๆ ทั้งป่าสงวน ป่าอุทยาน เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า มันก็กระทบพื้นที่ 5 อำเภอชายแดนนี้เกือบหมด โดยเฉพาะชุมชนชนเผ่าจะได้รับผลกระทบจากการประกาศเขตป่า มันส่งผลทำให้เราเสียสิทธิในการทำมาหากิน เสียสิทธิในการใช้วิถีวัฒนธรรมของเรา มันทำให้เราต้องเปลี่ยนทางเลือกใหม่ แต่ว่าทางเลือกใหม่ที่เรามี มันมีอย่างจำกัดจำเขี่ย แล้วมันถูกจำกัดโดยนโยบายรัฐ ถูกจำกัดโดยทุน มันทำให้เราขาดทางเลือก” อาจารย์ชิ แห่งวิทยาลัยโพธิวิชชาลัย มศว.ตาก กล่าวถึงเหตุผลที่ชาวบ้านธรรมดาๆ ต้องมาทำหน้าที่นักวิจัยท้องถิ่นเก็บข้อมูลชุมชนของตนเอง
“ไม่ใช่ว่าเราจะปฏิเสธทางเลือกที่คนข้างนอกเอามาทั้งหมดซะทีเดียว ถ้าอะไรที่มันเข้ามาแล้วส่งผลดีกับเรา ส่งผลให้เราเข้มแข็งขึ้น ทำให้เรายั่งยืนขึ้น เราก็จะเลือก แต่อันไหนที่มันไม่เหมาะเราก็ควรที่จะมีสิทธิ มีโอกาสที่จะกำหนดว่าจะเลือกรับหรือเลือกปฏิเสธ เพราะฉะนั้นเครือข่ายกะเหรี่ยงทั้งหมดก็มารวมตัวกัน แล้วก็มาคุยกันว่าชุมชนไหนอยากจะนำร่อง เริ่มต้นจากการวิเคราะห์สภาพปัญหาของแต่ละชุมชนว่ามันเกิดอะไรขึ้น”
เป้าหมายสำคัญก็คือการกำหนดชะตากรรมของตนเอง
"เราต้องการการพัฒนา เราต้องการให้ลูกหลานของเรา เด็กๆ ของเราโตขึ้นมามีความรู้ เท่าทันคนอื่น อยู่ดีมีสุขแต่จะทำอย่างไรให้ลูกหลานของเรามีการพัฒนาบนฐานนิเวศวัฒนธรรมชุมชนได้อย่างยั่งยืน หลักคิดคือ รู้รากเหง้าตัวเอง รู้สิทธิ รู้ความรับผิดชอบ แล้วก็รู้เท่าทัน ถ้าเป็นอย่างนี้ได้ เราก็สามารถจะอยู่รอดปลอดภัยท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงได้”
ก้าวต่อไปของชุมชนชายแดนที่อยู่ในเงื้อมเงาเขตเศรษฐกิจพิเศษ จึงเป็นการยืนยันวิถีวัฒนธรรมที่สอดคล้องกับปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง และการรักษาทรัพยากรอันมีค่าของแผ่นดิน แทนที่จะยอมจำนนต่อการเปลี่ยนแปลงบนฐานทุนทางอุตสาหกรรม ซึ่งอาจส่งผลให้ชุมชนล่มสลาย ป่าหาย แหล่งน้ำเสื่อมโทรม ซึ่งเมธีวิจัยของสกว. อ.ศรีศักร วัลลิโภดม มองว่ารัฐเองก็ต้องเคารพ‘สิทธิชุมชน’ทั้งตามหลักนิติรัฐและนิติธรรม
"คุณจะขยายพื้นที่เศรษฐกิจพิเศษ คุณต้องคำนึงถึงพื้นที่ทางวัฒนธรรมที่เราเรียกว่าวัฒนธรรมพิเศษ ซึ่งชาวบ้านเขาไม่ได้ปฏิเสธเขตเศรษฐกิจพิเศษ แต่ทางรัฐบาลต้องยอมรับวัฒนธรรมของคนเหล่านี้ ปฏิเสธเขาไม่ได้ ไม่ใช่ออกกฎหมายมาทำลายเขา"
เช่นเดียวกับความเห็นของนักวิชาการจากศูนย์ศึกษาและพัฒนาสันติวิธี มหาวิทยาลัยมหิดล ดร.เพิ่มศักดิ์ มกราภิรมย์ ที่ยืนยันว่าพื้นที่วัฒนธรรมจะเป็นกำแพงคุ้มกันคนในพื้นที่ได้
“เราอาจจะไม่ได้เริ่มที่การพัฒนาเศรษฐกิจนำ แต่เอาเรื่องวัฒนธรรมนำ และตามด้วยเรื่องเศรษฐกิจและความมั่นคง ซึ่งที่สุดเราต้องทำให้ทั้งสามมิติสมดุลไปพร้อมๆ กัน ถึงจะสามารถตั้งรับกับการพัฒนาและการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวได้”
............................................................................ 
ควันจางๆ ลอยขึ้นจากบ่อน้ำพุร้อนบ้านห้วยน้ำนัก แม้ภาพนักท่องเที่ยวที่แวะเวียนเข้ามาจะเป็นสิ่งที่ชาวบ้านเริ่มคุ้นตา แต่คำถามในใจของพวกเขายังไม่เคยหายไป...
ทำไมชาวบ้านจึงไม่มีสิทธิในสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ที่ดูแลมาหลายชั่วอายุคน และอาจไม่มีสิทธิแม้จะหาอยู่หากินอย่างปกติสุขบนแผ่นดินเกิด!