แต้มสี “เขียว” ให้ “เขาค้อ”

แต้มสี “เขียว” ให้ “เขาค้อ”

“สวิตเซอร์แลนด์เมืองไทย” ที่ใครๆ ขนานนามให้เพราะความสวยงามของขุนเขา หมอกขาว และอากาศหนาวจับใจ

วันนี้กำลังกลายเป็นสวิตเซอร์แลนด์สีลูกกวาดที่อาจทำให้ “ใครบางคน” น้ำตาไหล


................


ทันทีที่สิ้นสุด “สมรภูมิแห่งการสู้รบ” ในปี 2525 “เขาค้อ” ก็ถูกหมายตาให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวแห่งใหม่ในจังหวัดเพชรบูรณ์ และเพราะความงดงามของธรรมชาติ กอปรกับสภาพอากาศที่หนาวเย็นตลอดทั้งปี ทำให้เขาค้อกลายเป็นปลายทางที่ได้รับความนิยมอย่างมากในเวลาต่อมา


ความคึกคักของเขาค้อนำมาซึ่งการเปลี่ยนแปลงหลายๆ ด้าน โดยเฉพาะภาคธุรกิจบริการ มีโรงแรม รีสอร์ท ที่พักขนาดต่างๆ รวมถึงร้านอาหาร ร้านกาแฟเกิดขึ้นมากมายภายใต้รูปแบบและสีสันที่หลากหลาย ซึ่งการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วและไร้ทิศทางก่อให้เกิดปัญหาที่กระทบต่อภาพลักษณ์การท่องเที่ยวเขาค้อหลายอย่าง เช่น การทำลายธรรมชาติ ปัญหาการจราจร ปัญหาขยะ ปัญหาการเปลี่ยนแปลงการใช้ที่ดินและการถือครอง ฯลฯ


ดินแดนที่แสนโรแมนติกสวยงามกลายเป็นภาพฝันอันเลือนลาง แบบนี้แล้ว อะไรคือความต่างระหว่างเขาค้อกับแหล่งท่องเที่ยวอื่นๆ ที่อยู่ภายใต้กระแสสังคมแบบทุนนิยมทั่วไป


..................


“เขาค้อเหมือนแม่เหล็กที่ดึงนักท่องเที่ยวให้เข้ามาในพื้นที่ แต่สิ่งที่ผมอยากให้เขาค้อเป็น คือการท่องเที่ยวในระยะยาวที่จะต้องทำให้นักท่องเที่ยวประทับใจและมีความสุข ซึ่งปัจจุบันมันยังไม่ได้เป็นแบบนั้น” ฐิติศักดิ์ กันเขตต์ นายอำเภอเขาค้อ จังหวัดเพชรบูรณ์ เอ่ยขึ้น ก่อนจะบอกว่า


เขาค้อเป็นแหล่งท่องเที่ยวก็จริง แต่สภาพพื้นที่ค่อนข้างเปราะบาง เพราะเป็นพื้นที่ที่มีหลักฐานถูกต้องเพียงแค่ 7 เปอร์เซ็นต์ หรือราว 35,000 ไร่เท่านั้น ปัจจุบันมีนายทุนหรือคนนอกพื้นที่ต้องการเข้ามาครอบครองที่ดิน และบางส่วนก็จับจองเป็นเจ้าของที่ดินแล้ว ทั้งที่ในความเป็นจริงพื้นที่ “ราษฎรอาสา” หรือ รอส.เป็นพื้นที่ที่ได้รับการจัดสรรจากกองทัพภาคที่ 3 ให้ชาวบ้านครอบครองในลักษณะ “รัฐกันชน” เมื่อครั้งสิ้นสุดการสู้รบ และไม่อาจเปลี่ยนมือไปในลักษณะการซื้อขายได้ แต่ก็ถูกกว้านซื้อจนกลายเป็นปัญหาเรื่องการบุกรุกที่ดินในที่สุด


การพยายามสร้างเขาค้อให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนของนายอำเภอเขาค้อสอดคล้องกับความพยายามของคณาจารย์จากมหาวิทยาลัยนเรศวร จังหวัดพิษณุโลก ที่ต้องการพัฒนาพื้นที่เขาค้อให้กลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่มีอัตลักษณ์ชัดเจน โดยดึงเอาศักยภาพที่เขาค้อมีมาผนวกรวมกับการสร้างภาพลักษณ์ใหม่ที่จะทำให้เกิดการท่องเที่ยวที่ยั่งยืนภายใต้แนวคิด Go Green Khao Kho หรือ เขาค้อสีเขียว


รศ.ดร.ชฎา ณรงค์ฤทธิ์ อาจารย์ภาควิชาวิทยาศาสตร์การเกษตร คณะเกษตรศาสตร์ ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยนเรศวร กล่าวว่า เขาค้อเคยได้ชื่อว่าสวิตเซอร์แลนด์เมืองไทยและมีคำขวัญที่สะท้อนความเป็นเขาค้อได้เป็นอย่างดี นั่นคือ


“ดินแดนแห่งขุนเขา ลำเนาพนาไพร งามจับใจทะเลหมอก พันธุ์ไม้ดอกเมืองหนาว เรื่องราววีรชนผู้กล้า ตระการตาพระตำหนักเขาค้อ”


ทว่า ต่อเมื่อเวลาผ่านไป “เอกลักษณ์” ของเขาค้อกลับเริ่มค่อยๆ หดหาย จริงอยู่ว่าไม่ใช่ทุกข้อ เพราะไม่มีใครสามารถย้ายขุนเขาได้ ป่าไม้ก็อาจจะถูกทำลายลงไปบ้าง ทะเลหมอกก็ยังคงมีให้เห็น พระตำหนักกับอนุสาวรีย์วีรชนก็คงอยู่ แต่สิ่งที่หายไปอย่างชัดเจนคือสีสันของพันธุ์ไม้ดอกเมืองหนาว


“คำขวัญของเขาค้อมีดอกไม้ แต่การท่องเที่ยวจริงๆ เราไม่เคยเจอดอกไม้เลย ถึงเจอก็เป็นดอกไม้เมืองหนาวที่สั่งมาจากนอกพื้นที่ จากเชียงใหม่ จากภูเรือ โดยเฉลี่ยแต่ละโรงแรมใช้เงินกับส่วนนี้ไปอย่างน้อย 10,000 – 15,000 บาท ทั้งที่จริงๆ มีศักยภาพที่จะปลูกเองได้ แต่กลายเป็นว่า ภาพเขาค้อปัจจุบันเด่นชัดที่สุดคือไร่สตรอว์เบอร์รี่กับผักออแกนิก ซึ่งเจ้าของส่วนใหญ่ไม่ใช่คนในพื้นที่”


นี่เองที่เป็นจุดเริ่มต้นของโครงการวิจัย “การพัฒนาการเรียนรู้ของเครือข่ายความร่วมมือทางเกษตรกรรมเชิงพื้นที่เพื่อสร้างภาพลักษณ์การท่องเที่ยวสีเขียว ในอำเภอเขาค้อ จังหวัดเพชรบูรณ์” หรือเรียกสั้นๆ ว่า Green เขาค้อ โดยได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสับสนุนการวิจัย (สกว.) และมี รศ.ดร.ชฎา ณรงค์ฤทธิ์ เป็นหัวหน้าโครงการวิจัย


“เราต้องการทำโครงการวิจัยเพื่อประเมินศักยภาพการผลิตและผลิตภัณฑ์การเกษตรให้สามารถเป็นแหล่งผลิตสินค้าเฉพาะทางที่เชื่อมโยงกับการท่องเที่ยวเขาค้อ นอกจากนี้ยังต้องการพัฒนาเครือข่ายความร่วมมือเชิงพื้นที่บนทางหลวงหมายเลข 12 (ช่วงระหว่างพิษณุโลก-หล่มสัก) และเส้นทางอื่นที่เชื่อมโยงกัน รวมถึงพัฒนากลุ่มเกษตรกรต้นแบบในการปลูกไม้ดอกไม้ประดับและพืชผักปลอดภัย ซึ่งจะช่วยให้เกิดการท่องเที่ยวที่ยั่งยืนในเขาค้อ


“โครงการนี้ต้องการเปลี่ยนแปลงการท่องเที่ยวเขาค้อรูปแบบเดิมๆ ให้กลับมาเป็นการท่องเที่ยวสีเขียวให้ได้ ทำยังไงให้มันเกิดความจรรโลงในการมาเที่ยว สิ่งที่ยากมากคือ ทำยังไงที่จะตรึงเกษตรกรไม่ให้ขายที่ แล้วก็สามารถที่จะมีทางเลือกในการเก็บที่ดินของตัวเองไว้ทำการเกษตรเพื่อให้ตัวเองอยู่ได้ ซึ่งรูปแบบที่เราเห็นอยู่ปัจจุบันคือเกษตรเชิงเดี่ยว เกษตรระบบทุน คือนายทุนเข้ามาลงทุน เราจะทำยังไงให้เจ้าของที่ดินยังทำเกษตรอยู่ แล้วการเกษตรของเขาจะต้องสร้างจุดแข็งให้กับการท่องเที่ยวสีเขียว”


................


ด้าน ณัฐวัฒน์ วัฒนาประสิทธิ์ เจ้าของกิจการ Rain Forest Resort และ Rain Forest Farm บนทางหลวงหมายเลข 12 ในจังหวัดพิษณุโลก และเป็นต้นแบบการทำเกษตรอินทรีย์และเป็นหนึ่งในคณะวิจัยในครั้งนี้ กล่าวว่า การท่องเที่ยวสีเขียวให้ความสำคัญกับจิตสำนึกและหัวใจที่รักสิ่งแวดล้อมเป็นลำดับแรกๆ


“เพราะฉะนั้นการที่เราจะพัฒนาเขาค้อสู่การท่องเที่ยวสีเขียวอย่างยั่งยืนจึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องเริ่มจากคนในชุมชน”


แน่นอนว่า สิ่งที่จะทำให้เขาค้อน่าเที่ยวและเป็นการท่องเที่ยวสีเขียวจริงๆ ประเด็นหลักๆ คงอยู่ที่การทำให้การเกษตรบนเขาค้อเป็นเกษตรอินทรีย์ ซึ่ง อรุษ นวราช กรรมการผู้จัดการโรงแรมสามพรานริเวอร์ไซด์ จังหวัดนครปฐม และเลขาธิการมูลนิธิสังคมสุขใจ เห็นด้วยอย่างยิ่ง แต่การเป็นเกษตรอินทรีย์ได้ไม่ใช่เรื่องง่ายๆ เช่นกัน


“เกษตรกรส่วนใหญ่พึ่งพาสารเคมีมาจนเคยชินตลอดชีวิต การที่เราจะเปลี่ยนเขาเราต้องสร้างความมั่นใจให้กับเขา อันแรกคือมีช่องทางการตลาดให้เขา ไม่ใช่ดีลให้ แต่ให้เขาพึ่งพาตัวเอง สองคือความรู้ที่ดี ความรู้จะช่วยได้ เรียนรู้จากเกษตรกรด้วยกันเองจะดีที่สุด เพราะมหาวิทยาลัยก็ช่วยเราไม่ได้มาก ระบบนิเวศของแปลงอาจารย์กับแปลงเราไม่เหมือนกัน ส่วนเรื่องการรวมกลุ่มก็สำคัญ ถ้ามีเพื่อนช่วยคิดช่วยแนะนำเกษตรกรจะไม่รู้สึดโดดเดี่ยว ซึ่งการรวมกลุ่มจะช่วยได้”


สุทธิพงศ์ พลสยม เกษตรกรแห่ง “บ้านไร่ไออุ่น” ผู้ใช้เทคนิคการปลูกสตรอว์เบอร์รี่ 3 ลด คือ ลดโลกร้อน, ลดการใช้สารเคมี และลดต้นทุน บอกว่า เครือข่ายเกษตรกรเขาค้อพูดคุยเรื่องมาตรฐานการผลิตกันมาเนิ่นนาน แต่ก็ยังไม่เกิดผล เพราะแต่ละคนไม่มีซื่อสัตย์อย่างแท้จริง


“เราคุยกันมาหลายปี โดยเฉพาะช่วงที่มีสตรอว์เบอร์รี่เข้ามา เรามองเรื่องความปลอดภัยเป็นอันดับแรก เพราะสตรอว์เบอร์รี่เป็นผลไม้ที่ทุกคนกินแบบไม่ล้าง ก็เลยรณรงค์มาตลอด แต่เป็นเรื่องน่าปวดหัวของเครือข่ายผู้ผลิตสตรอว์เบอร์รี่เขาค้อ จริงๆ เรามีเครือข่ายเยอะนะ แต่ทำแล้วไม่ปลอดภัยจริง คือเขาคิดถึงแต่เรื่องรายได้ มันจึงเป็นไปได้ยาก เพราะความซื่อสัตย์ของเกษตรกรมันน้อย”


สำหรับโครงการนี้ อ.ชฎา บอกว่า จะเน้นเรื่องการเป็นพี่เลี้ยงให้เกษตรกรในพื้นที่ พร้อมกับพัฒนาเครือข่ายความร่วมมือทั้งจากภาครัฐและเอกชน นอกจากนี้ยังส่งเสริมให้เกษตรกรปลูกดอกไม้เมืองหนาวที่จะเป็นตัวเสริมและสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับการท่องเที่ยวได้


“เรามองไปที่ความสวยงามและปากท้อง นั่นคือเรื่องของอารมณ์กับอาหาร เพราะอากาศเขาค้อดีโดยธรรมชาติอยู่แล้ว เราก็เลือกเรื่องไม้ดอกไม้ประดับและพืชผักปลอดภัย พืชเมืองหนาวที่เคยปลูกอยู่ก็ปลูกไป แต่เราก็หาพืชใหม่มาเพื่อสร้างภาพลักษณ์ใหม่ให้ด้วย นั่นคือ เก๊กฮวย และคาร์โมไมล์ โดยมีการทำแปลงสาธิตให้ ซึ่งพอเกษตรกรว่างจากการทำไร่สตรอว์เบอร์รี่เราก็จะมีผู้เชี่ยวชาญมาแนะนำเรื่องการปลูกพืชใหม่”


.................


อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมามีความพยายามในการพัฒนาเขาค้อให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวที่มีอัตลักษณ์ชัดเจน ทั้งการเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงประวัติศาสตร์ จากการเป็นพื้นที่สีแดงและสมรภูมิแห่งการสู้รบในอดีต, แหล่งท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ ดังมีสโลแกน “พักเขาค้อ 1 คืน อายุยืน 1 ปี”, แหล่งท่องเที่ยวเชิงนิเวศและผจญภัย ซึ่งมีกิจกรรมที่หลากหลายรวมไว้ที่นี่, แหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตร โดยมีพืชผักปลอดภัยเป็นแม่เหล็กสำคัญ ฯลฯ ทว่า “ภาพลักษณ์” ของเขาค้อที่ทุกคนต้องการเห็นกลับยังไม่ประสบความสำเร็จอย่างชัดเจน หนึ่งเหตุผลคงเป็นเรื่องของ “คน” และ “ความร่วมมือ”


“ถ้าเราจะบอกว่า เขาค้อ go green เราต้องพูดถึงเรื่องของการสร้างกติกาและแผนการทำงานของคนหลายกลุ่มมาก เช่น เกษตรกร ผู้ประกอบการ นายอำเภอ อบต. เราต้องพูดเรื่องการจัดการขยะ ถนนหนทาง ทัศนียภาพ ทั้งหมดนี้อยู่ภายใต้การทำงานเรื่องภาพลักษณ์” ดร.สีลาภรณ์ บัวสาย รองผู้อำนวยการ สกว. ด้านยุทธศาสตร์วิจัยเชิงพื้นที่ แสดงความคิดเห็น


ในความคิดของคนพื้นที่อย่าง จุลพงษ์ คุ้นวงศ์ ประธานสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวจังหวัดเพชรบูรณ์ และอดีตประธานชมรมท่องเที่ยวเขาค้อ มองว่า เขาค้อเป็นเมืองที่น่าอยู่ และได้เปรียบกว่าพื้นที่อื่นๆ ทั้งเรื่องสภาพอากาศและภูมิประเทศ แต่อาจจะมีข้อจำกัดอยู่บ้างในบางเรื่อง


“ตลอดระยะเวลาที่ผมเป็นประธานชมรมฯ ผมเน้นเรื่องเดียวคือเรื่องคน ถ้าคนดีช่วยกันใส่ใจ เรื่องสิ่งแวดล้อมมันไปได้ ถ้าคนมันเห็นแก่ตัวเอาเปรียบกัน มันก็ไม่เดิน ซึ่งตอนนี้เขาค้อเริ่มเป็นแบบนั้น เห็นแก่ประโยชน์ส่วนตัว ตรงนี้มันเกิดอะไรขึ้น เราจะทำยังไงกัน


จริงๆ ถ้าพูดกันเรื่อง green คนเขาค้อต้องการนะ แต่ต้องถามว่านักท่องเที่ยวต้องการหรือเปล่า ทำไมคนอยากมาเขาค้อ เอาง่ายๆ ปัจจุบันการท่องเที่ยวเป็นแบบนี้คือ อ่านเฟซบุคแล้วไป เห็นรูปดอกพญาเสือโคร่งแล้วไป แล้วเป็นไง รถติดที่ภูลมโล ซึ่งบางทีเราต้องคิดแทนเขา การที่เราจะ green เราต้องให้ความรู้นักท่องเที่ยวด้วย แน่นอนว่ามันยาก แต่ถ้าทุกฝ่ายร่วมมือกัน ผมว่าเขาค้อไปได้ดี”


ว่ากันถึงเรื่องรูปแบบการท่องเที่ยวในปัจจุบัน ผศ.ดร.จุฑามาศ วิศาลสิงห์ กรรมการบริหารบริษัท perfect Link Consulting Group นักวิชาการผู้เชี่ยวชาญด้านการพัฒนากลยุทธ์แบรนด์ มองว่า เป็นการท่องเที่ยวที่ฉาบฉวยอย่างแท้จริง


“ขออนุญาตยืมคำของอาจารย์ปรีชาที่แม่กลองมาพูด นักท่องเที่ยวตอนนี้จะมีกลุ่มที่เรียกว่า “เสพแต่ไม่รู้สึก” หลายคนเลยมาแล้วก็ไปแต่ไม่รู้สึกหรอกว่าสถานที่ที่ไปมีเรื่องราว มีคุณค่า กว่าคนในพื้นที่จะสร้างได้ขนาดนี้มีที่มาอย่างไร


อีกอย่างตอนนี้คำว่า green มันกลายเป็น luxury ไปแล้ว มันไม่ใช่แค่เรื่องขยะ สิ่งแวดล้อม เกษตร ซึ่งจริงๆ ก็สำคัญ แต่ตอนนี้มนุษย์โหยหา...จะเรียกว่าอะไร คือเขาบอกว่า คนกลวงข้างในเยอะขึ้น crisis of meaning คือเราต้องการหาความหมายในชีวิตมากขึ้นเรื่อยๆ ซึ่ง green มันไม่ใช่เพียงแค่ green ในสิ่งที่เรานิยาม แต่แค่ได้นั่งสูดโอโซนมันคือ luxury มันคือความหรูหรา นี่คือ green ยุคนี้”


อ.จุฑามาศ ยอมรับว่า ในครั้งแรกที่มาเขาค้อแอบตกใจ เพราะภาพ “สวิตเซอร์แลนด์เมืองไทย” ที่เธอวาดฝันไว้ไม่ได้มีสีลูกกวาดรกสายตาแบบนี้


“โดยส่วนตัวไม่ชอบสีลูกกวาดของที่นี่ เรารู้สึกว่าธรรมชาติและชีวิตของเขาค้อไม่ได้ถูกแสดงออกมาเป็นงานศิลปะที่มีอรรถรส ถ้าเราจะสร้างแบรนด์ให้ชัดเจน เราต้องกลับไปถามว่า ธรรมชาติของเขาค้อคืออะไร วิถีชีวิตที่อยู่กับธรรมชาติคืออะไร แล้วสองอย่างนี้ต้องแสดงออกมาในเชิงศิลปะที่ทำให้บอกได้ว่า ธรรมชาติและวิถีชีวิตมันมีอรรถรสของความเป็นศิลปะอยู่ ถ้าเราเป็น green ต้องไม่ใช่อะไรที่ฉูดฉาด นี่คือภาพลักษณ์ บ่อยครั้งที่คนดูภาพลักษณ์จะบอกได้ว่า การแสดงออกซึ่งศิลปะที่บอกถึงอรรถรสนั้นคืออะไร”


............


สำหรับการสร้างภาพลักษณ์ใหม่ให้กับการท่องเที่ยวเขาค้อ อ.จุฑามาศ แนะนำว่า ต้องให้คนเขาค้อมองกลับมาที่ตัวเองว่าเป็นอย่างไร และคนข้างนอกมองเขาค้ออย่างไร เพื่อสำรวจความเป็นเขาค้อที่แท้จริง


“เรากำลังพูดถึงการ reimage ซึ่งจริงๆ มันจะมี 3 r คือ reimage, redesign และ rebirth ซึ่งทุกๆ พื้นที่บนโลกเกาะเกี่ยวกันด้วยธรรมชาติ เราต้องนึกถึงว่าเราจะอยู่กับธรรมชาติยังไง เราต้องทำให้เราอยู่กับความเป็นธรรมชาติของเขาค้อให้ได้ ธรรมชาติของเราคืออะไร อากาศ ฝน ภูเขา ทุกอย่างที่เรามี แล้วชีวิตของคนเขาค้อดำเนินไปเพื่อให้อยู่กับธรรมชาติ วิถีชีวิตคือสิ่งที่ดำเนินไป อะไรคือชีวิตของคนเขาค้อ ซึ่งบางทีเราต้องสืบค้นอดีตเพื่อสืบสานต่อ บางเรื่องเป็นเรื่องร่วมสมัย เป็นรอยต่อของอนาคต แล้วค่อยมาเริ่มออกแบบเขาค้อกันใหม่”


ในฐานะเจ้าของพื้นที่ สนธิ์ ชมดี เจ้าของบริษัทเขาค้อทะเลภู มองว่า เขาค้อต้องค้นหาความแตกต่างของตัวเองให้เจอ เพราะสิ่งที่แตกต่างคือความงาม


“จริงๆ แล้วจิตใจเรายอมรับความแตกต่าง แต่ที่เราไม่ยอมรับเพราะความรู้เราผิด เราคิดว่ามันต้องเหมือนกันถึงจะถูก อย่างสตรอว์เบอร์รี่ดีก็ปลูกกันไป แต่ผมมองว่า ขอโทษเถอะ เหมือนเล่นการพนัน อะไรที่รวยเอาอันนั้น ซึ่งมันอันตรายมาก ช่วงแรกๆ ผักชีแพงมากก็ปลูกผักชีกันเต็มภูเขาเลย ผมมาเจอบอก หยุด หยุดทันที เราไม่ใช่นักพนัน เราต้องปลูกพืชผักที่หลากหลาย เพราะชีวิตเรากินหลายอย่าง แล้วทำไมเราไม่ปลูกหลายอย่าง”


สนธิ์ มองว่า การพึ่งพาตัวเองคือความยั่งยืน ซึ่งเขาค้อมีพื้นฐานของการทำเกษตรกรรมที่ดี หากทุกคนรู้จักตัวเอง ไม่ละโมบ และพัฒนาพื้นที่ให้ปลอดภัย ให้กลายเป็นเกษตรอินทรีย์ และก้าวเข้าสู่เขาค้อสีเขียวได้ การท่องเที่ยวยั่งยืนที่ทุกคนฝันไว้ก็จะเป็นจริง


“เราต้องสร้างสรรค์ทรัพยากรที่เรามีอยู่ เราเก่งเรื่องไม้เมืองหนาว เรามีผืนดินที่เหมาะสม เราสามารถยืนอยู่ได้ถ้าเราไม่ละโมบ และรู้จักตัวเองจริงๆ ใครชอบสตรอว์เบอร์รี่ทำไป ใครชอบสมุนไพรทำไป ให้มีความหลากหลาย พอคนเข้ามาเขาค้อก็จะได้มีทางเลือก แต่ถ้ามีแต่สตรอว์เบอร์รี่แล้วมันจะกี่ปีล่ะ ความยั่งยืนจะเกิดตรงไหน คนทำสตรอว์เบอร์รี่ต้องหาอย่างอื่นมาแทรกให้เร็วที่สุด เพื่อให้เกิดความหลากหลายและยั่งยืน เริ่มจากทำให้ตัวเองมีกิน กินเหลือแล้วก็ขาย นี่คือรวยที่สุดแล้ว รวยอะไร รวยความสุข”


ขุนเขาสลับซับซ้อนท่ามกลางกลุ่มก้อนของมวลเมฆคือเสน่ห์ของเขาค้อที่หลายคนไม่อาจปฏิเสธ ทว่า ณ วันนี้เขาค้อกำลังถูกแต่งแต้มด้วยสีสันต่างๆ แต่เป้าหมายที่หลายคนต้องการ นั่นคือการทำให้เขาค้อเป็น “สีเขียว”