‘สุนทรภู่’ ไม่ใช่คนระยอง? เปิดประวัติกวีเอก กับบางเรื่องที่อาจเข้าใจผิด

‘สุนทรภู่’ ไม่ใช่คนระยอง? เปิดประวัติกวีเอก กับบางเรื่องที่อาจเข้าใจผิด

26 มิถุนายน วันรำลึกถึง “สุนทรภู่” กวีเอกที่ได้รับยกย่องจากนานาชาติ ผู้มีฝีไม้ลายมือด้านวรรณกรรมไทยหลายรูปแบบ แต่รู้หรือไม่? มีข้อมูลบางอย่างที่คนไทยอาจเข้าใจผิด

Key Points:

  • “สุนทรภู่” กวีเอกของไทยเป็นชาวบางกอก มีชีวิตอยู่ในช่วงต้นกรุงรัตนโกสินทร์ เริ่มแต่งกลอนตั้งแต่ก่อนวัย 20 ปี และมีผลงานประพันธ์มากมาย ก่อนจะเสียชีวิตในวัย 69 ปี
  • องค์การยูเนสโก (UNESCO) ยกย่องให้สุนทรภู่ เป็นบุคคลสำคัญด้านวรรณกรรมของโลก ซึ่งเป็นคนไทยคนแรกที่ได้รับเกียรตินี้
  • บทประพันธ์ชื่อดังเรื่อง “พระอภัยมณี” ถูกหยิบยกมาใช้ในการเรียนการสอนบ่อยครั้ง นำไปสู่การตั้งคำถามถึงปี่ของพระอภัยมณี และเกาะแก้วพิสดารของผีเสื้อสมุทร

“พระสุนทรโวหาร” มีชื่อจริงว่า ภู่ หรือที่คนไทยรู้จักกันดีในชื่อ “สุนทรภู่” กวีเอกของไทยที่ได้รับการยกย่องจากทั่วโลก ซึ่งตลอดชีวิตของสุนทรภู่ได้สร้างสรรค์ผลงานวรรณกรรมโดดเด่นเลื่องชื่อมากมาย

แม้ว่าสุนทรภู่จะเป็นหนึ่งในบุคคลสำคัญของไทย แต่น้อยคนนักจะรู้ว่าแท้จริงแล้วพื้นเพของสุนทรภู่ไม่ใช่คนระยองอย่างที่หลายคนคิด ในขณะที่เกาะแก้วพิสดารตามจินตนาการของกวีเอกคนนี้อาจไม่ใช่เกาะเสม็ด รวมไปถึงข้อสงสัยที่ว่า พระอภัยมณีหนึ่งในตัวละครที่โด่งดังที่สุด มีความสามารถด้านการเป่าปี่จริงหรือไม่? กรุงเทพธุรกิจจะพาไปหาคำตอบ พร้อมทำความรู้จักกับ “สุนทรภู่” ให้ละเอียดมากขึ้น

 

  • “สุนทรภู่” กวีเอกแห่งยุครัตนโกสินทร์ชื่อเสียงก้องโลก

“แล้วสอนว่าอย่าไว้ใจมนุษย์ มันแสนสุดลึกล้ำเหลือกำหนด ถึงเถาวัลย์พันเกี่ยวที่เลี้ยวลด ก็ไม่คดเหมือนหนึ่งในน้ำใจคน”

วรรคทองข้างต้นคือส่วนหนึ่งของบทกลอนจากเรื่อง "พระอภัยมณี" ที่ประพันธ์โดยสุนทรภู่ และเป็นที่รู้จักกันไปทั่วโลกอย่างกว้างขวาง

รวมถึงได้รับการยกย่องจากองค์การยูเนสโก (UNESCO) ให้เป็น “บุคคลสำคัญด้านวรรณกรรมของโลก” อีกด้วย เรียกได้ว่าเป็นเครื่องการันตีความสามารถของกวีเอกคนนี้ได้เป็นอย่างดี

สุนทรภู่ เกิดในสมัยรัชกาลที่ 1 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ตรงกับวันที่ 26 มิถุนายน พ.ศ. 2329 ที่บริเวณด้านเหนือของพระราชวังหลัง ซึ่งเป็นบริเวณสถานีรถไฟบางกอกน้อยของกรุงเทพฯ ในปัจจุบัน แต่เนื่องจากบิดาของสุนทรภู่เป็นคนระยอง ทำให้บางคนเกิดความเข้าใจผิดคิดว่าสุนทรภู่เป็นคนระยองไปด้วย

หลังจากสุนทรภู่เกิดได้ไม่นานนัก บิดามารดาก็หย่าร้างกัน ทางฝั่งบิดากลับไปยังภูมิลำเนาเดิมและออกบวชที่วัดป่ากร่ำ อ.แกลง จ.ระยอง ส่วนมารดาถวายตัวเป็นนางนม (คล้ายกับแม่นม) ของพระองค์เจ้าหญิงจงกล พระธิดาในเจ้าฟ้ากรมหลวงอนุรักษ์เทเวศร์ ทำให้ “สุนทรภู่” ได้อาศัยอยู่ในพระราชวังหลังกับมารดา และได้ถวายตัวเป็นข้าในกรมพระราชวังหลังในเวลาต่อมา

ช่วงวัยเด็กของสุนทรภู่ ที่อ้างอิงจากส่วนหนึ่งของ “นิราศสุพรรณ” ระบุว่า เขามีโอกาสเรียนหนังสือกับพระในสำนักวัดชีปะขาว ซึ่งปัจจุบันคือวัดศรีสุดาราม ต่อมาเมื่อโตขึ้นก็เข้ารับราชการเป็นเสมียนนายระวาง ในกรมพระคลังสวน ซึ่งตอนนั้นเขาเริ่มรู้ตัวแล้วว่าชอบแต่งกลอนมากกว่าทำอย่างอื่น สามารถแต่งได้ดีตั้งแต่ช่วงวัยหนุ่มก่อนจะอายุ 20 ปี ซึ่งจากบันทึกพบว่าเขาประพันธ์นิทานเรื่อง “โคบุตร” ขึ้นมาเป็นเรื่องแรกๆ ก่อนที่จะมีผลงานเรื่อง “นิราศเมืองแกลง” เสียอีก

หลังจากนั้นไม่นานสุนทรภู่แอบคบหากับนางข้าหลวงในวังทำให้ถูกโบยและจำคุก เมื่อออกมาจากคุกก็ได้เดินทางไปหาบิดาที่เมืองแกลง จ.ระยอง และนิราศเมืองแกลง ผลงานสร้างชื่อก็เกิดขึ้นจากการเดินทางครั้งนี้ โดยสุนทรภู่พรรณนาถึงสภาพการเดินทางไว้อย่างละเอียด รวมถึงบันทึกสมณศักดิ์ของบิดาไว้ด้วยว่าเป็น “พระครูธรรมรังษี” เจ้าอาวาสวัดป่ากร่ำ หลังจากกลับมากรุงเทพฯ สุนทรภู่ก็ได้ประพันธ์ “นิราศพระบาท” ขึ้นอีกเรื่อง

เวลาผ่านไปหลายปี หลายแผ่นดิน “สุนทรภู่” ได้ประพันธ์ผลงานที่มีคุณค่าต่างๆ มากมาย รวมถึงมีลีลากลอนที่มีลักษณะเฉพาะตัวและคารมที่คมคาย ทำให้เขาเป็นที่รู้จักในวงกว้าง และได้เข้ารับราชการเป็นอาลักษณ์ราชสำนักในสมัยรัชกาลที่ 3 เมื่อสิ้นรัชกาลได้ออกบวชอยู่ประมาณ 20 ปี ก่อนจะกลับเข้ารับราชการอีกครั้งในปลายรัชกาลที่ 4 และได้เลื่อนตำแหน่งเป็น “พระสุนทรโวหาร” เป็นตำแหน่งสุดท้ายก่อนเสียชีวิตในวัย 69 ปี และได้รับการขนานนามว่าเป็น “กวีสี่แผ่นดิน” เนื่องจากมีชีวิตอยู่ตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 1 จนถึงรัชกาลที่ 4

ต่อมาใน พ.ศ. 2529 ซึ่งครบรอบวันเกิด 200 ปีของ “สุนทรภู่” องค์การยูเนสโกมีประกาศให้สุนทรภู่ เป็นบุคคลสำคัญของโลกทางด้านวรรณกรรม ซึ่งเป็นสามัญชนชาวไทยคนแรกที่ได้รับเกียรตินี้ และในปีเดียวกันสมาคมภาษาและหนังสือแห่งประเทศไทยฯ ได้จัดพิมพ์เผยแพร่หนังสือ “อนุสรณ์สุนทรภู่ 200 ปี” และจัดตั้ง “สถาบันสุนทรภู่” เพื่อส่งเสริมการเผยแพร่ชีวิตและผลงานของสุนทรภู่ให้เป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวางมากขึ้น โดยเฉพาะกับคนรุ่นหลัง และได้กำหนดให้วันที่ 26 มิถุนายน ของทุกปีเป็น “วันสุนทรภู่” นับตั้งแต่นั้นมา

‘สุนทรภู่’ ไม่ใช่คนระยอง? เปิดประวัติกวีเอก กับบางเรื่องที่อาจเข้าใจผิด

 

  • “ผลงานสุนทรภู่” ที่มีความสำคัญและเป็นที่เลื่องลือ

เนื่องจากสุนทรภู่เป็นนักกวีที่มีชีวิตอยู่มายาวนานถึง 4 แผ่นดิน แน่นอนว่าจะต้องมีผลงานทรงคุณค่าเป็นจำนวนมาก แต่ผลงานบางส่วนก็สูญหายไปตามกาลเวลา อย่างไรก็ตามผลงานของสุนทรภู่ตามที่มีหลักฐานปรากฏนั้นสามารถแบ่งออกได้หลายประเภท ดังนี้

1. ประเภทนิราศ ได้แก่ นิราศเมืองแกลง นิราศพระบาท นิราศภูเขาทอง นิราศสุพรรณ นิราศอิเหนา และ นิราศเมืองเพชร เป็นต้น

2. ประเภทนิทาน ได้แก่ โคบุตร พระอภัยมณี พระไชยสุริยา ลักษณวงศ์ และ สิงหไกรภพ

3. ประเภทสุภาษิต ได้แก่ สวัสดิรักษา และ เพลงยาวถวายโอวาท ส่วน “สุภาษิตสอนหญิง” อันโด่งดังนั้น ปัจจุบันยังมีข้อถกเถียงกันอยู่ว่าแท้จริงแล้วใครเป็นผู้แต่ง ระหว่าง สุนทรภู่ กับ ภู่ จุลละภมร ศิษย์ของสุนทรภู่

4. ประเภทบทละคร คือ เรื่องอภัยณุรา

5. ประเภทบทเสภา ได้แก่ ขุนช้างขุนแผน (ตอนกำเนิดพลายงาม) และ พระราชพงศาวดาร

6. ประเภทบทเห่กล่อม ได้แก่ เห่จับระบำ เห่เรื่องพระอภัยมณี เห่เรื่องโคบุตร และเห่เรื่องกากี

สำหรับวรรณกรรมที่ได้รับการพูดถึงและได้รับการยกย่องมากที่สุดก็คือเรื่อง “พระอภัยมณี” เพราะได้รับยกย่องจากวรรณคดีสโมสรว่า เป็นสุดยอดของวรรณคดีประเภทกลอนนิทาน มีเค้าโครงเรื่องสนุก จินตนาการล้ำยุค มีตัวละครจากหลากหลายชนชาติ รวมถึงตัวละครที่ไม่ใช่มนุษย์ นอกจากนี้ยังเป็นหนึ่งในผลงานที่ถูกบรรจุอยู่ในหลักสูตรการเรียนการสอนวิชาภาษาไทยอีกด้วย โดยตัวเอกของเรื่องก็คือ “พระอภัยมณี” ที่มีความสามารถในการเป่าปี่ไม่ว่าจะเป็นเพื่อทำการรบหรือเกี้ยวพาราสี

‘สุนทรภู่’ ไม่ใช่คนระยอง? เปิดประวัติกวีเอก กับบางเรื่องที่อาจเข้าใจผิด

 

  • พระอภัยมณี เกาะแก้วพิสดาร และจินตนาการของสุนทรภู่

หากกล่าวถึงวรรณกรรมขึ้นหิ้งอย่างเรื่องพระอภัยมณี เชื่อว่าหลายคนคงนึกถึงภาพของนางเงือก นางยักษ์ เกาะแก้วพิสดาร และตัวพระอภัยมณีที่เหน็บปี่ไว้ที่เอว แต่ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา เริ่มมีหลายคนตั้งคำถามว่าพระอภัยมณีเป่าปี่ได้จริงหรือไม่? หรือมีไว้เป็นเครื่องประดับเฉยๆ เมื่อเช็กดูตามหลักฐานจากบทประพันธ์แล้ว จึงพบข้อสรุปจากผู้มีความรู้หลายคนที่ระบุว่า “พระอภัยมณี” เป่าปี่จริง โดยปี่ที่ใช้ก็คือ “ปี่นอก” และมีการเป่าทั้งหมด 13 ครั้งตลอดทั้งเรื่อง

สำหรับปี่นอกที่พระอภัยมณีใช้นั้น เป็นปี่พื้นเมืองของแผ่นดินสุวรรณภูมิช่วงลุ่มแม่น้ำโขงไปจนถึงลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา ครอบคลุมพื้นที่ประเทศกัมพูชา ลาว และ ไทย ในปัจจุบัน ในส่วนการเป่าปี่ของพระอภัยมณีในแต่ละครั้งนั้นก็มีจุดประสงค์แตกต่างกันออกไป เช่น เป่าปี่ครั้งแรกในช่วงเรียนวิชา เป่าปี่ครั้งที่ 3 เพื่อให้นางผีเสื้อสมุทรที่กำลังตามอาละวาดด้วยความแค้นขาดใจตาย เป่าปี่ครั้งที่ 4 เพื่อเรียกหาสินสมุทรผู้เป็นลูก เป่าปี่ครั้งที่ 10 เพื่อปลุกทัพ เป่าปี่ครั้งที่ 13 ซึ่งเป็นครั้งสุดท้ายเพื่อยับยั้งไม่ให้ลูกหลานรบกันเอง

นอกจากมีข้อสงสัยเกี่ยวกับพระอภัยมณีและปี่ของเขาแล้ว อีกเรื่องหนึ่งที่คนรุ่นหลังตั้งคำถามก็คือ “เกาะแก้วพิสดาร” คือสถานที่เดียวกับ “เกาะเสม็ด” ในปัจจุบันหรือไม่? เนื่องจากบนเกาะเสม็ดเคยมีรูปปั้นของผีเสื้อสมุทรอยู่ และบางสถานที่บนเกาะก็ใช้ชื่อตามบทประพันธ์เรื่องพระอภัยมณี

จากข้อสงสัยดังกล่าวจึงได้มีการค้นคว้าเพิ่มเติมเกี่ยวกับ “เกาะแก้วพิสดาร” และพบว่า แท้จริงแล้วเกาะในจินตนาการของสุนทรภู่ไม่ได้อ้างอิงจาก “เกาะเสม็ด”  แต่เป็นเกาะที่อยู่ฝั่งทะเลอันดามันในมหาสมุทรอินเดีย นอกจากนี้บางช่วงบางตอนในเรื่อง ก็เขียนว่านางเงือกในเรื่องได้พูดถึงเรือสำเภาชาวเกาะเมืองลังกาผ่านไปมา นั่นหมายความว่า เกาะแก้วพิสดารอยู่บนเส้นทางการค้าทางเรือแถบทะเลอันดามันนั่นเอง

ดังนั้นอาจเป็นข้อสรุปได้ว่า “เกาะแก้วพิสดาร” ตามจินตนาการของ “สุนทรภู่” แท้จริงแล้วอยู่ฝั่งทะเลอันดามัน และค่อนไปทางเกาะสุมาตรากับเกาะชวาของอินโดนีเซียนั่นเอง

สุดท้ายแล้วแม้ว่าเวลาจะล่วงเลยมาเป็นร้อยปี แต่ผลงานของสุนทรภู่ยังคงอยู่ให้คนรุ่นหลังได้ศึกษาต่อไป แม้ว่าเนื้อหาของบทประพันธ์บางเรื่องอาจมีความล้าสมัยไม่เข้ากับสถานการณ์ของสังคมในปัจจุบัน แต่ฝีมือการประพันธ์วรรณกรรมต่างๆ การเลือกใช้คำ การเชื่อมโยงคำสัมผัสนอกสัมผัสใน รวมถึงรายละเอียดอื่นๆ ก็ยังยากที่จะหาใครมาแทนที่

-------------------------------------------------

อ้างอิง : Thai PBS, PPTV, มติชนสุดสัปดาห์, ครูเชียงราย, ศิลปวัฒนธรรม (1) และ ศิลปวัฒนธรรม (2)