Monday, May 13, 2024
ชื่นชมอดีต บทความแนะนำ

รวยรินกลิ่น “ก้ำก่อ”


นิตยสารอนุรักษ์ ฉบับที่ 71
เรื่อง/ภาพ: ธีรภาพ โลหิตกุ

วิจิตรตาศิลปะไทใหญ่ แบบ “สองคาสามชาย”  บนหลังคาส่างหว่างวัดก้ำก่อ

ท่านที่ “อู้คำเมือง” คือพูดหรือฟังภาษาเหนือพอได้ หลังจากสัญจรไปแอ่วเชียงใหม่ เชียงราย แพร่ ลำปาง แล้วข้ามสู่เขตจังหวัดแม่ฮ่องสอน คงพอทราบว่าภาษาของชาวเมืองสามหมอกซึ่งส่วนใหญ่เป็นชาวไทใหญ่ จะต่างกันมากกับ “คำเมือง” เชียงใหม่

อย่างคำว่า “อร่อย” คนเมืองฯ ว่า “ลำ” ไทใหญ่ว่า “กินหวาน” ครั้นพูดถึงรสหวาน คนเมืองฯ ก็ว่า “หวาน” แต่ไทใหญ่ว่า “เจม” ดังนั้นภาษาเป็น “วัฒนธรรม” ไม่มีอะไรตายตัวเหมือนท่องสูตรคูณ ประสบการณ์งานสารคดีบอกผมว่า การสื่อความหมายทางวัฒนธรรม จะ “เข้าใจไปเอง” ไม่ได้ แต่…รู้ทั้งรู้ การเดินทางสู่แม่ฮ่องสอนครั้งล่าสุดก็ทำผมเผลอ “ปล่อยไก่” ออกมาจนได้

ธรรมาสน์รูปนกยูง
อลังการ “ปานถ่อง – ปานซอย” งานฉลุลายโลหะ อัตลักษณ์ศิลปะไทใหญ่
“ส่างหว่าง” ทางเดินมีหลังคาคลุม ในแม่ฮ่องสอนเหลืออยู่ที่วัดก้ำก่อเพียงแห่งเดียว

เมื่อเห็นป้ายชื่อวัด “ก้ำก่อ” ผมก็ยิ้มกับคุณภรรยาแล้วบอกเธอแบบ “เข้าใจไปเอง” ว่า “ก้ำก่อ” เป็นคำสิริมงคลที่ “น่าจะ” แปลว่า “ค้ำจุน” เพราะผมเคยเห็นคนเชียงใหม่มีประเพณีแบก “ไม้ก้ำโพธิ์” ไปค้ำต้นโพธิ์เพื่อแสดงศรัทธาว่าจะช่วยกันค้ำจุนพระพุทธศาสนาให้ยั่งยืนยาวนาน ทว่า…เป็นความเข้าใจที่ผิดถนัด เพราะ “ก้ำก่อ” ในภาษาไทใหญ่ หมายถึงต้นบุนนาค หรือสารภีดอย หรือนาคบุตร ไม้ยืนต้นเนื้อแข็ง ดอกมีกลิ่นหอม ชาวไทใหญ่นิยมเก็บดอก​ที่บานไปตาก​เป็นส่วนผสม​ยาพื้นบ้าน​ ในเทศกาลสงกรานต์หรือ “ปอยซอนน้ำ” จะมีธรรมเนียมนำกระดาษ​สีมาทำเป็นดอกบุนนาค​บูชาพระในวันขึ้นปีใหม่

“แต่อันนี้ไม่ผิดแน่” ผมแก้ตัวโดยพลัน เมื่อเห็นซุ้มประตูทางเข้าวัดสร้างเป็นหลังคาซ้อนกันหลายชั้น มีทางเดินเชื่อมสู่ศาลาการเปรียญเป็นเอกลักษณ์ทางสถาปัตยกรรมของชาวไทใหญ่ เรียกว่า “ส่างหว่าง” แปลว่า ทางเดินมีหลังคาคลุม ในอดีตกาลชาวบ้านมาทำบุญที่วัด จะถอดรองเท้าไว้ที่ “ส่างหว่าง” แล้วเดินเท้าเปล่าเข้าวัด เนื่องจากเกรงว่าดิน ทรายจากวัดจะติดกลับไปบ้าน ถือเป็นบาปติดตัวไปโดยปริยาย อีกทั้งยังถือคติว่าการสวมรองเท้าเข้าวัดแม้เพียงที่ลานวัด ก็นับเป็นการไม่เคารพสถานที่ ซึ่งเป็นคติเดียวกับที่ชาวมอญ-พม่ายึดถืออย่างเคร่งครัดมาตราบจนวันนี้ ในขณะที่บ้านเราปัจจุบันอนุโลมให้ถอดรองเท้าเมื่อจะเข้าโบสถ์ วิหาร ศาลาการเปรียญเท่านั้น

“ส่างหว่าง” ทางเดินมีหลังคาคลุม ในแม่ฮ่องสอนเหลืออยู่ที่วัดก้ำก่อเพียงแห่งเดียว
ที่แขวนระฆังศิลปะไทใหญ่

ผมมั่นใจว่าไม่ปล่อยไก่ซ้ำแน่ เพราะสิ่งแรกที่ตั้งใจมาดูที่วัดนี้คือ “ส่างหว่าง” จึงทำการบ้านมาอย่างดี ที่สำคัญคือในอดีตมีอยู่ในหลายวัด แต่วันนี้เหลือ “ส่างหว่าง” อยู่หนึ่งเดียวโดดเด่นที่วัดก้ำก่อแห่งนี้เท่านั้น ทว่าไม่เพียงแค่ “ส่างหว่าง” ที่ดึงดูดความสนใจ หากวัดก้ำก่อยังมีพุทธศิลป์หลากหลายรูปแบบอันวิจิตรตระการตาน่าชมยิ่งนัก อย่างที่ฝาผนังด้านในศาลาการเปรียญ ประดับภาพพิมพ์ลายฉลุปิดทองงามหยดย้อยด้วยลายดอกก้ำก่อ และลาย “ปูรณคตะ” (ปู-ระ-นะ-คะ-ตะ) หรือลายหม้อดอกไม้แห่งความเจริญรุ่งเรือง ตามคติความเชื่อว่าเป็นสัญลักษณ์นำสิริมงคลสู่ชาวพุทธ

ภาพแกะสลักนูนสูง เล่าเรื่องพุทธประวัติ และพระเวสสันดรชาดก

ภาพเล่าเรื่องพุทธประวัติและเรื่องพระเวสสันดรชาดก ซึ่งทางวัดระบุว่าได้มาจากร้านขายของเก่าที่อำเภอหางดง เชียงใหม่ อายุเก่าแก่เกิน ๑๐๐ ปี หาชมได้ไม่ง่ายนัก เพราะแกะสลักไม้นูนสูงมากจนเกือบเป็นภาพลอยตัว สันนิษฐานว่าเป็นฝีมือช่างพื้นบ้าน ด้วยลีลาลูกเล่นไม่เป็นแบบแผนช่างราชสำนัก หรือช่างในสังกัดสกุลช่างต่างๆ แต่ก็งดงาม น่ารัก น่าชมดีทีเดียว

.ภาพพิมพ์ลายฉลุปิดทอง (บนซ้าย) ลายดอกก้ำก่อ และ (บนขวา) ลาย “ปูรณคตะ”

พระพุทธรูปหินอ่อนปางมารวิชัยทรงเครื่องกษัตริย์ จำลองแบบมาจาก “พระมหาเมี๊ยะมุนี” (หรือ “พระมหามัยมุนี” แปลว่ามหาปราชญ์) พระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์ประดิษฐานที่เมืองมัณฑะเลย์ ประเทศพม่า ซึ่งชาวมอญและพม่าเชื่อว่า พระพุทธเจ้าประทานลมหายใจให้พระพุทธรูปองค์นี้เป็นตัวแทนสืบศาสนา และเมื่อพระพุทธรูปยังมีลมหายใจ จึงต้องมีพิธีล้างพระพักตร์พระมหาเมี๊ยะมุนีทุกยามรุ่งอรุณตลอด ๓๖๕ วัน ทั้งนี้ ชาวแม่ฮ่องสอนยังมีศรัทธาสูงส่งใน “พระเจ้าพลาละแข่ง” พระพุทธรูปอีกองค์หนึ่งที่จำลองแบบจาก “พระมหาเมี๊ยะมุนี” ประดิษฐาน ณ วัดหัวเวียง เขตอำเภอเมืองอีกด้วย

นอกจากนั้นในวัดก้ำก่อยังมี “ศาลาหลวงปู่โต” ที่ประดิษฐ์สถานรูปเหมือนสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พรหมรังษี) และพระบรมราชานุสาวรีย์สมเด็จพระนเรศวรมหาราชขณะหลั่งทักษิโณทก ประกาศอิสรภาพไม่ขึ้นกับหงสาวดี และพระบรมราชานุสาวรีย์สมเด็จพระปิยมหาราช รัชกาลที่ ๕ ซึ่งทั้งสามองค์เป็นพระเกจิอาจารย์และเป็นมหาราชของชาวสยามที่ชาวไทใหญ่เคารพสักการะเช่นกัน

พระอุปคุต
พระพุทธรูปหินอ่อนปางมารวิชัยทรงเครื่องกษัตริย์

เหนือสิ่งอื่นใดประวัติการสร้างวัดก้ำก่อในปี พ.ศ. ๒๔๓๓ ยังทำให้ชนรุ่นหลังตระหนักว่า ป่าไม้และธรรมชาติมีความสำคัญต่อมวลมนุษย์เพียงใด เนื่องจากมีตำนานเล่าขานถึงวัตรปฏิบัติอันงดงามของ “ตุ๊เจ้าเจียงตอง” หรือ “หลวงปู่เชียงตอง” อริยะสงฆ์ชาวไทใหญ่แม่ฮ่องสอนที่ไปบรรพชา ณ เมืองเชียงตอง รัฐฉาน ประเทศพม่า ต่อมาท่านได้ธุดงค์กลับมาเป็นศูนย์รวมแห่งศรัทธาและจิตวิญญาณของชาวไทใหญ่ทั้งหลายที่อพยพมาอยู่ที่แม่ฮ่องสอน วันหนึ่งท่านออกธุดงค์ไปพบที่ราบกว้างในท่ามกลางต้นไม้น้อยใหญ่ล้อมรอบหนาทึบ ท่านดำริว่าเป็นพื้นที่เหมาะสมจะสร้างวัดโดยไม่ต้องตัดไม้ทำลายป่า ท่านจึงตัดสินใจสร้างวัดขึ้น ณ ที่นี้ โดยชาวบ้านผู้เปี่ยมล้นด้วยศรัทธาท่านต่างระดมทุนจัดหาวัสดุก่อสร้าง และระดมแรงงานมาช่วยกันสร้างวัดจนสำเร็จเสร็จสิ้น กระทั่งวัดก้ำก่อมีอายุครบ ๑๓๓ ปีเต็มในวันนี้

ศาลาหลวงปู่โต
พระพุทธรูปทรงเครื่องกษัตริย์ในซุ้มเรือนแก้ว
ธรรมาสน์เก่าแก่ประดับลายวิจิตรตา

หรือบางทีความสมัครสมานสามัคคีที่นำมาซึ่งความสำเร็จในวันนั้น อาจส่งกลิ่นหอมชวนให้ชื่นใจ เปรียบได้ดั่งกลิ่นหอมของดอกบุนนาค หรือสารภีป่า หรือดอกก้ำก่อ ส่งกลิ่นตลบอบอวลใน “ปอยซอนน้ำ” หรือเทศกาลสงกรานต์ของชาวไทใหญ่…ก็เป็นได้

ขอขอบคุณ: อาจารย์สุรศักดิ์ ป้อมทองคำ ผู้เชี่ยวชาญวัฒนธรรมไทใหญ่แม่ฮ่องสอน ที่กรุณาเอื้อเฟื้อข้อมูลอันเป็นประโยชน์ต่อการเขียนสารคดีเรื่องนี้

About the Author

Share:
Tags: วัด / วัด ประเพณี วัฒนธรรม การละเล่น / ฉบับที่ 71 / วัดก้ำก่อ /

เรื่องราวอีกมากมายที่คุณจะชอบ