วันสุนทรภู่ 26 มิถุนายน รำลึกกวีเอกแห่งกรุงรัตนโกสินทร์ และกวีเอกของโลก

26 มิ.ย. 66

วันสุนทรภู่ 26 มิถุนายน ประวัติ "สุนทรภู่" กวีเอกแห่งกรุงรัตนโกสินทร์ และกวีเอกของโลก

วันสุนทรภู่ หมายถึง วันคล้ายวันเกิดของพระสุนทรโวหาร (สุนทรภู่) เจ้ากรมอาลักษณ์ฝ่ายพระราชวัง ซึ่งมีผลงานด้านบทกลอนที่มีคุณค่าแก่แผ่นดินเป็นจำนวนมาก

สุนทรภู่ เกิดในรัชกาลที่ 1 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ เมื่อวันจันทร์ เดือน 8 ขึ้น 1 ค่ำ ปีมะเมีย จุลศักราช 1148 เวลาเช้า 2 โมง (ตรงกับวันที่ 26 มิถุนายน พ.ศ. 2329) ณ บริเวณด้านเหนือของพระราชวังหลัง (ซึ่งเป็นบริเวณสถานีรถไฟบางกอกน้อยปัจจุบันนี้) ถึงแก่กรรมเมื่อ พ.ศ. 2398 รวมอายุได้ 69 ปี บิดาเป็นชาวบ้านกร่ำ อำเภอแกลง จังหวัดระยอง ส่วนมารดาไม่ทราบแน่ชัดว่า เป็นคนจังหวัดใด สันนิษฐานว่ามารดาเป็นข้าหลวงอยู่ในพระราชวังหลัง เมื่อท่านเกิดได้ไม่ถึงหนึ่งขวบ บิดามารดาได้หย่าร้างกัน บิดากลับไปบวชที่วัดป่า อำเภอแกลง ส่วนมารดาได้ถวายตัวเป็นแม่นมของพระธิดาในกรมพระราชวังบวรสถานพิมุข

สุนทรภู่อยู่กับมารดา เข้าเรียนที่สำนักวัดชีปะขาวหรือวัดศรีสุดาราม มีความรู้จนได้เป็นเสมียนนายระวางกรมพระคลังสวน ด้วยความไม่ชอบงานเสมียน ทำได้ไม่นานก็ลาออก สุนทรภู่อยู่ในวังกับมารดา จนอายุได้ 20 ปี ได้ลอบรักใคร่กับสาวชาววัง ชื่อ จัน จนถูกลงโทษจองจำและถูกโบย เมื่อพ้นโทษ ได้กลับไปหาบิดาที่บ้านกร่ำ เมืองแกลง และแต่งงานกับจัน แต่อยู่กันไม่นานก็เกิดระหองระแหง คงเป็นเพราะสุนทรภู่เมาสุราอยู่เป็นนิตย์ จึงได้เลิกหย่าร้างกัน

ในสมัยรัชกาลที่ 2 สุนทรภู่ ได้เข้ารับราชการในกรมพระอาลักษณ์ และเป็นที่โปรดปรานของพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย จนได้รับแต่งตั้งเป็นขุนสุนทรโวหาร เป็นกวีที่ปรึกษาและคอยรับใช้ใกล้ชิด ในสมัยรัชกาลที่ 3 สุนทรภู่ถูกกล่าวหา ด้วยเรื่องเสพสุรา และเรื่องอื่นๆ จึงถูกถอดออกจากตำแหน่งขุนสุนทรโวหาร ต่อมาสุนทรภู่ออกบวชที่วัดราชบูรณะ (วัดเลียบ) และเดินทางไปจำพรรษาตามวัดต่างๆ บวชใหม่ถึง 2 ครั้ง แล้วลาสิกขาบทถวายตัวอยู่กับเจ้าฟ้ากรมขุนอิศเรศรังสรรค์ (พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าฯ) ในสมัยรัชกาลที่ 4 พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว สุนทรภู่ได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็นพระสุนทรโวหาร เจ้ากรมอาลักษณ์ฝ่ายพระบวรราชวัง ในปี พ.ศ. 2394 รับราชการอยู่ 4 ปีก็ถึงแก่กรรม ในปี พ.ศ. 2398 สิริอายุได้ 69 ปี

353022523_6012861778825766_76

ผลงานของสุนทรภู่มี นิราศ 9 เรื่อง นิทาน 5 เรื่อง สุภาษิต 3 เรื่อง บทละคร 1 เรื่อง บทเสภา 2 เรื่อง และบทเห่กล่อม 4 เรื่อง ได้แก่

ประเภทนิราศ

• นิราศเมืองแกลง (พ.ศ. 2349) - แต่งเมื่อหลังพ้นโทษจากคุก และเดินทางไปหาพ่อที่เมืองแกลง
• นิราศพระบาท (พ.ศ. 2350) - แต่งหลังกลับจากเมืองแกลง และต้องตามเสด็จพระองค์เจ้าปฐมวงศ์ไปนมัสการรอยพระพุทธบาทที่จังหวัดสระบุรี ในวันมาฆบูชา
• นิราศภูเขาทอง (ประมาณ พ.ศ. 2371) - แต่งโดยสมมุติว่า เณรหนูพัด เป็นผู้แต่งไปนมัสการพระเจดีย์ภูเขาทอง ที่จังหวัดอยุธยา
• นิราศสุพรรณ (ประมาณ พ.ศ. 2374) - แต่งเมื่อครั้งยังบวชอยู่ และไปค้นหายาอายุวัฒนะที่จังหวัดสุพรรณบุรี เป็นผลงานเรื่องเดียวของสุนทรภู่ที่แต่งเป็นโคลง
• นิราศวัดเจ้าฟ้า (ประมาณ พ.ศ. 2375) - แต่งเมื่อครั้งยังบวชอยู่ และไปค้นหายาอายุวัฒนะตามลายแทงที่วัดเจ้าฟ้าอากาศ (ไม่ปรากฏว่าที่จริงคือวัดใด) ที่จังหวัดอยุธยา
• นิราศอิเหนา (ไม่ปรากฏ, คาดว่าเป็นสมัยรัชกาลที่ 3) แต่งเป็นเนื้อเรื่องอิเหนารำพันถึงนางบุษบา
• รำพันพิลาป (พ.ศ. 2385) - แต่งเมื่อครั้งจำพรรษาอยู่ที่วัดเทพธิดาราม แล้วเกิดฝันร้ายว่าชะตาขาด จึงบันทึกความฝันพร้อมรำพันความอาภัพของตัวไว้เป็น "รำพันพิลาป" จากนั้นจึงลาสิกขา
• นิราศพระประธม (พ.ศ. 2385) - เชื่อว่าแต่งเมื่อหลังจากลาสิกขาและเข้ารับราชการในพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว ไปนมัสการพระประธมเจดีย์ (หรือพระปฐมเจดีย์) ที่เมืองนครชัยศรี
• นิราศเมืองเพชร (พ.ศ. 2388) - แต่งเมื่อเข้ารับราชการในพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว เชื่อว่าไปธุระราชการอย่างใดอย่างหนึ่ง นิราศเรื่องนี้มีฉบับค้นพบเนื้อหาเพิ่มเติม ซึ่ง อ.ล้อม เพ็งแก้ว เชื่อว่าบรรพบุรุษฝ่ายมารดาของสุนทรภู่เป็นชาวเมืองเพชร

ประเภทนิทาน

• โคบุตร
• พระอภัยมณี
• พระไชยสุริยา
• ลักษณวงศ์
• สิงหไกรภพ

ประเภทสุภาษิต

• สวัสดิรักษา คาดว่าประพันธ์ในสมัยรัชกาลที่ 2 ขณะเป็นพระอาจารย์ถวายอักษรแด่เจ้าฟ้าอาภรณ์
• สุภาษิตสอนหญิง เป็นหนึ่งในผลงานซึ่งยังเป็นที่เคลือบแคลงว่า สุนทรภู่เป็นผู้ประพันธ์จริงหรือไม่
• เพลงยาวถวายโอวาท คาดว่าประพันธ์ในสมัยรัชกาลที่ 3 ขณะเป็นพระอาจารย์ถวายอักษรแด่เจ้าฟ้ากลางและเจ้าฟ้าปิ๋ว

ประเภทบทละคร

• อภัยณุรา ซึ่งเขียนขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 4 เพื่อถวายพระองค์เจ้าดวงประภา พระธิดาในพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว

ประเภทบทเสภา

• ขุนช้างขุนแผน (ตอนกำเนิดพลายงาม)
• พระราชพงศาวดาร

ประเภทบทเห่กล่อม

แต่งขึ้นสำหรับใช้ขับกล่อมหม่อมเจ้าในพระองค์เจ้าลักขณานุคุณ กับพระเจ้าลูกยาเธอในพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว เท่าที่พบมี 4 เรื่อง คือ เห่จับระบำ, เห่เรื่องพระอภัยมณี, เห่เรื่องโคบุตร และเห่เรื่องกากี

องค์การการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (UNESCO) หรือ ยูเนสโก้ ได้ประกาศยกย่องให้ "สุนทรภู่" เป็นบุคคลผู้มีผลงานดีเด่นทางวัฒนธรรมระดับโลก โดยในวาระครบรอบ 200 ปีเกิด เมื่อวันที่ 26 มิถุนายน พ.ศ. 2529 และเพื่อรำลึกถึงสุนทรภู่ กวีเอกแห่งกรุงรัตนโกสินทร์ คณะรัฐมนตรีจึงมีมติให้วันที่ 26 มิถุนายน เป็นวันที่รำลึกถึงสุนทรภู่ มีการก่อสร้างอนุสาวรีย์สุนทรภู่ไว้ที่ตำบลกร่ำ อำเภอแกลง จังหวัดระยอง

advertisement

advertisement

ข่าวยอดนิยม

ข่าวทั่วไป เป็นกระแส