LINE it!
 @allkaset





  • ว่าน


    "ว่าน" เป็นคำที่ใช้เรียกนำหน้าชื่อต้นไม้โดยเฉพาะต้นไม้ที่ใช้ประโยชน์ทางด้านสมุนไพรและไม้ประดับบางชนิด ในเชิงพฤกษาศาสตร์ มีการจัดแบ่งว่านไว้ถึง 34 วงศ์ (Family) 512 สกุล (Genus) และกว่า 1,700 พันธุ์ (Species) มีทั้งว่านที่ให้ประโยชน์ทางยาสมุนไพรรักษาโรค ว่านที่มีชื่อเป็นมงคลนำมาปลูกเป็นไม้ประดับ ซึ่งมีความเชื่อว่าว่านเหล่านี้เมื่อปลูกเลี้ยงแล้วจะส่งผลให้ทำมาค้าขึ้น นำโชคลาภวาสนามาสู่ผู้ปลูกเลี้ยง ในเนื้อหานี้จะเป็นว่านเพียงบางส่วนที่เราจะได้ทำความรู้จักกัน


    วงศ์พลับพลึง AMARYLLIDACEAE

    ว่านกวักแม่ทองใบ
    ชื่อวิทยาศาสตร์ : Hymenocallis spp.
    วงศ์ : AMARYLLIDACEAE

    ลักษณะทั่วไป
    ว่านกวักแม่ทองใบ เป็นว่านที่มีหัวอยู่ใต้ดิน มีลักษณะกลมคล้ายหอมหัวใหญ่ ผิวนอกของหัวมีสีเขียวอ่อน เนื้อในหัวสีขาว มองดูเผินๆ จะเหมือนกับต้นพลับพลึง แต่ไม่ใช่เพราะไม่มีลำต้นเหนือดินอย่างพลับพลึง มีก้านใบแตกออกจากหัว โคนของก้านใบเป็นกาบสั้นๆ ก้านใบด้านบนแบนแต่ด้านหลังนูน กลางใบมีร่องสีเขียวเข้ม ใบยาวประมาณ 25-30 ซม. หน้าใบเป็นเส้นอย่างเห็นได้ชัด มีความหนาพอประมาณ แตกใบออกเป็น 2 ข้างสลับกันข้างละใบ เป็นใบรูปหอก ปลายใบมนแหลม โคนค่อยๆ สอบเข้าหาก้านใบ ดอกสีขาว เหมือนดอกพลับพลึง มีเกสรสีเหลือง กลิ่นหอม มีก้านช่อดอกยาว ออกดอกเป็นกลุ่ม กลุ่มละหลายดอก มีกลีบดอกขนาดเล็กสีขาวโคนกลีบดอกมีพังผืดสีขาวเชื่อมระหว่างกลีบดอก
    การปลูก
    ควรปลูกในดินร่วนปนทรายที่ระบายน้ำได้ดี กลบดินแค่ครึ่งหนึ่งของหัวว่าน อย่ากดดินให้แน่นนัก และให้รดน้ำทุกเช้า-เย็น ระวังอย่าให้น้ำขังเพราะจะทำให้หัวว่านเน่าได้
    การขยายพันธุ์ โดยการแยกหัว

    ว่านสี่ทิศ
    ชื่อวิทยาศาสตร์ : Hippeastrum johnsonii.
    วงศ์ : AMARYLLIDACEAE
    ชื่อสามัญ : Wan-See-Til

    ลักษณะทั่วไป
    ว่านสี่ทิศเป็นพันธุ์ไม้ในวงศ์พลับพลึง มีลำต้นเป็นหัวอยู่ใต้ดินมีลักษณะคล้ายกับหอมหัวใหญ่ ส่วนที่โผล่ขึ้นมาเหนือดินเป็นส่วนของก้านใบ และตัวใบเท่านั้น ลักษณะของใบเป็นสีเขียว รูปหอกยาวเรียว ปลายมน ขอบใบเรียบ ใบกว้างประมาณ 3-5 ซม. และยาวประมาณ 25–30 ซม. ก้านดอกจะแทงสูงขึ้นจากกอ มีความประมาณ 25-30 ซม. ดอกออกตรงปลายก้านดอก มีสีชมพูตรงปลายดอก ดอกแยกออกเป็น 6 กลีบ เมื่อบานเต็มที่จะกว้างประมาณ 6-8 ซม. และจะทยอยกันบานทีละ 4 ดอก จึงนิยมเรียกกันว่า “ว่านสี่ทิศ”
    การปลูก
    ควรปลูกในดินปนทราย ให้น้ำ และความชื้นปานกลาง ว่านสี่ทิศเป็นพันธุ์ไม้ที่ชอบแสงแดดมาก จึงควรต้องปลูกในที่แจ้ง จึงจะเจริญเติบโตและมีดอกได้ดี
    การขยายพันธุ์ - ขยายพันธุ์โดยแยกหน่อ หรือแยกหัวไปปลูกใหม่
    การปลูกเลี้ยงว่านสี่ทิศให้มีดอกสวยงาม
    สามารถซื้อหัวพันธุ์ไปปลูกเองได้ วัสดุปลูกที่เหมาะสมก็คือให้ใช้ขุยมะพร้าวหรือจะซื้อต้นที่ปลูกในกระถางเรียบร้อยแล้วก็ยิ่งสะดวก เลือกพันธุ์ที่ชอบเพราะแต่ละพันธุ์ออกดอกเก่งไม่เท่ากัน บางพันธุ์ออกดอกทุกปี ปีละครั้ง เช่น มินิไวท์ บางพันธุ์ไม่ออกเลย ช่วงฤดูกาลที่ออกดอกคือหน้าร้อนต้นเดือนมีนาคม เมื่อออกดอกแล้วดอกจะอยู่ได้ทนนานแค่ไหนขึ้นอยู่กับสภาพฟ้าอากาศ ถ้าอากาศร้อนมากๆ อาจอยู่ได้แค่ 1-2 สัปดาห์ แต่ถ้าอากาศปกติหรือเย็น ดอกก็จะอยู่ได้นานเป็นเดือน โดยไม่ต้องใส่ปุ๋ยใดๆเพิ่ม เพราะในหัวว่านสี่ทิศมีอาหารสะสมเพียงพออยู่แล้ว
    วิธีการบังคับให้ว่านสี่ทิศออกดอกโดยการปรับอุณหภูมิ
    การจำลองสภาพอุณหภูมิและความชื้นที่เหมาะสมสำหรับว่านสี่ทิศ จะช่วยให้ว่านสี่ทิศจะสร้างตาดอกได้ โดยนำหัวว่านสี่ทิศขนาดเส้นรอบวง 20 ซม.ขึ้นไปที่งดให้น้ำอย่างน้อย 4 อาทิตย์แล้ว นำมาตัดใบออกแล้วให้เหลือ 2-3 ซม. และตัดรากให้สั้นเหลือ 5-8 ซม. ล้างทำความสะอาด ผึ่งให้แห้ง 2 สัปดาห์ แล้วนำมาแช่ในตู้เย็นในอุณหภูมิประมาณ 10-15 องศาเซลเซียส แช่ไว้ 6-8 สัปดาห์ จากนั้นจึงนำออกมาปลูกในกระถางเพื่อให้ใบงอกออกมา แต่ไม่ควรฝังหัวว่านลึกเกินไป ควรฝังลงไปในดินประมาณ 2 ใน 3 ของขนาดหัวว่าน โดยให้ส่วนบนโผล่พ้นดินขึ้นมา และไม่ควรใช้กระถางที่ใหญ่เกินไป ขนาดที่เหมาะสมควรใหญ่ไม่เกิน 2 เท่าของเส้นผ่านศูนย์กลางของหัวว่านสี่ทิศ
    เมื่อปลูกหัวว่านสี่ทิศเสร็จแล้ว ให้รดน้ำให้ชุ่ม แล้วเว้นระยะไว้ 5-7 วัน เพื่อกระตุ้นให้รากเจริญเติบโต ในระยะนี้ถ้าหากนำกระถางไปตั้งไว้ในบริเวณที่มีแสงรำไร จะทำให้หน่อของว่านสี่ทิศงอกออกมายาวขึ้น และเมื่อว่านมีดอกแรกออกมา ให้นำกระถางไปตั้งไว้ในที่มีอากาศเย็นและมีแสงน้อยกว่าเดิม เพื่อให้ดอกว่านสี่ทิศบานอยู่ได้นานที่สุด
    การผลิตหัวพันธุ์ว่านสี่ทิศเพื่อส่งออก
    1. เตรียมแปลงปลูกโดยยกร่องให้สูง ขนาดความกว้างแปลง 1.2 เมตร ปลูก 6 แถว ระยะห่างระหว่างต้น 20X20 ซม. ดินที่เหมาะกับการปลูกว่านสี่ทิศคือดินทรายหรือดินร่วนปนทรายที่มีการระบายน้ำได้ดี
    2. วางสายน้ำหยดในแปลง 3 เส้น อัตราการให้น้ำ 1.5 ลิตรต่อชั่วโมง ต้องเปลี่ยนใหม่ทุกปีเพื่อตัดปัญหาการอุดตันของหัวน้ำ
    3. ทำการปลูกด้วยหัวพันธุ์หรือหน่ออายุประมาณ 7 เดือน พื้นที่ 1 ไร่ใช้หัวพันธุ์ประมาณ 70,000 หัว
    4. หลังจากปลูกได้ประมาณ 1 สัปดาห์ (สังเกตมีการแตกใบ มีราก) จะให้ปุ๋ยทางระบบน้ำซึ่งควบคุมการทำงานด้วยระบบการทำงานอัตโนมัติ
    5. กำจัดวัชพืช
    6. หมั่นตรวจดูโรค มดและแมลงอยู่เสมอ
    7. การเก็บเกี่ยว ฤดูกาลอยู่ในช่วงเดือนเมษายนถึงเดือนพฤษภาคม โดยใช้เครื่องจักรในการเก็บเกี่ยว หลังจากปลูกได้อายุ 1 ปีกับอีก 3 เดือน สามารถเก็บเกี่ยวหัวว่านสี่ทิศได้ ซึ่งรวมกับอายุของหัวพันธุ์ที่นำมาปลูกอีก 7 เดือน นั่นแสดงว่าต้องใช้เวลาในการปลูกเลี้ยงนานถึง 2 ปี จึงได้หัวพันธุ์เก็บหมุนเวียนได้ทุกปี โดยพื้นที่ปลูก 1 ไร่ สามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตได้ประมาณ 70,000 หัวหรือน้อยกว่า


    8. นำหัวว่านสี่ทิศมาล้างทำความสะอาด ตัดใบ แต่งรากออกให้หมด จุ่มสารป้องกันเชื้อรา คัดแยกหัวส่งออก ขนาดหัว 25-36 ซม. ถ้าหัวเล็กกว่ามาตรฐานก็จะนำมาปลูกเพื่อขยายพันธุ์หรือจำหน่ายในประเทศ ส่วนหัวที่มีขนาดมาตรฐานก็จะนำไปเก็บรักษาไว้ในห้องเย็นอุณหภูมิประมาณ 13 องศาเซลเซียส เตรียมนำส่งลูกค้าต่อไป การส่งออกจะอยู่ในช่วงเดือน มิถุนายน กรกฎาคม และสิงหาคม

     

    ว่านนางคุ้ม
    ชื่อวิทยาศาสตร์ : Proiphys amboinensis
    วงศ์ : AMARYLLIDACEAE
    ชื่อสามัญ : Cardwell Lily, Northern Christmas Lily
    ชื่ออื่นๆ : ว่านผู้เฒ่าเฝ้าบ้าน

    ลักษณะทั่วไป
    เป็นว่านที่มีหัวอยู่ใต้ดิน ลักษณะคล้ายหอมหัวใหญ่ ซึ่งหัวประกอบไปด้วยกลีบของหัวที่เรียงซ้อนกันอยู่จนเป็นหัวกลม ใบกลมใหญ่ หนา คล้ายใบฟักทอง มีสีเขียว ก้านใบยาวสีเขียวแก่ ดอกออกเป็นช่อจากกลางกอ ก้านดอกเป็นแท่งสูงตรง จะมีดอกตูมก่อนแล้วบานเป็นสีขาว แต่ละดอกประกอบด้วยกลีบ 6 กลีบ เกสรสีเหลือง มีกลิ่นหอม
    การปลูก
    ดินที่จะนำมาปลูกว่านนางคุ้ม ให้นำไปเผาไฟเสียก่อน แล้วทุบดินให้แตกละเอียด แล้วตากน้ำค้างทิ้งไว้ 1 คืน จึงนำดินใส่กระถางสำหรับปลูกวางหัวว่านกลางกระถางแล้วกลบดินไม่ต้องให้ดินปิดหัวว่านจนมิด ให้หัวว่านโผล่ขึ้นมาเล็กน้อย รดน้ำพอเปียกเท่านั้น อย่าให้น้ำมากไป เพราะจะทำให้หัวว่านเน่าได้ รดน้ำ เช้า-เย็น อย่างสม่ำเสมอ
    การขยายพันธุ์ : โดยการแยกหัว

    ว่านนางล้อม
    ชื่อวิทยาศาสตร์ : Eurycles amboinensis
    วงศ์ : AMARYLLIDACEAE
    ชื่ออื่นๆ : บัวเงิน (ร้อยเอ็ด), บัวบก (เชียงใหม่ แม่ฮ่องสอน)

    ลักษณะทั่วไป
    เป็นว่านที่มีลำต้นอยู่ใต้ดิน ในหนึ่งกอจะมีหัวใหญ่อยู่ 1 หัว อยู่ตรงกลางกอ มีหัวเล็กๆ ซึ่งเกิดทีหลังเรียงรายอยู่รอบๆ หัวใหญ่ ลักษณะของหัวเป็นสีเขียว กลมเรียวเป็นมัน ใบแตกตรงส่วนยอดของหัวว่าน ใบคล้ายใบกุยช่ายพื้นใบสีเขียว ใบแคบเล็ก ยาว ขอบใบทั้งสองข้างใบจะเป็นเส้นขนานปลายใบแหลม ผิวและขอบใบเรียบ ไม่มีจัก ไม่มีก้านใบ
    การปลูก
    ให้ปลูกในดินร่วนปนทราย ที่ระบายน้ำได้ดี และควรปลูกใส่กระถางปากกว้าง ทรงเตี้ย แล้วจัดวางกระถางว่านไว้ในที่ร่มรำไร อย่าให้โดดแดดจัด รดน้ำเฉพาะตอนเช้า เพียงวันละหนึ่งครั้งก็พอ รดน้ำให้ชุ่ม แต่อย่าให้แฉะ เพราะจะทำให้หัวว่านเน่าได้
    การขยายพันธุ์ : ขยายพันธุ์โดยการแยกหัว

    ว่านมหาโชค
    ชื่อวิทยาศาสตร์ : Eucharis spp.
    วงศ์ : AMARYLLIDACEAE

    ลักษณะทั่วไป
    ว่านมหาโชคมีลำต้นเป็นหัวอยู่ใต้ดิน ภายในหัวจะเป็นกลีบเรียงตัวซ้อนกันอยู่ คล้ายหัวหอมใหญ่ ส่วนที่โผล่พ้นผิวดินจะเป็นกาบใบ ใบ และดอกเท่านั้น ใบลักษณะคล้ายใบพาย ปลายใบแหลม โคนใบค่อยๆ สอบเข้าหาก้านใบ พื้นใบสีเขียวเป็นมัน มีเส้นเรียงเป็นแถวตามแนวยาวของใบเล็กน้อย ก้านดอกเป็นทรงกรวยยาวประมาณ 30-40 ซม. ตรงปลายก้านแยกออกเป็น 5–7 ก้าน มีดอกสีขาวปลายก้าน มีกลีบเรียงซ้อนๆ กันเป็นทรงกลม 6 กลีบ มีเกสรกลางดอกเป็นสีเหลืองอ่อน และยังมีกลิ่นหอมอ่อนๆ ด้วย
    การปลูก
    ควรปลูกในดินปนทราย รดน้ำแต่ปานกลางพอให้ดินชุ่ม และให้ได้รับแสงแดดรำไร
    การขยายพันธุ์ - ขยายพันธุ์โดยการแยกหน่อไปปลูก

    ว่านมหาลาภ
    ชื่อวิทยาศาสตร์ : Phaedranassa spp.
    วงศ์ : AMAPYLLIDACAE
    ชื่ออื่นๆ : ว่านหงสาวดี

    ลักษณะทั่วไป
    ว่านมหาลาภมีลักษณะต้นเหมือนว่านมหาโชค คือลำต้นเป็นหัวใต้ดิน หัวเหมือนหอมหัวใหญ่แต่มีขนาดเล็กกว่า ใบรูปใบพาย แต่ค่อนข้างสั้นและป้อม ปลายใบโค้งมนแหลม โคนใบค่อยๆ สอบเข้าหาก้านใบ พื้นใบเรียบสีเขียวเป็นมัน ก้านใบจะยาวกว่าใบเล็กน้อย ก้านดอกพุ่งตรงขึ้นมาจากกลางลำต้นสูงประมาณ 30-40 ซม. ออกดอกเป็นกลุ่มแล้วทยอยกันบาน ดอกสีแสดปนเหลือง กลีบดอกค้อนข้างเล็กและยาว ปลายกลีบมน เกสรยาวลงสู่พื้นดิน ส่วนปลายเกสรงอนขึ้นเล็กน้อย ช่อดอกหนึ่งๆ มีดอกประมาณ 3-7 ดอก ขึ้นกับความสมบูรณ์ของต้น
    การปลูก
    ว่านมหาลาภเจริญงอกงามได้ดีในดินร่วนปนทราย และผสมดินลูกรังสีแดงด้วย ควรให้มีการระบายน้ำที่ดี เพราะหากน้ำขังจะทำให้หัวว่านเน่าได้ หากปลูกในกระถางปากกว้างจะเหมาะมาก เพราะใบจะปกคลุมปากกระถางดูสวยงาม เป็นไม้ที่ไม่ชอบแดดจัดนักจึงควรจัดให้ได้รับแสงปานกลาง รดน้ำแต่ตอนเช้า
    การขยายพันธุ์ - โดยการแยกต้น

    ว่านรางนาก
    ชื่อวิทยาศาสตร์ : Hippeastrum spp.
    วงศ์ : AMARYLLEDACEAE

    ลักษณะทั่วไป
    ว่านรางนากเป็นหัวกลมคล้ายหอมหัวใหญ่ ฝังอยู่ใต้ดิน ใบจะงอกจากหัว ลักษณะใบหนาและแข็ง โคนใบจะเป็นกาบในรูปหอก ปลายใบแหลมมน ขอบใบเรียบ ไม่มีจัก ใบสีเขียวเข้ม หน้าใบมีร่องกลางใบเป็นสีขาวลากยาวตลอดใบ โคนใบด้านหลังเป็นสีแดง หรือแดงปนม่วง ดอกลักษณะเดียวกับว่านสี่ทิศ มีสีชมพูแสด โดยก้านดอกจะมีสีเขียวนวลยาวสูงพ้นใบ ดอกเป็นรูปกรวย ปลายดอกแยกออกเป็น 6 กลีบ ช่อหนึ่งจะมีดอก 2-4 ดอก
    การปลูก
    ว่านรางนากชอบดินร่วนปนทราย ควรมีอิฐทุบละเอียดผสมผงถ่าน หรือใบไม้ผุ เวลาปลูกให้หัวว่านโผล่พ้นดินเล็กน้อย รดน้ำปานกลางเช้า–เย็น ควรอยู่ที่แดดร่มรำไร ปลูกในกระถางทรงเตี้ยจะงามยิ่งนัก
    การขยายพันธุ์ - ขยายพันธุ์โดยการใช้หัว

    ว่านไชยมงคล
    ชื่อวิทยาศาสตร์ : Crinum spp.
    วงศ์ : AMARYLLEDACEAE
    ชื่ออื่นๆ : ศรีกันไชย เศรษฐีสอด

    ลักษณะทั่วไป
    เป็นว่านมีหัวเหมือนหอมหัวใหญ่ มีลำต้นซึ่งประกอบด้วยกาบก้านใบเรียวซ้อนกันหลายกานลำต้นสีขาว ใบเหมือนใบพลับพลึง แต่มีขนาดแคบกว่า พื้นใบสีเขียว ปลายใบมักมัดสอดอยู่อีกปลายใบหนึ่งต่อเนื่องกันไป ดอกสีขาวเหมือนดอกพลับพลึง
    การปลูก
    ควรปลูกด้วยดินร่วนปนทรายชอบน้ำ แต่อย่าให้แฉะ ควรจัดวางกระถางว่านไว้ในที่ร่ม หรือให้ถูกแสงแดดเพียงรำไร รดเช้าเย็น
    การขยายพันธุ์ - ขยายพันธุ์โดยการใช้หัว

    ว่านแร้งคอดำ
    ชื่อวิทยาศาสตร์ : Crinum latifolium Linn.
    วงศ์ : AMARYLLEDACEAE
    ชื่ออื่นๆ : ว่านแร้งคอดำ, ว่านคอแดง (กรุงเทพฯ), ว่านแร้งคอคำ (ภาคกลาง), ว่านคอแดง (ภาคใต้)

    ลักษณะทั่วไป
    เป็นพรรณไม้ล้มลุก มีลำต้นเป็นหัวอยู่ใต้ดิน ลักษณะหัวกลมคล้ายหอมหัวใหญ่ ใบมีลักษณะเป็นรูปขอบขนานยาวเรียว ขอบใบเป็นคลื่นบาง มีความยาวประมาณ 60-90 ซม. กว้างประมาณ 7-10 ซม. ดอกออกเป็นช่อ เป็นกระจุกประมาณ 10-20 ดอก ตรงปลายช่อ ดอกตูมมีลักษณะเป็นรูปหอกมีกาบหุ้มยาวประมาณ 7-10 ซม. อยู่บนก้านดอกสั้นๆ ก้านดอกอวบหนามีความยาวประมาณ 60-90 ซม. กลีบดอกแยกเป็น 6 กลีบ และมีความกว้างกว่าดอกพลับพลึง เป็นสีขาว หรือแต้มด้วยสีแดงตรงกลาง หรือทางด้านหลังของกลีบ ส่วนเกสรตัวผู้จะมีอู่ 6 อัน และมีอับเรณูเป็นรูปโค้ง
    การปลูก
    ชอบดินร่วนปนทราย ที่ระบายน้ำได้ดี ชอบความชื้นสม่ำเสมอ ควรอยู่ที่แดดรำไร
    การขยายพันธุ์ - ขยายพันธุ์โดยการแยกหน่อ

    ว่านกุมารทอง
    ชื่อวิทยาศาสตร์ : Haemanthus multiforus (Tratt.) Martyn.
    วงศ์ : AMARYLLEDACEAE
    ชื่อสามัญ : Blood flower, Powder puff lily
    ชื่ออื่นๆ : ว่านกระทุ่ม ว่านตะกร้อ (เหนือ) ว่านแสงอาทิตย์ (กรุงเทพฯ)

    ลักษณะทั่วไป
    เป็นพันธุ์ไม้ล้มลุกที่มีลำต้นใต้ดิน ลักษณะหัวว่านคล้ายหอมหัวใหญ่ เปลือกที่หุ้มหัวมีสีน้ำตาลไหม้ และมีจุดสีแดงคล้ำประทั่วหัว ส่วนล่างของหัวมีรากออกเป็นกระจุกหนาแน่นดูเหมือนแท่นหรือฐานรองหัว ทำให้ดูคล้ายเด็กนั่งอยู่บนแท่นไว้ผมจุก จึงถูกเรียกชื่อว่า "ว่านกุมารทอง" ลำต้นส่วนที่โผล่ขึ้นมาเหนือผิวดินจะมีลักษณะกลม สีเขียว มีจุดสีแดงคล้ำตลอดทั้งก้าน ใบเป็นใบเลี้ยงเดี่ยว ลักษณะใบรีแกมรูปขอบขนาน ปลายใบมน โคนใบสอบเรียว ขอบใบเรียบเป็นคลื่นเล็กน้อย พื้นใบเป็นสี เขียวสด บิดตัวเป็นคลื่นเล็กน้อย ก้านใบเป็นรูปครึ่งวงกลม หรือหวายผ่าซีก แตกใบตรงส่วนยอดของต้นหรือก้านใบ ดอกจะออกก่อนใบ เมื่อดอกโรยแล้วใบจึงจะแทงขึ้นจากหัวใต้ดิน ดอกเป็นช่อแบบช่อซี่ร่ม ลักษณะของช่อดอกกลม ช่อหนึ่งๆ ประกอบด้วยดอกเล็กๆ หลายดอก ซึ่งแต่ละดอกมีกลีบดอกเป็นเส้นฝอยสีแดง ตรงปลายเป็นสีเหลืองเล็กน้อย ก้านดอกยาวมีสีเขียว ดอกดูสวยงามมาก โดยส่วนใหญ่แล้วดอกจะออกประมาณเดือนเมษายนถึงพฤษภาคมของทุกปี
    การปลูก
    ใช้ดินปนทรายหรือดินเผาไฟเป็นดินปลูก กลบดินพอมิดหัวว่าน ว่านต้นนี้ชอบความชื้นสูง ควรตั้งไว้ในที่ร่มรำไร
    การขยายพันธุ์ : ขยายพันธุ์ด้วยการแยกต้นที่เกิดใหม่หรือหัวใต้ดิน

    วงศ์บอน ARACEAE

    ว่านเสน่ห์จันทน์เขียว
    ชื่อวิทยาศาสตร์ : Homalomena spp.
    วงศ์ : ARACEAE

    ลักษณะทั่วไป
    เป็นว่านที่เกิดจากหัวที่อยู่ใต้ดิน ลำต้นโผล่ขึ้นมาเหนือดิน มีลักษณะเป็นกอกลม คล้ายต้นบวบมีสีน้ำตาลไหม้ ใบเป็นรูปหัวใจ ปลายใบแหลม โคนเว้า พื้นใบและก้านใบมีสีเขียว ช่วงใบถี่ ขอบใบเรียบไม่มีหยัก ใบออกตรงส่วนยอดของลำต้น ออกดอกเป็นกลุ่มระหว่างกาบของก้านใบ ลักษณะของดอกคล้ายกับดอกจำปีตูมมีสีเขียว มีกาบดอกห่อหุ้มเกสรอยู่ และมีลักษณะเป็นแท่ง ว่านเสน่ห์จันทน์เขียวมี 2 ชนิด คือ ชนิดหนึ่งเกสรจะมีกลิ่นหอมอ่อนๆ และอีกชนิดหนึ่งเกสรไม่มีกลิ่นหอม
    การปลูก
    เสน่ห์จันทน์เขียวเป็นว่านที่ปลูกได้ในดินทุกชนิด แต่จะเจริญงอกงามได้ดีในดินปนทราย ควรปลูกในที่ร่มหรือที่ร่มรำไร ให้มีแสงแดดส่องได้เพียงเล็กน้อย ถ้าถูกแสงแดดจัดนานจะทำให้ใบไหม้ การให้น้ำควรให้สม่ำเสมอทั้งเช้าและเย็น เพราะว่านเสน่ห์จันทน์เขียว เป็นไม้ที่ต้องการความชื้นสูงพอสมควร
    การขยายพันธุ์ - โดยการแยกหน่อจากหัวเดิมมาปลูกใหม่

    ว่านเสน่ห์จันทน์แดง
    ชื่อวิทยาศาสตร์ : Homalomena rubescens
    วงศ์ : ARACEAE

    ลักษณะทั่วไป
    เป็นว่านที่เกิดจากหัวที่อยู่ใต้ดิน ลำต้นอยู่เหนือผิวดิน ไม่มีการแตกกิ่งก้านสาขา ลำต้นประกอบด้วยก้านใบหลายๆ ก้าน ก้านใบกลมยาวมีสีเขียวอมแดงหรือสีเขียว หากเลี้ยงได้สมบูรณ์ก้านใบอาจเป็นสีแดงปนดำหรือสีแดงเลือดหมูตลอดทั้งก้านโดยไม่มีสีเขียว ใบมีลักษณะเป็นรูปหัวใจ โคนใบมนเว้า ปลายใบแหลม และขอบใบเรียบไม่มีหยัก พื้นใบสีเขียว ว่านเสน่ห์จันทน์แดงออกดอกเป็นกลุ่ม คล้ายดอกจำปีตูม ประกอบไปด้วยกาบดอกห่อหุ้มแท่งเกสรอยู่ภายใน ทั้งดอกและก้านดอกเป็นสีแดง
    การปลูก
    ควรปลูกในดินร่วนหรือดินปนทราย เป็นว่านที่เจริญเติบโตได้ดีทั้งในที่ร่มและที่มีแสงแดดจัด แต่เป็นว่านที่ชอบน้ำมาก จึงควรรดน้ำสม่ำเสมอทั้งเช้าเย็น
    การขยายพันธุ์ - โดยการแยกหน่อ

    ว่านเสน่ห์จันทน์ขาว
    ชื่อวิทยาศาสตร์ : Alocasia lindenii
    วงศ์ : ARACEAE

    ลักษณะทั่วไป
    เสน่ห์จันทน์ขาวเป็นว่านที่ลำต้นโผล่ขึ้นมาจากหัวที่อยู่ใต้ดิน ประกอบไปด้วยกาบใบที่ห่อหุ้มลำต้นอยู่ มีลักษณะคล้ายกับต้นบอน ลำต้นเป็นสีน้ำตาล ใบเป็นรูปใบโพธิ์ พื้นใบสีเขียวและมีสีขาวประอยู่ทั่วใบ ปลายใบแหลมเรียว โคนใบเว้าเข้าหาก้านใบ และถ้าใบสมบูรณ์ดี เส้นกลางใบก็จะเป็นสีขาว ใบอ่อนแตกตรงส่วนยอดของลำต้น โดยจะมีก้านใบกลมตรงชูขึ้นมาและก้านใบก็จะมีขาวด้วย ดอกสีขาวอมเขียวออกดอกเป็นกลุ่ม ลักษณะของดอกคล้ายกับดอกจำปีตูม มีกลีบเดียวกลางดอกมีเกสรเป็นรูปแท่ง มีก้านดอกยาวสีขาว
    การปลูก
    ควรปลูกในดินปนทรายหรือดินที่มีการระบายน้ำได้ดี อย่าให้ถูกแสงแดดจัดอาจทำให้ตายได้ ควรปลูกในที่มีแสงแดดรำไร ว่านเสน่ห์จันทน์ขาวเป็นว่านที่ชอบน้ำมาก จึงควรรดน้ำทุกเช้าและเย็น
    การขยายพันธุ์ - โดยการแยกหน่อ

    ว่านเสน่ห์จันทน์มหาโพธิ์
    ชื่อวิทยาศาสตร์ : Homalomena
    วงศ์ : ARACEAE
    ชื่ออื่นๆ : ว่านศรีมหาโพธิ์

    ลักษณะทั่วไป
    เสน่ห์จันทร์มหาโพธิ์มี ลำต้นเป็นหัวอยู่ใต้ดิน ก้านใบกลมเรียวสีเขียว บริเวณโคนแผ่ออกเป็นกาบโอบหุ้มลำต้นแบบสลับโดยรอบ ใบรูปหัวใจ ปลายใบแหลมเป็นติ่ง โคนใบกลมและหยักเว้า เส้นกลางใบและเส้นใบทางด้านบนเป็นร่องลึกสีเขียวอ่อนทางด้านล่างนูนเป็นสัน แผ่นใบหยักเป็นคลื่น ส่วนใหญ่จะอยู่ในลักษณะนอนขนานกับพื้นดิน ราก ลำต้น ก้านใบ หักดมจะมีกลิ่นหอม ยอดอ่อนแทงออกมาก่อนจะคลี่ใบ มีหน่ออ่อนตามข้างหัว ดอกคล้ายดอกจำปีตูม สีเขียวอ่อน
    การปลูก
    ใช้ดินร่วนผสมอิฐเผาไฟทุบละเอียด นำไปตากน้ำค้างหนึ่งคืน เอามาใช้เป็นดินปลูก วางหัวว่านตรงกลางกระถาง โดยปลูกให้หัวโผล่ กดดินพอแน่นรดน้ำพอเปียกชุ่ม วางกระถางในที่ร่มแต่ให้ถูกแดดรำไร เป็นว่านที่ไม่โทรมเหมือนว่านอื่นๆ ที่จะทิ้งใบบางฤดู แต่ว่านนี้จะทรงตัวอยู่ได้ตลอดทั้งปี
    การขยายพันธุ์ - โดยการแยกหน่อ

    ว่านเต่านำโชค
    ชื่อวิทยาศาสตร์ : Amorphophallus asterostigmatus
    วงศ์ : ARACEAE
    ชื่ออื่นๆ : บุกเต่า

    ลักษณะทั่วไป
    ว่านเต่านำโชค เป็นพืชล้มลุกที่มีหัวอยู่ใต้ดิน หัวเป็นรูปกลมแป้นขนาดเท่ากำมือเด็ก ผิวเปลือกสีน้ำตาล ตอนบนมีลักษณะโหนกนูนเหมือนกระดองเต่า ตอนมีลักษณะล่างแบนราบซึ่งรากจะแทงออกทางด้านนี้ บางหัวมีปุ่มยื่นออกมาลักษณะคล้ายหัว เขา และหางเต่า จึงถูกตั้งชื่อตามลักษณะว่า "ว่านเต่านำโชค" เนื้อในหัวเป็นสีขาว หรือสีนวล มีกลิ่นหอมอ่อนๆ ลำต้นแตกขึ้นบริเวณกลางหัวด้านบน มีลำต้นเหมือนต้นบุก สูงประมาณ 1-2 ฟุต ลำต้นเป็นสีน้ำตาลแดง มีจุดดำๆ เห็นได้ชัดต่างกันกับบุก แตกใบบริเวณส่วนปลายลำต้น โดยลักษณะใบเป็นแฉกๆ แผ่กว้างและกางออก ใบสีเขียวเข้ม ผิวใบมีขนสีน้ำตาลกระจายทั่ว ใต้ใบเขียวอ่อน ดอกจะแทงขึ้นมาจากหัวใต้ดิน ดอกคล้ายดอกบอน
    การปลูก
    ว่านเต่าชอบดินร่วนปนทรายหรือแกลบ ฝังหัวพอให้พ้นดินเล็กน้อย เพราะถ้าฝังมิดหัวอาจทำให้ว่านเน่าตายได้ ไม่ควรรดน้ำจนแฉะมากเกินไป ต้องปลูกในที่ร่มร่ำไร จึงจะเจริญงอกงามดี
    การขยายพันธุ์ - ขยายพันธุ์โดยการแยกหัว

    ว่านเขียวหมื่นปี
    ชื่อวิทยาศาสตร์ : Aglaonema modestum
    วงศ์ : ARACEAE
    ชื่อสามัญ : Chinese Evergreen
    ชื่ออื่นๆ : ว่านขันหมาก

    ลักษณะทั่วไป
    เป็นไม้พุ่มขนาดเล็ก ลำต้นกลมสีเขียวออกแดงเรื่อๆ อาจสูงถึง 1 เมตร มียางสีขาว ก้านใบสีเขียว ยาว 8-10 ซม. ลักษณะด้านบนเป็นร่องเล็กน้อย ด้านนอกกลมนูน บริเวณโคนแผ่ออกเป็นกาบสีเขียวออกแดงเรื่อๆ โอบหุ้มกันโดยรอบ ใบรูปรี ขนาดกว้าง 8-10 ซม. ยาว 15-20 ซม. ปลายใบมนแหลม โคนใบแคบมน ทางด้านบนเส้นกลางใบเป็นร่องสีเขียวด้านล่างเส้นกลางใบนูนเป็นสัน แผ่นใบสีเขียวอมเหลือง มีรอยประสีเขียวเข้มหรือสีบรอนซ์เงินตลอดใบ บริเวณแผ่นใบทั่วๆ ไป ทางด้านบนแผ่นใบสีเข้มกว่าทางด้านล่างและมีรอยประมากกว่า
    การปลูก
    เป็นไม้ที่เลี้ยงง่าย ปลูกได้ทั้งในดินปนทรายหรือดินร่วนซุย ไม่ชอบแสงแดดจัด ควรปลูกในที่ร่มหรือที่มีแสงแดดส่องเพียงรำไร เหมาะที่จะปลูกในอาคาร รดน้ำบ่อยๆ หรืออาทิตย์ละครั้งก็ได้
    การขยายพันธุ์ - โดยการแยกหน่อ

    ว่านกวักโพธิ์เงิน
    ชื่อวิทยาศาสตร์ : Caladium "Changiuer"
    วงศ์ : ARACEAE
    ลักษณะทั่วไป

    ว่านกวักโพธิ์เงิน มีลักษณะเป็นกอเหมือนบอน ก้านใบกลมสีเขียวใบรูปหัวใจ ปลายใบแหลม โคนใบมนเว้าน้อยๆ พื้นใบสีเขียว เส้นกลางใบสีขาว เส้นใบสีขาว มีหัวขนาดเล็กอยู่ใต้ดิน
    การปลูก
    ควรปลูกว่านกวักโพธิ์เงินด้วยดินปนทราย จัดวางกระถางว่านให้ได้รับแสงแดดรำไร ก้านใบจะแข็งแรงตั้งตรง หากอยู่แต่ในที่ร่มจะทำให้ก้านใบอ่อนไม่ตั้งตรง กอว่านจะไม่สวยงาม
    การขยายพันธุ์ - โดยการแยกหน่อ

    ว่านกวักทองคำ
    ชื่อวิทยาศาสตร์ : Aglaonema commutatum
    วงศ์ : ARACEAE
    ชื่อสามัญ : A.marantifolium tricolor
    ชื่ออื่นๆ : กวักแม่ทองคำ

    ลักษณะทั่วไป
    เป็นไม้ที่มีลำต้นสูงประมาณ 50-100 ซม. ลำต้นสีเขียวอ่อน แตกกิ่งก้านสาขาออกขึ้นไปเรื่อยๆ เป็นก้านของใบ ใบเป็นรูปใบพาย ปลายใบแหลม โคมใบมน ใบยาวประมาณ 30 ซม. พื้นใบสีเขียวเข้มมัน มีสีเขียวอ่อนเป็นลายเล็กๆ ทาบไปตามเส้นใบ ก้านใบมีสีชมพู แต่ถ้าไม่สมบูรณ์จะเป็นสีชมพูจางหรือเป็นสีขาว
    การปลูก
    ควรปลูกว่านด้วยดินร่วน จัดวางกระถางว่านให้ได้รับแสงแดดรำไรและมีความชื้นสูง
    การขยายพันธุ์ - โดยการแยกหน่อ

    ว่านเงินไหลมา
    ชื่อวิทยาศาสตร์ : Syngonium podophyllum
    วงศ์ : ARACEAE
    ชื่อสามัญ : Tricolor Nephthytis

    ลักษณะทั่วไป
    เงินไหลมาเป็นพรรณไม้เลื้อยที่มีเถายาว ลำต้นมีความยาวประมาณ 10-20 เมตร มีลำต้นกลมสีเขียว ผิดลำต้นเกลี้ยงเป็นข้อห่างๆ และมีรากออกตามข้อลำต้นแต่ละข้อจะมีกาบใบหุ้มอยู่ใบเดียวออกตามข้อสลับกันซึ่งมีก้านใบยาวประมาณ 10-15 เซนติเมตร ใบเป็นแฉกประมาณ 5 แฉก ขนาดใบกว้างประมาณ 3-5 เซนติเมตร ยาวประมาณ 10-15 เซนติเมตร ใบเป็นแฉกลึกเข้าหาโคนใบ ส่วนปลายใบเรียวแหลม พื้นใบมีสีเขียว และมีสีเหลืองปนอยู่ที่บริเวณลยเส้นใบเล็กน้อยถ้ามีอายุมากจะออกดอกตรงส่วนยอดลักษณะดอกคล้ายกับดอกของบอน
    การปลูก
    การปลูกในกระถางเพื่อใช้ประดับภายในและภายนอกอาคาร ใช้กระถางทรงสูง ขนาด 10-16 นิ้ว ใช้ปุ๋ยคอก แกลบ ขุยมะพร้าว และดินร่วน อย่างละหนึ่งส่วน ผสมดินปลูก ใช้ไม้หลักที่หุ้มด้วยกาบมะพร้าวปักไว้ตรงกลางกระถางเพื่อเป็นที่ยึดเกาะของราก ควรให้ปุ๋ยสม่ำเสมอและควรเปลี่ยนกระถางเมื่อมีอายุประมาณ 2-3 ปี การปลูกในแปลงปลูกเพื่อประดับบริเวณบ้านและสวน ควรปลูกตามบริเวณรอบโคนไม้อื่นหรือทำร้านเพื่อให้รากยึดเกาะและเลื่อยขึ้นได้ ควรปลูกในดินที่ร่วนซุย ต้องการแสงแดดรำไรหรือในร่ม
    การขยายพันธุ์ - การปักชำ


    วงศ์ทานตะวัน COMPOSITAE

    ว่านมหากาฬ
    ชื่อวิทยาศาสตร์ : Gynura pseudo - china hispida.
    วงศ์ : COMPOSITAE
    ชื่ออื่นๆ : ผักกาดกบ ผักกาดนกเขาดำ โคก หนาดแห้ง

    ลักษณะทั่วไป
    ว่านมหากาฬเป็นพันธุ์ไม้เลื้อย มีหัวอยู่ใต้ดิน เนื้อของหัวเป็นสีขาว ใบมีลักษณะคล้ายใบผักกาด ใบหนาและแข็ง พื้นใบสีเขียวอ่อน มีลายสีม่วงซีดๆ บนใบ ใบอ่อนจะเป็นสีม่วงแก่ ตามแขนงใบเป็นสีขาว ก้านใบเมื่อแก่จะเปลี่ยนจากสีม่วงเป็นสีขาว ดอกมีลักษณะเป็นฝอยก้านดอกยาว มีสีเหลือง คล้ายดอกดาวเรืองแต่มีขนาดเล็กกว่ามาก
    การปลูก
    ควรปลูกในดินปนทรายที่ระบายน้ำได้ดี รดน้ำแต่พอดินชุ่มเท่านั้น เพราะว่านมหากาฬไม่ชอบดินแฉะซึ่งจะทำให้ใบเน่าได้ง่าย ควรให้ได้รับแสงแดดปานกลาง
    การขยายพันธุ์ - ขยายพันธุ์โดยการแยกหน่อ

    ว่านแจง
    ชื่อวิทยาศาสตร์ : Gynura integrifolia Gagnep.
    วงศ์ : COMPOSITAE
    ชื่ออื่นๆ : ดาวเรืองโคก (เลย), หัวน่วม (กรุงเทพฯ)

    ลักษณะทั่วไป
    เป็นไม้ล้มลุก หัวเป็นหัวกลมขนาดใหญ่ เนื้อในสีขาว ลำต้นกลมสีเขียวทอดไปตามพื้นดินแล้วตั้งขึ้น ใบคล้ายว่ามหากาฬแต่มีขนาดเล็กกว่า สีของใบเขียวจัดมาก ขอบใบมีรอยจักเว้าเข้าไปกลางใบมากกว่าว่านมหากาฬ แต่ขนาดเล็กกว่า ก้านใบสีเขียวสั้น ด้านล่างเส้นกลางใบและเส้นใบนูนเป็นสันสีขาว แผ่นใบด้านบนสีเขียว ด้านล่างสีเขียวจางกว่าด้านบน ดอกมีสีเหลือง ก้านข่อดอกชูขึ้นมาจากหัวว่านสูงเด่นเห็นชัด ลักษณะดอกคล้ายดอกดาวเรืองตูม เมื่อขุดหัวว่านขึ้นมาจากดินทิ้งไว้ไม่กี่วันหัวว่านจะนิ่มตลอดหัวเอามือบีบดูก็รู้สึกคล้ายๆ มีน้ำอยู่ภายใน
    การปลูก
    เป็นว่านที่ขึ้นได้ในดินทั่วไปที่ระบายน้ำได้ดี ไม่ชอบน้ำแฉะหรือท่วมขังเพราะหัวจะเน่าได้ง่าย เป็นว่านที่ปลูกเลี้ยงง่าย
    การขยายพันธุ์ - โดยการปักชำ


    วงศ์เปล้า EUPHORBIACEAE

    ว่านธรณีสาร
    ชื่อวิทยาศาสตร์ : Phyllanthus Pulcher Wall ex Muell Arg.
    วงศ์ : EUPHORBIACEAE

    ลักษณะทั่วไป
    เป็นไม้ยืนต้นขนาดเล็ก ลำต้นตรง สูงประมาณ 0.5–1 เมตร ลำต้นสีเขียว ตรงปลายยอดเป็นสีอ่อน หากต้นแก่โคนต้นจะเป็นสีน้ำตาล ใบมีลักษณะกลมเล็กคล้ายใบมะขาม ก้านใบสีเขียว ใบจะออกทั้ง 2 ข้างของก้านใบคู่กันไปจนสุดปลายก้าน ส่วนก้านใบจะแตกออกจากลำต้นโดยรอบๆ เป็นพุ่มสวยงาม
    การปลูก
    ปลูกในดินร่วน หรือดินปนทรายที่มีการระบายน้ำได้ดี ควรปลูกหรือจัดวางกระถางในบริเวณที่ได้รับแสงแดดปานกลาง และควรรดน้ำให้ชุ่มทุก เช้า-เย็น
    การขยายพันธุ์ - ขยายพันธุ์โดยการใช้เมล็ดเพาะเป็นต้นกล้า แล้วจึงแยกต้นกล้าไปปลูก

    ว่านหนุมาน
    ชื่อวิทยาศาสตร์ : Jatropha podagrica.
    วงศ์ : EUPHORBIACEAE

    ลักษณะทั่วไป
    มีหัวป้อมกลมใต้ดิน ต้นขึ้นเป็นลำเดี่ยว มีกิ่งก้านบริเวณยอดของลำต้น ใบลักษณะคล้ายใบตำลึง แต่หนาและขนาดใหญ่กว่ามาก พื้นใบมีสีเขียวท้องใบมีขน หลังใบมีสีเขียวนวล และมีพรายปรอท เมื่อถูกแสงแดดจะเป็นเงาเหลื่อม ก้านใบและเส้นใบสีแดงเรื่อๆ ก้านดอกยาวสีแดง ลักษณะของดอกมีขนาดเล็ก ออกดอกเป็นกระจุกรวมกันเป็นช่อ สีแดง
    การปลูก
    ว่านหนุมานจะขึ้นง่ายในดินปนทราย ชอบแดดจัด รดน้ำทุก เช้า–เย็น
    การขยายพันธุ์ - ขยายพันธุ์โดยการใช้หัว

    ว่านลิ้นมังกร
    ชื่อวิทยาศาสตร์ : Sauropus changiana S.Y.Hu
    วงศ์ : EUPHORBIACEAE
    ชื่อสามัญ : Dragon’s Tongue
    ชื่ออื่นๆ : เหล่งหลี่เฮียะ, เหล่งจิเฮี้ย(จีน-แต้จิ๋ว)

    ลักษณะทั่วไป
    เป็นพรรณไม้ยืนต้นขนาดเล็ก ลำต้นตั้งตรงและมีขนสั้นๆ ปกคลุมอยู่ สูงประมาณ 30-50 ซม. ใบเป็นใบเดี่ยว ออกสลับกันไปตามข้อต้น ลักษณะของใบเป็นรูปมนรี ปลายมน โคนใบสอบแหลมเข้าหาก้านใบ ขอบใบเรียบ หลังใบสีเขียวเข้ม ท้องใบสีเขียวนวล เส้นใบเป็นสีขาวนวลเห็นเป็นลายสวยงาม ดอกออกเป็นช่ออยู่ตามง่ามใบ ซึ่งตัวดอกจะเรียงติดกันเป็นแถวสั้นๆ คล้ายช่อดอก แต่จะแยกออกเป็นดอกเพศผู้และเมีย มีสีแดงม่วง ผลจะถูกกลีบเลี้ยงที่ขยายตัวหุ้มเอาไว้ ลักษณะของผลคล้ายกับเม็ดถั่ว มีก้านสั้นๆ
    การปลูก
    เป็นพรรณไม้กลางแจ้ง ชอบดินที่ชุ่มชื้นแต่ต้องระบายน้ำได้ดี ไม่ขังแฉะ เช่น ดินปนทรายหรือดินร่วนปนทราย
    การขยายพันธุ์ - ขยายพันธุ์โดยการปักชำหรือเพาะเมล็ด


    วงศ์ธรรมรักษา HELICONIACEAE

    ว่านแสงอาทิตย์
    ชื่อวิทยาศาสตร์ : Heliconia metallica planch. & Lind. ex Hook
    วงศ์ : HELICONIACEAE
    ชื่ออื่นๆ : ว่านแสงไฟ

    ลักษณะทั่วไป
    เป็นไม้ล้มลุกที่นำมาจากต่างประเทศ หัวเป็นเหง้าใต้ดิน ขนาดใหญ่ มีการแตกเป็นแง่งได้ เช่นเดียวกับหัวข่า ก้านใบสั้นส่วนใหญ่แผ่ออกเป็นกาบสีแดงโอบหุ้มกันเป็นลำกลมแบน สูง 30-50 ซม. ใบรูปรียาว ขนาดกว้าง 14-20 ซม. ยาว 30-40 ซม. ปลายใบแหลมเป็นติ่ง โคนใบเบี้ยว ขอบใบมีขลิบสีแดงโดยรอบทางด้านบน เส้นกลางใบเป็นร่องสีแดง ขอบของร่องสีขาว เส้นใบนูนออกในลักษณะตั้งฉากกับเส้นกลางใบ แผ่นใบสีเขียว ด้านล่างแผ่นใบอ่อนมีสีแดง ใบแก่จะมีสีแดงเรื่อๆ เส้นกลางใบนูนเป็นสันสีแดงเข้มกว่าแผ่นใบเมื่อถูกไฟหรือแสงอาทิตย์ใบจะห่อและด้านล่างใบจะมีเงาสะท้อน เป็นว่านที่ไม่โทรมทั้งในฤดูหนาวและฤดูร้อน งามได้ตลอดปี
    การปลูก
    ควรปลูกในดินร่วนปนทราย เป็นว่านที่ชอบอยู่ในที่ชื้นเย็น และถูกแสงแดดรำไร
    การขยายพันธุ์ - โดยการแยกหน่อ


    วงศ์ไอริส IRIDACEAE

    ว่านหอมแดง
    ชื่อวิทยาศาสตร์ : Eleutherine americana Merr.
    วงศ์ : IRIDACEAE
    ชื่ออื่นๆ : บ่อเจอ เพาะบีเบ (กระเหรี่ยง แม่ฮ่องสอน) ว่านไก่แดง ว่านเข้า ว่านเพลาะ (เชียงใหม่) ว่านหมาก หอมแดง (ภาคกลาง)

    ลักษณะทั่วไป
    เป็นพืชล้มลุก มีหัวเป็นแบบกลีบขนาดเล็กอยู่ใต้ดิน มีสีแดง ลักษณะคล้ายหัวหอม ใบเป็นใบเดี่ยว รูปดาบ จีบพับซ้อนกันคล้ายพัด กว้าง 1-2.5 เซนติเมตร ยาว 25-60 เซนติเมตร ปลายใบแหลม โคนใบแคบ ขอบใบเรียบมีขนเล็กน้อย ดอกออกเป็นช่อ ก้านช่อดอกยาว 2.5-4 เซนติเมตร มักโค้งงอ มีกาบหุ้มดอก สีเขียว 2-10 อัน ซ้อนกันอยู่ที่ง่ามใบใกล้ยอด ดอกมี 4-10 ดอก ก้านดอกยาว 1-1.5 เซนติเมตร กลีบดอกสีขาวมี 6 กลีบ รูปขอบขนานหรือรูปไข่กลับ เรียงเป็น 2 ชั้น กลีบที่อยู่ชั้นในมีขนาดเล็กกว่ากลีบที่อยู่ชั้นนอก
    การปลูก
    ปลูกในดินร่วนปนทรายที่ระบายน้ำได้ดี ผสมปุ๋ยคอกและพืชตระกูลถั่วที่ผุเปื่อย ห้ามใช้ปุ๋ยวิทยาศาสตร์ รดน้ำแต่พอดี ไม่แฉะจนเกินไป
    การขยายพันธุ์ - โดยการแยกหน่อ

    ว่านหางช้าง
    ชื่อวิทยาศาสตร์ : Belamcanda chinensis DC.
    วงศ์ : IRIDACEAE
    ชื่อสามัญ : Black Berry Lily, Leopard Flower
    ชื่ออื่นๆ : ว่านมีดยับ (ภาคเหนือ), ว่านพัดแม่ชี

    ลักษณะทั่วไป
    เป็นไม้ล้มลุก สูง 0.6-1.2 เมตร ลำต้นเป็นเหง้าสีเขียวเลื้อยตามแนวขนานกับพื้นดิน ใบเป็นใบเดี่ยวแทงออกจากเหง้า เรียงซ้อนสลับ กว้าง 2-3 ซม. ยาว 30-45 ซม. เนื้อใบค่อนข้างหนา ปลายใบแหลม ขอบใบมีขลิบสีขาว แผ่นใบสีเขียวนวล ดอกออกที่ปลายยอด แทงขึ้นสูงเป็นช่อ ดอกสีเหลืองมี 5 กลีบ มีจุดประสีแดงกระจาย ดอกสวยงามมาก
    การปลูก
    ใช้ดินร่วนที่มีส่วนผสมของใบไม้ผุเปื่อย ระบายน้ำได้ดี ไม่ท่วมขัง ใส่ปุ๋ยคอกลงไปด้วยจะทำให้ใบมีสีสดและให้ดอกสวย ควรปลูกในที่มีลมไม่แรงจัดเพราะจะทำให้ใบหักพับเสียหายได้
    การขยายพันธุ์ - โดยการแยกหน่อ

    ว่านแม่ยับ
    ชื่อวิทยาศาสตร์ : Iris collettii Hook. f.
    วงศ์ : IRIDACEAE
    ชื่ออื่นๆ : ว่านหางช้าง (เชียงใหม่)

    ลักษณะทั่วไป
    เป็นไม้ล้มลุก มีลำต้นเป็นเหง้าใต้ดิน แตกกอหนาแน่น ก้านใบแผ่ออกเป็นกาบในลักษณะสลับเป็นแผงสองด้าน ใบรูปดาบขนาดกว้าง 2-3 ซม. ยาว 25-35 ซม. ปลายใบแหลม ขอบใบมีขลิบสีขาว แผ่นใบมีสีเขียวนวล เส้นใบมีขนาดเท่าๆ กับเส้นกลางใบ โดยนูนเล็กน้อยทั้งสองด้าน แผ่นใบตั้งหันขอบใบเข้าหากันเหมือนพัด ดอกออกเป็นช่อ ช่อดอกยาว 10-25 ซม. มี 2-4 ดอกในแต่ละช่อ ดอกมีสีม่วง เมื่อดอกบานมีเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 2-5 ซม. สวยงามมาก
    การปลูก
    ปลูกในดินร่วนซุยที่มีส่วนผสมของใบไม้ผุเปื่อย เมื่อวางหัวลงปลูกอย่ากดดินให้แน่นเพราะเป็นว่านที่ไม่ชอบดินแน่น รดน้ำให้มากพอเพราะเป็นว่านที่ชอบน้ำ
    การขยายพันธุ์ - โดยการแยกหน่อ


    วงศ์ลิลลี่ LILIACEAE

    ว่านเพชรนารายณ์
    ชื่อวิทยาศาสตร์ : Pleomele thalioides.
    วงศ์ : LILIACEAE

    ลักษณะทั่วไป
    เป็นว่านที่มีหัวเป็นลำต้นขึ้นมาจากใต้ดิน มีลักษณะกลมตรงและเป็นข้อ แตกต้นใหม่ตามข้อเนื้อของลำต้นจะแข็ง ก้านใบสีเขียวยามเต็มที่ประมาณ 25-30 ซม. แตกใบอ่อนตรงกลางต้น ใบสีเขียวมีร่องตื้นๆ เรียงเป็นขีดตามความยาวของตัวใบ 5-6 ร่อง ซึ่งใบเป็นรูปหอกปลายใบเรียวแหลม โคนใบมนเข้าหาก้านใบ ว่านเพชรนารายณ์มีดอกสีแดงเรื่อๆ ผสมสีเหลือง ลักษณะคล้ายกับดอกหงอนไก่ ฝักดอกเป็นสีขาว ออกดอกใน เดือนพฤศจิกายน–ธันวาคม ของทุกปี
    การปลูก
    ควรปลูกในดินร่วนปนทรายเล็กน้อย หรืออาจใช้ดินเผาผสมใบไม้เป็นดินปลูกก็ได้ เป็นว่านที่ชอบน้ำควรรดน้ำให้ชุ่มทุกเช้า-เย็น ควรให้ได้รับแสงแดดปานกลาง
    การขยายพันธุ์ - ขยายพันธุ์โดยการแยกหน่อ

    ว่านเศรษฐีเรือนกลาง
    ชื่อวิทยาศาสตร์ : Chlorophytum comosum.
    วงศ์ : LILIACEAE
    ชื่อสามัญ : Spider Plant.
    ชื่ออื่นๆ : ว่านเศรษฐีธรรมดา

    ลักษณะทั่วไป
    ว่านเศรษฐีเรือนกลาง มีหัวอยู่ใต้ดิน ไม่มีลำต้น เป็นไม้กอขนาดเล็ก ใบจะแตกขึ้นมาจากหัวโดยตรงเป็นกอกลม อยู่เหนือดิน ลักษณะใบแบน ปลายใบเรียวแหลม แต่แคบคล้ายใบตะไคร้ แต่สั้น ขอบใบขนานไม่มีจัก ปลายใบโค้งจรดพื้นดิน สีเขียวเข้ม เมื่อโตเต็มที่จะแตกไหลเหนือดิน มีต้นเล็กๆ กระจุกอยู่ ดอกมีขนาดเล็กสีขาว ออกดอกที่ละจำนวนมากๆ อยู่รวมกันเป็นช่อ และเมื่อดอกโรยจะกลายเป็นต้นอ่อนแทนช่อดอก
    การปลูก
    ควรปลูกในดินร่วนซุยหรือดินปนทรายที่ระบายน้ำได้ดี เป็นไม้ชอบน้ำและความชื้นสูง แสงรำไร หรือหากปลูกในร่มก็ควรให้ถูกแสงแดดบ้าง สามารถปลูกได้ทั้งในกระถางแขวน หรือกระถางเตี้ยๆ ก็สวยงามดี
    การขยายพันธุ์ - โดยการแยกต้นอ่อนที่แตกใหม่มาปลูก

    ว่านเศรษฐีเรือนนอก
    ชื่อวิทยาศาสตร์ : Cholorophytum comosum. (Anthesicum Vittatum)
    วงศ์ : LILIACEAE
    ชื่อสามัญ : Spider Plant

    ลักษณะทั่วไป
    ว่านเศรษฐีเรือนนอกเป็นไม้กอขนาดเล็ก มีหัวอยู่ใต้ดิน ไม่มีลำต้น ใบแตกกระจายออกเป็นพุ่มอยู่เหนือดิน ใบแกมขนานคล้ายใบตะไคร้ แต่สั้นกว่ามาก มีใบด่างขาว หรือขาวนวลที่ริมใบ ลักษณะอื่นๆ จะเหมือนเศรษฐีเรือนกลางคือ เมื่อใบยาวเต็มที่จะโค้งงอลงดิน เมื่อโตเต็มที่จะมีไหลเหนือดินแตกเป็นต้นใหม่ได้เช่นเดียวกัน
    การปลูก
    ว่านเศรษฐีเรือนนอกชอบดินร่วนหรือดินปนทราย ซึ่งระบายน้ำได้ดี ให้แดดรำไร หรือปลูกที่ร่มให้ถูกแสงแดดบ้างในบางเวลา รดน้ำปานกลาง
    การขยายพันธุ์ - ขยายพันธุ์โดยการแยกหน่อ หรือใช้ต้นอ่อนที่เกิดจากไหลไปปลูกใหม่

    ว่านเศรษฐีเรือนใน
    ชื่อวิทยาศาสตร์ : Cholorophytum comosum. (Anthesicum Picturatum)
    วงศ์ : LILIACEAE
    ชื่อสามัญ : Spider Plant.

    ลักษณะทั่วไป
    ลักษณะเช่นเดียวกับเศรษฐีเรือนนอก และเศรษฐีเรือนกลาง ใบมีลักษณะเดียวกับเศรษฐีเรือนนอก แต่ลายด่างขาวหรือขาวนวลจะอยู่ส่วนกลางใบ ขอบใบเป็นสีเขียว ออกดอกเหมือนกับว่านเศรษฐีเรือนกลาง
    การปลูก
    ควรปลูกในดินร่วนซุย หรือดินปนทราย ที่ระบายน้ำได้ดี หากมีอิฐหักหรือหินเล็กๆ ปนลงไปด้วยจะช่วยให้แตกกอเร็วขึ้น ต้องการน้ำปานกลางสม่ำเสมอ ความชื้นสูง แดดรำไร จะปลูกลงกระถางแขวน หรือกระถางทรงเตี้ยปากกว้างก็สวยงามดี
    การขยายพันธุ์ - ขยายพันธุ์โดยการแยกหน่อ หรือใช้ต้นอ่อนที่เกิดจากไหลไปปลูกใหม่

    ว่านหางจระเข้
    ชื่อวิทยาศาสตร์ : Aloe indica Royle.
    วงศ์ : LILIACEAE
    ชื่ออื่นๆ : ว่านหางจระเข้, หางจระเข้ หางตะเข้ (ภาคกลาง) ว่านไฟไหม้ (ภาคเหนือ)

    ลักษณะทั่วไป
    ไม้ล้มลุกอายุหลายปี สูง 0.5-1 เมตร ลำต้นเป็นข้อปล้องสั้น ใบเป็นใบเดี่ยว ออกเรียงเวียนรอบต้น ใบหนาและยาว โคนใบใหญ่ ส่วนปลายใบแหลม ขอบใบเป็นหนามแหลมห่างกัน แผ่นใบหนาสีเขียว มีจุดกระสีขาวถึงสีเขียวอ่อน อวบน้ำ ข้างในเป็นวุ้นใสสีเขียวอ่อน ดอกออกเป็นช่อกระจะที่ปลายยอด ก้านช่อดอกยาว ดอกสีแดงอมเหลือง โคมเชื่อมติดกันเป็นหลอด ปลายแยกเป็น 6 แฉก เรียงเป็น 2 ชั้น รูปแตร ผลเป็นฝักแห้งรูปกระสวย
    การปลูก
    ว่านหางจระเข้ปลูกง่าย โดยการใช้หน่ออ่อน ปลูกได้ดีในบริเวณทะเลที่เป็นดินทราย และมีปุ๋ยอุดมสมบูรณ์ดี จะปลูกเอาไว้ในกระถางก็ได้ ในแปลงปลูกก็ได้ ปลูกห่างกันสัก 1-2 ฟุต เป็นพืชที่ต้องการน้ำมาก แต่ต้องมีการระบายน้ำดีพอ มิฉะนั้นจะทำให้รากเน่าและตาย ว่านหางจระเข้ชอบแดดรำไร ถ้าถูกแดดจัดใบจะเป็นสีน้ำตาลแดง
    การขยายพันธุ์ - ขยายพันธุ์โดยการแยกลำต้น

    ว่านดองดึง
    ชื่อวิทยาศาสตร์ : Gloriosa superba Linn.
    วงศ์ : LILIACEAE
    ชื่อสามัญ : Climing Lily, Turk’s cap, Superb Lily
    ชื่ออื่นๆ : ดาวดึงส์, ดองดึงหัวขวาน, ฟันมหา

    ลักษณะทั่วไป
    ดองดึงเป็นพรรณไม้เถาที่มีลำต้นเกิดจากหัวหรือเหง้าใต้ดิน มีลักษณะคล้ายกับหัวขวานหรือฝักกระจับ มีลำต้นหรือเถาเลื้อยเกาะต้นไม้อื่นที่อยู่ใกล้ๆ และสามารถเลื้อยเกาะต้นไม้อื่นได้สูงประมาณ 3 เมตร ใบเป็นใบเดี่ยวลักษณะคล้ายรูปหอก มีสีเขียวเข้มเป็นมัน มีลักษณะสวยงาม คือปลายใบจะบิดม้วนเข้าและม้วนลงเป็นหนวด เพื่อเป็นเครื่องช่วยในการเกาะยึดหรือพัน ดองดึงออกดอกตลอดปีแต่ในช่วงฤดูฝนจะให้ดอกดกมาก ดอกดองดึงมีสีสวยสะดุดตา มีลักษณะของดอกจะบิด กลีบดอกจะบิด เป็นเส้นยาวจนยาวหยิก โคนดอกเป็นสีเหลืองอ่อน ส่วนยอดของดอกสีแดง เมื่อดอกบานเต็มที่สีของดอกนั้นจะเข้มขึ้น ผลเมื่อแก่จัดๆ ก็จะแตกมีเมล็ดเป็นสีส้ม
    การปลูก
    ดองดึงชอบขึ้นในดินร่วนปนทราย ที่มีการระบายน้ำได้ดี เจริญเติบโตได้ดีทั้งในที่ที่มีแสงแดดจัดและแสงแดดร่มรำไร ชอบน้ำปานกลาง ไม่ควรให้น้ำขังเพราะจะทำให้รากเน่าและตายได้
    การขยายพันธุ์ - ขยายพันธุ์โดยการใช้หัวหรือเพาะเมล็ด


    วงศ์คล้า MARANTHACEAE

    ว่านนกยูง
    ชื่อวิทยาศาสตร์ : Maranta arundinacea L. cv. Variegata
    วงศ์ : MARANTHACEAE
    ชื่ออื่นๆ : ว่านนกขวา (แม่ฮ่องสอน) บุเรงนอง (กรุงเทพฯ) สาคูด่าง สาคูลาย

    ลักษณะทั่วไป
    เป็นพันธุ์ไม้ล้มลุกที่มีลำต้นใต้ดิน ลักษณะหัวว่านเป็นแง่งหรือเหง้าสีขาวคล้ายต้นสาคู เนื้อในหัวจะมีสีขาวออกเทา มีข้อเป็นปล้องๆ ยาว 10-15 ซม. สีเขียวสลับเขียวแก่ มีกาบก้านใบยาว ใบมีขนาดใหญ่ ลักษณะใบรูปรีขอบขนาน ปลายใบเรียวแหลมเป็นติ่งหนาม ขอบใบเรียบ โคนใบมนหรือตัด ใบอ่อนเกือบจะเป็นสีขาวล้วนๆ พื้นใบมีลายสีขาวเป็นแถบสลับกับลายสีเขียวเป็นแถบๆ พาดบนใบสวยงามคล้ายนกยูง
    การปลูก
    ใช้ดินร่วนปนทรายหรือดินร่วนที่ระบายน้ำได้ดีเป็นดินปลูก กลบดินพอมิดหัวว่าน ไม่ต้องกดดินปลูกให้แน่น รดน้ำพอเปียกชุ่ม
    การขยายพันธุ์ - แยกต้นที่เกิดใหม่หรือเหง้าหัว

    ว่านนกคุ้ม
    ชื่อวิทยาศาสตร์ : Calathea picturata (Linden) K.Kosh & Linden cv.Vandenheckei
    วงศ์ : MARANTHACEAE

    ลักษณะทั่วไป
    ว่านนกคุ้มเป็นว่านที่มีหัวอยู่ใต้ดิน ลักษณะหัวว่านคล้ายหัวว่านกระชายดำ หัวเป็นแง่งกลมๆ ติดกันเป็นพืด ใบแทงขึ้นมาจากหัวใต้ดิน หน้าใบมีลาย คล้ายปีกนก ก้านใบยาวประมาณ 15-20 ซม. ก้านใบแข็ง และมีร่องก้านใบรูปใบค่อนข้างกลม ปลายใบมนแหลมเล็กน้อย โคนใบมนเว้าเข้าหาก้านใบ ซึ่งว่านนี้จะมีความสวยงามอยู่ที่ใบ ดอกมีสีขาวปนม่วงเล็กน้อย ลักษณะของดอกเป็นสามเหลี่ยม
    การปลูก
    ปลูกในดินร่วนปนทรายหยาบ ควรปลูกในกระถางปากกว้างหรือกระถางปากบานทรงเตี้ยให้กระถางมีขนาดใหญ่พอสมควร เพื่อให้การเจริญเติบโตและการแตกหน่อของหัวว่านเป็นไปได้อย่างรวดเร็ว และได้ปริมาณมาก ควรรดน้ำให้ชุ่มทั้งเช้าและเย็นทุกวัน แต่อย่ารดให้ถึงกับโชกเกินไปจะทำให้หัวว่านเน่าได้ง่าย ให้จัดวางกระถางว่านไว้ในที่ร่มรำไร อย่าให้โดดแดดจัดจะทำให้ขอบใบไหม้ และอาจเฉาตายได้
    การขยายพันธุ์ - โดยการแยกหน่อ

    ว่านเสน่ห์ขุนแผน
    ชื่อวิทยาศาสตร์ : Calathea majestica M.Kenn. CU.Roseo-Lineata.
    วงศ์ : MARANTHACEAE
    ชื่ออื่นๆ : ว่านขุนแผน, เสน่ห์ขุนแผน, สามกษัตริย์

    ลักษณะทั่วไป
    เป็นพันธุ์ไม้ล้มลุกที่มีลำต้นใต้ดิน หัวมีสีเหลืองออกน้ำตาล มีรากใหญ่และแข็งแรง ใบมีลักษณะเป็นใบรีรูปขอบขนาน ปลายใบแหลม โคนใบมนหรือตัดห่อตัวเข้าหาก้านใบ ขอบใบเรียบเป็นคลื่นเล็กน้อย พื้นใบสีเขียวเข้มเป็นมัน มีลายเส้นริ้วคล้ายก้างปลาพาดทั้งสองข้างของแผ่นใบ เมื่อใบอ่อน เส้นพาดจะมีสีชมพู เมื่อแก่จะจางลงเป็นสีขาว จึงได้ชื่อว่าว่านสามกษัตริย์ ท้องใบมีสีม่วงแดง ลักษณะใบกว้าง แข็งและก้านใบยาว ดอกสีขาว ออกเป็นช่อแบบช่อเชิงลดที่ปลายกิ่ง มีกาบรองดอกตั้งแต่สองใบขึ้นไปดอกย่อยมี กลีบเลี้ยงไม่เชื่อมติดกันชั้นของกลีบดอกเป็นท่อ แบ่งเป็นกลีบ 2-3 กลีบ โดยมีหนึ่งกลีบที่โค้งงอลง
    การปลูก
    ปลูกโดยใช้ดินร่วนที่มีความอุดมสมบูรณ์และระบายน้ำได้ดีเป็นดินปลูก เมื่อลงปลูกควรกลบดินให้มิดหน่อที่แยกมาปลูกหรือกลบให้พอมีหัวโผล่ดินบ้าง ปลูกไว้ในที่แสงแดดรำไร รดน้ำสม่ำเสมอแต่อย่าให้น้ำขังแฉะ
    การขยายพันธุ์ - ขยายพันธุ์ด้วยการแยกหน่อหรือแง่ง


    วงศ์กล้วยไม้ ORCHIDACEAE

    ว่านเพชรหึง
    ชื่อวิทยาศาสตร์ : Grammatophyllum specinocum BL.
    วงศ์ : ORCHIDACEAE
    ชื่อสามัญ : Leopard Flower
    ชื่ออื่นๆ : ว่านหางช้าง ว่านงูเหลือม กล้วยกา เอื้องพร้าว

    ลักษณะทั่วไป
    ว่านเพชรหึงเป็นกล้วยไม้ซึ่งถือได้ว่าเป็นกล้วยไม้ที่ใหญ่ที่สุดในโลก เป็นกล้วยไม้ประเภทแตกกอ มีระบบรากอากาศ และมีลำต้นสูง อาจสูงถึงกว่า 3 เมตร ลำต้นมีเส้นผ่านศูนย์กลาง 3-5 ซม. ใบเป็นใบเดี่ยวออกเรียงสลับกันบนลำต้น ใบกว้างราว 3 เซนติเมตร ยาวราว 60 เซนติเมตร ใบอ่อน โค้งลงด้านล่าง ใบเมื่อแก่จัดจะร่วงหลุดไปจากลำต้นทิ้งรอยแผลเป็นไว้เป็นระยะๆ ที่มองคล้ายข้อบนลำต้น ดอกออกราวเดือนมิถุนายนถึงตุลาคม โดยจะออกดอกตามบริเวณยอด ครั้งละ 2-3 ช่อ และดอกจะทยอยบานติดต่อกันนานถึง 3 เดือน ช่อดอกมีทั้งชนิดช่อตั้งและช่อห้อย แต่ละช่ออาจยาวได้ 1.5-2 เมตร ก้านดอกยาว 15-30 ซม. ดอกมีกลีบดอก 5 กลีบ กลีบดอกหนามีพื้นกลีบสีเหลืองหรือเหลืองอมเขียว มีแต้มน้ำตาลหรือม่วงคล้ายกับลวดลายของเสือ เกสรตัวผู้ 3 อัน เกสรตัวเมีย 1 อัน มีรังไข่อยู่ 3 ห้อง ผลมี 3 พู รูปร่างยาว เมื่อผลแก่จะแตกออกเป็น 3 กลีบ มีเมล็ดสีดำขนาดเล็กอยู่มากมายปลิวไปตามลม
    การปลูก
    เป็นกล้วยไม้ที่ต้องการแสงแดดค่อนข้างมากคือสามารถปลูกในที่กึ่งแดดถึงแดดแต่ไม่จัดมากนัก ใช้กาบมะพร้าวสับเป็นเครื่องปลูกขณะต้นยังเล็ก และใช้กาบมะพร้าวสับผสมอิฐแดงทุบเมื่อต้นโตขึ้น ไม่ควรรดน้ำจนชุ่มแฉะเพราะจะทำให้กอเน่าง่ายหรือเป็นโรคง่าย
    การขยายพันธุ์ - โดยการแยกหน่อ

    ว่านอึ่ง
    ชื่อวิทยาศาสตร์ : Eulophia macrobulbon Par. & Reichb.f.
    วงศ์ : ORCHIDACEAE

    ลักษณะทั่วไป
    ว่านอึ่งเป็นเป็นพืชใบเดี่ยวประเภทเดียวกับกล้วยไม้ดิน หัวมีลักษณะคล้ายอึ่งเกาะกันเป็นคู่ๆ เปลือกนอกสีเขียวอ่อนๆ เนื้อในขาวนวลและมียาง ลำต้นเป็นเหง้าสีเขียว ลักษณะกลมแบน สูงประมาณ 50-70 ซม. ก้านใบแข็งสีน้ำตาลแผ่ออกเป็นกาบโอบหุ้มกันเป็นลำต้น ใบตั้งตรงรูปรียาว ขนาดกว้าง 4-8 ซม. ยาว 20-30 ซม. ปลายใบแหลม โคนใบแหลม แผ่นใบสีเขียวแกมน้ำตาล ด้านล่างจะมีก้านใบที่แข็งและเรียงตัวตามความยาวของใบ ว่านนี้จะเจริญแตกตัวไปทางข้าง เมื่อออกหัวใหม่ก็จะงอกใบใหม่เป็นต้นใหม่ไปเรื่อยๆ หัวเก่าก็จะทิ้งใบ หัวที่สองก็จะเจริญเติบโตงดงาม แต่เมื่องอกหัวที่สามหัวแรกก็จะตาย เปรียบเหมือนอึ่งซึ่งมักเกาะกันเป็นคู่
    การปลูก
    ควรปลูกในเครื่องปลูกที่ระบายน้ำและอากาศได้ดี ไม่มีน้ำขังแฉะ ใช้ดินร่วนปนทรายผสมกับอิฐหักทุบละเอียด วางไว้ในที่ที่แสงแดดรำไรและมีอากาศถ่ายเท
    การขยายพันธุ์ - โดยการแยกหน่อ


    วงศ์ไม้เท้ายายม่อม TACCACEAE

    ว่านค้างคาว
    ชื่อวิทยาศาสตร์ : Tacca chantrieri Andre
    วงศ์ : TACCACEAE
    ชื่อสามัญ : Bat Flower

    ชื่ออื่นๆ : เนระพูสีไทย(ภาคกลาง), ม้าถอนหลัก, มังกรดำ (เชียงใหม่), ดีปลาช่อน, ดีงูหว้า (เหนือ), ค้าวคาวดำ (กลาง), คลุ้มเลีย, ว่านหัวฟ้า (จันทบุรี)
    ลักษณะทั่วไป
    เป็นไม้ล้มลุกอายุหลายปี มีเหง้าใต้ดิน ใบรูปขอบขนานถึงรูปใบหอกกว้าง 6-18 ซม. ยาว 20-60 ซม. ปลายใบแหลมหรือเป็นติ่งแหลม โคนใบแหลม เบี้ยวเล็กน้อย ก้านใบยาวประมาณ 15-30 ซม. ดอกออกเป็นช่อมี 1-3 ช่อ ยาวได้ถึง 70 ซม. แต่ละช่อมี 4-25 ดอก ลักษณะคล้ายค้างคาวบิน กลีบประดับมี 2 คู่ ไร้ก้าน สีม่วงแกมเขียวถึงสีม่วงดำ คู่นอกรูปไข่ รูปขอบขนานหรือรูปใบหอก ยาวประมาณ 6 ซม. คู่ในรูปไข่หรือรูปไข่กลับยาว 7-14 ซม. กลีบประดับเป็นเส้นมี 5-25 เส้น สีอ่อนกว่าแผ่นกลีบประดับ ยาว 10-25 ซม. กลีบรวมติดเป็นหลอดสั้นๆ ปลายแยกเป็น 6 กลีบ เรียง 2 วง สีม่วงน้ำตาล รูปรูปใบหอก ยาวประมาณ 0.5-1.2 ซม. ก้านดอกยาว 2-3.5 ซม. ผลรูปขอบขนานแกมสามเหลี่ยม มีสันเป็นคลื่นตามยาว สีน้ำตาลม่วง
    การปลูก
    ปลูกในดินร่วนที่ชุ่มชื้นแต่ต้องระบายน้ำได้ดี ไม่ขังแฉะ ควรปลูกในที่แดดรำไร รดน้ำเช้าและเย็น
    การขยายพันธุ์ - โดยการแยกเหง้าหรือเพาะเมล็ด

    ว่านพังพอน
    ชื่อวิทยาศาสตร์ : Tacca integrifolia Ker Gawl.
    วงศ์ : TACCACEAE
    ชื่อสามัญ : Black lily
    ชื่ออื่นๆ : นิลพูสี (ภาคกลาง), เนียมฤๅษี (เชียงใหม่), ม่านแผลน (นครศรีธรรมราช), ฤๅษีนางครวญ (นราธิวาส)

    ลักษณะทั่วไป
    เป็นไม้ล้มลุกอายุหลายปี มีเหง้ายาวคล้ายทรงกระบอก หนา ใบรูปขอบขนานหรือรูปใบหอก ยาว 20-60 ซม. ปลายใบแหลมหรือเป็นติ่งแหลม โคนใบแหลมหรือรูปหัวใจเบี้ยวเล็กน้อย ก้านใบยาวประมาณ 20-50 ซม. ช่อดอกมี 1-4 ช่อ ยาวได้ถึง 60 ซม. แต่ละช่อมี 6-30 ดอก แผ่นกลีบประดับมี 2 คู่ สีขาวถึงม่วงอ่อนๆ คู่นอกไร้ก้าน รูปรี ขอบขนาน หรือรูปใบหอก ยาวได้ถึง 14 ซม. คู่ในมีก้าน รูปใบหอกกลับหรือรูปใบพาย ยาวได้ถึง 22 ซม. กลีบประดับรูปเส้นด้ายมี 5-25 อัน สีอ่อนกว่าแผ่นกลีบประดับ ยาว 10-20 ซม. ดอกสีเขียวอมม่วงน้ำตาล ก้านดอกยาว 2-4 ซม. กลีบรวม 6 กลีบ เรียง 2 วง รูปรีหรือรูปไข่ ยาวประมาณ 0.5-1.5 ซม. ผลรูปขอบขนาน เป็น 6 เหลี่ยม ยาว 4-5 ซม.
    การปลูก
    ปลูกในดินร่วนที่ชุ่มชื้นแต่ต้องระบายน้ำได้ดี ไม่ขังแฉะ ควรปลูกในที่แดดรำไร รดน้ำเช้าและเย็น
    การขยายพันธุ์ - โดยการแยกเหง้าหรือเพาะเมล็ด


    วงศ์องุ่น VITACEAE

    ว่านเพชรสังฆาต
    ชื่อวิทยาศาสตร์ : Cissus quadrangularis Linn.
    วงศ์ : VITACEAE
    ชื่ออื่นๆ : ขั่นข้อ (ราชบุรี), สันชะควด (กรุงเทพฯ), สามร้อยต่อ (ประจวบคีรีขันธ์), ว่านสามเหลี่ยม (เชียงใหม่), ว่านเพชรหึง (ภาคกลาง)

     

    ลักษณะทั่วไป
    ว่านเพชรสังฆาตเป็นไม้เถา เถาอ่อนสีเขียวเป็นสี่เหลี่ยม เป็นข้อๆ ต่อกัน แต่ละข้อยาวประมาณ 5-10 ซม. มีมือสำหรับเกาะยึดออกตามข้อต่อตรงข้ามใบ ใบเป็นใบเดี่ยวออกเรียงสลับตามข้อต้น รูปสามเหลี่ยมคล้ายกับใบตำลึง ปลายใบมน โคนใบเว้า ขอบใบหยักมนห่างๆ แผ่นใบเรียบสีเขียวเป็นมัน ก้านใบสีเขียวกลมยาวประมาณ 2-5 ซม. ดอกออกเป็นช่อแบนตามข้อต้นตรงข้ามกับใบ ดอกสีเขียวอ่อน กลีบดอกมี 4 กลีบ โคนด้านด้านนอกมีสีแดง ด้านในสีเขียวอ่อน เมื่อบานเต็มที่ดอกจะงองุ้มไปด้านล่าง เกสรเพศผู้มี 4 อัน ผลรูปทรงกลม ผิวเรียบเป็นมัน ผลอ่อนสีเขียว สุกสีแดงเข้มเกือบดำ เมล็ดกลมสีน้ำตาล มี 1 เมล็ด
    การปลูก
    เพชรสังฆาตปลูกขึ้นง่าย ทนแล้ง ขึ้นได้ในดินแทบทุกชนิด ชอบดินร่วนซุยที่มีอินทรียวัตถุและไม่มีน้ำขังแฉะ ควรทำค้างให้ลำต้นเจริญเลื้อยเกาะ และหมั่นตัดแต่งเถา หลังปลูกประมาณ 2 ปี จึงตัดเถามาใช้ทำยาได้
    การขยายพันธุ์ - ขยายพันธุ์โดยใช้ข้อไปปักชำ

    ว่านพระเจ้าห้าพระองค์เถา
    ชื่อวิทยาศาสตร์ : Ampelocissus
    วงศ์ : VITACEAE

    ลักษณะทั่วไป
    เป็นพันธุ์ไม้ล้มลุกที่ลำต้นเป็นเถาเลื้อย มีมือเกาะสีแดงคล้ำออกสีเลือดหมู เป็นข้อปล้องคล้ายต้นตำลึง ใบคล้ายนิ้วมือเป็นแฉกรวมห้าแฉก ลักษณะใบแต่ละแฉกเป็นใบรูปขอบขนาน ปลายใบแหลม โคนใบเป็นรูปติ่งหู ขอบใบเป็นหยักซี่ฟัน มีหนาม แผ่นใบหรือหน้าใบมีสีเขียว ยอดใบแดง หลังใบมีสีแดงคล้ำ และที่ก้านใบมีหนวดม้วนสำหรับเกาะพันเพื่อนำเถาเลื้อยไป เส้นกลางใบมีสีแดง เมื่อปลูกไปนานๆ อายุหลายปีจะมีหัวคล้ายหัวมันเทศแต่ออกกลมคล้ายหัวเผือก เนื้อในหัวมีสีอมชมพูเรื่อๆ
    การปลูก
    ปลูกในดินร่วนปนทราย กลบดินพอ มิด ควรปลูกไว้หน้าบ้านและทำเถาให้เลื้อยขึ้นจะดู สวยงาม
    การขยายพันธุ์ - ขยายพันธุ์ด้วยการใช้เมล็ดหรือตัดชำเถาที่มีข้อปล้อง


    วงศ์ขิง ZINGIBERACEAE

    ว่านพญามือเหล็ก
    ชื่อวิทยาศาสตร์ : Alpinia sandrerae
    วงศ์ : ZINGIBERACEAE
    ชื่อสามัญ : Variegated Ginger
    ชื่ออื่นๆ : ขิงด่าง

    ลักษณะทั่วไป
    ว่านพญามือเหล็ก หรืออีกชื่อหนึ่งคือ ขิงด่าง มีลำต้นเป็นหัวอยู่ใต้ดินมีลักษณะคล้ายหัวข่ามีรสเผ็ด มีกลิ่นฉุนกว่าขิง ใบเป็นใบเดี่ยว ใบยาวคล้ายกับใบขมิ้น ปลายใบแหลมขอบใบเป็นคลื่น และมีลายสีขาวบนแผ่นใบและขอบใบ ส่วนที่เห็นเป็นลำต้นเหนือดิน คือส่วนของกาบใบที่เรียงตัวซ้อนกันอยู่ กาบใบจะมีสีเขียว โคนกาบใบสีแดงเข้ม
    การปลูก
    ปลูกในดินปนทรายหรือดินร่วน แต่ถ้าปลูกลงดินโดยไม่ใช้กระถางก็สามารถขยายพันธุ์ได้อย่างรวดเร็ว ว่านจะแตกหน่อหรือแง่งเร็วกว่าการปลูกในกระถาง พรวนดิน แยกแง่งออกปลูกใหม่เป็นระยะๆ เวลาปลูกให้กลบดินให้เหลือหัวว่านโผล่ขึ้นมาเล็กน้อย แล้วรดน้ำให้ชุ่ม
    การขยายพันธุ์ - โดยการแยกหน่อหรือแยกแง่งของว่านมาปลูกใหม่

    ว่านมหาหงส์
    ชื่อวิทยาศาสตร์ : Hedychium coronarium.
    วงศ์ : ZINGIBERACEAE
    ชื่ออื่นๆ : ว่านกระชายเห็น

    ลักษณะทั่วไป
    ต้นเป็นเหง้าอยู่ใต้ดิน คล้ายแง่งข่า มีลำต้นเหนือดิน เป็นกาบใบที่ซ้อนกันอยู่หลายๆ กาบ ใบมีลักษณะเป็นรูปใบพาย ปลายใบแหลม โคนใบมน พื้นใบสีเขียว ก้านใบกลม แข็ง และสั้น ออกดอกเป็นช่อตั้งขึ้นอยู่ปลายยอด มีกลิ่นหอม เมื่อดอกใกล้โรยจะมีสีแดง
    การปลูก
    ให้ปลูกในดินร่วนหรือดินบนทราย ชอบแดดรำไร น้ำปานกลาง ควรรดด้วยน้ำทุกเช้า–เย็น หากปลูกใส่กระถางก้นตื้น ปากกว้าง จะแตกหัวใหม่ได้รวดเร็ว
    การขยายพันธุ์ - โดยการแยกหน่อ

    ว่านสาวหลง
    ชื่อวิทยาศาสตร์ : Amomum cf. biflorum Jack.
    วงศ์ : ZINGIBERACEAE
    ชื่ออื่นๆ : ว่านฤๅษีผสม

    ลักษณะทั่วไป
    เป็นไม้ล้มลุกที่มีเหง้าใต้ดิน แตกแขนงคล้ายไหลทอดไม่ยาว มีกลิ่นหอม ใบเป็นใบเดี่ยว เรียงสลับ รูปรีแกมขอบขนาน ขนาดกว้างประมาณ 5-8 ซม. ยาวประมาณ 20-30 ซม. ปลายใบเรียวแหลม เกลียวบิดเล็กน้อย โคนใบสอบหรือมน สีเขียวเข้มกว่าด้านล่าง เส้นกลางใบด้านบนเป็นร่องเล็กน้อย สีเขียวอ่อน ด้านล่างนูนสีเดียวกับสีแผ่นใบ ผิวใบเว้านูนเป็นคลื่นมีร่องแถบตื้นตามแนวระหว่างเส้นแขนงใบที่เรียงเป็นแนวเอียง ด้านบนเป็นแถบเว้าตรงกลาง แนวเส้นแขนงใบนูนยกสูงขึ้น หลังใบมีขนนุ่มสีเขียวอ่อน มีกาบใบหุ้มโคนต้น ก้านใบ ยาว 0.5-2 เซนติเมตร ด้านบนเป็นร่อง สีเขียวแกมเหลือง ด้านล่างนูนกลม สีเขียวแกมน้ำตาลแดงหรือสีเขียว โคนก้านเป็นกาบเรียงซ้อนกันแน่น มีขนยาวสีเขียวหรือเขียวแกมน้ำตาลแดง ดอกออกที่ไหลใกล้โคนต้น ดอกสีขาว กลีบประดับหุ้มช่อดอก กลีบเลี้ยง โคนเชื่อมเป็นหลอด กลีบดอก โคนเชื่อมเป็นหลอด สีขาวใส ปลายแยก 3 หยัก สีขาว เกสรเพศผู้ส่วนที่เป็นกลีบอยู่บนปลายกลีบดอก เป็นกลีบปาก สีขาวตรงกลางกลีบมีแถบสีเหลืองถึงปลายกลีบ ก้านเกสรและอับเกสรสีขาว
    การปลูก
    ใช้ดินร่วนผสมทรายเป็นเครื่องปลูก นำหัวว่านลงปลูกกลบดินและเกลี่ยให้ดินเสมอกับหัวว่าน รดน้ำพอชุ่มแต่อย่าให้น้ำขังแฉะเพราะจะทำให้หัวเน่าได้
    การขยายพันธุ์ - โดยการแยกเหง้าหรือหัว


    ว่าน( 0 รายการ )