Feeds:
Posts
Comments

หอโบราณคดีเพ็ชรบูรณ์อินทราชัยร้อยรวมใจ รวมสุดยอด เพชรบูรณ์
Phetchabun Intrachai Archaeology Hall .. All the Best Spirits of Phetchabun

หอโบราณคดีเพ็ชรบูรณ์อินทราชัย จัดทำโดยเทศบาลเมืองเพชรบูรณ์ร่วมกับสภาวัฒนธรรมจังหวัดเพชรบูรณ์ เพื่อให้เป็นพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่น โดยจะมีการรวบรวมเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ โบราณคดี วัฒนธรรม ประเพณี และวิถีชีวิตผู้คนของจังหวัดเพชรบูรณ์มาจัดแสดงไว้ในลักษณะสื่อผสมที่ทันสมัยและสวยงาม

ชื่อ “เพ็ชรบูรณ์อินทราชัย” นั้น อัญเชิญมาจากพระนาม สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าจุฑาธุชธราดิลก กรมขุนเพ็ชรบูรณ์อินทราชัย ซึ่งเป็นพระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว

ห้องจัดแสดงทั้งหมดประกอบด้วย


1. ห้องต้อนรับ จัดเป็นส่วนตอนรับและให้ข้อมูลกับผู้เข้าเยี่ยมชม ซึ่งได้จัดให้เป็น ศูนย์บริการการท่องเที่ยว (Tourist Service Center) โดยสามารถจัดการนำเที่ยวตามรายการ “14 ประทับใจ เที่ยวในเมืองเพชรบูรณ์” โดยรถนำเที่ยวได้อีกด้วย

2. ห้องเกียรติยศ จัดแสดงหุ่นขี้ผึ้ง เจ้าฟ้าฯ กรมขุนเพ็ชรบูรณ์อินทราชัย ซึ่งท่านทรงโปรดการเล่นพิณฮาร์ปหรือพิณฝรั่ง จึงได้นำรูปพิณฮาร์ปมาเป็นตราสัญลักษณ์ของสถานที่แห่งนี้

นอกจากนั้น ยังเป็นที่ตั้งแสดงชุดโต๊ะและเก้าอี้ประทับ ที่สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ได้ประทับและทรงลงพระนามาภิไธยในสมุดเยี่ยม เมื่อคราวเสด็จพระราชดำเนินเยี่ยมชม เมื่อ 13 สิงหาคม 2562

3. ห้องโรงหนังไทยเพ็ชรบูล จัดแสดงจำลองบรรยากาศของโรงหนังแห่งแรกของเมืองเพชรบูรณ์ รวมทั้งจำลองของกินหน้าโรงหนัง  ส่วนหนังที่ฉายนั้น เป็นเรื่อง “ความไข้ที่เมืองเพชรบูรณ์” ที่สร้างขึ้นจากบันทึกการเดินทางที่สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพฯ เสนาบดีกระทรวงมหาดไทย ได้เสด็จมาตรวจราชการที่เมืองเพรชบูรณ์ เมื่อ พ.ศ. 2447

4. ห้องจากเขาคณาถึงศรีเทพ จัดแสดงร่องรอยการอยู่อาศัยของมนุษย์ ตั้งแต่ สมัยก่อนประวัติศาสตร์ตอนปลาย ที่พบหลายแห่งในจังหวัดเพชรบูรณ์ 

ส่วนที่เมืองโบราณศรีเทพ ก็ปรากฏร่องรอยวัฒนธรรมของมนุษย์ที่อาศัยอยู่ทับซ้อนในที่เดียวกัน ตั้งแต่ยุคก่อนประวัติศาสตร์ จนมาถึงยุคการก่อตั้งรัฐเริ่มแรก ที่มีอารยธรรมอินเดียโบราณและอารยธรรมทวารวดีที่อยู่รวมกัน จนกระทั้งยุคขอมหรือเขมรโบราณ โดยจัดแสดงรูปจำลองโบราณสถานต่าง ๆ ของเมืองโบราณศรีเทพ 

5. ห้องวัดมหาธาตุ จัดแสดงเรื่องราวของเมืองเพชรบูรณ์ ตามยุคสมัยตั้งแต่ สุโขทัย อยุธยา และธนบุรี โดยมีวัดมหาธาตุเป็นสื่อในการเล่าเรื่อง เพราะวัดมหาธาตุเป็นวัดสำคัญคู่เมืองเพชรบูรณ์มาตั้งแต่สมัยสุโขทัย โดยมีเจดีย์พุ่มข้าวบิณฑ์ ซึ่งพบจารึกลานทองที่เขียนชื่อเมืองเพชรบูรณ์ไว้ตั้งแต่ พ.ศ. 1926 ว่า “เพชบุร”  ต่อมาในสมัยอยุธยา ได้แสดงรูปโบราณสถานที่สร้างขึ้นมาในเมืองเพชรบูรณ์ ได้แก่ กำแพงเมือง และเจดีย์ทรงปรางค์หลายองค์  และในสมัยธนบุรี ได้แสดงประวัติหลวงพ่อเพชรมีชัยและลานประหารชีวิตซึ่งอยู่ที่อยู่ในมหาธาตุ

6. ห้องสมบัติเพชรบูรณ์ เป็นห้องจัดแสดงโบราณวัตถุ สิ่งของสำคัญหลายชิ้น ที่ประชาชนนำมามอบให้ เพื่อให้ประชาชนได้เป็นเจ้าของหอโบราณคดีเพ็ชรบูรณ์อินทราชัยแห่งนี้ร่วมกัน

7. ห้องตำราพิชัยสงคราม จัดแสดงตำราพิชัยสงครามเมืองเพชรบูรณ์ ทั้งฉบับผังภาพ และฉบับคำกลอน แสดงถึงองค์ความรู้และภูมิปัญญาในกระบวนการจัดทัพและสู้ศึกในสมัยโบราณ ถึงการตั้งทัพ 35 พยุหะและ 21 กลศึก

8. ห้องจากมณฑลสู่นครบาล จัดแสดงประวัติศาสตร์ในสมัยรัตนโกสินทร์ ที่เกี่ยวข้องกับเพชรบูรณ์ ตั้งแต่เรื่องการตั้งมณฑลเพ็ชรบูรณ์  การตั้งนครบาลเพชรบูรณ์ ที่มีการย้ายเมืองหลวงมาอยู่ที่เพชรบูรณ์ เมื่อ พ.ศ. 2486-2487 รวมทั้งเรื่องราวหลักฐานที่แสดงว่า พระแก้วมรกตเคยถูกอัญเชิญมาประดิษฐานอยู่ในเพชรบูรณ์ในช่วงเวลานั้นอีกด้วย

9. ห้องเสาหลักเมืองเพชรบูรณ์ จัดแสดงประวัติความเป็นมาและความสำคัญของเสาหลักเมืองเพชรบูรณ์ทั้ง 2 แห่ง คือ เสาหลักเมืองโบราณในเมืองเพชรบูรณ์ที่เป็นศิลาจารึก และเสาหลักเมืองอีกแห่งหนึ่งนั้น เป็นเสาหลักที่ตั้งขึ้นในสมัยนครบาลเพชรบูรณ์ ที่ ต.บุ่งน้ำเต้า อ.หล่มสัก โดยตั้งใจจะให้เป็นเสาหลักเมืองหลวงแห่งใหม่

10. ห้องเพชรบูรณ์เมื่อวันวาน จัดแสดงเป็นสภาพบ้านเมืองเพชรบูรณ์ในอดีต โดยจำลองสถานที่และร้านค้าที่มีชื่อเสียงตั้งแต่ในอดีต ซึ่งยังเปิดดำเนินการอยู่จนทุกวันนี้ และและเล่าถึงเหตุการณ์ไฟไหม้ครั้งใหญ่เมื่อ พ.ศ. 2511

11. ห้องตำนาน 360 องศา เป็นห้องจัดแสดงเรื่องตำนาน นิทาน ความเชื่อต่าง ๆ ที่มีอยู่ในแต่ละท้องถิ่นของจังหวัดเพชรบูรณ์ ซึ่งมีเนื้อหาที่เชื่อมโยงกับสถานที่ต่าง ๆ ในแต่ละท้องถิ่นอีกด้วย

12. ห้องอุ้มพระดำน้ำ จัดแสดงเรื่องราวความเป็นมาของพระพุทธมหาธรรมราชาและประเพณีอุ้มพระดำน้ำของเมืองเพชรบูรณ์ มีรูปภาพแผ่นพับและรูปการจัดงานในแต่ละยุคสมัยจัดแสดงไว้

13. ห้องวิถีเพชรบูรณ์ จัดแสดงวัฒนธรรมประเพณีที่เด่น ๆ ของพื้นที่ต่าง ๆ ในจังหวัดเพชรบูรณ์ โดยจัดแสดงเป็นภาพเคลื่อนไหวพร้อมคำบรรยาย 12 เรื่อง มีการจัดแสดงเครื่องดนตรี “ตุ๊บเก่ง” ดนตรีพื้นบ้านของเมืองเพชรบูรณ์ และจำลองประเพณีก่อเจดีย์ทรายกลบธาตุ รวมทั้ง มีหุ่นแต่งกายด้วยชุดที่แสดงถึงชาติพันธุ์ที่สำคัญในจังหวัดเพชรบูรณ์

14. ห้องไทหล่ม จัดแสดงถึงเรื่องราวของคนหล่ม ที่มีเชื้อสายล้านช้างหลวงพระบางเป็นส่วนใหญ่ ที่ยังคงรักษาอัตลักษณ์อันงดงาม ที่เป็นวัฒนธรรม ประเพณี ความเชื่อ ภาษา การแต่งกาย อาหารการกินของตนเองไว้ได้อย่างโดดเด่น

15. ห้องสมรภูมิเขาค้อ บันทึกเรื่องราวเหตุการณ์สู้รบบนเขาค้อระหว่างรัฐบาลไทยกับผู้ก่อการร้ายคอมมิวนิสต์ ตั้งแต่ พ.ศ. 2511-2525 โดยมีเรื่องราวการสู้รบที่ดุเดือดบนฐานกรุงเทพ โดยได้นำภาพถ่ายและภาพเคลื่อนไหวที่ได้ถ่ายไว้จากเหตุการณ์จริงมาจัดแสดงไว้ด้วย 

นอกจากนั้น ยังมีการนำเสนอเรื่องแมงกะพรุนน้ำจืด สัตว์มหัศจรรย์ที่พบในลำน้ำเข็กในพื้นที่เขาค้ออีกด้วย

16. ห้องจัดนิทรรศการ เป็นห้องที่จัดเตรียมไว้สำหรับการจัดงานหรือจัดนิทรรศการหมุนเวียน ซึ่งมีส่วนหนึ่งจัดแสดงนิทรรศการภาพแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญของจังหวัดเพชรบูรณ์ 8 แห่งที่ต้องไปชม

18.ห้องครัวเพชรบูรณ์ จัดแสดงเป็นแบบจำลองและวิธีการทำอาหารพื้นบ้านของคนเพชรบูรณ์ และอาหารที่ต้องชิม 7 อย่างเมื่อมาเยือนเพชรบูรณ์

19. ห้องรับแขก นั่งพัก นั่งดื่มน้ำดื่มกาแฟ  นอกจากนั้น ยังมีส่วนจัดแสดง ของฝากของที่ระลึก 6 อย่างของจังหวัดเพชรบูรณ์ที่ต้องซื้อ ตามแคมเปญ “เที่ยวเพชรบูรณ์ต้อง 6 7 8”

20. นิทรรศการ 500 ภาพเพชรบูรณ์เมื่อวันวาน ได้จัดเป็นนิทรรศการภาพเก่าสมัยโบราณอันทรงคุณค่ายิ่ง โดยได้จัดแสดงไว้ที่ระเบียงทางเดินที่ชั้น 2 ทั้ง 2 ด้าน

21. ประติมากรรม “ตุ๊บเก่ง” และลานมะขามหวาน ตั้งอยู่ด้านหน้าอาคาร โดยจัดแสดงเป็นประติมากรรมดนตรีพื้นบ้านของเพชรบูรณ์ และลานอเนกประสงค์ที่พื้นทำลายเป็นรูปมะขามหวานที่เป็นผลไม้สัญลักษณ์สำคัญของจังหวัดเพชรบูรณ์

ศูนย์บริการการท่องเที่ยว เทศบาลเมืองเพชรบูรณ์ (Tourist Service Center) ที่หอโบราณดคีเพ็ชรบูรณ์อินทราชัย  โทรศัพท์ 056-721-523 .. สามารถติดต่อขอรับบริการนำเที่ยวเป็นหมู่คณะได้ ทุกวัน ในเวลา 9.00-16.00 น.  โดยไม่มีค่าใช้จ่ายแต่อย่างใด

ปลากด                   ปลากราย

ปลาค้าวขาว             ปลาแดง

ปลาขาวหางแดง        ปลาตะเพียน

ปลาชะโอน               ปลาเพียว

ปลาสวาย                ปลาเทโพ

ปลากระมัง(ปลาตะโต)         ปลาชิว

ปลาฉลาด                 ปลาหมู

ปลาขี้เลี่ย                ปลาแขยงข้างลาย

ปลาสร้อยขาว           ปลาสังกะวาดขาว

ปลาดุกอุย                  ปลาช่อน

ปลาลิ้นหมา(ใบไม้)        ปลายี่สก

ปลาตะโกก                 ปลาแก้มช้ำ

ปลากาดำ                   ปลาไหล

ปลากระทิง                 ปลาบู่

ปลาน้ำเงิน                 ปลาสร้อยนกเขา

ปลากระดี่                  ปลากระจก

ปลากดคัง                  ปลากระสูบ

ปลากระแห                 ปลาหมอ

ปลาจาระเม็ด               ปลาไน

21 ประทับใจ เที่ยวในเมืองเพชรบูรณ์
21 Impressions : Phetchabun City Tour

1. พุทธอุทยานเพชบุระ (Pechabura Buddhist Park)

เป็นที่ประดิษฐานพระพุทธมหาธรรมราชาเฉลิมพระเกียรติ ฯ ซึ่งสร้างจำลองมาจากพระพุทธมหาธรรมราชา พระพุทธรูปคู่บ้านคู่เมืองเพชรบูรณ์ที่วัดไตรภูมิ เป็นมหาพุทธานุสรณ์ที่ร่วมแรงร่วมใจกันสร้างเป็นจุดศูนย์ร่วมจิตใจของคนเพชรบูรณ์ นอกจากนั้น ยังเป็นการเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ฯ ทรงเจริญพระชนมายุ 84 พรรษาในพ.ศ. 2554

องค์พระฯหล่อด้วยโลหะทองเหลืองบริสุทธิ์ หนักกว่า 45 ตัน ที่ปลายยอดจุลมงกุฎหล่อด้วยทองคำบริสุทธิ์หนัก 126 บาท องค์พระสูง 16.599 เมตร สูงจากพื้นดิน 35 เมตร ขนาดหน้าตัก 11.984 เมตร ซึ่งมีความหมายว่า

1 หมายถึง พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชฯ ทรงเป็นพระมหากษัตริย์หนึ่งในดวงใจของชนชาวไทยทั้งประเทศ

1 หมายถึง พระพุทธมหาธรรมราชา ซึ่งมีเพียงองค์เดียวในโลก ที่อัญเชิญมาประกอบพิธีอุ้มพระดำน้ำอันศักดิ์สิทธิ์ของเมืองเพชรบูรณ์

9 หมายถึง รัชกาลที่ 9 แห่งบรมราชจักรีวงศ์

84 หมายถึง วโรกาสพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชฯ ทรงเจริญพระชนมพรรษา 84 พรรษา

ในวันที่ 26 กันยายน พ.ศ. 2554 สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารีได้เสด็จพระราชดำเนินมาประกอบพิธีบรรจุพระบรมสารีริกธาตุจาก 9 ประเทศไว้ที่ปลายยอดจุลมงกุฎและเบิกพระเนตรองค์พระพุทธมหาธรรมราชาเฉลิมพระเกียรติ ฯ ณ พุทธอุทยานเพชบุระ

พุทธอุทยานเพชบุระ .. มหาพุทธานุสรณ์ ประกาศพระพุทธศาสนาประดิษฐานอย่างมั่นคง บนแผ่นดินเพชรบูรณ์

2. หอโบราณคดีเพ็ชรบูรณ์อินทราชัย (Phetchabun Intrachai Archaeology Hall)

เป็นการปรับปรุงศาลากลางจังหวัดเพชรบูรณ์หลังเก่าให้เป็นหอโบราณคดีที่จัดแสดงเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ วัฒนธรรมและโบราณคดีของจังหวัดเพชรบูรณ์ แบ่งพื้นที่การจัดแสดงเป็นห้องโถงต้อนรับ ห้องกาแฟ ห้องไทยเพ็ชรบูล ห้องจากเขาคณาถึงศรีเทพจัดแสดงเรื่องราวของเพชรบูรณ์ตั้งแต่ยุคก่อนประวัติศาสตร์มาจนยุคศรีเทพ ห้องวัดมหาธาตุจัดแสดงเรื่องราวสมัยสุโขทัย อยุธยา ธนบุรี ห้องสมบัติเพชรบูรณ์ ห้องตำราพิชัยสงคราม ห้องจากมณฑลสู่นครบาลจัดแสดงเรื่องราวในสมัยรัตนโกสินทร์ ห้องเสาหลักเมืองเพชรบูรณ์ ห้องเพชรบูรณ์เมื่อวันวาน ห้องตำนาน 360 องศา ห้องอุ้มพระดำน้ำ ห้องวิถีเพชรบูรณ์ ห้องไทหล่ม ห้องสมรภูมิเขาค้อ ห้องสมุดเพชรบูรณ์และห้องจัดนิทรรศการหมุนเวียน

นอกจากนั้น ยังเป็นที่ตั้งของศูนย์บริการการท่องเที่ยวของเทศบาลเมืองเพชรบูรณ์ (Tourist Service Center) และจัดแสดงรายละเอียดเรื่อง “เที่ยวเพชรบูรณ์ต้อง 6 7 8”อีกด้วย

ด้านหน้าอาคาร มีประติมากรรม “ตุ๊บเก่ง” และลานอเนกประสงค์ที่ปูพื้นเป็นรูปฝักมะขามหวาน สำหรับจัดกิจกรรมต่าง ๆ

ชื่อ “เพ็ชรบูรณ์อินทราชัย” นั้น เป็นพระนามของ สมเด็จฯ เจ้าฟ้าจุฑาธุชธราดิลก กรมขุนเพ็ชรบูรณ์อินทราชัย พระราชโอรสลำดับที่ 72 ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวและเมื่อวันที่ 13 สิงหาคม พ.ศ. 2561 สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ได้เสด็จพระราชดำเนินมาทรงเยี่ยมชมหอโบราณคดีเพ็ชรบูรณ์อินทราชัย

“หอโบราณคดีเพ็ชรบูรณ์อินทราชัย .. ร้อยรวมใจ รวมสุดยอดเพชรบูรณ์”

3. หอวัฒนธรรมนครบาลเพชรบูรณ์ (Nakornban Phetchabun Cultural Hall)

เป็นการปรับปรุงศาลาประชาคมจังหวัดเพชรบูรณ์หลังเดิม โดยเทศบาลเมืองเพชรบูรณ์ ให้เป็นอาคารขนาดใหญ่เพื่อเป็นสถานที่รวบรวม จัดแสดง ถ่ายทอดเรื่องราวทางศิลปวัฒนธรรม ภูมิปัญญาท้องถิ่นของเพชรบูรณ์ เป็นศูนย์กลางของการเรียนรู้และคิดค้นองค์ความรู้ใหม่เพื่อการพัฒนาด้านวัฒนธรรม เพื่อเสริมสร้างให้ประชาชนเรียนรู้วัฒนธรรมและมีสำนึกรักท้องถิ่นของตนเองและยังเป็นการส่งเสริมการท่องเที่ยวของเมืองเพชรบูรณ์อีกด้วย

พื้นที่และอาคารแบ่งเป็น 3 ส่วน ส่วนแรก คือ ห้องประชุม มีเวทีสามารถจัดกิจกรรมและการแสดงต่าง ๆ ส่วนที่สอง คือ ส่วนที่เป็นห้องโถงไว้สำหรับจัดแสดงนิทรรศการถาวรและหมุนเวียน ส่วนที่สาม คือ เวทีและลานสำหรับจัดกิจกรรมกลางแจ้ง

4. ประติมากรรมมะขามหวาน (Sculpture of Sweet Tamarind)

เป็นประติมากรรมปูนปั้นสัญลักษณ์ “เพชรบูรณ์ เมืองมะขามหวาน” เป็นจุดถ่ายรูปของนักท่องเที่ยวเมื่อได้เดินทางมาถึงเพชรบูรณ์แล้ว เป็นประติมากรรมมะขามหวานพันธุ์ “หมื่นจง” มีลักษณะฝักโค้งและผอม เพราะมะขามหวานหมื่นจงเป็นมะขามหวานพันธุ์แรกที่ปลูกในเพชรบูรณ์ ต้นเก่าแก่ดั้งเดิมอยู่ที่อำเภอหล่มเก่า

มะขามหวานที่นิยมปลูกกันมากในจังหวัดเพชรบูรณ์นอกจากพันธุ์หมื่นจงแล้ว ยังมีพันธุ์สีทอง ประกายทอง ประกายเพชร น้ำผึ้ง ศรีชมภู อินทผลัม ฯลฯ ด้านหลังประติมากรรมยังมีป้ายข้อมูลสำคัญเกี่ยวกับมะขามหวานให้ผู้ที่สนใจได้อ่านและศึกษาอีกด้วย

5. ศาลเจ้าพ่อหลักเมืองเพชรบูรณ์ (Phetchabun City Pillar Shrine)

มีลักษณะเป็นศาลาทรงไทยตรีมุข เป็นที่ตั้งเสาหลักเมืองแห่งเดียวในประเทศไทยที่ศิลาจารึก ตัวเสาหลักเมืองเป็นแท่งเสาหินทรายสีเทา มีลักษณะปลายโค้งมน มีความสูงจากฐานล่างจนถึงปลายยอดยอด 184 เซนติเมตร กว้าง 30 เซนติเมตร หนาประมาณ15-16 เซนติเมตร สันนิษฐานว่า น่าจะนำมาจากเมืองศรีเทพตั้งแต่ครั้งโบราณและมาตั้งอยู่ที่วัดมหาธาตุก่อน แล้วจึงอัญเชิญมาตั้งเป็นเสาหลักเมืองเพชรบูรณ์เมื่อ พ.ศ. 2443

ในการบูรณะศาลหลักเมืองเมื่อ พ.ศ.2548 ได้พบว่า เสาหลักเมืองนั้นเป็นศิลาจารึก จากการลอกลายตัวอักษรและอ่านโดยผู้เชี่ยวชาญจากกรมศิลปากรพบว่า ศิลาจารึกนี้มีอายุตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ 16 มีการจารึกครั้งแรกในด้านที่ 1 เมื่อ พ.ศ. 1564 จำนวน 22 บันทัด จารึกด้วยอักษรขอมโบราณเป็นภาษาสันสกฤต เป็นเรื่องเกี่ยวกับศาสนาพราหมณ์ และจารึกครั้งที่ 2 ในทั้ง 3 ด้านที่เหลือ จารึกด้วยอักษรขอมเป็นภาษาบาลี ไทยและขอม เมื่อ พ.ศ. 2059 กล่าวถึงศาสนาพุทธ จึงนับว่าเป็นเสาหลักเมืองที่ทรงคุณค่าและเก่าแก่ที่สุดในประเทศไทยอายุนับพันปี ซึ่งชาวเพชรบูรณ์ให้ความศรัทธา เคารพสักการะและเชื่อถือว่ามีความศักดิ์สิทธิ์มากที่สุด

ผู้ที่สนใจสามารถชมตัวอักษรลอกลายของเสาหลักเมือง คำอ่านและคำแปลได้ที่หอวัฒนธรรมนครบาลเพชรบูรณ์

6. หอภูมิปัญญาและวิถีชาวบ้านเพชรบูรณ์ (Hall of Phetchabun Wisdom and Folkways)

เป็นอาคารสำนักงานกาชาดเก่าที่อยู่ในบริเวณสวนสาธารณะเพชบุระ ได้ทำการปรับปรุงจัดเป็นหอแสดงภูมิปัญญาและวิธีชีวิตคนเพชรบูรณ์ แบ่งเป็นเรื่องการทำมาหากินอาชีพดั้งเดิมของคนเพชรบูรณ์ 6 เรื่องราวด้วยกัน คือ ข้าว ข้าวโพด มะขามหวาน ใบยาสูบ การหาของป่า และวิถีชีวิตริมแม่น้ำป่าสัก พร้อมทั้งเครื่องมือทำมาหากินและเครื่องมือที่ใช้ในชีวิตประจำวัน ซึ่งสิ่งเหล่านี้ กำลังจะหายไปจากวิถีชีวิตของคนเพชรบูรณ์ตามกาลเวลา จึงได้รวบรวมจัดแสดงไว้ให้อนุชนรุ่นหลังได้ชม โดยจัดเป็นห้องนิทรรศการที่ทันสมัย สวยงามและมีคุณค่ายิ่ง

ม้าฟันยา เป็นเครื่องมือที่ใช้ในการหั่นซอยใบยาพื้นเมืองที่นิยมปลูกกันมากในเพชรบูรณ์ และเป็นใบยาที่เลิศรสที่สุด มีชื่อเสียงโด่งดังมาช้านาน จึงได้นำม้าฟันยามาเป็นสัญลักษณ์ของหอภูมิปัญญาและวิถีชาวบ้านเพชรบูรณ์

7. หอเกียรติยศเพชบุระ (Pechabura Hall of Fame)

เดิมเป็นที่ตั้งของจวนข้าหลวงหรือบ้านพักผู้ว่าราชการจังหวัดเพชรบูรณ์ ที่สร้างมาตั้งแต่ พ.ศ. 2505

เทศบาลเมืองเพชรบูรณ์ได้ทำการปรับปรุงเป็นสวนสาธารณะกลางเมือง ชื่อว่า “สวนสาธารณเพชบุระ” (เพ-ชะ-บุ-ระ) ซึ่งเป็นชื่อดั้งเดิมของเพชรบูรณ์ตั้งแต่สมัยสุโขทัย ตามที่ปรากฏในจารึกบนลานทองคำที่ค้นพบในกรุเจดีย์วัดมหาธาตุ ซึ่งมีความหมายว่า เมืองแห่งพืชพันธุ์ธัญญาหาร

ภายในสวนฯ มี ลานเอนกประสงค์ขนาดใหญ่และเวทีสำหรับจัดงานต่าง ๆ มีลานออกกำลังกาย ศูนย์ออกกำลังกาย ประติมากรรมเมืองอยู่สบาย

ส่วนตัวอาคารจวนผู้ว่าฯ เก่า ได้ปรับปรุงทำเป็นหอเกียรติยศเพื่อ รวบรวมประวัติ จัดแสดงและเชิดชูบุคคลสำคัญของจังหวัดเพชรบูรณ์ในด้านต่าง ๆ ทั้งด้านประวัติศาสตร์ การเมือง การปกครอง การพัฒนาสังคม การกีฬา อริยสงฆ์ ปราชญ์ท้องถิ่น ผู้มีชื่อเสียงและผู้ที่มีบทบาทสำคัญของเพชรบูณ์ โดยจัดแสดงในรูปแบบที่หลากหลาย มีทั้งหุ่นขี้ผึ่ง รูปหล่อครึ่งตัว รูปถ่าย ภาพจอคอมพิวเตอร์ และเทคโนโลยีสื่อผสม รวมทั้งจัดแสดงภาพเหตุการณ์สำคัญ ภาพในอดีตของเพชรบูรณ์ไว้ด้วย โดยประวัติบุคคลสำคัญที่จะนำมาบันทึกในหอเกียรติยศฯ แห่งนี้ จะมีการเพิ่มเติมขึ้นเรื่อย ๆ ตลอดเวลา ทั้งในอดีต ปัจจุบันและอนาคต

8. วัดมหาธาตุ พระอารามหลวง (Mahathad Royal Temple)

เป็นวัดเก่าแก่ที่สุดคู่บ้านคู่เมืองเพชรบูรณ์ตั้งแต่สมัยสุโขทัย ด้านหลังโบสถ์มีเจดีย์ทรงพุ่มข้าวบิณฑ์ สมัยสุโขทัย สูงประมาณ 8 วาเศษ ซึ่งเมื่อ พ.ศ. 2510 ได้มีการขุดค้นเจดีย์พบจารึกลานทองในท้องหมูสำริด จารึกว่า “พระเจ้าเพชบุร” เป็นผู้สร้างเมื่อ พ.ศ.1926 และยังพบพระพุทธรูปสมัยต่าง ๆ เช่น ทวารวดี ลพบุรี สุโขทัย อู่ทอง และพระเครื่องเนื้อชินพิมพ์ต่าง ๆ มากมายเช่น ร่มโพธิ์ เปิดโลก นาคปรก นางพญา ซุ้มเรือนแก้ว ซุ้มประตูชัย ฯลฯ และยังปรากฏเจดีย์ทรงปรางค์คู่อยู่ด้านหน้าโบสถ์ ซึ่งเป็นค่านิยมการสร้างในสมัยอยุธยาอีกด้วย

นอกจากนั้น ยังเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปศิลปะอู่ทองที่งดงาม 2 องค์ คือ หลวงพ่อพระงาม ซึ่งเป็นพระประธานในโบสถ์ และหลวงพ่อเพชรมีชัย ที่ตามพงศาวดารระบุว่า พระยาจักรี (รัชกาลที่ 1) ในขณะนั้น ได้เคยมานมัสการในขณะเดินทัพมาพักที่เพชรบูรณ์

วัดมหาธาตุเป็นวัดที่ตั้งอยู่ใจกลางเมือง มีความสำคัญต่อเมืองเพชรบูรณ์มาตั้งแต่อดีตจวบจนปัจจุบัน

9 วัดไตรภูมิ (Triphum Temple)

เป็นวัดกลางเมืองที่สร้างขึ้นในสมัยอยุธยา อยู่ริมแม่น้ำป่าสัก มีอายุกว่า 400 ปี อีกทั้งยังเป็นที่ประดิษฐานองค์พระพุทธมหาธรรมราชา พระพุทธรูปคู่บ้านคู่เมืองของจังหวัดเพชรบูรณ์ที่อัญเชิญมาประกอบพิธีอุ้มพระดำน้ำในวันแรม 15 ค่ำเดือน 10 เป็นประจำทุก ๆ ปี

พระพุทธมหาธรรมราชา เป็นพระพุทธรูปทรงเครื่อง ปางสมาธิ ศิลปะขอม หน้าตักกว้าง 13 นิ้ว สูง 18 นิ้ว ไม่มีฐาน หล่อด้วยทองสำริด มีหม้อยาอคทะอยู่บนพระหัตถ์ ทรงเทริดยอดชฎา ดูน่าเกรงขาม เข้มขลัง และงดงามมาก
เป็นพระพุทธรูปที่คนเพชรบูรณ์เชื่อกันว่า พระเจ้าชัยวรมันที่ 7 พระราชทานให้แก่พ่อขุนผาเมืองเจ้าเมืองราด เพื่อเป็นพระพุทธรูปคู่บ้านคู่เมืองเมื่อครั้งที่พ่อขุนผาเมืองทรงอภิเษกกับพระราชธิดา คือ พระนางสิขรมหาเทวี

ภายในวัดไตรภูมิยังมีเจดีย์ทรงปรางค์ ศิลปะอยุธยาผสมผสานกับศิลปะสุโขทัย ก่ออิฐฉาบปูน ความสูง 9.25 เมตร ส่วนฐานเจดีย์ผังรูป 16 เหลี่ยม ขนาดกว้าง 8.6 เมตร

ในอดีต ท่าน้ำหน้าวัดไตรภูมิยังเป็นท่าน้ำที่เป็นศูนย์กลางการค้าที่สำคัญ เป็นที่ตั้งของตลาดเมืองเพชรบูรณ์ เป็นท่าจอดเรือกระแซงบรรทุกสินค้าเพื่อแลกเปลี่ยนซื้อขายสินค้ากันมาแต่โบราณกาล

10. กำแพงเมืองและหอนิทรรศน์กำแพงเมืองเพชรบูรณ์ (Phetchabun Wall Exhibition Hall)

เป็นกำแพงโบราณก่ออิฐถือปูน สร้างในสมัยกลางอยุธยา มีรูปร่างสี่เหลี่ยมจัตุรัสยาวด้านละ 500 เมตร มีป้อมปราการทั้งหมด 4 ป้อม คือป้อมศาลเจ้าพ่อ ป้อมศาลเจ้าแม่ ป้อมหลักเมือง และป้อมที่ยังสมบูรณ์ที่สุดคือ ป้อมสนามชัย ที่ประตูเมืองสร้างหินทรายและศิลาแลง ซึ่งยังปรากฏซากประตูเมืองอยู่ 2 ด้านคือ ประตูชุมพลทางทิศตะวันตกที่ถนนเพชรรัตน์ และประตูดาวทางทิศตะวันออกที่ข้างวัดประตูดาว กำแพงเมืองเพชรบูรณ์มีลักษณะพิเศษอีกประการหนึ่งคือ ตัวป้อมแต่ละมุมจะยื่นไปนอกแนวกำแพง เรียกว่าเป็นการสร้างป้อมแบบหัวธนู

ส่วนหอนิทรรศน์กำแพงเมือง เป็นพิพิธภัณฑ์แสดงรายละเอียดการสร้างกำแพงเมืองโบราณของเพชรบูรณ์ 2 ยุค สมัยด้วยกัน คือ สมัยสุโขทัยและอยุธยา ภายในหอ ฯ นอกจากจะมีข้อมูลเกี่ยวกับวัดโบราณและตำนานพื้นบ้านที่ร่วมสมัยกับกำแพงเมืองเพชรบูรณ์แล้ว ยังมีข้อมูลความรู้ทั่วไปเกี่ยวกับกำแพงเมืองในที่ต่างๆ อีกด้วย ส่วนอาคารด้านนอก จะสร้างโดยใช้ลักษณะจำลองแบบป้อมกำแพงเมืองที่มีใบบังและใบเสมาตามหลักฐานทางโบราณคดี ซึ่งสามารถเดินรอบและขึ้นไปชั้นบนเพื่อดูวิวทิวทัศน์ อย่างป้อมกำแพงเมืองจริงๆ ได้

11. วัดเพชรวราราม พระอารามหลวง (Phetwararam Royal Temple)

เป็นวัดที่มีความสำคัญยิ่ง ที่สมเด็จพระสังฆราชฯ เสด็จฯมาเยี่ยมและเผยแพร่ธรรมะถึง 3 พระองค์ เป็นวัดที่มีพระอุโบสถที่งดงามยิ่ง มีโรงเรียนพระปริยัติธรรม แผนกนักธรรมและแผนกบาลี ภายในวัดมีสวนป่าสวยงาม ร่มรื่น เป็นแหล่งเรียนรู้ทางพฤกษศาสตร์และเหมาะสำหรับการปฏิบัติธรรมและพักผ่อนหย่อนใจเพื่อกล่อมเกลาจิตใจ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ และสมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถฯ พร้อมด้วยสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ เสด็จพระราชดำเนินมาทรงประกอบพิธีผูกพัทธสีมา เมื่อ 10 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2521 และนอกจากนี้ ภายในวัดยังมีปูชนียสถานที่สำคัญ คือ มณฑปประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุ พระพุทธบาทจำลอง พระไพรีพินาศ และพระนิรันตราย

ที่สำคัญคือ บานหน้าต่างและประตูไม้แกะสลักของพระอุโบสถ เป็นฝีมือแกะสลักไม้ระดับชาติจากกรมช่างสิบหมู่ แต่ละบานจะแกะสลักเป็นรูปพระพุทธเจ้าทศชาติ จัดทำถวายวัดเพชรวราราม เนื่องในโอกาส เฉลิมพระเกียรติกาญจนาภิเษก พ.ศ. 2539

12. วงเวียนอนุสรณ์นครบาลเพชรบูรณ์ (Nakornban Phetchabun Memorial Circle)

เป็นวงเวียนเก่าแก่ของเมืองเพชรบูรณ์ และได้จัดสร้างเป็นเสาหลักเมืองนครบาลเพชรบูรณ์จำลองขึ้น เพื่อเป้นอนุสรณ์ที่เมื่อพ.ศ. 2486-2487 สมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 จอมพล ป.พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรี ได้ออกพระราชกำหนดย้ายเมืองหลวงมาอยู่ที่เพชรบูรณ์ โดยใช้ชื่อว่า “นครบาลเพชรบูรณ์” เพราะเห็นว่าเพชรบูรณ์นั้นมีเป็นชัยภูมิที่เหมาะสม อากาศดี อยู่ใจกลางประเทศ มีภูเขาล้อมรอบและมีทางเข้าออกเพียงทางเดียว และได้ดำเนินการอพยพราษฎรมาตั้งหลักแหล่งที่เพชรบูรณ์ พร้อมกับย้ายที่ทำการรัฐบาลตลอดจนสถานที่ราชการต่าง ๆ มาตั้งที่เพชรบูรณ์ และได้ทำการยกเสาหลักเมืองหลวงไว้ที่ บุ่งน้ำเต้า อ.หล่มสัก เสาหลักเมืองนี้ทำด้วยไม้ชัยพฤกษ์ ฐานล่างประกอบด้วยไม้มงคล 8 ชนิด นอกจากนั้น ยังปรากฏหลักฐานว่าได้อัญเชิญพระแก้วมรกตมาประดิษฐานไว้ที่เพชรบูรณ์อีกด้วย แต่ต่อมาสภาผู้แทนราษฎรลงมติไม่อนุมัติให้พระราชกำหนดระเบียบราชการบริหารนครบาลเพชรบูรณ์เป็นพระราชบัญญัติ แต่ด้วยคะแนนเสียง 48 ต่อ 36 ด้วยเหตุผลที่ว่า”เพชรบูรณ์เป็นดินแดนกันดาร มีสภาพภูมิประเทศเป็นป่าเขาและมีไข้ป่าชุกชุม …” การสร้างเมืองหลวงใหม่จึงถูกยกเลิกไป …

อนุสรณ์นครบาลเพชรบูรณ์แห่งนี้จึงสร้างขึ้นเป็นเพื่อรำลึกถึงคุณูปการและอัจฉริยภาพของจอมพล ป.พิบูลสงคราม และเพื่อคนเพชรบูรณ์จะได้ภูมิใจในประวัติศาสตร์ช่วงหนึ่งและความเจริญก้าวหน้าของบ้านเมืองของเรา

13. หอนาฬิกาแชมป์โลกคู่แฝด (Clock Tower of the Twin World Champion Boxers)

เป็นอนุสรณ์แก่นักมวยแชมป์โลกคู่แฝดชาวเพชรบูรณ์ เขาค้อ และเขาทราย แกแลคซี่ โดยเขาทราย แกแลคซี่ เป็นแชมป์โลกรุ่นจูเนียร์แบนตั้มเวท ของสมาคมมวยโลก (WBA) เป็นแชมป์โลกเมื่อวันที่ 21 พฤศจิกายน 2527 ชกป้องกันตำแหน่งชนะ 19 ครั้ง โดยไม่เสียตำแหน่ง ก่อนแขวนนวม 1 กุมภาพันธ์ 2535 สมาคมมวยโลกยกย่องให้เป็นนักชกยอดเยี่ยมแห่งปี พ.ศ. 2532 นักชกยอดเยี่ยมแห่งทศวรรษเมื่อ พ.ศ.2533 และรางวัล “WORLD BOXING HALL OF FAME” บรรจุชื่อไว้ในหอเกียรติยศนักมวยที่มีชื่อเสียงโด่งดังทั่วโลกของ WBA ณ เมืองคานาสโตต้า สหรัฐอเมริกา

ส่วนเขาค้อ แกแลคซี่ เป็นแชมป์โลกรุ่นแบนตั้มเวท ของสมาคมมวยโลก และเป็นแชมป์โลกรุ่นนี้คนแรกของไทย ได้แชมป์โลกเมื่อ 9 พฤษภาคม 2531

ทั้งสองคนได้สร้างชื่อเสียงให้กับจังหวัดเพชรบูรณ์เป็นอย่างมากโด่งดังไปทั้งประเทศในฐานะที่เป็นแชมป์โลกคู่แฝดในเวลาเดียวกัน

14. สวนสาธารณะหนองนารี (Nong-Naree Public Park)

เป็นแหล่งน้ำธรรมชาติขนาดใหญ่ เป็นแหล่งพันธุ์พืช ประเภทบัวนานาชนิด แหล่งพันธุ์ปลาต่างๆ ตลอดจนนกหลากหลายสายพันธุ์ ทั้งนกประจำถิ่นและนกที่อพยพจากถิ่นอื่น

เทศบาลเมืองเพชรบูรณ์ได้ร่วมกับองค์การบริหารส่วนจังหวัดเพชรบูรณ์ ปรับปรุงให้เป็นแหล่งท่องเที่ยว ด้วยการพัฒนาให้เป็นสถานที่พักผ่อนหย่อนใจ สถานที่ออกกำลังกาย สถานที่จัดงานประเพณีและกีฬา รวมทั้งกิจกรรมนันทนาการต่าง ๆ

นอกจากนั้น ยังได้จัดทำอุทยานวิทยาศาสตร์ เพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้ด้านวิทยาศาสตร์ในทุก ๆ ด้าน เช่น เคมี ฟิสิกส์ ชีววิทยา ดาราศาสตร์ คณิตศาสตร์ พืชศาสตร์ บรรพชีวิน พลังงาน สิ่งแวดล้อม ธรณีวิทยา แสงเลเซอร์ และมีท้องฟ้าจำลอง หอดูดาว โรงหนัง 3 มิติ อุทยานบัว สวนพฤกษศาสตร์ ฯลฯ รวมทั้งพิพิธภัณฑ์ธรณีเพชรบูรณ์และหอนิทรรศการและจัดเก็บเรือยาวจังหวัดเพชรบูรณ์

ชื่อหนองนารีนั้น มีที่มาจากการทำนาในที่ลุ่ม และได้มีการปั้นคันนาเป็นรูปโค้งรี ๆ ไม่ตัดตรงแบบคันนาที่อื่น ๆ จึงเรียกบริเวณนั้นว่า “นารี” ต่อมาเมื่อสมัยนครบาลเพชรบูรณ์ ได้มีการสร้างถนนกั้นทางน้ำจนเกิดเป็นหนองน้ำขนาดใหญ่ จึงเรียกชื่อว่า “หนองนารี”

15. หอนิทรรศการและจัดเก็บเรือยาว จังหวัดเพชรบูรณ์” (Hall of Phetchabun Long Boat Exhibition and Storage) สวนสาธาณะหนองนารี

จังหวัดเพชรบูรณ์ มีประเพณีการแข่งเรือยาว ถึง 5 สนามด้วยกัน นั่นคือ

1. การแข่งเรือทวนน้ำวัดไตรภูมิ

2. การแข่งเรือคลองไม้แดง ดงมูลเหล็ก

3. การแข่งเรือลาพรรษา ลำน้ำพุง วัดทุ่งธงไชย หล่มเก่า

4. การแข่งเรือวันลอยกระทง บึงสามพัน

5. การแข่งเรือน้ำนิ่ง ที่หนองนารี

ประเพณีการแข่งเรือยาว เป็นประเพณีโบราณดั้งเดิมที่แฝงไปด้วยภูมิปัญญาในการสร้างความรักความสามัคคีให้เกิดขึ้นในชุมชน ..

ผู้ใหญ่ผู้ชายก็ช่วยกันซ่อมเรือแต่งเรือ ผู้ใหญ่ผู้หญิงก็ดูแลทำอาหารเลี้ยงดูทีมฝีพาย ผู้ชายวัยรุ่นก็พากันเป็นฝีพายซ้อมเรือ ลงแข่งเรือ ส่วนผู้หญิงวัยรุ่นก็เป็นกองเชียร์ เด็ก ๆ ก็ได้เห็นได้ร่วมกิจกรรมอันจะเป็นแรงบันดาลใจต่อไปในอนาคต .. จึงนับว่า เรือยาวประจำชุมชนหมู่บ้าน สามารถทำให้เกิดการมีปฏิสัมพันธ์ของผู้คน มีจุดรวมใจเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน อันจะก่อให้เกิดความรักความสามัคคีได้เป็นอย่างดี

เรือยาวสมัยก่อน จะขุดจากขอนไม้ทั้งต้น เช่น ไม้ตะเคียน จึงมีความเชื่อเรื่องแม่ย่านางประจำเรือแต่ละลำที่มีความชอบไม่เหมือนกัน ซึ่งทีมงานดูแลเรือจะต้องทำให้ถูกต้อง

เป็นที่น่าเสียดายที่ ในเวลาต่อมา การใช้เรือยาวที่ขุดจากขอนไม้ทั้งต้นนั้น เวลาใช้ลงแข่งขัน จะมีน้ำหนักมาก ทำให้การพายแข่งขันจึงไม่อาจสู้กับเรือรุ่นใหม่ ๆ ที่ใช้ไม้เป็นชิ้น ๆ ประกอบขึ้นมาได้ .. เรือขุดจึงเริ่มเสื่อมความนิยมไป

หอนิทรรศการและจัดเก็บเรือยาว จังหวัดเพชรบูรณ์ แห่งนี้ จึงสร้างขึ้นมาไว้ที่หนองนารี เพื่อมีวัตถุประสงค์ ที่จะรวบรวม เก็บรักษาและบันทึกประวัติเรื่องราวของเรือยาวต่าง ๆ ที่มีความสำคัญและมีคุณค่า ที่มีอยู่ในจังหวัดเพชรบูรณ์ เพื่อมิให้ถูกลืมเลือนและสูญสลายไปตามกาลเวลา อีกทั้งยังเป็นแหล่งเรียนรู้สำหรับเยาวชนได้ศึกษารากเหง้าประเพณีความเชื่อในอดีตของเรา และยังสามารถเป็นแหล่งท่องเที่ยวทางวัฒนธรรมได้อีกด้วย

16. หอประวัติศาสตร์มณฑลเพชรบูรณ์ (Monton Phetchabun Historical Hall) 

ตั้งอยู่ในสวนสาธารณะเพ็ชรรัตน์สงคราม (Phetcharat SongKram Public Park) ถ.เพชรรัตน์ ต.ในเมือง อ.เมืองเพชรบูรณ์  จัดแสดงเรื่องราวและแบบเมืองจำลองของบ้านในเมืองในสมัยมณฑลเพชรบูรณ์ที่มีพื้นที่อยู่ในบริเวณกำแพงเมืองโบราณที่มีมาตั้งแต่สมัยอยุธยา

มณฑล คือเขตการปกครองส่วนภูมิภาคในสมัยก่อน ที่เป็นระดับที่สูงกว่าระดับเมืองหรือจังหวัด โดยมีการรวมหลายเมืองหรือจังหวัดไว้อยู่ภายใต้การปกครองของมณฑลอีกชั้นหนึ่ง ซึ่งจะมีข้าหลวงเทศาภิบาลเป็นผู้ปกครองบังคับบัญชา

เมื่อปี พ.ศ.2442 ได้มีการประกาศจัดตั้งมณฑลเพ็ชรบูรณ์ขึ้น ด้วยเหตุผลความสำคัญทางความมั่นคงของราชอาณาจักร มณฑลเพ็ชรบูรณ์ยุคแรกประกอบด้วยสองเมืองคือเมืองเพ็ชรบูรณ์และเมืองหล่มศักดิ์ รวมกับอีก 5 อำเภอคือ หล่มเก่า วังสะพุง วิเชียรบุรี บัวชุม และชัยบาดาล เป็น 7 อำเภอ

ข้าหลวงเทศาภิบาลมณฑลเพ็ชรบูรณ์คนแรก คือ พระยาเพชรรัตน์สงคราม (เฟื่อง เฟื่องเพ็ชร) แต่เมื่อ พ.ศ. 2447 ท่านได้ถึงแก่กรรมลง ก็ได้มีการยุบมณฑลเพ็ชรบูรณ์ไปให้ขึ้นกับมณฑลพิษณุโลก ต่อมาเมื่อ พ.ศ. 2450 กระทรวงมหาดไทยจึงได้ประการตั้งมณฑลเพ็ชรบูรณ์ขึ้นมาใหม่อีกครั้งและแต่งตั้ง พระยาเทพาธิบดี (อิ่ม เทพานนท์) มาเป็นข้าหลวงเทศาภิบาลปกครองมณฑลเพ็ชรบูรณ์ เป็นคนที่ 2 จนเมื่อ พ.ศ. 2455 พระยาเทพาธิบดีก็ถึงแก่กรรมอีก จึงได้มีการแต่งตั้งพระยาเพชรรัตน์สงคราม (เลื่อง ภูมิรัตน์) มาเป็นข้าหลวงเทศาภิบาลคนที่ 3 จนกระทั่ง พ.ศ. 2459 จึงได้มีประกาศยุบมณฑลเพ็ชรบูรณ์อีกครั้งโดยให้ไปรวมกับมณฑลพิษณุโลก จึงเกิดเป็นจังหวัดเพ็ชรบูรณ์ มี 2 อำเภอ คือ อ.เมือง อ.วิเชียรบุรี ส่วนจังหวัดหล่มศักดิ์ ก็มี 2 อำเภอ คือ อ.เมือง และ อ.หล่มเก่า

ภายในสวนสาธารณะเพ็ชรรัตน์สงคราม ข้าง ๆ หอประวัติศาสตร์มณฑลเพ็ชรบูรณ์แล้ว ยังมีการเปิดให้เห็นป้อมประตูเมืองและแนวกำแพงเมืองโบราณสมัยอยุธยาของเพชรบูรณ์ด้วย

ชื่อเพ็ชรรัตน์สงคราม คือชื่อบรรดาศักดิ์ตำแหน่งเจ้าเมืองเพชรบูรณ์มาตั้งแต่ในอดีต และเมื่อครั้งมณฑลเพ็ชรบูรณ์ พระยาเพ็ชรรัตน์สงคราม (เฟื่อง) ก็ได้เป็นข้าหลวงเทศาภิบาลมณฑลเพ็ชรบูรณ์เป็นคนแรก และได้สร้างถนนเพชรรัตน์ในปัจจุบันนี้ด้วย

17. หอนิทรรศน์อุ้มพระดำน้ำ (Um Phra Dam Nam Exhibition Hall) 

อยู่ในสวนสาธารณะเพ็ชรรัตน์สงคราม (Phetcharat SongKram Public Park) ถ.เพชรรัตน์ ต.ในเมือง อ.เมืองเพชรบูรณ์ จัดสร้างเป็นแบบบ้านทรงเพชรบูรณ์แบบเดียวกันกับอาคารไม้เดิมที่ถูกรื้อออกไป เป็นแบบ 2 ชั้น ชั้นบนจัดแสดงหุ่นจำลองแสดงตำนานประเพณีอุ้มพระดำน้ำ ห้องจำลองพิธีอุ้มพระดำน้ำ และห้องเจดีย์โบราณเมืองเพชรบูรณ์ ด้านล่างจัดเก็บ รถบุษบก เรืออัญเชิญพระ ชุดโขนหัวเรือทั้ง 4 ชุด ได้แก่ กาญจนาคา กุญชรวารี เหมวาริน และตรีภุชงค์ โดยมีจุดมุ่งหมายให้เป็นแหล่งเรียนรู้และบันทึกเรื่องราวเกี่ยวกับประเพณีอุ้มพระดำน้ำทั้งหมด

บริเวณโดยรอบ ประกอบด้วย จิตรกรรมที่รั้วด้านหลัง ลานจอดรถ ลานกิจกรรม ถนนรอบ ห้องน้ำ ไฟแสงสว่าง ต้นไม้และสนามหญ้าสำหรับออกกำลังกายและพักผ่อนหย่อนใจ

สวนเพ็ชรรัตน์สงคราม อยู่ภายในกำแพงเมืองและติดป้อมประตูเมืองโบราณ ในอดีต เคยเป็นที่พักเจ้าเมืองเพชรบูรณ์ ต่อมาได้เป็นที่ตั้งศาลยุติธรรมประจำจังหวัด และเป็นบ้านพักผู้พิพากษา จนกระทั่งถูกทิ้งร้างผุพังไปตามกาลเวลา เทศบาลเมืองเพชรบูรณ์ จึงขอใช้สถานที่และปรับปรุงให้เป็นสวนสาธารณะเพ็ชรรัตน์สงคราม

“เพ็ชรรัตน์สงคราม” เป็นชื่อตำแหน่งเจ้าเมืองเพชรบูรณ์ในสมัยก่อน และยังทั้งเป็นชื่อตำแหน่งของข้าหลวงเทศาภิบาลของมณฑลเพ็ชรบูรณ์อีกด้วย

18. หอจดหมายเหตุเพ็ชรบูรณ์ (Phetchabun Archives) 

ตั้งอยู่ถนนหลักเมือง ตำบลในเมือง อำเภอเมืองเพชรบูรณ์ เทศบาลเมืองเพชรบูรณ์ร่วมกับสภาวัฒนธรรมจังหวัดเพชรบูรณ์ ได้ทำการปรับปรุงบ้านพักผู้พิพากษาหัวหน้าศาลจังหวัดเพชรบูรณ์ในอดีต ให้เป็นหอจดหมายเหตุเพ็ชรบูรณ์ โดยสร้างให้เป็นรูปแบบเดิม สีเดิมทั้งหมด เพียงแต่เปลี่ยนวัสดุให้เป็นแบบมั่นคงแข็งแรงยิ่งขึ้น

หอจดหมายเหตุเพ็ชรบูรณ์แห่งนี้ประกอบด้วย 3 ส่วนด้วยกัน คือ

1. อาคารใหญ่ด้านหน้าจะเป็นห้องสมุด ที่รวบรวม เก็บบันทึก จัดแสดง เอกสาร หลักฐาน หนังสือ รวมทั้งรูปถ่าย เรื่องราวที่เป็นเรื่องของเพชรบูรณ์ทั้งอดีต ปัจจุบัน และอนาคต ในรูปแบบต่าง ๆ ทั้งที่เป็นหนังสือ แผ่นพับ นิทรรศการ Computer file ฯลฯ ที่สามารถเข้าชม เข้าศึกษาและค้นคว้านำไปอ้างอิงได้ นอกจากนั้น ยังมีหุ่นจำลองเหตุการณ์ต่าง ๆ ที่สำคัญที่เกิดขึ้นบนแผ่นดินเพชรบูรณ์ในอดีต 10 เหตุการณ์ ป้ายนิทรรศการ “บันทึกเพชรบูรณ์” ที่คนเพชรบูรณ์ส่วนใหญ่ไม่เคยรู้มาก่อนกว่า 300 เรื่อง และนิทรรศการภาพเก่า “เพชรบูรณ์เมื่อวันวาน” กว่า 500 ภาพ

2. อาคารเล็กด้านหลัง จะเป็นห้อง “นามบ้านภูมิเมืองเพชรบูรณ์” ซึ่งจัดแสดงที่มาของชื่อจังหวัด อำเภอ ตำบล และหมู่บ้านต่าง ๆ ในจังหวัดเพชรบูรณ์

3. บริเวณรอบ ๆ ก็จะมีห้องน้ำ ไฟแสงสว่าง สนามหญ้า และที่นั่งเล่นสำหรับประชาชนทั่วไป

19. หอศิลปกรรมถมอรัตน์ Thamorat Hall of Fine Arts

: เป็นการปรับปรุงอาคารศาลจังหวัดเพชรบูรณ์หลังเก่า ที่สร้างมาตั้งแต่ พ.ศ. 2494 เพื่อให้เป็นหอศิลปกรรม มีชื่อว่า หอศิลปกรรมถมอรัตน์ เพื่อเป็นสถานที่จัดแสดงและถ่ายทอด งานวิจิตรศิลป์ด้านต่าง ๆ ทั้งจิตรกรรม ประติมากรรม ภาพพิมพ์ วรรณกรรม สถาปัตยกรรม นาฏกรรม ภาพถ่าย งานศิลปะร่วมสมัย ตลอดจนศิลปวัตถุต่าง ๆ ของจังหวัดเพชรบูรณ์

: เขาถมอรัตน์ เป็นภูเขาศักดิ์สิทธิ์ของเมืองโบราณศรีเทพ ซึ่งบนยอดเขามีถ้ำ ที่มีรูปแกะสลักอยู่บนผนังถ้ำ เป็นพระพุทธรูปและพระโพธิสัตว์สมัยทวารวดีที่งดงามและเก่าแก่มาก นับว่า เป็นศิลปกรรมที่สำคัญที่สุดของจังหวัดเพชรบูรณ์ จึงนำมาตั้งเป็นชื่อของหอศิลปกรรมแห่งนี้

: ศิลปะ เป็นเครื่องชี้วัดความสุขของผู้คนในสังคม ถ้าบ้านเมืองอยู่เย็นเป็นสุข ผู้คนก็จะมีอารมณ์สุนทรีย์ ศิลปะก็จะเฟื่องฟูในทุก ๆ สาขา

ในทางกลับกัน ศิลปะ ก็จะเป็นสิ่งที่ประโลมกล่อมเกลาจิตใจของผู้คนในสังคมให้มีความอ่อนโยน ละเมียดละไม อันจะนำมาซึ่งการอยู่ร่วมกันอย่างมีความสุข

: หอศิลปกรรมถมอรัตน์ แห่งนี้ ถูกจัดทำขึ้นมาเพื่อหวังจะสร้างแรงบันดาลใจให้เกิดพลังแห่งความสร้างสรรค์แก่เยาวชนและประชาชนคนเพชรบูรณ์

20. โบสถ์ไม้โบราณ วัดภูเขาดิน (Ancient Wooden Chapel, Wat Phukaodin)

เป็นโบสถ์เก่าแก่ที่เหลืออยู่เพียงแห่งเดียวในตัวเมืองเพชรบูรณ์ เป็นโบสถ์ที่สร้างด้วยไม้บนฐานบัวก่ออิฐฉาบปูน กว้าง 7.50 เมตร ยาว 17 เมตร มีใบเสมาทำด้วยหินชนวนแกะสลักอยู่รอบ ๆ มีพระประธานปูนปั้นองค์ใหญ่ ปางมารวิชัย “หลวงพ่อสำเร็จ” ศิลปะอยุธยาฝีมือช่างพื้นบ้าน แต่มีร่องรอยการซ่อมแซมเปลี่ยนแปลงพระพักตร์ไป

โบสถ์หลังนี้สร้างหันหน้าไปทิศเหนือ ซึ่งเดิมเป็นด้านหน้าของวัดที่หันหน้าไปยังคลองศาลา บ่งบอกว่า ในสมัยก่อนการสัญจรไปมาในเมืองเพชรบูรณ์นั้น จะใช้ลำน้ำเป็นหลักเพราะยังไม่มีถนนที่มาตรฐาน การสัญจรทางน้ำจึงสะดวกกว่า

ตามคำบอกเล่าของคนเก่าคนแก่ บอกว่า ที่หน้าโบสถ์แห่งนี้ บริเวณริมต้นโพธิ์ จะมีศาลาสร้างไว้อยู่ริมน้ำเพื่อเป็นท่าน้ำที่พักของผู้คนที่เดินทางมาที่ตัวเมืองเพชรบูรณ์ จึงเป็นที่มาของชื่อคลองดังกล่าวว่า คลองศาลา มาจนทุกวันนี้ แต่ต่อมา การสัญจรของผู้คนเปลี่ยนมาเป็นใช้ถนนแทน วัดภูเขาดินจึงเปลี่ยนทางเข้าวัดใหม่เป็นหันหน้ามาทางถนนพระพุทธบาท โบสถ์หลังนี้จึงกลายเป็นอยู่ด้านหลังของวัดไป

โบสถ์สำคัญแห่งนี้ มีประวัติมายาวนาน หลวงพ่อเขียน ธัมมรักขิโต ได้ทำพิธีอุปสมบทจากสามเณรเป็นพระภิกษุในโบสถ์หลังนี้ และหลวงพ่อทบ ธัมมปัญโญ ก็เคยมาประกอบพิธีอุปสมบทให้กับคนเพชรบูรณ์หลายคนในโบสถ์แห่งนี้เช่นกัน จึงถือว่าเป็นโบสถ์เก่าแก่ที่ทรงคุณค่ากับเมืองเพชรบูรณ์เป็นอย่างยิ่ง

ปัจจุบันนี้ โบสถ์หลังนี้ตั้งอยู่ติดริมรั้ววัดด้านทิศเหนือด้านซอยภูเขาดินซึ่งเป็นซอยเล็ก ๆ มีต้นไม้ขึ้นบังเกือบหมด .. ผู้คนที่ไปวัดในปัจจุบันจึงมองไม่ค่อยเห็น .. นับว่าเป็นโบสถ์เก่าแก่ที่ทรงคุณค่ากับเมืองเพชรบูรณ์เป็นอย่างยิ่ง

วัดภูเขาดิน ตั้งอยู่เลขที่ 169 บ้านคลองศาลา เขตเทศบาล ตำบลในเมือง อำเภอเมืองเพชรบูรณ์ จังหวัดเพชรบูรณ์ สังกัดคณะสงฆ์มหานิกาย มีที่ดินตั้งวัดเนื้อที่ 10 ไร่ 2 งาน 21.4 ตารางวา สร้างขึ้นเป็นวัดนับตั้งแต่ประมาณ พ.ศ.2430 โดยมีหลวงพ่อขอมเป็นพระเขมรได้นำชาวบ้านจัดสร้างขึ้นมา เดิมบริเวณ เป็นป่าพงอยู่ติดต่อกับคลองศาลา จึงได้เรียกว่า “วัดคลองศาลา” ต่อมาถึงสมัยหลวงพ่อคูณ เจ้าอาวาสรูปที่ 3 มีการขุดสระน้ำ นำดินมาพูนขึ้นเป็นเนินสูงเหมือนภูเขา เพื่อใช้เป็นที่สร้างมณฑปประดิษฐานรอยพระพุทธบาทพระพุทธเจ้า 4 องค์ จึงได้เปลี่ยนนามใหม่เป็น “วัดภูเขาดิน” ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาในราว พ.ศ. 2440 พื้นที่ตั้งวัด เป็นที่ราบสูง มีถนนพระพุทธบาทอยู่ทางทิศตะวันตก

21. อนุสรณ์แสนศักดิ์ เมืองสุรินทร์ (Sansak Muangsurin Memorial) 

ตั้งอยู่บริเวญสี่แยกคลองชลประทาน ทางเข้าวัดทุ่งสะเดียง ต.ในเมือง อ.เมืองเพชรบูรณ์

แสนศักดิ์ เมืองสุรินทร์ หรือ “ไอ้แสบ” แชมป์โลกคนแรกของเพชรบูรณ์ และแชมป์โลกคนที่ 5 ของประเทศไทย … เป็นคนบ้านสะเดียงโดยกำเนิด ชื่อจริงคือ บุญส่ง มั่นศรี ตอนชกมวยไทยอยู่ที่เพชรบูรณ์ใช้ชื่อว่า แสนแสบ เพชรเจริญ

เขาเป็นเจ้าของสถิติ ชกมวยสากล 3 ครั้ง ได้เป็นแชมป์โลกของสภามวยโลก (WBC) รุ่นจูเนียร์เวลเตอร์เวท 2 สมัยและสามารถชกป้องกันตำแหน่งได้ถึง 8 ครั้ง ในช่วง พ.ศ. 2518-2521

อนุสรณ์แห่งนี้ ดำเนินการโดยเทศบาลเมืองเพชรบูรณ์ เพื่อบันทึกประวัติศาสตร์และเชิดชูนักสู้ผู้ยิ่งใหญ่แห่งบ้านสะเดียง .. เขาทำให้คนทั้งประเทศไทยรู้จักเพชรบูรณ์

ในภาพคือ ย่าทวดสำริด และ ก๋งฮะ ก๋งแดง ก๋งไช้ ถ่ายเมื่อประมาณ พ.ศ. 2445

ต้นตระกูล โฆษิตานนท์ ในเพชรบูรณ์ 3 คนพี่น้อง คือ นายฮะ นายแดง นายไช้ แซ่โค้ว และต่อมาได้เปลี่ยนเป็นนามสกุล โฆษิตานนท์ .. ทั้ง 3 คนเป็นลูกชายของ ย่าทวดสำริด ซึ่งมีปู่ทวดชื่อ หยู่ฮวด แซ่โค้ว เป็นคนจีนแต้จิ๋วมาจากเมืองซัวเถา จีนแผ่นดินใหญ่

แรกเริ่ม ทั้ง 3 ท่านเกิดและอยู่ที่สระบุรี เมื่อโตเป็นหนุ่มขึ้นมา ก็พากันทำการแล่นเรือกระแซงทวนแม่น้ำป่าสัก ขนสินค้าพวกปลาร้ามาขายที่หล่มสัก จนกระทั้งปีหนึ่ง เกิดน้ำลดลงไว จนทำให้เรือเกยตื้นไม่สามารถล่องเรือกลับไปได้ ทั้ง 3 ท่านจึงได้มาอาศัยอยู่ที่หล่มสัก ค้าขายเล็ก ๆ น้อย ๆ บริเวณสี่แยกใกล้ศาลเจ้า สักพักหนึ่ง เจ้าเมืองเพชรบูรณ์ พระยาเพ็ชรรัตน์สงคราม (เฟื่อง) ได้ชักชวนให้มาอยู่ที่เมืองเพชรบูรณ์ โดยให้แต่ละท่านเลือกเอาที่ดินตั้งบ้านเรือนร้านค้าโดยให้ปักหลักถางพงตามที่ต้องการได้เลย

ทั้ง 3 ท่านจึงตั้งร้านค้าของชำอยู่ริมถนนเพชรรัตน์ที่บ้านในเมือง ใกล้ลำน้ำสัก โดยทำมาค้าขาย ล่องเรือกระแซงเอาสินค้าใบยา ข้าวเปลือก ของป่า ไปขายทางใต้ สระบุรี อยุธยา กรุงเทพ แล้วเอาสินค้าข้าวของเครื่องใช้ เสื้อผ้า สบู่ ยาสีฟัน น้ำมันก๊าด เกลือ ปลาร้า ยารักษาโรค ฯลฯ ขึ้นมาขายที่เพชรบูรณ์ นับว่าเป็นพ่อค้ารุ่นแรก ๆ ที่ได้ร่วมกันสร้างเศรษฐกิจเมืองเพชรบูรณ์ .. และเมื่อแต่ละท่านเสียชีวิต ลูกหลานก็ได้เอาโกศบรรจุกระดูกของท่านมาเก็บร่วมกันไว้ในเจดีย์ริมลำน้ำสัก บ้านในเมืองอันเป็นถิ่นดั้งเดิมที่มาลงหลักปักฐานสร้างกิจการ บ้านเรือนและครอบครัวของท่าน

มีเกร็ดเรื่องเล่าที่ท่านเหล่านี้ได้เล่าให้ลูกหลานฟังเกี่ยวกับการล่องเรือกระแซง ว่า เวลาขาล่องจะไปหน้าน้ำหลาก ตามกันไปหลายลำ ใช้แจวและค้ำถ่อไป ซึ่งบ้างช่วงก็สามารถลัดคุ้งน้ำได้ เพราะน้ำมีมาก เสบียงที่เตรียมไปก็จะทำหมูเค็มเป็นหม้อใหญ่ ๆ เอาไก่ไปเลี้ยงและปลูกผักสวนครัวไว้ในเรือเพื่อทำอาหาร เวลากลางคืนก็จะจอดเรือหยุดพัก ตั้งเพิงพักกันริมฝั่ง ซึ่งจะต้องจัดเวรยามไว้ป้องการโจรจี้ปล้นด้วย ขาขึ้น ก็จะต้องจ้างเรือยนต์โยงลากจูงทวนน้ำขึ้นมา สิ่งที่นิยมทำกันคือจะซื้อปลาทูซึ่งถือว่าเป็นอาหารทะเล หากินยาก แล้วทอดแช่น้ำมันมาในหม้อขนาดใหญ่ เอามาแจกกันกินให้กับญาติผู้ใหญ่หรือผู้ที่นับถือกันที่เพชรบูรณ์ โดย 1 ปีจะสามารถล่องเรือไปค้าขายได้เพียงปีละครั้ง ใช้เวลาเดินทางทั้งล่องและขึ้น นานนับเดือนเลย

ศาลเจ้าแม่ทับทิม ริมแม่น้ำป่าสักก่อนออกพ้นเมืองเพชรบูรณ์ จะเป็นที่นับถือของชาวเรือกันมาก เมื่อเรือผ่านลงไปหรือกลับขึ้นมาก็จะทำการไหว้สักการะ จุดประทัดขอพรกัน

นายฮะ นายแดง นายไช้ แต่ละคนก็ได้มีทายาทแตกแขนงออกมามากมาย จนปัจจุบันนี้ พ.ศ. 2564 มีถึงรุ่นที่ 7 แล้ว ซึ่งนับรวมทั้งสายสัมพันธ์ด้วย ได้กว่า 500 คน

วัดไตรภูมิ ถนนเพชรรัตน์ ต.ในเมือง อ.เมืองเพชรบูรณ์ จ.เพชรบูรณ์

วัดไตรภูมิ เป็นวัดสำคัญและเก่าแก่ ตั้งอยู่กลางเมืองเพชรบูรณ์ ภายในกำแพงเมืองที่สร้างมาตั้งแต่สมัยอยุธยาที่ก่อด้วยอิฐล้อมรอบเมืองเป็นรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัสยาวข้างละ 500 เมตร  ไม่ปรากฏข้อมูลเอกสารว่าก่อสร้างวัดมาตั้งแต่เมื่อใด แต่สันนิษฐานว่า น่าจะสร้างประมาณ พ.ศ. 2100 ได้รับวิสุงคามสีมาตั้งแต่ประมาณปี พ.ศ. 2122 เขตวิสุงคามสีมา กว้าง 40 เมตร ยาว 80 เมตร วัดไตรภูมิได้รับการขึ้นทะเบียนโบราณสถาน ประกาศในราชกิจจานุเบกษาเล่มที่ 57 หน้า 807 วันที่ 18 มิถุนายน พ.ศ. 2483

ภายในวัดมีอาคาร เสนาสนะต่าง ๆ ประกอบด้วยเจดีย์ทรงปรางค์ อุโบสถกว้าง 12 เมตร ยาว 21 เมตร (ปฏิสังขรณ์ เมื่อ พ.ศ. 2516) ซากเจดีย์ด้านหน้าอุโบสถ ศาลาการเปรียญ หอสวดมนต์ มณฑปประดิษฐานพระพุทธรูปมหาธรรมราชาจำลอง และกุฏิสงฆ์

ปูชนียวัตถุสำคัญภายในวัด ประกอบด้วย หลวงพ่อใหญ่ เป็นพระพุทธรูปปูนปั้นประดิษฐานเป็นพระประธานอยู่ใน อุโบสถ ศิลปะช่างพื้นเมือง และพระพุทธมหาธรรมราชา ซึ่งได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นโบราณวัตถุของชาติ ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 118 ตอนที่พิเศษ 29 ง วันที่ 26 มีนาคม พ.ศ. 2544 เป็นพระพุทธรูปที่ชาวเพชรบูรณ์อัญเชิญไปประกอบพิธีอุ้มพระดำน้ำเป็นประจำทุกปี ในวันสารทไทย แรม 15 ค่ำเดือน 10 

“พระพุทธมหาธรรมราชา”เป็นพระพุทธรูปคู่บ้านคู่เมืองของเพชรบูรณ์ ประดิษฐานอยู่บนศาลาวัด ไตรภูมิ ต.ในเมือง อ.เมืองเพชรบูรณ์ เป็นพุทธรูปปางสมาธิ ศิลปะลพบุรี (ขอม แบบบายน) เนื้อทองสัมฤทธิ์ หน้าตักกว้าง 13 นิ้ว สูง18 นิ้ว ไม่มีฐาน มีพระพักตร์กว้าง พระโอษฐ์แบะ พระกรรณยาวจรดพระอังสา พระเศียรทรง เทริด ปลายยอดจุลมงกุฎเป็นทรงชฎา มีหม้อยาหรือหมอน้ํามนต์อยู่บนพระหัตถ์ ทรงสร้อยพระศอ พาหุรัด และประคต มีลวดลายงดงามแลดูเข้มขลังยิ่งนัก
ชาวเพชรบูรณ์มีความเชื่อตามตํานานว่า “พ่อขุนผาเมือง” เจ้าเมืองราด (เมืองหล่มสัก)ได้รับพระราชทานพระพุทธรูปองค์นี้จากพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 กษัตริย์ขอมแห่งเมืองพระนคร โดยให้นำไปประดิษฐานเป็นพระคู่บ้านคู่เมือง ร่วมกับพระขรรค์ชัยศรี และพระนาม“กมรเตงอัญศรีอินทรบดินทราทิตย์” พร้อมทั้งให้อภิเษกสมรสกับพระธิดา คือ พระนางสิขรมหาเทวี แต่หลังจากพ่อขุนผาเมืองร่วมกับพ่อขุนบางกลางหาวเจ้าเมืองบางยาง (เมืองนครไทย) ได้ร่วมกันตีเมืองสุโขทัยคืนจากขอม กอบกู้อิสรภาพให้กับคนไทยและตั้งอาณาจักรสุโขทัยขึ้น ทําให้พระนางสิขรมหาเทวีแค้นเคืองถึงกับเผาเมืองราดจนย่อยยับ ไพร่พลต้องพากันอัญเชิญพระพุทธมหาธรรมราชาลงแพล่องไปตามแมน้ำป่าสักเพื่อหลบหนีภัยความวุ่นวายไป แต่ปรากฏว่าแม่น้ำป่าสักมีความคดเคี้ยวและกระแสน้ําไหลเชี่ยวกราก ทําให้แพที่อัญเชิญองคพ์ระมานั้นแตกออก จนองค์พระจมดิ่งลงสู้ก้นแม่น้ำหายไป
ตํานานเล่าต่อมาว่า เมื่อเวลาผ่านไป จนมาถึงช่วงกลางกรุงศรีอยุธยา ในวันหนึ่ง คนหาปลาชาวเพชรบูรณ์ ที่พากันไปหาปลาในแม่น้ำป่าสัก บริเวณ “วังมะขามแฟบ” พลันอากาศที่สงบเงียบอยู่ดี ๆ กลับแปรปรวนมีลมฟ้าลมฝนฟ้าร้องฟ้าผ่าแล้วเกิดมีวังน้ําวนขึ้นในลําน้ําหมุนวนเอาพระพุทธรูปสีทองอร่ามขึ้นมา ชาวบ้านจึงได้โดดน้ําไปอัญเชิญพระพุทธรูปองค์พระทองขึ้นมา และนำมามอบให้กับเจ้าเมืองเพชรบูรณ์ และได้อัญเชิญไปประดิษฐานไว้ที่วัดไตรภูมิ  ครั้นในปีต่อมา เมื่อวันสารทไทยแรม 15 ค่ำเดือน 10 องค์พระได้หายไปจากวัด ชาวเมืองต่างพากันช่วยหาไปทั่วทั้งเมือง แต่ก็ไม่มีผู้ใดพบเลย จึงพากันไปหาที่วังมะขามแฟบ ซึ่งก็ได้พบองค์พระดําผุดดําว่ายอยู่กลางลําน้ําอีกเช่นเดิม ชาวเมืองจึงได้อัญเชิญองค์พระกลับมาวัดไตรภูมิอีก เหตุการณ์เป็นเช่นนี้ถึง 2 ครั้ง จนกระทั้งสุดท้าย ชาวเมืองและเจ้าเมืองจึงร่วมกันตกลงว่า ต่อไปนี้ ทุกวันแรม15 ค่ำเดือน 10 ของทุกปี เจ้าเมืองเพชรบูรณ์จะได้อัญเชิญองคพ์ระ ไปประกอบพิธีดําน้ําที่วังมะขามแฟบ พร้อมทั้งร่วมกันขนานนามองค์พระศักดิ์สิทธิ์นี้ว่า “พระพุทธมหาธรรมราชา” เป็นพระคู่บ้านคู่เมืองเพชรบูรณ์นับแต่นั้นมา 

พุทธมะหาธัมมะราชา เพชะบุระมหิทธิกา
สัพเพ เต อะนุรักขันตุ อะโรคะเยนะ สุเขนะจะ เอเตนะ
สัจจะวัชเชนะ โสตถิ เม โหตุ สัพพะทา

เจดีย์ทรงปรางค์โบราณ สมัยอยุธยา ในวัดไตรภูมิ เป็นเจดีย์ที่ก่ออิฐถือปูน ก่อนที่จะทำการบูรณะในปี พ.ศ. 2564  วัดขนาดส่วนฐานขนาดประมาณ 7.5 x 7.5 เมตร สูงประมาณ 6 เมตร องค์ประกอบเจดีย์ ได้แก่ ฐานเขียงย่อมุม 3 ชั้น ฐานบัวลูกแก้วอกไก่ เรือนธาตุ ประกอบด้วย ซุ้มจระนำทั้ง 4 ด้าน ยอดทรงปรางค์ สภาพหลังได้รับการขุดแต่งทางโบราณคดีที่ฐานและพื้นที่โดยรอบแล้ว มีสภาพทั่วไปดังนี้
ส่วนฐานประกอบด้วยฐานบัวอยู่ในผัง 16 เหลี่ยม มีความยาวด้านละ 1.8 เมตร มีช่องรูปสี่เหลี่ยมคางหมูกว้าง 1 เมตร ลึก 0.80 เมตร พบทุกด้านของฐานบัว 16 เหลี่ยม ภายในช่องแต่ละช่องปรากฏร่องรอยการประดิษฐานพระพุทธรูปประทับนั่งภายในซุ้ม (เหลือร่องรอย 5 องค์) สภาพพังทลาย นอกจากนี้ฐานบัว 16 เหลี่ยม ได้ก่อทับแท่นบันไดและฐานบัวย่อมุมไม้สิบสองของสมัยก่อนหน้า ถัดขึ้นมาเป็นพื้นปูอิฐดาดปูนของชั้นฐานบัว 16 เหลี่ยม ที่ปิดทับฐานย่อมุมไม้สิบสองและแท่นบันไดไว้ ถัดขึ้นมาเป็นฐานเขียงย่อมุมไม้สิบสองยืดสูงรองรับชั้นฐานสิงห์ซ้อนลดหลั่นกัน 2 ชั้น ส่วนกลางเป็นส่วนของเรือนธาตุอยู่ในผังย่อมุมไม้ยี่สิบประดับซุ้มจระนำทั้ง 4 ด้าน พังทลายเหลือเพียงด้านทิศเหนือและทิศตะวันออก
เรือนธาตุประดับด้วยลายปูนปั้นเหลืออยู่ด้านทิศเหนือ ทิศตะวันออกและทิศตะวันตก มีลักษณะเป็นลายเครือเถา องค์เรือนธาตุอยู่ในสภาพทรุด อิฐแตกแยกออกจากกันเป็นโพรงเข้าภายในองค์ ส่วนยอดอยู่ในสภาพพังทลายลง เหลือเพียงชั้นรัดประคต และชั้นวิมาน
ชั้นล่าง มีร่องรอยของการประดับบันแถลงปูนปั้น และกลีบขนุนปูนปั้นทางทิศเหนือและทิศตะวันตกเท่านั้น นอกจากนี้จากการขุดตรวจพื้นที่โดยรอบ พบลานอิฐโดยรอบ ปูอิฐสองชั้นลายขัดสองปูเข้ากับเหลี่ยมฐานเจดีย์ ด้านทิศเหนือปูด้วยศิลาแลงเป็นทางเดินลงสู่แม่น้ำป่าสัก

นายช่างคิดควร จุลบาท วีรบุรุษผู้หนึ่งที่อยู่เบื้องหลังชัยชนะของการสู้รบที่เขาค้อ
ในช่วงที่มีการสู้รบระหว่างรัฐบาลไทยกับผู้ก่อการร้ายคอมมิวนิสต์ (ผกค.) ระหว่าง พ.ศ. 2511-2525  นายช่างคิดควร จุลบาท ข้าราชการกรมทางหลวง ได้เป็นนายช่างควบคุมงานการก่อสร้างเส้นทางสายนางั่ว-ทุ่งสะเดาะพง-เขาค้อ ซึ่งท่านได้ให้สัมภาษณ์ไว้ถึงเหตุการณ์ที่ท่านได้ปฏิบัติหน้าที่ควบคุมการสร้างทาง โดยเสี่ยงชีวิต เสี่ยงเป็นเสี่ยงตาย ในพื้นที่ที่มีการสู้รบกันอย่างหนักที่บริเวณ สมรภูมิเขาค้อ  

เนื่องจากพื้นที่เขาค้อ เป็นพื้นที่ป่าไม้ที่รกทึบ มีต้นไม้ขึ้นหนาแน่นมาก ฉะนั้น การสู้รบในระยะแรก ฝ่ายทหารรัฐบาลไทย จึงจะเสียเปรียบในด้านความชำนาญพื้นที่ และการส่งกำลังพลเสริม การส่งเสบียงและยุทโธปกรณ์ต่าง ๆ ทำไปได้ยากมาก การสู้รบจึงตกเป็นฝ่ายถูกซุ่มโจมตีและเสียเปรียบฝ่าย ผกค. ตลอดมา ฉะนั้น ยุทธศาสตร์การตัดถนนเข้าไปในพื้นที่การสู้รบจึงถูกกำหนดขึ้น เพื่อจะได้ไม่เสียเปรียบในการต่อสู้ดังกล่าวและฝ่ายทหารจะได้เข้าปฏิบัติการกวาดล้างและยึดพื้นที่โดยเด็ดขาดได้ รัฐบาลจึงได้มอบหมายให้กรมทางหลวงทำการตัดถนนเข้าไปในพื้นที่สมรภูมิเขาค้อ ที่เรียกว่าสาย นางั่ว-ทุ่งสะเดาะพง-เขาค้อ
ท่านนายช่างคิดควร จุลบาท เริ่มเล่าตามการเส้นทางการเดินทาง เริ่มต้นที่ ก.ม.0 ที่บ้านนางั่ว และที่ ก.ม.0 นี้เอง ที่เครื่องจักรกลถูกโจมตี เจ้าหน้าที่ของศูนย์ชื่อ นายสวย จันพุฒ ทำหน้าที่ยามก็ถูกยิงเสียชีวิตเป็นศพแรก 

ท่านนายช่างคิดควรเล่าต่อไปว่า .. “ในช่วงที่นายสวยถูกยิง ประมาณเดือนพฤศจิกายน 2519 ผมกำลังไปฝึก ปปส. (ป้องกันและปราบปรามผู้ก่อความไม่สงบ) ที่ค่ายฝึกหนองตะกูปากช่อง ซึ่งเป็นค่ายฝึกของศูนย์สงครามพิเศษลพบุรี เจ้าหน้าที่ของศูนย์ไปฝึกรุ่นนั้นทั้งหมด 19 คน พอฝึกเสร็จกลับมารายงานต่อกับ ผอ.  ซึ่งตอนนั้นมีนายช่างศรีสวัสดิ์ อาวิพันธ์ เป็น ผอ. ท่านก็จัดส่งพวกผมทั้ง 19 คน ขึ้นปฏิบัติสร้างทางขึ้นเขาค้อทันที พร้อมกับมอบอาวุธประจำกาย คือ ปืนกลทอมสัน คนละ 1 กระบอก (เป็นปืนของอเมริกาที่ใช้ในสงครามโลกครั้งที่ 2) พรรคพวกทั้งหมดไม่มีใครปฏิเสธเพราะทุกคนต่างก็คิดว่าได้ผ่านการฝึกทหารกันมาสด ๆ ร้อน ๆ ยิ่งได้อาวุธประจำกายด้วย ทำให้มีจิตใจฮึกเหิมอยู่ในสภาพพร้อมรบ”

ขณะที่รถวิ่งอยู่ช่วงกิโลเมตรที่ 3 นายช่างคิดควร บอกว่า “ที่ตรงนี้มีการซุ่มโจมตีของ ผกค. พวกเราอยู่บนเส้นทางต้องหมอบอยู่บนพื้นทาง ยิงกันจนกระสุนหมด ต้องขอกระสุนส่งโดยใช้ผ้าเช็ดหน้าห่อขว้างจากด้านหลังไปสู่ส่วนข้างหน้า วันนั้นนายช่างกำพล อิทธิพงษ์ เข้ามาที่หน้างานด้วย (นายช่างกำพลฯ เป็นนายช่างโครงการสายศิลา – นาพอสอง พื้นที่สีชมพูด้านน้ำหนาว) รวมทั้งพี่วินิจ บูรณ์ทอง นายช่างโครงการสายนางั่ว – สะเดาะพง – หนองแม่นา ก็ติดอยู่ในวงล้อมด้วยกัน จนคล้อยค่ำพออาศัยความสลัวถอนตัวกลับกิโลเมตรที่ 0 ได้โดยปลอดภัย ทั้งนี้ด้านซ้ายของรถแทรคเตอร์ D9G ได้ทับกับระเบิด (กับบุคคล) แผ่นแทรคหลุดไป 3 แผ่น ช่างซ่อมต้องซ่อมทันที และเดินต่อให้ได้ (แนวคิดของท่านผอ. ศูนย์ท่านประพล สมุทระประภูต)  เป็นการข่มขวัญฝ่ายตรงข้าม ในหลักการเดียวกันนี้ได้ใช้มาตลอด เช่น เมื่อคราวรถน้ำถูกซุ่มยิ่ง และทับกับระเบิด ก็จัดเทเลอร์มารับจากหน้างานกลับโรงงานศูนย์ฯ หล่มสัก แล้วจัดรถน้ำลักษณะเดียวกันพ่นหมายเลขรถเดียวกันกับคันที่ถูกซุ่มยิง และทับกับระเบิด แล้วส่งเข้าพื้นที่หน้างานทันทีในวันนั้นเพื่อบอกว่าเครื่องจักรไม่เสียหาย ยังคงปฏิบัติการไว้เช่นเดิม นับว่าเป็นการปฏิบัติการทางจิตวิทยาต่อทุกฝ่ายด้วย”

พอรถวิ่งขึ้นเขามาถึงกิโลเมตรที่ 4 หน้าเขาถ้ำ นายช่างคิดควร ชี้ให้ดูด้านขวาทางพร้อมกับบอกว่า ที่จุดนี้ ผกค. เอาหลักกันโค้งของเรามาวางขวางทางไว้ เขียนคำว่า “สุดเขตประเทศไทย .. พคท.” 

“ช่วงนั้นมีกำลังคุ้มกันไหมครับ” 
“ มีเหมือนกัน แต่เป็นกำลังพลของอาสาสมัครของจังหวัดเพชรบูรณ์ (อสจ.พช. ) ต่อมาก็ปรับกำลังเป็นหน่วยตำรวจ นปพ. (หน่วยปฏิบัติการพิเศษ) พอเหตุการณ์หนักขึ้นมีการซุ่มโจมตี ก็จัดหน่วยทหารขนาดเล็ก (นทล.) 1 ชุด เข้าปฏิบัติการยึดหัวงานไว้” (นทล. เป็นหน่วยทหารจรยุทธ มีความคล่องตัวสูง กินนอนอยู่ในป่าเช่นเดียวกับ ผกค.) 

พอเกือบถึงกิโลเมตรที่ 5 ทางขึ้นสุดลาดเนิน นายช่างคิดควรท่านเล่าว่า “ ตรงนี้มีเหตุการณ์สำคัญ คือ เช้าวันนั้น ที่จริงแล้วผมกับโปรเจค คือ พี่วินิจ บูรณ์ทอง จะต้องออกมาหน้างานพร้อมกัน แต่ผมรีบออกมาวางแนวเพื่อวางท่อก่อน ก่อนออกมานั้นผมแต่งตัวด้วยชุดลายพราง มีพนักงานขับเครื่องจักรออกมาด้วยคนหนึ่ง คือ นายวิเชียร จิตรบุญธรรม แต่งชุดลายพรางเหมือนกัน ส่วนโปรเจคนั้นใส่เสื้อคอกลม กางเกงสีขาว แต่งตัวเตรียมออกปฏิบัติงาน ผมกับโปรเจคนั้น ถูกสายข่าวของฝ่ายเขารายงานเข้าไปหน้างานแล้ว พอรถโปรเจคมาถึงใกล้จุดที่ผมตั้งกล้องวางแนวอยู่ โปรเจคให้คนขับรถจอดตรงนั้นแล้วก็ลงมาคุยกับผม และถามผมว่าเป็นอย่างไรบ้าง ผมบอกว่าพอใช้ได้ พี่ช่วยลงไปดูให้ด้วยว่า โอเคไหม พี่วินิจก็เดินลงไปที่วางท่อ ส่วนคนขับรถ หลังจากกลับรถเพื่อเตรียมพร้อมออกจากหน้างาน จอดไว้ข้างรถของผมซึ่งเป็นรถแลนด์โรเวอร์ผ้าใบช่วงยาว นายวิเชียรนั่งอยู่กระบะท้ายหันหลังให้จุดตั้งกล้องสำรวจที่ผมกำลังส่องอยู่แล้วนายเล็ก (อุทิศ … ) คนขับรถของโปรเจค บังเอิญว่าวันนั้นใส่เสื้อคอกลมกางเกงสีขาวเหมือนโปรเจค ขณะที่ลงมาจากรถนายเล็กเขาสูบบุหรี่ด้วย ใครเห็นเขาก็คงนึกว่าเป็นนายช่าง ส่วนผมเองจังหวะที่ผมส่องกล้องนั้น ผมถอดเสื้อลายพรางออกแล้ว เพราะเช้านั้นอากาศร้อนอบอ้าวมาก เหลือแต่เสื้อคอกลมตัวที่ใช้ฝึก ปปส. ขณะที่นายเล็กเดินมาที่ผมยืนส่องกล้องอยู่นั้น ก็มีโฟร์แมนอีกคน คือ นายเสน่ห์ อินจน ตอนนี้ลาออกไปแล้ว ช่วงนั้นเองผมได้ยินเสียงปืนอาร์ก้าดังขึ้น แปะ แปะ สองนัด จากเนินขวามือ ผมหันไปเห็นนายเล็กล้มลง มีรอยกระสุนเข้าที่ปลายคาง แฉลบออกคอด้านขวา นายเสน่ห์ ก็ล้มลงด้วย ปากกระบอกปืน HK33K  กระแทกพื้น ลำกล้องคดใช้การไม่ได้ ผมคลานเข้าไปเอาผ้าพันคอสีม่วงที่มีอยู่เป็นสัญญาณบอกฝ่าย อุดรอยแผลที่ลำคอ แต่เลือดก็ยังไหลทะลุผ้าออกมา ผมหันไปทางซ้ายบอกพนักงานขับรถให้กลับรถของผม แต่ได้ยินเสียงนายวิเชียรบอกว่า “ผมถูกยิง” แล้วฟุบลงกับพื้นรถ มีเลือดไหลทะลุกระบะลงพื้นดินดัง จ๊อก .. !!  ผมจะขึ้นไปดู มีเสียงร้องบอกว่า “อย่าขึ้นไป มันกำลังยิงอยู่” พอเสียงปืนเงียบลง ผมขึ้นไปดูเห็นนายวิเชียรถูกยิงจากด้านหลังทะลุหน้าอก ตัวซีดอ่อนระทวยอยู่ จึงช่วยเอาตัวนายวิเชียรขึ้นรถโปรเจคที่กลับรถเตรียมไว้แล้ว และนายเล็กไปพร้อมกัน ส่งโรงพยาบาลเพชรบูรณ์ ต่อมาได้รับวิทยุรายงานว่านายวิเชียรฯ เสียชีวิตแล้วระหว่างทางเพราะเสียเลือดมาก ส่วนนายเล็กปลอดภัย วันนั้นสรุปว่ามีนายวิเชียรถูกยิง 1 นัด และนายเล็ก 1 นัด ซึ่งนายวิเชียรที่สวมชุดพรางเหมือนผมก็มารับเคราะห์แทนผม ส่วนนายเล็กฯ คนขับรถโปรเจคนั้น ตอนหลังก็ลาไปบวช รายนั้นก็รับเคราะห์แทนโปรเจคเหมือนกัน”

“หลังจากวันที่ถูกซุ่มยิงประมาณ 1 เดือน นายประสิทธิ์ กุณาคำ คนงานชุดถางป่าขุดตอก็ถูกซุ่มยิงที่ประมาณกิโลเมตรที่ 6 เสียชีวิตทันทีอีก 1 ราย
บริเวณกิโลเมตรที่ 4-5 นี้ หลังจากยกคันทาง เป็นทางลงหินคลุกเตรียมจะลาดยาง รถส่งอะไหล่และเสบียงหุ้มเกราะของศูนย์ฯ หล่มสักก็ทับกับระเบิดไฟลุกไหม้ทั้งคัน นายเสริม ยกมา คนงานประจำรถถูกไฟไหม้ทั้งตัว ทนพิษบาดแผลไม่ไหว เสียชีวิตในเวลาต่อมา ส่วนคนขับนายเสริมศิลป์ มั่นคงดี บาดเจ็บสูญเสียการได้ยิน และเมื่อวันที่ 10 พ.ย. 2521 รถดั้มบรรทุกหินคลุกไปส่งหน้างานก็ทับกับระเบิดบนถนนและถูกซุ่มยิง ทำให้นายชิงชัย ปานันท์ พนักงานขับรถเสียชีวิตทันที ซึ่งปกติแล้ว นายชิงชัย ปานันท์ เป็นพนักงานขับรถประจำของผม แต่วันนั้นได้ส่งไปช่วยขับรถดั้ม และเสียชีวิตดังกล่าว รวมทั้งวันที่ 9 พ.ย. 2521 หน้างานด้านเขาค้อที่ฐานกอไผ่ พนักงานขับรถตัก นายพินิจ ดีขุน ก็ถูกซุ่มยิงเสียชีวิตคาที่” 
“นี่เป็นการสูญเสียกำลังพล จนท. ของศูนย์ฯ หล่มสักรวม 6 คน ส่วนที่ได้รับบาดเจ็บทั้งสาหัส และไม่สาหัสเป็นจำนวนมาก ความสูญเสียภายหลังจากปี 2521 แล้วไม่มีอีก มีเพียงได้รับบาดเจ็บ” 

ช่วงต้นเดือนหลังปีใหม่ 2520 นายช่างคิดควร ต้องเข้าไปวางแนวสำรวจ บ. 2.1, 2.2  สะพานห้วยสะพานขาด (กม. 7) โดยมี อสจ. เป็นจุดคุ้มกัน “วันนั้นผมได้เปลี่ยนเส้นทางเดินเข้าที่หมายจุดก่อสร้างสะพาน โดยเดินออกจากท้ายบ้านนางั่วด้านทิศตะวันตก ทำให้ไปถึงหน้างานเกือบเที่ยงแล้ว ได้สำรวจวางแนว บ. 2.1, 2.2 เสร็จแล้วเดินทางกลับในเส้นทางย้อนมาถึงกิโลเมตรที่ 6 เห็นชายฉกรรจ์ 7-8 คนไม่สวมเสื้อ นั่งนอนเล่นอยู่ข้างทาง ท่าทางตกใจ ได้แต่นั่งนิ่ง ชุดของผมก็เดินลาดตะเวนกลับมากิโลเมตรที่ 0 ที่ฐานที่ตั้งอย่างปลอดภัย จากการสังเกต ชุดชายฉกรรจ์นั้นน่าจะเป็นชุดที่คอยซุ่มโจมตีชุดของผม แต่ผมเปลี่ยนเส้นทาง เวลาล่วงเลยไปมากจึงวางอาวุธและซ่อนไว้แล้วนั่งเล่นอยู่ ก็นับว่าเป็นความแคล้วคลาดจากการซุ่มโจมตีครั้งนั้น”

นายช่างคิดควรบอกว่า “มีอีกเหตุการณ์หนึ่งที่จำได้ไม่ลืม คือช่วงที่จะเข้ายึดเขาทราย (ในแผนยุทธการณ์ผาเมืองเผด็จศึก เมื่อ 20 ม.ค. 2524 -19 ก.ค. 2524) เมื่อได้เข้าดูพื้นที่ด้วยการเดินเท้าพร้อมด้วยพนักงานขับเครื่องจักร เพื่อดูแนวเส้นทางที่จะเข้ายึด แล้ว นายสังกา น้อยพี พนักงานขับรถแทรคเตอร์ D8H ถอดใจขอลงกลับไปศูนย์ฯ ไม่ยอมเข้าทำงาน จึงส่งตัวกลับพร้อมทั้งกักบริเวณไม่ให้ติดต่อกับใครเพราะเกรงความลับจะรั่วไหล (นายสังกาฯ ขอกลับขึ้นมาอีกในเวลาถัดมาและขับ D8H คันเดิมทับกับระเบิด Anti-tank สูญเสียการได้ยิน ไม่บาดเจ็บนอกจากแน่นหน้าอก รถ D8H อาร์มคด ไม่มีอะไหล่เปลี่ยนนอกจากซื้อใหม่ทั้งคัน ต้องเผาตัดพอให้ช่องแทรคพอใช้ได้ แต่ใช้ได้ไม่นานโซ่แทรคก็สึก ต้องเชื่อมพอกกันบ่อย ๆ ในวันที่จะเข้าพื้นที่นั้นเป็นวันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2524 นับเป็นวันคล้ายวันเกิดของผม (โบราณเขาถือ) ผมจึงขอเลื่อนวันเป็นวัน ว.บวก 1 โดยได้แจ้งพี่เสือ (พลเอกพิจิตร กุลละวณิชย์ นายทหารยุทธการยศพันเอกในขณะนั้น ปัจจุบันเป็นองคมนตรี) ผมได้เตรียมพนักงานขับเครื่องจักร นายประกอบ แหลมดี ขึ้นขับ D8H แทนนายสังกาฯ ในวันที่ 17 ก.พ. 2524 ได้นำกำลังพลพร้อมเครื่องจักรมี D9G 1 คัน นายถนัด สุสระ เป็นพนักงานขับฯ , D8H 1 คัน นายประกอบ แหลมดี เป็นพนักงานขับฯ . D6C 2 คัน มีนายอ่อน สุชวัตร และนายพรหมสิทธิ์ เป็นพนักงานขับฯ เคลื่อนกำลังจากกม. 13 เข้า กม. 17 เพื่อขึ้นเขาทรายที่หมาย โดยผ่านสันคอเขา (เนินมหัศจรรย์ปัจจุบัน) ได้ด้วยความปลอดภัย ซึ่งกำลังพลของผมที่ว่าประกอบด้วยผมและคนงานพร้อมด้วยช่างปรับซ่อม มีเครื่องมือปรับซ่อมและอาวุธประจำกาย HK 33 ทุกคน”

“คืนนั้นต้องค้างในป่าที่หัวงานยอดเขาทราย อากาศหนาวมาก ชุดเครื่องแต่งกายไม่ได้เปลี่ยน นอนชุดนั้นเลย ตอนหัวค่ำก็เข้าอาศัยนอนใต้รถแทรกเตอร์ D9G ที่เพิ่งจอด แรก ๆ ก็อุ่นดี แต่พอดึกค่อนคืนไปแล้วรถเย็นเหล็กทั้งคันก็เย็นเหมือนตู้เย็น หนาวมาก ต้องขดตัวนอนไม่หลับเลยจนสว่าง อาหารเช้าเป็นข้าวที่หุงในหม้อสนามตั้งแต่เมื่อวาน เพราะไม่ให้ก่อไฟในจุดพักแรมเพราะจะเป็นจุดสังเกตของฝ่ายตรงข้าม ข้าวจึงเย็นและแข็ง ต้องใช้ช้อนขุดแล้วแบ่งกันอมเคี้ยวกลืนประทังความหิว รออาหารมาส่งตอนสาย ชุดออกทำงานต่อเข้ายึดเนินสูงช่มในวันที่ 18 ก.พ. 2524 ได้ตรวจพบจุดซุ่มยิงของ ผกค. ที่ใช้ปืน ปรส. ยิงทหารคุ้มกันสันเนินมหัศจรรย์ในเย็นวันที่ 17 ก.พ. 2524 นั้นเสียชีวิตหลายนาย จะเห็นว่าแคล้วคลาดอัศจรรย์ ผกค. ไม่เห็นกลุ่มเครื่องจักรที่เคลื่อนเข้าพื้นที่สังหารนั้น เพราะหากเห็นก็จะเลือกยิงเครื่องจักรได้อย่างสบายเนื่องจากจุดที่ซุ่มนั้นมองเห็นได้ชัดเจนมาก และการตอบโต้ของทหารฝ่ายเราจะกระทำได้ยากมากเพราะ ผกค. อยู่ในชัยภูมิที่ดีกว่า”

“ในวันที่ 18 ก.ค. 2524 นั้น ฝ่ายเราต้องสูญเสียทหาร 1 นาย คือ ร.ท. ประสาร ริมสีม่วง (ชื่อหมู่บ้านริมสีม่วงที่ทุ่งสะเดาะพง) และนายทหารที่เหยียบกับบุคคลพ่วงกับ Anti-tank ที่  ร.ท. ประสารฯ หยุดอยู่พอดี หลุมระเบิดใหญ่มาก สามารถลงไปยืนกำบังได้สบาย กว้างประมาณ 3 เมตร ลึก 1.50 เมตร 

“สองวันต่อมา เราก็สามารถกรุยทางให้ทหารขึ้นไปยึดเนินข่ม ก.ม. 17 ได้สำเร็จ และก็เป็นบุญมหาศาลของผม เพราะการที่ผมหยุดงานไปหนึ่งวัน ทำให้แผนปฏิบัติทางทหารช้าไปหนึ่งวันเหมือนกัน ถ้าทหารปฏิบัติงานได้ตามแผน ชาวเขาเผ่าม้งแถบนั้นจะตายกันเป็นเบือเพราะฤทธิ์ระเบิดนาปาล์มหรือระเบิดเพลิง ช่วงที่แผนช้าไปทำให้พวกม้งอพยพออกจากหมู่บ้านกันไปหมด ก็นับว่าเป็นบุญของพวกม้งเหมือนกันที่รอดตายจากระเบิดเพลิง”

“วันที่ผมเศร้าสลดใจมากที่สุด คือวันที่ผมต้องนำเครื่องจักรทำทางลำลองให้ทางฝ่ายทหารขึ้นไปยึดพื้นที่บนเขาย่า ซึ่งเป็นที่ตั้งพระตำหนักในปัจจุบันนี้ ผมจำได้ว่าช่วงนั้นประมาณปลายเดือนกุมภาพันธ์ – มีนาคม พ.ศ. 2524 ซึ่งทางหน่วยคุ้มกัน คือฝ่ายทหารเขาพร้อมอยู่แล้ว รอแต่ด้านเครื่องจักรของเรา ผมกับพนักงานขับแทรกเตอร์มาซักซ้อมทำความเข้าใจในการที่เราจะต้องปฏิบัติงาน ซึ่งทีมงานมีพนักขับรถของ รพช. มาร่วมด้วย พอผมให้ชุดเครื่องจักรเข้าทำงาน พนักงานขับแทรกเตอร์ของ รพช. ผู้นั้น ขอลาออกทันที พร้อมกับทิ้งกุญแจไว้กับรถ ส่วนลูกน้องคนขับรถแทรกเตอร์ของเราเองหันมาถามผมว่า“ ทำไมเราต้องมาทำ ทำไมไม่ให้ทหารช่างทำ” ผมตอบไปว่า“ ก็เขามอบภารกิจให้กรมทางหลวง เพราะฉะนั้นเราต้องทำ”
“ถ้าทำก็ได้ แต่นายช่างต้องเดินนำหน้าไปก่อน”
ด้วยสามัญสำนึกในการเป็นผู้นำ เมื่อผู้ใต้บังคับบัญชาพูดมาอย่างนั้น ผมก็แสดงความเป็นผู้นำและความเข้มแข็งให้เขาเห็น ผมจึงตอบไปว่า “ได้ ผมจะเดินนำหน้าไปเอง”
“เส้นทางที่เราจะทำลำลองขึ้นเป็นเส้นทางลากไม้เก่าอยู่ประมาณ ก.ม. 25 เป็นเส้นทางเลียบเนินเขาผมเดินดุ่ม ๆ ของผมคนเดียว ในใจคิดแต่เพียงอย่างเดียว ทำเพื่อรับใช้ชาติ ตายเป็นตาย พอเดินตามทางรถลากไม้เก่าได้ไปประมาณ 200 เมตรเศษ ภาพที่เศร้าสลดที่สุดก็บังเกิดกับสายตาของผม คือศพทหารจีนฮ่อ ชุดคุ้มกันสร้างทางของทหารช่าง ช.พัน 4 ถูกนำมาเผาด้วยยางรถยนต์เต็มไปหมดจนผมไม่สามารถนับได้ในเวลานั้น ผมก็ได้แต่ยืนไว้อาลัยทำสมาธิยืนสงบนิ่ง ก็ได้ภาวนาให้แก่ดวงวิญญาณนักรบผู้กล้าหาญเหล่านั้นไปสู่สุคติ พร้อมกับคิดไปถึงว่า ลูกเมีย พ่อแม่ ญาติพี่น้องของผู้ที่อยู่ในกองเพลิงเหล่านั้น เขาจะรู้ไหมหนอ เขาก็คือผู้ที่มาทำมาหากิน หาเงินเลี้ยงลูกเลี้ยงเมียเลี้ยงพ่อแม่ ป่านนี้พ่อแม่ลูกเมียของเขารอการกลับมาของลูกของพ่อแม่ แต่พ่อแม่เขาหารู้ไหมว่า ลูกของเขาได้สิ้นชีวิตเสียแล้ว ผมเดินไปคิดไป และที่ไฟเผาผลาญร่างกายเขาเหล่านั้นเกือบสามสิบปีมาแล้ว ภาพเหล่านั้นยังเป็นภาพแห่งการต่อสู้เกิดอยู่ต่อสายตา อยู่ในความทรงจำอันเศร้าสลดของผมจนทุกวันนี้”
“พอผมเดินสำรวจทาง สำรวจศพเสร็จ ผมก็กลับมาที่ชุดเครื่องจักรของผมพร้อมกับบอกลูกน้องว่า ทางข้างล่างนั้นเราไปไม่ได้แล้ว เพราะศพของทหารจีนอ่อขวางอยู่ตลอดเส้นทาง เราจะให้รถให้เครื่องจักรทับถมร่างของเขาไปได้อย่างไร เราจำเป็นต้องเปลี่ยนเส้นทางขึ้นไปอีกชั้นหนึ่งตามบนสันเนินเหนือบริเวณนี้ แต่เมื่อผมสั่งให้คนขับรถแทรคเตอร์คนที่บอกให้ผมนำหน้าไปก่อนแล้วเขาจะตาม เขาก็ยังไม่ยอมขึ้นขับรถ มิหนำซ้ำ พนักขับรถคนอื่นๆ ก็ไม่ยอมไป ผมจึงแจ้งให้ทาง ผอ. ศูนย์ฯ ทราบและส่งทั้งชุดกลับศูนย์ฯ เพื่อฟื้นฟูวินัยกันต่อไป และในขณะนั้น ทางฝ่ายทหารเขาก็รอเราอยู่ว่าจะเอาอย่างไร ผมก็เลยวิทยุไปรายงานให้ พอ. พิจิตร กุลละวณิชย์ ทราบข้อขัดข้องโดยขอเลื่อนการปฏิบัติเป็น ว.บวกหนึ่ง แล้วผมก็ลงมาอยู่ที่ฐานเครื่องจักร กม. 13” 

“รุ่งเช้าผมก็นำลูกน้องขึ้นไปปฏิบัติงานตามแผนเดิม โดยให้พนักงานขับรถแทรคเตอร์หนึ่งคน คือ นายกฤษณา มาดาป้อง พร้อมกับช่างปรับซ่อม 3 คน งานก็เดินไปได้ตามแผน ยึดได้บริเวณบ้านกรมทางขณะนี้ อยู่มาอีก 2 วัน พนักงานชุดที่กลับไปศูนย์ฯ เกิดฮึดสู้ขึ้น ก็ไปแจ้งความประสงค์กับ ผอ. ศูนย์ฯ ขอขึ้นไปร่วมสู้ต่อกับนายช่างคิดควรอีก ผอ. ศูนย์ฯ บอกว่า “ รอรับด้วย” ผมขอทราบทางวิทยุที่ ผอ. แจ้งมาผมรู้สึกดีใจมากจนบอกไม่ถูกและในใจมีความมุ่งมั่นว่าจะต้องสำเร็จแน่นอน และในปี พ.ศ. 2525 ก็สำเร็จตามเป้าหมายจริง”

ตามที่นายช่างคิดควร จุลบาทได้เล่ามาทั้งหมดล้วนแล้วแต่เป็นผลงานของชาวศูนย์สร้างทางหล่มสักได้แสดงผลการปฏิบัติงานบนเส้นทางจาก บ้านนางั่ว ผ่านทุ่งสะเดาะพง ไปยังหนองแม่นา และจากบ้านทุ่งสมอ ไปบรรจบกับสายแรกที่ทุ่งสะเดาะพง ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2519 เพื่อให้เจ้าหน้าที่ฝ่ายรัฐบาลสามารถเข้าไปปฏิบัติภารกิจ และยึดพื้นที่กลับคืนมาได้ จนกระทั้งเขาค้อเป็นแดนสวรรค์ของนักท่องเที่ยวในปัจจุบันนี้

ขอบันทึกบุคคลที่กล่าวมาทั้งหมดนี้ให้เจ้าตัวเขาได้ภูมิใจว่าเขาเป็นบุคคลที่โลกยังไม่ลืม และผมเองก็ขอสดุดีเขาเหล่านั้น ให้เขาได้รู้ได้เห็นดีกว่าที่เขาจะถูกจารึกชื่อไว้ที่อนุสาวรีย์ผู้กล้าหาญโดยที่เจ้าตัวเขาไม่ได้รู้ได้เห็นเลย

หน่วยกำลังคุ้มกันการก่อสร้างทางก็ต้องเพิ่มอัตรากำลังเพื่อให้เหมาะสมกับสถานการณ์ที่รุนแรงขึ้นเป็นลำดับจาก อ.ส. เป็นกองร้อยทหารม้า (ม. 210) และกองร้อยทหารราบ (ร. 3472) โดยมีปืนใหญ่สนับสนุน และต่อมาก็ต้องเพิ่มอัตรากำลังขึ้นอีก 2 กองร้อยทหารราบ

เมื่อก่อสร้างทางได้ถึง กม. 13+000 การก่อสร้างก็หยุดชะงักลง เนื่องจากถูกต่อต้านอย่างหนัก จนกองทัพภาคที่ 3 ต้องปรับกลยุทธ์ใหม่ด้วยการเปิดยุทธการผาเมืองเผด็จศึก 1, 2 และ 3 อย่างต่อเนื่องโดยใช้กำลังพลมากมาย การก่อสร้างทางจึงได้เปลี่ยนรูปแบบจากการก่อสร้างทางสายหลัก มาเป็นการก่อสร้างทางลำลองยุทธวิธี เพื่อยึดพื้นที่ และเพื่อส่งกำลังบำรุงให้กับหน่วยทหารที่ยึดพื้นที่ไว้ การปฏิบัติภารกิจเป็นไปด้วยความยากลำบากและเสี่ยงต่ออันตรายอย่างยิ่ง ฝ่ายทหารต้องสูญเสียกำลังพลไปเป็นจำนวนมาก กองทัพภาคที่ 3 ถึงกับต้องระดมกำลังพลเข้าสมทบอีก 8 กองพัน รวม 8 ทิศทาง จึงสามารถยึดพื้นที่เขาค้อไว้ได้ทั้งหมด 

ความสำเร็จของการก่อสร้างทางสายนี้ แลกมาด้วยชีวิตและเลือดเนื้อของเหล่าทหารหาญจำนวนมากมาย เจ้าหน้าที่กรมทางหลวงผู้กล้าหาญของศูนย์เครื่องมือกลหล่มสัก และเขตการทางพิษณุโลก ผู้ต้องสละชีพไปในสมรภูมิเขาค้อครั้งนั้น จำนวน 8 ท่าน คือ

  1. นายสวย จันพุฒ .. ยามรักษาการณ์ (ศูนย์ฯ หล่มสัก) 
  2. นายวิเชียร จิตรบุญธรรม .. พนักงานขับเครื่องจักร (ศูนย์ฯ หล่มสัก) 
  3. นายเสริม ยกมา .. คนงานท้ายรถหุ้มเกราะ (ศูนย์ฯ หล่มสัก) 
  4. นายประสิทธิ์ กุณาคำ .. คนงานสายทาง (ศูนย์ฯ หล่มสัก) 
  5. นายชิงชัย ปานันท์ .. พนักงานขับรถยนต์ (ศูนย์ฯ หล่มสัก) 
  6. นายพินิจ ดีขุน .. พนักงานขับเครื่องจักร (ศูนย์ฯ หล่มสัก) 
  7. นายทองดี เหมือนหมอก .. คนงานท้ายรถบรรทุกน้ำ (เขตการทางพิษณุโลก) 
  8. นายพิภพ เกตุนรัตนกุล .. พนักงานขับเครื่องจักร (เขตการทางพิษณุโลก)

นายช่างคิดควร จุลบาท เกษียณอายุราชการในตำแหน่งผู้อำนวยการสำนักทางหลวงที่ 6 เมื่อ พ.ศ. 2551 ท่านได้ไปบวชเพื่ออุทิศส่วนกุศลให้กับบุคคลที่สละชีวิตในการปฏิบัติงานร่วมกัน และปัจจุบันนี้ ท่านก็ยังคงตั้งหลักแหล่งมีบ้านพักอาศัยอย่างมีความสุข อยู่ใกล้ ๆ ศูนย์สร้างทางหล่มสักในปัจจุบันนี่เอง …
ขอรำลึก ยกย่อง และขอบคุณ ในวีรกรรมและความเสียสละเสี่ยงเป็นเสี่ยงตายของท่าน ที่ได้ทำให้การสู้รบในพื้นที่เขาค้อประสบความสำเร็จ ประเทศชาติกลับมาสงบร่มเย็น และเขาค้อก็กลายมาเป็นแห่งท่องเที่ยวสร้างรายได้มหาศาลให้กับคนเพชรบูรณ์มาจนทุกวันนี้ .. ขอให้ท่านมีความสุข สุขภาพแข็งแรงตราบนานเท่านาน


คัดลอกข้อมูลมาจากบทความของคุณวิเชียร มีแก้ว กองบรรณาธิการ ที่ได้เขียนไว้ใน วารสารทางหลวง เมื่อ พ.ศ. 2556

จังหวัดเพชรบูรณ์ มีลักษณะเป็นแอ่งวางตัวตามแนวเหนือ-ใต้ เกิดจากการเคลื่อนตัวเข้าหากันของเปลือกโลกหรืออนุทวีป 2 แผ่น คือ อินโดไชน่า (Indochina Micro Plate) ทางตะวันออก และ ชาน-ไทย (Shan-Thai Micro Plate) ทางตะวันตกเมื่อ 280-240 ล้านปี ทำให้ทะเลดึกดำบรรพ์ที่อยู่ตรงกลางถูกดันยกตัวขึ้นมาเป็นแผ่นดินและภูเขา เกิดเป็นสิ่งมหัศจรรย์ทางธรรมชาติ ทางธรณีวิทยาที่หลากหลายตามมามากมาย จึงนับว่าเป็นโชคดีของคนเพชรบูรณ์เหลือเกินที่ธรรมชาติได้มอบของขวัญ อันล้ำค่าและรังสรรค์ให้เกิดมีสิ่งมหัศจรรย์ทางธรณีวิทยามากระจายตัวอยู่ทั่วไปทั้งพื้นที่บนแผ่นดินเพชรบูรณ์ของเรา 
การประกาศจัดตั้ง “อุทยานธรณีเพชรบูรณ์” Phetchabun Geopark เพื่อเป็นการผลักดันให้ผู้คนในท้องถิ่น ได้เกิดการร่วมกันศึกษาให้ตระหนักในคุณค่า เกิดสำนึกรักบ้านเกิดเมืองนอน เพื่อร่วมกันอนุรักษ์และพัฒนาให้เป็นแหล่งเรียนรู้  รวมทั้งเป็นแหล่งท่องเที่ยวทางธรณีวิทยา อันจะเป็นสมบัติอันล้ำค่าของจังหวัดเพชรบูรณ์ ของประเทศไทยและของมวลมนุษยชาติของโลกต่อไป ดังนี้

– แหล่งทางธรณีวิทยา 22 แหล่ง ได้แก่

1. ถ้ำใหญ่น้ำหนาว ถ้ำบันทึกโลก (Nam Nao Ancient Cave) บ้านห้วยลาด ตำบลหลักด่าน อำเภอน้ำหนาว 
2. แคนยอนน้ําหนาว มหัศจรรย์เปลือกโลก (Nam Nao Canyon) หลังวัดโคกมน ตำบลโคกมน อำเภอน้ำหนาว    
3. น้ำตกตาดใหญ่ น้ำตกชั้นหินตะกอน 200 ล้านชั้น (Tad Yai Waterfall) บ้านดงมะไฟ ตำบลโคกมน อำเภอน้ำหนาว 
4. ผารอยตีนสัตว์ดึกดำบรรพ์อาร์โคซอร์ (Archosaur Footprints Cliff) บ้านนาพอสอง ตำบลน้ำหนาว อำเภอน้ำหนาว  
5. เลยดั้น ลานหินมหัศจรรย์ (Loei Dun Potholes) บ้านห้วยกะโปะ ตำบลหลักด่าน อำเภอน้ำหนาว
6. ผาแดง แหล่งรอยเลื่อนขอบเปลือกโลก (Pha Daeng Continental Margin Cliff) บนเขาริมทางหลวงแผ่นดิน หมายเลข 12  ตำบลปากช่อง อำเภอหล่มสัก
7. จุดชมวิวถ้ำผาหงส์ ชมข้ามแอ่งเพชรบูรณ์ (Pha Hong Scenic Area and Phetchabun Basin) เขตอุทยานแห่งชาติน้ำหนาว ตำบลปากช่อง อำเภอหล่มสัก
8. สะพานห้วยตอง สะพานเชื่อมแผ่นดิน  (Huai Tong Land Connection Bridge) บนทางหลวงแผ่นดิน หมายเลข ๑๒ ตำบลปากช่อง อำเภอหล่มสัก 
9. หมวดหินน้ำดุก (Nam Duk Formation) ทางหลวง 12 ช่วงหลักกิโลเมตรที่ 373-374 
10. ไดโนเสาร์น้ำหนาว (Nam Nao Prosauropod Bone) ตำบลโคกมน อำเภอน้ำหนาว 
11. โนนหัวโล้น แคนยอนแห่งหล่มสัก (Lomsak Canyon) ตำบลบ้านติ้ว อำเภอหล่มสัก
12. ซากดึกดำบรรพ์สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม (Mammal Fossil Site) โคกเดิ่นฤาษี ตำบลบ้านกลาง อำเภอหล่มสัก 
13. ศูนย์เรียนรู้ธรณีพิบัติภัย (Geohazard Learning Center) โรงเรียนบ้านน้ำก้อ ตำบลน้ำก้อ อำเภอหล่มสัก 
14. การร่อนทอง และห้วยเป้า (Gold Panning Site) บ้านน้ำก้อ ตำบลน้ำก้อ อำเภอหล่มสัก
15. น้ําตกธารทิพย์ ชั้นหินจากทะเลเป็นภูเขา (Than Thip Waterfall) ตำบลบุ่งน้ำเต้า อำเภอหล่มสัก
16. ปลาน้ำจืด 15 ล้านปี (Fish Fossil Site) บ้านหนองปลา ตำบลน้ำเฮี้ย อำเภอหล่มสัก
17. ปลาน้ำจืด 15 ล้านปี (Fish Fossil Site) บ้านท่าพล ตำบลท่าพล อำเภอเมืองเพชรบูรณ์
18. ท่อนไม้กลายเป็นหิน (Petrified Wood Sites) บ้านท่าพล ตำบลท่าพล อำเภอมืองเพชรบูรณ์ 
19. สุสานหอยน้ำจืด (Gastropod Fossil Site) บ้านนางั่ว ตำบลนางั่ว อำเภอเมืองเพชรบูรณ์
20. หินกรวดมน (Conglomerate Site) ลำห้วยท่า ตำบลนางั่ว อำเภอเมืองเพชรบูรณ์ 
21. คตข้าวสาร (Fusulinid Fossil Site) สำนักสงฆ์เต็มสิบ บ้านใหม่โนนโก ตำบลบ้านโตก อำเภอเมืองเพชรบูรณ์ 
22. อุกกาบาตร่องดู่ (Rong Du Meteorite) ตกที่บ้านร่องดู่ อำเภอหล่มสัก 


1. ถ้ำใหญ่น้ำหนาว ถ้ำบันทึกโลก (Nam Nao Ancient Cave) บ้านห้วยลาด ต.หลักด่าน อ.น้ำหนาว UTM E 767006 N 1875402   Lat-Long 16.947059, 101.507064
ถ้ำใหญ่น้ำหนาวมีความยาวเป็นอันดับ 3 ของประเทศไทย ภายนอกมีลักษณะเป็นเขาหินปูนสูงประมาณ 955 เมตร จากระดับน้ำทะเล ทางเข้าถ้ำเป็นผาหินปูนวางตัวแนวตะวันออก-ตะวันตก ตั้งฉากกับแนวระนาบ ประกอบด้วยชั้นหินปูนที่มีขนาดตั้งแต่ น้อยกว่า 5 เซ็นติเมตรถึงชั้นที่หนาประมาณ 50 เซ็นติเมตร ปากถ้ำอยู่สูงจากพื้นประมาณ 10 เมตร กว้างประมาณ 2 เมตร ลึกลงไปในแนวดิ่งจนถึงระดับเดียวกับพื้นราบหน้าถ้ำ ตัวถ้ำทอดลึกเข้าไปในภูเขา มีความลึกมากกว่า 10.6 กิโลเมตร ภายในโถงถ้ำมีความกว้างมากกว่า 10 เมตร สูงกว่า 10 เมตร บริเวณโถงถ้ำ มีหินย้อยจากเพดานถ้ำจำนวนมาก และบางส่วนมีหินที่เกิดจากการตกผลึกของแร่แคลไซต์หรือหินปูนผลึกงอกขึ้นมาจากพื้นถ้ำ ทำให้เกิดเป็นหินที่มีรูปร่างต่างกันตามจินตนาการ มีความงามวิจิตรพิศดาร เช่น หินรูปช้าง หินรูปน้ำตก หินรูปผาม่าน รูปคน รูปอาหารชนิดต่าง ๆ เป็นต้น ภายในถ้ำมีห้องโถงเป็นช่วง ๆ มีทางเดินเท้าไปเชื่อมต่อถึงกัน
ที่สำคัญคือ บนภูเขาปรากฏมีซากฟอสซิลหอยชนิดต่าง ๆ เช่น หอยสองฝายักษ์ Alatochoncha (หอยบินยักษ์) ซึ่งเป็นสัตว์ทะเลน้ำตื้นเขตร้อน ยุคเพอร์เมียน หอยฝาเดียว (Gastropods) ปะการัง และฟิวซูลินิด (Fusulinids) ซึ่งเป็นสิ่งมีชีวิตเซลล์เดียวที่เคยอาศัยอยู่ในทะเลบนโลกในช่วงเวลาต่าง ๆ แต่ได้สูญพันธุ์ไปหมดแล้ว ฟอสซิลฟิวซูลินิดที่เขาถ้ำใหญ่น้ำหนาวแห่งนี้มีหลายชนิดหลายขนาด ซึ่งเป็นหลักฐานแสดงวิวัฒนาการของเปลือกโลกในยุคเพอร์เมียน (280-240 ล้านปี) ได้อย่างครบถ้วน
ภูน้ำริน เป็นอีกชื่อหนึ่งของถ้ำใหญ่น้ำหนาว เพราะมีน้ำไหลหรือน้ำรินออกจากปากถ้ำ ในบางปีที่อากาศหนาวมาก ๆ ก็จะปรากฏเหมือนเป็นฝ้าที่จะเกิดเป็นน้ำแข็งขึ้นมา ภายในถ้ำยังค้างคาวชนิดที่เป็นสัตว์หายากใกล้สูญพันธุ์อาศัยอยู่ เป็นจำนวนมากอีกด้วย
การเดินทาง : สะดวกพอสมควร เมื่อถึงบ้านห้วยลาด มีป้ายบอกทางไปถ้ำ รถยนต์จอดใกล้ทางเข้าได้ แต่ตอนเดินทางเข้าถ้ำต้องมีการเดินปีนเข้าปากถ้ำและภายในถ้ำ ร่างกายจึงต้องมีความพร้อมพอสมควร

2. แคนยอนน้ำหนาว มหัศจรรย์เปลือกโลก (Nam Nao Canyon) หลังวัดโคกมน ต.โคกมน อ.น้ำหนาว UTM E 794098 N 1851337   Lat-Long 16.726492, 101.75809 
แคนยอนน้ำหนาว มีลักษณะเป็นหน้าผาตั้งชันของชั้นหินทรายที่วางตัวอยู่ในแนวเกือบขนานกับแนวระนาบของพื้นโลก วางเรียงตัวกันอย่างเป็นระเบียบ มีลักษณะโค้งเป็นรูปครึ่งวงกลม ในหน้าฝน จะมีน้ำตกไหลลงจากหน้าผาเป็นช่วงๆ สวยงามมาก
จากการศึกษาลักษณะและคุณสมบัติของหินพบว่า เป็นการแข็งตัวของตะกอนที่สะสมตัวในทะเลสาบเมื่อประมาณ 200 ล้านปีก่อน มีความสูงจากพื้นราบมากกว่า 200 เมตร เกิดจากการยกตัวของชั้นหินทรายเนื่องจากการเคลื่อนตัวของเปลือกโลก ทำให้ชั้นหินเกิดการโก่งงอและแตกหักเป็นแนวยาวตามทิศทางการโก่งตัวของชั้นหินและมีการพัฒนากลายเป็นหน้าผาในที่สุด 
หน้าผาดังกล่าว เกิดจากชั้นหินที่มีความทนทานต่อการผุพังที่แตกต่างกันโดยชั้นหินทรายและทรายแป้งจะมีความทนทานอยู่การผุพังและกัดกร่อนได้ดี ขณะที่ชั้นหินดินดานที่แทรกสลับอยู่จะเกิดการผุพังและถูกกัดกร่อนได้ง่าย ชั้นหินดินดานที่ผุพังและเกิดการกัดกร่อนถูกพัดพาไปตามแรงโน้มถ่วงของโลกเกิดเป็นช่องว่างเว้าเข้าไปในผาหิน ชั้นหินทรายที่อยู่ด้านบนก็เกิดการแตกหักเนื่องจากน้ำหนักของชั้นหินที่ไร้สิ่งรองรับ ทำให้หน้าผาดังกล่าวขยายกว้างออกไปเรื่อย ๆ แคนยอนน้ำหนาวแห่งนี้ มีลักษณะการเกิดโดยธรรมชาติและมีความสวยงามคล้าย “แกรนด์แคนยอน” ที่มีชื่อเสียงระดับโลกของประเทศสหรัฐอเมริกา ที่ย่อส่วนลงมา
การเดินทาง สะดวกมาก เข้าไปในวัดโคกมน รถยนต์เข้าถึงลานจอดรถหลังวัดเลย เดินเท้าไปอีกนิดเดียว ก็มองเห็นแหล่งเลย แต่ควรระวังทางเดินจะลื่นนิดหน่อย และไม่ควรออกนอกราวหรือไปชิดขอบหุบเหวมากเกินไป

3. น้ำตกตาดใหญ่ น้ำตกชั้นหินตะกอน 200 ล้านชั้น (Tad Yai Waterfall) บ้านดงมะไฟ ต.โคกมน อ.น้ำหนาว UTM E 796754 N 1850787   Lat-Long 16.721192 101.782905
น้ำตกตาดใหญ่ เป็นน้ำตกเกิดจากทางน้ำของห้วยตาดฟ้ากัดเซาะไปตามรอยแตกในชั้นหิน สามารถแบ่งเป็นสองระดับคือ ช่วงแรก สามารถเดินลงไปตามชั้นหินที่มีลักษณะเหมือนขั้นบันไดเพื่อไปชมหน้าผาน้ำตกได้ ความกว้างประมาณ 20 เมตร ความยาวประมาณ 100 เมตร ช่วงที่ 2 คือ บริเวณหน้าผาน้ำตก มีหน้าผาสูงชันซึ่งมีความสูงประมาณ 80 เมตร มีป่าเขาโอบล้อมทั้งซ้ายขวาสวยงามมาก น้ำตกตาดใหญ่ยังเป็นเส้นแบ่งระหว่างจังหวัดเพชรบูรณ์ และจังหวัดขอนแก่นอีกด้วย 
ลักษณะธรณีวิทยา จัดอยู่ในหมู่หินตาดฟ้า หมวดหินห้วยหินลาด ประกอบด้วย หินโคลน หินดินดาน สีเทาดำ แสดงชั้นชัดเจนมาก ชั้นบางถึงปานกลาง แทรกสลับด้วยชั้นหินปูน และหินทราย สีเทาดำ 
การเกิดน้ำตกตาดใหญ่ เมื่อประมาณ 230-200 ล้านปีมาแล้ว ซึ่งเป็นยุคไทรแอสซิกตอนปลาย บริเวณนี้ มีการสะสมตะกอนตามทะเลสาบน้ำจืด หนองน้ำหรือบึงน้ำ ใช้เวลาหลายล้านปีตะกอนเหล่านี้ก็ได้กลายเป็นชั้นหินดินดานและหินโคลน ต่อมาเมื่อประมาณ 40 ล้านปีที่แล้ว เกิดการเคลื่อนที่ของแผ่นอนุทวีปชาน-ไทยชนกับแผ่นอนุทวีปอินโดไชน่า แรงบีบอัดทำให้ชั้นหินบริเวณนี้ยกตัวขึ้นเป็นภูเขา เกิดความคดโค้งโก่งงอของชั้นหิน เกิดรอยแตก และรอยเลื่อน ในขณะเดียวกันชั้นหินยังถูกกัดเซาะด้วยน้ำ ลม และแสงแดด ทำให้เนื้อหินผุกร่อน แตกหลุด และถูกพัดพาไปตามกระแสน้ำ จนในที่สุดเกิดเป็นผาชันบริเวณน้ำตกดังที่เห็นในปัจจุบัน 
ชั้นของหินดินดานที่เห็นเป็นชั้นเล็ก ๆ ทับถมกันขึ้นมาจนเป็นแผ่นหนา เกิดจากการที่ตะกอนถูกน้ำพัดพามาในแต่ละฤดูที่แตกต่างกัน ถ้าปีไหนฝนตกมาก น้ำแรง ก็จะพาตะกอนมาสะสมตัวได้มาก เกิดเป็นชั้นที่หนา ตะกอนจะเม็ดใหญ่ แต่ถ้าปีไหนน้ำน้อย การตะกอนก็จะเป็นชั้นบาง ๆ ซึ่งขบวนการที่ตะกอนสะสมตัวกันได้หนาขนาดนี้ กินเวลาหลายล้านปี 
การเดินทาง เมื่อถึงบ้านโคกมน เลยวัดโคกมนไปนิดหน่อย เลี้ยวขวาที่ทางแยก มีป้ายบอกทางไปน้ำตกหลายแห่ง เป็นทางคอนกรีตไป ประมาณ 4 กม. ถึงบ้านดงมะไฟ เลี้ยวซ้ายไปตามถนนดินอีก 2 กม. เลี้ยวขวาอีกทีตามที่ป้ายบอกทาง จากลานจอดรถ เดินลงไปตามชั้นหินตลอดระยะทางประมาณ 100 เมตรที่สะดวกพอสมควร มีต้องไต่บันไดไม้ 2 แห่ง ไม่ควรไปยืนริมหน้าผามากเกินไป ขากลับต้องเดินไต่ขึ้นตามชั้นหินพอสมควร และไม่ควรไปหลังจากฝนตกใหม่ ๆ. 

4. ผารอยตีนสัตว์ดึกดำบรรพ์อาร์โคซอร์ (Archosaur Footprints Cliff) บ้านนาพอสอง ตำบลน้ำหนาว อำเภอน้ำหนาว UTM E 784501 N 1852344    Lat-Long 16.736767, 101.668287
รอยตีนอาร์โคซอร์ สัตว์เลื้อยคลานดึกดำบรรพ์ ปรากฏอยู่บนผาหินทรายลาดเอียง 60 องศา สูงประมาณ 100 เมตร หน้าผากว้างประมาณ 300 เมตร พบรอยตีนกว่า 300 รอย ประกอบด้วย 3 แนวทางเดิน สันนิษฐานว่า มีเจ้าของรอยไม่ต่ำกว่า 3 ตัว แนวที่ 1 พบอยู่ทางริมซ้ายสุด มีจำนวนรอยตีนกลุ่มหนึ่ง ส่วนแนวที่ 2 และแนวที่ 3 พบรอยตีนในแต่ละแนวมากกว่า 100 รอย และเป็นแนวทางการเดินที่เกือบขนานกันไปเป็นระยะทางยาวกว่า 100 เมตร ทิศทางการเดินทั้งหมดเป็นการเดินจากยอดผาด้านบนถึงที่จุดชมด้านล่าง เป็นรอยตีนของสัตว์ที่เดินด้วย 4 ตีน ตีนหลังมีขนาดใหญ่กว่าตีนหน้า แนวทางเดินกว้างประมาณ 65 ซม. รอยตีนหลังกว้างประมาณ 19.5 ซม. ยาวประมาณ 33 ซม. ปรากฏรอยนิ้ว 4 นิ้ว รอยตีนหน้ากว้างประมาณ 15.5 ซม. ยาวประมาณ 13.5 ซม. ปรากฏรอยนิ้ว 3-4 นิ้ว รอยตีนลึก 1-3 ซม. 
หลักฐานทางธรณีวิทยา พบว่า รอยตีนอยู่ในหมวดหินห้วยหินลาดมีอายุประมาณ 229-204 ล้านปีหรือในยุคไทรแอสซิค สันนิษฐานว่า เจ้าของรอยน่าจะเป็นสัตว์พวกอาร์โคซอร์ (Archosaurs มาจากภาษากรีก แปลว่า กิ้งก่าผู้ครองโลก) ซึ่งเป็นสัตว์เลื้อยคลานกลุ่มหนึ่งที่อาศัยอยู่ในยุคไทรแอสซิค มีลักษณะคล้ายจระเข้ตัวใหญ่ ๆ  แต่หางสั้น เพราะไม่พบว่ามีรอยลากหาง กินเนื้อสัตว์เป็นอาหาร 
รอยตีนอาร์โคซอร์ที่พบเป็นหลักฐานที่สำคัญที่แสดงถึงวิวัฒนาการการขึ้นบกของสัตว์มีกระดูกสันหลัง ก่อนที่อาร์โคซอร์จะแยกสายวิวัฒนาการออกเป็น 2 สาย คือเป็นสัตว์จำพวกจระเข้และสัตว์จำพวกไดโนเสาร์
การเดินทาง : เข้าเขตบ้านนาพอสอง เข้าทางเดียวกันกับน้ำตกพรานบ่า มีป้ายบอกทางตลอด แม้จะจอดรถยนต์ได้ไม่ไกลจากทางลงไปชมและตอนเดินลงไปไม่ลำบากนัก เพราะมีบันไดคอนกรีตและราวเหล็ก ประมาณ 400 เมตร แต่แต่ตอนเดินกลับขึ้นมา จะเหนื่อยมาก จึงต้องมีร่างกายที่พร้อมมาก ๆ 

5. เลยดั้น ลานหินมหัศจรรย์ (Loei Dun Potholes) บ้านห้วยกะโปะ ต.หลักด่าน อ.น้ำหนาว UTM E 772679 N 1880561   Lat-Long 16.992987, 101.560924
เลยดั้นเป็นลานของชั้นหินทรายที่ถูกกัดกร่อนจากเม็ดกรวดเม็ดทรายที่ถูดพัดพามาจากกระแสน้ำของ “ลำน้ำเลย” ที่ไหลผ่านลานหินทรายแห่งนี้ ทำให้เกิดลักษณะเป็นหลุมใหญ่บ้างเล็กบ้าง ลึกลงไปในเนื้อหินคล้ายหลุมขนมครก ลักษณะการกัดกร่อนของชั้นหินทรายนี้ มีชื่อเรียกทางวิชาการว่า“กุมภลักษณ์ (Potholes)” สามารถเห็นการกัดกร่อนได้ถึง 5 แบบ คือ แบบวงกลม แบบวงรี แบบเสาหิน แบบสะพานหิน และแบบกัดเซาะด้านข้าง นับเป็นความแปลกพิสดารและความสวยงามที่ธรรมชาติได้สร้างขึ้น
นอกจากนั้น สิ่งที่เป็นความมหัศจรรย์ของเลยดั้น คือ การที่ลานหินทราย มีการวางตัวของชั้นหินหันเข้าหาด้านต้นน้ำ ทำให้น้ำที่ไหลลงมาตามชั้นหินเกิดการมุดตัวลงไปใต้ผิวดินตามชั้นหิน แล้วไหลไปออกยังที่ต่ำกว่าที่อยู่ไกลออกไปทางปลายน้ำ ทำให้ดูเหมือนว่าสายน้ำในฤดูแล้งขาดหายไปเป็นช่วง ๆ จึงเป็นที่มาของชื่อ “เลยดั้น” โดยจะเห็นลานหินมหัศจรรย์เหล่านี้ได้ชัดเจนมากในฤดูแล้งที่ไม่มีน้ำท่วมสูงขึ้นมา
การเดินทาง : สะดวกมาก ถนนลาดยางผ่านหมู่บ้านห้วยกะโปะไปจนถึงลานจอดรถ มองไปก็สามารถเห็นได้เลย แต่ควรระมัดระวังตอนปีนป่ายไประหว่างโขดหิน

6. ผาแดง แหล่งรอยเลื่อน ขอบเปลือกโลก (Pha Daeng Continental Margin Cliff) บนเขาริมทางหลวง 12 ต.ปากช่อง อ.หล่มสัก UTM E 757253 N 1852676   Lat-Long 16.74291, 101.412944 
ผาแดงและจุดชมวิวภูผาแดง เป็นพื้นที่ที่มีความสูงมากอีกแห่งหนึ่งของเทือกเขาฝั่งตะวันออกของแอ่งเพชรบูรณ์ ตัวผาแดงเป็นชั้นหินทรายแดง สูงจากระดับน้ำทะเลประมาณ 800 เมตรและสูงจากระดับพื้นราบที่เป็นทางหลวงหมายเลข 12 ประมาณ 200 เมตร บริเวณจุดชมวิวเป็นลานหินเรียบอยู่ด้านบนของผา
ผาแดงเป็นหินทรายแดงหมวดหินภูพาน กลุ่มหินทรายแดงโคราช อายุ 208-201 ล้านปี ที่มีวางตัวของชั้นหินเกือบขนานกับแนวระนาบ และเกิดเป็นหน้าผา เนื่องจากการยกตัวของเปลือกโลกอินโดไชน่า (Indochina Micro Plate) เป็นผลมาจากการเคลื่อนตัวเข้าหากันกับเปลือกโลกชาน-ไทย  (Shan-Thai Micro Plate) ทางทิศตะวันตก
จากยอดผาแดงนี้เอง เป็นจุดที่สามารถมองเห็นหลักฐานของรอยเลื่อนมีพลังเพชรบูรณ์ (Phetchabun Active Fault Zone) ที่วางตัวไปตามเทือกเขาในแนวเกือบเหนือ-ใต้ โดยมองไปทางทิศใต้ จะเห็นยอดเขาที่มีลักษณะสามเหลี่ยมเป็นแนวตรง เรียงลดหลั่นกันเป็นชั้น แสดงให้เห็นว่าเคยเกิดแผ่นดินไหวที่สัมพันธ์กับรอยเลื่อนเพชรบูรณ์หลายครั้งในรอบหมื่นปี
บนจุดชมวิวผาแดง นอกจากจะมีผานกอินทรีที่น่าชมแล้ว ยังจะสามารถมองเห็นทิวทัศน์และความมหัศจรรย์ของลักษณะภูเขาและชั้นหินที่เกิดจากธรรมชาติที่งดงามน่าประทับใจยิ่ง โดยเฉพาะในช่วงฤดูหนาว ระหว่างเดือนธันวาคม-มกราคม จะสามารถชมป่าเปลี่ยนสีที่เกิดการการผลัดใบของไม้ยืนต้นที่เป็นป่าแปลงใหญ่มากจนมองสุดตาได้อีกด้วย
การเดินทาง : สามารถมองเห็นได้ที่จุดชมวิวที่อยู่บนเขา ทางไปน้ำหนาว ริมทางหลวงหมายเลข 12 และสามารถเดินขึ้นไปที่บนยอดหน้าผาได้ โดยผ่านทางศาลเจ้าพ่อผาแดง หรือขับรถเข้าทางบ้านวังยาว ทะลุหมู่บ้านไปทางเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูผาแดง เดินขึ้นบันไดไป ทางชันพอสมควรแต่ไม่ไกลมาก

7. จุดชมวิวถ้ำผาหงส์ ชมข้ามแอ่งเพชรบูรณ์ (Pha Hong Scenic Area and Phetchabun Basin) บนเขาริมทางหลวง 12 เขตอุทยานแห่งชาติน้ำหนาว ต.ปากช่อง อ.หล่มสัก  UTM E 767441 N 1854381   Lat-Long 16.757169, 101.50864 
ถ้ำผาหงส์อยู่บนภูเขาหินปูนที่โดดเด่นและมีที่ราบขนาดเล็กอยู่บนยอดเขา สามารถมองเห็นสภาพภูมิประเทศ ของเทือกเขาทางด้านตะวันตกที่อยู่อีกฝั่งหนึ่งได้  ซึ่งที่ราบที่อยู่ระหว่างแนวเทือกเขาเพชรบูรณ์ทั้งสองฝั่ง ที่เรียกว่า​“แอ่งเพชรบูรณ์” นั้น เป็นร่องรอยที่เกิดจากการเคลื่อนตัวขอแผ่นเปลือกโลกต่าง ๆ ในสมัยดึกดำบรรพ์ ที่เกิดขึ้นบนพื้นที่ของโลกในบริเวณนี้ ฉะนั้น การยืนอยู่บนแนวเขาฝั่งตะวันออกแล้วมองไปยังแนวเขาฝั่งตะวันตกก็เท่ากับเป็นการมองจากขอบฝั่งหนึ่ง ข้ามแอ่งเพชรบูรณ์ ไปยังขอบอีกฝั่งหนึ่งนั่นเอง 
บนยอดเขามีที่ราบที่ใช้เป็นสถานที่สำหรับการชมวิวของทิวทัศน์ที่อยู่รอบด้านได้ และนิยมใช้เป็นจุดชมพระอาทิตย์ตกดินที่สวยที่สุดแห่งหนึ่ง
การเดินทาง : ไปตามทางหลวงหลายเลข 12 เข้าเขตอุทยานแห่งชาติน้ำหนาว จะมีป้ายบอกจุดชมวิวถ้ำผาหงส์ ต้องจอดรถไว้ตรงที่จอดรถริมถนน เดินตามทางสะดวกไป 400 เมตร จากนั้น เดินขึ้นบันไดคอนกรีตราวเหล็กไปยังยอดเขาอีกประมาณ 200 ขั้น ร่างกายต้องมีความพร้อมพอสมควร

8. สะพานห้วยตอง สะพานเชื่อมแผ่นดิน (Huai Tong Bridge) บนทางหลวง 12 ตำบลปากช่อง อำเภอหล่มสัก UTM E 751990 N 1851173   Lat-Long 16.729906, 101.363442
สะพานห้วยตอง เป็นสะพานที่เชื่อมระหว่างภูเขาที่อยู่ใกล้กับที่ราบที่เป็นแนวรอยต่อ ระหว่างแผ่นดินภาคเหนือ-กลาง ทางตะวันตก และ แผ่นดินภาคอีสาน ทางตะวันออก อยู่ตรงบริเวณหลักกิโลเมตรที่ 374 บนทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 12 หล่มสัก-ชุมแพ เป็นสะพานที่สูงที่สุดในประเทศไทยที่มีตอม่อสูง 50 เมตร ความยาว 180 เมตร มีรัศมีโค้งยาว 200 เมตร สามารถแลเห็นทางน้ำที่อยู่ด้านล่างได้อย่างชัดเจนจากบริเวณกลางสะพาน มีจุดชมวิวได้ทั้ง 2 ฝั่งของสะพาน สามารถชมภูมิประเทศที่หลงเหลืออันเป็นผลจากการเคลื่อนตัวเข้าหากันของแผ่นเปลือกโลก ชาน-ไทย (Shan-Thai Micro Plate) ทางตะวันตก และ แผ่นเปลือกโลก อินโดไชน่า (Indochina Micro Plate) ทางตะวันออก
นอกจากนั้นบริเวณที่เป็นป่าบนภูเขายังพบว่าเป็นแหล่งที่อยู่อาศัยของค้างคาวมงกุฎมาร์แชล ที่หาดูได้ยากในปัจจุบัน
การเดินทาง : สะดวกมาก สามารถจอดรถชมที่จุดจอดรถทั้ง 2 ฝั่งของสะพานได้เลย 

9. ชั้นหินแบบฉบับ หมวดหินน้ำดุก (Nam Duk Formation) ริมทางหลวง 12 หลัก กม.ที่ 373-374 UTM E 750949 N 1851089   Lat-Long 16.729259, 101.353675
หมวดหินน้ำดุกสามารถมองเห็นได้จากผารอยตัดหินที่เกิดจากการก่อสร้างถนน อยู่ริมทางหลวง 12 กม.muj 373-374 ด้านทิศเหนือของเส้นทาง หมวดหินน้ำดุก (Nam Duk Formation) ให้ชื่อโดย Chonglakmani and Sattarak, 1984 ประกอบด้วยหินดินดานสีเทาถึงสีเทาดำ หินทรายสีน้ำตาลเหลือง และหินปูนชั้นบางสีเทาถึงเทาเข้ม เป็นลักษณะของหินที่เกิดในทะลลึกหรือไหล่ทวีป ในยุคเพอร์เมียนตอนกลางถึงตอนปลาย ในขณะที่หินปูนที่เขาถ้ำใหญ่น้ำหนาวจะมีลักษณะเป็นเกาะห่างจากชายฝั่งทะเลออกไป ส่วนหมวดหินผานกเค้า และหมวดหินหัวนาคำจะเกิดตรงบริเวณลาดทวีปซึ่งตื้นกว่าหมวดหินน้ำดุก 
จากหลักฐานที่ได้จากการศึกษาลักษณะทางตะกอนวิทยา หมวดหินน้ำดุกถูกแปลความหมายว่าเป็นส่วนอยู่ตรงกลางของการเคลื่อนตัวเข้าหากัน ระหว่างเปลือกโลกชาน-ไทยกับเปลือกโลกอินโดไชน่า นอกจากนั้นหินปูนที่พบที่ถ้ำใหญ่น้ำหนาว มีซากดึกดำบรรพ์หอยบินซึ่งเป็นหลักฐานของทะเลโบราณเทธิส (อินโดไชน่า) ในขณะที่หินปูนที่พบทางตะวันตกของตำบลบ้านโภชน์ที่ต่อเนื่องขึ้นมาถึงเพชรบูรณ์และเขาค้อ พบว่าฟอสซิลเป็นแบรคิโอพอด ตระกูล productus ที่เป็นฟอสซิลที่พบในแผ่นเปลือกโลกชาน-ไทย ที่แยกมาจากด้านตะวันตกของออสเตรเลีย อายุหมวดหินน้ำดุก เทียบได้กับชั้นบนของน้ำหนาวและผานกเค้า คือยุคเพอร์เมียนตอนกลางที่อายุเท่ากันแต่เกิดอยู่คนละที่ในขณะนั้น 
การเดินทาง : สามารถจอดรถริมทางหลวง 12 ช่วงหลักกิโลเมตรที่ 373-374 ที่มีไหล่ทางด้านทิศใต้กว้างพอสมควรให้จอดรถได้ สามารถมองเห็นรอยชั้นหินบนหน้าผายาวต่อเนื่องกันไปประมาณ 200 เมตร

10. ไดโนเสาร์น้ำหนาว (Nam Nao Dinosaur) ตำบลโคกมน อำเภอน้ำหนาว
ฟอสซิลกระดูกสะโพกของไดโนเสาร์ที่พบในเขตตำบลโคกมน อำเภอน้ำหนาว ริมทางหลวงหมายเลข 12 บริเวณใกล้ด่านทางเข้าอุทยานแห่งชาติน้ำหนาว โดยนเรศ สัตยารักษ์ นักธรณีวิทยาของกรมทรัพยากรธรณี เป็นไดโนเสาร์ยุคไทรแอสซิกตอนปลาย กลุ่มโปรซอโรพอด (Prosauropod) จำพวกคอยาว ขาหน้าสั้น แบบเดียวกันกับ Lufengosourus กินพืชเป็นอาหาร จากการที่นักธรณีวิทยาได้เคยศึกษาไว้ พบว่าเป็นฟอสซิลไดโนเสาร์ที่มีอายุเก่าที่สุดในประเทศไทย เป็นชิ้นส่วนที่เป็นหลักฐานยืนยันว่าแผ่นดินด้านอําเภอนํ้าหนาวเป็นส่วนหนึ่งของอนุทวีปอินโดไชน่า (Indochina Micro Plate) ทางภาคอีสานของไทย ที่ได้มีการพบฟอสซิลไดโนเสาร์มากมายหลายแห่งนั่นเอง ปัจจุบัน ฟอสซิลชิ้นนี้ ถูกเก็บรักษาไว้ที่พิพิธภัณฑ์สิรินธร จ.กาฬสินธ์ุ 
การเดินทาง : เนื่องจากยังไม่สามารถนำของจริงมาจัดแสดงได้ จึงได้ทำแบบจำลองมาจัดแสดงไว้ที่พิพิธภัณฑ์ธรณีเพชรบูรณ์ หนองนารี อ.เมืองเพชรบูรณ์

11. โนนหัวโล้น หล่มสัก ประติมากรรมธรรมชาติ (Lomsak Erosional Landform) ตำบลบ้านติ้ว อำเภอหล่มสัก  UTM E 746071 N 1856697   Lat-Long 16.780429, 101.308562 
โนนหัวโล้น ปรากฏการณ์ธรรมชาติที่เกิดจากการกัดเซาะในแนวดิ่งของธารนํ้าผ่านเนินที่เป็นชั้นหินทรายแป้งที่ยาวนานต่อเนื่องกันมานับแสนปี ทำให้ด้านข้างของเนินชันเกิดการพังทลายลงมาตามแนวดิ่งกับพื้นโลก มองเห็นเป็นเนินดินลักษณะแปลกประหลาด สามารถมองเห็นส่วนพื้นที่เป็นชั้นตะกอนของพื้นโลกดั้งเดิมที่มีลักษณะเป็นชั้น ๆ ได้
การเดินทาง : สะดวกมาก มีทางรถยนต์เข้าทางโรงเรียนติ้ววิทยาคม ไปจอดรถได้ถึงแหล่งเลย ส่วนการเดินไปชมก็มีเดินขึ้นเนินไปบ้างเล็กน้อย

12. ซากดึกดำบรรพ์สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม (Mammal Fossil Site) โคกเดิ่นฤาษี ต.บ้านกลาง อ.หล่มสัก
ซากดึกดําบรรพ์สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมเป็นครั้งแรกในจังหวัดเพชรบูรณ์ เมื่อเดือนมีนาคม 2558 ได้มีการขุดพบซากดึกดำบรรพ์ในบริเวณพื้นที่อ่างเก็บนํ้าโคกเดิ่นฤาษี บ้านน้ําพุสามัคคี ตําบลบ้านกลาง อําเภอหล่มสัก จังหวัดเพชรบูรณ์ ตั้งอยู่บริเวณตอนเหนือของแอ่งเพชรบูรณ์ (Phetchabun Basin) โดยพบในชั้นตะกอนซึ่งเป็นหินโคลนสีเทาแกมเขียว และสีน้ําตาลแกมแดงที่ระดับความลึกประมาณ 10-13 เมตร ซากดึกดําบรรพ์ที่พบได้แก่ สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมวงศ์แรด (Rhinocerose) โดยพบฟันท่ี สมบูรณ์จํานวน 5 ตัวอย่าง คือ ฟันกรามบนด้านขวา ฟันกรามเล็กด้านบนขวา ฟันกรามเล็กด้านล่างขวา ฟันกรามเล็กด้านบนซ้าย และฟันกรามล่างด้านขวา และพบกระดูกซี่โครง กระดูกขา กระดูกสันหลัง กระดูกสะบัก กระดูกสะโพก และกระดูกนิ้ว 
นอกจากนั้น ยังพบซากดึกดำบรรพ์ ฟันและกระดูกขาของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมวงศ์กวาง (Cervidae) และยังพบซากดึกดำบรรพ์เป็น ฟันจระเข้ และเศษช้ินส่วนของกระดองเต่า และหอยฝาเดียวซึ่งพบเฉพาะแผ่นปิด (operculum) จากช้ันตะกอนที่พบซากดึกดำบรรพ์ สามารถบอกสภาพพื้นที่ได้ถึงการไหลของกระแสน้ําที่ไหลช้า มีพลังงานน้อย น้ํานิ่งสงบ สันนิษฐานว่าสภาพแวดล้อมบรรพกาลในบริเวณน้ีมีลักษณะการเกิดและการ สะสมตัวเป็นแบบบึงหรือแอ่งน้ําขนาดเล็กสลับกับทุ่งหญ้าเป็นบริเวณกว้าง โดยสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมอาศัย เป็นแหล่งหาอาหารในช่วงเวลาน้ัน 
การศึกษาเบื้องต้น สันนิษฐานใว่าซากดึกดําบรรพ์สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมเหล่านี้ น่าจะมีอายุอยู่ในช่วงสมัยไมโอซีน 15 – 13 ล้านปี ถือได้ว่าเป็นการค้นพบซากดึกดําบรรพ์สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมสมัยไมโอซีนเป็นครั้งแรกของแอ่งเพชรบูรณ์  
นอกจากนั้น จากบริเวณสระน้ำที่พบซากดึกดำบรรพ์นี้ มองไปยังแนวเขาด้านตะวันออก จะเห็นลักษณะภูเขาที่เป็นหลักฐานของรอยเลื่อนมีพลังเพชรบูรณ์ได้อย่างชัดเจน
การเข้าชม : ปัจจุบัน ซากดึกดำบรรพ์ถูกเก็บรักษาไว้ที่ ศูนย์ศึกษาวิจัยและพิพิธภัณฑ์ไดโนเสาร์ ภูเวียง ขอนแก่น แต่สามารถมาชมภาพและรายละเอียดได้ที่พิพิธภัณฑ์ธรณีเพชรบูรณ์ หนองนารี

13. ศูนย์เรียนรู้ธรณีพิบัติภัย น้ำป่าและดินโคลนถล่ม (Geohazard Learning Center) โรงเรียนน้ำก้อ อ.หล่มสัก UTM E 732317 N 1858593    Lat-Long 16.799463, 101.180463 
เมื่อวันที่ 11 ส.ค. 2544 เวลา 03.00 น. หลังจากฝนตกอย่างหนัก ที่บ้านน้ำก้อ ตำบลน้ำก้อ และบ้านหินโง่น ตำบลน้ำชุน อำเภอหล่มสัก จังหวัดเพชรบูรณ์ ได้เกิดกระแสน้ำป่าอันเชี่ยวกราก พัดเอาบ้านที่อยู่ในรัศมีทางน้ำของชาวบ้านที่กำลังนอนหลับใหล พัดหายไปทั้งหลัง ทั้งหมู่บ้านราบเป็นหน้ากลอง ด้วยฤทธิ์น้ำป่าที่หอบเอามาทั้งดินโคลน และซากต้นไม้ กิ่งไม้ อย่างถอนรากถอนโคน เช้าวันรุ่งขึ้นทางการพร้อมด้วยหน่วยกู้ภัยเข้าเคลียร์พื้นที่ สิ่งที่พบเห็นล้วนเป็นภาพแห่งความสลดหดหู่ เพราะมีแต่ซากปรักหักพัง และถูกทับด้วยต้นไม้ กิ่งไม้ และดินโคลน และเต็มไปด้วยศพ นับรวมเป็นจำนวนมากมายถึง 136 ศพ และมีผู้บาดเจ็บ 109 คน สูญหาย 4 คน บ้านเรือนเสียหายทั้งหลัง 188 หลัง เสียหายบางส่วน 441 หลัง คิดเป็นมูลค่าความเสียหายรวม 645 ล้านบาท
สาเหตุ ที่เหตุการณ์ที่บ้านน้ำก้อ-น้ำชุน มีความรุนแรง ก็เพราะมีการสร้างชุมชนซึ่งอยู่ห่างจากไหลเขาเพียงไม่กี่กิโลเมตรและห่างจากช่องเขาน้ำก้อใหญ่ตัดกับเขาวังบาล เพียง 2.5 กิโลเมตร ดังนั้นเมื่อเกิดการพังทะลายของลาดเขาโดยเฉพาะเขาน้ำก้อใหญ่ ปริมาณน้ำหลากผสมโคลนต้นไม้ ตอไม้ จะใช้เวลาเดินทางประมาณ 6- 10 นาทีก็ถึงบริเวณหมู่บ้าน ซึ่งความเร็วของโคลนดังกล่าวมีประมาณ 4 – 6 ม. ต่อวินาที ดังนั้น ชาวบ้านจึงไม่มีเวลาเตรียมตัวได้ทัน ประกอบกับเหตุการณ์เกิดขึ้นเวลาประมาณตี 3 ซึ่งเป็นเวลาหลับนอนอย่างสนิท ความสูญเสียจึงมาก และแรงกระแทกที่กระทบต่อเสาอาคารบ้านเรือน พบว่าด้วยความเร็วของสายน้ำและโคลนดังกล่าวและด้วยความหนาหรือความลึกของชั้นโคลนประมาณ 1 เมตร แรงกระแทกมีไม่ต่ำกว่า 1 ตัน โครงสร้างอาคารส่วนใหญ่จึงไม่สามารถต้านแรงกระแทกน้ำได้ 
หลังจากเหตุการณ์ดังกล่าว ชาวบ้านน้ำก้อ-น้ำชุน ก็ได้เรียนรู้ที่จะอยู่กับธรรมชาติอย่างปลอดภัยและมีความสุข โดยได้คืนผืนป่าให้กับธรรมชาติ โดยการทำเกษตรกรรมของชาวบ้าน จะเป็นการทำนา ทำใบยาสูบ ปลูกข้าวโพด พืชผัก ไม่มีการตัดไม้ ทำลายป่า ไม่มีการทำไร่เลื่อนลอย และปัจจุบันหมู่บ้านน้ำก้อและน้ำชุน ยังมีอ่างเก็บน้ำขนาดกลาง เพื่อรองรับน้ำจากเขาด้านบน และมีหอเตือนภัยในชุมชน แจ้งเหตุ เพราะหมู่บ้านน้ำก้อ-น้ำชุน เป็นพื้นที่เสี่ยงภัยจากน้ำป่าและโคลนถล่ม และชาวบ้านก็จะตื่นตัวและเตรียมพร้อมระวังเหตุทุกครั้งเมื่อฤดูฝนมาถึง

14. การร่อนทองและห้วยเป้า (Gold Panning Site) บ้านน้ำก้อ อ.หล่มสัก  UTM E 730582 N 1859329   Lat-Long 16.805781, 101.163596 
การร่อนทองที่บ้านน้ำก้อ เป็นที่มาของชื่อ น้ำก้อบ่อคำ คนน้ำก้อจะหาทองโดยขุดหลุมลงไปลึกพอตัวคน ขุดดินขึ้นมา และนำไปร่อนหาทองที่ห้วยเป้า ซึ่งอยู่ใกล้ ๆ บริเวณนั้นเอง 
กรมพระนครสวรรค์วรพินิจ ได้ทรงบันทึกไว้ใน ” “รายงานตรวจราชการ จังหวัดหล่มสัก จังหวัดเลย จังหวัดเพ็ชร์บูรณ์ ในมณฑลพิศณุโลกและมณฑลอุดร เมื่อเดือนเมษายน พระพุทธศักราช ๒๔๗๐” ว่า “จังหวัดหล่มสัก มีอาชีพที่แปลกกว่าธรรมดาอยู่อย่างหนึ่งก็คือ การร่อนทองคำ บ่อทองเมืองหล่มสัก ตั้งอยู่ที่ตำบลน้ำก้อ ทางจากเมืองไปข้างทิศตะวันตกประมาณ 9 กิโลเมตร น้ำก้อเป็นลำห้วยเล็ก ๆ ไหลลงน้ำพุง มีบ้านหมู่ใหญ่ยาวตามลำห้วย ภูมิประเทศเป็นสวนไม้ผลปลูกอย่างหนาแน่น อากาศเย็นชื้นคล้ายๆสวนเมืองลับแล ผลไม้ที่ปลูกมีแทบทุกอย่าง เว้น ทุเรียน บ่อทองอยู่ห่างจากหมู่บ้านไปไม่สู้มากนัก การร่อนทองราษฎรใช้กระทะเหล็กร่อนและได้น้อยเต็มที ทำนองเช่น ทองบางสะพาน ซึ่งคนหนึ่งทำไปปีหนึ่งจะได้ทองเพียงประมาณน้ำหนักสัก 1 บาทเท่านั้น จะเรียกเอาเป็นอาชีพไม่ได้ ส่วนทองคำที่ได้นั้น เข้าใจว่าจะเป็นทองเนื้ออ่อน เพียงประมาณทองเนื้อ 6 แต่สักว่าเป็นบ่อทองแล้วย่อมมีฝรั่งตื่น เช่นเดียวกับที่บางสะพาน เคยมีฝรั่งตั้งบริษัทในลอนดอนส่งผู้จัดการมาทำ แล้วก็ต้องเลิกล้ม เพราะไม่มีเนื้อทองจะทำให้คุ้มค่าได้ฉันใด ที่นี่ก็มีฝรั่งขึ้นมาทำในระหว่างปี 2449 ถึง 2451 ได้ยินว่าเป็นชาวเดนมาร์ก หม้อน้ำเครื่องจักรที่ได้ขนขึ้นมา ยังตั้งตกค้างอยู่ที่นั่น คงจะได้ลงทุนเป็นเงินหลายหมื่นทีเดียว ปลัดอำเภอเล่าว่า ฝรั่งนั้นหาทองคำไม่ได้ เลยกลายเป็นตั้งบ่อนลับ มีราษฎรไปเล่นการพนันและพวกฝรั่งเองก็สูบฝิ่นด้วย” 
ปัจจุบันนี้ ไม่มีการร่อนหาทองกันอีกแล้ว เพราะได้ทองน้อยมากและเป็นทองเนื้อ 6 ไม่มีราคาคุ้มกับการเสียเวลาและการเหนื่อยขุดร่อนทอง คงเหลือแต่หลุมที่เคยถูกขุดและร่องรอยการขุดไว้ให้ศึกษาบ้าง
นอกจากนั้น ยังมีรายงานการพบการร่อนทอง ที่ห้วยร่อนทองและห้วยรังกา ต.ห้วยใหญ่ อ.เมืองเพชรบูรณ์ อีกด้วย

15. น้ำตกธารทิพย์ ชั้นหินจากทะเลเป็นภูเขา (Than Thip Waterfall)  หน่วยพิทักษ์อุทยานแห่งชาติเขาค้อ น้ำตกธารทิพย์ ตำบลบุ่งน้ำเต้า อำเภอหล่มสัก UTM E 726599 N 1842376  Lat-Long 16.653026, 101.124544
น้ำตกธารทิพย์ เป็นน้ำตกที่เกิดจากทางน้ำไหลตัดขวางแนวการวางตัวของผาหินที่เกิดจากรอยแตกของชั้นหินทรายปนหินโคลน
ตามเส้นทางเดินไปยังน้ำตกธารทิพย์ จะปรากฏชั้นหินทรายปนหินโคลนสีเทาดำและสีเขียวเป็นหินที่เกิดสะสมตัว ตั้งแต่ยุคไทรแอสสิกเมื่อประมาณ 240-180 ล้านปีก่อน โดยที่ผิวโลกบริเวณนี้มีการเปลี่ยนแปลงลักษณะของภูมิประเทศไป จึงปรากฏหลักฐานทางธรณีวิทยาสำคัญ เกิดเป็นชั้นหินที่แสดงถึงการเปลี่ยนแปลงของเปลือกโลก คือจากตะกอนสีเทาดำซึ่งเป็นชั้นดินตะกอนก้นทะเลไปเป็นสีเขียวขี้ม้าซึ่งเป็นชั้นตะกอนที่เคยเป็นชายฝั่งปากแม่น้ำ จากนั้น ในที่สุดจึงเปลี่ยนไปสู่หินตะกอนสีน้ำตาลแดงที่เป็นตะกอนที่เกิดในพื้นที่บนพื้นดิน ความสำคัญของสถานที่คือ สามารถมองเห็นชั้นหินที่แสดงการเปลี่ยนแปลงนี้ได้อย่างชัดเจนในสถานที่เดียวกัน
นอกจากนั้น ในบริเวณน้ำตกธารทิพย์ ยังสามารถพบเห็นหินทั้งสี่กลุ่มที่ก่อกำเนิดขึ้นมาในสี่ภพภูมิที่ต่างกัน นั่นคือ ใต้ทะเลลึก ใต้ทะเลสาบ ใต้ท้องแม่น้ำ และภูเขาไฟ รวมทั้งยังมีหินกรวดมนที่กระจายตัวอยู่รวมกันในที่เดียวกัน
การเดินทาง : ค่อนข้างสะดวก รถยนต์เข้าถึงลานจอดรถในหน่วยพิทักษ์อุทยานฯ ได้เลย สามารถเดินชมแนวชั้นหินระหว่างทางเดินไปน้ำตก ระยะทาง 400 เมตร เป็นทางราบ มีช่วงที่ผ่านทางน้ำและก้อนหินไปเล็กน้อย จึงต้องระวังการลื่นด้วย 

16.-17. ฟอสซิลปลาน้ำจืด (Fish Fossil Sites) บ้านหนองปลา ตำบลน้ำเฮี้ย อำเภอหล่มสัก E 733232 N 1860693 และ บ้านท่าพล ตำบลท่าพล อำเภอเมืองเพชรบูรณ์  UTM E 732583.35 N 1833701.29 Lat-Long 16.574082,101.179738
ซากดึกดำบรรพ์ปลาน้ำจืด พบอยู่ ในชั้นหินโคลนยุคนีโอจีน หรือยุคเทอร์เชียรี (เดิม) พบครั้งแรกที่บ้านหนองปลา ตำบลน้ำเฮี้ย อำเภอหล่มสัก จากการขุดสระน้ำเพื่อกักน้ำไว้ใช้ในฤดูแล้งที่พบว่า ในชั้นหินโคลนมีซากปลาที่มีความสมบูรณ์อยู่จำนวนมาก เป็นซากดึกดำบรรพ์ปลาน้ำจืดสายพันธุ์ ต่าง ๆ รวม 9 สายพันธุ์ เป็นปลาสายพันธุ์ใหม่ที่ไม่เคยพบที่ไหนมาก่อน 6 สายพันธุ์ ต่อมา ก็มีการพบเป็นแหล่งใหญ่อีก ที่บ้านท่าพล ตำบลท่าพล อำเภอเมืองเพชรบูรณ์ นอกจากนั้นยังมีรายงานอีกว่า พบฟอสซิลปลาประปรายในอีกหลายแห่ง
ในปัจจุบันเพื่อป้องกันไม่ให้แหล่งซากฟอสซิลถูกทำลายจึงได้มีการระงับไม่ให้มีการขุดเพิ่มเติม จนกว่าจะมีมาตรการบริหารจัดการและดูแลอนุรักษ์ที่ถูกต้องตามหลักวิชาการเพื่อให้มีการศึกษาและจัดแสดงอย่างถูกวิธีต่อไป
การเดินทาง : เนื่องจากยังไม่สามารถเข้าชมในแหล่งที่แท้จริงได้ เพราะได้ปิดเพื่อการอนุรักษ์ไว้ก่อน แต่จะมีบางส่วนนำมาจัดแสดงไว้ให้ชมได้ ที่พิพิธภัณฑ์ธรณีเพชรบูรณ์ ที่หนองนารี อ.เมืองเพชรบูรณ์

18. ท่อนไม้กลายเป็นหิน (Petrified Woods) ตำบลท่าพล อำเภอเมืองเพชรบูรณ์
ไม้กลายเป็นหิน เป็นซากต้นไม้โบราณที่ถูกทับถมในสภาพที่มีออกซิเจนต่ำ จึงไม่เกิดการเน่าสลายตามธรรมชาติ ต่อมามีแร่ธาตุที่ปนมากับสารละลายเข้าไปแทรกอยู่ในช่องว่างของเนื้อไม้ แล้ว เกิดการแข็งตัวกลายเป็นหิน จึงเรียกว่าไม้กลายเป็นหิน 
ในจังหวัดเพชรบูรณ์ ได้พบไม้กลายเป็นหินอยู่หลายท่อนอยู่ที่บ้านท่าพล หมู่ 13 ตำบลท่าพล อำเภอเมืองเพชรบูรณ์ โดยพบ ท่อนไม้ที่ถูกแทนที่ด้วยแร่ธาตุที่มีรูปร่างเหมือนต้นไม้ นอกจากนั้น ยังพบ ได้ในที่อื่น ๆ ในพื้นที่โดยทั่วไปของจังหวัดเพชรบูรณ์อีกด้วย
การเดินทาง : เนื่องจากเป็นแหล่งที่พบได้กระจัดกระจายอยู่โดยทั่วไป จึงไม่ได้จัดให้มีแหล่งเข้าชมได้โดยเฉพาะ แต่ได้นำชิ้นส่วนขนาดใหญ่พอสมควรที่พบที่ ต.ท่าพล มาจัดแสดงไว้ที่ พิพิธภัณฑ์ธรณีเพชรบูรณ์ หนองนารี อ.เมืองเพชรบูรณ์

19. สุสานหอยน้ำจืด 15 ล้านปี (Gastropod Fossil Site) บ้านนางั่ว ตำบลนางั่ว อำเภอเมืองเพชรบูรณ์  UTM E 729496 N 1828139  Lat-Long 16.524136, 101.150261 
สุสานหอยดึกดำบรรพ์ เป็นชั้นของหอยน้ำจืดที่มีลักษณะเหมือนหอยเจดีย์ (Gastropods) ที่ฝังอยู่ในชั้นหินดินดานแข็งที่เกิดการสะสมตัวเมื่อประมาณ 13-15 ล้านปี มีลักษณะเหมือนหอยฉัตรหรือหอยก้นแหลม อยู่ในวงศ์ Viviparidae สกุล Bellemya sp. ที่ตายทับถมและอัดแน่นเป็นชั้นหิน 
การเกิดชั้นหอยน้ำจืดเช่นนี้ สันนิษฐานว่าในอดีต บริเวณนี้เคยเป็นบึงใหญ่หรือทะเลสาบน้ำจืดมาก่อน จากนั้น อาจจะเกิดการเปลี่ยนแปลงของเปลือกโลกทำให้แหล่งน้ำนั้นเกิดการแห้งลงโดยฉับพลัน จนทำให้พวกหอยที่อาศัยอยู่นั้น มาตายกองทับถมกัน แล้วถูกปิดทับด้วยตะกอนอีกที จนเมื่อเวลาผ่านไปนับสิบล้านปี จึงเกิดการผสานเป็นชั้นแผ่นหินเดียวกัน
ชั้นหอยน้ำจืดแบบนี้ ยังพบในที่อื่น ๆ อีกหลายแห่ง เช่น สระน้ำหลังมหาวิทยาลัยราชภัฏเพชรบูรณ์ และในตำบลห้วยสะแก อำเภอเมืองเพชรบูรณ์ ตำบลโคกปรง อำเภอวิเชียรบุรี
การเดินทาง : มีจัดแสดงไว้ในวัดบ้านนาและวัดโพธิ์กลาง ต.นางั่ว

20. หินกรวดมน (Conglomerate Site) ห้วยท่า ต.นางั่ว อ.เมืองเพชรบูรณ์  UTM E 723775 N 1825304   Lat-Long 16.4994556, 101.0965278 
หินกรวดมน (Conglomerate) เป็นหินตะกอนพัดพา มีเนื้อหยาบประกอบด้วยชิ้นเศษหินหรือเม็ดกรวดที่มีความมนสูง มีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางตั้งแต่ 2 มม. ขึ้นไป ถูกกระแสน้ำพัดพามารวมกัน สารละลายในน้ำใต้ดินทำตัวเป็นซิเมนต์ประสานให้อนุภาคใหญ่เล็กเหล่านี้ฝังตัวอยู่ในเนื้อก้อนหินที่เกาะรวมตัวกันเป็นก้อนขึ้นมาใหม่ พื้นที่เป็นตะกอนละเอียด พวกทราย ทรายแป้ง มักมีวัตถุเชื่อมประสานพวก เคล์ แคลเซียมคาร์บอร์เนต เหล็กออกไซด์ ซิลิกา หินมีได้หลายสีตามเนื้อพื้นและเม็ดกรวดที่อาจจะเป็นหินอะไรก็ได้ ที่ถูกพัดพามารวมกัน มักเกิดในสภาพแวดล้อมที่เป็นน้ำตื้น และมีกระแสน้ำไหลแรง หินกรวดมนที่ ต.นางั่วนี้ น่าจะเกิดในยุคไทรแอสซิก อันจะเป็นหลักฐานสำคัญของมหัศจรรย์ธรรมชาติทางธรณีวิทยาที่เกิดจากการเคลื่อนตัวเข้าหากันของ 2 แผ่นอนุทวีปที่พื้นที่จังหวัดเพชรบูรณ์นั่นเอง 
การเดินทาง : จากทางหลวง 234 เลี่ยงเมืองเพชรบูรณ์ ทางแยกตรงกันข้ามกับร้าน 9 Coffee ไปทางตะวันตกตามถนนลาดยาง 1.8 กม. แล้วเลี้ยวขวาไปตามถนนลาดยางอีก 2.7 กม. มีทางแยกเป็นถนนดินทางซ้าย ขับผ่านที่ไร่ชาวบ้านไปตามทางอีก 3.1 กม. โดยก่อนจะถึงแหล่ง จะพบห้วยท่าอยู่ซ้ายมือ ขับเลียบห้วยไปอีก 300 เมตร เดินลงไปทางซ้ายอีก 10 เมตร ก็จะถึงแหล่ง ทางเข้าถึงค่อนข้างไกล แนะนำให้ไปตามพิกัดที่แสดงไว้ และต้องใช้รถยกสูงหน่อย ไม่แนะนำให้ไปในช่วงหน้าฝนหรือหลังฝนตก เพราะเส้นทางจะลำบากพอสมควร

21. คตข้าวสาร ข้าวสารหิน (Fusulinids Fossil Site) สำนักสงฆ์เต็มสิบ บ้านใหม่โนนโก ต.บ้านโตก อ.เมืองเพชรบูรณ์  UTM E 721896 N 1809841   Lat-Long 16.49907, 101.096409
แหล่งคตข้าวสารหรือข้าวสารหิน เป็นภูเขาหินปูนที่มีซากดึกดำบรรพ์ของสัตว์ทะเลเซลล์เดียวที่มีชื่อว่า “ฟิวซูลินิด (Fusulinids)” พบอยู่ในเนื้อหินปูน มีลักษณะยาว หัวท้ายแหลม รูปร่างและขนาดคล้ายเม็ดข้าวสาร จึงทำให้คนเข้าใจผิดว่าเป็นเม็ดข้าวสารกลายเป็นหิน จึงมีชื่อเรียกทั่วไปว่า “คตข้าวสารหรือข้าวสารหิน” 
ฟิวซูลินิด (Fusulinids) ที่พบในแหล่งนี้ เป็นสัตว์ทะเลเซลล์เดียวที่อาศัยอยู่ในทะเลน้ำตื้น เขตอบอุ่น ในอดีตสมัย 280-240 ล้านปี ในยุคเพอร์เมียน และได้สูญพันธุ์ไปตั้งแต่ปลายยุคเพอร์เมียน
คตข้าวสารแบบนี้ ยังสามารถพบได้อีกหลายแห่งที่เป็นภูเขาและถ้ำหินปูนโบราณ เช่น วัดถ้ำเทพบันดาล บ้านลำจังหัน ต.สามแยก อ.วิเชียรบุรี  ถ้ำใหญ่น้ำหนาว  บ้านยางจ่า ต.ภูน้ำหยด อ.วิเชียรบุรี และบ้านซับชมภู ต.บ้านโภชน์ อ.หนองไผ่
การเดินทาง : แยกไปทางตะวันตกจากถนนสาย 21 ที่บ้านสะแกงาน ต.บ้านโตก ไปตามป้ายสำนักสงฆ์เต็มสิบ ประมาณ 2.2 กม. รถยนต์สามารถวิ่งเข้าไปจอดชมแหล่งที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติได้อย่างชัดเจนตามก้อนหินในบริเวณสำนักสงฆ์เต็มสิบ

22. อุกกาบาตร่องดู่ (Rong Du Meteorite) ตกที่บ้านร่องดู่ อ.หล่มสัก 
อุกกาบาตบ้านร่องดู่ ตกลงมาในคืนวันอาทิตย์ที่ 13 มิถุนายน 2536 เวลาประมาณ 20.45 น. บริเวณพื้นที่ใกล้บ้านของนายสาลีและนางคำหล้า รักก้อน บ้านร่องดู่ ตำบลลานบ่า อำเภอหล่มสัก จังหวัดเพชรบูรณ์ ห่างจากบ้านพักประมาณ 30 เมตร
การตรวจสอบโดยนายสิโรตม์ ศัลยพงษ์ และ ดร.ปริญญา พุทธาภิบาล ฝ่ายวิจัยธรณีวิทยา กองธรณีวิทยา กรมทรัพยากรธรณี ยืนยันว่าเป็นอุกกาบาตเหล็ก มีประกายโลหะและความถ่วงจำเพาะสูง พบริ้วโลหะเป็นทางบนผิวอุกกาบาตซึ่งเกิดจากการเสียดสีกับบรรยากาศโลก ผิวนอกสุดมีรอยไหม้ ด้านหนึ่งมีรอยยุบบุบแบบก้นหม้อ อีกด้านฉีกขาดเป็นร่องหลืบ ลักษณะทั่วไปคล้ายตะกรันโลหะ ต่างกันที่ไม่มีรูพรุน รูปร่างของอุกกาบาตบ้านร่องดู่คล้ายลูกสะบ้า กว้าง 7.5 นิ้ว ยาว 10 นิ้ว หนา 4.5 นิ้ว น้ำหนัก 16.7 กิโลกรัม ความถ่วงจำเพาะ 8.08 บริเวณที่พบอุกกาบาตเป็นที่ดอนดินปนทราย เนื้อแน่นปานกลาง ความชื้นต่ำ ลูกอุกกาบาตมุดลงไปในดิน ขณะไปตรวจสอบซึ่งเป็นเวลาหลังจากเอาลูกอุกกาบาตออกมาแล้ว พบว่าบริเวณนั้นเป็นหลุมลึก 110 เซ็นติเมตร ประเมินได้คร่าว ๆ ว่าอุกกาบาตพุ่งมาจากทิศใต้เฉียงไปทางตะวันตก 15 องศา และพุ่งลงมาโดยทำมุมประมาณ 80 องศากับพื้นราบ 
หลังจากนั้น มีข้อสงสัยกันว่า อุกกาบาตที่ตกลงมานี้ เป็นของใคร .. จนต้องมีการตีความกฎหมายกันว่า ทรัพย์สินที่ไม่มีเจ้าของ ใครเก็บได้ คนนั้นก็เป็นเจ้าของ อุกกาบาตจึงเป็นของเจ้าของที่ดินผู้พบเห็นอุกกาบาตก้อนนี้ 
มีสะเก็ดดาวร่วงจากอวกาศลงมาบนโลกทุกวัน ตลอดเวลา เรียกว่าดาวตก แต่ส่วนใหญ่จะเสียดสีกับบรรยากาศของโลกก็ลุกไหม้ละลายไปหมดก่อนจะตกถึงพื้นดิน .. ลูกที่ตกถึงพื้น จะเรียกว่าอุกกาบาต ซึ่งอุกกาบาตที่เหลือตกมาบนพื้นดินให้ได้พบเห็นนั้น จึงต้องเป็นลูกที่ใหญ่จริง ๆ จึงเหลือเศษมาให้ได้เห็น เช่น อุกกาบาตร่องดูนี้ .. 
สังเกตว่า จะเป็นอุกกาบาตเนื้อโลหะและมีรอยไหม้เกรียมที่บริเวณผิว และมีร่องรอยของการถูกความร้อนหล่อละลายที่ผิวด้วย

– แหล่งทางธรรมชาติ 9 แหล่ง ได้แก่ :

23. ผาสวรรค์ (Pha Sawan) 16.988045, 101.612922 … E 778226 N 1880087  บ้านดงคล้อ ตำบลวังกวาง อำเภอน้ำหนาว 
24. ผารอยพระบาท (Pha Roy Phra Bat) 17.019476, 101.626153 … E 779589 N 1883586 บ้านดงคล้อ ตำบลวังกวาง อำเภอน้ำหนาว
25. น้ำตกถ้ำค้างคาว (Tham Khang Khao Waterfall) 16.851954, 101.64812 … E 782179 N 1865069 บ้านห้วยหญ้าเครือ ตำบลน้ำหนาว อำเภอน้ำหนาว
26. น้ำตกพรานบา (Phran Ba Waterfall) 16.739387, 101.650683 … E 782619 N 1852609 บ้านนาพอสอง ตำบลน้ำหนาว อำเภอน้ำหนาว
27. น้ำตกวงพระจันทร์ (Wong Phra Jan Waterfall) 16.994847, 101.587382 … E 775495 N 1880804 บ้านห้วยกะโปะ ตำบลหลักด่าน อำเภอน้ำหนาว
28. ป่าเปลี่ยนสี ที่น้ำหนาว (Fall Foliage Forest) 16.704154, 101.643692 … E 781925 N 1848698 ริมซ้ายของทางหลวงหมายเลข 12 (หล่มสัก-ชุมแพ) ระหว่างกิโลเมตรที่ 417- 426 
29. เส้นทางเดินป่าน้ำหนาว (Nam Nao Hiking Trail) เส้นทางศึกษาธรรมชาติบ้านแปก  16.739493, 101.573877 … E 774425 N 1852513 อุทยานแห่งชาติน้ำหนาว 
30. น้ำตกวังหินลาด (Wang Hin Lad Waterfall) 16.796153, 101.158216 … E 730020 N 1858257 บ้านน้ำก้อ ตำบลน้ำก้อ อำเภอหล่มสัก
31. น้ำตกตาดหมอก (Tad Mok Waterfall) 16.373024, 101.380074 … E 754232 N 1811687 อุทยานแห่งชาติตาดหมอก ตำบลนาป่า อำเภอเมืองเพชรบูรณ์

– แหล่งทางวัฒนธรรม 12 แหล่ง  ได้แก่ :

32. ใบเสมาหินทรายทวารวดี (Ancient Sand Stone Parapet) 16.662768, 101.73914 … E 792173 N 1844253 วัดห้วยสนามทราย ตำบลโคกมน อำเภอน้ำหนาว 
33. ศาลเจ้าพ่อผาแดง (Jao Pho Pha Dang Shrine) 16.740422, 101.411722 … E 757126 N 1852399 ผาแดง ตำบลปากช่อง อำเภอหล่มสัก ริมทางหลวงหมายเลข 12
34. อนุสรณ์สถานเมืองราด (Muang Rad Memorial) 16.761713, 101.27834 … E 742872 N 1854588 บ้านห้วยโปร่ง ตำบลบ้านหวาย อำเภอหล่มสัก
35. วัดท่ากกแก ศูนย์อนุรักษ์วัฒนธรรมไทหล่ม (Tha Kok Kae Temple) 16.768268, 101.25235 … E 740092 N 1855282 บ้านท่ากกแก ตำบลตาลเดี่ยว อำเภอหล่มสัก 
36. พิพิธภัณฑ์หล่มศักดิ์ ความภูมิใจแห่งหล่มสัก (Lomsak Museum) 16.777585, 101.247105 … E 739521 N 1856307 เทศบาลเมืองหล่มสัก อำเภอหล่มสัก
37. อนุสาวรีย์พ่อขุนผาเมือง และพิพิธภัณฑ์พ่อขุนผาเมือง (Pho Khun Pha Muang Monument) 16.752712, 101.202978 … E 734846 N 1853501 ตำบลน้ำชุน อำเภอหล่มสัก 
38. ถ้ำฤาษีสมบัติ (Ruesi Sombat Cave) 16.69064, 101.13701 … E 728160 N 1845426 ตำบลบุ่งน้ำเต้า อำเภอหล่มสัก
39. เสาหลักเมืองนครบาลเพชรบูรณ์ และหอนิทรรศน์นครบาลเพชรบูรน์ (Nakhonban Phetchabun City Pillar) 16.655817, 101.162176 … E 730611 N 1842728 ตำบลบุ่งน้ำเต้า อำเภอหล่มสัก 
40. พุทธอุทยานเพชบุระ (Phechabura Buddhist Park) 16.446118,101.153276 … E 729910 N 1819507 ตำบลสะเดียง อำเภอเมืองเพชรบูรณ์
41. พิพิธภัณฑ์ธรณีเพชรบูรณ์ (Phetchabun Geo Museum) 16.439126, 101.145265  … E 728762 N 1811687 อุทยานวิทยาศาสตร์หนองนารี ตำบลสะเดียง อำเภอเมืองเพชรบูรณ์ 
42. หอโบราณคดีเพ็ชรบูรณ์อินทราชัย ร้อยรวมใจ รวมสุดยอด เพชรบูรณ์ (Phetchabun Intrachai Archaeology Hall) 16.419571, 101.159634 … E 730359 N 1816526 เทศบาลเมืองเพชรบูรณ์ อำเภอเมืองเพชรบูรณ์
43. ศาลหลักเมืองเพชรบูรณ์ (Phetchabun City Pillar Shrine) 16.420902, 101.159998 … E 730672 N 1816734
เทศบาลเมืองเพชรบูรณ์ อำเภอเมืองเพชรบูรณ์

แหล่งมรดกธรณี (Geo Heritage Sites)

1. ท้องทะเลดึกดำบรรพ์บ้านโภชน์ (Ban Pod Paleo Sea Bed) 
2. ท้องทะเลดึกดำบรรพ์บ้านยางจ่า (Phu Nam Yod Paleo Sea Bed)
3. น้ำตกเสาหินอัคนีซับพลู (Sup Plu Basaltic Columnar Joint Waterfall)
4. บ่อน้ำเดือดบ่อน้ำผุด (Amazing Hot Spring)
5. สุสานหอยน้ำจืด 15 ล้านปี (Gastropod Fossil Site)
6. ภูเขาหินปูนปะการัง (Coral Karst Topography)
7. ถ้ำผาโค้ง ผาเจ็ดสี (Rainbow Cliff)

1. ท้องทะเลดึกดำบรรพ์ บ้านโภชน์ (Ban Pod Paleo Seabed) ตำบลบ้านโภชน์ อำเภอหนองไผ่
ท้องทะเลดึกดำบรรพ์ บ้านซับชมภู บ้านซับเดื่อ บ้านเนินสวรรค์ ตำบลบ้านโภชน์ อำเภอหนองไผ่ เป็นพื้นที่ที่มีหลักฐานชัดเจนว่า เคยเป็นไหล่ทวีปใต้ท้องทะเลดึกดำบรรพ์ เกิดในช่วงตอนปลายยุคเพอร์เมียน ประมาณ 240 ล้านปีก่อน เกิดจากการยกตัวของเปลือกโลกที่มีการสะสมของหินปูนใต้ทะเล ซึ่งหินปูนบริเวณที่ยกตัวขึ้นมานั้นมีซากสิ่งมีชีวิตใต้ท้องทะเลปะปนมาด้วย จึงพบแนวหินปูนที่มีซากดึกดำบรรพ์หลายหลายชนิดจำนวนมาก เช่น ปะการัง (Corals) หอยฝาเดียว (Gastropods) หอยสองฝา (Bivalve) หอยตะเกียง (Brachiopods) หอยงวงช้าง (Ammonite) หอยบิน (Alatoconchidae) ฟองน้ำ(Sponge) พลับพลึงทะเล (Crinoid) ฟิวซูลินิด (Fusulinids) กลุ่มสัตว์เซลล์เดียว Bryozoa และอื่น ๆ อีกมากมาย กินพื้นที่เป็นบริเวณกว้างมาก มีทั้งเป็นเนินเขา และที่ราบ ดูน่าตื่นตาตื่นใจยิ่งนัก นอกจากนั้น สภาพการเป็นท้องทะเลดึกดำบรรพ์เช่นนี้ ยังพบว่าแผ่ขยายไปเป็นวงกว้างโดยพบซากดึกดำบรรพ์สัตว์ก้นทะเลหลายชนิดที่ ตำบลภูน้ำหยด อำเภอวิเชียรบุรี ตำบลซับไม้แดง อำเภอบึงสามพัน ตำบลลาดแค ตำบลซับพุทธา อำเภอชนแดน จนไปถึง ตำบลบ้านโตก อำเภอเมืองเพชรบูรณ์อีกด้วย
การเดินทางเข้าถึง :  ในพื้นที่ตำบลบ้านโภชน์ เป็นพื้นที่บริเวณกว้างมาก แต่สามารถพบได้ตามริมถนนที่รถยนต์เข้าถึง แต่บางแห่งต้องเดินเท้าขึ้นไปบนเนินเขา ซึ่งทางท้องถิ่นได้ทำป้ายและแผนที่แนะนำไว้ ขอแนะนำให้ไปแวะขอข้อมูลศูนย์เรียนรู้ฯ ก่อนเพื่อทราบจุดที่แน่ชัด เพื่อให้สามารถเข้าชมได้สะดวกขึ้น

2. ทุ่งโขดหินมหัศจรรย์บันทึกโลก ภูน้ำหยด (Phu Nam Yod Miracle Conglomerate) บ้านยางจ่า ต.ภูน้ำหยด อ.วิเชียรบุรี
แหล่งธรณีวิทยาภูน้ำหยด ต.ภูน้ำหยด อ.วิเชียรบุรี จ.เพชรบูรณ์ เป็นเสมือนสมุดบันทึกประวัติศาสตร์ของโลก ที่สามารถสืบสาวเรื่องราวย้อนไปได้ถึง 300 กว่าล้านปี หลักฐานต่าง ๆ ที่บันทึกอยู่ในเนื้อหินได้บ่งบอกถึงสภาพแวดล้อมสมัยโบราณในช่วงเวลานั้น ผ่านกาลเวลาและการกัดเซาะผุกร่อนมานับล้าน ๆ ปี จนกลายเป็นเนินหินตะปุ่มตะป่ำอย่างที่เห็นทุกวันนี้
ก้อนกลม ๆ ขนาดต่าง ๆ  ที่ประสานรวมกันเป็นพืดหินบริเวณแหล่งภูน้ำหยดแห่งนี้ มีชื่อเรียกว่า “หินกรวดมน” ซึ่งเป็นหินตะกอนประเภทหนึ่ง เกิดขึ้นมาบนโลกเมื่อประมาณ 220 ล้านปีก่อน ก้อนกรวดที่เกาะรวมกันเป็นหินกรวดมนนี้มีต้นกำเนิดมาจากหลากหลายที่ ส่วนใหญ่แล้วมาจากหินซึ่งเกิดอยู่ในทะเล ดังนั้นจึงสามารถพบซากสิ่งมีชีวิตต่าง ๆ ที่เคยอาศัยอยู่ในทะเลในช่วงเวลานั้น เช่น ปะการัง (Corals) หอยฝาเดียว (Gastropods) หอยสองฝา (Bivalve) หอยตะเกียง (Brachiopods) หอยงวงช้าง (Ammonite) หอยบิน (Alatoconchidae) ฟองน้ำ (Sponge) พลับพลึงทะเล (Crinoid) คตข้าวสารหรือฟิวซูลินิด (Fusulinids) กลุ่มสัตว์เซลล์เดียว Bryozoa และอื่น ๆ อีกมากมาย ซึ่งซากดึกดำบรรพ์เหล่านี้ล้วนแต่มีอายุเก่าแก่กว่าตัวหินกรวดมนเอง โดยมีอายุตั้งแต่ประมาณ 315 – 265 ล้านปี นอกจากนี้ยังพบก้อนกรวดที่เป็นหินภูเขาไฟอีกด้วย พื้นที่ลักษณะเช่นนี้ครอบคลุมเป็นบริเวณกว้างมาก มีทั้งเป็นเนินเขาและที่ราบ ดูน่าตื่นตาตื่นใจยิ่งนัก
นอกจากนั้น สภาพการเป็นท้องทะเลดึกดำบรรพ์ในยุคเดียวกันนี้ ยังพบว่าแผ่ขยายไปเป็นวงกว้างโดยพบซากดึกดำบรรพ์สัตว์ก้นทะเลหลายชนิดที่ ตำบลซับไม้แดง อำเภอบึงสามพัน บ้านซับชมภู บ้านซับเดื่อ บ้านเนินสวรรค์ ตำบลบ้านโภชน์ อำเภอหนองไผ่ ตำบลลาดแค ตำบลซับพุทธา อำเภอชนแดน จนไปถึง ตำบลบ้านโตก อำเภอเมืองเพชรบูรณ์อีกด้วย
การเดินทาง : ที่บ้านยางจ่า ทางค่อนข้างสะดวก ทางลาดยางถึงหมู่บ้าน จากนั้น มีถนนดินเข้าไปจอดในไร่ชาวบ้านที่อยู่กับแหล่งที่เป็นลานหินขนาดใหญ่มาก แต่ตอนเดินชม จะต้องเดินลัดเลาะและไต่ไปตามก้อนหินพอสมควร ต้องระวังอาจลื่นล้มได้

3. สุสานหอยน้ำจืด โคกปรง (Gastropod Fossil Site) บ้านน้ำเดือด ตำบลโคกปรง อำเภอวิเชียรบุรี
สุสานหอยดึกดำบรรพ์ เป็นชั้นของหอยน้ำจืดที่มีลักษณะเหมือนหอยเจดีย์ (Gastropods) ที่ฝังอยู่ในชั้นหินดินดานแข็งที่เกิดการสะสมตัวเมื่อประมาณ 13-15 ล้านปี มีลักษณะเหมือนหอยฉัตร หรือหอยก้นแหลม อยู่ในวงศ์ Vivipari-dae สกุล Bellemya sp. ที่ตายทับถมและอัดแน่นเป็นชั้นหิน การเกิดชั้นหอยน้ำจืดเช่นนี้ สันนิษฐานว่าในอดีต บริเวณนี้เคยเป็นบึงใหญ่ หรือทะเลสาบน้ำจืดมาก่อน จากนั้นอาจจะเกิดการเปลี่ยนแปลงของเปลือกโลกทำให้แหล่งน้ำนั้นเกิดการแห้งลงโดยฉับพลัน จนทำให้พวกหอยที่อาศัยอยู่นั้น มาตายกองทับถมกัน แล้วถูกปิดทับด้วยตะกอนอีกที จนเมื่อเวลาผ่านไปนับสิบล้านปี จึงเกิดการผสานเป็นชั้นแผ่นหินเดียวกัน ชั้นหอยน้ำจืดแบบนี้ ยังพบในที่อื่น ๆ อีกหลายแห่ง เช่น สระน้ำหลังมหาวิทยาลัยราชภัฏเพชรบูรณ์ และที่ในเขตตำบลนางั่ว อำเภอเมืองเพชรบูรณ์
การเดินทางเข้าถึง : สะดวกมาก สามารถไปรถยนต์จนถึงที่จอดรถได้เลย และมีทางเดินชมอย่างดีไปรอบ ๆ บริเวณ พร้อมทั้งมีอาคารนิทรรศการให้อ่านศึกษาเรียนรู้ได้อีกด้วย ส่วนที่ตำบลนางั่ว มีจัดแสดงไว้ในวัดบ้านนาและวัดโพธิ์กลาง

4. บ่อน้ำเดือดบ่อน้ำผุด (Amazing Hot Spring) บ้านน้ำเดือด ตำบลโคกปรง อำเภอวิเชียรบุรี
บ่อน้ำเดือดน้ำผุด เป็นบ่อน้ำร้อนที่เกิดอยู่ในหินปูน จึงมีปริมาณสารประกอบคาร์บอเนตสูง มีกลิ่นกำมะถันอ่อน ๆ โป่งเดือดที่บ้านน้ำเดือดแห่งนี้ มีความพิเศษแปลกประหลาด คือ เมื่อมีเสียงดังเกิดขึ้น ก็จะมีฟองน้ำผุดขึ้นมาตามเสียงนั้น คล้ายกับฟองน้ำที่เดือดผุดขึ้นมา ทั้งนี้เพราะโป่งน้ำดังกล่าวอยู่ในสภาพตึงผิว พร้อมที่จะผุดขึ้นมาอยู่แล้ว แต่ยังมีแรงดันไม่พอที่จะผุดขึ้น จนกระทั่งมีเสียงดัง ทำให้เกิดแรงสั่นสะเทือน สภาพตึงผิวจึงหมดไป จึงทำให้โป่งเดือดผุดขึ้น ได้มีการนำฆ้องขนาดใหญ่มาตั้งไว้ที่บริเวณริมบ่อน้ำเดือด เพื่อให้ตีทดสอบการผุดของโป่งเดือดนี้ ที่มีการตอบสนองต่อเสียงดังที่เกิดขึ้นด้วย
นอกจากนั้น ปรากฏการณ์ธรรมชาติในลักษณะที่เป็นบ่อน้ำร้อนนี้ ยังมีที่ตำบลพุขาม ตำบลพุเตย อำเภอวิเชียรบุรี และบ้านน้ำร้อน ตำบลน้ำร้อน อำเภอเมืองเพชรบูรณ์ด้วย แต่เป็นเพียงน้ำร้อนที่ออกมาจากพื้นดินที่มีอุณหภูมิสูงกว่าปกติเท่านั้น
การเดินทางเข้าถึง : ค่อนข้างสะดวก มีถนนคอนกรีตไปจนเกือบจะถึงแหล่งเลย แต่ต้องเดินบนถนนดินอีกเล็กน้อย และจะมีศาลาจัดแสดงข้อมูลทางวิชาการไว้ให้ศึกษาอีกด้วย

5. น้ำตกซับพลู น้ำตกเสาหินอัคนี (Sup Plu Basaltic Columnar Joint Waterfall) บ้านซับเจริญ ตำบลยางสาว อำเภอวิเชียรบุรี
น้ำตกซับพลู เป็นน้ำตกที่มีความโดดเด่น สวยงาม แปลกตามาก คือ ทั้งผนัง โขดหิน และแก่งหินของน้ำตก ล้วนเป็นแท่งเสาหินอัคนีที่เกิดจากการเย็นตัวของลาวาหรือหินไหล ที่ประทุขึ้นมาตามรอยปริแตกของเปลือกโลก เมื่อประมาณ 10 ล้านปีก่อน เมื่อลาวาเย็นตัวลงเกิดเป็นหินอัคนี ชนิดหินบะซอลต์ จากอัตราการหดตัวของลาวา ที่แตกต่างกัน จึงเกิดแรงดึงตัวทำให้เกิดการแตกตัวร้าวแยกจากกันมีลักษณะเป็นแท่งคอลัมน์ 6 เหลี่ยมยาว ๆ คล้ายเสาหินเรียงรายกันอยู่ ขนาดใหญ่ประมาณ 30 เซนติเมตร
เมื่อแรกเกิดนั้น เสาหินอัคนีเหล่านี้จะมีลักษณะตั้งฉากกับทิศทางการไหลของลาวา หรือตั้งในแนวดิ่ง ส่วนใหญ่ลาวาจะไหลตามแนวเกือบระนาบ แต่เมื่อเวลาผ่านไปเกิดการขยับตัว และมีการเคลื่อนตัวของเปลือกโลก จึงทำให้ชั้นแท่งหินหกเหลี่ยมเกิดการเอียงตัวเป็นระดับองศาต่าง ๆ กัน และยกตัวขึ้นมาปรากฏให้เห็นได้ดังเช่น ที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน ต่อมา มีลำธารน้ำจากน้ำซับบนป่าเขาด้านบนไหลผ่านลงมาจึงกลายเป็นน้ำตก ซึ่งน้ำตกที่ไหลผ่านเสาหินอัคนีเช่นนี้ มีเพียงแห่งเดียวที่พบในประเทศไทย แต่ร่องรอยของแท่งเสาหินอัคนีเช่นนี้ สามารถพบได้อีกในหลายพื้นที่ของ อำเภอวิเชียรบุรี เช่น เขาน้อย ตำบลท่าโรง อุทยานเสาหินอัคนี ตำบลโคกปรง เขาปราสาท ตำบลยางสาว
การเดินทางเข้าถึง : มีป้ายบอกทางตลอด แต่ต้้องเดินทางด้วยรถยนต์ยกสูง ไปจนถึงบ้านซับเจริญ จากนั้น ต้องเดินต่อไปตามทางเดินขึ้นลงตามไหล่เขาที่สะดวกพอสมควรไปอีกประมาณ 300 เมตร แต่การเดินบนทางเดินและบนหินอัคนี ควรระวังการลื่นโดยเฉพาะตอนฝนตก

6. ภูเขาหินปูนปะการัง (Coral Karst Topography) บ้านเขาเพิ่มพัฒนา ตำบลซับพุทรา อำเภอชนแดน 
ภูเขาหินปะการัง หรือที่ชาวบ้านเรียกว่า เขาหน่อ มีลักษณะเด่นเป็นภูเขาหินปูนที่มียอดแหลมคล้ายปะการังเต็มไปหมด ตัวพื้นราบมีความสูงจากระดับน้ำทะเลประมาณ 250 เมตร ตัวภูเขามียอดแหลมสูงตั้งแต่ 50 – 250 เมตร มีชื่อเรียกตามศัพท์ภูมิศาสตร์ว่าเป็นภูมิประเทศแบบ “คาร์ส (Karst Topography)” เกิดจากหินปูนถูกกัดกร่อนโดยน้ำฝนที่มีฤทธิ์เป็นกรด ทำให้เกิดเป็นเขายอดแหลมตะปุ่มตะป่ำ บางก้อนมีเสียงดังกังวานเมื่อเคาะด้วยเหล็กหรือก้อนหิน ตัวหินปูนมีซากดึกดำบรรพ์น้อย แต่ยังพอบอกอายุการสะสมตัวของหินปูนได้ว่า มีการสะสมตัวอยู่ในยุคเพอร์เมียน (280-240 ล้านปี)
ภายในบริเวณดังกล่าวมีลักษณะภูมิประเทศที่แปลกตา คล้ายกับเมืองกุ้ยหลิน ประเทศจีน จึงได้มีการทำทางเดินเป็นบันไดให้เป็นเส้นทางเพื่อการท่องเที่ยวทางธรรมชาติ นอกจากนั้น ยังมี ต้นจันทร์ผาและต้นหนุมานนั่งแท่นที่สามารถขึ้นได้บนหินให้ศึกษาได้อีกด้วย
การเดินทางเข้าถึง : มีป้ายบอกทางเข้าหมู่บ้าน และมีถนนสะดวก สามารถไปจอดรถที่ลานจอดตรงทางขึ้นไปชมได้เลย มีศาลาบอกข้อมูล ห้องสุขา แต่การเดินไปชมตามบันไดและสะพานเหล็ก จะต้องมีการเดินขึ้นเดินลงและมีระยะไกลพอสมควร 

7. ถ้ำผาโค้ง ผาเจ็ดสี (Rainbow Cliff) บ้านโนนตูม ตำบลวังโป่ง อำเภอวังโป่ง
ผาเจ็ดสีเป็นหน้าผาที่เกิดอยู่ในภูเขาหินปูนขนาดเล็ก เป็นปรากฏการณ์ธรรมชาติที่เกิดจากการกัดเซาะของลมและน้ำ ทำให้เกิดเป็นหน้าผาที่กว้าง ยาว และมีลักษณะโค้งคล้ายผ้าม่านสูงใหญ่ สูงประมาณ 20 เมตร ความยาวตามพื้นราบประมาณ 80 เมตร มีลักษณะที่พิเศษคือ โค้งเริ่มต้นจากพื้นขึ้นไปสู่อากาศ มีน้ำไหลจากด้านบนลงมาตามแนวหน้าผา ทำให้เกิดสีเคลือบที่หน้าผาเป็นสีสันสลับกันเป็นริ้วยาวลงมาเป็นแนวดิ่ง ทั้งสีเขียวซึ่งเกิดจากตะไคร้น้ำและสีขาว สีเทาและสีดำซึ่งเป็นสีลวดลายของหิน ประหนึ่งว่าเป็นสายสีรุ้ง จึงมีชื่อเรียกว่า ผาเจ็ดสี มีความสวยงามแปลกตายิ่งนัก 
ใกล้ ๆ กันนั้น มีถ้ำที่ผนังถ้ำด้านบนมีหินย้อยลงมา คล้ายเขี้ยวของสัตว์จึงเรียกชื่อบริเวณนั้นว่า ถ้ำปากเสือและถ้ำติดแอร์ อีกด้วย
การเดินทางเข้าถึง : ค่อนข้างสะดวก มีป้ายบอกทางตลอด รถยนต์ไปตามถนนคอนกรีตหมู่บ้านสามารถไปจอดถึงแหล่งได้ และสามารถเดินไปชมผาเจ็ดสีได้สะดวก แต่ถ้ำปากเสือนั้น ต้องปีนขึ้นไปเล็กน้อย

อุทยานธรณีเพชรบูรณ์ ถูกนําเสนอถึงการเป็นส่วนหนึ่งของ แนวคดโค้งเลย – เพชรบูรณ์ (Loei – Phetchabun Fold belts) โดยเกิดจากการเคลื่อนเข้าหากันของอนุทวีปสองแผ่นคือ แผ่นชาน-ไทยและอินโดจีน โดยปรากฏหลักฐานให้เห็นตั้งแต่การเป็นทะเลโบราณใน ยุคเพอร์เมียน แสดงหลักฐานการตกสะสมของตะกอนคาร์บอเนตอย่างต่อเนื่อง โดยอุทยานธรณีเสนอแหล่งธรณีวิทยาถ้ำใหญ่น้ําหนาว เป็นแหล่งธรณีวิทยาที่มีความสําคัญและโดดเด่น จากศึกษาจากซากดึกดําบรรพ์ คตข้าวสารหรือฟิวซูลินิดบริเวณถ้ำใหญ่น้ําหนาว แสดงถึงแผ่นดินบริเวณอําเภอน้ําหนาวนี้เคยเป็น ส่วนหนึ่งของพื้นทะเลโบราณ (Paleo – Tethys) ซึ่งกั้นอยู่ระหว่างแผ่นเปลือกโลกอินโดจีนและแผ่นเปลือกโลกชาน-ไทย โดยหินปูนหรือตะกอนคาร์บอเนตมีการสะสมตัวอยู่ใกล้กับฝั่งทะเลของแผ่นเปลือกโลกอินโดจีน ซึ่งมีสภาพตื้นและอบอุ่น ก่อนจะเกิดการเปลี่ยนแปลงที่เกิดภายในโลกทําให้แผ่นเปลือกโลกทั้งสองเคลื่อนตัวเข้าหากันและเกิดการปิดตัวลงของทะเลโบราณ (Paleo – Tethys) ทําให้สภาพแวดล้อมการสะสมตะกอนเปลี่ยนไป จากตะกอนคาร์บอเนตในทะเลเปลี่ยนไปเป็นตะกอนที่สะสมตัวบนบก

จากนั้นมี การสะสมตัวของตะกอนบนบกแสดงหลักฐานในแหล่งธรณีวิทยาหลายแหล่ง เช่น ผารอยตีนอาร์โคซอร์ เป็นหนึ่งในหลักฐานทางธรณีวิทยาที่สําคัญที่พบอยู่ในเขตอุทยานธรณีเพชรบูรณ์ ปรากฏอยู่บริเวณเชิงผา ใกล้กับตาดห้วยน้ําใหญ่ บ้านนาพอสอง อําเภอน้ําหนาว โดยพบเป็นซากดึกดําบรรพ์รอยทางเดินประทับ อยู่บนหินทรายซึ่งมีลักษณะเป็นหน้าผาชัน แสดงลักษณะเป็นหน้าผาค่อนข้างเรียบ ชั้นหินนี้ถูกจัดให้อยู่ใน ส่วนบนของหมวดหินห้วยหินลาด กลุ่มหินโคราช มีอายุยุคไทรแอสซิกตอนปลาย เสริมด้วยแหล่งธรณีวิทยาและแหล่งธรรมชาติที่แสดงการตกสะสมของตะกอนบก เช่น แหล่งแคนยอนน้ําหนาว แหล่งน้ําตกตาดใหญ่ แหล่งน้ําตกพรานบา สื่อให้นักท่องเที่ยวเห็นภาพได้อย่างชัดเจน และเข้าใจง่ายถึงการสะสมตัวของตะกอนบนบกโดยเป็นชั้นหินทราย มีกรวดปนบ้าง สลับกับหินดินดาน

มีการพบซากดึกดําบรรพ์สัตว์เลื้อยคลานอายุก่อนการเกิดไดโนเสาร์ และพบโครงกระดูกไดโนเสาร์ที่เก่าแก่ที่สุดในประเทศไทย และที่พบในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และนับเป็นการพบซากดึกดําบรรพ์โปรซอโรพอดเป็นครั้งแรกในภูมิภาคนี้ โดยเป็นโครงกระดูกสะโพกส่วนหน้าของไดโนเสาร์โปรซอโรพอด มีอายุประมาณ ๒๐๐ ล้านปี (ไดโนเสาร์ในยุคไทรแอสซิกตอนปลาย) และระหว่างช่วงเวลาที่แผ่นเปลือกโลกเกิดการชนกัน ผลจากการชนกันของแผ่นเปลือกโลกอินโดจีนและชาน-ไทยในครั้งนั้น

นอกจากทําให้เกิดปรากฏการณ์ข้างต้นแล้วยังเกิดแนวรอยคดโค้ง เลย-เพชรบูรณ์แนวรอยคดโค้งนี้เป็นแผ่นดินที่ถูกทําให้เกิดการโค้งงอและเกิดการเปลี่ยนแปลงรูปร่างใน ระหว่างช่วงเวลาที่แผ่นเปลือกโลกเกิดการชนกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการคดโค้งของหมวดหินน้ําดุก ซึ่งเป็นแหล่งธรณีวิทยาในอุทยานธรณีเพชรบูรณ์ด้วย เป็นการร้อยเรียงเรื่องราวและหลักฐานทางธรณีวิทยาแสดงถึงการปิดของทะเลโบราณ และการเริ่มเป็นแผ่นดินได้อย่างน่าสนใจ และครบถ้วนผ่านแหล่งธรณีวิทยาและแหล่งธรรมชาติที่เชื่อมโยงกันได้เป็นอย่างดี

ด้านการอนุรักษ์ แหล่งธรณีวิทยาและแหล่งธรรมชาติส่วนใหญ่ อยู่ในเขตอุทยานแห่งชาติ และป่าสงวนแห่งชาติ จึงมีกฎหมายคุ้มครองแหล่งที่ชัดเจน รวมถึงซากดึกดําบรรพ์มี พรบ. คุ้มครองซากดึกดําบรรพ์ เป็นกฏหมายคุ้มครองอย่างชัดเจนเช่นกัน 

ธรณีวิทยาจังหวัดเพชรบูรณ์

วิวัฒนาการการเกิดแอ่งเพชรบูรณ์

จังหวัดเพชรบูรณ์มีภูเขาล้อมรอบเป็นรูปเกือกม้าบริเวณพื้นที่ด้านเหนือเป็นแนวลงไปทั้งสองข้างทิศตะวันออกและทิศตะวันตก รองรับด้วยหินตะกอนที่มีอายุตั้งแต่ยุคคาร์บอนิเฟอรัส (350 ล้านปีก่อน) หินอัคนีตั้งแต่ยุคเพอร์เมียน-ไทรแอสซิก (250 ล้านปีก่อน) กลางแอ่งปกคลุมด้วยตะกอนปัจจุบันยุคควอเทอร์นารีและมีบางแห่งพบตะกอนยุคนีโอจีน(ประมาณ 15 ล้านปี) 

หลักฐานทางธรณีวิทยาหลายอย่างบ่งบอกว่า เดิมพื้นที่จังหวัดเพชรบูรณ์เคยเป็นทะเลมาก่อนตั้งแต่มหายุคพาลีโอโซอิก ได้แก่ กลุ่มหินที่สะสมตัวในทะเล เช่น หินปูน หินดินดาน และ พบซากดึกดำบรรพ์สัตว์ทะเล ก่อนที่จะยกตัวขึ้นเป็นภูเขาในช่วงมหายุคมีโซโซอิกเนื่องจากการชนกันของแผ่นอนุทวีปอินโดจีน (ประเทศไทยฝั่งตะวันออก) และ ชาน-ไทย (ประเทศไทยฝั่งตะวันตก) ทำให้เกิดหินที่สะสมตัวบนแผ่นดิน เช่น หินทราย หินทรายแป้ง และพบซากดึกดำบรรพ์ที่อาศัยอยู่บนบกที่รู้จักกันดี คือ ไดโนเสาร์ 

จากนั้นยุคพาลีโอจีนเกิดการชนกันของแผ่นเปลือกโลกอินเดียกับยูเรเซีย ต่อมาเปลือกโลกได้คลายตัวลงในช่วงยุคพาลีโอจีนตอนปลายถึงนีโอจีนตอนปลาย มีการสะสมตัวของตะกอนตามแอ่งที่เปลือกโลกทรุดตัวลงหรือคลายตัวทำให้เกิดแอ่งสะสมตะกอนยุคนีโอจีนหลายแห่งในประเทศไทย รวมทั้ง “แอ่งเพชรบูรณ์” ด้วย

การจัดตั้งพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ศรีเทพ .. ปฐมบท


เมืองโบราณศรีเทพ คือ บริเวณอุทยานประวัติศาสตร์ศรีเทพ พื้นที่รอบ ๆ และเขาถมอรัตน์ เป็นเมืองโบราณที่มีขนาดใหญ่ที่สุดของประเทศไทย โดยมีพื้นที่เฉพาะในเขตคันดินคูน้ำมีขนาดถึง 2889 ไร่ และยังเป็นพื้นที่ทางประวัติศาสตร์ที่มีความเป็นพิเศษยิ่งกว่าพื้นที่อื่น ๆ กล่าวคือ มีร่องรอยทางโบราณคดีหลายวัฒนธรรม หลายยุคหลายสมัย ทับซ้อนอยู่ในสถานที่เดียวกัน นั่นคือ โครงกระดูกมนุษย์และเครื่องมือเครื่องใช้ปลายยุคก่อนประวัติศาสตร์ ประมาณพุทธศตวรรษที่ 9-10 จนมาเป็นสมัยที่ก่อตั้งเป็นรัฐแรกเริ่ม ที่ปรากฏมีศิลาจารึกอักษรปัลลวะและเทวรูปเคารพฮินดูรุ่นเก่า พุทธศตวรรษที่ 11-12 และมีโบราณสถานทางพุทธศาสนาสมัยทวารวดี เขาคลังใน เขาคลังนอก ประมาณพุทธศตวรรษที่ 12-16 จนกระทั้ง มีโบราณสถานศาสนาฮินดูสมัยขอม ปรางค์ศรีเทพ ปรางค์สองพี่น้อง ประมาณพุทธศตวรรษที่ 16-18 แล้วจึงล่มสลายกลายเป็นเมืองร้างไป ซึ่งเมื่อนับระยะเวลาที่ปรากฏร่องรอยที่มีมนุษย์มาตั้งหลักแหล่งอาศัยอยู่บริเวณนี้ จะมีเวลาต่อเนื่องทางวัฒนธรรมกันมายาวนานนับ 1000 ปี 


คุณค่าที่โดดเด่นเป็นสากล (Outstanding Universal Value : OUV) ด้านวัฒนธรรมของเมืองโบราณศรีเทพ จึงสอดคล้องกับเกณฑ์ UNESCO คือ เป็นเมืองโบราณสำคัญในเส้นทางเครือข่ายทางการค้าและวัฒนธรรมสมัยแรกเริ่มประวัติศาสตร์ของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่แสดงออกถึงภูมิปัญญาในการเลือกสรรชัยภูมิที่ตั้ง อันเป็นจุดเชื่อมโยงผสมผสานการแพร่กระจายทางวัฒนธรรมและการแลกเปลี่ยนสินค้าภายในและระหว่างภูมิภาคที่มีการพัฒนามาตั้งแต่ยุคก่อนประวัติศาสตร์วัฒนธรรมทวารวดีและวัฒนธรรมเขมรโบราณ และเป็นแหล่งวัฒนธรรมที่มีความสำคัญโดดเด่นในพื้นที่ศูนย์กลางภูมิภาคตอนในของประเทศไทยแสดงถึงภูมิปัญญาในการสร้างสรรค์และผสมผสานงานศิลปกรรมทางพุทธศาสนาเถรวาทมหายานและศาสนาฮินดูจนมีเอกลักษณ์รูปแบบเฉพาะสกุลช่างของตนเอง 

เมื่อวันที่ 7 กค. 2562 เมืองโบราณศรีเทพ ที่ได้รับการพิจารณารับรองจากรัฐภาคีสมาชิกอนุสัญญาว่าด้วยการคุ้มครองมรดกโลก 21 ประเทศ ของ UNESCO ให้ขึ้นทะเบียนบรรจุในบัญชีรายชื่อเบื้องต้น (Tentative List) แหล่งมรดกโลกทางวัฒนธรรมของศูนย์มรดกโลกแล้ว โดยหลังจากนี้คณะทำงานจะต้องเตรียมเอกสาร (Nomination Dossier) เพื่อประกอบการพิจารณาในการประกาศขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกอย่างเป็นทางการต่อไป

ข้อเท็จจริงปรากฏว่า ในอดีตนั้น มีการขุดพบโบราณวัตถุมากมาย ซึ่งเป็นโบราณวัตถุที่มีค่าอันเป็นการยืนยันถึงการตั้งหลักแหล่งของมนุษย์หลายยุคหลายสมัยในเมืองโบราณศรีเทพ แต่เนื่องจากว่า ที่ผ่านมานั้น ในจังหวัดเพชรบูรณ์ยังไม่มีพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติที่มีมาตรฐานความปลอดภัยพอที่จะทำการเก็บรักษา  โบราณวัตถุทั้งหลายเหล่านั้นจึงถูกนำไปจัดแสดงและเก็บรักษาไว้ตามพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติในที่อื่น ๆ  เช่น พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร พิพิธภัณพสถานแห่งชาติ รามคำแหง พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ สมเด็จพระนารายณ์  พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เจ้าสามพระยา ฯลฯ อีกทั้ง ยังมีโบราณวัตถุที่ยังกระจัดกระจายไปอยู่ตามชาวบ้านในพื้นที่ และแม้กระทั้ง มีบางส่วนถูกลักลอบนำออกไปจัดแสดงอยู่ต่างประเทศ  นอกจากนั้น ยังมีโบราณวัตถุอีกจำนวนมาก ที่จัดแสดงอยู่ที่ศูนย์ข้อมูลของอุทยานประวัติศาสตร์ศรีเทพเอง แต่ยังมิได้ถูกนำมาจัดแสดงอย่างมีมาตรฐานตามระบบพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ

เหตุผลเพิ่มเติม การขอจัดตั้ง “พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ศรีเทพ”

  1. เมืองโบราณศรีเทพ ได้ขึ้นทะเบียนเป็น มรดกโลกทางวัฒนธรรมของ UNESCO แล้ว จึงสมควรที่จะมีพิพิธภัณฑ์เพื่อจัดแสดงโบราณวัตถุของจริงทุกชิ้น อย่างถาวร เพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้และ แหล่งท่องเที่ยวที่สําคัญของประเทศ
    การมาชมเมืองโบราณศรีเทพ มรดกโลกในขณะนี้ จะชมได้แค่เพียงโบราณสถาน แต่โบราณวัตถุต่าง ๆ ที่เป็นหลักฐานของวัฒนธรรมต่าง ๆ ที่อยู่ทับซ้อนกันในเมืองโบราณศรีเทพ กลับไม่มีให้ชม
    การจัดตั้งพิพิธภัณฑสถาน ศรีเทพ ไว้ที่บริเวณเมืองโบราณศรีเทพนั้น จะทำให้ผู้คนที่สนใจได้เดินทางมาชมทั้งโบราณสถานและโบราณวัตถุที่เป็นส่วนหนึ่งของการเป็นมรดกโลก ซึ่งจะทำให้เกิดการกระจายรายได้ กระจายความเจริญออกมาสู่ส่วนภูมิภาค อันจะเป็นส่วนหนึ่งของการลดความเหลื่อมล้ำในสังคมได้อีกทางหนึ่งด้วย
  2. โบราณวัตถุของเมืองโบราณศรีเทพ ที่มีอยู่มากมาย แต่ได้ถูกนำไปจัดแสดงและเก็บไว้ตามพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติในที่อื่น ๆ หลายแห่ง จึงสมควรจะนำกลับมารวมจัดแสดงไว้ที่พิพิธภัณฑ์ในพื้นที่ของเมืองโบราณศรีเทพแห่งเดียว
  3. การจัดตั้งพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ศรีเทพ ให้เป็นพิพิธภัณฑ์ระดับชาติ ไม่ใช่เพียงแค่เป็นพิพิธภัณฑ์ระดับท้องถิ่นหรือเพียงแค่ศูนย์ข้อมูล ก็เพื่อให้มีมาตรฐานเดียวกันกับพิพิธภัณสถานแห่งชาติอื่น ๆ โดยโบราณวัตถุก็ยังคงเป็นของกรมศิลป์อยู่เช่นเดิม เพียงแต่จะได้รวบรวมและย้ายที่จัดแสดงมายังที่ที่เหมาะสมกว่า คือแหล่งที่โบราณวัตถุเหล่านั้นเคยอยู่มาแต่ดั้งเดิม ที่เมืองโบราณศรีเทพแห่งนี้
  4. โบราณวัตถุ ของเมืองโบราณศรีเทพ นอกจากจะถูกเก็บไว้ตามพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติอื่น ๆ แล้ว ยังมีอยู่กระจัดกระจายอยู่กับสถานที่และชาวบ้านในพื้นที่อีกมากมาย ซึ่งจะได้มีโครงการขอคืนโบราณวัตถุเหล่านั้นกลับคืนมา เมื่อมีพิพิธภัณฑ์ที่มีมาตรฐาน เพื่อให้ความมั่นใจกับผู้ที่จะนำโบราณวัตถุเหล่านี้กลับมาคืนให้ ว่า จะไม่สูญหายหรือถูกเบียดบังไป
  5. ในอนาคต จะต้องมีกระบวนการรณรงค์ขอคืนโบราณวัตถุหลายชิ้น ที่มีหลักฐานว่า ถูกลักลอบนำออกไปจากเมืองโบราณศรีเทพ และถูกนำไปจัดแสดงอยู่ในต่างประเทศ เพื่อนำกลับที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ศรีเทพ หากได้มีจัดตั้งขึ้นมา ได้อีกด้วย
  6. การที่กรมศิลปากรอ้างว่า ไม่เห็นด้วยกับการจัดตั้งพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ศรีเทพ โดยไม่มีการหารือศึกษากับทางจังหวัดเพชรบูรณ์ใด ๆ เลย เพียงแต่อ้างว่า ไม่สามารถกำหนดอัตราข้าราชการหรือเจ้าหน้าที่ภัณฑารักษ์เพิ่มขึ้นได้นั้น ในประการนี้ ทางจังหวัดฯ เห็นว่า ไม่มีเหตุผลที่จะหักล้างเหตุผลความจำเป็นทั้ง 5 ข้อข้างต้นได้ ทั้งนี้ เพราะ กรมศิลปากร อาจใช้แนวทางแก้ปัญหาตามข้ออ้างดังกล่าวข้างต้นได้อีกหลายวิธี เช่น การขอเกลี่ยอัตรากำลัง บางส่วนมาจากหน่วยงานอื่นในกรมเดียวกัน ที่มีความสำคัญน้อยกว่าได้ หรือ อาจขอมติ ครม. ยกเว้นเป็นกรณีพิเศษ ให้ตั้งอัตรากำลังเพิ่มได้ เพื่อรองรับการเป็นมรดกโลก
  7. จังหวัดเพชรบูรณ์ ยินดีให้ความร่วมมือกับกรมศิลปากร เพื่อแก้ไขปัญหาและอำนวยความสะดวกทุกประการ เช่น จัดหาที่ดินสำหรับการก่อสร้าง อุดหนุนงบประมาณในการก่อสร้าง จัดหาสาธารณูปโภค ตลอดจนจัดหาพนักงานคนงาน ที่จะเข้าไปร่วมทำงานดูแลพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ศรีเทพ หากมีการจัดตั้งขึ้นมาได้

    14608800_10153353213132168_4706308591249418911_o     

     วิเชียรบุรี เป็นเมืองโบราณ ตั้งอยู่ริมลำน้ำสักตอนใต้สุดของจังหวัดเพชรบูรณ์ ชื่อของเมืองวิเชียรบุรีนั้น แต่ดั้งเดิมมีชื่อว่า เมืองศรีเทพหรือชาวบ้านเรียกกันว่า เมืองท่าโรง (มาจากคำว่า ท่าลงเรือลำน้ำสัก) มีพระศรีถมอรัตน์ (มาจากชื่อเขาถมอรัตน์) เป็นชื่อตำแหน่งเจ้าเมือง

     ในประวัติศาสตร์สมัยอยุธยา เคยปรากฏชื่อพระศรีถมอรัตน์ เจ้าเมืองศรีเทพ เป็นทหารเอกของสมเด็จพระนเรศวรมหาราช คู่กับพระชัยบุรี เจ้าเมืองชัยบาดาล และยังมีโบราณสถานในสมัยอยุธยาที่ยังคงปรากฏอยู่ในเมืองวิเชียรบุรี ได้แก่ โบสถ์โบราณวัดป่าเรไรทองและวัดในเรืองศรีIMG_5547

     ในสมัยธนบุรี พระศรีถมอรัตน์ (บุญ) มีความดีความชอบช่วยการศึก จึงได้รับการแต่งตั้งเป็น พระยาประเสริฐสวามิภักดิ์ (บุญ) และสืบทอดตำแหน่งมาถึงทายาทคือ พระยาประเสริฐภักดี (จุ้ย) ในสมัยรัชกาลที่ 1 และพระยาประเสริฐสงคราม (ใจ) ในสมัยรัชกาลที่ 3 ซึ่งหลังเสร็จศึกเจ้าอนุวงศ์ ได้มีประกาศเปลี่ยนชื่อเป็น “เมืองวิเชียร” ตามชื่อเขาแก้วหรือเขาถมอรัตน์ ยกเป็นเมืองชั้นตรี แต่เมื่อ พ.ศ. 2442 ได้มีการตั้งมณฑลเพชรบูรณ์ขึ้น และได้มีการยุบเมืองวิเชียรลงเป็นอำเภอวิเชียร ขึ้นกับเมืองเพชรบูรณ์แทน      พระยาประเสริฐสงคราม (ใจ) จึงเป็นเจ้าเมืองวิเชียรคนสุดท้าย และเปลี่ยนตำแหน่งไปเป็น จางวางกำกับอำเภอวิเชียรแทน และพระยาประเสริฐสงครามนี่เอง ที่เคยให้ข้อมูลแก่สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ เสนาบดีกระทรวงมหาดไทย ที่เสด็จมาตรจราชการที่มณฑลเพชรบูรณ์ เมื่อ พ.ศ. 2447 ว่า เมืองวิเชียร เดิมนั้นเคยชื่อว่า เมืองศรีเทพ

     อำมาตย์โท พระยาประเสริฐสงคราม (ใจ) จางวางกำกับอำเภอวิเชียร ได้รับพระราชทานนามสกุลจาก พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ว่า ” ณวิเชียร” เมื่อ 19 ธค. 2458 ซึ่งต่อมาก็ได้พระราชทานนามให้ใหม่อีกเป็น พระยานรเสรษฐ์สวามิภักดิ์

     เมื่อ พ.ศ. 2482 อำเภอวิเชียร ได้เปลี่ยนชื่อกลับไปเป็น อำเภอท่าโรง ซึ่งเป็นชื่อดั้งเดิมที่มีมาแต่โบราณ แต่ต่อมา เมื่อ พ.ศ. 2487 ก็ได้ประกาศให้กลับมาใช้ชื่อ อำเภอวิเชียรบุรี อย่างไรก็ตาม มีบันทึกเอกสารบางแห่งเขียนว่า อำเภอวิเชียรคีรี ซึ่งที่มาเป็นอย่างไรนั้น คงต้องหาคำตอบกันต่อไป

     ในสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 ที่จอมพล ป.พิบูลสงครามมีนโยบายย้ายเมืองหลวงมาอยู่ที่เพชรบูรณ์ โดยใช้ชื่อว่า นครบาลเพชรบูรณ์นั้น ก็ได้มีการสร้างสนามบินไว้ที่เมืองวิเชียรบุรีด้วย ซึ่งปัจจุบันนี้ ก็คือ บริเวณที่ตั้งศาลสมเด็จพระนเรศวรมหาราชนั่นเอง

     จากหลักฐานทางโบราณคดี แสดงให้เห็นว่า การตั้งถิ่นฐานของผู้คนในเขตเมืองวิเชียรบุรี (รวมถึงเมืองโบราณศรีเทพ) มีมาตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์ตอนปลาย จนถึงสมัยทวารวดีและลพบุรี  ซึ่งเมืองโบราณศรีเทพและเขาถมอรัตน์ ก็เคยอยู่ในเขตอำเภอวิเชียรบุรี นอกจากนั้น ยังพบศิลาจารึกที่สำคัญทางโบราณคดี ได้แก่ ศิลาจารึกบ้านวังไผ่ ทำด้วยหินบะซอลต์ อักษรปัลลวะ เป็นศิลาจารึกที่เก่าแก่ที่สุดที่พบในประเทศไทยและศิลาจารึกบ้านหนองไม้สอ อักษรขอม ทำเป็นรูปหัวตะปู

     ต่อมา เมื่อศูนย์กลางทางการเมืองได้ย้ายไปอยู่ที่เมืองเพชรบูรณ์ ชุมชนในแถบวิเชียรบุรี ศรีเทพและเขตลุ่มป่าสักแถบนี้ จึงมีผู้คนอยู่อาศัยอย่างเบาบางลง โดยมีผู้อพยพเข้ามาตั้งถิ่นฐานใหม่เป็นคน “ไทยเบิ้ง” ซึ่งมีอัตลักษณ์ทางวัฒนธรรมเป็นของตัวเองเช่นเดียวกับที่อยู่ในเขตลำนารายณ์ และในชั้นหลัง ก็มีผู้คนจากภาคอีสานอพยพเข้ามาอยู่เป็นจำนวนมาก

     วัฒนธรรมประเพณีที่สำคัญของคนวิเชียรบุรีในปัจจุบัน ได้้แก่

     – รำโจ๋ง เป็นการละเล่นพื้นบ้านที่มีมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา โดยมีลักษณะท่าทางการรำเลียนแบบวิถีชีวิตจริงในการต้อนวัว แบ่งผู้เล่นออกเป็น 2 ฝ่าย คือ ฝ่ายหญิงกับฝ่ายชาย สมมติให้ฝ่ายชายเป็นวัว ส่วนฝ่ายหญิงเป็นคนต้อนและไล่จับวัวโดยจะรำประกอบเสียงการตีกลองโทนIMG_0149

     – ประเพณีอุ้มพระสรงน้ำ ในวันสารทไทย แรม 15 ค่ำเดือน 10 โดยนายอำเภอวิเชียรบุรี จะอัญเชิญพระพุทธรูปล้านช้างไว้ในผ้าใหม่และนำไปจุ่มสรงน้ำในลำน้ำสักที่วังกระโห้ก่อน จากนั้น ก็จะมาทำพิธีอุ้มพระสรงน้ำที่บริเวณศาลเจ้าพ่อเจ้าแม่อีกครั้งหนึ่ง ซึ่งในสมัยก่อน ยังมีการแห่ผ้าป่าทางเรือไปทอดยังวัดห้วยชันและการแข่งเรืออีกด้วย21768239_1877913728892039_532320028022744238_n

     – ประเพณีบุญบั้งไฟ พุเตย เป็นประเพณีของคนอีสานที่จัดเพื่อทำพิธีขอฝนให้ฟ้าฝนตกต้องตามฤดูกาล จัดโดย เทศบาลตำบลพุเตย จัดยิ่งใหญ่มากจนเทียบเท่าทางภาคอีสานเลยก็ว่าได้ ถือได้ว่า เป็นประเพณีบุญบั้งไฟที่จัดใหญ่ที่สุดในภาคเหนือ– พิธีบวงสรวงศาลสมเด็จพระนเรศวรมหาราช จัดในทุกวันที่ 25 มกราคม ของทุก ๆ ปี เป็นประเพณีที่เป็นจุดรวมใจรวมพลังสามัคคีอย่างยิ่งใหญ่ของคนวิเชียรบุรี

     – ตำนานขอนไม้มาด ที่เล่าเรื่องการตัดไม้มาดที่บ้านวังบาลหล่มเก่า 2 ต้น แล้วเกิดเหตุการขึ้นหลายอย่างที่มีความสัมพันธ์กับสถานที่ต่าง ๆ มากมายทั้งที่หล่มเก่า หล่มสัก ที่อำเภอเสาไห้ สระบุรี และขอนไม้มาดที่วัดวิเชียรบำรุง เมืองวิเชียรบุรีIMG_0128

     – ตำนานเมืองเล็ง เป็นเรื่องราวเกี่ยวกับการสร้างถนนแข่งกันระหว่างเจ้าเมืองเล็ง (อยู่ใกล้ ๆ เมืองวิเชียรบุรี) และเจ้าเมืองศรีเทพ จนเกิดการล่มสลายของเมืองศรีเทพในที่สุด13351022_971768869603550_1842805895_o

     ในด้านความมหัศจรรย์ทางธรณีวิทยาของพื้นที่อำเภอวิเชียรบุรีนั้น ก็มีมากมายและหลากหลาย ได้แก่

     – ท้องทะเลดึกดำบรรพ์ 240 ล้านปี ที่บ้านย่างจ่า ต.ภูน้ำหยด และที่เขาถมอรัตน์ ต.โคกสะอาด อ.ศรีเทพ ซึ่งมีซากดึกดำบรรพ์ของสิ่งมีชีวิตใต้ท้องทะเลมากมาย361110550_1000285217643221_4669730818933213410_n

     – สุสานหอยน้ำจืด 15 ล้านปี ที่บ้านน้ำเดือด ต.โคกปรง

     – น้ำตกซับพลู บ้านซับเจริญ ต.ยางสาว ซึ่งเป็นน้ำตกเสาหินอัคนี แห่งเดียวในประเทศไทย35864560_229661730957462_7066246333304143872_o

     – แท่งเสาหินอัคนีที่เกิดจากลาวาภูเขาไฟ ที่อุทยานเสาหินอัคนี ต.โคกปรง เขาปราสาท ต.ยางสาว และเขาน้อย ต.ท่าโรง

     – บ่อน้ำร้อน พบได้หลายแห่ง เช่น บ้านน้ำเดือด ต.โคกปรง บ้านพุเตย และบ้านพุขาม

     – คตข้าวสาร หรือฟิวซูลินิด ซึ่งเป็นซากดึกดำบรรพ์สัตว์เซลล์เดียว พบที่วัดถ้ำเทพบันดาล ต.สามแยก
     – บ่อน้ำมันดิบ ที่ ต.บ่อรัง

     สถานที่สำคัญและเป็นจุดรวมใจที่สำคัญของชาววิเชียรบุรีในปัจจุบันคือ ศาลสมเด็จพระนเรศวรมหาราช กษัตริย์นักรบผู้ยิ่งใหญ่และมีพระมหากรุณาธิคุณอันใหญ่หลวงต่อคนไทย ซึ่งแต่เดิมนั้น มีศาลสมเด็จพระนเรศวรตั้งอยู่ริมถนนที่บริเวณหน้าสถานีตำรวจวิเชียรบุรี เมื่อวันที่ 25 มกราคม 2515 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์พระบรมราชินีนาถ ได้เสด็จฯ มาประกอบพิธีบวงสรวงดวงพระวิญญาณสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ณ บริเวณสนามบินวิเชียรบุรี ซึ่งต่อมา เมื่อ พ.ศ. 2525 ชาววิเชียรบุรีได้ร่วมกันสร้างศาลสมเด็จพระนเรศวรมหาราชขึ้นใหม่ ณ บริเวณนี้ และเมื่อวันที่ 26 เมษายน 2526 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ได้ทรงกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จพระเจ้าลูกเธอเจ้าฟ้าจุฬาภรณ์วลัยลักษณ์อัครราชกุมารี และพระเจ้าวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าโสมสวลี พระวรราชาทินัดดามาตุ เสด็จฯ แทนพระองค์มาทรงประกอบพิธีเปิดศาลสมเด็จพระนเรศวรมหาราช นับตั้งแต่ พ.ศ. 2527 เป็นต้นมา ชาวอำเภอวิเชียรบุรี ก็จะจัดงานบวงสรวงดวงพระวิญญาณสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ระหว่างวันที่ 25-27 มกราคม เป็นประจำทุกปี ณ บริเวณศาลสมเด็จพระนเรศวรมหาราชแห่งนี้16174611_10153631530667168_5808780618424414327_n

     ไก่ย่างวิเชียรบุรี เป็นอาหารที่เป็นตำนานและมีชื่อเสียงและโด่งดัง เป็นที่นิยมมาก มีขายกระจายไปทั่วประเทศ ที่มีเอกลักษณ์คือ เนื้อนุ่ม หนังกรอบ หอมสมุนไพร น้ำจิ้มมีหลายอย่างให้เลือก ทั้งแบบกระเทียม แบบน้ำมะขามเปียก และแบบน้ำปลาพริก และไก่ย่างวิเชียรบุรีของแท้ดั้งเดิม ต้องมีตีนมีปีกติดอยู่ด้วย

     พื้นที่ของอำเภอวิเชียรบุรีนั้น เดิมเคยกว้างใหญ่ไพศาลมาก จนได้มีการแยกไปเป็นอำเภอต่าง ๆ ได้หลายอำเภอ คือ หนองไผ่ ศรีเทพ และบึงสามพัน ก็ล้วนแต่แยกพื้นที่ไปจากอำเภอวิเชียรบุรีทั้งสิ้น

     เมืองดี คนดี วิเชียรบุรีบ้านเรา !!

13346198_10153099291422168_1327781787167680992_o

IMG_4562

พระยาประเสริญภักดี (จุ้ย)