Advance search

บ้านทุ่งหลวง

ชุมชนแห่งการทำหัตถกรรม มีเครื่องปั้นดินเผาเป็นที่เลื่องชื่อ และแบบแผนวิถีการดำเนินชีวิตที่เป็นเอกลักษณ์

บ้านทุ่งหลวง
ทุ่งหลวง
คีรีมาศ
สุโขทัย
ศุภาพิชญ์ คำจันทร์
3 พ.ค. 2023
ศุภาพิชญ์ คำจันทร์
3 พ.ค. 2023
บ้านทุ่งหลวง

คำบอกเล่าที่กล่าวกันว่าที่เรียกว่า “ทุ่งหลวง” ก็เพราะเคยเป็นพื้นที่ทำนาแห่งหนึ่งในสมัยพ่อขุนรามคำแหง ฯ เรื่องนี้ยังเล่าต่อไปอีกว่าบริเวณที่ลุ่มที่สุดของพื้นที่ทุ่งหลวงเคยเป็นทะเลมาก่อนและเมื่อจะส่งสินค้าเครื่องสังคโลกไปจำหน่ายตามที่ต่าง ๆ เช่น  ประเทศจีน นั้นเรือสำเภาของสุโขทัยก็เทียบท่าเข้ามาบริเวณนี้ ชาวบ้านรุ่นก่อนยังเชื่ออีกว่าคงจะมีสำเภาล่มอยู่ใต้ท้องทุ่งแต่ที่ยังไม่พบเพราะเวลาได้ผ่านมานานตะกอนดินได้ทับถมจนพื้นที่ตื้นเขินกลายสภาพมาเป็นทุ่งนาอย่างที่เห็นกันอยู่ในปัจจุบัน อีกกระแสหนึ่งก็เห็นว่าความจริงชื่อหมู่บ้านน่าจะได้มาจากการที่กองทัพหลวงของสมัยสุโขทัยได้เคยผ่านมารวมพลในแถบนี้ซึ่งมีสภาพเป็นทุ่งกว้างและเหมาะต่อการปฏิบัติการทางราชการทหาร เดิมอาจเรียกที่นี่ว่า "ทุ่งทัพหลวง" แต่ต่อมาเรียกให้สั้นลงจึงเหลือเพียงชื่อที่คุ้นเคยกันอย่างทุกวันนี้ 


ชุมชนชนบท

ชุมชนแห่งการทำหัตถกรรม มีเครื่องปั้นดินเผาเป็นที่เลื่องชื่อ และแบบแผนวิถีการดำเนินชีวิตที่เป็นเอกลักษณ์

บ้านทุ่งหลวง
ทุ่งหลวง
คีรีมาศ
สุโขทัย
64160
เทศบาลตำบลทุ่งหลวง โทร. 0-5594-3349
16.8768
99.79975
เทศบาลตำบลทุ่งหลวง

ชาวบ้านไม่ทราบข้อมูลเกี่ยวกับบรรพบุรุษผู้ก่อตั้งที่แน่ชัด ว่าหมู่บ้านมีถิ่นฐานเดิมมาจากที่ใด แต่จากแบบแผนการดำเนินชีวิตโดยรวมอาจอนุมานได้ว่าคนรุ่นแรก ๆ ของชุมชนคงมีพื้นเพอยู่แห่งใดแห่งหนึ่งในท้องที่จังหวัดสุโขทัยและจังหวัดใกล้เคียง พื้นที่แถบนี้มีความเหมาะสมต่อการอยู่อาศัยคือมีทั้งแหล่งธรรมชาติและที่ราบซึ่งเอื้อต่อการเกษตรกรรม สายน้ำลำคลองเป็นเส้นทางคมนาคมที่ช่วยให้ติดต่อกับภายนอกได้โดยไม่ลำบากนัก

ตามพัฒนาการของชุมชนแล้วเล่ากันว่าในระยะแรกจะมีบ้านเรือนเป็นกระจุกอยู่ตรงบริเวณที่เรียกปัจจุบันว่า “บ้านกลาง” ก่อนกลุ่มบ้านอื่น ๆ จากนั้นมีร้านค้าและตลาดแผงลอยและวัดในย่านบ้านกลาง วัดแห่งนี้จึงได้ชื่อตามตำแหน่งที่ตั้งของละแวกบ้านคือ “วัดบ้านกลาง” (ซึ่งได้ชื่อเป็นทางการในเวลาต่อมา “วัดดุสิตตาราม”) เมื่อประชากรเพิ่มขึ้นได้มีการขยายชุมชนจากบ้านกลางขนานไปกับลำคลองที่ไหลผ่านชุมชน จากบ้านกลางขึ้นไปทางทิศเหนือคือกลุ่มบ้านเหนือซึ่งมีวัดบึงเป็นศูนย์รวมขณะที่ลงไปทางทิศใต้ของบ้านกลางคือกลุ่มบ้านใต้มีวัดลายเป็นที่รวมของชุมขน ผู้คนที่ออกไปตั้งบ้านเรือนที่อยู่ในละแวกบ้านเหนือและบ้านใต้รุ่นแรก ๆ ก็คือลูกหลานของชาวบ้านกลางที่เห็นว่าบริเวณที่อยู่อาศัยของบรรพบุรุษเริ่มคับแคบ

ภายในชุมชนมีคลองสามพวงและคลองสารบบไหลผ่าน คลองทั้งสองมีต้นน้ำมาจากพื้นที่ราบสูงด้านตะวันตกของชุมชน เมื่อคลองไหลผ่านชุมชนลงไปด้านตะวันออกก็จะไหลลงไปรวมกับแม่น้ำยม ช่วงฤดูแล้งแทบจะไม่มีน้ำเหลืออยู่ในคลองเลย แต่นับว่าชาวบ้านยังโชคดีที่มีบึงขนาดใหญ่อยู่ 3 แห่ง คือ บึงข้างหลังวัดลาย บึงหนองขังและบึงที่อยู่ใกล้ ๆ กับวัดบึง ซึ่งสมัยก่อนหากใช้น้ำฝนที่เก็บไว้ในตุ้มหมดชาวบ้านก็จะมาตักน้ำจากบึงไปใช้ดื่มและหุงต้มอาหาร

บ้านเรือนรุ่นเก่าเป็นเรือนไม้ ยกพื้นบ้านค่อนข้างสูงเพื่อให้มีส่วนใต้ถุนบ้านซึ่งจะใช้ทำประโยชน์ต่าง ๆ คือกั้นเป็นคอกเก็บวัวควาย เป็นส่วนของเล้าเป็ดไก่และเก็บอุปกรณ์ทำมาหากิน สำหรับผู้ที่มีอาชีพปั้นหม้อต่างก็อาศัยบริเวณใต้ถุนบ้านเป็นสถานที่ประกอบกิจการหัตถกรรมเครื่องปั้นดินเผา นอกจากนี้ในเวลากลางวันยังนิยมลงมาพักผ่อนหลับนอนและทำงานเล็ก ๆ น้อย ๆ บนแคร่ไม้ใต้ถุนเรือนอีกด้วยสมัยก่อนผู้ฐานะการเงินดีจะใช้กระเบื้องมุงหลังคาบ้าน คนอื่น ๆ อาศัยหญ้าแฝกหรือหญ้าคาที่นำมาเย็บผูกเป็นตับ ๆ ทับซ้อนมุงหลังคาอาคารบ้านเรือนและยุ้งฉาง การติดประตูและหน้าต่างบ้านเพิ่งจะแพร่หลายกันเมื่อไม่กี่สิบปีมานี้ จากเรื่องราวในอดีตกล่าวได้ว่าบ้านทุ่งหลวงคงจะเลิกผลิตเสื้อผ้าเครื่องนุ่งห่มกันตั้งแต่ครั้งปู่ย่าตายายเพราะเงื่อนไขหลายประการ เช่น การที่สภาพแวดล้อมทางธรรมชาติคือพื้นที่ราบลุ่มน้ำท่วมย่อมอาจจะปลูกฝ้ายที่เป็นเส้นใยสำคัญในการถักทอเสื้อผ้าอาภรณ์ ขณะเดียวกันการมีความชำนาญเฉพาะด้านในการทำเครื่องปั้นดินเผาและการผลิตข้าวได้ผลดีนับว่าช่วยให้ชุมชนมีสิ่งของแลกเปลี่ยนกับสิ่งจำเป็นที่ไม่อาจสร้างทำได้ในท้องถิ่น

สภาพภูมิอากาศ

  • กลางเดือนกุมภาพันธ์ - กลางเดือนพฤษภาคม : เป็นช่วงฤดูร้อน และเดือนเมษายนเป็นช่วงที่อากาศร้อนอบอ้าวที่สุด
  • เดือนพฤษภาคม - เดือนตุลาคม  : เป็นช่วงฤดูฝน ฝนจะตกมากที่สุดตอนเดือนกันยายน ปริมาณฝนที่ตกเฉลี่ยตลอดปี 1,204.8 มิลลิเมตร
  • กลางเดือนตุลาคม - เดือนกุมภาพันธ์ : เป็นช่วงฤดูหนาว ฤดูเก็บเกี่ยวข้าวซึ่งอยู่ในช่วงเดือนธันวาคม - มกราคม นับเป็นเวลาที่ชาวทุ่งหลวงจะรู้สุกว่าอากาศค่อนข้างจะหนาวมากกว่าเดือนอื่น ๆ อุณหภูมิเฉลี่ยตลอดปี 27.6 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุดเฉลี่ย 33.0 องศาเซลเซียส และอุณหภูมิต่ำสุดเฉลี่ย 22.2 องศาเซลเซียส

สถานที่สำคัญ

ในย่านทุ่งหลวงมีโรงเรียนระดับประถมศึกษา 4 แห่ง แต่ละแห่งเปิดทำการสอนตามลำดับเวลาดังนี้ คือ

  • พ.ศ. 2460 : โรงเรียนวัดกลาง
  • พ.ศ. 2479 : โรงเรียนวัดบึง
  • พ.ศ. 2484 : โรงเรียนวัดลายมิตรภาพที่ 80
  • โรงเรียนบ้านป่าแค เพิ่งเปิดให้มีการเรียนการสอนเมื่อสิบกว่าปีก่อน

การคมนาคม

ปัจจุบันมีบริการรถโดยสารขนาดเล็ก (รถสองแถว) จากอำเภอคีรีมาศผ่านมารับผู้โดยสารที่ทุ่งหลวงเพื่อออกไปยังที่ต่าง ๆ และสุดสายที่ธานี รถโดยสารเที่ยวแรกเริ่มตั้งแต่เวลา 06.00 น. จากนั้นก็มีรถออก 1 คัน ทุก ๆ 15 นาที รถเที่ยวสุดท้ายที่ผ่านชุมชนไปยังธานีจะประมาณเวลา 18.00 น. หากมีความต้องการจะใช้บริการรถโดยสารนอกเวลาเดินรถปกติก็สามารถว่าจ้างได้ ส่วนการคมนาคมภายในชุมชนยังคงเป็นการเดินเท้าหรือใช้จักรยานและจักรยานยนต์

บ้านทุ่งหลวงมีประชากร 108 หลังคาเรือน มีประชากร 291 คน เป็นชาย 133 คน และเป็นหญิง 158 คน

การแต่งงาน

เมื่อแน่ใจแล้วว่าจะเลือกสาวรายนั้นเป็นคู่ชีวิต พ่อแม่ของฝ่ายชายก็จะส่งเถ้าแก่ให้มาทาบทามสู่ขอสาวจากพ่อแม่ การเจรจาเรื่องของจำนวนสินสอดทองหมั้นอาจต้องใช้เวลาเป็นเดือนกว่าจะตกลงกันได้ ที่แล้วมาภายหลังตกลงกันแล้ว ฝ่ายชายจะจ่ายเงินให้บ้านสาวจำนวนหนึ่งซึ่งจะมากน้อยเพียงใดก็สุดแท้แต่จะเรียกร้องกันเพื่อให้ฝ่ายสาวได้นำเงินส่วนนี้ไปจัดเตรียมงงานพิธี ชาวทุ่งหลวงจะเรียกเงินดังกล่าวว่า “เงินจม” ทั้งวันแต่งและเวลาที่จะทำกิจพิธีต่าง ๆ ตามขั้นตอนของงานแต่จะต้องเป็นไปตามฤกษ์ยามที่หมอขวัญได้หาไว้ให้ ก่อนขึ้นบันไดบ้านเจ้าสาวจะมีเด็ก ๆ คอยล้างเท้าให้เจ้าบ่าว โดยให้เจ้าบ่าวล้างเท้าบนแผ่นหิน (ส่วนมากคือหินที่ใช้สำหรับลับมีด) ที่มีใบตองกล้วยปูทับไว้ สิ่งของทั้งสองอย่างนี้มีความหมายเพื่อเตือนสติเจ้าบ่าวในขั้นต้นก่อนเริ่มสมรสว่าให้มีใจหนักแน่นเหมือนแผ่นหิน มิใช่อารมณ์อ่อนไหวดั่งใบตอง

การวางเงินสินสอดมักจะให้มีเศษ 49 บาท ไม่ว่าเงินสินสอดจะมีมูลค่าเท่าไหร่ก็ตาม เงินเศษนี้ให้แม่เจ้าสาวเก็บไว้ตามพิธีถือว่าเป็นค่าน้ำนมที่เลี้ยงเจ้าสาวมาตั้งแต่เล็ก จากนั้นหมอขวัญจะแบ่งของหวานจากขบวนขันหมากมาพร้อมธูป 4 ดอก เทียน 2 เล่ม เพื่อให้คู่บ่าวสาวได้เซ่นไหว้บรรพบุรุษ ตามความเข้าใจท้องถิ่นที่ใช้ธูป 4 ดอก ก็เพราะผีบรรพบุรุษของเจ้าสาวคือ ปู่ย่าตาและยาย

ขณะเดียวกันก็เปรียบธูปนั้นดั่งธาตุทั้ง 4 คือ ดิน น้ำ ลมและไฟ ซึ่งประกอบกันเป็นธาตุในร่างกายมนุษย์ ส่วนเทียน 2 เล่มนั้นหมายถึงการบูชาพ่อแม่ของเจ้าสาว หมอขวัญใส่น้ำตาลลงในแก้วเหล้าที่แต่ละฝ่ายเตรียมมาเพื่อเซ่นผี การเจือน้ำตาลกับเหล้าเซ่นก็เป็นสิ่งที่มีนัยเพื่อบอกคู่สมรสว่าแม้จะผ่านชีวิตที่ลำบากกันมาอย่างไรเมื่อมาอยู่ด้วยกันแล้วก็จะมีแต่ความหวานชื่น ถัดจากนี้คือการผูกมือคู่บ่าวสาว ญาติ ๆ ผู้ใหญ่ผูกด้ายสีขาวรอบข้อมือเจ้าบ่าวเจ้าสาวไปพลางก็อวยพรขอให้มีความสุขและ “ลูกเต็มบ้านหลานเต็มเมือง” พร้อมกับอาจจะให้เงินเป็นของขวัญเพื่อเป็นทุนที่จะใช้สร้างครอบครัว เพื่อน ๆ คู่บ่าวสาวมักจะใช้ของใช้ในครัวเรือนเช่น ถ้วยชาม แก้วน้ำ ผ้าเช็ดตัว เครื่องสำอาง กระติกน้ำร้อน ฯลฯ เพื่อเป็นของขวัญ ขั้นตอนสุดท้ายคือการส่งตัวคู่บ่าวสาวเข้าห้องหอ เพื่อให้เป็นฤกษ์ดีเจ้าภาพจะขอให้คู่สามีภรรยาที่มีชีวิตสมรสราบรื่นและร่ำรวยมาเป็นผู้ทำพิธีปูที่นอนซึ่งมีขั้นตอนหนึ่งคือการโปรยเงินลงไปบนที่นอน เมื่อส่งตัวคู่บ่าวสาวเข้าห้องทั้งคู่จะเล่นแย่งเงินบนที่นอนเพื่อดูว่าใครจะเป็นผู้นำทางการเงินของครอบครัวต่อไป โดยมากเจ้าสาวมักเป็นผู้ชนะซึ่งก็เป็นไปตามความคาดหวังของทุก ๆ คน พิธีแต่งงานแบบดั้งเดิมจบลงเพียงนี้ แต่การเลี้ยงสุราอาหารอาจจะยังดำเนินต่อไปจนบ่ายค่ำกว่าจะแยกย้ายกันกลับบ้าน

การเลือกถิ่นที่อยู่

มีความแตกต่างระหว่างครัวเรือนที่ทำหัตถกรรมเครื่องปั้นดินเผากับครัวเรือนที่ไม่ได้ทำเครื่องปั้นดินเผาพอสมควร โดยทั่วไปแล้วหากเจ้าบ่าวเป็นลูกคนสุดท้องหรือทางครอบครัวเดิมมีบุตรน้อยคนก็จำเป็นที่เจ้าสาวจะย้ายเข้าไปทำมาหากินกับครอบครัวของเจ้าบ่าว กระนั้นบางทีฐานะทางครอบครัวของฝ่ายเจ้าสาวดีกว่าย่อมเป็นเหตุให้ฝ่ายชายต้องมาอยู่บ้านภรรยาซึ่งเป็นแบบแผนปกติของการเริ่มชีวิตสมรส อย่างไรก็ตามอาจเป็นด้วยเงื่อนไขของการทำหัตถกรรมปั้นหม้อปั้นโอ่ง ฯลฯ ผู้ประกอบอาชีพนี้ทั้งหมดคือผู้ที่อยู่กับครอบครัวเดิมของตนมาตลอดแม้จะสมรสแล้วก็ตามย่อมหมายความว่าคู่ครองของช่างปั้นจะเป็นฝ่ายเข้ามาอยู่กับครอบครัวฝ่ายหญิง  ครัวเรือนของช่างตีหม้อก็คล้ายกับครัวเรือนของคนอื่น ๆ ที่ไม่ได้ทำอาชีพนี้ ในแง่ของการแยกตัวออกไปจากเรือนเดิมของพ่อแม่ คู่สมรสจะอยู่บ้านหลังเดิมของพ่อแม่ของตนตลอดไป ในกรณีที่คู่ตนเป็นบุตรคนสุดท้องหรือเป็นทายาทคนเดียวของตระกูลหรือเป็นผู้ที่พ่อแม่เลือกให้เป็นผู้เลี้ยงดูตามชราภาพ เนื่องจากค่านิยมการมีบุตรหลานหลายคนเพื่ออาศัยแรงงานในการทำนาทำไร่และเพื่อความอบอุ่นใจในการมีญาติพี่น้องมาก ๆ ครัวเรือนของชาวทุ่งหลวงจึงมักมีขนาดใหญ่ บุตรที่แต่งงานแล้วจะอยู่บ้านหลังเดียวกับผู้บังเกิดเกล้าเพื่อทำมาหากินด้วยกันเป็นระยะเวลาหนึ่งซึ่งอาจนานกระทั่งบุตรผู้นั้นมีทายาทของตน 1-2 คน ก็อาจจะแยกไปปลูกเรือนอยู่บริเวณใกล้ ๆ กับเรือนของบิดามารดา การแยกเรือนอาจจะรวมไปถึงการแยกทำนาทำไร่ในส่วนของตนที่พ่อแม่แบ่งให้หรือเช่าจากคนอื่น 

กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล

วิถีชีวิตทางวัฒนธรรม

วันสำคัญและกิจกรรมทางศาสนา

แต่ละกลุ่มแต่ละบ้านต่างก็มีวัดเป็นศูนย์รวมในการประกอบกิจพิธีกรรมต่าง ๆ ยามปกติในบริเวณวัดจะเงียบ แต่ครั้นพอเทศกาลงานบุญครั้งสำคัญ ๆ มาถึง ในวัดก็ตึกตักและเนืองแน่นไปด้วยผู้ที่มาทำบุญและพ่อค้าแม่ค้าเร่ที่นำข้าวของมาให้เลือกซื้อหาได้ตามความต้องการ นอกจากช่วงสงกรานต์แล้วงานทอดกฐินในเดือน 11 หรือเดือน 12 ก็เป็นอีกโอกาสหนึ่งที่ทำให้ชุมชนดูมีชีวิตชีวามากกว่าปกติ ที่ผ่านมามักเป็นกฐินสามัคคีที่ผู้คนในทุ่งหลวงร่วมกันเป็นเจ้าภาพกับผู้มีจิตศรัทธาอื่น ๆ

เครื่องปั้นดินเผา

ช่างปั้นหลายรายนิยมที่จะนำเครื่องปั้นเข้าเตาเผาในวันที่ดวงอ่อน เช่น วันจันทร์และวันศุกร์ จะไม่เผากันในวันเสาร์และวันอาทิตย์เพราะเป็นวันดวงแข็ง ความแกร่งของวันอาจส่งผลให้ภาชนะในเตาแตกร้าวได้ การใช้เตาเผาครั้งแรกมีการไว้ครูเตาโดยนำอุปกรณ์ตีหม้อทุกอย่างที่กล่าวมาและเครื่องเซ่นไหว้อันได้แก่หมากพลู 1 คำ ไข่ต้ม 1 ใบผ่าครึ่ง ข้าวสุกตรงบริเวณขอบปากหม้อ ดอกไม้ ธูป 3 ดอก นำสิ่งเหล่านี้วางไว้กลางเตาพร้อมกับตั้งนะโม 3 จบ จากนั้นจึงกล่าว “พระภูมิเจ้าที่ แม่พระธรณี แม่คงคา ลูกมาเผา ของให้เผาดี หม้อไม่แตก...” บางรายจำหน่ายสินค้าไม่ค่อยได้ดีเหมือนคนอื่นก็ไปหาหมอโหราศาสตร์มาทำพิธีจัดตั้งศาลพระภูมิเจ้าที่ บริเวณบ้านตามตำแหน่งที่หมอกำหนด ช่างปั้นเคร่งครัดกับทิศทางในการนำของเข้าเตาเผาเป็นอย่างมาก กล่าวคือจะไม่หันภาชนะไปในทิศทางที่เชื่อว่าผีหลวงประจำอยู่ในแต่ละวัน ตามตำราพื้นบ้านแล้ว ผีหลวงจะอยู่ในตำแหน่งต่อไปนี้

  • วันอาทิตย์ : ทิศตะวันตกเฉียงเหนือ
  • วันจันทร์ : ทิศตะวันออก
  • วันอังคาร : ทิศตะวันตกเฉียงเหนือ
  • วันพุธ : ทิศเหนือ
  • วันพฤหัสบดี : ทิศใต้
  • วันศุกร์ : ทิศตะวันตก
  • วันเสาร์ : ทิศตะวันตกเฉียงใต้

ถ้าหันปากภาชนะดินเผาไปตรงทิศที่ผีหลวงประจำอยู่เชื่อว่า เครื่องปั้นดินเผาจะแตกหมดเพราะผีหลวงโกรธ แม้ว่าจะนำสินค้าบรรทุกเกวียนไปขายก็ต้องดูทิศและวันที่ผีหลวงสถิตอยู่เช่นกัน เมื่อจะออกเดินทางก็ต้องหันหัวเกวียนไปในทิศทางที่ไม่มีผีหลวงอยู่ ขณะนำภาชนะเข้าเตาเผาก็จะต้องทำอย่างสงบเงียบเพื่อให้เกิดสมาธิ งดการพูดคุยและหยอกล้อในทำนองว่าเครื่องปั้นจะแตก เชื่อกันว่าอุปกรณ์ตีหม้อทุกอย่างเป็นของสูงและมีครูประจำอยู่ จะทำอะไรที่เป็นการลบหลู่ไม่ได้ ซึ่งการตีหม้อจะทำกันอย่างเป็นล่ำเป็นสันช่วงฤดูแล้งอันเป็นเวลาที่ว่างจากเกษตรกรรม ขณะเดียวกันก็เป็นช่วงที่อากาศร้อนและแห้งแล้งจึงเหมาะต่อการประกอบการยิ่งนัก 

วิถีชีวิตทางเศรษฐกิจ

การเกษตร

การทำนาคืออาชีพหลักของชุมชน ส่วนใหญ่จะเป็นการทำนาดำที่อาศัยน้ำฝนเพราะไม่มีชลประทานเพื่อการเกษตรในย่านนั้น สมัยก่อนอาจจะปลูกข้าวเหนียวเพื่อไว้ทำขนมบ้างแต่ระยะหลังเมื่อสามารถหาซื้อข้าวเหนียวจากนอกชุมชนได้โดยง่ายชาวนาส่วนใหญ่จึงปลูกข้าวเจ้ากันมากกว่า นอกจากจะบริโภคข้าวเจ้าเป็นหลักแล้ว ข้าวเปลือกที่เหลือจากความต้องการของครัวเรือนยังเป็นที่มาของรายได้สำคัญ จากพื้นที่ถือครองของชาวบ้านทุ่งหลวงทั้งหมด 30,970 ไร่นั้น ปรากฏว่าเป็นพื้นที่ทำนามากถึง 24,301 ไร่ ในขณะเดียวกันเกษตรกรใช้พื้นที่ 1,000 กว่าไร่ ซึ่งเป็นที่เนินสูงในการปลูกพืชไร่ล้มลุกชนิดต่าง ๆ โดยเฉพาะข้าวโพดและถั่วเหลือง ระหว่างฤดูฝนจะปลูกข้าวโพด เมื่อเก็บเกี่ยวข้าวโพดแล้วช่วงฤดูหนาวต่อไปถึงต้นฤดูร้อนจะใช้พื้นที่แห่งเดิมเตรียมพร้อมเพื่อปลูกถั่วเหลือง ถั่วลิสง และถั่วเขียว ในบริเวณพื้นที่นาและพื้นที่รายรอบบริเวณไร่มีทั้งต้นตาลที่ขึ้นเองตามธรรมชาติและต้นตาลซึ่งเจ้าของพื้นที่ปลูกไว้ การมีต้นตาลมากทำให้ทุ่งหลวงมีชื่อเสียงในการทำน้ำตาลจากต้นตาลมาตั้งแต่อดีต การทำน้ำตาลเริ่มตั้งแต่เดือนมกราคมไปจนถึงเดือนพฤษภาคม เมื่อต้นตาลเริ่มผลิตน้ำตาลได้น้อยกว่าการทำน้ำตาลก็จะยุติลงในปีนั้นอันเป็นเวลาเดียวกันกับการต้องเตรียมลงมือทำนา ชาวบ้านเรียกน้ำตาลชนิดนี้ว่า น้ำตาลโตนดที่นิยมทำกันในรูปของปีก หรืองบ ผู้ทำน้ำตาลบางรายบรรจุน้ำตาลลงในหม้อเพื่อสะดวกต่อการส่งไปจำหน่ายที่ไกล ๆ ตลาดผู้บริโภคน้ำตาลโตนดจะได้แก่ชุมชนต่าง ๆ ในจังหวัดสุโขทัยเองและจังหวัดกำแพงเพชร

การเลี้ยงสัตว์เป็นกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่ขาดไม่ได้ในชุมชนชาวนาอย่างที่บ้านทุ่งหลวง สัตว์เลี้ยงขนาดใหญ่ คือ วัวและควาย ซึ่งเลี้ยงไว้ใช้งานและเลี้ยงไว้ขาย บางบ้านเลี้ยงหมูเป็นคอกเพื่อขายให้แก่โรงสัตว์ ขณะที่บางคนเลี้ยงเพื่อขายลูกหมูให้เกษตรกรรายอื่น ๆ นำไปเลี้ยงต่ออีกทอดหนึ่ง เป็ดและไก่ที่เลี้ยงไว้ตามใต้ถุนบ้านก็เพื่อจะได้อาศัยไข่และเนื้อเพื่อบริโภคในครอบครัว ไม่ปรากฏว่ามีใครเลี้ยงสัตว์ปีกในลักษณะฟาร์ม ทั้งนี้อาจจะเป็นเพราะพื้นที่ที่อยู่อาศัยคับแคบก็เป็นได้

กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล

การทำหัตถกรรมเครื่องจักสานเพื่อใช้สอยเป็นแบบแผนการผลิตอย่างหนึ่งในสังคมชาวนาไทยมาตั้งแต่ครั้งบรรพบุรุษ ในท้องถิ่นบางทุ่งหลวงมีเครื่องจักสานหลายอย่างที่ใช้เป็นส่วนประกอบของการทำนาทำไร่ เช่น กระบุง ตะกร้า กระด้ง กระจาด ตะแกรง และกระโปรงที่ใช้สำหรับนำข้าวเปลือกเข้าเก็บในยุ้ง ภาชนะบางอย่างจะใช้กับการเตรียมหรือหุงหาอาหาร เช่น กระชอน และเสวียนซึ่งอาจใช้หญ้า ดอกไม้ไผ่หรือเส้นหวายถักเป็นวงกลมสำหรับรองก้นหม้อและก้นกระทะ เครื่องจักสานที่ใช้กับประมงก็มีอยู่มากอาทิ ลอบ ไซ คะแกรงช้อนปลา และกุ้งฝอย ข้อง ซุ่มจับปลา ลันสำหรับดักปลาไหล ตุ้ม จะขัด อีจู่ อีดูด เฝือกสำหรับกันปลาให้เข้ามาติดลอบหรือไซ

เครื่องปั้นดินเผา เป็นงานฝีมือที่เด่นที่สุดของทุ่งหลวงและเป็นเอกลักษณ์ของจังหวัดสุโขทัย คงจะเป็นด้วยเทคนิคการทำเครื่องปั้นดินเผาของที่นี่ใช้วิธีการดั้งเดิมด้วยการใช้ไม้ตีลงไปบนเนื้อดินระหว่างก่อรูปให้เป็นทรวดทรงต่าง ๆ และสิ่งที่ทำกันมากคือภาชนะประเภทหม้อ ผู้คนส่วนใหญ่ในท้องถิ่นจึงเรียกการผลิตหัตถกรรมนี้ว่า “การตีหม้อ”  แม้ว่าปัจจุบันจะทำเครื่องปั้นดินเผาอย่างอื่นมากกว่าภาชนะประเภทหม้อก็ตาม “การตีหม้อ” ก็ยังคงเป็นคำที่สื่อสารกันได้อย่างดีในหมู่ชาวทุ่งหลวงและชุมชนใกล้เคียง

เครื่องปั้นดินเผาในท้องถิ่นนี้ส่วนมากจะเป็นของที่ใช้ในชีวิตประจำวันคือหม้อหุงต้มอาหาร มีหม้อชนิดหนึ่งคือ “หม้อกัน” รูปทรงกระบอกและมีส่วนสูงกว่าและขนาดใหญ่กว่าหม้อข้าวหม้อแกง นอกจากนี้ยังมีการตกแต่งลวดลายที่ปากหม้อ คนรุ่นหลังบางรายนิยมใช้หม้อกันเพื่อใส่น้ำดื่มแทนโอ่ง กระทะดินก็เป็นเครื่องปั้นดินเผาที่ใช้กันค่อนข้างมาก โอ่งดินที่ใช้ใส่น้ำดื่มและน้ำใช้เป็นเครื่องปั้นดินเผาที่มีกันทุกบ้าน ในทุ่งหลวงมีการปั้นโอ่งดินทั้งขนาดเล็ก กลางและใหญ่ให้เลือกใช้ได้ตามต้องการ  โอ่งใบดินที่ปั้นขึ้นมาเพื่อถวายพระจะได้รับการตกแต่งลายอย่างวิจิตรบรรจงที่สุดเท่าที่จะมีจินตนาการ แต่โอ่งที่ใช้กันตามบ้านมักไม่มีลวดลายอันใด

กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล

ความนำสมัยรูปแบบต่าง ๆ คือสิ่งที่มาพร้อม ๆ กับการพัฒนาทางคมนาคม ทั้งนี้ดังจะเห็นได้จากการนำเครื่องทุ่นแรงทางการเกษตรเข้ามาใช้ รถไถนาประเภทเดิมตามและรถอีแต๋นกำลังเข้ามาแทนที่การใช้แรงงานสัตว์ไถนา นวดข้าวและเทียมเกวียน เครื่องสูบน้ำเป็นสิ่งที่ใช้กันอย่างแพร่หลายเพราะเห็นว่าคุ้มค่ากับการนำมาสูบน้ำเพื่อการเกษตรและยังใช้สูบน้ำจากห้วยหนองคลองบึงให้แห้งเพื่อจะได้จับกุ้งหอยปูปลาได้สะดวกกว่าการใช้เบ็ดตกหรือใช้สุ่มอย่างแต่ก่อน ผู้ที่ทำไร่เศรษฐกิจดูจะต้องปรับรับเทคโนโลยีใหม่ ๆ เข้ามาใช้มากกว่าใคร ๆ ซึ่งสิ่งเหล่านี้ล้วนกำลังจะกลายเป็นสิ่งที่จำเป็นต่อการผลิตเพื่อให้ได้พืชผลสมบูรณ์ตามที่ตลาดต้องการ 


หน่วยงานราชการต่าง ๆ เข้ามาปฏิบัติงานตามนโยบายของแต่ละกรมกอง ส่งผลให้โฉมหน้าของบ้านทุ่งหลวงแปลกไปจากสมัยก่อนค่อนข้างมาก การได้รับการศึกษาอย่างเป็นทางการจากโรงเรียน การเผยแพร่ให้ราษฎรได้รู้วิธีการคุมกำเนิดแบบต่าง ๆ ได้ทำให้การจัดระเบียบทางสังคมและเศรษฐกิจดั้งเดิมต้องปรับตัวตามไปด้วย การมีบุตรน้อยลงย่อมหมายถึงการขาดแคลนแรงงานในการประกอบอาชีพ

ในด้านสังคม รัฐบาลใช้นโยบายผันเงินเพื่อพัฒนาถนนหนทางจากหมู่บ้านเข้าสู่เมืองของแต่ละจังหวัด ทางเกวียนและทางเดินเท้าได้รับการปรับปรุงขึ้นมาเป็นถนนลูกรังกันเป็นส่วนใหญ่ ท้องถิ่นใดได้ผู้นำที่เข้มแข็งสามารถติดต่อกับข้าราชการผู้ใหญ่ได้ชุมชนแห่งนั้นก็อาจมีถนนลาดยางมะตอยอันเป็นสิ่งที่บ่งชี้ความก้าวหน้าของท้องถิ่น 

การปั้นเป็นงานฝีมือที่ต้องได้รับการฝึกฝนด้วยตนเองด้วยการเลียนแบบอย่างจากผู้ใหญ่ซึ่งอาจชี้แนะวิธีการและข้อควรแก้ไขเพื่อให้มีความชำนาญในการทำงานกับดินยิ่ง ๆ ขึ้น การทำสิ่งของเครื่องใช้จากดินเป็นทักษะพิเศษ ผู้ที่มีพรสวรรค์และมีใจชอบเท่านั้นที่มีแนวโน้มว่าจะทำงานที่ต้องเปรอะเปื้อนเช่นนี้ได้ ช่างปั้นเกือบทุกรายเล่าว่าตอนเด็ก ๆ  เมื่อผู้ใหญ่พักจากการปั้นพวกเขาจะชอบแอบหยิบดินที่แม่และยายเตรียมไว้มาปั้นแต่งเป็นสิ่งต่าง ๆ ในลักษณะของการเล่นขายหม้อข้าวหม้อแกงกับเพื่อน ๆ แทบไม่เคยมีการเรียกลูกหลานมาสั่งสอนให้ทำงานปั้นเป็นเรื่องเป็นราวเหมือนเช่นการฝึกเด็ก ๆ ให้หัดทอผ้า เด็ก ๆ อาจจะมีส่วนร่วมกับการปั้นอย่างเป็นกิจลักษณะก็เฉพาะตอนเหยียบดิน กล่าวคือเมื่อนำทรายผสมลงในดินเหนียวและผู้ใหญ่อาจให้เด็ก ๆ มาช่วยเหยียบย่ำดินและทรายให้เข้ากันดี เด็ก ๆ ก็ดูจะชอบเพราะเห็นเป็นการสนุกที่จะได้ขึ้นไปเต้นเล่นย่ำดิน พอเติบโตมาสู่ช่วงวัยรุ่นและผู้ใหญ่เห็นว่ามีแววพอจะทำงานปั้นได้ก็อาจจะให้ช่วยทำงานพื้น ๆ ประเภทขัดแต่งผิวภาชนะประเภทที่ต้องขึ้นรูปทรง เช่น หม้อหรือโอ่งผู้ปั้นจะต้องควบคุมจังหวะที่มือข้างหนึ่งที่ถือไม้ตีและมืออีกข้างหนึ่งถือลูกหินอยู่ด้านในภาชนะให้ประสานกัน หากออกแรงตีไม้ลงบนพื้นผิวภาชนะมากไปเนื้อดินก็อาจจะยุบเข้าข้างในมาก ในทางตรงกันข้ามถ้าดันลูกหินแรงเนื้อดินส่วนนั้นอาจโป่งนูนออกมากกว่าส่วนอื่น กว่าจะตีหม้อเป็นรูปทรงสวยงามพอ ๆ กับฝีมือของแม่และยายได้ก็อาจมีอายุอยู่ในวัย 30 ปี นอกจากนี้การเผาเครื่องปั้นดินเผาแต่ละครั้งจะต้องมีของมากพอสมควร มิเช่นนั้นก็จะไม่คุ้มกับเชื้อเพลิงที่ต้องเสียไป โดยมากญาติพี่น้องหรือเพื่อนบ้านใกล้ ๆ กันจะนำของมารวมกันเข้าเตาพร้อม ๆแต่ละคนก็นำเชื้อเพลิงของตนมาใช้ด้วยกัน การตั้งถิ่นฐานอยู่กับบรรดาญาติข้างแม่ย่อมเอื้ออำนวยต่ออาชีพช่างปั้นอยู่มาก 

ชนัญ วงษ์วิภาค. (2544). ประมวลข้อมูลพื้นฐานชุมชนในมิติทางมานุษยวิทยา. กรุงเทพฯ: มหาวิทยาลัยศิลปากร. ค้นคืนเมื่อ 3 พฤษภาคม 2566 , จาก ฐานข้อมูลงานวิจัย ศมส.: https://www.sac.or.th/databases/sac_research/ 

เทศบาลตำบลทุ่งหลวง. (ม.ป.ป.). เครื่องปั้นดินเผาบ้านทุ่งหลวง. ค้นคืนเมื่อ 3 พฤษภาคม 2566 , จาก https://www.thungluangsk.go.th/

รีวิวสุโขทัย. (2564). ค้นคืนเมื่อ 3 พฤษภาคม 2566 , จาก https://www.facebook.com/photo

สยามรัฐออนไลน์. (2564). จากรุ่นสู่รุ่น 'งานช่างปั้น​สุโขทัย' ฝากไว้บนแผ่นดินไทย. ค้นคืนเมื่อ 3 พฤษภาคม 2566 , จาก https://siamrath.co.th/n/240284

My City . (ม.ป.ป.). เครื่องปั้นดินเผาบ้านทุ่งหลวง & โฮมสเตย์ บ้านทุ่งหลวง สุโขทัย. ค้นคืนเมื่อ 3 พฤษภาคม 2566 , จาก http://mycity.tataya.net/

Yellow Pages Thailand. (ม.ป.ป.). บ้านทุ่งหลวง. ค้นคืนเมื่อ 3 พฤษภาคม 2566 , จาก https://www.yellowpages.co.th/