Advance search

กะเหรี่ยงบ้านป่าละอู

หมู่บ้านชาวกะเหรี่ยงที่ยังมีการรักษาขนบธรรมเนียมประเพณีดั้งเดิมเอาไว้ ไม่ว่าจะเป็นประเพณีความเชื่อต่างๆ และการแต่งกาย

ป่าละอู
ห้วยสัตว์ใหญ่
หัวหิน
ประจวบคีรีขันธ์
มนิสรา นันทะยานา
19 มี.ค. 2023
ปวินนา เพ็ชรล้วน
5 เม.ย. 2023
ปวินนา เพ็ชรล้วน
30 เม.ย. 2023
กะเหรี่ยงบ้านป่าละอู

บริเวณที่ตั้งชุมชน มีป่าไผ่อุดมสมบูรณ์ จึงตั้งชื่อหมู่บ้านว่า “บ้านป่าละอู” โดย“ละอู” เป็นภาษากะเหรี่ยง แปลว่าไม้ไผ่ 


หมู่บ้านชาวกะเหรี่ยงที่ยังมีการรักษาขนบธรรมเนียมประเพณีดั้งเดิมเอาไว้ ไม่ว่าจะเป็นประเพณีความเชื่อต่างๆ และการแต่งกาย

ป่าละอู
ห้วยสัตว์ใหญ่
หัวหิน
ประจวบคีรีขันธ์
77110
อบต.ห้วยสัตว์ใหญ่ โทร. 0-3264-6874
12.513981
99.543645
องค์การบริหารส่วนตำบลห้วยสัตว์ใหญ่

บ้านป่าละอู เป็นอีกหมู่บ้านหนึ่งที่มีชนชาวกะเหรี่ยงอาศัยอยู่ และบางคนก็เรียกตนเองว่า “กะหร่าง” ซึ่งมีการอาศัยอยู่ร่วมกัน ทั้งกะเหรี่ยง กลุ่มที่เรียกตนเองว่า กะหร่าง พม่าอพยพ และคนไทย ทำให้เกิดความหลากหลายทางพหุวัฒนธรรมขึ้น เนื่องจากจังหวัดประจวบคีรีขันธ์เป็นจังหวัดหนึ่งซึ่งมีพรมแดนติดต่อกับประเทศพม่า บริเวณนี้จึงมีการอพยพกลุ่มชนเข้ามาอาศัยได้ โดยเฉพาะชาวเขาเผ่ากะเหรี่ยง

หมู่บ้านป่าละอูเริ่มก่อตั้งเมื่อ พ.ศ. 2484 โดยชาวบ้านชาวไทยภูเขาเผ่ากะเหรี่ยงและกะหร่าง ซึ่งมีนายถู้ฮิ และนายซะเด้ เป็นผู้นำกลุ่ม นำชาวกะเหรี่ยงมาตั้งถิ่นฐานประมาณ 10 หลังคาเรือน เรียกชื่อว่า “บ้านป่าละอู” เนื่องจากเห็นว่าบริเวณนี้เหมาะสม มีพืชพันธ์ธัญญาหาร มีแม่น้ำป่าละอูไหลผ่านตลอดปี มีป่าไผ่อุดมสมบูรณ์ คำว่า “ละอู” เป็นภาษากะเหรี่ยงแปลว่า ไม้ไผ่ จึงตั้งชื่อหมู่บ้านว่า “บ้านป่าละอู”

ต่อมาในปี พ.ศ. 2508 พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร รัชกาลที่ 9 ได้เสด็จเยี่ยมราษฎรในพื้นที่นี้ จึงโปรดเกล้าแต่งตั้ง นายคะ ปัญญาหาญ เป็นผู้ใหญ่บ้านคนแรก และเดิมหมู่บ้านอยู่ในเขตการปกครองหมู่ที่ 5 บ้านป่าละอู ตำบลหนองพลับ

ป่าละอูเมื่อ พ.ศ. 2510 นับเป็นพื้นที่สีแดง ซึ่งหมายถึงพื้นที่ที่มีปัญหาคอมมิวนิสต์ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร รัชกาลที่ 9 จึงทรงมีพระราชดำริจัดตั้งศูนย์พัฒนาชาวไทยภูเขาเผ่ากะเหรี่ยง 712 ณ บริเวณบ้านป่าละอู และให้ชาวไทยภูเขา ชาวกะเหรี่ยงที่อาศัยอยู่ตามหุบเขาอพยพมาอยู่ที่ศูนย์ 712 นี้ เพื่อความปลอดภัย ต่อมาเมื่อ พ.ศ. 2511 ทรงให้จัดสร้างโรงเรียนอานันท์ เพื่อเป็นที่สอนหนังสือให้กับเด็ดชาวกะเหรี่ยง โดยมีตำรวจพลร่มเป็นครูสอนหนังสือให้ เมื่อปัญหาคอมมิวนิสต์หมดไป ทรงมีรับสั่งให้เข้าปรับปรุงพื้นที่และช่วยเหลือเรื่องการทำมาหากินพร้อมสร้างถนนในการสัญจร พร้อมพระราชทานที่ดินทำกิน โดยพระองค์ไม่ประสงค์ให้มีกรรมสิทธิ์ในที่ดิน เพราะต้องการให้ราชการเข้ามาช่วยเหลือชาวกะเหรี่ยงในพื้นที่ได้อย่างเต็มที่ จึงเป็นเหตุให้พื้นที่บ้านป่าละอู มีชาวกะเหรี่ยงอาศัยอยู่มาก บ้างอยู่มาก่อนแล้วก่อนมีคอมมิวนิสต์

เมื่อประมาณ 200 กว่าปีมาแล้ว อีกฟากหนึ่งของเขาตะนาวศรี (ประเทศพม่า) ชาวกะเหรี่ยงได้มีการรวมตัวกันตั้งหมู่บ้านที่ต้นตะเคียนคู่ซึ่งอยู่ห่างไกลออกไป รวมได้ประมาณ 80 ครอบครัว ต่อมาไม่นานในหมู่บ้านเกิดโรคระบาดขึ้น คืออหิวาตกโรค และฝีดาษ อีกทั้งถูกรุกรานขับไล่จากประเทศพม่าและเกิดการรบกัน ซึ่งโดยนิสัยแล้ว ชาวกะเหรี่ยงมีนิสัยรักสงบจึงทนอยู่ต่อไปไม่ได้ ต้องอพยพมาทางฝั่งประเทศไทย ส่วนหมู่บ้านที่เกิดโรคระบาดนั้น ก็เป็นเหตุให้ชาวกะเหรี่ยงเสียชีวิตล้มตายเป็นจำนวนมาก และต้องหนีตายกันออกมา แยกย้ายไปคนละทิศละทาง ชาวกะเหรี่ยงที่แพ่งตะค้อ ป่าเด็ง ป่าละอู ต่างก็หนีมาจากที่เดียวกัน และเป็นพี่น้อง เป็นญาติกันทั้งหมด จึงมีความเกี่ยวดองติดต่อไปมาหาสู่กันเป็นประจำจนถึงทุกวันนี้

ชุมชนกะเหรี่ยงบ้านป่าละอู ห่างจากที่ว่าการอำเภอหัวหิน ประมาณ 51 กิโลเมตร อยู่ห่างจากตัวจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ประมาณ 100 กิโลเมตร และห่างจากกรุงเทพมหานคร ประมาณ 243 กิโลเมตร การเดินทางจากกรุงเทพฯ มายังชุมชนกะเหรี่ยงบ้านป่าละอู สามารถเดินทางได้ทางรถยนต์ส่วนบุคคล

อาณาเขตติดต่อ

  • ทิศเหนือ       ติดต่อกับ   บ้านฟ้าประทาน หมู่ที่ 2
  • ทิศใต้          ติดต่อกับ   เทือกเขาหีบ
  • ทิศตะวันออก   ติดต่อกับ   บ้านห้วยผึ้ง หมู่ที่ 4
  • ทิศตะวันตก    ติดต่อกับ   สหภาพพม่า

สภาพพื้นที่ทางกายภาพ

ชุมชนป่าละอูเป็นชุมชนที่ค่อนข้างกว้าง โดยมีจุดศูนย์กลางอยู่ที่บริเวณหมู่ที่ 3 บ้านป่าละอู โดยมีบริเวณรอบนอกที่มีการเคลื่อนที่ไปมาในบริเวณลุ่มน้ำสะตือบนและล่าง ลักษณะทั่วไปของหมู่บ้าน ส่วนใหญ่เป็นที่ราบเชิงเขา เขตชายแดนติดต่อกับสหภาพพม่า

บ้านป่าละอูมีพื้นที่ 1,200 ตารางกิโลเมตร และมีพื้นที่สาธารณะไว้ทำกิจกรรมต่างๆ ของหมู่บ้านและเป็นป่าชุมชน บ้านป่าละอูมีพื้นที่เป็นที่ลุ่มมีภูเขาล้อมรอบหมู่บ้าน มีแม่น้ำป่าละอูและมีแหล่งน้ำจากน้ำตกป่าละอูไหลผ่านตลอดปี มีสระน้ำสาธารณะ ดินมีลักษณะเป็นดินร่วนปนทรายเหมาะแก่การเพาะปลูก

สภาพพื้นที่โดยทั่วไปของหมู่บ้านป่าละอูตั้งอยู่บนพื้นที่ราบเชิงเขาตะนาวศรี ในพื้นที่ราบสูงมีภูเขาล้อมรอบ ลักษณะของบ้านจะสร้างด้วยไม้หรือวัสดุที่หาง่ายจากท้องถิ่น เช่น ไม้ไผ่ มาทำเป็นพื้นบ้านและฝาบ้าน ส่วนหลังคาจะใช้ทางมะพร้าวหรือหญ้าแฝกมาเย็บเป็นตับ ตัวบ้านจะยกพื้นสูงเพื่อใช้เลี้ยงสัตว์และระบายน้ำเวลาฝนตก ภายในของตัวบ้านแต่เดิมจะมีลักษณะเป็นห้องอเนกประสงค์ คือจะใช้เป็นห้องรับแขก ห้องครัว ห้องนอน แต่ปัจจุบันมีการแยกห้องให้เป็นสัดส่วนมากขึ้น

จากข้อมูลการสำรวจของกรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย ปี 2565 ระบุจำนวนครัวเรือนและประชากรในบ้านป่าละอู จำนวน 369 หลังคาเรือน ประชากรทั้งหมด 1,669 คน แบ่งเป็นประชากรชาย 856 คน หญิง 813 คน บ้านป่าละอูเป็นสังคมเกษตรกรรมมาตั้งแต่อดีต ชาวบ้านมีความผูกพันอยู่กับธรรมชาติมาโดยตลอด ในชุมชนเป็นการอยู่ร่วมกันของคนหลายเชื้อชาติ ภาษา ศาสนา วัฒนธรรม แต่สามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างปกติสุข บนพื้นฐานของความเข้าใจ ชาวไทยและชาวกะเหรี่ยงได้มีการเรียนรู้ในครอบครัว การเรียนรู้จากสังคมในชุมชน ตั้งแต่เล็กจนเป็นผู้ใหญ่ที่ทุกคนรู้จักสนิทสนมกันมาตั้งแต่บรรพบุรุษ สนิทสนมกันเหมือนญาติ มีการปฏิบัติต่อกันด้วยความเข้าใจ ให้เกียรติซึ่งกันและกันตลอดมา ชาวไทยและชาวกะเหรี่ยงมีการแต่งงานกันหลายคู่จนเป็นญาติพี่น้องกันหลายครอบครัว

ปกาเกอะญอ

ด้านกลุ่มอาชีพ

ชุมชนป่าละอู เป็นชุมชนที่มีความสัมพันธ์เกี่ยวเนื่องกับธรรมชาติมาโดยตลอด โดยสร้างบ้านเรือนอาศัยอยู่กับธรรมชาติ ปัจจุบันอาชีพหลัก คือ การประกอบอาชีพเกษตรกรรม ได้แก่ ทุเรียน สับปะรด กล้วย มะนาว มะม่วง และการเลี้ยงสัตว์ ได้แก่ วัว แพะ เป็นต้น และการทอผ้า

วิถีชีวิตทางวัฒนธรรม

ชาวกะเหรี่ยงมีประเพณีความเชื่อที่เกี่ยวข้องกับชีวิตของพวกเขาหลายอย่าง ซึ่งในแต่ละพิธีเป็นสิ่งที่ชาวกะเหรี่ยงยึดถือปฏิบัติสืบต่อกันมาตั้งแต่ครั้งบรรพบุรุษ เพื่อให้เกิดความเคารพศรัทธา อีกทั้งเป็นแนวทางในการปฏิบัติและการอยู่ร่วมกันของชาวกะเหรี่ยงในหมู่บ้านอย่างเป็นสุข โดยในรอบปีของผู้คนในชุมชนกะเหรี่ยงบ้านป่าละอูมีวิถีชีวิตทางวัฒนธรรมที่มีอัตลักษณ์โดดเด่น ดังต่อไปนี้

1. ประเพณีการเกิด ชาวกะเหรี่ยงมีประเพณีการเกิดซึ่งเป็นความเชื่อแต่สมัยก่อน เมื่อมีการคลอดบุตรเกิดขึ้น ไม่ว่าขจะเป็นหญิงหรือชาย บิดาจะนำรกไปใส่ในกระบอกไม้ไผ่ไว้โคนต้นไม้ใหญ่ ซึ่งมีความเชื่อว่าเด็กจะมีอายุยืนยาวดังเช่นไม้ใหญ่ และเชื่อว่าที่ต้นไม้นั้นมีนางฟ้าเทวดาอยู่ ให้ช่วยดูแลคุ้มภัยอันตรายแก่เด็กได้ ต้นไม้นั้นก็ห้ามโค่นและทำลายทิ้งเป็นอันขาด เมื่อเด็กคลอดออกมาแล้วเมื่อเจ็บไข้ได้ป่วยจะมีการไหว้ผีเพื่อเรียกขวัญวิญญาณเด็ก โดยการเซ่นไหว้ ใช้ไข่ไก่ต้ม หมาก 3-7 ซีก และธูปเทียนมาไหว้เพื่อเรียกขวัญ นอกจากนั้นยังมีการผูกข้อมือเด็กด้วยใบไผ่และด้ายขาวอีกด้วย เด็กผู้หญิงนั้นมารดาจะทอผ้าเป็นชุดสีขาวทรงกระสอบให้ใส่ และจะต้องใส่ชุดสีขาวจนกว่าจะได้แต่งงาน เมื่อแต่งงานแล้วจึงสามารถใส่ชุดสีอื่นได้ เช่น สีแดง สีฟ้า สีดำ ใส่เสื้อสั้นและผ้าถุงได้ แต่ห้ามใส่สีขาว ปัจจุบันความเชื่อนี้ไม่ได้นิยมทำกันอย่างแต่ก่อนแล้ว

2. การแต่งงาน ประเพณีแต่งงานของชาวกะเหรี่ยงนั้นจะแต่งงานอายุยังน้อย อายุประมาณ 15 ปี ก็ได้แต่งงานแล้ว การเลือกคู่ครองนั้น คู่บ่าวสาวจะเป็นผู้ที่ทำการตัดสินใจเอง โดยพ่อแม่และญาติทั้ง 2 ฝ่ายรับรู้ซึ่งกันและกัน ในการแต่งงานนี้จะมีประเพณีอย่างหนึ่งซึ่งเรียกว่า การย่องสาว ซึ่งญาติทางฝ่ายหญิงจะเป็นผู้เปิดโอกาสให้ฝ่ายชายมาที่บ้านฝ่ายหญิง เพื่อพบปะพูดคุยทำความรู้จัก ทำความคุ้นเคยในการตัดสินใจเป็นคู่ครอง โดยมิได้มีโอกาสล่วงละเมิดทางเพศแต่อย่างใด เพราะถือว่าจะเป็นการผิดผี ถ้าทั้งคู่มีความชอบพอกัน ทางฝ่ายหญิงจะยอมให้ฝ่ายชายมานอนค้างที่บ้านแต่มิได้ล่วงละเมิดแต่อย่างใด และจะต้องเป็นที่รับรู้ของพ่อแม่ญาติผู้ใหญ่ทั้ง 2 ฝ่าย เมื่อแต่งงานแล้ว ฝ่ายชายจะต้องไปอยู่บ้านของฝ่ายหญิง ในวันแต่งงานแม่ของฝ่ายหญิงจะให้ฝ่ายหญิงทอผ้าไว้ให้ฝ่ายชายใส่ และเลี้ยงหมูเพื่อจะได้มีไว้ขายไว้กิน ส่วนผู้ชายจะไม่ใส่เสื้อ นุ่งโสร่งถือเสื่อและย่ามมาในวันแต่งงาน วันแต่งงานฝ่ายหญิงจะต้องใส่ชุดสีขาวเพื่อแสดงถึงความบริสุทธิ์ เมื่อแต่งงานไปแล้วจะไม่สามารถใส่สีขาวได้ เปลี่ยนไปใส่สีอื่นแทน เช่น สีฟ้า สีดำ สีแดง เป็นต้น

3. การไหว้ผี การไหว้ผีเพื่อการเรียกขวัญ กับการกินผีนั้นจะไม่เหมือนกัน กล่าวคือ การไหว้ผีเป็นความเชื่อของชาวกะเหรี่ยงที่ปฏิบัติมาตั้งแต่ครั้งบรรพบุรุษ ซึ่งจัดได้ว่าเป็นประเพณีอย่างหนึ่งที่ชาวกะเหรี่ยงให้ความสำคัญ เชื่อว่าสามารถทำให้ตนและครอบครัวมีความสุข โดยจะมีการไหว้ผีเกิดขึ้นเรียกว่า การกินผี ประเพณีกินผี เป็นความเชื่อดั้งเดิมของชาวกะเหรี่ยง ซึ่งในปัจจุบันก็กระทำกัน โดยมีความเชื่อว่าการกินผีหรือการเลี้ยงผีนี้ จะช่วยให้โรคภัยอันตรายต่างๆ หายไป หรือช่วยให้คนในครอบครัว หมู่บ้านอยู่อย่างเป็นสุข ในการเลี้ยงผีนี้จะทำกันปีละครั้ง แต่ถ้าครอบครัวใดประสบโรคภัยอันตราย ก็มักจะกระทำกันโดยจะทำพิธีที่บ้านของผู้นั้น ห้ามคนนอกเข้ามา เชื่อว่าจะทำให้ผู้นั้นต้องเป็นโรคภัยไปด้วย ถ้าบ้านใดครอบครัวใดมีการกระทำพิธีเลี้ยงผีนี้ ก็จะมีสัญลักษณ์บอก คือจะมีกิ่งไม้มาปักไว้ข้างหน้าบ้านหรือที่รั้ว เป็นการแสดงว่าบ้านนี้ ครอบครัวนี้มีการเลี้ยงผีนั่นเอง

การเลี้ยงผีกระทำกัน 3 วัน และภายใน 3 วันนี้ จะห้ามคนในครอบครัว ในบ้านออกไปข้างนอก เพราะเกรงว่าจะนำโรคภัยไปสู่ผู้อื่น การเลี้ยงผีจะเลี้ยงด้วยของ 4 อย่าง คือ ไก่ หมู อ้น ปลาซิว โดยหัวหน้าครอบครัวจะไปจับไก่ไปฆ่า แล้วนำไก่ไปต้มโดยไม่ปรุงรสใดๆทั้งสิ้น สำหรับหารจับปลาซิวนั้น คนที่จับปลาจะต้องจับปลามิให้เกล็ดปลาหลุดออกมาแม้แต่เกล็ดเดียว ถ้าจับแล้วเกล็ดปลาหลุดก็จะต้องจับใหม่ ส่วนหมูและอ้น ฆ่าโดยการทำให้หายใจไม่ออกจนจาย จึงนำมาต้ม และเมื่อนำมาประกอบพิธีเสร็จแล้ว ให้ผู้ชายในครอบครัวนำของทั้ง 4 อย่างนี้ ไปไว้ใต้ต้นไม้ เพื่อเรียกผีมากิน หลังจากนั้นคนในครอบครัวก็จะนำของทั้ง 4 อย่างมากิน และมีการนำด้ายขาวมาผูกข้อมือเพื่อรับขวัญ เชื่อว่าจะทำให้หายจากโรคภัยการเจ็บป่วยได้ นั่นเอง

4. ประเพณีไหว้พระจันทร์ ชาวกะเหรี่ยงจะทำกันทุก 14 – 15 ค่ำ แต่จะไหว้ 2 ครั้งใหญ่ๆ ในวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 6 และวันขึ้น 15 ค่ำแรก ของเดือนมกราคมของทุกปี ในการไหว้พระจันทร์ของทุกๆ เดือนนั้น จะมีแค่หมาก พลู ธูป 3 – 7 ดอก และเทียนจุดไหว้พระจันทร์เท่านั้นจะไม่มีของหวานแต่อย่างใด ส่วน 15 ค่ำ ในเดือน 6 และ 15 ค่ำแรกของเดือนมกราคม จะจัดเป็นงานใหญ่ ทุกคนในหมู่บ้านจะมาร่วมในการไหว้พระจันทร์ เมื่อถึงวันขึ้น 14 ค่ำ ผู้หญิงที่เป็นแม่บ้านในหมู่บ้านก็จะมาร่วมกันเตรียมงาน เช่น ผลไม้ของหวานจำพวก กล้วย หัวมัน เผือก ในการไหว้พระจันทร์นี้จะงดการฆ่าสัตว์และสุรา ในการไหว้พระจันทร์ผู้ทำพิธีจะมีการหลั่งน้ำและให้คนที่มาร่วมพิธีจับต่อๆ กันไป พร้อมทั้งขอพระจากพระจันทร์ เพื่อเป็นสิริมงคลแก่ตนเองและครอบครัว บ้านใดมีลูกก็จะนำมาไหวเพื่อฝากกับสิ่งศักดิ์สิทธิ์นั้นด้วย

กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล

ทุนกายภาพ

น้ำตกป่าละอู น้ำตกขนาดใหญ่ มีความสูง 15 ชั้น ไหลลดหลั่นลงมาเป็นทางยาว ชั้นที่ 1-3 เหมาะสำหรับการเล่นน้ำ ส่วนน้ำตกชั้นที่สวยที่สุดคือ น้ำตกชั้นที่ 7 เพราะมีแอ่งน้ำขนาดใหญ่อยู่ท่ามกลางป่าร่มครึ้ม ซึ่งนักท่องเที่ยวส่วนใหญ่จะชมความงามของน้ำตกถึงบริเวณชั้นที่ 7 เท่านั้น เนื่องจากน้ำตกชั้นที่สูงขึ้นไปต้องปีนป่ายไปตามโขดหินสูงชัน โดยจากชั้นที่ 7 เป็นทางสามแพร่ง  หากไปทางขวาจะไปน้ำตกคลองปราณ ใช้เวลาเดินประมาณ 1 วัน จึงจะถึง หากไปทางซ้ายจะเข้าเขตป่าละอู ซึ่งเป็นถิ่นอาศัยของชาวกะเหรี่ยง กะหร่าง และจากน้ำตกชั้นที่ 15 ไปอีกไม่ไกลจะถึงเขตพรมแดนไทย-พม่า

ทุนวัฒนธรรม

การแต่งกาย

ชาวกะเหรี่ยงยังคงรักษาประเพณีการแต่งกายดั้งเดิมอยู่ และจะแต่งชุดกะเหรี่ยงเพื่อร่วมกิจกรรม พิธีกรรมที่สำคัญของชาวกะเหรี่ยง ซึ่งปัจจุบันยังมีผู้สูงอายุแต่งกายชุดกะเหรี่ยงในชีวิตประจำวัน ส่วนหนุ่มสาวมักแต่งชุดกะเหรี่ยงในงานพิธีสำคัญ วันทำบุญเท่านั้น การแต่งกายประจำวันก็จะใส่เสื้อผ้าเช่นเดียวกับคนทั่วไป

1.การแต่งกายของผู้ชาย

เสื้อจะเป็นเสื้อคอวีทรงกระสอบยาวถึงสะโพก ตรงคอเสื้อจะมีพู่ห้อยลงมาเลยชายเสื้อ แขนเสื้อเป็นแขนสั้น สีเสื้อมักจะเป็นสีแดง สีน้ำเงิน ลายเป็นทางยาว (กรณีพู่ห้อยยาวกว่าชายเสื้อหรือไม่นั้น ไม่ได้แสดงถึงว่าแต่งงานแล้วแต่อย่างใด) กางเกงจะใช้ผ้าสีแดงหรือสีน้ำเงินนุ่งเป็นโจงกระเบน บ้างจะนุ่งโสร่งยาวถึงเท้า ผ้าโพกหัวมีลักษณะเป็นผ้าผืนยาวที่สามารถนำมาพันรอบหัวได้ นิยมใช้สีแดงและสีเขียว

2. การแต่งกายของผู้หญิง

เสื้อจะเป็นเสื้อคอวีทรงกระสอบสีขาวแขนสั้น มีพู่ห้อยที่คอเสื้อสีเหลือง และชุดทรงกระสอบยาวกรอมเท้า ลวดลายของเสื้อนั้นจะทอตามความต้องการของผู้ใส่ (ผู้หญิงกะเหรี่ยงที่ยังไม่แต่งงานจะใส่ชุดสีขาว ส่วนผู้หญิงที่แต่งงานแล้วเสื้อจะมีลายปักทอลาย และจะสวมผ้าซิ่นที่ไม่มีลายถี่นัก) ผ้าถุงเป็นผ้าซิ่นสีแดงยาวกรอมเท้า ผ้าโพกหัวผ้าโพกหัวจะใช้สีขาวและสีแดงเพื่อกันแดดเวลาร้อน เครื่องประดับผู้หญิงมักจะใช้ลูกปัดร้อยเป็นสร้อยคอ หรือใช้เงินมาทำเป็นเครื่องประดับ เช่น สร้อยคอ ต่างหู

กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล

การเปลี่ยนแปลงของสังคมไปสู่ความทันสมัย ปัจจุบันสภาพของสังคมเปลี่ยนไปอย่างรวดเร็ว ทำให้วิทยาการสมัยใหม่เข้ามาในชุมชนมากขึ้น จึงทำให้เกิดความร่วมมือกันของคนในชุมชน รวมไปถึงโรงเรียน ซึ่งปัจจัยที่ส่งผลต่อการดำรงอยู่ของวัฒนธรรมชุมชน ประกอบด้วยปัจจัยหลัก ดังต่อไปนี้

1. ปัจจัยด้านการเรียนรู้และการถ่ายทอดความรู้ ชุมชนบ้านป่าละอู เป็นชุมชนที่มีวัฒนธรรมหลากหลายมากมาย แรกเริ่มเดิมทีมาจากการถ่ายทอดแบบตัวต่อตัว ก่อนที่จะมีการบันทึกเป็นลายลักษณ์อักษร และจัดสร้างเป็นศูนย์การเรียนรู้ขึ้นทั้งภายในชุมชนและโรงเรียนเพื่อถ่ายทอดความรู้ให้กับเยาวชนรุ่นใหม่

2. ปัจจัยด้านการปรับตัวทางสังคม ศิลปวัฒนธรรมของ ชาวกะเหรี่ยงสามารถดำรงอยู่ได้ในสังคมปัจจุบัน เนื่องจากมีการถ่ายทอดความรู้ให้กับเยาวชนในชุมชน การอนุรักษ์และปรับปรุงให้สอดคล้องกับสภาพปัจจุบันแต่ยังคงรักษาเค้าโครงเดิมที่ได้รับสืบทอดกันมา จึงทำให้ไม่สูญหายและยังอยู่ในสังคมเรื่อยมา

การมีส่วนร่วม

บทบาทของสมาชิกในชุมชนในการส่งเสริมการจัดการศึกษาภายในสถานศึกษา ชาวบ้านและผู้ปกครองนักเรียน ทุกคนต้องการเห็นบุตรหลานของตนได้รับการศึกษาอย่างเต็มที่ โดยชาวบ้านและผู้ปกครองทุกคนพยายามส่งเสริมและเข้าร่วมกิจกรรมทุกอย่างที่ทางสถานศึกษาได้เชิญให้เข้าร่วม พร้อมทั้งบางครอบครัวยังร่วมบริจาคสิ่งของ เงินสนับสนุนในการทำกิจกรรมและร่วมแรงร่วมใจในการทำกิจกรรมต่างๆ ร่วมกับทางโรงเรียน

กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล

รสสุคนธ์ เนาวบุตร. (2557). แนวทางการจัดการศึกษาเรียนร่วมพหุวัฒนธรรม: กรณีศึกาชุมชนป่าละอู อำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์. วิทยานิพนธ์ศึกษาศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชา พัฒนศึกษา, มหาวิทยาลัยศิลปากร.

กรมการปกครอง. (2565). ระบบสถิติทางการทะเบียน จำนวนประชากร. (ออนไลน์). สืบค้นเมื่อ 19 มีนาคม 2566, จาก: https://stat.bora.dopa.go.th/new_stat/webPage/statByYear.php.

สำนักงานเทศบาลตำบลหัวหิน. (2563). น้ำตกป่าละอู. (ออนไลน์). สืบค้นเมื่อ 19 มีนาคม 2566, จาก: https://www.huahin.go.th/new/travel/detail/18.