Advance search

บ้านทุ่งโฮ้ง

บ้านทุ่งโฮ้ง

ผ้าหม้อห้อมบ้านทุ่งโฮ่ง ภูมิปัญญาท้องถิ่นของบรรพบุรุษชาวไทพวน นำพาบ้านทุ่งโฮ้งก้าวเข้าสู่การเป็นหมู่บ้านท่องเที่ยว OTOP เชิงหัตถกรรม เอกลักษณ์ของบ้านทุ่งโฮ้งและจังหวัดแพร่ ดังคำขวัญของจังหวัดแพร่ที่กล่าวไว้ว่า “หม้อห้อมไม้สัก ถิ่นรักพระลอ ช่อแฮศรีเมือง ลือเลื่องแพะเมืองผี คนแพร่นี้ใจงาม” 

ทุ่งโฮ้ง
ทุ่งโฮ้ง
เมืองแพร่
แพร่
ชิดชนก สุรินทร์ไชย
1 ก.พ. 2023
พิสุทธิลักษณ์ บุญโต
28 พ.ค. 2023
พิสุทธิลักษณ์ บุญโต
28 เม.ย. 2023
บ้านทุ่งโฮ้ง
บ้านทุ่งโฮ้ง

บ้านทุ่งโฮ้ง หรือชื่อเดิมเรียกว่า บ้านทั่งโฮ้ง “คำว่าทั่ง” หมายถึง ทั่วที่รองรับการตีเหล็ก คำว่า “โห้ง” เป็นภาษาไทยพวน หมายถึงสถานที่เป็นแอ่งลึกลงไป คนพวนว่า “มันโห้งลงไป” สมัยก่อนนั้นคนพวนบ้านทุ่งโฮ้งจะมีเตาตีเหล็กกันแทบทุกหลังคาเรือน จึงเรียกว่า “บ้านทั่งโห้ง” ส่วนคำว่า “ทุ่งโฮ้ง” คงจะเป็นคำเพี้ยนจากคำว่า “ทั่งโห้ง”


ผ้าหม้อห้อมบ้านทุ่งโฮ่ง ภูมิปัญญาท้องถิ่นของบรรพบุรุษชาวไทพวน นำพาบ้านทุ่งโฮ้งก้าวเข้าสู่การเป็นหมู่บ้านท่องเที่ยว OTOP เชิงหัตถกรรม เอกลักษณ์ของบ้านทุ่งโฮ้งและจังหวัดแพร่ ดังคำขวัญของจังหวัดแพร่ที่กล่าวไว้ว่า “หม้อห้อมไม้สัก ถิ่นรักพระลอ ช่อแฮศรีเมือง ลือเลื่องแพะเมืองผี คนแพร่นี้ใจงาม” 

ทุ่งโฮ้ง
ทุ่งโฮ้ง
เมืองแพร่
แพร่
54170
เทศบาลทุ่งโฮ้ง โทร. 0-5452-2458
18.17403811
100.1657411
เทศบาลตำบลทุ่งโฮ้ง

หมู่บ้านทุ่งโฮ้ง ตำบลทุ่งโฮ้ง ชุมชนชาวไทพวนที่อพยพมาจากเมืองพวน แขวงเชียงขวาง สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว เมื่อ พ.ศ. 2377 จำนวน 17 ครอบครัว ด้วยทางการสยามไม่ต้องการให้เมืองพวนเป็นฐานกำลังที่มั่นให้เวียดนาม จึงกวาดต้อนและแบ่งชาวพวนให้กองทัพจากหัวเมืองต่าง ๆ ที่ร่วมส่งกองกำลังเข้าช่วยทำศึกครั้งนี้ รวมถึงกองทัพเมืองนครแพร่ด้วย หลังจากนั้นก็มีการอพยพของชาวพวนอีกหลายระลอกเพื่อติดตามมาอยู่กับญาติพี่น้องเป็นระยะ เริ่มแรกเจ้าผู้ครองนครแพร่โปรดให้ชาวไทพวนตั้งชุมชนอยู่นอกกำแพงเมืองแพร่ ด้านทิศเหนือบริเวณประตูยั้งม้า ตีงข้ามกับชุมชนชาวไทใหญ่ มีวัดจอมสวรรค์เป็นศูนย์กลาง แต่ด้วยสภาพพื้นที่บริเวณนี้ไม่เหมาะแก่การทำไร่นา ซึ่งเป็นอาชีพที่อยู่คู่วิถีชีวิตชาวไทพวนมาแต่เดิม เมื่อพื้นที่ที่อาศัยอยู่ไม่เหมาะแก่การประกอบอาชีพ ชาวไทพวนจึงอพยพเคลื่อนย้ายขึ้นมาตามลำห้วยร่องฟองประมาณ 3 กิโลเมตร ตั้งเป็นชุมชนชาวพวนทุ่งโฮ้งสืบมาจนถึงปัจจุบัน 

ลักษณะภูมิประเทศ

ลักษณะภูมิประเทศบ้านทุ่งโฮ้งมีพื้นที่ส่วนใหญ่เป็นที่ราบ มีแหล่งน้ำธรรมชาติสำหรับใช้อุปโภคบริโภค และใช้สำหรับการเกษตร ได้แก่ ห้วยรากไม้ ห้วยหัวช้าง ห้วยร่องฟอง ห้วยร่องม่วง เป็นต้น

สภาพภูมิอากาศ

สภาพภูมิอากาศของบ้านทุ่งโฮ้ง มีลักษณะภูมิอากาศเป็นแบบมรสุมมี 3 ฤดู คือ

  • ฤดูร้อน เริ่มตั้งแต่เดือนมีนาคม-กลางเดือนมิถุนายน เป็นระยะที่ร้อนและแห้งแล้ง ได้รับอิทธิพลจากลมมรสุมที่พัดมาจากบริเวณความกดอากาศสูงในทะเลจีนใต้ อุณหภูมิสูง และมีฝนเล็กน้อย 
  • ฤดูฝน เริ่มตั้งแต่เดือนมิถุนายน-เดือนตุลาคม
  • ฤดูหนาว เริ่มตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน-เดือนกุมภาพันธ์

ชุมชนชาวไทพวนบ้านทุ่งโฮ้ง แบ่งการปกครองออกเป็น 5 หมู่บ้าน ได้แก่ บ้านทุ่งโฮ้ง หมู่ 5, 6 บ้านทุ่งโฮ้งเหนือ หมู่ 2, 7 และบ้านทุ่งโฮ้งใต้ หมู่ 1 โดยแต่ละหมู่มีจำนวนประชากร ดังนี้

  • บ้านทุ่งโฮ้งใต้ หมู่ที่ 1 มีจำนวนครัวเรือนทั้งสิ้น 420 ครัวเรือน ประชากร 1,133 คน แยกเป็นประชากรชาย 516 คน และประชากรหญิง 617 คน

  • บ้านทุ่งโฮ้งเหนือ หมู่ที่ 2 มีจำนวนครัวเรือนทั้งสิ้น 498 ครัวเรือน ประชากร 1,171 คน แยกเป็นประชากรชาย 556 คน และประชากรหญิง 615 คน

  • บ้านทุ่งโฮ้ง หมู่ที่ 5 มีจำนวนครัวเรือนทั้งสิ้น 435 ครัวเรือน ประชากร 1,005 คน แยกเป็นประชากรชาย 448 คน และประชากรหญิง 557 คน

  • บ้านทุ่งโฮ้ง หมู่ที่ 6 มีจำนวนครัวเรือนทั้งสิ้น 386 ครัวเรือน ประชากร 864 คน แยกเป็นประชากรชาย 380 คน และประชากรหญิง 484 คน
  • บ้านทุ่งโฮ้งเหนือ หมู่ที่ 7 มีจำนวนครัวเรือนทั้งสิ้น 298 ครัวเรือน ประชากร 667 คน แยกเป็นประชากรชาย 325 คน และประชากรหญิง 342 คน

ไทยพวน

ชาวบ้านในชุมชนมีรายได้จากการทำนา ทำไร่ เลี้ยงสัตว์ ค้าขายผลผลิตทางการเกษตร การพานิชยกรรมการท่องเที่ยว การรับจ้าง นอกจากนั้นยังมีรายได้จากอาชีพการตัดเย็บผ้าหม้อห้อม  ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมครัวเรือนที่มีชื่อเสียงของชาวไทพวนบ้านทุ่งโฮ้ง

ผ้าหม้อห้อมบ้านทุ่งโฮ่ง เป็นภูมิปัญญาท้องถิ่นของบรรพบุรุษ ที่สืบทอดมาหลายชั่วอายุคน และเป็นเอกลักษณ์ของจังหวัดแพร่ จนได้รับการคัดเลือกเป็นหมู่บ้านท่องเที่ยว OTOP เชิงหัตถกรรม เนื่องจากเป็นเอกลักษณ์ของชาวทุ่งโฮ้งและชาวแพร่มาช้านาน ตลอดจนเป็นชุดแต่งกายประจำถิ่นของชาวแพร่ และชาวบ้านทุ่งโฮ้งที่สวมใส่ในชีวิตประจำวัน และงานประเพณีต่าง ๆ จึงถือเป็นเอกลักษณ์ของชาวแพร่ ดังคำขวัญของจังหวัดแพร่ที่กล่าวไว้ว่า “หม้อห้อมไม้สัก ถิ่นรักพระลอ ช่อแฮศรีเมือง ลือเลื่องแพะเมืองผี คนแพร่นี้ใจงาม” ซึ่งในปัจจุบันเสื้อผ้าหม้อห้อมได้มีการพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้มีลวดลายที่สวยงาม แปลกใหม่ หลากหลาย และมีความทันสมัย สามารถผลิตเป็นเสื้อผ้าวัยรุ่น ชุดทำงาน ชุดนักเรียน และผลิตภัณฑ์อื่นๆ หลายชนิด ผลิตภัณฑ์จากผ้าหม้อห้อมจึงกลายเป็นธุรกิจที่ได้รับความนิยมเป็นอย่างมากในชุมชน

ปฏิทินประเพณีประจำปี

  • เดือนมกราคม-กุมภาพันธ์: ประเพณีกำฟ้า

  • เดือนมีนาคม: ประเพณีปอยบวชพระ ประเพณีเลี้ยงผีปู่ย่า และผีเสื้อบ้าน

  • เดือนเมษายน: ประเพณีปีใหม่

  • เดือนพฤษภาคม: ประเพณีปอยบวชพระ ประเพณีเลี้ยงผีเสื้อนา/ผีเสื้อไร่

  • เดือนกรกฎาคม: ประเพณีผีย่าหม้อนึ่ง ไหว้ผีเสื้อวัด

  • เดือนตุลาคม: ประเพณีกินสลาก ไหว้ผีเสื้อวัด

  • เดือนพฤศจิกายน: ประเพณีการเอาขวัญข้าว

  • เดือนธันวาคม: ไหว้ผีเสื้อนา/ผีเสื้อไร่

ประเพณีกำฟ้า

มีเรื่องเล่าขานกันมาว่า “เจ้าชมพู” กษัตริย์เมืองพวน เมื่อก่อนขึ้นกับหลวงพระบาง ต่อมาได้มารวมกับเวียงจันทร์แล้วยกทัพไปรบกับหลวงพระบางได้ชัยชนะ เจ้าชมพูจึงประกาศเอกราชไม่เป็นเมืองขึ้น ทําให้เจ้านนท์แห่งนครเวียงจันทร์โกรธมาก จึงยกทัพมาปราบเมืองพวน และจับเจ้าชมพูประหารชีวิต ในขณะที่ทําพิธีประหารชีวิต เกิดฟ้าผ่าถูกด้ามหอกที่ใช้ประหาร ทหารเมืองเวียงจันทร์ไปกราบทูลเจ้านนท์ให้ทราบเหตุอัศจรรย์นั้น เจ้านนท์จึงรับสั่งให้นําเจ้าชมพูกลับไปครองเมืองพวนตามเดิม ตั้งแต่เหตุการณ์ครั้งนั้น จึงเกิดประเพณีกําฟ้าท่าวพวนนับถือมาจนปัจจุบันนี้

ประเพณีกําฟ้าของแต่ละปี ชาวไทยพวนจะคอยฟังเสียงของฟ้าร้องว่าดังขึ้นจากทางทิศใด เพราะเสียงฟ้าร้องในแต่ละทิสจะมีความเกี่ยวข้องกับคำทำนายถึงความอุดมสมบูรณ์ของน้ำสำหรับทำการเกษตรในแต่ละปี ดังนี้

  • ถ้าฟ้าร้องทางทิศเหนือ หรืออีสาน ฝนจะตกหนัก

  • ฟ้าร้องทางทิศใต้ ฝนจะแล้ง น้ำท่าจะไม่บริบูรณ์ การทํานาจะเสียหาย

  • ฟ้าร้องทางทิศตะวันออก ฝนตกปานกลาง อาจเกิดความแห้งแล้ง เสียหาย

  • ฟ้าร้องทางทิศตะวันตก ไม่แน่นอน อาจเกิดความแห้งแล้งเสียหาย หรืออีกนัยหนึ่งว่า ฟ้าร้องทางทิศใต้จะอดเกลือ ฟ้าร้องทางทิศเหนือจะอดข้าว ฟ้าร้องทางทิศตะวันตกเอาจาทําหอก ฟ้าร้องทางทิศตะวันออกเอาหอกทําจา

เมื่อถึงวันกําฟ้า ชาวไทพวนจะหยุดการทํางานทุกชนิดเป็นเวลา 3-5 วัน เตรียมทําข้าวจี่ ข้าวหลาม เป็นอาหารหลัก พร้อมสํารับกับข้าวคาวหวานไปทําบุญตักบาตรฟังเทศน์ที่วัดใกล้บ้าน ข้าวหลามจี่ทิพย์ที่เหลือจะนํามาแจกจ่ายกัน พอบ่ายคล้อยถึงค่ำคืนจะมีการละเล่นรื่นเริงเพื่อถวายเทพเจ้าบนสวรรค์

การแต่งกาย

ชาวไทยพวนมีการแต่งกายที่เรียบง่าย ผู้หญิงใส่เสื้อหม้อห้อมแขนกระบอก นุ่งซิ่นแหล้ (เส้นฝ้ายที่ย้อมครามหรือห้อมแล้วนำไปทอเป็นผืนมีคิ้วสีแดง) ซิ่นตาเล๊ม (สีดำ และเหลือง) ซิ่นตามะนาว (สีเหลือง และแดง) ซิ่นซิว (สีขาว และสีแดง) ซิ่นตาตอบ (สีดำ และสีแดง) มีผ้าสไบสีขาวพาดบ่า ส่วนผู้ชายสวมเสื้อแขนสั้นผ่าอกและใช้สายมัดหรือสายผูกทำจากแถบผ้าเย็บเป็นเส้น เย็บติดตรงสาบเสื้อทั้งสองข้าง ข้างละประมาณ 4-5 คู่ เวลาสวมใส่ก็จะผูกสาย 2 สายเข้าด้วยกัน ต่อมามีการพัฒนามาใช้กระดุมแทนสายมัดเสื้อ เรียกว่า เสื้อกุยเฮง เนื่องจากมีลักษณะคล้ายเสื้อกุยเฮงของประเทศจีน กางเกงเป็นกางเกงหม้อห้อมขายาว เรียกว่า โซ้งกี ขาสั้นเรียกว่า โซ้งสะดอ ใช้ผ้าขาวม้าคาดเอวเพื่อกันหลุดและเพื่อประโยชน์ด้านอื่นๆ เช่น ใช้เป็นต่นเต้น (ผูกเปลนอน) ใช้โพกหัวเวลาอยู่กลางแดดหรือเช็ดหน้าเวลาเหงื่อออก

ความเชื่อ

เนื่องจากในอดีตชาวไทพวนบ้านทุ่งโฮ้งมีอชีพเป็นช่างตีเหล็ก ฉะนั้นจึงมีความเชื่อเรื่องผีเตาเหล็ก ซึ่งเป็นผีที่ให้โทษรุนแรงมากหากกระทำไม่ถูกต้อง หรือถ้าหากไม่เลี้ยงพลีกรรม (การเซ่นสรวงบูชา) ก็จะกลายเป็น “ผีกะ” ออกรบกวนชาวบ้าน (ผีกะ เป็นผีพื้นบ้านทางภาคเหนือ ลักษณะคล้ายผีปอบ เข้าสิงคน และชอบกินของสดของคาว) ดังนั้น ช่างตีเหล็กยุคหลังจึงมีวิธีไม่ให้ผีเตาเหล็กติดอยู่ประจำ และต้องเลี้ยงพลีกรรมทุกปี โดยเมื่อจะตีเหล็กก็สร้างเตาเหล็กครั้งหนึ่ง เมื่อตีเสร็จแล้วก็ทำลาย เมื่อจะตีอีกครั้งก็สร้างขึ้นบริเวณใหม่อยู่เรื่อยไป 

กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล

มรดกทางภูมิปัญญา: ผ้าหม้อห้อมบ้านทุ่งโฮ้ง

การทอผ้าเป็นสิ่งที่อยู่คู่กับชาวบ้านทุ่งโฮ้งมาตั้งแต่บรรพบุรุษ ผู้หญิงในหมู่บ้านจะมีความสามารถในการทอผ้าได้ทุกคน ผ้าหม้อห้อมมีขั้นตอนการผลิตหลายขั้นตอน แต่ละขั้นตอนต้องใช้ความอดทนและพิถีพิถันในการทำเป็นอย่างยิ่ง โดยชาวบ้านทุ่งโฮ้งมักปลูกต้นฝ้ายและต้นครามที่หัวไร่ปลายนาของตัวเองควบคู่ไปกับการทำนา เมื่อต้นครามโตเต็มที่ก็จะเก็บมาแช่น้ำไว้ 2 คืน ผสมน้ำด่างกับปูนขาว ทำการซวก (การใช้ตะกร้อตีขึ้นลงจนเกิดฟองให้เข้ากันเป็นสีคราม) เมื่อฟองยุบทิ้งไว้ประมาณ 2 ชั่วโมง แล้วนำมาใส่ถุงผ้าห้อยไว้ให้น้ำหยด เรียกว่า ย่น จนเหลือแต่เนื้อคราม เรียกว่า ครามเปียก นำไปใช้ในการย้อมผ้า และย้อมเส้นฝ้าย จากนั้นจะเป็นขั้นตอนการเตรียมผ้า และเส้นฝ้ายที่จะย้อม โดยนิยมใช้ผ้าฝ้าย และเส้นฝ้าย เพราะสามารถย้อมติดสีได้ดี การย้อมจะล้างผ้าฝ้าย และเส้นฝ้ายบิดหมาดๆ ลงในถังย้อมเพื่อให้ดูดสีง่ายขึ้น จากนั้นนำไปตาก 

ลักษณะของผ้าหม้อห้อมบ้านทุ่งโฮ้ง ได้แก่

  • ผ้าหม้อห้อมโบราณ
  • ผ้าจกมือ
  • ผ้าเพ้นท์
  • ผ้ามัดย้อม
  • ผ้าเขียนเทียน
  • ผ้าพิมพ์ลาย
  • ผ้ากัดสี

ลวดลายผ้าทอของชาวพวนทุ่งโฮ้งที่สืบทอดกันมาจากรุ่นสู่รุ่น เช่น 

  • ลายทอผ้าหลบ
  • ลายดอกแก้วเชียงราย
  • ลายดอกดาวเสด็จ
  • ลายขอใหญ่
  • ลายขอน้อย  

ชาวพวนทุ่งโฮ้ง มีภาษาพูดที่ยังคงเอกลักษณ์แบบพวน เรียกว่า ภาษาพวน (การพูดภาษาพวน เรียกว่า การปะพวน หรือการเว่าพวน) เป็นภาษาที่อยู่ในตระกูลไท (Tai Language Family) แม้ว่าปัจจุบันจะมีภาษาล้านนา (คำเมือง) และภาษาไทยเข้ามามีส่วนต่อการสื่อสารในชีวิตประจำวัน ส่วนภาษาเขียน ในอดีตการเขียนจะใช้ตัวอักษรที่เรียกว่า อักษรตัวธรรม สำหรับบันทึกเรื่องราวทางศาสนาหรือคัมภีร์อันศักดิ์สิทธิ์ และอักษรไทยน้อย ใช้สำหรับเขียนเรื่องราวทางโลก ซึ่งในปัจจุบันอักษรตัวธรรม และอักษรไทยน้อย ในกลุ่มชาวพวนทุ่งโฮ้งไม่พบผู้ที่สามารถเขียน หรืออ่านตัวอักษรดังกล่าวแล้ว 


เพื่อเป็นการสืบทอดภูมิปัญญาการทอผ้าหม้อฮ้อมให้คงอยู่คู่วิถีชีวิตของชาวทุ่งโฮ้ง ชาวบ้านได้มีการปรับประยุกต์ผ้าหม้อฮ้อมให้มีความทันสมัย แต่ยังคงอนุรักษ์เรื่องราว ภูมิปัญญา และวิถีชีวิตของชาวพวนทุ่งโฮ้งไม่ให้สูญหายไป มีการนำเอาวิธีการทอผ้าหม้อฮ้อมเข้าไปปลูกฝังและถ่ายทอดเป็นภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมให้กับนักเรียนในพื้นที่ตำบลทุ่งโฮ้ง เพื่อส่งเสริมให้เกิดการสืบทอดภูมิปัญญาจากรุ่นสู่รุ่น 

การอพยพของชาวไทพวนจากเมืองพวน แขวงเชียงขวาน สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาวเข้าสู่นครแพร่ นอกจากจะนำภูมิปัญยาการทอผ้าหม้อห้องติดตัวมาด้วยแล้ว ชาวพวนทุ่งโฮ้งยังได้นำคัมภีร์ใบลานที่จารึกพระธรรมคำสอนทางพุทธศาสนาและตำรับตำราต่าง ๆ เข้ามายังถิ่นที่อยู่ใหม่ด้วย เพราะคัมภีร์ใบลานเหล่านี้เป็นสิ่งยึดเหนี่ยวทางจิตใจ และเป็นวิทยาการความรู้ที่ใช้ในการดำรงชีวิตประจำวัน โดยปัจจุบันพบคัมภีร์ใบลานกรรมวาจาเก็บไว้บนหอธรรม (หอพระไตรปิฎก) วัดทุ่งโฮ้งเหนือ จารึกเมื่อ พ.ศ. 2283 (อายุ 278 ปี) ด้วยอักษรธรรมล้านช้าง เป็นคัมภีร์ฉบับเก่าที่สุดที่สำรวจพบภายในบ้านทุ่งโฮ้ง คัมภีร์ธรรมสรีมหามายา ผูก 5 เก็บไว้บนหอธรรมวัดทุ่งโฮ้งใต้ จารึกด้วยอักษรธรรมล้านช้าง เมื่อ พ.ศ. 2367 (อายุ 194 ปี) ที่เมืองเชียงขวางก่อนเข้ามาเมืองนครแพร่ 10 ปี และยังพบคัมภีร์ใบลานบันทึกพระธรรมคำสอน ตำรายา และตำราโหราศาสตร์จารด้วยอักษรธรรมล้านช้างและอักษรลาวเดิม (ไทน้อย) จำนวนหลายฉบับในหอธรรมวัดทุ่งโฮ้งเหนือและวัดทุ่งโฮ้งใต้

ณัฐธิดา วิรัชกร พระครูโกวิท อรรถวาที สมจิต ขอนวงศ์ และคณะ. (2559). ศึกษาความเชื่อและหลักพุทธจริยธรรมที่ปรากฏในประเพณีกำฟ้า ของชุมชนไทยพวนบ้านทุ่งโฮ้ง ตำบลทุ่งโฮ้ง อำเภอเมือง จังหวัดแพร่. วารสารวิชาการ มจร บุรีรัมย์, 2(1), 34-35.

เทศบาลตำบลทุ่งโฮ้ง. (ม.ป.ป.). สภาพทั่วไปและข้อมูลพื้นฐานสำคัญของเทศบาลตำบลทุ่งโฮ้ง. [ออนไลน์]. ได้จาก: http://thunghong.blogspot.com/ [สืบค้นเมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2566].

แฟนเพจเฟซบุ๊กบ้านทุ่งโฮ้ง ม่อฮ่อม ม่อห้อม หม้อห้อม หม้อฮ่อมทำมือของแท้จากเมืองแพร่ 100%. (2565). ผ้าหม้อห้อมบ้านทุ่งโฮ้ง. [ออนไลน์]. ได้จาก: https://web.facebook.com/ [สืบค้นเมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2566].

ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน). (ม.ป.ป.). ภูมิปัญญาหม้อห้อมชาวพวนบ้านทุ่งโฮ้ง หมู่ที่ 1. [ออนไลน์]. ได้จาก: https://www.sac.or.th/ [สืบค้นเมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2566].

Amezing Thailand. (ม.ป.ป.). หมู่บ้านทุ่งโฮ้ง. [ออนไลน์]. ได้จาก: https://thai.tourismthailand.org/ [สืบค้นเมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2566].

Bambb. (2554). หมู่บ้านทุ่งโฮ้ง. [ออนไลน์]. ได้จาก: https://bambb.wordpress.com/ [สืบค้นเมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2566].