Advance search

บ้านดอยช้าง

หมู่บ้านดอยช้างมีวิสาหกิจชุมชนในการแปรรูปผลิตภัณฑ์เลื่องชื่อ คือ กาแฟดอยช้าง จำหน่ายส่งออกไปยังต่างประเทศ ปัจจุบันกาแฟดอยช้างได้ชื่อว่าเป็นการดำเนินงานในรูปแบบธุรกิจเพื่อชุมชนอย่างแท้จริง 

บ้านดอยช้าง
วาวี
แม่สรวย
เชียงราย
วิไลวรรณ เดชดอนบม
13 ม.ค. 2023
วิไลวรรณ เดชดอนบม
21 ก.พ. 2023
บ้านดอยช้าง

ตั้งขึ้นตามลักษณะที่ตั้งของหมู่บ้าน ซึ่งเป็นภูเขาที่มีรูปร่างเหมือนช้างแม่ลูกสองตัว หันหน้าไปทางทิศเหนือ 


ชุมชนชาติพันธุ์

หมู่บ้านดอยช้างมีวิสาหกิจชุมชนในการแปรรูปผลิตภัณฑ์เลื่องชื่อ คือ กาแฟดอยช้าง จำหน่ายส่งออกไปยังต่างประเทศ ปัจจุบันกาแฟดอยช้างได้ชื่อว่าเป็นการดำเนินงานในรูปแบบธุรกิจเพื่อชุมชนอย่างแท้จริง 

บ้านดอยช้าง
วาวี
แม่สรวย
เชียงราย
57180
อบต.วาวี โทร. 0-5360-2816
19.872488
99.541552
องค์การบริหารส่วนตำบลวาวี

บ้านดอยช้าง ตำบลวาวี อำเภอแม่สรวย จังหวัดเชียงราย เป็นชุมชนที่อยู่อาศัยของชาวลีซู คนลีซูเรียกกลุ่มชาติพันธุ์ตนว่า “แลจว่า” ชาวเหนือเรียก “แข่” หรือ “แข่ลีซอ” เป็นภาษาไทใหญ่ หมายถึงชาวจีนกลาง และจีนยูนนานเรียก “ลีซอ” จากข้อมูลเอกสารทางประวัติศาสตร์อธิบายร่องรอยการอพยพของชาวลีซูว่าเดิมเป็นชนเผ่าที่ตั้งถิ่นฐานอยู่บริเวณตอนต้นของแม่น้ำสาละวิน แม่น้ำโขง และทางตะวันตกเฉียงเหนือของมณฑลยูนนานประเทศจีน ราวพุทธศตวรรษที่ 16-20 ชาวลีซูเริ่มตั้งตนเป็นอิสระจากจีนด้วยแนวคิดการปกครองตนเอง ทางการจีนได้ส่งกองกำลังออกมาปราบปรามชาวลีซูที่มีแนวคิดตั้งตนเป็นอิสระ ชาวลีซูถูกกดดันด้านการปกครองจากจีนอย่างหนักจึงต้องตัดสินใจเคลื่อนย้ายถิ่นฐานที่อยู่อาศัย ชาวลีซูกลุ่มแรกที่อพยพเข้ามาในไทยเมื่อปี พ.ศ. 2440-2456 มาจากเมืองเชียงตุง และเมืองปั่นประเทศพม่า เข้ามาอยู่ในเขตอำเภอแม่จัน และดอยช้าง จังหวัดเชียงราย และดอยอ่างขาง อำเภอฝาง จังหวัดเชียงใหม่ การตั้งถิ่นฐานได้กระจายไปจนถึงพิษณุโลกและเพชรบูรณ์ เกิดการก่อตั้งชุมชนลีซูแห่งแรกคือชุมชนห้วยหมาก ตั้งอยู่ที่ตำบลแม่สลองใน อำเภอแม่ฟ้าหลวง จังหวัดเชียงราย ต่อมาในปี พ.ศ. 2462-2464 คนกลุ่มนี้ได้อพยพมาตั้งถิ่นฐานอยู่ที่บ้านดอยช้าง อำเภอแม่สรวย จังหวัดเชียงราย ซึ่งบริเวณนี้เดิมเคยเป็นที่อยู่ของชาวม้งและลาหู่มาก่อน เริ่มแรกมีครอบครัวชาวลีซูเพียง 4 ครอบครัวที่เข้ามาสร้างบ้านเรือนที่บ้านดอยช้าง และมีครอบครัวลีซูอื่น ๆ อีกประมาณ 15 ครอบครัว เดินทางอพยพตามมา  

สภาพแวดล้อมชุมชนบ้านดอยช้างมีลักษณะเป็นภูเขาสูงชันสลับกับป่าดงดิบ ล้อมรอบด้วยภูเขาทั้งสามด้าน คือ ทิศเหนือ ทิศใต้ และทิศตะวันออก ทางด้านทิศตะวันออกเป็นยอดเขาดอยช้างซึ่งเป็นยอดเขาที่สูงที่สุดในภูเขานี้ ส่วนทิศตะวันตกเป็นเนินเขาลาดต่ำลงไปยังแม่น้ำห้วยไคร้ ดินในพื้นที่ส่วนมากมีลักษณะเป็นดินร่วนมีความอุดมสมบูรณ์ ส่งผลให้บ้านดอยช้างมีพื้นที่สำหรับทำการเกษตร พื้นที่ป่าสงวน และพื้นที่ป่าชุมชนเป็นจำนวนมาก แต่ผลจากการทำไร่เลื่อนลอยและขาดการอนุรักษ์ ส่งผลให้พื้นที่ป่าบางส่วนขาดความอุดมสมบูรณ์ ด้านสภาพภูมิอากาศจัดอยู่ในประเภทฝนเมืองร้อนเฉพาะฤดูฝนในหนึ่งรอบปีมีช่วงที่ฝนตกและช่วงที่แห้งแล้งแตกต่างกันอย่างชัดเจน ซึ่งในช่วงที่แห้งแล้งจะมีอากาศค่อนข้างหนาว 

บ้านดอยช้างได้รับจัดตั้งเป็นสถานีทดลองเกษตรที่สูงวาวีหรือศูนย์เกษตรที่สูงดอยช้าง โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษา ค้นคว้า ทดลองผลิตพันธุ์พืชที่ปลูกบนที่สูง เพื่อส่งเสริมการปลูกพันธุ์ไม้เมืองหนาว ตลอดจนเป็นแหล่งข้อมูลวิชาการทางการเกษตรฝึกอบรมเกษตรกรชาวไทยภูเขา เพื่อลดการทำไร่เลื่อนลอย และลดพื้นที่ปลูกฝิ่นในตำบลวาวี อำเภอแม่สรวย จังหวัดเชียงราย อนึ่ง ชุมชนบ้านดอยช้างยังมีหน่วยงานราชการ แหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติ สถานที่สำคัญทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรมอีกหลายแห่ง เช่น พุทธอุทยานดอยช้าง ที่ทำการวิสาหกิจชุมชนกลุ่มแปรรูปมะคาเดเมียดอยช้าง และโรงเรียนชุมชนดอยช้าง เป็นต้น  

โครงการพัฒนาพื้นที่สูงแบบโครงการหลวงวาวี หรือสถานีทดลองเกษตรที่สูงวาวี หรือเกษตรที่สูงดอยช้าง ก่อตั้งเมื่อ พ.ศ. 2528 ภายใต้การบริหารงานและดูแลของศูนย์วิจัยเกษตรหลวงเชียงใหม่ เดิมมีชื่อเรียกว่าโครงการขยายผลโครงการหลวงวาวี ก่อนเปลี่ยนชื่อเป็นโครงการพัฒนาพื้นที่สูงแบบโครงการหลวงวาวีตามประกาศสถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูงเมื่อปี พ.ศ. 2559 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษา ค้นคว้า ทดลองผลิตพันธุ์พืชที่ปลูกบนที่สูง และเป็นแหล่งข้อมูลวิชาการทางการเกษตรฝึกอบรมเกษตรกรชาวไทยภูเขา เพื่อสนับสนุนโครงการไทย-เยอรมัน ลดการปลูกฝิ่นในเขตพื้นที่ตำบลวาวี อำเภอแม่สรวย จังหวัดเชียงใหม่ ภายในสถานีมีสถานที่ท่องเที่ยวหลายแห่ง เช่น สวนพรรณไม้หอเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิตติ์ฯ แปลงไม้ผลเมืองหนาว สวนไม้ดอกไม้ประดับเมืองหนาว โครงการพระราชดำริในสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ ภายใต้โครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืช  

พุทธอุทยานดอยช้างเป็นสถานที่ท่องเที่ยวเชิงนิเวศอนุรักษ์ ตั้งอยู่ในอาณาบริเวณพื้นที่ดอยช้าง บรรยากาศร่มรื่นและอุดมไปด้วยต้นไม้นานาพรรณ โดยเฉพาะต้นไผ่ ภายในมีลานพุทธสถานซึ่งเป็นที่ตั้งของพระพุทธรูปปางต่าง ๆ ให้คนในชุมชนและนักท่องเที่ยวได้มีโอกาสมากราบไหว้สักการะ มีสะพานไม้ไผ่ทำเป็นขั้นบันไดลาดต่ำเชื่อมระหว่างลานพุทธสถานกับลานจอดรถ อีกทั้งยังมีบ่อน้ำศักดิ์สิทธิ์ที่นับว่าเป็นจุดเด่นของพุทธอุทยานดอยช้าง ซึ่งบ่อน้ำบ่อนี้เป็น 1 ใน 9 บ่อน้ำศักดิ์สิทธิ์ที่นำไปประกอบพิธีถือน้ำพิพัฒน์สัตยาพุทธมังคลาภิเษก เนื่องในวโรกาศที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชมีพระชนมายุครบ 60 พรรษา 

ที่ทำการวิสาหกิจชุมชนกลุ่มแปรรูปมะคาเดเมียดอยช้าง จังหวัดเชียงราย เป็นการรวมตัวกันของชุมชนท้องถิ่นดอยช้าง ชาวบ้านได้รับการอบรมและใช้ชีวิตประจำวันใกล้ชิดกับไร่มะคาเดเมียและไร่กาแฟบนดอยช้าง สามารถดูแล และพัฒนาคุณภาพของมะคาเดเมียได้อย่างใกล้ชิด และเป็นการส่งเสริมรายได้ให้กับกลุ่มชาวบ้านที่มีความตั้งใจที่จะพัฒนาธุรกิจมะคาเดเมียให้เป็นธุรกิจของชุมชน 

โรงเรียนชุมชนดอยช้าง  หรือโรงเรียนบ้านดอยช้าง เป็นโรงเรียนที่ตั้งอยู่ในถิ่นทุรกันดาร นักเรียกที่เข้าศึกษาในโรงเรียนส่วนใหญ่เป็นบุตรหลานจากครอบครัวชาวเขาหลากชาติพันธุ์ อาทิ มูเซอ ลีซู อาข่า ไทยใหญ่ และจีนยูนนาน ครอบคลุมเขตพื้นที่การศึกษาในตำบลวาวีหลายชุมชน ได้แก่ บ้านดอยช้าง ชุมชนเกษตร ชุมชนปางซาง ชุมชนผาแดงอาข่า และบ้านใหม่พัฒนา ปัจจุบันเปิดสอน 3 ระดับ ได้แก่ ระดับปฐมวัย ประถมศึกษา และมัธยมศึกษาตอนต้น หากมองจากโรงเรียนชุมชนดอยช้าง จะมองเห็นลักษณะภูมิประเทศของดอยช้างที่มีลักษณะเป็นรูปทรงช้างสองแม่ลูกได้ชัดเจน  

ข้อมูลประชากรเมื่อปี พ.ศ. 2562 ระบุว่า บ้านดอยช้าง ตำบลวาวี อำเภอแม่สรวย จังหวัดเชียงราย มีประชากากรทั้งสิ้น 1,092 ครัวเรือน จำนวน 3,372 คน ในจำนวนนี้มีทั้งชาวลีซู อาข่า และจีนยูนนาน 

ชาวลีซูบ้านดอยช้างมีลักษณะเป็นครอบครัวขยาย มีพ่อเป็นหัวหน้าครอบครัว เมื่อแต่งงานแล้วฝ่ายหญิงจะต้องย้ายมาอาศัยอยู่ที่บ้านของสามี ส่วนการนับญาติจะนับถือตามอาวุโสเป็นสำคัญ โดยทั่วไปในสังคมลีซู พ่อแม่จะมีช่วงชั้นตามลำดับความสำคัญ โดยให้ความสำคัญกับฝ่ายชายเป็นหลัก มีการสืบสายโลหิตจากฝ่ายบิดา เมื่อบุตรชายคนโตแต่งงานจะต้องพาภรรยามาแต่งเข้าบ้านฝ่ายชายจนกว่าน้องชายคนสุดท้องจะแต่งงาน พี่ชายคนโตจึงจะสามารถแยกครอบครัวออกไปสร้างบ้านเดี่ยวได้ เนื่องจากตามธรรมเนียมของชาวลีซู ลูกชายคนสุดท้องมีหน้าที่ต้องเลี้ยงดูพ่อแม่ตลอดชั่วชีวิตของท่าน และมรดกทรัพย์สินทุกอย่างของพ่อแม่ที่มีอยู่จะตกทอดเป็นของลูกชายคนสุดท้อง นอกจากนี้ครอบครัวของชาวลีซูยังมีธรรมเนียมว่าลูกสะใภ้ไม่สามารถร่วมรับประทานอาหารกับสามี พ่อสามี พี่ชายสามี รวมถึงญาติฝ่ายชายทั้งหมดของสามีได้ ขณะเดียวกันลูกเขยก็ไม่สามารถรับประทานอาหารร่วมกับแม่ภรรยาได้  

ลีซู, อ่าข่า, จีนยูนนาน(จีนฮ่อ)

โครงสร้างทางสังคมของชาวลีซูบ้านดอยช้างจะยึดเอาตามรูปแบบประเพณีที่ถือปฏิบัติมาตั้งแต่อดีต ชาวลีซูแบ่งพื้นที่สาธารณะให้เป็นพื้นที่ของผู้ชาย ซึ่งมีบทบาทในการเป็นผู้นำ ทั้งผู้นำชุมชน และผู้นำในการประกอบพิธีกรรมต่าง ๆ ในอดีตการสืบทอดตำแหน่งผู้นำจะสืบทอดตามสายโลหิต แต่ปัจจุบันผู้นำคือผู้ที่ได้รับการคัดเลือกจากผู้อาวุโสผู้ชายในหมู่บ้าน พิจารณาคุณสมบัติจากความสามารถมนุษยสัมพันธ์ ความเหมาะสมของบทบาทผู้นำ โครงสร้างทางสังคมชาวชาวลีซูชุมชนดอยช้างจะมีกลุ่มผู้นำที่มีบทบาทแตกต่างกันดังต่อไปนี้ 

ฆว่าทูว์ หรือผู้นำชุมชน เป็นบุคคลผู้ได้รับคัดเลือกจากสมาชิกในชุมชนให้มีหน้าที่ในการดูแลปกครองหมู่บ้าน ในอดีตจะคัดเลือกจากผู้อาวุโสที่ได้รับความเคารพนับถือจากคนในชุมชน แต่ปัจจุบันมีการปรับเปลี่ยนเป็นผู้นำที่ได้รับการคัดเลือกจากสมาชิกในชุมชน และได้รับการแต่งตั้งอย่างเป็นทางการจากหน่วยงานราชการ เรียกว่า “ผู้ใหญ่บ้าน” 

มือหมือผะ คือ ผู้นำทางความเชื่อทำหน้าที่เป็นตัวกลางติดต่อสื่อสารเทพพิทักษ์หมู่บ้าน หรือ “อาปาโหม่” มีหน้าที่ประกาศวันศีล และวันสำคัญต่าง ๆ ตามปฏิทินลีซู การคัดเลือกมือหมือผะจะคัดเลือกโดย “อาปาโหม่” หรือการเสี่ยงทาย  

หนี่ผะ เป็นบุคคลที่ทำหน้าที่เป็นตัวกลางติดต่อสื่อสาระหว่างมนุษย์กับเทพผู้เชื่อว่ามีความเกี่ยวข้องกับสุขภาพความเจ็บป่วยของคนในชุมชน โดยรักษาด้วยการประกอบพิธีกรรมการรักษาทางด้านจิตวิญญาณของผู้ป่วย เช่น การเรียกขวัญ การสร้างสะพาน เป็นต้น  

โชโหม่วโชตี คือผู้อาวุโสของชุมชนซึ่งมีทั้งผู้หญิงและผู้ชาย ถือเป็นผู้มีประสบการณ์ชีวิตที่คนในชุมชนต้องให้ความเคารพนับถือ อย่างไรก็ตามแม้ว่าผู้หญิงจะมีบทบาทในการเป็นผู้อาวุโสของชุมชน ทว่ากลับมีบทบาทในงานสังคมดังเช่นงานแต่งงานเท่านั้น  

โครงสร้างทางเศรษฐกิจของชาวลีซูชุมชนบ้านดอยช้างเน้นรายได้จากภาคเกษตรกรรมเป็นสำคัญ มีพืชเศรษฐกิจที่สำคัญของคือกาแฟ ชุมชนดอยช้างมีพื้นที่สำหรับเพาะปลูกกาแฟมากกว่า 10,000 ไร่ การปลูกกาแฟเริ่มแรกต้องใช้เวลาประมาณ 2-3 ปี จึงจะออกผลผลิต กาแฟหนึ่งต้นให้ผลผลิตประมาณ 15 กิโลกรัมต่อไร่ ในพื้นที่ 1 ไร่ ปลูกกาแฟ 400 ต้น รวมผลผลิตประมาณ 6,000 กิโลกรัม โดยมีบริษัทซีพีและเนสท์เล่ประเทศไทยเป็นตลาดหลักในการทำสัญญารับซื้อผลิตภัณฑ์ทั้งหมดจากเกษตรกร นอกจากนี้ภายในชุมชนยังมีการแปรรูปผลิตภัณฑ์ด้วยตนเองเพื่อจำหน่ายส่งออกไปยังต่างประเทศ เช่น เยอรมัน และไต้หวัน เป็นต้น ปัจจุบันกลุ่มผู้ปลูกกาแฟดอยช้างชาวลีซูได้รับการสนับสนุนจากมูลินิธิกาแฟดอยช้างในการดำเนินงานให้ความช่วยเหลือเกษตรกรในด้านต่าง ๆ จนกาแฟดอยช้างได้ชื่อว่าเป็นการดำเนินงานในรูปแบบธุรกิจเพื่อชุมชนอย่างแท้จริง ในปี พ.ศ. 2549 มีการก่อตั้งบริษัทขึ้นที่ประเทศแคนาดาร่วมกับนักธุรกิจชาวแคนาดา เพื่อเป็นพันธมิตรร่วมขยายธุรกิจกาแฟดอยช้างในตลาดสากล แต่เนื่องจากตลาดมีการเติบโตอย่างรวดเร็ว ในปัจจุบัน บริษัท ดอยช้าง คอฟฟี่ คัมปานี (แคนาดา) จึงเป็นตัวแทนจำหน่ายสินค้ากาแฟดอยช้างในทวีปอเมริกาเหนือและประเทศสหราชอาณาจักรเท่านั้น ซึ่งปัจจุบันก็ได้มีตัวแทนจำหน่ายสินค้ากาแฟดอยช้างและตัวแทนบริหารระบบแฟรนไชส์กระจายอยู่มากกว่า 10 ประเทศในภูมิภาคต่าง ๆ ของโลก  

นอกจากทำไร่กาแฟแล้ว ชาวลีซูชุมชนดอยช้างยังมีการปลูกพืชที่สำคัญอีกหลายชนิด ได้แก่ มะคาเดเมีย มะเขือเทศ ขิง ลูกไหน ลูกท้อ ลิ้นจี่ กะหล่ำปลี และถั่วแดง ซึ่งเป็นพืชที่สร้างรายได้ให้กับชุมชน  

 

วิถีชีวิต 

วิถีชีวิตของชาวลีซูบ้านดอยช้างมีการเพาะปลูกพืชเป็นวิถีสำคัญของคนในชุมชน พืชที่ปลูก เช่น กาแฟ มะคาเดเมีย ข้าว ข้าวโพด พริก ฝ้าย มันฝรั่ง รวมถึงพืชผักต่าง ๆ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อจำหน่ายและเก็บไว้บริโภค การทำไร่ข้าวเป็นการเกษตรที่มีความสำคัญอย่างมากต่อวิถีชีวิตของชาวลีซู เนื่องจากผลผลิตที่ได้จะเก็บไว้บริโภคตลอดปี การทำไร่ข้าวโพดเป็นพืชไร่ที่สำคัญรองลงมาจากข้าว โดยส่วนใหญ่จะไม่ใช่การปลูกเพื่อจำหน่าย แต่เป็นการปลูกเพื่อเก็บไว้บริโภคภายในครัวเรือน และนำไปเป็นอาหารสัตว์เลี้ยง เช่น หมู ไก่ นอกจากนี้ยังมีการนำมาหมักและกลั่นเป็นสุราสำหรับใช้ในการประกอบพิธีกรรมต่าง ๆ ในครัวเรือนและหมู่บ้าน นอกจากการเพาะปลูกแล้ว ชาวลีซูยังนิยมเลี้ยงสัตว์ เช่น แพะ ไก่ หมู วัว ม้า สำหรับบริโภค ใช้แรงงาน ขาย และใช้ในการประกอบพิธีกรรมต่าง ๆ ตามประเพณีของชาวลีซู  

ในรอบ 1 ปี ชาวลีซูบ้านดอยช้างมีปฏิทินการเพาะปลูก และเก็บเกี่ยวผลผลิต  ดังนี้ 

เดือน

กิจกรรมทางการเกษตร

มกราคม 

- เก็บถั่วแดง เก็บกาแฟ เก็บมะเขือ เก็บขิง 

- เย็บเสื้อผ้า เตรียมของใช้สำหรับเทศกาลปีใหม่ 

กุมภาพันธ์ 

- ขึ้น 1 ค่ำ เชื่อว่าเป็นวันปีใหม่ของผู้หญิง  

- ฉลองเทศกาลปีใหม่ตลอดทั้งเดือน 

มีนาคม 

- ขึ้น 8 ค่ำ เชื่อว่าเป็นวันปีใหม่ของผู้ชาย (อี๊ยี่ปา เอ้อยี่ปา) 

- เพาะมะเขือเทศ กะหล่ำปลี บ๊วย 

เมษายน 

- เชงเม้ง 

- ปลูกมะเขือเทศ กะหล่ำปลี  

- เพาะมะเขือเทศ เชอร์รี่ กาแฟ 

พฤษภาคม 

- ปลูกข้าว ข้าวโพด ขิง มะเขือเทศ 

- เก็บลูกไหน ลูกท้อ เชอร์รี 

มิถุนายน 

- เก็บมะเขือเทศ ลูกไหน กะหล่ำปลี พลับ 

กรกฎาคม 

- ปลูกถั่วแดง  

- เก็บมะเขือเทศ 

สิงหาคม 

- วันสารทจีน (ปีใหม่กินข้าวโพด) 

- ปลูกถั่วแดง มะเขือเทศ กะหล่ำปลี 

กันยายน 

- วันสารทจีน (ปีใหม่กินข้าวโพด) 

- ปลูกกาแฟ ปลูกถั่วแดง เพาะมะเขือเทศ เพาะกะหล่ำปลี 

ตุลาคม 

- เก็บกาแฟ 

- ปลูกมะเขือเทศ ปลูกกะหล่ำปลี ปลูกถั่วแดง 

พฤศจิกายน 

- ประเพณีกินข้าวใหม่ (หยะวูหยะ) 

- ขายมะเขือเทศ 

- เก็บถั่วแดง ข้าวโพด เก็บเกี่ยวข้าว และเมล็ดกาแฟ 

ธันวาคม 

- ขายมะเขือเทศ กะหล่ำปลี 

- เก็บข้าวโพด เกี่ยวข้าว ถัวแดง และกาแฟ 

ความเชื่อและศาสนา 

ชาวลีซูให้การนับถือผีบรรพชนฝ่ายพ่อ แต่ละบ้านจะมีการสร้างหิ้งบูชาบรรพบุรุษไว้กลางบ้าน ทุกวันศีลจะต้องเปลี่ยนน้ำบนหิ้งบูชา โดยหน้าที่ในการดูแลและเลี้ยงผีบรรพชนจะเป็นของผู้หญิง ตั้งแต่ขั้นตอนการเตรียมอุปกรณ์การเซ่นไหว้ ฆ่าไก่ ตลอดจนขั้นตอนอื่น ๆ ส่วนผู้ชายจะมีหน้าที่ในการประกอบพิธีกรรม  

นอกจากผีบรรพชนแล้ว ชาวลีซูยังมีความเชื่อว่าสรรพสิ่งทั้งหลายบนโลกนี้มี “หวู่ซาผะโหม่” เป็นเจ้าของ มีเทพเจ้า “มีซือด่ามา” และ “อิ๊ด่ามา” เป็นผู้ดูแลรักษา ไม่ว่าชาวลีซูจะกระทำการใดจะต้องมีการทำพิธีขออนุญาตจากเทพเจ้าต่าง ๆ เสียก่อน เทพเจ้าตามความเชื่อของชาวลีซูสามารถจำแนกได้ดังต่อไปนี้ 

หวู่ซาผะโหม่ หรือ “หวู่ซา” เป็นเทพเจ้าบนสวรรค์ที่ชาวลีซูเชื่อว่าเป็นผู้สร้างมนุษย์ให้มาเกิด และอยู่อาศัยบนโลกมนุษย์ ฉะนั้นเมื่อชาวลีซูเสียชีวิตจะมีการสวดส่งผู้ตายให้ได้กลับไปอยู่บนสวรรค์กับหวู่ซา  

มะจยื่อสื่อผ่า เป็นเทพเจ้าผู้ตัดสินความดีความชอบของชาวลีซู เป็นเทพเจ้าสูงสุดในพิธีกรรมส้าละหลัวะหรือพิธีเรียกขวัญใหม่ 

มีซือด่ามา ตามความเชื่อของชาวลีซูเชื่อว่ามีซือด่ามาเป็นเทพเจ้าแห่งลมผู้ครอบครองแผ่นฟ้า และมีหน้าที่ดูแลรักษาทุกสรรพสิ่งบนโลกมนุษย์  

อิ๊ด่ามา เป็นเทพเจ้าแห่งผืนป่าและขุนเขา ผู้ดูแลรักษาทรัพยากรบนโลกนี้ให้มีความอุดมสมบูรณ์ เพื่อมนุษย์ได้พึ่งพาอาศัย ด้วยเหตุนี้ก่อนที่ชาวลีซูจะกระทำการอันใดที่มีความเกี่ยวข้องกับการเพาะปลูกจึงต้องทำพิธีขออนุญาตจากอิ๊ด่ามา เรียกว่า “พิธีอี๊ดามาหลัวะ” และ “พิธีหมื้อกูกู” ซึ่งจะต้องทำอย่างสม่ำเสมอเป็นประจำทุกปีในวันที่สามของเทศกาลปีใหม่ เป็นพิธีกรรมเกี่ยวกับการคืนผืนป่าให้เทพเจ้าแห่งขุนเขา เพื่อขอบคุณอิ๊ดามาที่ช่วยดูแลทรัพยากรน้ำ ดิน และป่าไม้ ให้มีความอุดมสมบูรณ์ ไม่มีความแห้งแล้ง ให้คนในชุมชนสามารถทำการเพาะปลูกและได้ผลผลิตที่งดงามในฤดูกาลที่ผ่านมา แลเพื่อขอให้อิ๊ด่ามาช่วยดูแลทรัพยากรธรรมชาติให้มีความอุดมสมบูรณ์ในปีถัดไป  

อาปาโหม่ คือเทพที่ดูแลความสงบสุขของชุมชน และคนในชุมชน สิงห์สถิตอยู่ในอาปาหมู่ฮีหรือศาลประจำหมู่บ้าน ที่ตั้งศาลจะอยู่ในพื้นที่ป่าไม้ที่อุดมสมบูรณ์บริเวณเหนือหมู่บ้าน วิถีชีวิตของชาวลีซูจะมีความใกล้ชิดกับอาปาโหม่ เนื่องจากช่วงเวลาที่มีการเกิดหรือคนตาย จะต้องทำพิธีแจ้งให้อาปาโหม่ทราบ ทั้งนี้ในอดีตหากสัตว์เลี้ยงคลอดลูกจะต้องแจ้งให้อาปาโหม่ทราบเช่นกัน แต่ปัจจุบันนั้นตามแต่ความสะดวกและพึงพอใจของเจ้าของสัตว์เลี้ยง   

ฆวาสือ เทพผู้ปกครองสิ่งชั่วร้ายที่เข้ามารบกวนคนในชุมชน  

สือจยือสื่อผ่า เป็นเทพผู้ดูแลต้นไม้ หากชาวลีซูต้องการใช้ประโยชน์จากต้นไม้ไม่ว่าด้วยกรณีใดจะต้องทำพิธีขอจากสือจยือสื่อผ่า โดยเฉพาะการทำพิธีเรียกขวัญตั้งสะพาน และการทำโลงศพ  

จาถู่วสื่อผ่า เป็นเทพเจ้าแห่งน้ำ หากชาวลีซูต้องการใช้ประโยชน์จากน้ำไม่ว่าด้วยกรณีใดจะต้องทำพิธีขอจากจาถู่วสื่อผ่า โดยเฉพาะหากมีการเสียชีวิต บรรดาญาติพี่น้องของผู้ตายจะต้องทำการซื้อน้ำจากจาถู่วสื่อผ่าเพื่อให้วิญญานผู้ตายได้นำน้ำไปดื่มในปรโลก  

การสร้างที่อยู่อาศัย 

การสร้างบ้านของชาวลีซูมีลักษณะที่หลากหลาย มีทั้งที่สร้างบ้านติดกับพื้นดิน สร้างบ้านยกพื้นสูง บางครอบครัวก่อดินเหนียวเป็นฝาบ้าน บ้างใช้ไม้ไผ่ หรือวัสดุอื่น ๆ ตามแต่จะหาได้ ชาวลีซูนิยมบางสัดส่วนพื้นที่บ้านสำหรับใช้สอยส่วนต่าง ๆ เช่น ห้องรับแขก ห้องครัว ห้องนอน และที่ตั้งหิ้งบูชาบรรพบุรุษ  

กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล

ทุนมนุษย์  

มือหมือผะ คือ ผู้นำทางความเชื่อทำหน้าที่เป็นตัวกลางติดต่อสื่อสารเทพพิทักษ์หมู่บ้าน หรือ “อาปาโหม่” มีหน้าที่ประกาศวันศีล และวันสำคัญต่าง ๆ ตามปฏิทินลีซู รวมถึงทำหน้าที่ในการติดต่อสื่อสารกับดวงวิญญานตามความเชื่อของชาวลีซู การคัดเลือกมือหมือผะจะคัดเลือกโดย “อาปาโหม่” หรือการเสี่ยงทาย แต่ละชุมชนจะมีมือหมือผะเพียงคนเดียวเท่านั้น 

หนี่ผะ เป็นบุคคลที่ทำหน้าที่เป็นตัวกลางติดต่อสื่อสาระหว่างมนุษย์กับเทพผู้เชื่อว่ามีความเกี่ยวข้องกับสุขภาพความเจ็บป่วยของคนในชุมชน เมื่อคนในหมู่บ้านเกิดอาการเจ็บป่วยไม่สบาย ทางครอบครัวจะเชิญหนี่ผะไปประกอบพิธีกรรมเพื่อหาสาเหตุของอาการเจ็บป่วย และแนวทางการแก้ไข โดยการประกอบพิธีกรรมการรักษาทางด้านจิตวิญญาณของผู้ป่วย เช่น การเรียกขวัญ การสร้างสะพาน เป็นต้น  

ภาษาพูด : ภาษาลีซู (ติดต่อสื่อสารภายในชุมชน) และภาษาไทยกลาง (ติดต่อสื่อสารกับตนภายนอกชุมชน) นอกจากนี้ชาวลีซูยังสามารถพูดภาษาจีน อาข่า ลาหู่ ไทยใหญ่ และคำเมือง เพื่อติดต่อสื่อสารกับกลุ่มชาติพันธุ์เจ้าของภาษานั้น ๆ  

ภาษาเขียน : ลีซูไม่มีภาษาเขียน แต่ภายหลังมีมิชชันนารีผู้เผยแผ่ศาสนาคริสต์ได้นำเอาอักษรโรมันมาประยุกต์เป็นภาษาเขียนของชนเผ่าลีซู  


ตามประเพณีของชาวลีซูที่ยึดถือปฏิบัติมาตั้งแต่อดีต สังคมลีซูมีการสร้าง กำหนดพื้นที่ และบทบาทหน้าที่ระหว่างชายหญิงแตกต่างกัน มีการแบ่งพื้นที่สาธารณะให้เป็นพื้นที่ของผู้ชาย ผู้ชายมีบทบาทในการเป็นผู้นำ ทั้งในระดับครอบครัว ชุมชน กระทั่งการประกอบพิธีกรรมต่าง ๆ ตรงข้ามกับผู้หญิงที่เรียกได้ว่ามีสิทธิและพื้นที่ทางสังคมน้อยมากเมื่อเทียบกับผู้ชาย ทำให้เกิดปัญหาว่าผู้หญิงต้องแบกรับภาระหน้าที่เกือบทั้งหมด ทั้งภาระหน้าที่ในครัวเรือนที่ถูกจัดว่าเป็นหน้าที่ของผู้หญิง ผู้ชายจะไม่เข้ามาช่วยหรือยุ่งเกี่ยวกับส่วนนี้ แต่ในขณะเดียวกันผู้หญิงก็ยังต้องทำงานในไร่ไปด้วย ไม่เพียงเท่านั้น การควบคุมสถานะเพศสภาพของชาวลีซูยังถูกเกี่ยวโยงไว้กับอำนาจเหนือธรรมชาติที่เรียกว่า “อาปาโหม่” โดยมีความเชื่อว่าหากผู้หญิงคนใดตั้งครรภ์ก่อนแต่งงาน ถือเป็นการกระทำความผิดร้ายแรงต่ออาปาโหม่ ถ้าไม่ดำเนินการตามประเพณีจะทำให้ชุมชนเกิดอาเพศและภัยพิบัติ จึงต้องทำพิธีขอขมาต่ออาปาโหม่ กระบวนการนี้ถือเป็นการประจานผู้หญิงให้เกิดความอับอาย อีกทั้งยังทำให้พ่อแม่ญาติพี่น้องเสื่อมเสียชื่อเสียงไปด้วย ด้วยเหตุนี้จึงอาจกล่าวได้ว่า ในสังคมลีซูนอกจากจะไม่มีพื้นที่สาธารณะให้ผู้หญิงได้แสดงออกหรือมีบทบาทใด ๆ ทางสังคมแล้ว ผู้หญิงยังไม่มีพื้นที่ส่วนตัวที่จะได้มีเวลาอยู่กับตนเอง หรือกระทำสิ่งใดตามใจปรารถนา การแบ่งโครงสร้างเชิงอำนาจ และการกำหนดพื้นที่สาธารณะผ่านการแบ่งชนชั้นที่ไม่เท่าเทียมระหว่างผู้ชายและผู้หญิงในบทบาททางสังคมของชาวลีซูนี้ จึงสะท้อนความเป็นปิตาธิปไตยอย่างเข้มข้นในโครงสร้างทางสังคมของชาวลีซู โดยแฝงไว้ภายใต้จารีต ขนบธรรมเนียม และประเพณีที่มีมาตั้งแต่อดีต และแม้ว่าปัจจุบันสภาพสังคมของชาวลีซูจะมีความเปลี่ยนแปลงไป ทว่าความเป็นปิตาธิปไตยที่หยั่งรากฝังลึกลงในวัฒนธรรมของชาวลีซูกลับไม่มีทีว่าว่าผ่อนปรนหรือแปรเปลี่ยนตาม 


ปัจจุบันลีซูกำลังประสบกับปัญหาการกลืนวัฒนธรรมและอัตลักษณ์ดั้งเดิมของชนเผ่า อันเนื่องมาจากนโยบายของภาครัฐ ชาวลีซูต้องปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตและอัตลักษณ์หลายด้านเพื่อให้สอดคล้องกับเงื่อนไขและแรงบีบอัดจากความต้องการของรัฐ ด้านหนึ่งชาวลีซูต้องสร้างอัตลักษณ์ความป็นไทย อีกด้านหนึ่งก็ยังคงต้องรักษาอัตลักษณ์ของความเป็นลีซูเอาไว้ เพราะมีความสำคัญต่อวิถีชีวิตและความอยู่รอดของชาวลีซู ในขณะเดียวกันต้องปรับตัวเข้ากับความทันสมัย โดยเฉพาะการศึกษาภาคบังคับของรัฐ ชาวลีซูต้องเรียนภาษาไทย และรับเอาวัฒนธรรมค่านิยมใหม่ ๆ เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในการดำเนินชีวิต ไม่ว่าจะเป็นพฤติกรรมการบริโภคสินค้า การเสพสื่อ ข้อมูลข่าวสาร ทั้งหมดนี้ล้วนแล้วแต่เป็นปฏิบัติการการควบคุมอัตลักษณ์ของกลุ่มชาติพันธุ์ ซึ่งถูกกดทับภายใต้การสร้างภาพแทนของอัตลักษณ์ความเป็นไทย  

กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล

สมบัติ นุชนิยม. (2546). ความเชื่อพื้นบ้านของชาวลีซูกับการจัดการป่า : กรณีศึกษาบ้านดอยช้าง จังหวัดเชียงราย. วิทยานิพนธ์ปริญญาศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาการจัดการมนุษย์กับสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่. 

สถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง. (ม.ป.ป.). โครงการพัฒนาพื้นที่สูงแบบโครงการหลวงวาวี. [ออนไลน์]. ได้จาก: https://web2012.hrdi.or.th/xtrp/basicinfo/social/329 [สืบค้นเมื่อวันที่ 12 มกราคม 2566]. 

อรอนงค์ แสนยากุล. (2548). อัตลักษณ์และตัวตนของผู้หญิงลีซู 3 รุ่น: กรณีศึกษาประสบการณ์ชีวิตผู้หญิงลีซูคนหนึ่ง. วิทยานิพนธ์ปริญญาศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาสตรีศึกษา มหาวิทยาลัยเชียงใหม่.