Advance search

บ้านแม่สะแง๊ะ

สัมผัสวิถีการเกษตรแบบบ้าน ๆ เดินเท้าต่อแถวหิ้วตะกร้าเก็บผักผลไม้สดตามฤดูกาลจากสวน ลัดเลาะคูนาสำรวจนาข้าวสีเขียวขจี จิบกาแฟอุ่น กลิ่นหอมกรุ่นท่ามกลางธรรมชาติและอากาศเย็นสบาย

หมู่ที่ 15
แม่สะแง๊ะ
ทากาศ
แม่ทา
ลำพูน
วิไลวรรณ เดชดอนบม
15 ก.พ. 2024
ธำรงค์ บริเวธานันท์
15 ก.พ. 2024
ธำรงค์ บริเวธานันท์
15 ก.พ. 2024
บ้านแม่สะแง๊ะ

บริเวณที่ตั้งหมู่บ้านมีแม่น้ำแม่สะแง๊ะและแม่น้ำแม่ขนาดไหลมาบรรจบกัน เมื่อก่อตั้งเป็นชุมชนจึงตั้งชื่อว่า “บ้านแม่สะแง๊ะ” ตามชื่อแม่น้ำ


สัมผัสวิถีการเกษตรแบบบ้าน ๆ เดินเท้าต่อแถวหิ้วตะกร้าเก็บผักผลไม้สดตามฤดูกาลจากสวน ลัดเลาะคูนาสำรวจนาข้าวสีเขียวขจี จิบกาแฟอุ่น กลิ่นหอมกรุ่นท่ามกลางธรรมชาติและอากาศเย็นสบาย

แม่สะแง๊ะ
หมู่ที่ 15
ทากาศ
แม่ทา
ลำพูน
51170
18.32594325
99.05206382
เทศบาลตำบลทากาศเหนือ

บ้านแม่สะแง๊ะ สันนิษฐานว่าตั้งมาแล้วประมาณ 100 กว่าปี คนท้องถิ่นเดิมของบ้านแม่สะแง๊ะ คือ ชาวกะเหรี่ยงโปว์ หรือปกาเกอะญอ ตามคำบอกเล่าชาวปกาเกอะญอในชุมชนคาดว่าอพยพมาจากฝั่งจังหวัดลำปาง โดยเป็นการอพยพตามกันมาเรื่อย ๆ เริ่มแรกมีการอพยพมาเป็นครอบครัว ระยะต่อมาก็มีญาติพี่น้องอพยพตามกันมา ผู้เฒ่าผู้แก่ในชุมชนให้เหตุผลว่าการอพยพในสมัยก่อนอพยพตามความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรธรรมชาติ เช่น แหล่งน้ำและป่าไม้ที่อุดมสมบูรณ์ เหมาะแก่การปลูกข้าวไร่และปลูกฝ้ายเพื่อเป็นวัตถุดิบในการทอผ้า ส่วนสาเหตุที่ได้ชื่อว่า “บ้านแม่สะแง๊ะ” นั้นเพราะบริเวณที่ตั้งหมู่บ้านมีแม่น้ำแม่สะแง๊ะและแม่น้ำแม่ขนาดไหลมาบรรจบกัน เมื่อก่อตั้งเป็นชุมชนจึงตั้งชื่อว่า “บ้านแม่สะแง๊ะ” ตามชื่อแม่น้ำ

ที่ตั้งและอาณาเขต

บ้านแม่สะแง๊ะ ตั้งอยู่ในตําบลทากาศ อําเภอแม่ทา จังหวัดลําพูน อาณาบริเวณของชุมชนบ้านแม่สะแง๊ะทางด้านทิศเหนือติดกับบ้านผาด่าน ทิศตะวันตกติดกับบ้านห้วยเหี้ย ทิศใต้ติดกับบ้านปงผาง และทิศตะวันออกติดกับจังหวัดลําปาง พื้นที่ของบ้านแม่สะแง๊ะถูกจัดให้เป็นเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าดอยผาเมือง รวมถึงบ้านปงผางและบ้านผาด่านที่มีอาณาเขตติดต่อกัน ที่ดินส่วนใหญ่ใช้ในการปลูกข้าวและสวนลำไย ซึ่งเริ่มปลูกกันในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา

ลักษณะทางกายภาพ

บ้านแม่สะแง๊ะมีลักษณะเป็นพื้นที่ลาดชันเชิงเขา ล้อมรอบด้วยภูเขาสลับซับซ้อน และภูเขาสูงในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าดอยผาเมือง ระดับความสูงจากระดับน้ำทะเลประมาณ 750 เมตร พื้นที่ของชุมชนเป็นป่าที่มีสภาพเป็นป่าผสมหลายชนิด ประกอบด้วยป่าเต็งรัง ป่าเบญจพรรณ ป่าดิบเขา ป่าดิบชื้น และป่าสนเขา เป็นแหล่งกําเนิดต้นน้ำลําธารที่ไหลจากซอกเขาต่าง ๆ ลงสู่ลุ่มน้ำแม่ปิง

สภาพภูมิอากาศ

บ้านแม่สะแง๊ะมีสภาพอากาศหนาวเย็นเกือบทั้งปี แบ่งออกเป็น 3 ฤดู ได้แก่ ฤดูหนาว เริ่มตั้งแต่ช่วงเดือนพฤศจิกายนถึงกุมภาพันธ์ อุณหภูมิจะหนาวเย็นมากในช่วงเช้าประมาณตี 4 ถึง 6 โมงเช้า หมอกจะลงหนาและเริ่มจางลงช่วงประมาณ 8 โมงเช้า และในช่วงเย็นอุณหภูมิจะลดต่ำลงเรื่อย ๆ ในช่วงฤดูหนาวจะเห็นแสงแดดประมาณ 8 โมงเช้า พระอาทิตย์จะลับขอบฟ้าก่อนเวลา 6 โมงเย็น มีลมพัดผ่านตามช่องเขาเป็นพัก ๆ บางวันหากมีอุณหภูมิต่ำมาก ๆ จะเกิดปรากฏการณ์แม่คะนิ้ง ปรากฏการณ์หนึ่งที่สำคัญ คือ ในช่วงฤดูหนาวนี้บริเวณน้ำแม่สะแง๊ะจะมีอุณหภูมิน้ำที่อุ่น แต่น้ำแม่ขนาดจะให้อุณหภูมิที่เย็น ฤดูร้อนเริ่มตั้งแต่ช่วงเดือนมีนาคมถึงกลางเดือนพฤษภาคม อากาศช่วงเช้าจะหนาวเย็นและอุณหภูมิจะเริ่มสูงขึ้น ส่วนฤดูฝนจะเริ่มตั้งแต่ปลายเดือนพฤษภาคมถึงเดือนตุลาคม จะมีฝนตกชุก กระทั่งบางปีจะมีน้ำป่าไหลบ่าอย่างรวดเร็ว ซึ่งสร้างความเสียหายอย่างหนักแก่ชาวบ้านในพื้นที่

ทรัพยากรธรรมชาติ

บ้านแม่สะแง๊ะ เป็นส่วนหนึ่งของเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าดอยผาเมือง ซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีสภาพป่าอุดมสมบูรณ์ ในอดีตทรัพยากรธรรมชาติมีความเสื่อมโทรม เนื่องจากมีการตัดไม้ทําลายป่าอย่างหนัก แต่ปัจจุบันสภาพป่าไม้เริ่มกลับมาอุดมสมบูรณ์อีกครั้ง เพราะชุมชนหันมาให้ความสําคัญกับการจัดการดูแลทรัพยากรธรรมชาติโดยผสานความร่วมมือกับภาครัฐในการจัดการพื้นที่ป่ามีสภาพป่าเป็นป่าผสมหลายชนิด ประกอบด้วย ป่าเต็งรัง ป่าเบญจพรรณ ป่าดิบเขา ป่าดิบชื้น และป่าสนเขา พรรณไม้ที่พบ เช่น เหียง พลวง เต็ง รัง รกฟ้ายางตะแบบ แดงประดู่ ขะเจ๊าะ ตะคร้ำ มะแฟน มะค่าโมง สัก เติม สน แดงน้ำ ดําด่าง และอื่น ๆ ดินเป็นดินร่วนปนทรายและดินลูกรังเป็นส่วนใหญ่ มีความอุดมสมบูรณ์สูง ในอดีตมีสัตว์ป่าอาศัยอยู่หลายชนิด เช่น หมี เสือ เก้ง ไก่ ป่า เหยี่ยว นก กระรอก ลิ้น แลน บ่าง หมูป่า ตุ่น งู แมลง ปลานานาชนิด

ข้อมูลประชากรตำบลทากาศจากสำนักทะเบียนราษฎร์ (รายเดือน) รายงานจำนวนประชากรหมู่ที่ 15 บ้านผาหวาย มีประชากรทั้งสิ้น 290 คน โดยแยกเป็นประชากรชาย 158 คน ประชากรหญิง 132 คน และจำนวนครัวเรือน 97 ครัวเรือน (ข้อมูลเดือนธันวาคม 2566)

บ้านแม่สะแง๊ะมีลักษณะโครงสร้างครอบครัวเป็นครอบครัวขยาย เช่น ภายในครอบครัวประกอบไปด้วย ตา ยาย ลูกสาว ลูกเขย หลานชาย หลานสาว หรือพ่อ แม่ ลูก หรือพ่อ แม่ หลาน หรือพ่อและแม่ ประชากรบ้านแม่สะแง๊ะเป็นเครือญาติกันทั้งทางสายเลือดและการแต่งงาน โดยนิยมแต่งงานกันภายในชาติพันธุ์เดียวกัน เมื่อแต่งงานแล้วนิยมแยกตัวไปตั้งบ้านหลังใหม่บริเวณใกล้บ้านหลังเดิมหรือใกล้ญาติพี่น้องของตน ฝ่ายชายต้องย้ายไปอยู่บ้านฝ่ายหญิงแล้วตั้งบ้านหลังใหม่หรือไม่ตั้งก็ได้ แต่อยู่กับพ่อแม่ได้ไม่เกิน 2 คู่ ปัจจุบันเมื่อประชากรในชุมชนออกไปทํางานนอกชุมชนมากขึ้น การแต่งงานข้ามกลุ่มชาติพันธุ์จึงมีจํานวนเพิ่มมากขึ้น อีกทั้งการแต่งงานแล้วย้าย มาอาศัยในชุมชนเป็นการปฏิบัติทางพฤตินัยเท่านั้นไม่ใช่ทางนิตินัย คือ ย้ายมาอยู่แต่ไม่ย้ายทะเบียนราษฎร์มาที่บ้านแม่สะแง๊ะ ซึ่งประชากรกลุ่มนี้ถือเป็นประชากรแฝง จำนวนประชากรที่ปรากฏในทะเบียนราษฎร์จึงอาจไม่ตรงกับจำนวนประชากรที่อาศัยอยู่จริงในชุมชน

ปกาเกอะญอ

ชุมชนบ้านแม่สะแง๊ะตั้งอยู่บนพื้นที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าดอยผาเมือง ซึ่งเป็นพื้นที่ป่าที่อุดมสมบูรณ์ มีความหลากหลายของพันธุ์พืช พันธุ์ไม้ สัตว์ป่า ทรัพยากรป่าไม้ที่มีอยู่บริเวณชุมชนเปรียบเสมือนตลาดอาหารและแหล่งรายได้ของชุมชน แหล่งตลาดที่รับซื้อผลผลิตที่ชาวบ้านหาได้จากป่า ได้แก่ ตลาดป่าเปา ตลาดบ้านเซ่ง ตลาดนิคมอุตสาหกรรมภาคเหนืออื่น ๆ แหล่งรายได้ที่เกิดจากป่า เช่น

1. ครั่ง ถือเป็นแมลงเศรษฐกิจของคนในชุมชน มีทั้งครั่งป่าและครั่งเลี้ยง ปัจจุบันการเลี้ยงครั่งเป็นอีกหนึ่งแหล่งรายได้ที่คนในชุมชนหันมาให้ความสนใจเป็นแหล่งรายได้เสริม และจำนวนผู้เลี้ยงครั่งในชุมชนบ้านแม่สะแง๊ะก็มีจํานวนเพิ่มมากขึ้นทุกปี

2. ผึ้ง เกิดจากการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติของคนในชุมชน น้ำผึ้งที่หาได้จะนําไปบรรจุขวดหรือใส่ภาชนะพลาสติกแบบง่าย ๆ ขายให้ พ่อค้า แม่ค้าในชุมชนที่รับซื้อ หรือนำออกไปจําหน่ายเองนอกชุมชน ราคาประมาณ 190-250 บาท/ขวด อีกทั้งตัวอ่อนผึ้งก็สามารถขายได้ราคากิโลกรัมละประมาณ 300 บาท

3. ไข่มดแดง เป็นสัตว์เศรษฐกิจที่สร้างรายได้ให้คนในชุมชนมากถึง 300-1,000 บาทต่อคนต่อวัน ในช่วงฤดูกาลของไข่มดแดง

4. เห็ดเผาะ สร้างรายได้ให้ชาวบ้านประมาณ 200-4,000 บาทต่อคนต่อวัน

5. ผักหวาน สร้างรายได้ให้ชาวบ้าน 200-1,000 บาทต่อคนต่อวัน ซึ่งช่วงที่เก็บผักหวานจะเป็นช่วงเดียวกับที่มีไข่มดแดง ฉะนั้น ชาวบ้านบางคนในหนึ่งวันจะมีรายได้ทั้งจากผักหวานและไข่มดแดง

นอกจากการหาของป่าแล้ว ชาวบ้านแม่สะแง๊ะยังมีการประกอบอาชีพอื่นที่หลากหลายทั้งค้าขาย ทำไร่ ทำสวน รับจ้างทั่วไปนอกชุมชนแบบไป-กลับ ส่วนชาวบ้านที่ทํางานที่นิคมอุตสาหกรรมภาคเหนือ จังหวัดลําพูน นิยมกลับบ้านช่วงเทศกาลวันหยุด หรือพิธีกรรมสําคัญที่ชุมชนจัดขึ้น

ทั้งนี้ ปัจจุบันบ้านแม่สะแง๊ะ หันมาริเริ่มปลูกพืชเศรษฐกิจเพื่อช่วยสร้างรายได้เสริมแก่คนในหมู่บ้าน ด้วยลักษณะภูมิประเทศที่ที่อยู่ท่ามกลางหุบเขาและป่าที่ค่อนข้างอุดมสมบูรณ์ จึงทำให้ที่นี่เหมาะสำหรับการปลูกข้าวดอย รวมถึงต้นกาแฟออร์แกนิกสายพันธุ์อาราบิก้าหลายสิบไร่ที่ปล่อยให้โตตามธรรมชาติในป่าโดยไม่มีการใช้สารเคมีใด ๆ อีกทั้งยังมีแปลงทดลองปลูกสวนโกโก้ และผลไม้ฤดูหนาวปลอดสารพิษสำหรับบริโภคในชุมชนและจำหน่ายให้กับนักท่องเที่ยวที่เดินทางมายังหมู่บ้าน ทั้งผักป่าหลากหลายชนิด เช่น ผักกูด มะระขี้นก และหน่อไม้ นอกจากนี้ กลุ่มแม่บ้านแม่สะแง๊ะยังได้รวมตัวกันพัฒนาภูมิปัญญาท้องถิ่น สร้างสรรค์จำหน่ายเป็นผลิตภัณฑ์ชุมชนเช่น ผักปลอดสารในช่วงฤดูหนาว ผ้าทอกะเหรี่ยง เมล็ดกาแฟแม่สะแง๊ะแบบบรรจุขาย ณ ลานจำหน่ายสินค้าชุมชนใจกลางหมู่บ้าน

อนึ่ง บ้านแม่สะแง๊ะ เป็น 1 ใน 3 ชุมชน ปงผาง escape โครงการท่องเที่ยวชุมชนในเขตพื้นที่เทศบาลตำบลทากาศเหนือ อำเภอแม่ทา จังหวัดลำพูน โดยเทศบาลตำบลทากาศเหนือ ในชุมชนปกาเกอะญอทั้ง 3 พื้นที่ (บ้านผ่าด่าน บ้านแม่สะแง๊ะ และบ้านปงผาง) ให้นักท่องเที่ยวได้สัมผัสธรรมชาติที่งดงามของจังหวัดลำพูนโดยชุมชนมีส่วนร่วมในทุก ๆ กิจกรรม ให้ทุกคนได้เรียนรู้วิถีชีวิตของพี่น้องปกาเกอะญอบนดอย ชาวบ้านมีรายได้จากการจัดกิจกรรมการท่องเที่ยว การขายของที่ระลึกเล็ก ๆ น้อย ๆ ให้แก่นักท่องเที่ยว ทั้งหมดนี้ล้วนเป็นการส่งเสริมรายได้ให้แก่พี่น้องในชุมชนทั้งสิ้น เนื่องจากรายได้จากการท่องเที่ยวจะส่งตรงถึงชุมชนที่มีส่วนเกี่ยวข้อง โดยเทศบาลตำบลทากาศเหนือจะกระจายทั้งรายได้และงานให้กับแต่ละครัวเรือนในชุมชนอย่างทั่วถึง ไม่ว่าจะเป็นค่าจ้างขับรถรับ-ส่งนักท่องเที่ยว ค่าจ้างไกด์ท้องถิ่นที่จะดูแลตลอดทริป รวมทั้งค่าเตรียมอาหารทุกมื้อที่คนทำจะสับเปลี่ยนหมุนเวียนกันในหมู่บ้าน เพื่อให้มีรายรับกระจายกันมากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้

วิถีชีวิต

ชาวบ้านแม่สะแง๊ะมีวิถีชีวิตที่อยู่เคียงคู่กับธรรมชาติ ทุกวิถีการดำเนินชีวิตของชาวบ้านจะมีความเกี่ยวข้องกับธรรมชาติเสมอ ฉะนั้น จึงจะจำแนกวิถีชีวิตของชาวบ้านแม่สะแง๊ะตามฤดูกาลต่าง ๆ 3 ฤดูกาล ดังนี้

  • ฤดูหนาว ช่วงเดือนพฤศจิกายน-กุมภาพันธ์ กิจกรรมที่ทํา เช่น เกี่ยวข้าว ฟาดข้าว เลี้ยงสัตว์ เก็บเห็ดลม เก็บ ปล่อยครั่ง รับจ้างนอกชุมชน ถอนหญ้าข้าวไร่ จักตอก ทอผ้า ปลูกผัก ล่าสัตว์ หาของป่า พิธีกรรมเตรียมไม้สําหรับทําฝาย และจะมีกลุ่มคนต่าง ๆ เข้ามาแจกของให้คนในชุมชนบ่อยครั้ง บางวันมีมากถึง 3-4 กลุ่ม

  • ฤดูร้อน ช่วงเดือนมีนาคม-พฤษภาคม กิจกรรมที่ทำ เช่น หาของป่า รับจ้างนอกชุมชน ตีฝาย ถอนหญ้าข้าวไร่ ทอผ้า เลี้ยงสัตว์ ล่าสัตว์ เก็บเห็ด เตรียมพื้นที่สำหรับปลูกข้าวไร่

  • ฤดูฝน ช่วงเดือนพฤษภาคม-ตุลาคม กิจกรรมที่ทำ เช่น ปลูกข้าวไร่ หาของป่า เลี้ยงสัตว์ รับจ้างนอกชุมชน เก็บเกี่ยวข้าวไร่ เก็บผลผลิตทางการเกษตรต่าง ๆ ที่ได้จากการปลูกพร้อมข้าวไร่

ประเพณี ความเชื่อ พิธีกรรม

ประเพณี ความเชื่อ พิธีกรรม เช่น การเลี้ยงผีขุนน้ำ การเลี้ยงผีฝาย การเลี้ยงผีขุนห้วยที่ชุมชนต้องทําทุกปี เป็นการแสดงความเคารพต่อธรรมชาติ การขอให้ผีเจ้าที่ ผีเจ้าทาง ผีขุนน้ำ ผีฝายได้ปกป้องดูแลต้นน้ำ เป็นพิธีกรรมที่ชาวบ้านสืบทอดกันมาแต่อดีตและยังคงอยู่ถึงปัจจุบัน เพราะชาวบ้านยังคงมีการดําเนินชีวิตเกี่ยวข้องกับธรรมชาติ นอกจากนี้ยังมีพิธีกรรมเลี้ยงผีบ้าน พิธีกรรมเรียกขวัญข้าว พิธีกรรมมัดมือคนในหมู่บ้าน ทำบุญข้าวใหม่ เลี้ยงหอเจ้าที่ เลี้ยงผีห้วยแม่สะแง๊ะ พิธีกรรมไล่ผีหรือส่งผี (ร้าย) พิธีกรรมเลี้ยงผีไฟ ฯลฯ 

กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล
กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล

ส่วนใหญ่ยังคงใช้ภาษาปกาเกอะญอเป็นหลัก เว้นแต่เยาวชนคนรุ่นใหม่ที่สามารถสื่อสารภาษาไทยกลางได้บ้าง เนื่องจากการเข้ามาของการศึกษาที่ต้องใช้ภาษาไทยซึ่งเป็นภาษาราชการในการอ่าน พูด และเขียนภายในโรงเรียน


1. ไฟฟ้า ในอดีตสิ่งที่ให้ความสว่างทุกบ้าน คือ กองไฟ ไฟฉาย เทียน) ต่อมา พ.ศ. 2548 ชาวบ้านได้รับแผงพลังงานแสงอาทิตย์จากโครงการของภาครัฐ ชุมชนจึงมีไฟฟ้าพลังงานโซลาร์เซลล์ใช้ แต่ปัจจุบันยังมีบางครัวเรือนที่ไม่มีไฟฟ้าใช้เนื่องจากการขยายตัวของจำนวนประชากรที่ส่งผลให้ไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ไม่เพียงพอต่อความต้องการ อีกทั้งชาวบ้านยังไม่มีความรู้เรื่องการดูแลซ่อมแซมแผงรับพลังงานแสงอาทิตย์

2. ประปา เป็นน้ำประปาภูเขาจากขุนห้วยแม่สะแง๊ะผ่านระบบท่อพีวีซี ซึ่งมีเพียงพอต่อความต้องการของชาวบ้านตลอดทั้งปี เว้นแต่กรณีมีช้างป่าเข้ามาเหยียบท่อน้ำประปาของชาวบ้านเสียหาย แต่ทั้งนี้ ชุมชนก็จะมีระบบน้ำประปาบ่อบาดาลในการรองรับสถานการณ์นี้ 

กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล

ขนิษฐา ยกซื้อ. (2559). การจัดการทรัพยากรธรรมชาติอย่างยั่งยืน: กรณีศึกษา บ้านแม่สะแง๊ะ หมู่ 15 ตำบลทากาศเหนือ อำเภอแม่ทา จังหวัดลำพูน. ประกาศนียบัตรบัณฑิต, วิทยาลัยพัฒนศาสตร์ ป๋วย อึ๊งภากรณ์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์.