กว๊านพะเยา 

             มาพะเยามิได้เยือนกว๊าน เขาว่าท่านมาไม่ถึงพะเยา เป็นคำพูดที่ทำให้ชวนค้นหา ในภาษาเหนือ กว๊านคือ น้ำลึกหรือน้ำวน กว๊านพะเยาเป็นทะเลสาบที่ใหญ่เป็นอันดับ ๓ ของประเทศทีเดียว รองจากบึงบอระเพ็ดและหนองหาน แต่กว๊านพะเยารั้งตำแหน่งแหล่งน้ำจืดใหญ่ที่สุดแห่งภาคเหนือตอนบน มีเนื้อที่ถึง ๑๒,๘๓๑ ไร่ แต่ก่อนน้ำแห้งในฤดูแล้งจึงทำให้เกิดเป็นสองแอ่ง กว๊านหลวงกับกว๊านน้อย ฝนตกหน้าน้ำทีไรน้ำท่วมไปทั่วบริเวณ ต่อมากรมประมงจึงสร้างทำนบกั้นลำน้ำอิงในปี พ.ศ. ๒๔๘๔ จึงทำให้กว๊านพะเยาเป็นบึงธรรมชาติขนาดใหญ่ มีน้ำค่อนข้างคงที่ มีน้ำสูงขึ้น ความลึกเฉลี่ย ๑.๕ เมตร กว๊านพะเยาจึงกลายเป็นที่ตั้งสถานีประมงน้ำจืดที่ใหญ่ที่สุดของภาคเหนือ มีชื่อเสียง ประสบความสำเร็จในการผสมเทียมปลาบึกได้เป็นครั้งแรกของโลกเมื่อปีพ.ศ. ๒๕๒๖

This slideshow requires JavaScript.

น้ำอิง สายน้ำสำคัญของกว๊านพะเยา มีกำเนิดเกิดขึ้นมาจากภูเขาสูงในอำเภอแม่ใจ แต่เมื่อย้อนขึ้นไปสู่ต้นสายปลายน้ำนั้น ร่องลำธารบรรจบกับแม่น้ำวัง ที่อำเภอวังเหนือ จังหวดลำปาง เกิดขึ้นจากจุดยอดกลางภูเขาสูงของต้นน้ำแห่งนี้คือ ดอยผีปันน้ำ ลำห้วยไหลลงสู่อ.แม่ใจในพะเยา คือห้วยเอี้ยง ผ่านบ้านแม่ใจสู่หนองเล็งทราย ออกสู่ทุ่งนาแม่ใจ ผ่านบ้านยืม, บ้านใหม่, บ้านต้ำ รวมลำห้วยถึง ๑๘ สาย กลายเป็นลำน้ำอิงไหลลงสู่กว๊านพะเยาที่ อ.เมือง ดังคำกลอนที่มีมาแต่โบราณว่า

“สุขเย็นใจ๋ล้ำ ตุ่นต้ำต๋อมต๋ำ แม่ไล้ฮ่องคำ ลงมาไหลดั้น ไหลลงจากเขา ภูดอยเขตกั้น ฮอมลงมาสู่กว๊าน”

หลอมรวมวัฒนธรรมที่สูงล้ำแห่งกว๊านพะเยาไหลสู่ลำน้ำอิง นำเรื่องราวเล่าขานของสายน้ำวกขึ้นสู่ทิศเหนือ ผ่านดอกคำใต้และจุนเข้าสู่จังหวัดเชียงราย สู่อำเภอเทิง พญาเม็งราย มาสุดสายปลายน้ำอิง ที่แนบแอบชิดลำน้ำโขงที่อำเภอเชียงของแห่งเชียงรายนี้

วัดติโลกอาราม

วัดแห่งนี้ตั้งอยู่บนเกาะกลางน้ำใจกลางกว๊านพะเยา เป็นที่ตั้งของหลวงพ่อศิลาแห่งกว๊านพะเยา วัดติโลกอารามได้จมอยู่ใต้บาดาลมานานกว่า ๕๐๐ ปีมาแล้ว หลักฐานศิลาจารึกได้บันทึกไว้ว่า พระราชาสมัยนั้นผู้ครองเมืองเชียงใหม่ พระเจ้าติโลกราช โปรดให้เจ้าแสนหัว เจ้าผู้ครองเมืองพะเยา ได้สร้างถวายในปีพ.ศ. ๒๐๑๙ – ๒๐๒๙ เพื่อเป็นการเทิดพระเกียรติแก่กษัตริย์ผู้ยิ่งใหญ่ที่ชาวล้านนาได้ยกย่องต่อพระเจ้าติโลกราช

เวลาผ่านไปพิษภัยจากสงครามและน้ำท่วม วัดติโลกอารามจึงได้จมอยู่ใต้น้ำมายาวนาน เมื่อมีโครงการกู้วัดติโลกอารามขึ้นมาใหม่ จึงได้อัญเชิญหลวงพ่อศิลา (กว๊านพะเยา) แต่เดิมซึ่งเก็บอยู่ที่วัดศรีอุโมงค์คำมาประดิษฐานอยู่บนเกาะกลางกว๊านพะเยา กลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวศึกษาวัฒนธรรมแห่งใหม่ขึ้นมา ฟื้นตำนานอารยธรรมกลุ่มน้ำอิง ให้กลับมามีชีวิตเหมือนดังอดีตไม่ได้สูญหายอีกต่อไป จะไหว้พระศิลาให้ลงที่ศาลาท่าเรือริมกว๊าน มีให้บริการทุกวัน เรือแจวพร้อมมุ่งหน้าสู่กลางน้ำ กราบนมัสการหลวงพ่อศิลาแห่งวัดติโลกอาราม กลางกว๊านพะเยาแห่งนี้

วัดศรีโคมคำ

ตราประจำจังหวัดพะเยา มีรูปพระเจ้าตนหลวงวัดศรีโคมคำ เป็นสัญลักษณ์ว่าเป็นพระพุทธรูปคู่บ้านคู่เมืองของชาวพะเยา และคำขวัญประจำจังหวัดยังมีตอนหนึ่งว่าศักดิ์สิทธิ์พระเจ้าตนหลวง จึงเป็นที่กล่าวขานกันว่า ถ้ามาพะเยาแล้วไม่ได้มากราบนมัสการพระเจ้าตนหลวงที่วัดศรีโคมคำแห่งนี้ ถือว่ามาไม่ถึงพะเยา ชาวบ้านเรียกกันว่าพระนั่งดิน เพราะประดิษฐานอยู่บนดินแทนฐานชุกชี เป็นศูนย์รวมจิตใจของชาวพะเยา ช่วงวิสาขบูชา มีประเพณีแปดเป็ง นมัสการพระเจ้าตนหลวง ถือเป็นงานบุญใหญ่ของชาวพะเยา

ประวัติความเป็นมา ตามตำนานกล่าวว่า เมื่อครั้งพระพุทธเจ้าเสด็จโปรดเวไนยสัตว์ มาถึงล้านนา พระองค์ได้ประทับที่ดอยไกล้กับหนองเอี้ยงหรือกว๊านพะเยานั่นเอง ได้มีช่างทองมาถวายอาหารแต่ไม่ได้ถวายน้ำ, บินฑบาตร พระอานนท์จึงเดินไปตักน้ำที่หนองเอี้ยง พญานาคที่อาศัยอยู่ในหนองเอี้ยงทำทีพ่นควันแผ่พังพาน ไม่ยอมให้พระอานนท์ตักน้ำ หลังจากกราบทูลให้พระพุทธเจ้าทราบ พระองค์จึงเสด็จไปที่หนองเอี้ยง พญานาคเห็นพระพุทธเจ้ามีพระวรกายสูงใหญ่ เต็มไปด้วยฉับพรรณรังสี จึงเกิดเลื่อมใสศรัทธายอมถวายน้ำต่อพระพุทธเจ้า หลังจากนั้นพญานาคจึงนำทองคำมามอบให้กับตา ยาย ที่บ้านอยู่ริมหนองนกเอี้ยงเพื่อสร้างพระในปี พ.ศ. ๒๐๓๔ สมัยพระยาเมืองยี่ ครองเมืองพะเยา ต่อมาพระยาหัวเคียน และพระเมืองตู้ ใช้เวลาสร้างพระเจ้าตนหลวงนานถึง ๓๓ ปี เสร็จสมบูรณ์ในปี พ.ศ. ๒๐๖๗ พระเจ้าตนหลวง เป็นพระพุทธรูปก่ออิฐถือปืนที่ใหญ่ที่สุดในภาคเหนือ สูง ๑๘.๕๐ เมตร หน้าตักกว้าง ๑๔ เมตร ปางมารวิชัย ปิดทองทั่วทั้งองค์ ในสมัยนั้นเมืองพะเยาได้ขึ้นอยู่กับอาณาจักรล้านนาแล้ว ภายหลังจึงสร้างวิหารครอบองค์พระ

ช่วงที่พม่าเข้ารุกรานปกครองล้านนา ประชาชนเสียทรัพย์สิน ละทิ้งบ้านเรือน วัดจึงถูกทิ้งร้างอยู่นานถึง ๕๖ ปี จากนั้นเจ้าผู้ครองเมืองพะเยาก็ได้บูรณะองค์พระเจ้าตนหลวง ก่อสร้างวิหารและเสนาสนะขึ้นจนมีสภาพสมบูรณ์ และปฏิสังขรณ์วัดเรื่อยมา จนมาถึงองค์สุดท้ายคือ พระยาประเทศอุดรทิศ (มหาชัยศีติสาร) ต่อมาเมื่อมีการเปลี่ยนแปลงการปกครองเป็นมณฑลเทศาภิบาลในสมัยรัชกาลที่ ๕ พะเยาอยู่ในมณฑลพายัพ พระยาประเทศอุดรทิศกราบบังคมลาออก แต่ยังได้อุปถัมภ์วัดศรีโคมคำเช่นเดิม ทางการจึงได้แต่งตั้งนายคลาย บุษยบรรณ เป็นนายอำเภอเมืองพะเยา ได้ร่วมกับพระยาประเทศอุดรทิศ (มหาชัยศีตีสาร) ได้อารธนาครูบาศรีวิชัย นักบุญแห่งล้านนามาเป็นประธานในการบูรณปฏิสังขรณ์วัดศรีโคมคำครั้งใหญ่ ขณะนั้นครูบาศรีวิชัยกำลังบูรณะปฏิสังขรณ์อยู่ที่วัดพระธาตุหริภูญชัย จ.ลำพูน จากอำเภอลี้ ลำพูน ระหว่างเดินทางมา ได้มีญาติโยมผู้ศรัทธาคอยทำบุญตลอดทาง บางครั้งมีการนำเอาลูกหลานมาขอบวชด้วย มาถึงพะเยา ๒๕ ธันวาคม ๒๔๖๕ เริ่มปฏิสังขรณ์ขึ้นทันทีเมื่อง ๖ มกราคม ๒๔๖๖ ด้วยธรรมบารมีของครูบาศรีวิชัย การบูรณะปฏิสังขรณ์ รื้อพระวิหารสร้างใหม่ สร้างศาลาราย โบสถ์ วิหารพระพุทธบาทจำลอง ทุกอย่างเสร็จอย่างรวดเร็วภายใน ๑ ปี ถึงเดือนมีนาคม ๒๔๖๗ จึงทำบุญเฉลิมฉลองนานถึง ๑ เดือนเต็ม หลังจากทำบุญฉลองแล้ว ครูบาศรีวิชัยก็กลับไปเชียงใหม่เริ่มสร้างวิหารวัดสวนดอกต่อไป

หอวัฒนธรรมนิทัศน์ 

อยู่ไกล้กับวัดศรีโคมคำ เป็นพิพิทธภัณฑ์แสดงโบราณวัตถุ เอกสารข้อมูลสำคัญทางประวัติศาสตร์ของจังหวัดพะเยา ภายในอาคารมีห้องแสดงต่างๆมากมาย เช่นก่อนที่จะเป็นอาณาจักรห้องขุนเจือง กษัตริย์องค์ที่ ๒ ของอาณาจักรภูกามยาว ห้องพญางำเมือง แสดงถึงความสัมพันธ์ของ ๓ กษัตริย์ ได้แก่ พญาร่วงแห่งอาณาจักรสุโขทัย พญามังรายแห่งอาณาจักรล้านนาและพญางำเมืองแห่งอาณาจักรภูกามยาว ห้องแสดงเครื่องปั้นดินเผา ห้องแสดงพะเยายุครุ่งเรืองและยุคเสื่อม ห้องแสดงวิถีชาวบ้าน ประวัติพระเจ้าตนหลวง ยังมีลานแสดงศิลาจารึกอีกมากมาย เปิดทำการทุกเวลา ๘.๓๐ น. – ๑๖.๓๐ น. โทร. ๐๕๕-๔๑๐๐๕๘ – ๙

อนุสาวรีย์พ่อขุนงำเมือง

จังหวัดพะเยาได้รับการยกฐานะให้เป็นจังหวัดที่ ๗๒ ในปี พ.ศ. ๒๕๒๐ ชาวพะเยาจึงร่วมใจกันสร้างอนุสาวรีย์พ่อขุนงำเมืองขึ้น บริเวณสวนสาธารณะริมกว๊านพะเยา เป็นรูปปั้นสำริดความสูงเท่าครึ่งขององค์จริงในท่าประทับยืน ทรงชุดกษัตริย์สวมมงกุฎ พระหัตถ์ถือดาบอาญาสิทธิ์ หันพระพักตร์ไปทางกว๊านพะเยา ประดิษฐานบนแท่นสูง ๒.๕๐ เมตร พ่อขุนงำเมืองเป็นศูนย์รวมจิตใจของชาวพะเยา มีคนแวะเวียนมากราบไหว้สักการะอนุสาวรีย์ของท่านอยู่ตลอดวันเวลา ช่วงเทศกาลลอยกระทงจะคึกคักเป็นพิเศษ

ตามประวัติกล่าวไว้ว่า พ่อขุนงำเมืองเป็นโอรสของพ่อขุนมิ่งเมือง กษัตริย์แห่งเมืองภูกามยาวหรือพะเยาในปัจจุบัน หลังจากพระราชบิดาสวรรคต พ่อขุนงำเมืองจึงขึ้นครองราชย์ในพ.ศ. ๑๘๐๑ จนถึง ๑๘๔๑ พ่อขุนงำเมืองเป็นกษัตริย์ที่ทรงอานุภาพ เป็นยุคที่บ้านเมืองเจริญรุ่งเรืองมาก เล่ากันว่าเสด็จไปทางไหน “แดดก็บ่ฮ้อน ฝนก็บ่ฮำ” จะให้แดดออกฝนตกก็ได้ พ่อขุนงำเมืองปกครองเมืองภูกามยาวจนเจริญเป็น ๑ ใน ๓ อาณาจักรของชนเผ่าไทยแถบนี้ ซึ่งมีอาณาจักรล้านนา อาณาจักรสุโขทัย และอาณาจักรพะเยา พ่อขุนงำเมืองยังเป็นพระสหายร่วมสำนักศึกษากับพ่อขุนรามคำแหงมหาราช และต่อมาได้เป็นพระสหายร่วมน้ำสาบานกับพญาเม็งราย ทั้งสามพระองค์ทรงประกอบพิธีสาบาน หลั่งพระโลหิตจากปลายนิ้วลงในจอกสุราเดียวกัน ณ ริมฝั่งแม่น้ำขุนภู แล้วประทับหันพระปฎษฏางค์พิงกัน (อิงหลังชนกัน) ตั้งสัตยาอธิษฐานว่าจะทรงรักใคร่ปรองดองซื่อสัตย์ต่อกันชั่วชีวิต แล้วต่างก็ดื่มพระโลหิตจอกนั้น ภายหลังถึงเรียกแม่น้ำขุนภูว่า “แม่น้ำอิง”

งานบวงสรวงพ่อขุนงำเมือง เป็นงานประเพณียิ่งใหญ่ของชาวพะเยา จัดขึ้นเป็นประจำทุกปีในวันที่ ๕ มีนาคม ซึ่งตรงกับวันประสูติของพ่อขุนงำเมือง งานจัดขึ้น ณ ลานอนุสาวรีย์พ่อขุนงำเมือง ริมกว๊านพะเยา มีขบวนแห่สักการะจากทุกอำเภอจัดอย่างสวยงาม มีผู้คนจากทั่วสารทิศ เดินทางมาร่วมพิธีบวงสรวงจำนวนมาก

วัดพระธาตุจอมทอง

พระธาตุจอมทอง เป็นเจดีย์ทรงล้านนาสูง ๓๐ เมตร ตั้งอยู่บนฐานสี่เหลี่ยมจตุรัส กว้าง ๙ เมตร ซ้อนกันสามชั้น รองรับองค์ระฆัง ส่วนยอดสุดเป็นฉัตรสีทอง ฐานโดยรอบข้างล่างบุด้วยแผ่นโลหะ ดุนลายเป็นรูป ๑๒ นักษัตร และลายไทยอันงดงามมาก ลักษณะคล้ายพระธาตุหริภุญชัย จ.ลำพูน วัดพระธาตุจอมทองตั้งอยู่บนเนินเขาตรงข้ามวัดศรีโคมคำ ต.เวียง อ.เมือง จากสี่แยกประตูชัย ทางหลวงหมายเลข ๑ มุ่งหน้าสู่แม่ใจ ๒.๕ กิโลเมตร มีแยกซ้ายมือผ่านหอสมุดแห่งชาติเฉลิมพระเกียรติไป ๓๐๐ เมตร วัดอยู่ทางขวามือ

ความเป็นมานั้นเล่ากันว่า พระพุทธเจ้าเคยเสด็จมาเผยแผ่พระพุทธศาสนาที่เมืองภูกามยาว ประทับแรมบนดอยตั้งอยู่บนฝั่งหนองเอี้ยงทางทิศเหนือ พระองค์ได้มอบพระเกศธาตุองค์หนึ่งเพื่อนำไปประดิษฐานไว้ในถ้ำบนดอยนั้น เป็นถ้ำลึก ๗๐ วา ซึ่งครอบครัวบ้านช่างทองที่นำภัตตาหารมากถวาย ซึ่งเป็นเวลาเดียวกันกับตำนานของพระเจ้าตนหลวงแห่งวัดศรีโคมคำ

วัดลี

วัดลีเป็นที่ตั้งของพิพิธภัณฑ์เวียงพยาว (วัดลี) ตั้งอยู่หลังโรงเรียนเทศบาล ๓ เป็นวัดที่สร้างมาตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๐๓๘ ตั้งอยู่ในบริเวณเวียงพยาวหรือเวียงรูปน้ำเต้า ขนาดความกว้าง ๑,๐๐๐ เมตร ยาว ๑,๕๐๐ เมตร มีแนวคูเมืองล้อมรอบ มีร่องรอยของซากโบราณสถานที่เป็นวัดร้างหลายแห่งอยู่ภายในบริเวณตัวเวียง ปัจจุบันเหลือเพียงวัดลีแห่งนี้ เวียงพยาวนี้นักวิชาการสัณนิษฐานว่า น่าจะเป็นเมืองยุคแรกๆของพะเยา คือตั้งแต่สมัยขุนจอมธรรมมาสร้างเมืองพะเยา จากการขุดค้นทางโบราณคดีในตัวเวียงแห่งนี้ ยังไม่พบหลักฐานที่มีอายุเก่าแก่ไปถึงสมัยขุนจอมธรรมหรือยุคไกล้เคียง พบแต่เพียงหลักฐานสมัยพุทธศตวรรษ ๒๐-๒๑ เท่านั้น ซึ่งเป็นยุคที่เวียงพะเยาแห่งนี้อยู่ในช่วงเจริญรุ่งเรืองสูงสุด โดยเฉพาะนับตั้งแต่สมัยพระยายุทธิษฐิระ มาเป็นเจ้าสี่หมื่นปกครองเมืองพะเยาในพ.ศ.๒๐๑๗ เป็นต้นมา

ไม่ควรพลาดที่จะมาเยือนและเยี่ยมชมพิพิธภัณฑ์เวียงพยาวแห่งวัดลีให้ได้เมื่อมาถึงพะเยา เพราะเป็นที่เก็บศิลปะโบราณวัตถุภูมิปัญญาท้องถิ่นให้ได้เรียนรู้มากมาย พระพุทธรูปหินทรายปางต่างๆ ศิลปะสกุลช่างพะเยาที่ได้รับอิทธพลมาจากศิลปะสุโขทัย และจะได้พบกับพระพุทธรูปหินทรายวัดติโลกอาราม (องค์จริงอีกด้วย) เป็นพระปางมารวิชัยนั่งขัดสมาธิเพชร ขนาดหน้าตักกว้าง ๘๒ ซม. สูง ๙๙ ซม. ขุดพบได้ที่วัดติโลกอาราม กลางกว๊านพะเยา อายุในสมัยพุทธศตวรรษที่ ๒๐ ทั้งยังมีพระสำริดและศิลาจารึกอักษรฝักขามอีกมากมาย ที่บอกเล่าเรื่องราวย้อนอดีตให้ได้รับรู้ถึงความเป็นมาของพะเยาได้เป็นอย่างดี จึงไม่ควรพลาดที่จะมาเยือนวัดลีแห่งนี้เมื่อมาถึงพะเยา

วัดศรีอุโมงคำ

ชาวบ้านเรียกว่าวัดสูง ที่ตั้งวัดตั้งอยู่บนเนินสูง โบสถ์และเจดีย์ก็ตั้งอยู่บนฐานสูง มองดูโดดเด่น เมื่อมองจากทุกทิศทางและมองจากริมกว๊านพะเยา มาถึงวัดศรีอุโมงค์คำ “มานมัสการพระเจ้าล้านตื้อและพระเจ้าแข้งคม

พระเจ้าล้านตื้อ หรือพระเจ้าแสนแซ่ หรือหลวงพ่องามเมืองเรืองฤทธิ์ เป็นพระพุทธรูปสำริดปางมารวิชัย ศิลปะสุโขทัยผสมศิลปะพะเยา ปิดทองทั้งองค์ ถือได้ว่าเป็นพระพุทธรูปองค์หนึ่งที่งดงามแห่งล้านนา ประดิษฐานเป็นพระประธานภายในโบสถ์คู่กับพระเจ้าแข้งคม คำว่า “ตื้อ” เป็นหน่วยการนับของล้านนาดังนี้ หน่วย สิบ ร้อย พัน หมื่น แสน ล้าน โกฏิ ตื้อ

พระเจ้าแข้งคม เป็นพระพุทธรูปหินทรายปางมารวิชัย หน้าตักกว้าง ๑.๓ เมตร สูง ๑.๙ เมตร บริเวณหน้าแข้งมีลักษณะเป็นเหลี่ยม แตกต่างจากพระพุทธรูปโดยทั่วไป สัณนิษฐานว่าสร้างในสมัยพระยายุทธิษฐิระ ซึ่งมีความสัมพันธ์อันดีกับพระเจ้าติโลกราชแห่งเชียงใหม่ พระเจ้าติโลกราชโปรดให้สร้างพระเจ้าแข้งคมประดิษฐานในวัดศรีเกิด จ.เชียงใหม่ พระยายุทธิษฐิระจึงนำแบบอย่างมาสร้างประดิษฐานขึ้นที่พะเยา แตกต่างกันที่วัสดุที่พะเยาเป็นพระพุทธรูปหินทราย ส่วนทางเชียงใหม่เป็นพระพุทธรูปสำริด

เจดีย์เป็นศิลปะเชียงแสนสีทองอร่าม อยู่ด้านหลังโบสถ์ มีฐานสี่เหลี่ยมซ้อนกัน ๓ ชั้น ต่อด้วยเรือนธาตุรูปแปดเหลี่ยมย่อมุม บนเรือนธาตุมีซุ้ม จระนำทั้งสี่ทิศ สูงขึ้นเป็นองค์ระฆังกลม บัลลังก์ ปล้องไฉนและปลียอด

พระเจ้าทันใจ เป็นพระพุทธรูปหินทรายปางมารวิชัย หน้าตัก ๒ เมตร ประดิษฐานในวิหารหลังเสาที่ตั้งอยู่ติดกับอาคารเรียนของ ร.ร. พินิตประสาธน์ ชาวบ้านมีความเชื่อว่า ขอพรสิ่งใดก็ได้สิ่งนั้นอย่างรวดเร็วทันใจ

ภายในศาลายังมีพระพุทธรูปอีกองค์หนึ่งคือ พระเจ้ากว๊าน เป็นพระพุทธรูปหินทรายปางมารวิชัย หน้าตักกว้าง ๑ เมตร ขุดพบในเจดีย์โบราณกลางกว๊านพะเยา

วัดตั้งอยู่ในเขตเทศบาลเมืองพะเยา จากสี่แยกประตูชัย ใช้ถนนประตูชัยตรงเข้าถนนดอนสนาม แล้วเลี้ยวซ้ายเข้า ถ.พหลโยธิน (สายเก่า) ตรงไปประมาณ ๓๐๐ เมตร วัดอยู่ขวามือ

วัดป่าแดงบุญนาค

เป็นวัดเก่าแก่ตั้งแต่สมัยพระพุทธศาสนาเข้ามาในอาณาจักรพะเยา เดิมชื่อวัดบุญนาค ตอนหลังมีการสร้างวัดใหม่เพิ่มชื่อว่า วัดป่าแดง ปัจจุบันก็รวมเป็นวัดเดียวกันชื่อ วัดป่าแดงบุญนาค เป็นวัดสำคัญของเมืองพะเยา พบศิลาจารึก ๒ หลักในบริเวณวัด จารึกหลักที่ ๑ เมื่อปี พ.ศ. ๒๐๔๒ เรียกชื่อวัดนี้ว่า วัดพญาร่วง จารึกหลักที่ ๒ เมื่อปี พ.ศ. ๒๐๗๘ กล่าวถึงพระเป็นเจ้าอยู่หัว (พระเมืองเกษเกล้า กษัตริย์เชียงใหม่) มีราชโองการให้เจ้าเมืองพะเยาสร้างมหามณฑปขึ้นในเมืองพะเยา จากเหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์ ประกอบกับลักษณะแบบแผนขององค์เจดีย์แบบสุโขทัย ทำให้พิจารณาได้ว่าวัดนี้น่าจะสร้างสมัยพระยายุทธิษฐิระ เจ้าเมืองพิษณุโลก เมื่อครั้งที่ท่านอพยพมาอยู่ล้านนา เป็นเจ้าเมืองพะเยา ตอนต้นพุทธศตวรรษที่ ๒๑

สิ่งก่อสร้างที่สำคัญภายในวัด มีพระเจดีย์ลักษณะเป็นศิลปะแบบสุโขทัย พระเจดีย์ทรงล้านนามีลักษณะคล้ายกับเจดีย์วัดป่าสัก อำเภอเชียงแสน จังหวัดเชียงราย มีเนินซากโบราณสถานจำนวน ๒๕ แห่ง ซากแนวกำแพงโบราณ ๔ แนว สถานที่ตั้งวัดป่าแดงบุญนาค ตั้งอยู่ ณ บ้านป่าแดง ตำบลท่าวังทอง อำเภอเมือง จ.พะเยา อยู่ห่างจากตัวเมืองพะเยาประมาณ ๑.๕ กิโลเมตรไปทางทิศเหนือ ความสำคัญต่อชุมชน วัดป่าแดงบุญนาคได้รับการยกย่องให้เป็นวัดแรกที่มีการตานก๋วยสลาก หรือประเพณีสลากภัตต์ในปัจจุบัน วัดป่าแดงบุญนาคเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปเก่าแก่ที่สำคัญของจังหวัดพะเยาคือ หลวงพ่อนาคและพระพุทธรูปไม้แก่นจันทร์ ปัจจุบันประดิษฐาน ณ พิพิทธภัณฑ์ณสถานแห่งชาติ

วัดหลวงราชสัณฐาน

ไม่ควรพลาดชมจิตรกรรมฝาผนังบนแผ่นไม้ วัดตั้งอยู่ในตำบลเวียง อ.เมือง จ.พะเยา เดิมเป็นวัดร้าง ต่อมาเจ้าหลวงวงศ์ร่วมกับชาวบ้านได้บูรณะปฏิสังขรณ์จนแล้วเสร็จในปี พ.ศ. ๒๓๘๗ ชาวบ้านเรียกว่าวัดหลวง เนื่องจากเป็นวัดที่เจ้าหลวงวงศ์ซึ่งครองเมืองพะเยาเป็นผู้บูรณะปฏิสังขรณ์นั่นเอง ต่อมาได้มีประชาชนมาประกอบพิธีทางศาสนาและได้ชื่อว่าวัดหลวงราชสัณฐาน

วิหารเป็นสถาปัตยกรรมแบบพื้นเมืองล้านนาที่สวยงามแห่งหนึ่งมีอายุกว่าร้อยปี ด้านทิศตะวันออกที่เสาประตูทั้งสองข้าง มีรูปปั้นสิงห์เฝ้าประตูข้างละตัว เดินเหยียบย่างตรงขึ้นบันไดนาค ทางเข้าสู่ประตูวิหารมีสิงห์ปั้นด้วยปูนที่ข้างประตูอีกด้านละตัว ภายในวิหารเป็นโถงใหญ่ ภายในเป็นที่ตั้งพระประธานและพระพุทธรูปอีก ๔ องค์ ภาพจิตรกรรมฝาผนังที่อยู่ภายในเขียนด้วยสีฝุ่นผสมกาวยางไม้ เขียนลงบนกระดาษสา ผ้าแปะอยู่บนผนังไม้เป็นเรื่องมหาชาติชาดกและพุทธประวัติในปี ๒๕๒๗ เกิดพายุฝนทำให้วิหารพังทลายลงมาทั้งหมด ต่อมาเมื่อสร้างวิหารหลังใหม่บนฐานเดิมและคงรูปแบบสถาปัตยกรรมเดิมไว้ ทางวัดได้นำภาพจิตรกรรมของเดิมมาติดตั้ง ประกอบเข้ากับวิหารหลังใหม่ เป็นสิ่งที่นักท่องเที่ยวน่าแวะไปชมอย่างยิ่ง พระเจดีย์เป็นทรงพื้นเมืองล้านนา ประกอบด้วยฐานเขียงสี่เหลี่ยมสามชั้น ต่อด้วยบัวหงาย มีเรือนธาตุถัดขึ้นไป เป็นบัวคว่ำบัวหงาย ต่อด้วยฐานเขียงรูปทรงกลมสามชั้น ต่อด้วยมาลัยเถา รูปทรงกลม ถัดขึ้นเป็นคอระฆังกลม องค์ระฆังรูป ๘ เหลี่ยม ถัดขึ้นไปเป็นบัลลังก์ ๘ เหลี่ยม ปล้องไฉนเป็นปูนปั้นรูปกลีบบัว ๒ ชั้นและปลียอด เข้าชมวิหารติดต่อพระภิกษุ

เบอร์โทร ๐๕๔ ๔๘๒๒๒๔

This slideshow requires JavaScript.

ขอบคูณครับ