โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ทั่วไป

"ลิ้นมังกร" กล้วยไม้ป่าหายาก แนะหยุดความนิยมเลี้ยงกล้วยไม้ป่า เพราะส่งผลให้กล้วยไม้ในธรรมชาติลดลง

สวพ.FM91

อัพเดต 17 ก.ค. 2564 เวลา 20.32 น. • เผยแพร่ 17 ก.ค. 2564 เวลา 20.29 น.

กว่ากล้วยไม้จะออกดอก ใช้เวลาพักหัวใต้ดินนานแรมปี การเก็บมาปลูกนอกพื้นที่ป่า โอกาสรอดต่ำมาก หยุดความนิยมเลี้ยงกล้วยไม้ป่า เพราะส่งผลให้กล้วยไม้ในธรรมชาติลดลง
กลุ่มงานวิจัยพันธุศาสตร์ป่าไม้และพันธุ์พืชป่าหายาก กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช เปิดเผยว่า ทราบหรือไม่ว่าในช่วงฤดูฝน ฟ้าหลังฝน ป่าย่อมชุ่มชื้นเสมอ หยดน้ำฝนที่กระทบผิวดิน หล่อเลี้ยงหัวของกล้วยไม้ดินที่พักตัวมานานแรมปี ให้เจริญงอกงาม กล้วยไม้ดินชนิดหนึ่งออกดอกสีส้มสวยสะพรั่งอีกครั้งในช่วงฤดูฝน นั่นก็คือกล้วยไม้ดินที่เรียกกันว่า "ลิ้นมังกร" หรือ ปัดแดง/สังหิน 
"ลิ้นมังกร" หรือ ปัดแดง/สังหิน Habenaria rhodocheila Hance เป็นกล้วยไม้ดินขนาดเล็ก ลำต้นเป็นหัว รูปขอบขนาน ใบรูปแถบปลายแหลม ดอกขนาด 0.8 ซม. กลีบเลี้ยงบนรูปรีเป็นอุ้งคล้ายหมวก เมื่อบานเต็มที่ยอดม้วนไปทางด้านหลัง กลีบปากสีส้ม บ้างก็มีดอกสีเหลือง สีส้ม กลีบเป็น 3 แฉก แฉกข้างรูปทรงกลม แฉกกลางเว้าลึก ช่วงออกดอกไม่ทิ้งใบ 
ช่วงฤดูหนาวและฤดูร้อนจะพักตัวเหลือเพียงหัวใต้ดิน และฤดูฝนก็จะกลับมาเจริญงอกงามอีกครั้ง ระหว่างเดือนมิถุนายน-กรกฎาคม จะออกดอกสีส้มสวยงาม ประเทศไทยพบกระจายพันธุ์ที่ จังหวัดเชียงใหม่ พิษณุโลก เลย ชัยภูมิ และกาญจนบุรี พบในป่าเบญจพรรณ ป่าเต็งรัง ป่าดิบแล้งหรือป่าดิบเขา อาศัยตามซอกหินหรือโขดหินที่มีมอสปกคลุมและมีแสงแดดรำไร ในพื้นที่หลายระดับความสูง ในธรรมชาติมีประชากรค่อนข้างมาก พบเห็นได้บ่อยครั้ง แต่มีจำนวนลดลงอย่างรวดเร็ว จากการเก็บออกจากป่าเพื่อขายกับผู้นิยมเลี้ยงกล้วยไม้ ส่งผลให้กล้วยไม้ป่าในธรรมชาติลดจำนวนลง
กล้วยไม้ป่ามีความจำเพาะต่อระบบนิเวศเดิม การนำออกมาปลูกนอกถิ่นกำเนิดเป็นเหตุให้กล้วยไม้มีการรอดตายต่ำ และเพื่อไม่เป็นการรบกวนและทำลายระบบนิเวศเดิมที่ดีอยู่แล้ว อย่าเก็บหากล้วยไม้ออกจากป่ากัน เพื่อให้กล้วยไม้ป่าจะได้เจริญเติบโตและสืบต่อเผ่าพันธุ์ในสภาพธรรมชาติได้อย่างยั่งยืน
ที่มา : ประชาสัมพันธ์ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช , กลุ่มงานวิจัยพันธุศาสตร์ป่าไม้และพันธุ์พืชป่าหายาก

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0