โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

SMEs-การเกษตร

วว. แนะปลูก พรหมทิส ไม้ลูกผสมพันธุ์ใหม่ดันเป็นพืชเศรษฐกิจ ยุคนิวนอร์มอล

เส้นทางเศรษฐี

อัพเดต 17 ก.ค. 2564 เวลา 15.22 น. • เผยแพร่ 17 ก.ค. 2564 เวลา 05.34 น.
A4495130-3AB7-4EEB-9B73-07C91140BEDF

วว. แนะปลูก พรหมทิส ไม้ลูกผสมพันธุ์ใหม่ดันเป็นพืชเศรษฐกิจ ยุคนิวนอร์มอล

​กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) โดย สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) แนะปลูก พรหมทิส ‘Phrom Tistr’ พรรณไม้ลูกผสมสายพันธุ์ใหม่ พร้อมดันเป็นพืชเศรษฐกิจยุคนิวนอร์มอล

ด้วยจุดเด่นทางพฤกษศาสตร์ “ดอกสวย กลิ่นหอมสีสันโดดเด่น ออกดอกตลอดปี ทรงพุ่มเล็ก”เหมาะปลูกเลี้ยงเป็นไม้ดอกไม้ประดับกระถางสำหรับตกแต่ง สร้างอาชีพ สร้างรายได้ในครัวเรือนและเสริมสร้างสิ่งแวดล้อมให้สังคม

ศ. (วิจัย) ดร.ชุติมา เอี่ยมโชติชวลิต ผู้ว่าการ วว. กล่าวว่า วว. โดย ศูนย์เชี่ยวชาญนวัตกรรมเกษตรสร้างสรรค์ ประสบผลสำเร็จในการปรับปรุงและพัฒนาสายพันธุ์ “พรหมทิส  : Phrom Tistr”หรือ พรหม วว.๑๓เป็นพรรณไม้ลูกผสมสายพันธุ์ใหม่ ในวงศ์กระดังงาสกุลมหาพรหม

ซึ่งผ่านการรับรองการขึ้นทะเบียนพันธุ์จากกรมวิชาการเกษตรแล้ว มีเอกลักษณ์เฉพาะคือ ดอกสวย มีสีสันโดดเด่นกว่าลูกผสมชนิดอื่นๆ เกิดจากการผสมข้ามชนิดพันธุ์ในพืชสกุลมหาพรหม ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2560 และออกดอกครั้งแรกในปี พ.ศ. 2563 จากนั้นจึงทำการขยายพันธุ์โดยวิธีการต่อกิ่งลูกผสม  

ปัจจุบัน วว. ได้ถ่ายทอดองค์ความรู้วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม สำหรับการพัฒนาสายพันธุ์ไม้ดอกไม้ประดับชนิดต่างๆ อย่างต่อเนื่อง โดยคำนึงถึงประโยชน์ในการเสริมสร้างรายได้ให้กับผู้ประกอบการ เพื่อจะนำไปขยายพันธุ์ปลูกเลี้ยงและจำหน่ายสร้างรายได้ต่อไป

“พรหมทิส” จัดเป็นไม้ยืนต้นขนาดเล็ก ใบเดี่ยวเรียงสลับ ใบรูปหอก กว้าง3.00-4.00 เซนติเมตร ยาว5.00-7.00 เซนติเมตร ปลายใบแหลม ผิวใบเรียบเป็นมันทั้งสองด้าน สีเขียว แผ่นใบบาง เส้นใบเด่นชัด ขอบใบเป็นคลื่นเล็กน้อย ดอกเดี่ยวมีขนาดเท่ากับสายพันธุ์พ่อ แต่เล็กกว่าสายพันธุ์แม่ ลักษณะทรงดอกคว่ำ ดอกบานเต็มที่ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางดอก ประมาณ3.50-4.00 เซนติเมตร

กลีบเลี้ยงจำนวน 3 กลีบ กลีบดอกชั้นในสีแรกบานสีส้มอ่อน เมื่อบานเต็มที่จะเปลี่ยนเป็นสีส้มถึงแดง ดอกมีกลิ่นหอมอ่อนๆ ระยะเวลาบานของดอก 3 วัน การเรียงตัวของใบค่อนข้างโปร่ง ใบเรียวเล็ก ทำให้ทรงพุ่มโปร่ง มองเห็นดอกชัดเจน และออกดอกได้ตลอดทั้งปี เมื่อเจริญเติบโตเต็มที่ทรงพุ่มมีขนาดเล็ก สามารถพัฒนาปลูกเลี้ยงเป็นไม้กระถางได้ หรือไม้จัดตกแต่งสวนได้

​“…นอกจากความสวยงามและประโยชน์ในการปลูกเลี้ยงแล้ว วว.ยังได้มีการปรับปรุงและพัฒนาสายพันธุ์พรรณไม้วงศ์กระดังงาสกุลมหาพรหม ให้มีความหลากหลายในด้านสีสัน กลิ่นหอม และลักษณะของดอก รวมถึงทรงพุ่มที่มีความแปลกใหม่มากกว่า 12 สายพันธุ์ สร้างรายได้ให้กับเกษตรกรที่ได้รับถ่ายทอดสายพันธุ์ใหม่ๆ นำไปขยายพันธุ์เพื่อจำหน่ายในวงการไม้ดอกไม้ประดับ เช่น นักสะสมพรรณไม้ นักภูมิทัศน์ และผู้ที่สนใจปลูกเลี้ยงไม้ดอกหอมทั่วไป จากสถานการณ์แพร่ระบาดของโควิด-19 ในปัจจุบันและวิถีชีวิตนิวนอร์มอลที่เรากำลังเผชิญอยู่นั้น การปลูกต้นไม้เป็นแนวทางหนึ่งที่จะช่วยให้ผ่อนคลายจากความเครียด ช่วยเพิ่มสีเขียวให้กับสิ่งแวดล้อมโดยรวมนอกจากนั้น ยังนำมาสร้างเศรษฐกิจในครัวเรือนได้ วว. ขอร่วมเป็นกำลังใจให้กับทุกท่าน เพื่อให้ผ่านพ้นวิกฤตนี้ไปด้วยกันในเร็ววัน” ผู้ว่าการ วว. กล่าว

​พรรณไม้ดอกหอมโบราณแบบไทยๆ ในวงศ์กระดังงา บางสกุลได้รับความนิยมนำมาปลูกเลี้ยงเป็นไม้ประดับตามสวนหย่อม เนื่องจากดอกมีกลิ่นหอม เช่น นมแมว สายหยุด กระดังงาไทย กระดังงาสงขลา การเวก และลำดวน เป็นต้น

บางสกุลดอกมีสีสันสวยงาม และทรงพุ่มสวย อย่างเช่น สกุลมหาพรหม (Mitrephora) ได้แก่ มะป่วน กลาย พรหมขาว และมหาพรหมราชินี สกุลนี้พบในประเทศไทยโดยพบมากกว่า 8สายพันธุ์ นอกจากนี้ ยังมีบางชนิดสามารถนำมาปลูกเลี้ยงเพื่อให้ร่มเงา เนื่องจากทรงพุ่มมีขนาดใหญ่ เช่น ยางโอน ยางดง ยางเหลือง เหลืองจันทร์ คำฟู เหลืองไม้แก้ว ข้าวหลามดง ฯลฯ

ส่วนอีกกลุ่มเป็นไม้เลื้อย ได้แก่ กระดังงาจีน กล้วยหมูสัง สายหยุด กล้วยอ้ายพอน พีพ่วนน้อย และนมแมวซ้อน เป็นต้น เหล่านี้เหมาะต่อการนำมาปลูกเลี้ยงตามซุ้มโครงสร้าง เพื่อให้ร่มเงา เช่น ลานจอดรถ ศาลาในสวน และโครงไม้ระแนงตามมุมต่างๆ

ด้วยความสวยงามและคุณประโยชน์ต่างๆ ที่กล่าวมาข้างต้น พรรณไม้วงศ์กระดังงาจึงจัดได้ว่าเป็นพรรณไม้ที่คู่ควรต่อการนำมาปลูกเลี้ยงเป็นไม้ดอกไม้ประดับอีกวงศ์หนึ่ง ซึ่งมีความสวยงามในรูปแบบต่างๆ อีกทั้งหลายชนิดยังเป็นพรรณไม้ท้องถิ่น และอัตลักษณ์ความงามแบบไทย

A4495130-3AB7-4EEB-9B73-07C91140BEDF

​สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับการวิจัยและพัฒนา บริการ จาก ศูนย์เชี่ยวชาญนวัตกรรมเกษตรสร้างสรรค์ วว. ได้ที่ โทร. 0-2577-9000, 0-2577-9004, 0-2577-9007 โทรสาร0-2577-9009 E-mail : tistr@tistr.or.th

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0