10/07/2021
Environment

ก่อนคลื่นความร้อน (heat wave) ถึงจุดพีคและเป็นสาเหตุการตายของอันดับ 1 ของคนเมือง

สรวิชญ์ อังศุธาร
 


หลังสถานการณ์โควิด-19 ของ รัฐบริติชโคลัมเบีย ประเทศแคนาดา บรรเทาความรุนแรงได้ไม่นาน ทว่า เมื่อปลายเดือนมิถุนายน 2564 ที่ผ่านมา กลับมีเหตุที่ทำให้มีผู้เสียชีวิตอย่างรวดเร็วกว่า 700 ราย ในช่วงเวลากว่า 2 สัปดาห์ จากคลื่นความร้อน (heat wave) ที่ส่งผลให้อุณหภูมิของเมืองพุ่งทะลุกว่า 49.5 องศาเซลเซียส ทำลายสถิติเดิมเมื่อ 84 ปีก่อน ที่ 46.6 องศาเซลเซียสไปอย่างขาดลอย หน่วยงานป้องกันโรคติดต่อรัฐบริติชโคลัมเบีย รายงานว่า ตัวเลขการตายจากคลื่นความร้อนสูงกว่าการตายจากไวรัสโควิด-19 หลายเท่า

เมื่อคลื่นความร้อนเป็นผู้คร่าชีวิตเมืองถัดจากเชื้อไวรัสโคโรนา

ยอดผู้เสียชีวิตจากการติดเชื้อโควิด-19 ทั่วโลกได้ทะลุหลัก 4 ล้านคนไปแล้วเมื่อสัปดาห์แรกของเดือนกรกฎาคม 2564 แต่เหตุการณ์คลื่นความร้อนที่เกิดขึ้นอย่างฉับพลันเมื่อปลายเดือนมิถุนายน 2564 ที่เมืองบริติชโคลัมเบีย ประเทศแคนาดา ที่คร่าชีวิตผู้คนนับน้อยในช่วงเวลาเพียงไม่กี่วัน โดยเฉพาะคนสูงอายุและผู้อยู่อาศัยอย่างโดดเดี่ยวในบ้าน กระทั่งปรากฏเป็นข่าวไปทั่วโลก ทำให้สำนักข่าวท้องถิ่นและสำนักข่าวต่างประเทศ ยกให้คลื่นความร้อนเป็น “นักคร่าชีวิต” รายถัดไปต่อจากโควิด-19

คณะนักวิจัยนำทีมโดย Antonio Gasparrini จาก the London School of Hygiene & Tropical Medicine ประเทศอังกฤษ เปิดเผยว่า คลื่นความร้อนเป็นสาเหตุการตายที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นในหลายพื้นที่ โดยเฉพาะเมืองที่มีความชื้นสูงและกำลังพัฒนา อันเป็นต้นเหตุของการปล่อยมลภาวะที่ทำให้อุณหภูมิของเมืองสูงขึ้น และไทยคือประเทศที่เข้าข่ายสองปัจจัยดังกล่าว

ไทยเป็นประเทศร้อนชื้นและกำลังขยายตัวเป็นเมืองอย่างรวดเร็ว จึงเสี่ยงได้รับผลกระทบจากคลื่นความร้อนมากเป็นพิเศษ หลายคนอาจประเมินว่าคลื่นความร้อนไม่ใช่เรื่องใหญ่ แต่ในปี 2562 ปีเดียวกับที่เริ่มเกิดการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 คลื่นความร้อนได้โจมตีซีกโลกเหนือ ส่งผลให้เป็นปีที่ร้อนที่สุดเป็นอันดับสองเท่าที่มนุษยชาติเคยประสบ มีสถิติการตายที่มีสาเหตุจากความร้อนมากถึง 300,000 คนในปีดังกล่าว ยอดผู้เสียชีวิตจากความร้อนในบางประเทศทะลุกว่า 60% ของการตายทั้งหมด พร้อมระบุสาเหตุว่ามาจาก สภาวะโลกร้อน

บรรยากาศชายหาดเมืองแวนคูเวอร์ ประเทศแคนาดา ภาพโดย Reuters: Jennifer Gauthier

มนุษยชาติกับความพยายามจำกัดอุณหภูมิที่พุ่งสูง

ตั้งแต่ผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงของภูมิอากาศ หรือ สภาวะโลกร้อน ได้รับการอธิบาย คาดคะเน และเตือนภัยอ้างอิงตามหลักวิชาการมาหลายทศวรรษที่ผ่านมา พร้อมกับเกิดเหตุการณ์ที่พิสูจน์แล้วว่า “โลกร้อน” เป็นภัยคุกคามต่อมนุษยชาติ หลายประเทศจึงพยายามผลักดันและสร้างความร่วมมือ เพื่อควบคุมการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิบนผิวโลก ความร่วมมือที่เด่นชัดในระดับนานาชาติ คือ ความตกลงปารีส (Paris Agreeement)

เมื่อปี 2558 ซึ่งนายโลร็อง ฟาบีอุส ประธานที่ประชุมและรัฐมนตรีว่าการต่างประเทศของฝรั่งเศส กล่าวว่า ความตกลงปารีสเป็นแผนการอันทะเยอทะยานและสมดุล และเป็นจุดเปลี่ยนทางประวัติศาสตร์ในความพยายามลดภาวะโลกร้อน

เป้าหมายที่เด่นชัดของความตกลงปารีสคือการควบคุมอุณหภูมิเฉลี่ยของโลกไม่ให้เพิ่มขึ้นเกิน 2 องศาเซลเซียสจากระดับอุณหภูมิช่วงก่อนยุคอุตสาหกรรม และพยายามจำกัดการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิ 1.5 องศาเซลเซียสจากระดับอุณหภูมิช่วงก่อนยุคอุตสาหกรรม 

อย่างไรก็ตาม รายงานของคณะกรรมการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (IPCC) ระบุว่า แม้จะสามารถควบคุมอุณหภูมิให้อยู่ในเป้าหมายดังกล่าว แต่ภายในปี 2623 หรือ 2080 ผู้อาศัยในเมืองแอฟริกาใต้ ทะเลทรายสะฮารา เอเชียใต้ และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รวมกกว่า 1,000 ล้านคน จะประสบกับคลื่นความร้อนอย่างรุนแรงถึง 30 วันต่อปี

หรือใน 1 ปีผู้คนต้องทนทุกข์ทรมานจากอุณหภูมิที่สูงของโลกไปแล้ว 1 เดือน 

หากเชื่อมโยงสภาวะโลกร้อนกับโควิด-19 ภัยคุกคามของมนุษยชาติทั้ง 2 เหตุการณ์ โลกอย่างสภาวะโลกร้อนและวิกฤตโควิด-19 นอกจากมีจุดร่วมกันประการสำคัญของเป็นสาเหตุของตายของผู้คน หากภัยคุกคากทั้งสองยังเปิดให้เห็นช่องว่างของความเหลื่อมล้ำทางสังคมที่ชัดเจน เช่น ในระดับครัวเรือน มีความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงที่อยู่อาศัยที่ออกแบบมาให้ถูกหลักสุขอนามัย กระทั่งบรรเทาความทุกข์ทรมานจากความร้อน ในระดับเมือง มีความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงสาธารณูปโภคและสาธารณูปการที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิต ความเหลื่อมล้ำในการเดินทางด้วยระบบขนส่งมวลชนคุณภาพ

มิหน้ำซ้ำ ผู้เข้าถึงความสะดวกความสบายมากกว่ายังซ้ำเติมคนเปราะบางด้วยความสะดวกสบายนั่นเอง เช่น การเข้าถึงเครื่องปรับอากาศที่แลกมาด้วยการผลักความร้อนออกสู่สภาวะแวดล้อมภายนอก ดังนั้น การให้ความสำคัญกับการพัฒนาอย่างยั่งยืน ไม่เพียงช่วยปกป้องให้คนบางกลุ่มถูกทิ้งไว้ข้างหลังและส่งเสริมความเท่าเทียมเท่านั้น แต่ยังเป็นการแก้ไขปัญหาที่ต้นเหตุเพื่อลดปัญหาทั้งในมิติสังคม เศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อม ที่จะเกิดในอนาคตอีกด้วย

เป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนคือแนวทางการป้องกันปัญหาในระยะยาว

องค์การสหประชาชาติ (United Nations : UN) ประกาศเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals : SDGs) ตั้งใจให้บรรลุภายในปี 2030 ประกอบไปด้วย 17 เป้าหมายหลักภายใต้ร่มการพัฒนา 5 มิติ หรือ 5 P ประกอบด้วย 1) People พัฒนาคน 2) Planet คุ้มครองสิ่งแวดล้อม 3) Prosperity สร้างความมั่งคั่ง 4) Peace ส่งเสริมสังคมสงบสุข 5) Partnership เสริมสร้างความร่วมมือ

ประเทศในสมัชชาสหประชาชาติ เช่น ไทย ได้น้อมรับหลักการไปปฏิบัติปรับให้สอดคล้องกับการแก้ปัญหาในระดับท้องถิ่น โดยครอบคลุม 5 มิติ ได้แก่ มิติสังคม มิติเศรษฐกิจ มิติสิ่งแวดล้อม มิติสันติภาพและสถาบัน และ มิติหุ้นส่วนการพัฒนา

การพัฒนาเมือง ชุมชน โครงสร้างพื้นฐานเพื่อลดความลดความเหลื่อมล้ำในสังคมเกี่ยวข้องโดยตรงกับ SDGs อย่างน้อย 3 ข้อ ได้แก่ ข้อ 9 นวัตกรรมและโครงสร้างพื้นฐานที่ดี ข้อ 10 ลดความไม่เท่าเทียม และ ข้อ 11 เมืองและชุมชนที่ยั่งยืน ซึ่งอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน และพัฒนาอย่างองค์รวมร่วมกับอีก 14 ข้อ เพื่อให้เกิดเมืองที่พร้อมเป็นบ้านสำหรับทุกคน

บอสตันกับการพัฒนาเมืองอย่างสมดุลเพื่อลดโลกร้อน    

เมืองบอสตัน รัฐแมสซาชูเซตส์ สหรัฐอเมริกา เป็นตัวอย่างการปรับเปลี่ยนเมืองจากความร่วมมือของ ภาครัฐ เอกชน สถาบันการศึกษา และภาคประชาชน จนเกิดนโยบายในสเกลเล็กที่สามารถนำไปปฏิบัติได้จริง

Massachusetts Bay Transit Authority หน่วยงานด้านการขนส่งของเมืองบอสตัน พัฒนาสูตรการคำนวณเพื่อจัดลำดับความสำคัญของการลงทุนพัฒนา โดยคำนึงถึงภัยจากสภาวะโลกร้อนและสร้างความเท่าเทียมในระบบขนส่ง

ในอดีต การจัดการโครงสร้างพื้นฐานในเมืองมักถูกมองในมุมมองของวิศวกร โดยแนวทางแก้ไขปัญหามุ่งเน้นเพิ่มความแข็งแรงให้กับจุดที่อ่อนแอ เพื่อให้เมืองสามารถรับมือกับภัยพิบัติได้ดีขึ้น ในขณะที่ในมุมมองของนักสังคมศาสตร์ มองว่าการเตรียมพร้อมรับมือคือการส่งเสริมชุมชนเมืองที่เปราะบางที่สุด เพื่อให้ชุมชนได้รับการดูแลอย่างต่อเนื่อง

การคำนึงถึงภัยจากสภาวะโลกร้อน และการสร้างความเท่าเทียมในระบบขนส่ง จึงถือเป็นการสร้างความสมดุลทั้งในเชิงสถิติ และสังคม การเพิ่มสองตัวแปรนในการจัดสรรงบประมาณในการพัฒนาต่าง ๆ ถือเป็นก้าวกระโดดสำคัญ และเป็นตัวอย่างนำร่องสำหรับเมืองอื่น ๆ ในการหาปัญหา เพื่อวางแผนพัฒนาเมืองอย่างมีประสิทธิภาพ โดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง 

เมืองบอสตัน สหรัฐฯ ภาพโดย Gold photo created by frimufilms – www.freepik.com

อุณหภูมิของเมืองที่เพิ่มสูงขึ้นจนคร่าชีวิตผู้คนอย่างรวดเร็วในเมืองบริติชโคลัมเบียมิใช่เรื่องไกลตัว หากเป็นเรื่องที่คืบคลานประชิดชีวิตความเป็นอยู่ของมนุษยชาติ ไม่ต่างจากความท้าทายเฉพาะหน้าอย่างโควิด-19 ที่พรากชีวิตของผู้คนนับล้านอย่างไม่อาจหวนคืน และทำลายความเป็นอยู่ที่ดีของผู้คนทั่วโลกอย่างเสมอ ดังนั้น ก่อนที่คลื่นความร้อน (heat wave) จะถึงจุดพีคและกลายเป็นสาเหตุการตายของอันดับ 1 ของคนเมือง ความมุ่งมั่นในการเผชิญความท้าทายจากสภาวะโลกร้อนอย่างเป็นจริงเป็นจัง จึงเป็นวาระที่ประเทศไทยต้องกำหนดมาตรการและดำเนินการ ก่อนที่จะถึงจุดที่เรียกว่า ‘สายเกินจะเเก้ไข’ หรือ ‘Point of no return’ นั่นเอง

แหล่งข้อมูล

Hundreds died during B.C.’s heat dome. Who is responsible for deaths caused by extreme heat?

Climate Change Drove Western Heat Wave’s Extreme Records, Analysis Finds

ค.ศ. 2035 – Point of No Return เมื่อโลกเดินไปผิดทาง

Adapting Cities to Climate Change – City Case Studies

ข้อมูลเบื้องต้นเกี่ยวกับ SDGs

From shared learning to shared action in building resilience in the city of Bandar Lampung, Indonesia

Adapting Cities to Climate Change By Adriana Allen, Camillo Boano and Cassidy Johnson

How Climate-Proofing Mass Transit Can Make Cities More Equitable

After Covid-19, could next big killer be heatwaves? Draft UN report paints grim picture for world

THE 17 GOALS

The Paris Agreement

British Columbia (BC) COVID-19 Situation Report

โลกวิปริต! แคนาดาเจอคลื่นความร้อนอุณหภูมิทะลุ 49.5 องศา ตายกว่า 230 ศพในบริติชโคลัมเบีย


Contributor