ข่าว

รวมคำถาม-คำตอบ ‘วันสุนทรภู่’ 2566 ไขทุกข้อสงสัยกวีเอกของไทย 4 แผ่นดิน

วนกลับมาอีกครั้งสำหรับ ‘วันสุนทรภู่’ 26 มิถุนายน 2566 วันแห่งการยกย่องยอดกวีเอกของไทย ที่มีชีวิตอยู่ในสมัยรัชกาลที่ 1-4 ทว่ายังคงมีผลงานให้พูดถึงจวบจนปัจจุบัน วันนี้ไทยเกอร์เลยจะพาทุกคนไปอ่านเรื่องน่ารู้ของ สุนทรภู่ หรือ พระสุนทรโวหาร ผู้ประพันธ์วรรณกรรมต้นแบบการเรียนรู้ของเด็กไทยอย่าง พระอภัยมณี และ กาพย์พระไชยสุริยา ผ่านคำถามและคำตอบเกี่ยวกับเรื่องราวชีวิตและผลงานดังของสุนทรภู่ ฉะนั้นหากใครพร้อมแล้ว ไปอ่านด้วยกันได้เลย

รวมประวัติและผลงาน ‘สุนทรภู่’ ผ่านคำถาม-คำตอบ

เนื่องในโอกาส ‘วันสุนทรภู่’ 26 มิถุนายน 2566 ไทยเกอร์ได้รวบรวมคำถาม-คำตอบน่ารู้ เกี่ยวกับสุนทรภู่มาให้ทุกคนได้ลองอ่านกัน ดังต่อไปนี้

คำถาม : สมัยรัชกาลใด นับได้ว่าเป็นช่วงชีวิตที่ตกต่ำที่สุด ในชีวิตของสุนทรภู่

คำตอบ : สุนทรภู่เป็นกวีที่มีชีวิตอยู่ตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 1 – 4 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ โดยท่านได้เกิดในสมัยรัชกาลที่ 1 จากแม่นมของพระธิดาในพระราชวัง ก่อนจะต้องโทษจำคุกเพราะลักลอบมีความรักกับหญิงชาววังนามว่า ‘แม่จัน’ หลังจากนั้นจึงเริ่มรับราชการในสมัยรัชกาลที่ 2 ในฐานะ ‘ขุนสุนทรโวหาร’ และเริ่มแต่นิทานกลอน ก่อนจะตกอับในรัชกาลที่่ 3 จนเรียกได้ว่าเป็นช่วงชีวิตที่ตกต่ำที่สุดในชีวิตของสุนทรภู่ และกลับมาได้ดีอีกครั้งในรัชกาลที่ 4 ในตำแหน่ง ‘พระสุนทรโวหาร’ ก่อนสิ้นใจในปีพ.ศ. 2398

คำถาม : ผลงานของสุนทรภู่เรื่องใด ใช้เป็นแบบเรียนตัวสะกด

คำตอบ : หลายคนอาจจะไม่เคยทราบว่า ตลอดชีวิต 69 ปีของสุนทรภู่ ผลงานชื่อดังของสุนทรภู่ไม่ได้มีเพียงแต่เรื่องพระอภัยมณีเท่านั้น เพราะสุนทรภู่ในฐานะกวีเอกของไทยได้สร้างงานวรรณกรรมไว้หลายเรื่อง โดยหนึ่งในนั้นคือ ‘กาพย์พระไชยสุริยา’ วรรณคดีไทยน้ำดี ที่ถูกนำมาใช้เป็นแบบเรียนสอนอ่านตัวสะกดในวิชาภาษาไทย

คำถาม : ในช่วงวัยเด็กสุนทรภู่เข้าเรียนหนังสือที่สำนักวัดใด

คำตอบ : ในสมัยเด็กเล่าลือกันว่า สุนทรภู่ได้เข้าเรียนที่สำนักวัดชีปะขาว โดยปรากฏตามเนื้อความส่วนหนึ่งใน นิราศสุพรรณ ซึ่งต่อมาสำนักวัดชีปะขาวแห่งนี้ ได้รับพระราชทานนามในรัชกาลที่ 4 ว่า วัดศรีสุดารามวรวิหาร ซึ่งตั้งอยู่ริมคลองบางกอกน้อยฝั่งตะวันตกในปัจจุบันนั่นเอง

วันสุนทรภู่ 26 มิถุนายน 2566
รูปปั้น ณ วัดศรีสุดาราม

คำถาม : มารดาของสุนทรภู่เป็นคนจังหวัดอะไร

คำตอบ : ปัจจุบันยังไม่มีหลักฐานแน่ชัดว่ามารดาของสุนทรภู่เป็นคนจังหวัดอะไร โดยมีเพียงบันทึกที่ระบุว่า บิดาของสุนทรภู่เป็นชาวบ้านกร่ำ อำเภอแกลง จังหวัดระยอง ส่วนมารดาเป็นชาวเมืองอื่น ในขณะที่สุนทรภู่เป็นชาวจังหวัดกรุงเทพมหานคร ซึ่งท่านเกิดหลังสร้างเมืองได้ 4 ปี ทว่าสุนทรภู่มีความผูกผันกับระยองที่เป็นบ้านเกิดของบิดามาก ทำให้ผู้คนจำผิดว่าท่านเป็นคนระยองเช่นเดียวกับบิดา

คำถาม : สุนทรภู่เกิด ณ บริเวณด้านเหนือของพระราชวังหลัง ซึ่งในปัจจุบันคือสถานที่ใด

คำตอบ : สุนทรภู่ได้ถือกำเนิดในสมัยรัชกาลที่ 1 บริเวณทางเหนือของพระราชวัง ซึ่งเมื่อเวลาผ่านไป สถานที่เกิดของสุนทรภู่ก็ได้กลายมาเป็นสถานีรถไฟบางกอกน้อยในปัจจุบันนั่นเอง

คำถาม : ผลงานชิ้นเอกของสุนทรภู่ ได้รับยกย่องจากวรรณคดีสโมสรให้เป็นสุดยอดวรรณคดีไทยคือเรื่องอะไร

คำตอบ : แม้จะเป็นยอดกวีที่มีผลงานดังมากมาย แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่า ผลงานชิ้นเอกของสุนทรภู่ ก็คือ พระอภัยมณี โดยผลงานเรื่องนี้ทำให้สุนทรภู่ได้รับการยกย่องจากวรรณคดีสโมสร ให้ถือว่าเป็นสุดยอดวรรณคดีไทยประเภทกลอนนิทาน

คำถาม : สุนทรภู่ได้รับการยกย่องจากองค์กรใดให้เป็นบุคคลสำคัญของโลกด้านวรรณกรรม

คำตอบ : สุนทรภู่ได้รับการยกย่องให้เป็นบุคคลสำคัญของโลกด้านวรรณกรรม โดยองค์การเพื่อการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ หรือยูเนสโก (UNESCO)

คำถาม : องค์การยูเนสโกยกย่องให้สุนทรภู่เป็นบุคคลสำคัญของโลกในด้านใด เมื่อปีใด

คำตอบ : ยูเนสโก (UNESCO) ได้ยกย่องให้สุนทรภู่เป็นบุคคลสำคัญของโลกด้านวรรณกรรม เมื่อวันที่ 26 มิถุนายน ปี 2529 เนื่องในวาระครบรอบ 200 ปีเกิดของสุนทรภู่ ส่วนเรื่องพระอภัยมณีก็ได้แปลออกไปหลายภาษานับตั้งแต่นั้นมา

คำถาม : สุนทรภู่มีชีวิตรุ่งเรืองที่สุดในรัชกาลใด เพราะเหตุใด

คำตอบ : ตลอดชีวิตใน 4 รัชกาล สุนทรภู่มีช่วงเวลาที่รุ่งเรืองที่สุดในสมัยรัชกาลที่ 2 เนื่องจากท่านเริ่มเข้ารับราชการ ทั้งยังมียศฐาบรรดาศักดิ์ ได้เป็นถึง ‘ขุนสุนทรโวหาร’ ซึ่งว่ากันว่าก่อนสิ้นสุดยุครุ่งเรือง ท่านได้เลื่อนยศขึ้นเป็น ‘หลวงสุนทรโวหาร’ อีกด้วย

คำถาม : อนุสาวรีย์สุนทรภู่อยู่จังหวัดใด

คำตอบ : ในปัจจุบันอนุสาวรีย์สุนทรภู่ ตั้งอยู่ใกล้กับเส้นทางแกลง-แหลมแม่พิมพ์ ที่ตำบลกร่ำ อำเภอแกลง จังหวัดระยอง โดยที่นี่เป็นบ้านเกิดของบิดาสุนทรภู่ และเป็นสถานที่ที่สุนทรภู่ใช้แต่ง ‘นิราศเมืองแกลง’ โดยอนุเสาวรีย์สุนทรภู่แห่งนี้ได้ถูกสร้างขึ้น เพื่อเป็นอนุสรณ์แด่มหากวีแห่งกรุงรัตนโกสินทร์ หรือหลวงสุนทรโวหารนั่นเอง

วันสุนทรภู่ 26 มิถุนายน 2566
ภาพจาก ธานินทร์ เสนีย์วงษ์ฯ

คำถาม : บรรดาศักดิ์สุดท้ายที่สุนทรภู่ได้รับก่อนถึงแก่กรรมคืออะไร

คำตอบ : ในสมัยรัชกาลที่ 4 สุนทรภู่ได้เลื่อนตำแหน่งขึ้นเป็น พระสุนทรโวหาร เจ้ากรมอาลักษณ์ฝ่ายพระราชวังบวร ซึ่งเป็นบรรดาศักดิ์สุดท้ายของสุนทรภู่ก่อนที่ท่านจะเสียชีวิตในปี 2398 ด้วยวัย 69 ปี

คำถาม : สุนทรภู่มีนามเดิมว่าอะไร

คำตอบ : หลายคนอาจจะยังไม่เคยรู้ว่า สุนทรภู่ไม่ใช่ชื่อจริงของยอดกวีเอกไทย โดยสุนทรภู่มีนามเดิมว่า ‘ภู่’ แต่เป็นที่รู้จักกันในนามว่า สุนทรภู่ ซึ่งมาจากชื่อยศฐาบรรดาศักดิ์ที่ท่านได้รับในภายหลัง ได้แก่ ขุนสุนทรโวหาร หลวงสุนทรโวหาร และพระสุนทรโวหาร นั่นเอง

คำถาม : นิราศที่สุนทรภู่แต่งด้วยฉันทลักษณ์ประเภทกาพย์คือเรื่องอะไร

คำตอบ : สุนทรภู่เคยแต่งนิราศที่ใช้ฉันทลักษณ์ประเภทกาพย์ไว้ 2 เรื่อง ได้แก่ พระไชยสุริยา และ บทเห่กล่อมพระบรรทม โดยในเรื่องพระไชยสุริยาท่านได้ใช้กาพย์ยานี กาพย์ฉบัง และกาพย์สุรางคนางค์ ส่วนเรื่องบทเห่กล่อมพระบรรทม ท่านใช้เพียงกาพย์ยานีในการแต่งเท่านั้น

คำถาม : ถึงโรงเหล้าเตากลั่นควันโขมง มีคันโพงผูกสายไว้ปลายเสา คำประพันธ์นี้มาจากวรรณคดีเรื่องใด

คำตอบ : นิราศภูเขาทอง ซึ่งเป็นนิราศที่สุนทรภู่ประพันธ์ขณะกำลังบวชเป็นพระภิกษุ ในระหว่างที่ไปนมัสการพระเจดีย์ภูเขาทอง ณ กรุงเก่า หรืออยุธยาในปัจจุบัน เพื่อแสดงถึงความอาลัยต่อพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย

คำถาม : สุนทรภู่แต่งเรื่องขุนช้างขุนแผนเพียงตอนเดียวคือตอนใด

คำตอบ : สุนทรภู่ได้แต่งเสภาเรื่องขุนช้างขุนแผนเพียงตอนเดียว คือตอน กำเนิดพลายงาม ซึ่งแต่งหลังออกจากคุกในสมัยรัชกาลที่ 2 มีความยาว 1 เล่มสมุดไทย โดยแต่งตามพระบรมราชโองการในพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยที่สุนทรภู่เคารพรัก

คำถาม : ผลงานชิ้นสุดท้ายที่ภิกษุภู่แต่งไว้ก่อนลาสิกขาบทคือเรื่องใด

คำตอบ : อย่างที่ทราบกันว่าเมื่อปี 2367 สุนทรภู่ได้ออกบวชหลังพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยเสด็จสวรรคต โดยในระหว่างนั้นท่านก็ได้แต่งงานเขียนขึ้นเรื่อย ๆ ซึ่งงานเขียนชิ้นสุดท้ายที่ภิกษุภู่แต่งไว้ก่อนลาสิกขาบทคือ รำพันพิลาป

คำถาม : เหตุใดจึงกำหนดให้วันที่ 26 มิถุนายน เป็นวันสุนทรภู่

คำตอบ : สาเหตุที่ยกให้วันที่ 26 มิถุนายน ของทุกปีเป็นวันสุนทรภู่ เนื่องจากสุนทรภู่เกิดในวันที่ 26 มิถุนายน พ.ศ. 2329 นั่นเอง

คำถาม : นิราศที่เป็นผลงานของสุนทรภู่มีกี่เรื่อง

คำตอบ : นิราศที่เป็นผลงานสุนทรภู่มีทั้งหมด 9 เรื่อง ได้แก่ นิราศเมืองแกลง นิราศพระบาท นิราศภูเขาทอง นิราศเมืองเพชร นิราศวัดเจ้าฟ้า นิราศอิเหนา นิราศสุพรรณ รำพันพิลาป และนิราศพระประธม

วันสุนทรภู่ 26 มิถุนายน 2566
ภาพจาก Rainer Forsander

ทั้งหมดนี้คือเรื่องราวประวัติชีวิตและผลงานดังของสุนทรภู่ที่หลายคนควรรู้ บอกเลยว่ายอดกวีเอกของไทย ไม่ได้แต่งไว้แค่เรื่องพระอภัยมณีอย่างที่ใครเข้าใจ แต่ท่านยังมีเรื่องราวชีวิตและผลงานอื่น ๆ ที่น่าสนใจอีกหลายอย่าง ฉะนั้นในวันสุนทรภู่ 26 มิ.ย. ปีนี้ อย่าลืมระลึกถึงท่าน สุดยอดนักประพันธ์ผู้เป็นต้นแบบการเรียนการสอนของเด็กไทยกันด้วยนะ.

Eye Chanoknun

นักเขียนประจำ Thaiger จบจากคณะการสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มีประสบการณ์เขียนงานผ่านเว็บไซต์ด้านความงามและแฟชั่นชื่อดังของไทยมากกว่า 3 ปี ปัจจุบันชื่นชอบการเขียนข่าวบันเทิง ภาพยนตร์ ซีรีส์ k-pop และไลฟ์สไตล์ เพื่อนำมาบอกเล่าผ่านตัวอักษร ด้วยมุมมองใหม่ ๆ ที่น่าสนใจ ชวนให้ติดตาม ช่องทางติดต่อ eye@thethaiger.com

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ใส่ความเห็น

Back to top button