Line Newsไลฟ์สไตล์

ชวนรู้จัก ‘งูทางมะพร้าว’ งูลวดลายสุดแปลก สัตว์ร้ายทว่าไร้พิษสง

ทำความรู้จัก ‘งูทางมะพร้าว’ (Copperhead Rat Snake) สัตว์ร้ายแต่ทว่าไร้พิษสง งูสายพันธุ์ลวดลายสุดแปลกจนกลายเป็นประเด็นฮือฮางูลายหมีแพนด้า

นาทีนี้คงไม่มีใครไม่รู้จัก งูลายหมีแพนด้า สัตว์ป่าลวดลายน่าสงสัยที่ทำเอาชาวโซเซียลแตกตื่นกันยกใหญ่ จากกรณีที่ชายหนุ่มรายหนึ่งโพสต์ข้อความถามเพื่อน ๆ บนโลกอินเทอร์เน็ตถึงสัตว์สุดแปลกที่แม้จะเป็นงูแต่กลับมีลักษณะเด่นเป็นลายหมีแพนด้า หนำซ้ำยังแผ่แม่เบี้ยเสียจนน่ากลัว ซึ่งก็ต้องขอบคุณทางเพจเฟซบุ๊ก งูพิษชิดใกล้ Thailand Snakes : Close Encounters ที่ช่วยแถลงไขว่าแท้จริงคือ “งูทางมะพร้าว”

แม้จะคลายข้อข้องใจที่ได้รู้ว่าเจ้างูลวดลายแปลกประหลาดนี้คือสายพันธุ์อะไร แต่เจ้างูชนิดนี้ก็ยังไม่เรื่องราวอีกมากมายที่หลายคนยังไม่รู้ ทาง Thaiger จึงอยากเชิญชวนผู้อ่านทุกท่านมาทำความรู้จัก งูทางมะพร้าว ไปด้วยกัน ทั้งชนิดของงูทางมะพร้าว พิษสงของงู ลักษณะทั่วไป รวมถึงเรียนรู้พฤติกรรมของงูชนิดสายพันธุ์นี้

ชวนรู้จัก 'งูทางมะพร้าว' งูลวดลายสุดแปลก สัตว์ร้ายทว่าไร้พิษสง

‘งูทางมะพร้าว’ เจ้าของกระแสโซเซียล แท้จริงแล้วสัตว์ชนิดนี้เป็นอย่างไร?

งูทางมะพร้าว หรือ Copperhead Rat Snake มีชื่อทางวิทยาศาสตร์ : Coelognathus radiatus ผู้คนที่รู้จักงูสายพันธุ์ต่างขนานนามว่า พี่ห้าว เหตุที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะมักจะพุ่งเข้าใส่ศัตรูและทำทีจะต่อกรกับสัตว์ชนิดอื่น ๆ แม้จะเป็นสัตว์ที่ดูกระหายการต่อสู้ แต่งูทางมะพร้าวไม่มีพิษ

ปัจจุบัน ‘งูทางมะพร้าว’ เป็นสัตว์ป่าคุ้มครอง ตามพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า ปีพุทธศักราช 2535 ในขณะเดียวกันก็เป็นงูที่สามารถพบเจอได้ทั่วไปในเขตพื้นที่ประเทศไทย, ประเทศลาว, ประเทศพม่า, ประเทศกัมพูชา, ประเทศเวียดนาม, ประเทศจีน, ประเทศอินเดีย, ประเทศเนปาล, ประเทศศรีลังกา, ประเทศบังคลาเทศ, ประเทศภูฏาน รวมถึงในบางพื้นที่ของประเทศญี่ปุ่น

งูทางมะพร้าวในประเทศไทย

ในประเทศไทยสามารถพบงูทางมะพร้าวทั้งหมด 3 สายพันธุ์ ได้แก่ งูทางมะพร้าวทั่วไป, งูทางมะพร้าวแดง และงูทางมะพร้าวลายขีด ซึ่งแต่ละสายพันธุ์ก็มีความแตกต่างกันที่ลักษณะลวดลาย

1. งูทางมะพร้าวทั่วไป

งูไม่มีพิษที่มีขนาดกลาง ๆ มีความยาวประมาณ 180 – 230 เซนติเมตร เป็นงูบกที่ลำตัวมีสีน้ำตาลอมเหลืองหรือสีน้ำตาลอมเทา มีลวดลายสวยงามเป็นทางยาวสีดำ 4 เส้นพาดจากส่วนคอ และจะค่อย ๆ จางลงเรื่อย ๆ ไปทางกึ่งกลางลำตัว ส่วนหัวของงูจะมีสีน้ำตาลแดง ซึ่งก็ยังคงลวดลายไว้เช่นเคย โดยจะมีเส้นสีดำ 3 เส้นพาดผ่านเป็นรัศมีออกจากด้านข้างมุมตาลากยาวไปด้านหลัง

2. งูทางมะพร้าวแดง

งูชนิดนี้มีชื่อเรียกภาษาอังกฤษว่า Oreocryptophis porphyraceus coxi ซึ่งเป็นหนึ่งในงูจาก Family Colubridae ลักษณะโดยทั่วไปจะมีลำตัวเรียวยาว มีขนาดหัวไม่ต่างกับลำตัวมากนัก และอาจยาวได้มากถึง 120 เซนติเมตร ลำตัวมีสีแดงโดดเด่นในช่วงอายุวัยรุ่น บริเวณกลางหัวมีขีดสีดำตรง และมีขีดสีดำ 2 ขีด ลากขนานจากด้านหลังตายาวผ่านลำตัวด้านบนไปจนถึงปลาย ทั้งนี้ สำหรับตัวเต็มวัยจะมีสีลำตัวอาจเข้มขึ้นเป็นสีแดงอิฐได้ และที่สำคัญเป็นงูไม่มีพิษ

3. งูทางมะพร้าวลายขีด

มีชื่อภาษาอังกฤษว่า Copper-headed Racer งูชนิดนี้เป็นงูบกที่มีลำตัวยาวเรียว มีความว่องไวปราดเปรียว สีพื้นลำตัวจากคอถึงกลางตัวเป็นสีเหลือง มีลายดำเลือน ๆ เป็นปล้องและมีลายดำเป็นเส้นยาวไปตามลำตัว ส่วนท่อนหางจากกลางลำตัวไปเป็นสีส้มหรือน้ำตาลแดงไม่มีลาย และส่วนท้องมีสีเหลือง ความยาวจากหัวถึงปลายหางประมาณ 200 เซนติเมตร

ชวนรู้จัก 'งูทางมะพร้าว' งูลวดลายสุดแปลก สัตว์ร้ายทว่าไร้พิษสง

พฤติกรรมการเอาตัวรอด

งูทางมะพร้าวมักอาศัยอยู่ตามป่าหญ้ารกและบนต้นไม้ ในบางคราอาจพบได้ตามยุ้งข้าว หรือตามบ้านเรือน รวมถึงแหล่งที่อยู่อาศัยของคน งูชนิดนี้เป็นสัตว์ที่ออกหากินในเวลากลางวัน ซึ่งแหล่งอาหารที่สำคัญของงูทางมะพร้าวคือ สัตว์จำพวกหนู, กบ, นก, กระรอก, กระแต, กิ้งก่า, จิ้งจก และตุ๊กแก งูชนิดนี้นับว่าเป็นนักล่าหนูที่ดี เพราะสามารถกินหนูคราวละหลาย ๆ ตัว เนื่องจากระบบย่อยอาหารทำงานได้เร็ว นับเป็นสุดยอดนักล่าหนูที่บรรดาชาวไร่ชาวนามักใช้เป็นเครื่องมือในการควบคุมประชากรหนูในพื้นที่การเกษตร

โดยทั่วไปนับว่าเป็นงูที่ไม่ได้มีพฤติกรรมดุร้าย แต่หากเมื่อใดที่ตกใจ หรือสัมผัสได้ว่ามีสัตว์ชนิดอื่นเข้าใกล้ งูทางมะพร้าวก็พร้อมจะสู้กลับทันที อย่างไรก็ดี ส่วนใหญ่แล้วหากงูทางมะพร้าวเจอศัตรูก็มักจะเลื้อยหนีอย่างรวดเร็ว แต่เมื่อใดที่หนีไม่พ้นก็จะตั้งท่าขู่ โดยจะพองตัวและอ้าปาก แผ่แบนคอในแนวตามยาวของลำตัว และพับตัวเข้าหากันหลายชั้น จากนั้นก็จะฉกกัด แต่จะไม่ค่อยโดน

ในบางครั้งที่ไร้หนทางสู้ก็จะแกล้งตาย โดยการอ้าปากนอนหงายท้องและถ่ายอุจจาระออกมา ซึ่งเป็นวิธีเอาตัวรอดที่จะทำให้นักล่าหรือสิ่งที่มารบกวนเลิกสนใจ

ชวนรู้จัก 'งูทางมะพร้าว' งูลวดลายสุดแปลก สัตว์ร้ายทว่าไร้พิษสง

การสืบพันธุ์

ช่วงเวลาการผสมพันธุ์จะอยู่ในช่วงเดือนมิถุนายนถึงเดือนมกราคมของอีกปี หรือตลอดทั้งปี ลักษณะการขยายเผ่าพันธุ์ คือ ออกลูกเป็นไข่ครั้งละ 5 – 12 ฟอง ในระหว่างเดือนธันวาคมถึงเดือนกรกฎาคม จากนั้นจะฟักเป็นตัวในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ถึงเดือนกันยายน โดยลูกงูแรกเกิดจะมีน้ำหนักอยู่ที่ 11.0 – 12.4 กรัม และมีความยาวประมาณ 44 – 46 เซนติเมตร

แม้ว่าจะขึ้นชื่อว่าเป็น ‘งู’ แต่สำหรับงูทางมะพร้าวแล้วนั้น กลับไม่ใช่สัตว์ป่าอันตรายแต่อย่างใด อีกทั้งยังไม่มุ่งทำร้ายสัตว์สายชนิดอื่น ๆ อีกด้วย ทั้งนี้ หากผู้อ่านท่านใดพบเห็นงูทางมะพร้าวรบกวนไม่กำจัดหรือทุบตีสัตว์ป่าคุ้มครองชนิดนี้ เพื่อร่วมกันอนุรักษ์สัตว์ป่าสายพันธุ์นี้ให้ยังคงดำรงเผ่าพันธุ์สืบไป

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

Danita S.

นักเขียนบทความไลฟ์สไตล์ บันเทิง ประจำ Thaiger ติดตามทุกกระแส K-Pop และเท่าทันทุกเรื่องราวความบันเทิง ด้วยประสบการณ์มากกว่า 3 ปี จบการศึกษาจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ คณะศิลปศาสตร์ ช่องทางติดต่อ bell@thethaiger.com

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ใส่ความเห็น

Back to top button