ชวนมาสัมผัสวัฒนธรรมของชาว “ไทลื้อ”

          การอาศัยอยู่ใน อำเภอเชียงคำ จังหวัดพะเยา ถิ่นบ้านเกิดของตัวเอง ที่เต็มไปด้วยกลิ่นอารยธรรมของชาวไทลื้อและวิถีประเพณีแบบโบราณ ทำให้ฉันอยากจะชวนให้ทุกคนได้มาลองสัมผัสกับวัฒนธรรมดั้งเดิมนี้ เพื่อระลึกถึงห้วงแห่งความเป็นอยู่จากอดีตจนถึงปัจจุบันที่ยังคงมีอยู่ให้เห็น…

          วัฒนธรรมของชาวไทลื้อ ยังคงเป็นอีกหนึ่งวัฒนธรรม ที่มีการสืบสานและรักษาขนบธรรมเนียมวัฒนธรรมดั้งเดิม ให้ดำรงอยู่รอดมาจนถึงปัจจุบัน เป็นเพราะบรรพชนชาวไทลื้อ คอยพร่ำสอนให้ลูกหลานรู้จักอนุรักษ์วัฒนธรรม และให้ความสำคัญชาติพันธุ์ของตนเอง ทำให้ความเป็นไทลื้อจึงยังไม่หายสาบสูญไปจากสังคมของผู้คนท้องถิ่นใน อำเภอเชียงคำ จังหวัดพะเยา

4

          ชาวไทลื้อในอำเภอเชียงคำมีวิถีชีวิตความเป็นอยู่ที่เรียบง่าย แถมยังมีความอ่อนน้อมถ่อมตนเป็นเอกลักษณ์ สำหรับประเพณี พิธีกรรม การแต่งกายและภาษาพูดของชาวไทลื้อดูจะผสมกลมกลืนเป็นหนึ่งเดียวจนเป็นแบบอย่างของการหลอมรวมวัฒนธรรม ซึ่งยากแก่กลุ่มชนอื่นจะลอกเลียนแบบได้

          ในเรื่องของอาหารการกินของชาวไทลื้อ มีการกินอยู่อย่างง่ายๆ ไม่พิถีพิถัน ซึ่งส่วนมากจะเป็นอาหารที่หาได้จากธรรมชาติ หรือตามฤดูกาล เช่น หน่อไม้ ผักต่างๆ รับประทานข้าวเหนียวเป็นหลัก แต่ละมื้อมักมีอาหารเพียงอย่างเดียว อาจเป็นน้ำพริกกับผักนึ่ง แกงขนุนอ่อนหรือแกงผักต่างๆ เช่น แกงผักเส้ว (ผักเสี้ยว) แกงผักหละ (ชะอม) โขลกกับพริก ตะไคร้ หอมกระเทียม เป็นน้ำพริกแกงใส่ปลาร้า หรือน้ำปลา ส่วนอาหารประเภทหน่อไม้ จะใส่น้ำปูประกอบอาหาร เช่น ยำหน่อไม้ แกงหน่อไม้

          และอาหารที่เป็นที่นิยมของชาวไทลื้อ และยังเป็นอาหารที่ฉันชื่นชอบ นั่นคือ “ข้าวแรมฟืน” หากใครได้มาเชียงคำแล้ว ไม่ได้ลิ้มลองข้าวแรมฟืนที่นี่ ถือว่ายังมาไม่ถึงเชียงคำ ร้านที่เลืองชื่อเรื่อง ข้าวแรมฟืน ที่แนะนำ คือ ร้านป้าจิ่ง ร้านจะอยู่ในซอยเล็กๆ ใกล้ๆ กับโรงเรียนเชียงคำวิทยาคม เป็นร้านที่ฉันไปทานประจำเมื่อมีโอกาส บอกได้คำเดียวว่า “ลำแต้ๆ เจ้า” (อร่อยจริงๆ )

ผลการค้นหารูปภาพสำหรับ ข้าวแรมฟืน

          สำหรับวิธีการกินข้าวแรมฟืนตามสูตรต้นตำรับนั้น คือ นำแป้งที่ได้มาหั่นเป็นชิ้นพอคำ คลุกเคล้ากับเครื่องปรุง ได้แก่ น้ำถั่วเน่า น้ำขิง พริกขี้หนูคั่วป่นผัดน้ำมัน งาขาวคั่วป่น เกลือป่น น้ำตาล ซีอิ้วดำ ถั่วลิสงคั่วป่น กระเทียมเจียว น้ำมะเขือเทศ น้ำซู่/น้ำสู่ (ได้จากน้ำตาลอ้อย น้ำตาลทรายขาว แอปเปิ้ลไซเดอร์ น้ำสะอาด เคี่ยวรวมกัน) แล้วก็ใส่กะหล่ำปลีซอย ถั่วงอก ถั่วแขก จากนั้นก็คลุกเคล้าทุกอย่างให้เข้ากัน

          และขนมของชาวไทลื้อที่นิยมทำกันในงานบุญขึ้นบ้านใหม่ งานบวช งานฉลองต่างๆ คือ “ขนมปาด” มีลักษณะคล้ายกับขนมเปียกปูน แต่สีน้ำตาล รสหวานมัน มีกลิ่นหอม ขนมปาดทำจากแป้งข้าวเหนียวนำมากวนกับน้ำตาลผสมน้ำอ้อย และกะทิ

          อีกหนึ่งอาหารทานเล่นที่ฉันแนะนำ คือ “ข้าวแคบ” มีลักษณะคล้ายข้าวเกรียบ มีรสเค็มๆ มันๆ ทำมาจากข้าวเหนียวและงาดำ ทำเป็นแผ่นตากให้แห้ง เมื่อจะรับประทานก็นำมาย่างไฟอ่อนๆ หรือทอดกรอบๆเหมือนข้าวเกรียบก็ได้ เป็นอาหารที่ทานได้เพลินๆ หากใครไม่หวั่นเรื่องแคลอรี่

ทั้งขนมปาดและข้าวแคบเป็นขนมพื้นเมืองของชาวไทลื้อ ซึ่งตามธรรมเนียมของชาวไทลื้อ เวลามีแขกมาเยี่ยมเยือน มีงานบุญ ขึ้นบ้านใหม่ งานบวช งานฉลองต่างๆ ก็จะนำขนมปาดและข้าวแคบที่นิยมทานคู่กันออกมาต้อนรับแขกบ้านแขกเรือน

{{พะเยา}}เยือนถิ่นไทลื้อ 12 ปัน ที่เชียงคำ : ท่องเที่ยวโดยชุมชน บ.ธาตุสบแวน ต.หย่วน อ.เชียงคำ จ.พะเยา {{วิดิทัศน์}} http://bit.ly/2cuOz0v

          การแต่งกายของชาวไทลื้อนั้น ได้ให้มีการแต่งกายไทลื้อในช่วงวันสำคัญทางศาสนา ผู้ชายไทลื้อส่วนใหญ่จะนิยมสวมเสื้อขาวแขนยาว สวมทับด้วยเสื้อกั๊กปักลวดลายด้วยเลื่อม สวมกางเกงม่อฮ่อมขายาว โพกหัวด้วยผ้าสีขาวหรือชมพู ส่วนหญิงไทลื้อนิยมสวมเสื้อปั๊ด (เป็นเสื้อที่ไม่มีกระดุม แต่จะสะพายเฉียงมาผูกไว้ที่เอวด้านข้าง) นุ่งซิ่นลื้อ สะพายกระเป๋าย่าม และนิยมโพกศีรษะด้วยผ้าขาวหรือชมพูเช่นกัน

          “เฮินลื้อ” หรือบ้านเรือนไทลื้อ ตั้งอยู่ที่ หมู่ที่ 3 บ้านธาตุสบแวน ตำบลหย่วน อำเภอเชียงคำ จังหวัดพะเยา นอกจากจะเป็นหมู่บ้านไทลื้อที่เก่าแก่แล้ว หมู่บ้านแห่งนี้ยังมีศูนย์ทอผ้าไทลื้อที่มีชื่อเสียงของอำเภออีกด้วย และที่ศูนย์ทอผ้าไทลื้อ จะมีการสาธิตการทอผ้าไทลื้อไว้ให้ผู้สนใจได้ชม นอกจากนั้น ยังผลิตและจำหน่ายผ้าทอไทลื้อไม่ว่าจะเป็นผ้าถุง ผ้าปูโต๊ะ ผ้าคลุมเตียง ตุง และชุดแต่งงานไทลื้อ

{{พะเยา}}เยือนถิ่นไทลื้อ 12 ปัน ที่เชียงคำ : ท่องเที่ยวโดยชุมชน บ.ธาตุสบแวน ต.หย่วน อ.เชียงคำ จ.พะเยา {{วิดิทัศน์}} http://bit.ly/2cuOz0v

          ยังมีศูนย์วัฒนธรรมไทลื้อที่จัดแสดงข้าวของเครื่องใช้ในชีวิตประจำของไทลื้อมากมาย ไม่ว่าจะเป็นเสื้อไทลื้อแบบเก่าอายุนับร้อยปี อุปกรณ์เครื่องมือในการจับสัตว์ นอกจากนี้ยังมีการจำลองห้องต่างๆ ของ
ชาวไทลื้อ เช่น ห้องนอน ห้องครัว เป็นต้น ภายในศูนย์แห่งนี้จะทำให้คุณได้เรียนรู้ และสัมผัสผลงานทางศิลปวัฒนธรรมของชาวไทลื้อในมิติที่หลากหลาย

          ชาวไทลื้อในอำเภอเชียงคำ จังหวัดพะเยานั้น เป็นที่เลื่องลือและเลื่องชื่อ ด้วยงานที่มีชื่อว่า “สืบสานตำนานไทลื้อ” และไม่ใช่เพียงแค่งานระดับประเทศเท่านั้น แต่ชาวไทลื้อยังได้โกอินเตอร์ด้วยการผลักดันของ ลดาวัลลิ์ วงศ์ศรีวงศ์ อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงแรงงานและสวัสดิการสังคม ที่เป็นชาวไทลื้อในจังหวัดพะเยา ได้ส่งเสริมให้งานสืบสานตำนานไทลื้อได้กลายเป็น “งานสืบสานตำนานไทลื้อโลก” ซึ่งเป็นการรวมเอาชาวไทลื้อในภูมิภาคนี้ คือจีน พม่า ลาว เวียดนาม และไทยให้มาจัดกิจกรรมร่วมกัน

          ซึ่งช่วยสร้างความผูกพันระหว่างลูกหลานหรือเยาวชนรุ่นใหม่กับบรรพชนไทลื้อ รวมทั้งช่วยฟื้นฟู สืบสาน และอนุรักษ์วัฒนธรรมไทลื้อให้ดำรงอยู่ รวมถึงเป็นการประชาสัมพันธ์วัฒนธรรมไทลื้อให้คนทั่วไปได้รู้จักกันมากขึ้นอีกด้วย เพราะสิ่งมีคุณค่าทางด้านศิลปวัฒนธรรมนั้น จำเป็นต้องมีผู้รักษาวัฒนธรรมไว้ไม่ให้สูญหาย และหนทางหนึ่งที่จะรักษาไว้ได้ ก็คือการจุดประกายให้มีคนเห็นความสำคัญของสิ่งๆ นั้น ด้วยเหตุนี้จึงเป็นที่มาของการจัดงาน “สืบสานตำนานไทลื้อ” ขึ้น

          งานกิจกรรมนี้ เป็นงานกิจกรรมที่มีการจัดขึ้นเป็นประจำทุกปี มียาวนานมาถึง 23 ปีแล้ว ซึ่งในปี 2560 ที่ผ่านมา ฉันก็ได้ไปร่วมงาน งานครั้งนี้เป็นงานสืบสานตำนานไทลื้อ ครั้งที่ 17 จัดขึ้นระหว่างวันที่ 25-26 มีนาคม ที่วัดพระธาตุสบแวน ตำบลหย่วน อำเภอเชียงคำ จังหวัดพะเยา ซึ่งกิจกรรมภายในงานมีมากมาย เช่น กาดไทลื้อ ประเพณีการตานตุงไตลื้อ การประกวดสุนทรพจน์ไทลื้อ ฟ้อนคัวตาน การแสดงด้านศิลปวัฒนธรรมชาวไทลื้อ การแข่งขันตีกลองปูจา การฟ้อนดาบ และชมขบวนแห่ทางประเพณีวัฒนธรรมและวิถีชีวิตไตลื้อสิบสองปันนา ตกเย็นก็มีการแสดงแสง สี เสียง การแสดงจากพิพิธภัณฑ์ลื้อลายคำ และการแสดงจาก โรงเรียนต่างๆ ใน อำเภอเชียงคำ เรียกความตื่นตาตื่นใจให้กับฉันและผู้คนมาร่วมงานไม่น้อยเลยทีเดียว

2

          หากใครได้เดินทางผ่านมาจังหวัดพะเยา ก็อย่าลืมมาแวะเที่ยวชื่นชมวิถีชีวิตที่เรียบง่าย สัมผัสกลิ่นอายความเป็นอารยธรรมไทลื้อ ทั้งเอกลักษณ์ทางวัฒนธรรมที่โดดเด่นและประเพณีอันดีงาม

ได้ที่นี่ที่…ที่บ้านฉันอำเภอเชียงคำ จังหวัดพะเยา

 

 

ขอบคุณบทความอ้างอิงและรูปภาพจากเว็บไซต์ :

องค์การบริหารส่วนจังหวัดพะเยา
สำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัดพะเยา
และเว็บไซต์แบกเป้เท่ทั่วโลก
http://www.TummengTravel.com
http://www.mgronline.com

Leave a comment