ตอนที่แล้วได้พาย้อนไปถึงข้อถกเถียงบนโซเชียลมีเดียว่า ใครกันแน่ที่เป็นผู้สร้างเมืองหนองบัวลำภูระหว่าง พระวอ พระตา กับพระนเรศวร คราวนี้ผู้เขียนจะพาคุยกับบันทึกความทรงจำของคนจากรุ่นสู่รุ่นว่า พวกเขาเหลือความทรงจำอย่างไร 

ในประวัติความเป็นมาของบ้านหินลับศิลามงคล ซึ่งเป็นหมู่บ้านเดียวกันกับหมู่บ้านที่ “ผู้เฒ่าผู้แก่” คนที่ผมไปขอสัมภาษณ์อาศัยอยู่ก็มีเรื่องเล่าที่น่าสนใจเช่นกัน เรื่องมีอยู่ว่า หมู่บ้านแห่งนี้มีชาวบ้านอพยพมาตั้งบ้านเรือนครั้งแรกตั้งแต่ช่วงปลายทศวรรษ 2480 โดยมีคนหลายกลุ่มหลากพื้นที่อพยพเข้ามา ระยะต่อมาพื้นที่บริเวณห่างออกไปจากหมู่บ้านไม่ไกลนัก มีชาวบ้านต่างถิ่นเข้ามาจับจองเอาที่ดินบริเวณดังกล่าวเพื่อตั้งบ้านเช่นกัน แต่ปรากฎว่าชาวบ้านต่างถิ่นที่มาอยู่ในบริเวณดังกล่าวเกิดล้มป่วยและล้มตายกันกระทันหันโดยไม่ทราบสาเหตุที่ยังมีชีวิตอยู่ก็ต้องหนีออกจากพื้นที่ดังกล่าว ส่งผลให้บริเวณนั้นกลายเป็นหมู่บ้านร้างในที่สุด ปัจจุบันชาวบ้านหินลับฯ เรียกบริเวณนั้นว่า “โนนบ้านเก่า” ต่อมามีผู้มาเข้าฝันบอกชาวบ้านว่า ที่เกิดเหตุเช่นนี้เพราะ “ถิ่นแถวนี้พระวอพระตาจะเอาไว้ให้ลูกหลานที่มาจากเมืองอุบลฯ” (คณะกรรมการจัดทำ, ม.ป.ป., 3) น่าสนใจว่าต่อมาบริเวณดังกล่าวก็ถูกจับจองแผ้วถางให้เป็นที่นาที่ไร่โดยคนอุบลฯ ที่อพยพโยกย้ายลงมาตั้งบ้านเรือนในหมู่บ้านหินลับฯ จริง ๆ และที่สำคัญบ้านหินลับฯ มีคนเชื้อสายอุบลฯ มากกว่า 80 % (คณะกรรมการจัดทำ, ม.ป.ป., 3) ข้อมูลนี้ถูกตอกย้ำผ่านคำขวัญของหมู่บ้านว่า “หินลับลูกหลานพระวอพระตา ตูข้ามาจากเมืองอุบลฯ…” (คณะกรรมการจัดทำ, ม.ป.ป., 4) ได้เป็นอย่างดี 

ถ้าเราไม่ถือว่าประเด็นความแตกต่างหลากหลายในรายละเอียดของเรื่อง ความสับสน ความไม่สอดคล้องกับข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์ หรือเรื่องอิทธิฤทธิ์ปาฏิหาริย์ เป็นสิ่งที่เชื่อถือไม่ได้ตามระเบียบวิธีวิทยาของการศึกษา “ประวัติศาสตร์(กระแสหลัก)” ในทางกลับกันประเด็นต่าง ๆ เหล่านี้ ในฐานะที่เป็นตำนาน นิทานมุขปาฐะ เรื่องเล่าปรัมปราหรือปกรณัม อันเป็นระบบความเชื่อและการบอกเล่าสืบต่อกันมาจากรุ่นสู่รุ่นของคนในท้องถิ่น ซึ่งเป็นหลักฐานประเภทหนึ่งในทางประวัติศาสตร์แบบการศึกษา “ประวัติศาสตร์ท้องถิ่น” ที่สามารถนำมาพิจารณาวิเคราะห์ให้สอดรับกับบริบทความคิดความเชื่อของคนในท้องถิ่นนั้น ๆ ได้ (ดู สุนทรชัย ชอบยศ, 2562ข) 

เรื่องที่เล่ามาทั้งหมดก็สะท้อน “กระแสสำนึกทางประวัติศาสตร์” ของ “ไทหนองบัว” ได้เป็นอย่างดี กล่าวคือ มันได้สะท้อนว่าบุคคลในประวัติศาสตร์อย่าง “พระวอพระตา” คือ “บุคคลสำคัญ” ผู้ “สร้างบ้านแปงเมือง” หรือผู้สร้าง “ประวัติศาสตร์หนองบัวลำภู” ที่โดดเด่นที่สุดในบรรดา “บุคคลสำคัญ” ทั้งหลาย หรือกล่าวให้ถึงที่สุดก็คือ เรื่องเล่าเหล่านั้นส่อให้เห็นว่าในกระแสสำนึกทางประวัติศาสตร์ของชาวหนองบัวลำภู “พระวอพระตา” คือ “บรรพบุรุษ” ของพวกเขานั่นเอง ซึ่งประเด็นนี้ถูกตอกย้ำให้มีความหนักแน่นมากขึ้นเมื่อเรานำวัตถุรูปธรรมมาพิจารณา

“วัตถุรูปธรรม” ดังกล่าวคือ “ศาลหลักเมือง” จังหวัดหนองบัวลำภู โดยมีชื่อในวงเล็บว่า “ศาลพระวอ-พระตา” ซึ่งชาวหนองบัวลำภูสร้างขึ้นในช่วงปี 2518-2519 เพื่อเป็นอนุสรณ์และรำลึกถึงคุณงามความดีของพระวอพระตา นอกจากนั้น เดือน 6 ของทุกปี ชาวหนองบัวลำภูจะทำ “พิธีกรรมเลี้ยงบ้าน” หรือพิธีเซ่นไหว้ศาลหลักเมือง (ตามระบบความเชื่อเรื่องผีปู่ตาของชาวอีสาน) นอกจากศาลหลักเมืองยังมี “ศาลปู่หลุบ” ที่เกี่ยวข้องกับ “พระวอพระตา” กล่าวคือ ภายในอาณาบริเวณศาลปู่หลุบจะมีศาลย่อย ๆ หลายหลัง มีป้ายชื่อติดกำกับไว้อย่างชัดเจน โดยหนึ่งในนั้นคือ “ศาลพระวอพระตา” 

เกี่ยวกับ “ศาลปู่หลุบ” นี้ไม่ปรากฏหลักฐานว่า สร้างขึ้นเมื่อใด ชาวหนองบัวลำภูเชื่อกันว่า “ปู่หลุบ” เป็นทหารเอกของพระวอพระตา ตามตำนาน “ปู่หลุบ” มีชีวิตอยู่ในช่วง 200 กว่าปีที่ผ่านมา เป็นคนหล่มเก่า (เพชรบูรณ์) ช่วงหนึ่งเกิดความขัดแย้งในหมู่บ้าน “ปู่หลุบ” จึงอพยพครอบครัวมาอยู่ที่บ้านลำภู (เขตเทศบาลเมืองหนองบัวลำภู) ต่อมาเกิดความขัดแย้งกับคนอีกกลุ่มหนึ่งในหมู่บ้านเดียวกัน “ปู่หลุบ” จึงอพยพไปอยู่บ้านโนนป่าหว้าน (เขตอำเภอสุวรรณคูหา) ก่อนที่ท่านจะเสียชีวิต ท่านขอให้ได้เป็นใหญ่ในโลกแห่งวิญญาณ (เจ้าผู้ปกครองผี) ตั้งแต่เขตภูพานถึงเทือกเขาแดนลาว (สำนักงานส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นจังหวัดหนองบัวลำภู, 2565) โดยที่เกี่ยวกับ “พระวอพระตา” เรื่องมีว่า “ปู่หลุบ” ได้สื่อสารผ่าน “นางเทียม” (ความหมายง่าย ๆ คือร่างทรง) ชื่อ “ยายดำ” บ้านวังหมื่น โดยเทียมว่า “ปู่หลุบ” จะมาขออยู่กับพระวอพระตาที่เป็น “มเหศักดิ์หลักเมือง” (ความหมายง่ายๆ คือ ผีซึ่งตอนเป็นมนุษย์เคยเป็นเจ้าเมืองเมืองนั้น หรือความเชื่อเรื่องดอนผีปู่ตา) อยู่ก่อนแล้ว ครั้งแรกพระวอพระตายังไม่รับ จนถึงสมัย “แม่หล่ำ” เป็นนางเทียม พระวอพระตาจึงรับ “ปู่หลุบ” ไว้เพื่อรักษาเขตแดน (สำนักงานส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นจังหวัดหนองบัวลำภู, 2565) ความข้อนี้เองที่ผมเห็นว่าเป็นที่มาของความเชื่อของชาวหนองบัวลำภูที่เชื่อว่า “ปู่หลุบเป็นทหารเอกของพระวอพระตา” 

ถ้าหากพิจารณาจากตำนานในพื้นที่ “ปู่หลุบ” อพยพมาอยู่เมืองหนองบัวลำภูหลังจากที่เมืองนครเขื่อนขันธ์กาบแก้วบัวบานถูกกองทัพของเจ้าสิริบุญสารตีแตกแล้วหลายสิบปี ฉะนั้น ในตอนเป็น “มนุษย์” ระหว่าง “ปู่หลุบ” กับ “พระวอพระตา” จึงไม่น่าจะเคยพบเจอกัน หากทว่าเพิ่งมาพบเจอกันครั้งแรกในตอนที่กลายเป็น “อมนุษย์” แล้ว ในฐานะที่ “ปู่หลุบเป็นทหารเอกของพระวอพระตา”

กลับเข้ามาสู่ประเด็น ถ้าจะว่า กันตามความเป็นจริงทั้งสองศาลเป็น “ศาลผีปู่ตา” นั่นเอง ซึ่ง “ศาลผีปู่ตา” หรือ “ดอนผีปู่ตา” เป็นระบบความเชื่อของชาวอีสาน โดยเชื่อว่า “ศาลผีปู่ตา” เป็นที่สิงสถิตของ “วิญญาณผีบรรพบุรุษ” ของหมู่บ้าน “ผีปู่ตา” หมายถึง วิญญาณของบรรพบุรุษที่ล่วงลับไปแล้ว (“ปู่” เป็นบรรพบุรุษทางพ่อ “ตา” เป็นบรรพบุรุษทางแม่) (มิวเซียมไทยแลนด์, 2565) 

การสร้าง “ศาลหลักเมือง (พระวอ-พระตา)” และ “ศาลปู่หลุบ” ในฐานะที่เป็น “ศาลผีปู่ตา” จึงส่อให้เห็นถึงสิ่งที่กล่าวมาแล้วว่าชาวหนองบัวลำภูยกย่องพระวอพระตาในฐานะ “บรรพบุรุษ” ของพวกเขานั่นเอง ควรกล่าวด้วยว่า เป็นที่น่าสนใจว่าเมื่อไม่นานมานี้บ้านหินลับฯ (หมู่บ้านที่ผมยกเรื่องที่มีคนฝันถึงพระวอพระตาว่าจะเอาที่ดินไว้ในลูกหลานคนอุบลฯ) ได้มีการบูรณะ “ศาลผีปู่ตา” ประจำหมู่บ้าน พอบูรณะเสร็จสิ้นก็มีการตั้งชื่อศาลย่อย ๆ โดยมีหนึ่งในนั้นชื่อว่า “ศาลพระวอพระตา” สิ่งนี้จึงยิ่งตอกย่ำ “กระแสสำนึก” ของ “ไทหนองบัว” ที่ผมกล่าวมาแล้วได้เป็นอย่างดี 

ดังกล่าวมาทั้งหมดจึงพอจะใช้เป็นคำตอบได้ว่า “ทำไมถึงต้องเป็น “พระวอพระตา” มากกว่า “ผู้สร้างบ้านแปงเมือง” คนอื่น ๆ” อย่างไรก็ตาม ที่กล่าวมาข้างต้นยังคงไม่ใช่คำตอบของคำถามหลักของบทความชิ้นนี้ จะกล่าวหาว่าผมออกนอกลู่นอกทางก็ได้ ทว่ามันก็จำเป็นที่จะต้องอธิบาย เพื่อให้เห็นประเด็นอันจะนำมาเปรียบกับคำตอบของคำถามหลักของบทความนี้ นั่นคือ “ทำไมถึงมีการยกย่องสมเด็จพระนเรศวรขึ้นเป็น ‘เอกลักษณ์’ ของจังหวัดหนองบัวลำภู” หรือถามง่าย ๆ ว่า “ทำไมต้องเป็นสมเด็จพระนเรศวร” เพราะถ้าดูประวัติศาสตร์ที่ผมเล่ามา ก็น่าจะพูดอย่างตรงไปตรงมาได้ว่า พระองค์ไม่ได้สร้างประวัติศาสตร์อะไรในพื้นที่เมืองหนองบัวลำภูเลย

ประวัติศาสตร์ “จังหวัดหนองบัวลำภู” ที่เพิ่งสร้าง: ประวัติศาสตร์แบบราชาชาตินิยม

เป็นที่แน่นอนว่า ทั้งผู้ที่เกี่ยวข้องกับการจัดตั้งจังหวัดหนองบัวลำภู (ข้าราชการ-รัฐบาล) หรือชาวหนองบัวลำภูโดยทั่วไปต่างก็รับรู้ถึงการมี “ตัวตน” อยู่ของ “พระวอพระตา” ในพื้นที่เมืองหนองบัวลำภูอย่างไม่สามารถปฏิเสธได้ ดังจะเห็นได้จากการสร้าง “ศาลหลักเมือง (ศาลพระวอ-พระตา)” ในปีพ.ศ. 2518-2519 เป็นสำคัญ ดังนั้น ประเด็นนี้จึงยิ่งตอกย้ำคำถามว่า “ทำไมต้องเป็นสมเด็จพระนเรศวร” 

ผมคิดว่าการจะตอบคำถามนี้ได้ดี เราจำเป็นต้องย้อนกลับไปในปีพ.ศ. 2536 อันเป็นปีสถาปนา “อำเภอหนองบัวลำภู” ขึ้นเป็น “จังหวัดหนองบัวลำภู” โดยผมจะพาย้อนกลับไปวันงานสถาปนาและงานเฉลิมฉลองจังหวัดที่จัดขึ้นในวันที่ 1-3 ธันวาคม 2536 ทั้งนี้ พาหนะที่จะนำพาพวกเราย้อนกลับไปได้คือหนังสือชื่อ “การสถาปนาและเฉลิมฉลองจังหวัดหนองบัวลำภู วันที่ 1-3 ธันวาคม 2536” ซึ่งเป็นหนังสือที่จัดพิมพ์ในวาระงานสถาปนาและเฉลิมฉลองจังหวัดหนองบัวลำภูนั่นเอง

ในหนังสือเล่มดังกล่าวได้จัดเนื้อหาที่เกี่ยวข้องกับการสถาปนาและงานเฉลิมฉลองจังหวัดไว้หลายเรื่อง เช่น พระราชบัญญัติตั้งจังหวัดหนองบัวลำภู พ.ศ. 2536 ประวัติความเป็นมาโดยย่อของจังหวัดหนองบัวลำภู ในชื่อ “จากหนองบัวลุ่มภู นครเขื่อนขันธ์กาบแก้วบัวบาน กมุทธาไสยบุรีรัมย์ หนองบัวลำภู ถึงจังหวัดหนองบัวลำภู” มีการนำกำหนดการการสถาปนาจังหวัดในวันที่ 1 และกำหนดการงานเฉลิมฉลองที่มีการกำหนดให้จัดตั้งแต่วันที่ 1-3 ตลอดไปจนถึงมีการนำคำกล่าวรายงานของผู้ว่าราชการจังหวัดและคำกล่าวปราศรัยของประธานในพิธีสถาปนามารวมพิมพ์แสดงในเล่มด้วย

สิ่งที่น่าสนใจประการแรกของหนังสือเล่มดังกล่าว คือ มีการนำเอาภาพถ่าย “ศาลสมเด็จพระนเรศวรมหาราช” ขึ้นเป็นภาพหน้าปกหนังสือ ซึ่งเป็นการแสดงนัยยะว่า “ศาลสมเด็จพระนเรศวรมหาราช” เป็น “เอกลักษณ์” (Signature) ที่สำคัญของจังหวัดหนองบัวลำภู ประเด็นนี้ถูกตอกย้ำให้ชัดเจนมากยิ่งขึ้นผ่าน “ตราประจำจังหวัด” ที่ใช้ศาลดังกล่าวเป็นองค์ประกอบหลัก นอกจากนั้น ก็จะเห็นได้จากคำขวัญประจำจังหวัดที่ “ศาลสมเด็จพระนเรศวรมหาราช” คือวรรคเริ่มต้นของคำขวัญ 

ภาพ: ปกหนังสืองานสถาปนาและเฉลิมฉลองจังหวัดหนองบัวลำภูปีพ.ศ. 2536 ที่มา: หอสมุดแห่งชาติเฉลิมพระเกียรติ ร.9 นครราชสีมา

การที่สมเด็จพระนเรศวรถูกทำให้เป็น “เอกลักษณ์” ของจังหวัด ไม่น่าจะเกี่ยวข้องกับความคับแคบในการรับรู้ประวัติศาสตร์พื้นที่ของทางราชการ หรืออีกนัยหนึ่ง ไม่น่าจะเป็นเพราะทางราชการไม่รับรู้ถึงการมี “ตัวตน” อยู่ของพระวอพระตาในพื้นที่เมืองหนองบัวลำภู เพราะนอกจากเรื่องการสร้าง “ศาลหลักเมือง” จะยืนยันประเด็นนี้แล้ว อีกหลักฐานหนึ่งคือ ในหนังสือที่จัดพิมพ์ในวาระสถาปนาและงานฉลองจังหวัด ในส่วนที่ว่าด้วยประวัติศาสตร์ของจังหวัด โดยหลังจากที่กล่าวถึงเรื่องราวของสมเด็จพระนเรศวรกับเมืองหนองบัวลำภูเป็นบุคคลแรกแล้ว บุคคลต่อมาที่ยกขึ้นมาพรรณนาคือเรื่องราวของ “พระวอพระตา” (การสถาปนาและเฉลิมฉลองจังหวัดหนองบัวลำภู วันที่ 1-3 ธันวาคม 2536, 2536, 8) ดังนั้น จึงไม่น่าจะเป็นประเด็นความคับแคบในการรับรู้ประวัติศาสตร์ของทางราชการ 

ผมคิดว่า น่าจะมีเหตุผลมาจากการที่ทางราชการเห็นว่า “ศาลสมเด็จพระนเรศวรมหาราช” เป็นพื้นที่ที่มี “ตัวตน” มากที่สุดของเมืองหนองบัวลำภูในขณะนั้นมากกว่า กล่าวคือ หนองบัวลำภูก่อนที่จะเป็นจังหวัดมีสถานที่สำคัญในฐานะที่เป็น “Landmark” ในแบบอนุสาวรีย์ท้าวสุรนารี (ย่าโม) ของนครราชสีมา อนุสาวรีย์กรมหลวงประจักษ์ศิลปาคมของอุดรธานี หรืออนุสาวรีย์ท้าวคำผงของอุบลราชธานี เพียงที่เดียวคือ “ศาลสมเด็จพระนเรศวรมหาราช” ที่สร้างขึ้นในปีพ.ศ. 2511 แม้ว่าจะมี “ศาลหลักเมือง” ที่ตั้งชื่อรองว่า “ศาลพระวอพระตา” ซึ่งเป็น “ผู้สร้างบ้านแปงเมือง” ที่สำคัญของหนองบัวลำภูก็ตาม แต่ “ศาลพระวอพระตา” ก็ไม่ใช่ “พื้นที่” ในแบบอนุสาวรีย์ย่าโม หรือที่อื่น ๆ ดังที่ได้ยกตัวอย่างมา กล่าวคือ “ศาลพระวอพระตา” มีนัยยะหรือความหมายที่แตกต่างออกไปจาก “ศาลสมเด็จพระนเรศวรมหาราช” เพราะในขณะที่ “ศาลพระวอพระตา” เป็น “ศาลหลักเมือง” (ในความเชื่อเรื่องผีปู่ตาดังกล่าวมาแล้ว) คือเป็น “ศาล” จริง ๆ แต่ “ศาลสมเด็จพระนเรศวรมหาราช” มีฐานะเป็น “อนุสาวรีย์” มากกว่า “ศาล” 

มิพักต้องกล่าวถึงบริเวณที่ตั้งศาล ในขณะที่ “ศาลพระวอพระตา” ตั้งอยู่ในที่ลับตา “คนไปไทมา” แต่ “ศาลสมเด็จพระนเรศวรมหาราช” กลับตั้งเด่นตระหง่านอยู่ “ริมหนองบัว” หนองน้ำอันเป็นใจกลางของจังหวัดและเป็นที่มาของชื่อจังหวัด นอกจากนั้น ศาลดังกล่าวยังตั้งอยู่ตรงข้ามกับศูนย์ว่าราชการที่สำคัญอย่าง “ที่ว่าการอำเภอเมืองหนองบัวลำภู” และ “สถานีตำราจภูธรเมืองหนองบัวลำภู” ซึ่งเป็นพื้นที่ที่ “คนไปไทมา” มากอยู่แล้ว โดยเฉพาะคนหนองบัวลำภูที่ต้องไปติดต่อทำธุระทางราชการ ดังนั้น แม้ไม่ตั้งใจจะเดินทางไปศาลสมเด็จพระนเรศวรฯ ขอเพียงผ่านศูนย์ราชการที่ว่าก็ยังคงมองเห็นศาลได้เต็มถนัด

ตราประจำจังหวัดหนองบัวลำภู

ผมคิดว่าก่อนสร้าง “ศาลสมเด็จพระนเรศวรมหาราช” ชาวหนองบัวลำภูโดยทั่วไปในจำนวนน้อย (ซึ่งก็คงจะเป็นชนชั้นนำ) หรืออาจจะไม่มีเลยด้วยซ้ำไปที่รับรู้เรื่องราวของสมเด็จพระนเรศวรที่เข้ามาเกี่ยวข้องกับพื้นที่เมืองหนองบัวลำภู เมื่อเทียบกับการรับรู้เรื่องราวของ “พระวอพระตา” ที่อยู่ใน “กระแสสำนึก” หรือกล่าวอย่างตรงไปตรงมาก็คือ ก่อนหน้าที่จะมีการสร้าง “ศาลสมเด็จพระนเรศวรมหาราช” สำนึกของชาวบ้านทั่วไปอาจจะไม่รู้จักด้วยซ้ำว่าพื้นที่เมืองหนองบัวลำภูเคยเป็นที่ที่สมเด็จพระนเรศวรเคยย่างกายเข้ามาพักพิงอยู่ชั่วระยะหนึ่ง เพราะต้องเข้าใจว่าเรื่องราวของสมเด็จพระนเรศวรที่เข้ามาเกี่ยวข้องกับพื้นที่เมืองหนองบัวลำภูปรากฏอยู่ใน “พงศาวดาร” เพียงเท่านั้น ดังนั้น ก็ต้องเป็นผู้ที่ได้อ่านพงศาวดารเล่มนั้นจริง ๆ จึงจะรู้เรื่องได้ และเรื่องราวดังกล่าวก็น่าจะถูกเปิดเผยต่อสาธารณะครั้งแรกในช่วงทศวรรษ 2430-2440 เป็นอย่างมาก คือเมื่อกรมพระยาดำรงราชานุภาพขึ้นมาตรวจราชการมณฑลอุดร แล้วชักถามคนในพื้นที่ว่าตำบลหนองบัวลำภูอยู่ที่ไหน เพราะท่านเคยอ่านพบในพงศาวดารว่าสมเด็จพระนเรศวรเคยผ่านมาพักที่นั้น

คงจะไม่เป็นการเกินเลยไปนักถ้าจะกล่าวว่า เมื่อเรื่องนี้ถูกเปิดเผยก็คงจะอยู่ในความรับรู้ของชนชั้นนำเพียงเท่านั้น คงจะยังไม่แพร่หลายไปสู่ชาวบ้านร้านตลาด เพราะหากจะนับจากช่วงเวลาที่กรมพระยาดำรงราชานุภาพเปิดเผยเรื่องนี้แล้ว ก็ไม่เห็นว่าเมืองหนองบัวลำภูจะสร้างอะไรเป็นสัญลักษณ์รำลึกถึงสมเด็จพระนเรศวรเลยจนกระทั่งสร้างศาลในปีพ.ศ. 2511 ซึ่งต่างกับกรณีพระวอพระตา 

แม้ว่า “ศาลหลักเมือง” จะสร้างขึ้นหลังจากที่สร้าง “ศาลสมเด็จพระนเรศวรมหาราช” หลายปี แต่ความเชื่อเรื่องพระวอพระตาก็ฝังรากลึกอยู่ในพื้นที่เมืองหนองบัวลำภูมาตลอด เช่น ความเชื่อเรื่องศาลผีปู่ตา หรือเรื่องเล่าปรัมปราในพื้นที่ต่าง ๆ ของคนเฒ่าคนแก่ที่เล่าผ่านปากต่อปากสืบต่อกันมา นอกจากนั้น เมื่อมีแนวคิดที่จะสร้างศาลสมเด็จพระนเรศวรขึ้นมา สาเหตุแห่งการสร้างก็ไม่ได้เกี่ยวข้องกับเรื่องสำนึกใน “พระมหากรุณาธิคุณ” หรือเพื่อเป็นการรำลึกถึงพระองค์ด้วยซ้ำ หากทว่ามีสาเหตุมาจากการต่อสู้กับ “ผู้ก่อการร้ายคอมมิวนิสต์” ดังมีเรื่องอยู่ว่า

ครั้งหนึ่ง (ก่อนปี พ.ศ.2511) ได้เกิดเหตุการณ์ผู้ก่อการร้ายคอมมิวนิสต์บุกยึดสถานีตำรวจเมืองหนองบัวลำภู หลังจากเหตุการณ์ดังกล่าว รัชกาลที่ 9 เสด็จมาในพื้นที่จังหวัดอุดรธานี และน่าจะทรงทราบเรื่องราวที่เกิดขึ้นเป็นอย่างดี เย็นวันหนึ่งขณะที่กำลังเสวยพระกระยาหาร ได้ถามข้าราชบริพารที่เข้าเฝ้าว่า “แถวนี้มี (กษัตริย์) พระองค์ไหนเคยเสด็จมาบ้างไหม” ตอนนั้นพระยาอุดรธานีศรีโขมสาครเขตต์ (จิตร จิตตะยโศธร) อดีตผู้ว่าราชการจังหวัดอุดรธานี ซึ่งเกษียณอายุราชการไปนานแล้วได้เข้าเฝ้าด้วย จึงได้ทูลตอบว่า “มีครั้งหนึ่งสมเด็จพระนเรศวรเคยเสด็จมา… (ดังเรื่องที่เคยยกมากล่าวแล้วก่อนหน้านี้)” รัชกาลที่ 9 จึงทรงมีพระราชดำริให้สร้างศาลสมเด็จพระนเรศวรขึ้น เพื่อปลุกปลอบขวัญและกำลังใจให้ชาวบ้านเกิดความรักบ้านรักเมือง 

ดังตรัสว่า “ถ้าอย่างนั่น เห็นควรสร้างศาลสมเด็จพระนเรศวรให้ชาวบ้านชาวเมืองได้กราบไหว้ ได้มีหลักยึดเหนี่ยวจิตใจสิ” จากนั้นกระทรวงมหาดไทยจึงได้รับสนองพระราชดำริ โดยมีคำสั่งให้กรมศิลปากรรับผิดชอบในการออกแบบก่อสร้างศาลสมเด็จพระนเรศวรขึ้น ณ ริมหนองบัวใกล้สถานีตำรวจที่เกิดเหตุ (เรื่องและคำพูดในเครื่องหมายอัญประกาศทั้งหมดเล่าโดยนายปรีดีย์ นุชิต อดีตประธานสภาวัฒนธรรมจังหวัดหนองบัวลำภู โปรดดู https://www.youtube.com/watch?v=Cuxiqpz5UbY)

เรื่องข้างต้นส่อให้เห็นถึง “กระแสสำนึก” ของชนชั้นนำได้เป็นอย่างดี อันเป็นการสะท้อนความคิดแบบ “ประวัติศาสตร์นิยม” (historicism) ในความหมายว่า เป็นเรื่องเล่าหรือการเล่าเรื่องที่ให้ความสำคัญและอิงแอบอยู่กับชนชั้นผู้ปกครอง กษัตริย์ หรือชนชั้นนำ เป็นหลัก ที่สำคัญคือเป็นเรื่องเล่าที่สะท้อน “กระแสสำนึก” ของชนชั้นนำ หรือที่ธงชัย วินิจกูล เรียกว่า “ประวัติศาสตร์แบบราชาชาตินิยม” นั่นเอง โดยประวัติศาสตร์ในแบบดังกล่าวจะตัดทิ้ง “ประวัติศาสตร์ของสามัญชนคนชั้นล่าง” ออกไป จะไม่นับรวมเรื่องเล่า ตำนาน ฯลฯ ที่คนในท้องถิ่นเล่าขานสืบต่อกันมาว่าเป็น “ประวัติศาสตร์”

ดังกล่าวนี้จึงทำให้ผมมั่นใจที่จะแสดงอิริยาบถทั้งสี่ยัน (ยืนยัน เดินยัน นั่งยัน นอนยัน) ได้เลยว่า นอกจากเหตุผลด้านลักษณะพื้นที่ที่ตั้งของ “ศาลสมเด็จพระนเรศวรมหาราช” จะมีความโดดเด่น เหตุผลอีกประการหนึ่งคือ มุมมองในด้านประวัติศาสตร์ของผู้ที่เกี่ยวข้องกับการจัดตั้งจังหวัดหนองบัวลำภูหรือที่เกี่ยวข้องกับการเลือกสรร “เอกลักษณ์” ของจังหวัด ซึ่งมุมมองดังกล่าวถูกครอบงำด้วย “ประวัติศาสตร์นิยม” หรือ “ประวัติศาสตร์แบบราชาชาตินิยม” ประเด็นนี้ยืนยันได้เป็นอย่างดีผ่าน “กำหนดการสถาปนาจังหวัดหนองบัวลำภู” ที่จัดเมื่อวันที่ 1 ธันวาคม 2536 ซึ่งในกำหนดการดังกล่าว ในส่วนของพิธีกรรมที่เชื่อมโยงกับประวัติศาสตร์ของเมืองหนองบัวลำภูจะมีเพียงแค่ “พิธีบวงสรวงดวงพระวิญญาณสมเด็จพระนเรศวรมหาราช” หรือพิธีอื่นๆ ซึ่งเกี่ยวข้องกับสมเด็จพระนเรศวรเท่านั้น ไม่ปรากฏว่ามีพิธีบวงสรวงศาลหลักเมืองหรืออื่น ๆ เลย (ดู การสถาปนาและเฉลิมฉลองจังหวัดหนองบัวลำภู วันที่ 1-3 ธันวาคม 2536, 2536, 15-18

ประเด็นนี้ถูกตอกย้ำให้มีความหนักแน่นมากขึ้นผ่าน “คำกล่าวรายงานของนายประภา ยุวานันท์ ผู้ว่าราชการจังหวัดหนองบัวลำภู วันที่ 1 ธันวาคม 2536 เวลา 10.00 น.” ความตอนหนึ่งว่า 

“…ถือได้ว่าผืนแผ่นดินหนองบัวลำภูนี้ เป็นผืนแผ่นดินแห่งแรกในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ที่มีองค์พระมหากษัตริย์แห่งประเทศไทย คือ สมเด็จพระนเรศวรมหาราช ได้เสด็จพระราชดำเนินมาประทับแรม…” (การสถาปนาและเฉลิมฉลองจังหวัดหนองบัวลำภู วันที่ 1-3 ธันวาคม 2536, 2536, 19) 

จากคำกล่าวรายงานของผู้ว่าฯ ชวนให้ผมคิดขำๆ ขึ้นมาว่า สมัยสมเด็จพระนเรศวรคงจะมีเครื่องบินแล้วกระมัง เดินทางจากกรุงศรีอยุธยาแค่วันเดียวก็มาถึงเมืองหนองบัวลำภู โดยไม่ต้องพักแรมระหว่างทางที่ไหนเลย จะไม่ให้ผมคิดเรื่องขำเรื่องนี้ขึ้นมาได้อย่างไร ถ้าสละเวลาเปิดดูแผนที่ประเทศไทยสักนิด มันเป็นไปไม่ได้อยู่แล้วที่การเดินทางสมัยนั้น สมเด็จพระนเรศวรจะไม่พักทัพระหว่างทางในเขตพื้นที่จังหวัดใดจังหวัดหนึ่งของภาคอีสานก่อนที่จะมาถึงเมืองหนองบัวลำภู 

ที่สำคัญ คือ หนองบัวลำภูไม่ใช่จังหวัดที่มีชายแดนติดกับจังหวัดในภาคอื่น หรืออีกนัยหนึ่ง จังหวัดหนองบัวลำภูมีเขตชายแดนที่ติดกับจังหวัดในภาคอีสานทั่วทุกทิศ จึงเป็นไปไม่ได้ที่สมเด็จพระนเรศวรจะไม่ผ่านและไม่พักแรมในพื้นที่จังหวัดอื่นของภาคอีสานก่อนที่จะมาถึงเมืองหนองบัวลำภู นี่ยังไม่รวมถึงประเด็นที่ว่าตอนนั้นกษัตริย์คือสมเด็จพระมหาธรรมราชาธิราช สมเด็จพระนเรศวรยังไม่ได้เป็นกษัตริย์ เพียงเสด็จตามพระราชบิดามาช่วยรบเท่านั้น ฉะนั้นถ้าจะว่ากันไปตามที่ท่านผู้ว่าฯ กล่าวแล้ว กษัตริย์คนแรกที่มาพักแรมเมืองหนองบัวลำภู น่าจะเป็นพระราชบิดาของสมเด็จพระนเรศวรมากกว่า ในแง่นี้ผมจึงขอแย้งผู้ว่าฯ อย่างเต็มที่ นอกเสียจากท่านผู้ว่าฯ จะอ้างเรื่อง “กฤษฎาภินิหารอันบดบังไม่ได้” ผมจึงจนใจจะโต้กลับ 

นอกจากคำกล่าวรายงานของผู้ว่าฯ ก็ยังมี “คำกล่าวปราศรัยของ ฯพณฯ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย (พลเอกชวลิต ยงใจยุทธ) ในพิธีสถาปนาจังหวัดหนองบัวลำภู ในวันที่ 1 ธันวาคม 2536 เวลา 10.00 น.” ความว่า

“จากการรายงานของผู้ว่าราชการจังหวัดหนองบัวลำภู ได้ทราบถึงความเป็นมาที่สำคัญยิ่งของจังหวัดหนองบัวลำภู 2 ประการด้วยกัน คือ ประการแรก ผืนแผ่นดินแห่งนี้เป็นผืนแผ่นดินศักดิ์สิทธิ์ที่สมเด็จพระนเรศวรมหาราช ได้เคยเสด็จมาทรงประทับแรม ในขณะที่เสด็จพระราชดำเนินมาประกอบพระราชกรณียกิจในการปกป้องอธิปไตยของชาติ อีกทั้งยังเป็นผืนแผ่นดินที่บรรพบุรุษของจังหวัดหนองบัวลำภูได้ต่อสู้เอาชีวิตและเลือดเนื้อเดิมพันให้รอดพ้นจากการรุกรานของอริราชศัตรูของแผ่นดินไทยในขณะนั้น… (ประการที่สอง กล่าวถึงหลวงปู่ขาว อนาลโย)” (การสถาปนาและเฉลิมฉลองจังหวัดหนองบัวลำภู วันที่ 1-3 ธันวาคม 2536, 2536, 23)

จากคำปราศรัยดังกล่าวยิ่งทำให้ผมขำมากขึ้นไปอีก เพราะหากจะว่ากันไปตามคำปราศรัยแล้ว ถ้าแม่นยำเรื่องราวในประวัติศาสตร์ (กระแสหลัก) สักนิด “อธิปไตยของชาติ” ในตอนนั้นเสียให้กรุงหงสาวดีไปเป็นที่เรียบร้อยแล้ว จะไปปกป้องกันอย่างไรได้ และที่สำคัญคือ “อธิปไตยของชาติ(กรุงศรีอยุธยา)” ไม่ได้แผ่ขยายลงมาถึงเมืองหนองบัวลำภู ซึ่งแท้จริงเป็นเมืองหน้าด่านของอาณาจักรล้านช้าง การที่สมเด็จพระนเรศวรเดินทางมาถึงหนองบัวลำภูนี้ ไม่ใช่ด้วยเหตุผลอื่นใด แต่เป็นเพราะว่าถูกพระเจ้ากรุงหงสาวดี “สั่ง” ให้ยกทัพมาเพื่อจะไปรวมกับกองทัพของกรุงหงสาวดีเพื่อตีอาณาจักรล้านช้างต่างหาก หรือกล่าวอย่างตรงไปตรงมาก็คือ นอกจากตนจะไม่มี “อธิปไตยของชาติ” แล้ว ยังจะไปรุกรานแย่งชิง “อธิปไตยของชาติ” อื่นอีกนั่นเอง ประเด็นก็คือ การจะปกป้อง “อธิปไตยของชาติ” ก็ต้องต่อสู้กับคน/ชาติที่เอา “อธิปไตยของชาติ” ตนไปถึงจะดูฟังขึ้น 

การเดินทัพลงมาถึงเมืองหนองบัวลำภูซึ่งไม่ใช่เขตอำนาจอธิปไตยของตนเพื่อ “มาประกอบพระราชกรณียกิจในการปกป้องอธิปไตยของชาติ” มันจึงฟังดูเป็นเรื่องน่าขำขัน นี่ยังไม่รวมถึงเรื่องการต่อสู้เอาชีวิตเป็นเดิมพันของบรรพบุรุษชาวหนองบัวลำภู “เพื่อให้รอดพ้นจากการรุกรานของอริราชศัตรูของแผ่นดินไทย” ซึ่งผมจะละไว้ไม่อธิบายขยายรายละเอียดในฐานที่เข้าใจร่วมกัน (เกี่ยวกับประเด็น “สำนึกความเป็นชาติไทย” ยังไม่เกิดในกระมลสันดานของคนยุคนั้น)

สิ่งที่ผมต้องการจะสื่อให้เห็นก็คือ มุมมองที่ปรากฎในการสถาปนาและงานฉลองจังหวัดหนองบัวลำภูก็คือ “ประวัติศาสตร์แบบราชาชาตินิยม” ที่มองประวัติศาสตร์แบบไม่คำนึงถึง “ยุคสมัย” เป็นการมองประวัติศาสตร์ที่เอา “ยุคสมัย” ปัจจุบันเป็นที่ตั้ง ผลที่ตามมาคือการเลือกที่จะรับบางเรื่องที่เห็นว่าสำคัญสอดรับไปกันได้กับประวัติศาสตร์ชาติ (กระแสหลัก) และเลือกที่จะตัดทิ้งเรื่องราวที่เห็นว่าไม่เกี่ยวข้องหรือสอดรับกับประวัติศาสตร์ชาติ สิ่งที่ขาดหายไปก็คือ “ความเป็นประวัติศาสตร์” (historicity) หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งได้ว่า เป็นการ “สร้างประวัติศาสตร์” ขึ้นมาใหม่ตามเรื่องเล่าแม่บท (master narrative) หรือยืนอยู่บนฐานข้อมูล “ประวัติศาสตร์ชาติ” โดยเลือกหยิบเอาเฉพาะบางเรื่องที่เห็นว่าสำคัญและตัดบางเรื่องที่เห็นว่าไม่สำคัญออกไป 

ประวัติศาสตร์ของจังหวัดหนองบัวลำภูจึงเป็นประวัติศาสตร์ที่เพิ่ง (ประกอบ) สร้างขึ้นมาตอนสถาปนาเป็นจังหวัดนั่นเอง

กล่าวโดยสรุปแล้ว การที่สมเด็จพระนเรศวรถูกเลือกให้เป็น “เอกลักษณ์” ของจังหวัดหนองบัวลำภูนั้น เป็นเพราะ “ศาลสมเด็จพระนเรศวรมหาราช” ตั้งอยู่ในทำเลที่โดดเด่นที่สุดในตอนนั้น และที่สำคัญคือ “อุดมการณ์แบบราชาชาตินิยม” ได้เข้ามาครอบงำโลกทัศน์บรรดาชนชั้นนำทั้งหลายที่เข้ามาเกี่ยวข้องกับการสถาปนาจังหวัดหนองบัวลำภู ผมหวังใจว่าจากที่กล่าวมาทั้งหมดน่าจะพอเป็นคำตอบของคำถามที่ว่า “ทำไมถึงต้องเป็นสมเด็จพระนเรศวร” ได้ไม่มากก็น้อย

บทสรุปแห่งศึกสงครามในครั้งนี้

ควรกล่าวไว้ในที่นี้ก่อนว่า เพื่อให้ความเป็นธรรมแก่จังหวัดหนองบัวลำภู แม้ว่าจะมีการให้ความสำคัญกับสมเด็จพระนเรศวรมากเป็นพิเศษ แต่ในคำขวัญประจำจังหวัดในวรรคสุดท้ายก็มีการนำเรื่องที่เชื่อมโยงกับพระวอพระตามาประกอบรวมอยู่ด้วย กล่าวคือ มีการนำชื่อเมืองที่เชื่อว่าพระวอพระตาเป็นผู้ตั้งเมื่อครั้งอพยพมาอยู่เมืองหนองบัวลำภู นั่นคือ “นครเขื่อนขันกาบแก้วบัวบาน” มารวมอยู่ในคำขวัญประจำจังหวัดด้วย 

เมื่อปี พ.ศ.2559 ทางจังหวัดได้มีการสร้างอนุสาวรีย์พระวอพระตาขึ้น ทว่าสถานที่ประดิษฐานอนุสาวรีย์ก็ยังคงสะท้อนนัยยะประวัติศาสตร์แบบราชาชาตินิยมอยู่นั่นเอง กล่าวคือ มีการนำไปตั้งประดิษฐานไว้มุม ๆ หนึ่งของพื้นที่ที่เรียกว่า “สนามสมเด็จพระนเรศวร” หรือบริเวณพื้นที่ตั้งศาลสมเด็จพระนเรศวร ซึ่งถ้าหากไม่สังเกตดี ๆ จะไม่รู้เลยว่าบริเวณนั้นมีอนุสาวรีย์ของผู้ที่ชาวหนองบัวลำภูต่างนับถือว่าเป็น “บรรพบุรุษ” ผู้ “สร้างบ้านแปงเมือง” ของตน มิพักต้องกล่าวถึงงานประจำปีของจังหวัด ที่จัดขึ้นหลัก ๆ 2 งาน คือ “งานสนาม” ซึ่งเกี่ยวกับสมเด็จพระนเรศวรโดยตรงดังเคยกล่าวมาแล้ว และงานวันคล้ายวันสถาปนาจังหวัด โดยหากย้อนกลับไปสำรวจดูกำหนดการของงาน จะเห็นได้อย่างชัดเจนว่าไม่มีพิธีกรรมไหนที่สามารถเชื่อมโยงไปถึงพระวอพระตาได้เลย

เมื่ออ่านมาถึงตรงนี้ก็คงจะเข้าใจว่า ผมสนับสนุนให้ยกย่องพระวอพระตา เพื่อให้เกิดความชัดเจน ผมขอแสดงจุดยืนว่า ที่กล่าวมาทั้งหมดผมไม่ได้ต้องการจะสนับสนุนให้ยกย่องใครต่อใครทั้งนั้น เพราะไม่ว่าจะเป็นกรณี “สมเด็จพระนเรศวรมหาราช” หรือ “พระวอพระตา” ต่างก็สะท้อนถึงอุดมการณ์แบบราชาชาตินิยมอยู่นั่นเอง 

แท้จริงแล้วสิ่งที่ผมอยากสื่อสารให้เห็นในบทความนี้ คือ ตัวอย่างของ “อุดมการณ์แบบราชาชาตินิยม” ในปริมณฑลประวัติศาสตร์นั้น มันทำงานอย่างไร และมันเข้ามาทำลายตัวตนของท้องถิ่นอย่างไร หรือในที่สุดแล้วประวัติศาสตร์ท้องถิ่นเองได้เข้าไปรับใช้อุดมการณ์แบบราชาชาตินิยมอย่างไร นอกจากนี้ ข้อเสนออีกประการหนึ่งคือ ในการศึกษาประวัติศาสตร์นั้น เราไม่ควรแยก “ประวัติศาสตร์เมืองหนองบัวลำภู” ออกจาก “ประวัติศาสตร์อีสาน” ตลอดจนเราควรมองประวัติศาสตร์เมืองหนองบัวลำภูในที่ฐานะที่เป็นประวัติศาสตร์ของเมืองหนองบัวลำภู ไม่ใช่ในฐานะประวัติศาสตร์ของชาติ เพราะถ้าเรามองในฐานะที่เป็นประวัติศาสตร์ของชาติเมื่อใด ประวัติศาสตร์ของเมืองหนองบัวลำภูก็จะเป็นอย่างทุกวันนี้ คือเป็น “ประวัติศาสตร์ที่เพิ่งสร้าง” หรือเป็น “ประวัติศาสตร์ตัดแปะ” ซึ่งในท้ายที่สุด “ไทหนองบัว” จะค้นหารากเหง้าที่แท้จริงของ “ไทหนองบัว” ไม่เจอเลย

หมายเหตุ: ที่เขียนมาทั้งหมด ผมสำเหนียกอยู่เสมอว่า ผมเป็น “นัก (สนใจ) ประวัติศาสตร์” ไม่ใช่ “นักประวัติศาสตร์” หลักฐานที่เห็นได้ชัดเจนที่สุดคือผมไม่ได้ถูกบ่มเพาะมาในด้านประวัติศาสตร์โดยตรง ดังนั้น ก็อย่าคาดหวังอะไรมากมายกับงานชิ้นนี้นัก สิ่งที่ผมหวังใจจากการเขียนงานชิ้นนี้มีเพียงอย่างเดียวคือ อยากให้มันเป็นจุดเล็ก ๆ จุดหนึ่งในการถกเถียง วิพากษ์วิจารณ์ และรื้อขนบ “ประวัติศาสตร์แบบราชาชาตินิยม” ซึ่งเป็นประวัติศาสตร์ที่เอารัดเอาเปรียบคนตัวเล็กตัวน้อยทั้งในทาง “อรรถ” และ “พยัญชนะ”

อ้างอิง

1. การสถาปนาและเฉลิมฉลองจังหวัดหนองบัวลำภู วันที่ 1-3 ธันวาคม 2536. (2536). ขอนแก่น: โรงพิมพ์อุดมสินคอมพิวกราฟิก.

2. คณะกรรมการจัดทำ. (ม.ป.ป.). ธรรมส่องทาง เนื่องในงานผูกพัทธสีมาวัดศิลามงคล ต.หนองสวรรค์ อ.เมือง จ.หนองบัวลำภู. หนองบัวลำภู: ธนกิจการพิมพ์.  

3. ธีรวัฒน์ แสนคำ. (2558). “เมืองหนองบัวลำภู: การศึกษาพัฒนาการของชื่อเมืองโบราณสำคัญในลุ่มแม่น้ำโขง.” ดำรงวิชาการ. 14(2), (กรกฎาคม-ธันวาคม), 113-136. 

4. ปรีดีย์ นุชิต. (2562). ประวัติวัดศรีคุณเมือง จ.หนองบัวลำภู. (YouTube). เข้าถึงเมื่อ 23 สิงหาคม 2565. https://www.youtube.com/watch?v=Cuxiqpz5UbY.  

5. “ผู้เฒ่าผู้แก่” บ้านหินลับศิลามงคล ตำบลหนองสวรรค์ อำเภอเมือง จังหวัดหนองบัวลำภู ผู้ให้สัมภาษณ์. ณัฐวุฒิ รังศรีรัมย์ ผู้สัมภาษณ์. สัมภาษณ์วันที่ 12 สิงหาคม 2565.

6. มิวเซียมไทยแลนด์. (2565). การเลี้ยงผีปู่ตา. (เว็บไซต์). เข้าถึงเมื่อ 22 สิงหาคม 2565. https://www.museumthailand.com/th/3192/storytelling/การเลี้ยงผีปู่ตา/.

7. สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ. (2515). พระประวัติสมเด็จพระนเรศวรมหาราช. นนทบุรี: เจริญอักษรการพิมพ์.

8. สุนทรชัย ชอบยศ. (2562ก). สินไซธิปไตย. มหาสารคาม: ศูนย์ญาครูขี้หอมศึกษาเพื่อการพัฒนาท้องถิ่น.

9. สุนทรชัย ชอบยศ. (2562ข). ประวัติศาสตร์ท้องถิ่น: ว่าด้วยแนวคิดและแนวทางเชิงประยุกต์ เพื่อการพัฒนาท้องถิ่นที่ยั่งยืน. มหาสารคาม: โครงการผลิตและเผยแพร่ตำราและผลงานวิชาการ วิทยาลัยการเมืองการปกครอง มหาวิทยาลัยมหาสารคาม.

10. สำนักงานส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นจังหวัดหนองบัวลำภู. (2565). ศาลปู่หลุบ. (เว็บไซต์). เข้าถึงเมื่อ 22 สิงหาคม 2565. http://nblplocal.go.th/public/landmark/data/detail/landmark_id/5/menu /138.

11. อรรถพล ธรรมรังสี. (2560). พระวอพระตาในเอกสารใบลาน. มหาสารคาม: กลุ่มงานอนุรักษ์เอกสารโบราณ สถาบันวิจัยศิลปะและวัฒนธรรมอีสาน มหาวิทยาลัยมหาสารคาม.

12. อรรถพล ธรรมรังสี. (2562). ภาพแทนพระวอพระตาในเรื่องเล่าพื้นเมืองสองฝั่งโขง. วิทยานิพนธ์หลักสูตรปริญญาศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาภาษาไทย คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม.

13. อรรถพล ธรรมรังสี. (2563). “พระวอ-พระตา: ลักษณะวีรบุรุษในวรรณกรรมใบลานฉบับหอสมุดแห่งชาติลาว.” วิวิธวรรณสาร. 4(3), (กันยายน-ธันวาคม), 165-186.

image_pdfimage_print