วิถีคนริมกก…สู่การท่องเที่ยวโดยชุมชน ‘ทัวร์ช้าง’ ที่บ้านกะเหรี่ยงรวมมิตร จ.เชียงราย

วิถีคนริมกก…สู่การท่องเที่ยวโดยชุมชน ‘ทัวร์ช้าง’ ที่บ้านกะเหรี่ยงรวมมิตร จ.เชียงราย

ทัวร์ช้างที่บ้านกะเหรี่ยงรวมมิตร  ริมแม่น้ำกก  อ.เมือง  จ.เชียงราย

   แม่น้ำกก  เป็นแม่น้ำสำคัญสายหนึ่งของพม่าและไทย  มีความยาวประมาณ 285  กิโลเมตร  มีต้นกำเนิดที่เมืองกก  จังหวัดเชียงตุง  ในรัฐฉานของพม่า  ไหลเลาะเข้าสู่ประเทศไทยที่อำเภอแม่อาย  จังหวัดเชียงใหม่  ไหลผ่านอำเภอต่างๆ  ในจังหวัดเชียงรายลงสู่แม่น้ำโขงที่สบกก  อำเภอเชียงแสน

            ระยะทางที่แม่น้ำกกไหลผ่านประเทศไทยก่อนจะลงสู่แม่น้ำโขงมีความยาวประมาณ 130 กิโลเมตร  หล่อเลี้ยงผู้คนและสรรพสิ่งมาเนิ่นนาน   เป็นแหล่งน้ำใช้ในการเกษตร  และทำประมงพื้นบ้าน

นอกจากนี้น้ำกกยังเป็นเส้นทางท่องเที่ยวที่สำคัญ  เป็นเส้นทางล่องเรือและแพจากท่าตอน  อ.แม่อาย              จ.เชียงใหม่  ผ่านหมู่บ้านกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ  ผ่านโตรกธารและทิวเขา  สู่จุดหมายที่ปางช้างบ้านรวมมิตร   อ.เมือง         จ.เชียงราย    หากเป็นการล่องแพและพักแรมจะใช้เวลา 2 วัน 1 คืน   ส่วนเรือหางยาวใช้เวลาประมาณ 4-5 ชั่วโมง

2
ผู้คนหลายเผ่าพันธุ์ริมน้ำกก   จ.เชียงราย

ท่องเที่ยวชุมชนแห่งแรกที่ ‘บ้านกะเหรี่ยงรวมมิตร’

            บ้านรวมมิตร  ตั้งอยู่ริมแม่น้ำกก  อยู่ในเขตเทศบาลตำบลแม่ยาว  อ.เมือง  ห่างจากตัวเมืองเชียงรายประมาณ  11 กิโลเมตร  ชาวบ้านส่วนใหญ่เป็นชาวกะเหรี่ยง  ‘ปะกาเกอะยอ’  นับถือศาสนาคริสต์  นอกจากนี้ยังมีชาวอ่าข่า  ลาหู่   ฯลฯ  ประชากรประมาณ 2,400  คน  ส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกษตรกรรม  ทำนา  ปลูกสับปะรด  เลี้ยงสัตว์  รับจ้างทั่วไป  ค้าขาย  และทำ ‘ทัวร์ช้าง’  เปิดบริการนักท่องเที่ยวทุกวัน  ตั้งแต่ 8 โมงเช้าถึง 4  โมงเย็น

พ่อหลวงกำพล  เฉลิมเลี่ยมทอง  ผู้ใหญ่บ้านรวมมิตร  เล่าว่า  ชาวบ้านรวมมิตรส่วนใหญ่เป็นชาวกะเหรี่ยง  ในอดีตจะใช้ช้างเป็นพาหนะ    เพราะถนนหนทางยังไม่ดี   ในปี 2518  จังหวัดเชียงรายเริ่มมีนักท่องเที่ยวทั้งคนไทยและต่างชาติเข้ามาเที่ยว   คนที่มีช้างจึงนำช้างมาให้นักท่องเที่ยวขี่  พาเไปชมธรรมชาติริมแม่น้ำกกและหมู่บ้านชนเผ่าต่างๆ เริ่มแรกมีช้างเพียง 4 ตัว

3

ต่อมาไกด์และบริษัทท่องเที่ยวได้นำรายการขี่ช้างที่บ้านรวมมิตรบรรจุไว้ในโปรแกรมการท่องเที่ยวเชียงราย      จึงทำให้การขี่ช้างที่บ้านรวมมิตรมีคนรู้จักมากขึ้น  และเมื่อมีการจัดทัวร์ล่องแม่น้ำกกจากท่าตอนมาที่เชียงราย  ปางช้างที่บ้านรวมมิตรจึงกลายเป็นจุดหมายปางทางของนักท่องเที่ยว  โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวต่างชาติที่ชอบการท่องเที่ยวแบบ Adventure สัมผัสกับธรรมชาติ   จึงทำให้ทัวร์ช้างที่บ้านรวมมิตรได้รับความนิยม  มีการจัดหาช้างจากจังหวัดต่างๆ  มาให้บริการนักท่องเที่ยวเพิ่มมากขึ้น   ช่วงปี 2554  จำนวนช้างที่บ้านรวมมิตรมีจำนวนถึง 35 เชือก

“ช่วงก่อนโควิดระบาด  ปางช้างบ้านรวมมิตรมีช้างกว่า 30 เชือก  มีนักท่องเที่ยวทั้งคนไทย  คนจีน  และฝรั่งมาเที่ยว  คิดราคานั่งช้างครึ่งชั่วโมง  300 บาท  หนึ่งชั่วโมง 500 บาท  นั่งได้ครั้งละ 2 คน  ทำให้ชาวบ้านมีรายได้  เพราะปางช้างที่นี่จะใช้วิธีการลงหุ้นกัน  และทำให้คนขายอาหารช้าง  คนขายของที่ระลึก  ขายเสื้อผ้า  ที่พักโฮมสเตย์  มีรายได้ด้วย  แต่พอโควิดระบาดนักท่องเที่ยวหายหมด  ตอนนี้ก็เริ่มดีขึ้นมาบ้าง”  พ่อหลวงหรือผู้ใหญ่บ้านบอกถึงสถานการณ์การท่องเที่ยวในช่วงโควิดจนถึงเดือนเมษายน 2566  ที่ผ่านมา

4
เส้นทางทัวร์ช้างและท่องเที่ยวชุมชนที่ชาวบ้านร่วมกันบริหารจัดการเอง

หากจะว่าไปแล้ว  ทัวร์ช้างที่บ้านรวมมิตรถือว่าเป็นการจัด ‘การท่องเที่ยวโดยชุมชน’   หรือการท่องเที่ยวเชิงนิเวศน์แห่งแรกๆ ของประเทศไทย  เพราะชาวบ้านร่วมกันบริหารจัดการเองตั้งแต่ปี 2518  เช่น  ใช้วิธีการลงหุ้นซื้อช้างมาเลี้ยงเพื่อให้บริการนักท่องเที่ยว  ไม่ใช่ลักษณะปางช้างแบบ ‘นายทุน’  ที่มีเจ้าของเพียงคนเดียว   นอกจากนี้ยังจัดตั้งเป็น ‘ชมรมทัวร์ช้าง’  มีคณะกรรมการบริหาร  มีการจัดคิวเพื่อให้บริการนักท่องเที่ยว  ฯลฯ

‘สีทน’  ผู้จัดการปางช้างชาวกะเหรี่ยงบ้านรวมมิตร  บอกว่า  ชาวบ้านที่นี่จะลงหุ้นกันซื้อช้างเพื่อนำมาให้บริการนักท่องเที่ยว   โดยจะลงหุ้นกันตามเครือญาติหรือคนที่รู้จักกัน  ช้างตัวหนึ่งอาจลงหุ้น 10-20 คน   หุ้นหนึ่งมีราคาตั้งแต่หมื่นบาทจนถึงแสนบาท  ตามราคาช้าง  ส่วนราคาช้างตัวหนึ่งปัจจุบันประมาณ 2 ล้านบาทขึ้นไป   หากเป็นช้างลักษณะดี   มีความสวยงาม  ราคาอาจสูงถึง 4 ล้านบาท   เมื่อมีรายได้จึงจะนำมาแบ่งกันตามข้อตกลงของคนที่ลงหุ้น

“พอโควิดระบาด  ไม่มีนักท่องเที่ยวมา  เจ้าของช้างไม่มีรายได้   ต้องขายช้างออกไป  ส่วนใหญ่ขายให้คนเลี้ยงช้างที่จังหวัดสุรินทร์  ตอนนี้ช้างที่บ้านรวมมิตรเหลืออยู่ 14 ตัว”  ผู้จัดการปางช้างบอก

5
ช้างตัวหนึ่งมีราคาไม่ต่ำกว่า 2 ล้านบาท  ตัวที่มีลักษณะดี  ราคาประมาณ 4 ล้านบาท

จากทัวร์ช้างสู่การพัฒนา

            การท่องเที่ยว ‘ทัวร์ช้าง’  ก่อนโควิดระบาด  ทำให้ชาวบ้านรวมมิตรและใกล้เคียงมีรายได้จากการท่องเที่ยวกันถ้วนหน้า  เพราะนอกจากนักท่องเที่ยวจะมาขี่ช้างแล้ว  ‘ชมรมทัวร์ช้าง’  ยังได้เชื่อมโยงเส้นทางท่องเที่ยวอื่นๆ ด้วย  เช่น  การล่องแพในแม่น้ำกก   ล่องเรือจากสะพานแม่น้ำกก  อ.เมืองเชียงราย  มายังบ้านรวมมิตร  มี ‘ทัวร์ล้อเกวียน’  ให้นัก ท่องเที่ยวนั่งเกวียน  การแสดงศิลปะ  วัฒนธรรมชนเผ่า   ที่พักโฮมสเตย์   ร้านอาหาร   ขายของที่ระลึก  เสื้อผ้า  ฯลฯ

นอกจากนี้  ในช่วงที่การท่องเที่ยวทัวร์ช้างอยู่ในยุคบูม (ก่อนปี 2555)  จำนวนช้างมีประมาณ 35 เชือก  ช้างตัวหนึ่งจะถ่ายมูลประมาณวันละ 40-50 กิโลกรัม   เมื่อช้างพานักท่องเที่ยวไปเที่ยวชมหมู่บ้านก็จะถ่ายมูลเรี่ยราด  วันหนึ่งรวมแล้วกว่า 1,000 กิโลกรัม  ทำให้เกิดความสกปรก เลอะเทอะ

ชมรมทัวร์ช้างจึงหาวิธีกำจัดมูลช้าง  โดยนำมูลช้างมาใช้ประโยชน์  เช่น  นำมูลช้างมาหมักและผลิตเป็นแก๊สชีวภาพ  ได้รับการสนับสนุนจากเทศบาลตำบลแม่ยาว   ผลิตแก๊สจำนวน 10 บ่อ  ใช้ในหมู่บ้าน 9 บ่อ  ในโรงเรียน 1 บ่อ    นอกจากนี้ชมรมทัวร์ช้างยังร่วมกับชาวบ้านร่วมกันจัดตั้งเขตอนุรักษ์พันธุ์ปลา   อนุรักษ์น้ำกก  จัดตั้งป่าชุมชน  ดูแลป่าอนุรักษ์เนื้อที่กว่า 500 ไร่  ฯลฯ

6
น้ำกกช่วงบ้านรวมมิตร  แม้จะห่างชายแดนพม่ากว่า 60 กิโลเมตร  แต่ฝุ่นควันข้ามแดนจากการเผาไร่ยังข้ามมาถึง

                เทวินฏฐ์  อัครศิลาชัย   ผู้อำนวยการสมาคมสร้างสรรค์ชีวิตและสิ่งแวดล้อม  จังหวัดเชียงราย  บอกว่า   บ้านรวมมิตรและพื้นที่ใกล้เคียงที่อยู่ริมแม่น้ำกกในจังหวัดเชียงรายเคยเป็นพื้นที่ที่จะมี ‘โครงการกก-อิง-น่าน’  ซึ่งเป็นโครงการผันน้ำจากแม่น้ำกก  จ.เชียงราย   แม่น้ำอิง  จ.พะเยา  และแม่น้ำน่าน  จ.น่าน  รวมประมาณปีละ 2,000 ล้านลูกบาศก์เมตรเข้าสู่เขื่อนสิริกิติ์ที่ จ.อุตรดิตถ์  เพื่อผันน้ำลงสู่ลุ่มน้ำเจ้าพระยาแก้ปัญหาขาดแคลนน้ำในภาคกลาง

โดยผู้เชี่ยวชาญจากองค์การไจก้า  ประเทศญี่ปุ่น  ได้ศึกษาความเหมาะสมเบื้องต้นตั้งแต่ปี 2541-2542  แล้ว  แต่รัฐบาลยังไม่ได้ทำ  เพราะมีการคัดค้านจากภาคประชาชนและกลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม  เนื่องจากกังวลเรื่องผลกระทบ เช่น  อาจจะเกิดน้ำท่วมพื้นที่ลุ่มน้ำ  ท่วมพื้นที่เกษตรริมน้ำและบ้านเรือนประชาชน   ปลาและสัตว์น้ำจะสูญพันธุ์  ฯลฯ

ทั้งนี้ที่ผ่านมา  สมาคมสร้างสรรค์ชีวิตฯ ได้เข้ามาให้ความรู้กับชาวบ้านเรื่องการอนุรักษ์น้ำกก  อนุรักษ์พันธุ์ปลา  สัตว์น้ำ  และพันธุ์พืช   โดยชาวบ้านรวมมิตรได้ร่วมรณรงค์คัดค้านโครงการกก-อิง-น่านด้วย  เพราะกลัวว่าจะเกิดผลกระทบต่างๆ  รวมทั้งผลกระทบต่อการท่องเที่ยวทัวร์ช้าง  เพราะบ้านรวมมิตรอยู่ริมน้ำกก

อย่างไรก็ตาม   แม้โครงการกก-อิง-น่านจะไม่เกิดขึ้น  แต่ก็มีความพยายามของหลายฝ่ายที่จะรื้อฟื้นโครงการนี้ขึ้นมาอีก  เช่น  ในเดือนมีนาคม 2563  คณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางการบริหารจัดการลุ่มน้ำทั้งระบบ ได้ลงพื้นที่สำรวจพื้นที่โครงการกก-อิง-น่าน  ที่เชียงราย  พะเยา และน่าน   ชาวบ้านจึงยังเฝ้าระวัง  และติดตามข้อมูลโครงการนี้ว่าจะเดินหน้าต่อไปอย่างไร

ขณะเดียวกัน  สมาคมสร้างสรรค์ชีวิตฯ  ได้เข้ามาสนับสนุนการพัฒนาอาชีพของชาวกะเหรี่ยงบ้านรวมมิตร  เพื่อยกระดับการจัดการท่องเที่ยวโดยชุมชน  และพัฒนาสินค้า ‘ผ้าทอกะเหรี่ยง’ รวมทั้งส่งเสริมการทำเกษตรอินทรีย์  ปลูกผักสวนครัว  ผักสลัด  เริ่มโครงการในปี 2564   ได้รับงบประมาณสนับสนุนจากกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.)

7
ป้าสมัย   ชาวกะเหรี่ยงบ้านรวมมิตรกับผ้าทอที่กำลังจะพัฒนารูปแบบใหม่ๆ

ป้าสมัย  ตะไนย  อายุ 54 ปี   สมาชิกกลุ่มทอผ้าบ้านกะเหรี่ยงรวมมิตร  บอกว่า  กลุ่มมีสมาชิก 30 คน  จัดตั้งกลุ่มตั้งแต่ปี 2547  สมาชิกจะต้องถือหุ้นอย่างน้อยคนละ 2 หุ้นๆ ละ 50 บาท  เมื่อมีกำไรจะหักเงินเข้ากลุ่ม 10 %  เป็นกองกลางเอาไว้บริหารกลุ่ม  เป็นรายได้เสริมให้ครอบครัว  เพราะส่วนใหญ่จะทำนา  ปลูกสับปะรด  คนหนึ่งจะมีรายได้จากงานทอผ้า  ประมาณ 2,000-3,000 บาทต่อเดือน  ส่วนใหญ่จะผลิตผ้าทอ  เสื้อ  ผ้านุ่ง  ชุดกะเหรี่ยง  ฯลฯ  ขายให้นักท่องเที่ยว  และไปขายในงานออกร้านต่างๆ  ราคาตั้งแต่  400-500 บาทขึ้นไป  แต่รูปแบบเสื้อผ้า  ลวดลายยังเป็นแบบเดิม

“สมาคมฯ เข้ามาส่งเสริมให้สมาชิกกลุ่มได้พัฒนาผ้าทอกะเหรี่ยง  สอนให้ย้อมสีผ้าจากธรรมชาติ  ใช้ใบไม้  เปลือกไม้ที่มีอยู่ในหมู่บ้านเอามาย้อมสี  เช่น  เปลือกประดู่จะให้สีน้ำตาล  ใบอะโวคาโด้ให้สีเทา  ดอกดาวเรืองให้สีเหลืองส้ม  ไม่ต้องเสียเงินซื้อสีเคมี  และผ้าย้อมสีธรรมชาติจะไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม  สารเคมีไม่ไหลลงแม่น้ำ  ใส่ก็สบาย  และสอนเรื่องผ้ามัดย้อม  การออกแบบ  ตัดเย็บเสื้อผ้า เพื่อกลุ่มจะได้มีสินค้าใหม่ๆ  ดูทันสมัย”  ป้าสมัยบอก

เทวินฏฐ์  ผู้อำนวยการสมาคมสร้างสรรค์ชีวิต ฯ  เสริมว่า   บ้านกะเหรี่ยงรวมมิตรถือเป็นต้นแบบในการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม   โดยชาวบ้านได้ช่วยกันอนุรักษ์น้ำกก   พันธุ์ปลาและสัตว์น้ำ  ดูแลป่าไม้  สิ่งแวดล้อม  และนำต้นทุนทางธรรมชาติและวัฒนธรรมต่างๆ  มาสร้างอาชีพ  สร้างรายได้   และนำมาจัดการท่องเที่ยวโดยชุมชนเอง  เป็นต้นแบบการท่องเที่ยวที่ยั่งยืน…ที่ชาวบ้านได้ประโยชน์   !!

8

เรื่องและภาพ :  สำนักพัฒนานวัตกรรมชุมชนจัดการความรู้และสื่อสาร  สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ