#2 ลองปลูกไม้กำ รองเท้านารีคางกบคอแดง Paph. appletonianum

ทิ้งท้ายไว้เมื่อคราที่แล้วครับว่าอีกหนึ่งเดือนจะมารายงานความคืบหน้าของรองเท้านารีคางกบคอแดง ปรากฎว่ามีเวลาน้อยมากในช่วงที่ผ่านมา

บทความครั้งก่อนหาอ่านได้ที่นี่นะครับ

Capture

 

 

เผลอยุ่งๆ วุ่นวายต่างๆในปีที่แล้ว แป๊ปเดียว 10 เดือนผ่านไป เลยอยากชวนมาดูความคืบหน้าของต้นทดลองทั้ง 4 กระถางที่ได้ลองปลูกไว้

โดยรวมต้น รองเท้านารีคางกบคอแดงเหล่านี้จะอยู่ในสภาพที่โตช้ากว่าปกติมากครับ เนื่องจากช่วงครึ่งหลังของปี 2556 นั้นถูกทอดทิ้งมาก รดน้ำให้เขาไม่เกินเดือนละครั้ง สงสารเขามาก เลยได้ข้อคิดอีกหนึ่งอย่างมาว่า เวลาคือศัตรูตัวร้ายของรองเท้านารี  แต่อย่างไรก็ตามในวันนี้จะพอเห็นถึงความคืบหน้าที่พอจะสังเกตุได้ ลองดูที่ใบคู่ใหม่ก็แล้วกันนะครับ ทั้งหมดนี้รดน้ำ ให้ปุ๋ย แบบเดียวเวลาเดียวกันหมดครับ

ต้นที่หนึ่ง เครื่องปลูกคือ เศษกิ่งไม้ขนาดเล็ก เศษใบก้ามปูหมักและดินที่ติดมา หินกรวด เพอร์ไลท์

25570208-_DSF8526

25570208-_DSF8527

 

 

ต้นที่สอง เครื่องปลูกคือ เปลือกสนนิวซีแลนด์ ผสมเพอร์ไลท์นิดหน่อย รองก้นถ้วยด้วยหินกรวด

25570208-_DSF8528

25570208-_DSF8529

 

 

ต้นที่สาม เครื่องปลูกคือ กาบมะพร้าวสับคลุกกับเพอร์ไลท์ รองก้นกระถางด้วยหินกรวด (ที่เห็นหินกลมๆแค่อุดช่องใว้ด้านบนเท่านั้น)

25570208-_DSF8531

25570208-_DSF8532

 

 

 

 

ต้นที่สี่ ปลูกด้วยนิวซีแลนด์สแปคนั่มมอส ดลุกกับหินกรวดและเพอร์ไลท์นิดหน่อยให้พอไม่แน่นมาก

ผลคือ เน่าตายครับ ผ่านไปสักระยะ พอรดน้ำบ่อยๆ มอสจะอัดแน่นที่ราก เกิดเชื้อราดำแล้วก็เน่ามาที่โคนต้น

ดูจากภาพก็พอเห็นนะครับ ขอบคุณที่ติดตาม

ลองปลูกไม้กำ รองเท้านารีคางกบคอแดง Paph. appletonianum

Illustration of Paphiopedilum appletonianum (a...

ตั้งแต่เริ่มเลี้ยงรองเท้านารีมาด้วยกันหลายปี เคยแต่ซื้อรองเท้านารีเป็นต้นเป็นกระถาง เป็นตระกร้าๆ หรือมาเป็นขวดก็แล้วแต่ เลยยังไม่เคยลองปลูกไม้กำเลย เพราะเป็นไม้ที่ผู้เลี้ยงต้องเสี่ยงเอาว่าดอกจะสวยหรือเปล่า และมักจะมีเชื้อโรคติดมา ใบมักจะถูกกัดกิน มีรอยช้ำเน่าแห้งบ้าง แต่แล้วก็มาถึงวาระที่ต้องปลูกเนื่องจากได้รองเท้านารีคางกบคอแดงมาหนึ่งกำจากการสนับสนุนโดยเจ้แดงติดมือมาฝาก แกะออกมาดูลายแทงบนใบสวยมาก คอแดงสวย หลังใบเวลาจับแดดเหมือนมีแสงเงินๆเทาสะท้อนด้วย ไม่รู้อยู่ป่ากินอะไรมา

พอทราบว่าเป็นรองเท้านารีคางกบคอแดง ก็จึงทำการค้นคว้าข้อมูลดูและพบว่า

รองเท้านารีคางกบคอแดง
ชื่อวิทยาศาสตร์ Paphiopedilum appletonianum (Gower) Rolfe 1896
ชื่อภาษาอังกฤษมาจากนาย W.M. Appleton ซึ่งเป็นบุคคลแรกในยุโรปที่สามารถเลี้ยงคางกบคอแดงออกจนดอกได้ 

ลักษณะ กล้วยไม้ดิน ลำต้นสั้น และแตกกอ
ใบ ใบมีจำนวนมาก รูปขอบขนานเรียงสลับระนาบเดียว ด้านบนของใบ มีลายคล้ายหินอ่อน 
ดอก ออกดอกเดี่ยว สีแดงอมชมพู ส่วนโคนกลีบสีเขียว ใบประดับรูปหอก ดอกกว้าง 6 ซม. กลีบเลี้ยงบนรูปไข่กลับแกมรูปขอบขนาน กลีบเลี้ยง คู่ข้างเชื่อมกัน กลีบดอกรูปแถบแกมรูปไข่กลับ ปลายกลีบบางครั้งมี แฉกขนาดเล็กสองแฉก กลีบขนานกับพื้น กลีบปากเป็นถุงลึก ขอบ กลีบด้านบนเรียบไม่ม้วนเข้า 

ฤดูออกดอก มีนาคม – พฤษภาคม 
ในประเทศไทยพบที่ตราด ระยอง และจันทบุรี 

อีกแหล่งข้อมูลให้ใว้ว่า รองเท้านารีคางกบคอแดงในธรรมชาติจะพบขึ้นอยู่ตามพื้นดิน ดินปนกรวดหิน โขดหินที่ปกคลุมด้วยมอสและใบไม้ผุ มักพบอยู่บนพื้นใต้ร่มเงาของต้นไม้ใหญ่ในป่าดิบชื้น และพบในป่าที่มีความสูง 700 – 2000 เมตรเหนือระดับน้ำทะเล

อืม ค่อนข้างสูงทีเดียว แปลว่าชอบชื้นๆ เย็นๆ แสงน้อยๆ หน้าร้อนแล้งๆ หน้าฝนฉ่ำๆ หน้าหนาวแล้งๆแดดแรงๆ เหรอ เดาไปก่อน ต้องลองดู

ย้อนไปในช่วงระหว่างที่ค้นคว้าข้อมูลเรื่องเครื่องปลูกรองเท้านารีมาหลายปี ก็ได้พบกับสูตรเครื่องปลูกต่างๆมากมายทั้งของไทยของนอกที่เป็นที่นิยมกัน เราเองก็มีความคิดอยากทดลองเครื่องปลูกสูตรต่างๆดู บวกกับได้ไม้กำนี้มาเลยเอามาลองสักหน่อยละกัน

รองเท้านารีคางกบคอแดง
Paph. appletonianum

รากอยู่ในสภาพดี แห้งสะอาด ตัดแต่งมาอย่างดีเลย

ลายใบสวยงาม สีใบสวยถูกใจ

คอแดงสวย สภาพโดยรวมดีมาก แกะออกแล้วผึ่งใว้ให้เขาคลายตัวสบายๆ ได้สัมผัสกับอากาศที่บ้านใหม่ของเขาก่อน ถ้าเขาแห้งมากๆ จะเอาละอองน้ำฉีดพรมบางๆให้ทั่วก่อนก็ได้

หลังจากผึ่งใว้หนึ่งคืนนอกบ้าน เช้ามาชื้นๆน้ำค้างนิดหน่อย เราก็นำมาล้างพอประมาณ ระวังอย่าให้รากช้ำ มีสาปป่าติดนิดหน่อยไม่เป็นไร ผึ่งให้แห้งหมาดๆ แล้วนำลงแช่ในน้ำผสมน้ำยาเร่งราก ฮอร์โมนเร่งราก แล้วแต่ชอบกัน ใส่ยากันเชื้อราลงไปด้วยเลย แช่ใว้สักสิบถึงสิบห้านาที หลังจากนั้นก็นำออกมาผึ่งให้แห้งหมาดๆก่อนนำลงปลูกต่อไป

ด้วยความอยากทดลองก็เลือกต้นโทรมที่สุดออกมาสี่ต้น แต่ละต้นปลูกด้วยเครื่องปลูกที่แตกต่างกันโดยใช้สูตรที่ได้มาจากแหล่งต่างๆ

ต้นที่หนึ่ง เครื่องปลูกคือ เศษกิ่งไม้ขนาดเล็ก เศษใบก้ามปูหมักและดินที่ติดมา หินกรวด เพอร์ไลท์

ต้นที่สอง เครื่องปลูกคือ เปลือกสนนิวซีแลนด์ ผสมเพอร์ไลท์นิดหน่อย รองก้นถ้วยด้วยหินกรวด

ต้นที่สาม เครื่องปลูกคือ กาบมะพร้าวสับคลุกกับเพอร์ไลท์ รองก้นกระถางด้วยหินกรวด โปรดสังเกตุว่าต้นนี้ใบจะโทรมเหี่ยวกว่าต้นอื่น เลือกมาปลูกกับกาบมะพร้าวสับ เนื่องจากศึกษาข้อมูลจากเวปของ Antec ในอดีตเขาปลูกด้วยเปลือกสนเป็นหลัก แต่ที่สุดได้เลิกใช้แล้วหันมาใช้กาบมะพร้าวสับเป็นเครื่องปลูกหลักในการปลูกรองเท้านารี

ต้นที่สี่ ปลูกด้วยนิวซีแลนด์สแปคนั่มมอส ดลุกกับหินกรวดและเพอร์ไลท์นิดหน่อยให้พอไม่แน่นมาก

หลังจากนี้ก็นำไปใว้ในที่แสงน้อยๆ สักสองถึงสามวันก็มาตรวจดู รดน้ำเท่าที่จำเป็น ปุ๋ยใบยังไม่ต้องให้ รอให้รากเดินก่อน น้ำก็ยังไม่รดมาก ปล่อยให้แห้งหมาดๆบ้าง อ่านมาว่ามันจะช่วยกระตุ้นให้เกิดรากใหม่เพื่อเสาะหาอาหาร ถ้าได้รับน้ำตลอดเวลามันก็สบายเกินไม่ต้องทำอะไร หลังจากนั้นทุกอาทิตย์ก็รดน้ำผสมน้ำยาฮอร์โมนเร่งราก ผ่านไปหนึ่งเดือนดูเหมือนยังไม่มีอะไรเกิดขึ้น ณ วันที่เขียนเป็นเวลาห้าสัปดาห์พอดี ต้นและใบโดยรวมก็ดูดีขึ้น ใบที่พับอ่อนก็เริ่มตั้งตัวได้พอควร แต่สิ่งที่เราต้องการตอนนี้คือรากใหม่ซึ่งต้องนำออกมาดู

กระถางแรกปลูกด้วยเศษไม้ เศษดินหลวมๆ รากดูคล้ายเดิมมาก แต่สีออกดำและมีเศษดินจับ ไม่มีรากใหม่งอกออกมา

กระถางที่สองปลูกด้วยเปลือกสนผสมเพอร์ไลท์ มีรากใหม่แทงออกมาบริเวณโคนต้น รากเดิมมีสีเข้มขึ้น

รากใหม่แทงออกมาบริเวณโคนต้นสองรากเล็กๆ มีขนอุยออกที่รากเดิม

กระถางที่สาม ปลูกด้วยกาบมะพร้าวสับคลุกกรวดและเพอร์ไลท์ มีรากใหม่แทงออกมาอย่างชัดเจน

รากใหม่แทงออกมาสองราก ยาวกว่าต้นก่อนหน้าอย่างชัดเจน

กระถางที่สี่ ปลูกด้วยสแปคนั่มมอสคลุกเพอร์ไลท์ ไม่มีอะไรเกิดขึ้น สีของรากดูอ่อนสุด ส่วนต้นก็ดูสดชื่นดีเหมือนทุกๆต้น

ข้อสันนิษฐานเท่าที่สังเกตุเห็นได้ในตอนนี้คือ กระถางแรกเครื่องปลูกแห้งเร็วมาก ไม่เก็บความชื้นเลย ส่วนกระถางที่สี่ สแปคนั่มมอส อันนี้คาดว่ารากได้ความความชื้นมากๆ เลยกลับมามีชีวิตอีกครั้งโดยไม่ยอมแตกรากใหม่ และการใช้มอสเป็นส่วนใหญ่นั้นอากาศเปลี่ยนถ่ายได้ยาก หลายท่านคงจะเคยอ่านพบข้อมูลว่าเวลาเรียกรากให้ใช้สแปคนั่มมอส ลองดูไปอีกสักพักก็แล้วกัน

ตอนนี้ไม้ทั้งสี่ต้นได้ถูกปลูกกลับไปในกระถางเดิม โดยที่กระถางที่หนึ่ง เนื่องจากเครื่องปลูกมีความแห้งมาก และยุบหายไปจึงเสริมด้วยกาบมะพร้าวสับลงไปพอควร เพื่อพิสูจน์มนต์ขลังของเครื่องปลูกพื้นบ้านที่หาง่ายราคาถูกและฟรีในหลายๆพื้นที่เสียด้วยซ้ำ

English: Appleton's Paphiopedilum

อีกสักหนึ่งเดือนเรามาดูกันว่าจะมีความคืบหน้าอะไรบ้างนะครับ ขอบคุณที่ติดตามการทดลองแบบบ้านๆ

ปลูกรองเท้านารีอย่างไรดี ?

Paph thaianum 4สำหรับหลายท่านที่มีประสบการณ์ในการปลูกเลี้ยงกล้วยไม้มาแล้วในระดับหนึ่ง ก็คงเป็นเรื่องไม่ยากที่ท่านจะสามารถเลี้ยงรองเท้านารีได้ดี ที่จริงแล้วทุกท่านสามารถเลี้ยงรองเท้านารีได้ดี เพียงแต่ท่านเข้าใจเธอให้ดี ให้เธอได้ในสิ่งที่ต้องการ ทำการค้นคว้าความรู้เกี่ยวกับสายพันธ์นั้นๆ ไม่ต้องรีบ ปลูกช้าไปเดือนนึงรองเท้านารีก็ไม่โตกว่ามากหรอก แถมใจเย็นๆ ปลูกให้ดีๆ สร้างสภาวะแวดล้อมที่ดีต้นจะโตดี แข็งแรงและต้านทานโรคได้ดีกว่า และอีกอย่างการเปลี่ยนกระถางและเครื่องปลูกบ่อยๆก็จะทำให้รองเท้านารีชะงักการเจริญเติบโตได้อย่างน้อยๆก็หลักเดือน

ทีนี้มาตอบคำถามที่จั่วหัวเอาใว้กันดีกว่าว่าหากจะเริ่มต้นปลูกรองเท้านารีอย่างไรดี รองเท้านารีของเราจึงจะเติบโต งดงาม รองเท้านารีที่มีชื่อเสียงกันว่าเลี้ยงยากนั้นสาเหตุหลักๆเลยก็คือ รองเท้านารีสายพันธ์ุพื้นเมืองที่พบหากันได้ง่ายในบ้านเรานั้นจะมีลักษณะของรากที่เป็นกลุ่มแน่น และรากจะมีลักษณะอ้วนอุ้มน้ำ เปราะ หักได้ง่ายเมื่อเป็นแผลก็เป็นจุดที่เชื้อโรคโจมตี อันนี้เป็นลักษณะเฉพาะของรองเท้านารีที่เป็นสาเหตุใหญ่ที่ผู้เลี้ยงรองเท้านารีใหม่ๆมักจะมีปัญหากับเรื่องเน่าตายได้ง่ายเนื่องจากพฤติกรรมการรดน้ำยังไม่เหมาะสม อีกอย่างคือรากของรองเท้านารีที่สมบูรณ์จะมีขนรากเล็กๆเป็นจำนวนมากที่คอยทำหน้าที่ในการแสวงหาอาหาร รากต้องการการเปลี่ยนถ่ายของอากาศเพื่อรักษาระบบนิเวศน์ของต้นตามธรรมชาติ หากรากรองเท้านารีถูกอัดแน่นเกินไปด้วยเครื่องปลูกหรือรากรองเท้านารีชุ่มน้ำอยู่ตลอดเวลา รากก็จะอ่อนแอลงเรื่อยๆ เมื่อค้นคว้าข้อมูลถิ่นฐานของรองเท้านารีดูจะพบว่า รองเท้านารีในธรรมชาติหลักๆจะขึ้นอยู่ตาม

  1. รอยแยกของหินปูนตามหน้าผาที่มีเศษกิ่งไม้และใบไม้ผุทับถมอยู่
  2. เกาะอยู่ตามกิ่งไม้และลำต้นของต้นไม้ใหญ่ รากเลื้อยไต่ไปตามเปลือกของต้นไม้ หากินแบบอิงอาศัย
  3. เกาะอยู่ตามรากไม้ของต้นไม้ใหญ่ รากบางส่วนอยู่ลอยเหนือพื้นเลื้อยเกาะไปตามโขดหินทีมีมอสปกคลุม และรากบางส่วนชอนไชลงไปในกองใบไม้ กิ่งไม้ผุ
  4. อยู่ใต้ต้นไม้ใหญ่ รากหยั่งลงในดินปนทรายหรือกรวดหินที่มีสภาพร่วนซุย ชั้นไม่หนา ด้านบนปกคลุมด้วยกิ่งไม้และใบไม้ผุบางๆ

จากนิเวศน์ข้างต้นจะเห็นได้ว่ารองเท้านารีในธรรมชาติยามได้รับน้ำจากน้ำฝน น้ำตกกระเซ็น น้ำค้าง น้ำไหลมาแล้วจะผ่านไป รากจะดูดซึมน้ำเก็บใว้ และอีกวิธีคือรากจะดูดความชื้นจากอากาศโดยเฉพาะหมอกในป่ายามเช้า การปลูกรองเท้านารีด้วยเปลือกสนและหินต่างๆเป็นที่จึงนิยมมาก หลายๆคนก็ชอบผสมใบก้ามปูหมักลงไปหนึ่งในสิบส่วนเพื่อเลียนแบบรองเท้านารีในธรรมชาติ แต่จะบอกให้ว่าปลูกด้วยอะไรก็ได้ ยกเว้นดินที่ใช้ปลูกต้นไม้ วัสดุปลูกที่นิยมกันทั่วไป หาได้ง่าย ราคาไม่แพง ไม่ต้องนำเข้า นำกลับมาใช้ใหม่ได้ วัสดุที่นิยมยกตัวอย่างเช่น

  1. เปลือกสน เปลือกไม้ ตัวนี้มีข้อเสียคือสลายตัวเร็ว ปลูกไปแน่นๆ เดือนเดียวเริ่มยุบแล้ว ถ้านานๆเข้ามันจะยุบทับๆกันลงไปแล้วภายในจะอมน้ำมาก อีกอย่างคือเกิดราขาวได้ง่าย ที่สำคัญคือเปลือกสนที่ขายกันแล้วบอกว่ายี่ห้ออะไรต้าร์ๆเนี่ย เช็คแหล่งให้ดีเพราะอาจถูกนำของจีนมาให้ ซึ่งคุณภาพต่ำมาก เดือนเดียวยุบเห็นๆ ถ้ายุบมากๆจะอมน้ำ
  2. กาบมะพร้าวสับ คลาสสิคมาก หาง่าย ราคาถูก ก่อนใช้ต้องแช่น้ำให้น่วม อย่างน้อยสามวัน ซาวจนน้ำใสคัดเอาแต่ที่เป็นชิ้นๆ เศษเอาไปทำอย่างอื่น
  3. นิวซีแลนด์ สแฟกนั่มมอส มักใช้ผสมกับเครื่องปลูกอื่นเนื่องจากอมน้ำมาก ความชื้นสูงมาก แต่มีประโยชน์มากในการอนุบาลไม้หักไม่มีราก หรืออนุบาลไม้ที่รากไม่แข็งแรง
  4. รากเฟิร์น
  5. พีทนักเกต พีทมอส
  6. หินกรวด หินแม่น้ำ หินก่อสร้าง กรวดหยาบ ทรายหยาบ
  7. หินภูเขาไฟ
  8. ขี้ตากระถาง เศษกระถางแตก
  9. ถ่านไม้
  10. โฟมหัก โฟมเม็ด เป็นต้น

ถ้าเป็นพวกแนวอินดี้ ซึ่งได้รับความนิยมมากขึ้นเรื่อยๆในการปลูกรองเท้านารี คือแนวเซมิไฮโดร (semi-hydro) ปลูกในแก้วใสที่มีแหล่งน้ำสำรอง วัสดุที่ใช้ก็เป็นประเภทที่ไม่ย่อยสลายเท่านั้น วัสดุเหล่านี้ได้แก่

  1. วัสดุหลักคืดไฮโดรตรอน ตอนนี้มีออกมาหลายแบบ หลายทรง เวลานำมาแช่น้ำต้องไม่จม ไม่อมน้ำ แข็งไม่แตกหักง่าย และที่สำคัญคือเวลาอยู่ในถ้วยที่มีน้ำหล่อด้านล่างประมาณ 1 เซนติเมตร ตั้งทิ้งใว้สิบนาที่ ส่วนที่อยู่เหนือระดับน้ำต้องชื้น ถ้าไม่ชื้นไม่ดีเอามาใช้ต้องระวังการขาดน้ำมากๆ แต่บ้านเราผู้ที่ใช้ไฮโดรตรอนโดยมากใช้แบบเป็นวัสดุปลูกทั่วไป ก็ไม่ต้องห่วงมาก
  2. หินกรวด หินแม่น้ำ หินที่มีรูพรุนเช่น หินภูเขาไฟ ตัวนี้คนที่ใช้ก็บอกว่ามันโปร่ง อุ้มน้ำพอเหมาะ คนที่ไม่ชอบก็บอกว่าหินภูเขาไฟนี่อาจมีแร่ธาตุที่อันตรายเจือปนอยู่ซึ่งอาจเป็นกรดได้เวลาใช้ไปนานๆ หินโดโลไมท์ ตัวนี้คนที่ใช้ก็บอกว่ามันมีแคลเซียมกับแมกนีเซียมอยู่  คนที่ไม่ชอบก็บอกว่ามันคงจะละลายน้ำหรอกนะ หินนะ
  3. เพอร์ไลท์หยาบ ข้อดีมีมาก แต่ข้อเสียคือมดชอบมากโดยเฉพาะมดตัวดำๆใหญ่หน่อย พอเผลอมันจะมาแอบขนเพอร์ไลท์ออกไปเป็นริ้วขบวนขาวไสว มันคงคิดว่าเป็นไข่ของนางพญา
  4. เวอร์มิคูไลท์หยาบ มดไม่ขน แต่ถ้าโดนทับๆกันมากมันจะยุบ

ทั้งหมดที่ยกตัวอย่างมาใช้อะไรก็ได้ สำคัญคือต้องไปปรับใช้กับสภาพแวดล้อมที่ท่านปลูก ลมดีไหม แสง อุณหภูมิ เครื่องปลูกต้องรักษาความชื้นไว้ให้ราก ชื้นไม่แฉะ มีช่องให้อากาศหมุนเวียนผ่านเข้าไปที่รากบ้าง รดน้ำตอนเช้า ช่วงเย็นต้องไม่ฉ่ำแฉะ และไม่มีน้ำพักค้างบนใบ วันรุ่งขึ้นถ้าเครื่องปลูกกับรากยังชื้นๆอยู่ ก็ยังไม่ต้องรดน้ำ มันไม่ตายหรอก แต่ถ้ารดมันเช้าเย็นทุกวัน รองเท้านารีไม่ชอบ รากจะเน่า และจะลามเนื่องจากเชื้อโรคกินมาที่ลำต้น ลองสังเกตุรากที่บริเวณโคนต้น เวลารดน้ำเสร็จใหม่ๆ สีของรากรองเท้านารีจะเข้ม ดูอิ่มน้ำ เมื่อเวลาผ่านไป สีจะเริ่มอ่อนลง แต่อย่าให้ถึงกับแห้งจัด

Paph root

รากที่ได้รับความชื้นและอากาศ จากการใช้เครื่องปลูกที่เหมาะสม ก็จะงอกงามไม่หยุดนิ่ง

การสังเกตุที่ผิวของเครื่องปลูกนั้นก็ไม่สามารถบอกได้ว่าข้างในเป็นอย่างไร ก็จะขอแนะนำเทคนิคที่เห็นนิยมใช้กัน

แบบที่หนึ่ง ใช้ไม้เช่นไม้เสียบลูกชิ้น ไม้ไอดิม เสียบลงไปในเครื่องปลูกทิ้งไว้ แล้วเราสามารถดึงขึ้นมาดูได้ เหมือนก้านวัดน้ำมันเครื่อง แต่ผมไม่ได้ใช้เพราะไม่อยากให้มันไปกระทบโดนราก แต่หลายท่านที่ใช้ก็เห็นรองเท้านารีของท่านออกดอกงามดีนะครับ

แบบที่สอง ใช้การคำนวณน้ำหนักของกระถางด้วยการยก หลังจากรดน้ำเสร็จใหม่ๆ กระถางจะมีน้ำหนักสูงสุด และจะเริ่มเบาลงเรื่อยๆเนื่องจากน้ำที่ระเหยออกไป เราก็ยกดูหลังรดน้ำเสร็จ ตอนเย็นก็ลองยกดู เช้าวันที่สองก็ลองยกดู ตกเย็นวันที่สองก็ยกดู ก็จะเริ่มรู้สึกได้ว่ามันเบาไหม ถ้ามันเบาก็อย่าไปรดน้ำ เพราะว่ามันเป็นตอนเย็นแล้ว เช้าวันที่สามลองยกดูถ้ามันเบา เบาจนกลัวว่ารองเท้านารีของเราต้องตายแน่ๆ ก็ให้รดน้ำให้ชุ่ม 2 รอบ อันนี้เป็นแค่ตัวอย่าง คนเลี้ยงรองเท้านารีรดน้ำทุกวันก็มี ทุกสองวันสามวันสี่วันก็มี ไม่มีตารางเวลาประจำก็มี เราต้องลองกับสภาพแวดล้อมที่เราเลี้ยงรองเท้านารีดูเอง วิธีนี้ถ้าที่บ้านมีเครื่องชั่งเล็กๆก็เอามาใช้ได้เลย จดน้ำหนักในแต่ละช่วงเอาใว้ ทำสักไม่กี่ครั้งก็ชำนาญ ยกดูทีเดียวก็รู้ไม่ต้องชั่งแล้ว ท่องคาถาใว้อย่างเดียว อย่าให้รากเน่า

แบบที่สาม ปลูกในกระถางพลาสติกใสที่สามารถมองเห็นเครื่องปลูกและรากได้ ทีนี้ก็ใช้ประสบการณ์ดูเอาง่ายดี แต่กระถางแบบนี้หายาก ให้ดัดแปลงเอากระป๋องพลาสติกถูกๆมาเจาะรู

ใช้ขวดน้ำอัดลมส่วนล่าง นำมาเจาะรูที่ก้น และโดยรอบข้าง

ใช้ขวดน้ำอัดลมส่วนล่าง นำมาเจาะรูที่ก้น และโดยรอบข้าง

แบบที่สี่ ปลูกในการถางดินเผา พร้อมถาดหล่อน้ำ เทคนิคนี้ปรับใช้สำหรับคนที่มีเวลาน้อยได้ใช้โดยเฉพาะในช่วงหน้าร้อน หน้าหนาว หน้าฝนห้ามเด็ดขาด ให้เอากระถางวางใว้บนถาดที่มีหินกรวดโรยใว้สูงสัก 1-2 เซนติเมตร ถ้าวันไหนรีบแล้วไม่มีเวลารดน้ำ หรือว่าอยู่ดีๆอากาศร้อนจัด เราก็เติมน้ำในถาดใว้ปริ่มๆหิน แจะๆก้นกระถาง กระถางดินเผาจะดูดความชื้นขึ้นไป แล้วน้ำในถาดก็จะระเหยสร้างความชื้นรอบๆต้น ผมใช้วิธีนี้สามารถยืดเวลารดน้ำออกไปได้อีก 2-3 วันเวลาไม่สะดวก หรือเวลาที่ดูแล้วไม่แน่ใจว่าควรรดน้ำหรือยัง มันก้ำกึ่งอยู่ก็ใช้เติมน้ำเอา แต่ต้องระวัง ช่วงบ่ายคล้อยๆ น้ำต้องระเหย ก้นกระถางต้องไม่แช่น้ำแล้ว ถ้าก้นกระถางยังแช่น้ำอยู่ ให้ยกออก แล้ววันหลังอย่าเติมมาก ค่อยๆเติม

ในเวปของต่างประเทศเขาบอกว่า ให้รดน้ำรองเท้านารีในเวลาที่รองเท้านารีต้องการ หากท่านเข้าใจหลักการข้างต้นแล้วก็ง่าย ว่ามาซะยาวสรุปง่ายๆเลยคือ ถ้าเธอยังเปียกๆอยู่หรือชื้นมากๆก็อย่าเพิ่งไปรดน้ำ ให้เวลาเธอได้หายใจสบายๆบ้าง ถ้าดูแล้วไม่แน่ใจ วันรุ่งขึ้นค่อยรด

อันนี้ก็เป็นความรู้และเทคนิคเล็กๆน้อยๆในการดูแลรองเท้านารีที่เก็บมาฝากกัน เผื่อว่าท่านจะได้ไอเดียใหม่ๆไปปรับใช้กันกับรองเท้านารีที่ท่านรักนั่นเอง