ค้นหางานศิลปกรรม

ฐานข้อมูลศิลปกรรมในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

 
 
 
 
 
 
 

เจดีย์วัดช้างล้อมศรีสัชนาลัย

คำสำคัญ : เจดีย์ช้างล้อม, วัดช้างล้อมศรีสัชนาลัย

ชื่อเรียกอื่น-
ชื่อหลักวัดช้างล้อมศรีสัชนาลัย
ชื่ออื่น-
ประเภทงานศิลปะสถาปัตยกรรม
ตำบลเมืองเก่า
อำเภอเมือง
จังหวัดสุโขทัย
ภาคภาคกลาง
ประเทศไทย
พิกัดภูมิศาสตร์
ค่าองศาทศนิยม
Lat : 17.431952
Long : 99.785121
พิกัดภูมิศาสตร์
พิกัดกริด
Zone : 47 Q
Hemisphere : N
E : 99.785121
N : 1927511.96
ตำแหน่งงานศิลปะแกนกลางวัด

ประวัติการสร้าง

วัดช้างล้อมและเจดีย์ช้างล้อมอันเป็นประธานของวัดไม่ปรากฏหลักฐานการสร้างที่แน่ชัด เพราะไม่พบหลักฐานลายลักษณ์อักษรเอ่ยถึงประวัติความเป็นมาจากวัดแห่งนี้ อย่างไรก็ตาม นักวิชาการบางท่านเชื่อว่าอาจสร้างขึ้นมาแล้วตั้งแต่สมัยพ่อขุนรามคำแหงมหาราช โดยอ้างอิงจากจารึกหลักที่ 1 ของพระองค์ ที่มีข้อความตอนหนึ่งว่า “...1207 ศก ปีกุน ให้ขุดเอาพระธาตุออก ทั้งหลายเห็นกระทำบูชาบำเรอแก่พระธาตุได้เดือนหกวัน จึ่งเอาลงฝังกลางเมืองศรีสัชชนาลัย ก่อพระเจดีย์เหนือหกเข้าจึ่งแล้ว ตั้งเวียงผาล้อมพระมหาธาตุ สามเข้าจึ่งแล้ว...” บางท่านเชื่อว่าข้อความในจารึกดังกล่าวนี้ควรหมายถึงการสร้างเจดีย์วัดช้างล้อมนั่นเอง

อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันนักวิชาการส่วนใหญ่มีความเห็นว่าเจดีย์องค์นี้น่าจะสร้างขึ้นภายหลังจากสมัยพ่อขุนรามคำแหงมหาราช โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสมัยพระยาลิไท หรือราวปลายพุทธศตวรรษที่ 19-ต้นพุทธศตวรรษที่ 20 อันเป็นระยะเวลาที่พุทธศาสนาสายที่สัมพันธ์กับลังกาได้รับความนิยม เจดีย์ช้างล้อมซึ่งเกี่ยวข้องกับลังกาก็น่าจะสร้างขึ้นในช่วงเวลานี้ นอกจากนี้พระพุทธรูปปูนปั้นภายในซุ้มจระนำของเจดีย์ก็มีรูปแบบในระยะเวลานี้
ประวัติการอนุรักษ์

ประกาศขึ้นทะเบียนโบราณสถานในราชกิจจานุเบกษา เล่ม 52 ตอนที่ 75 วันที่ 8 มีนาคม พ.ศ. 2478

ขุดแต่งและบูรณะครั้งแรกระหว่าง พ.ศ. 2498-2499 ต่อมาได้ดำเนินการอีกหลายครั้ง เช่น การบูรณะใน พ.ศ. 2509 ดำเนินการอุดรอยที่มีผู้ลักลอบขุดบนคอระฆังต่อยอดเจดีย์ บูรณะฐาน 8 เหลี่ยมชั้นบน ซ่อมซุ้มพระนั่ง 21 ซุ้ม ลูกกรงฐานประทักษิณ กำแพงแก้วบางช่วง ปรับพื้นศิลาแลงทั้งฐานประทักษิณและชั้นล่าง ซ่อมบันไดขึ้นฐานประทักษิณ ก่อซ่อมซุ้มประตูทั้ง 4 ทิศ ซ่อมช้างยืน แท่นพระประธาน ผนัง บันได และยกเสาศิลาแลงบางต้นของวิหารด้านหน้าเจดีย์ประธาน นอกจากนี้ยังได้บูรณะเจดีย์นอกกำแพงแก้วด้านทิศตะวันตกเฉียงใต้ และทิศตะวันออกเฉียงเหนืออีก 2 องค์

โบราณสถานแห่งนี้ยังได้ดำเนินการขุดแต่งและบูรณะต่อเนื่องจนถึง พ.ศ. 2512 ในครั้งนั้นเลือกขุดแต่งเฉพาะวิหารด้านหน้าและเจดีย์ทั้งหมด

ในปีพ.ศ. 2527 – 2528 ได้ทำการขุดเปิดฐานประทักษิณของเจดีย์ประธานทั้ง 4 ด้านเพื่อตรวจดูการเปลี่ยนแปลงผนังฐานประทักษิณถึงลักษณะที่ซ่อนอยู่ภายใน
ลักษณะทางศิลปกรรม

เจดีย์ช้างล้อมองค์นี้ใช้ศิลาแลงและปูนเป็นวัสดุหลัก องค์เจดีย์ทรงกลมตั้งอยู่บนฐานประทักษิณสี่เหลี่ยมจัตุรัส มีบันไดทางขึ้นสู่ลานประทักษิณทางด้านตะวันออกหรือด้านหน้า มีประติมากรรมรูปช้างลอยตัวจำนวน 39 เชือกล้อมรอบฐานทักษิณนี้ ระหว่างช้างแต่ละตัวมีเสาตามประทีปคั่นกลาง

เจดีย์ที่ตั้งอยู่บนลานประทักษิณมีองค์ประกอบสำคัญจากด้านล่างสู่ด้านบน ได้แก่ ฐานสี่เหลี่ยมจัตุรัสที่มีซุ้มจระนำประดิษฐานพระพุทธรูปปูนปั้นด้านละ 5 ซุ้ม รวมเป็น 20 ซุ้ม ส่วนนี้เป็นรูปแบบพิเศษของเจดีย์องค์นี้ ถัดขึ้นไปเป็นรูปแบบโดยทั่วไปของเจดีย์ทรงกลมศิลปะสุโขทัย คือ ฐานเขียงซ้อนลดหลั่นกันต่อด้วยชุดบัวถลา 3 ชั้น บัวปากระฆัง องค์ระฆังกลม บัลลังก์ และส่วนยอด
ข้อมูลที่สำคัญทางวิชาการ

1. วัดช้างล้อมแห่งนี้ถือได้ว่าเป็นวัดศูนย์กลางของเมืองศรีสัชนาลัย อันอาจเกี่ยวข้องกับคติวัดมหาธาตุกลางเมือง

2. เจดีย์ประธานของวัดเป็นเจดีย์ทรงกลมที่มีช้างล้อมรอบที่ฐาน แสดงความเกี่ยวข้องสัมพันธ์กับพุทธศาสนาลังกาวงศ์ที่แพร่หลายเข้ามายังสุโขทัยสมัยนั้น

3. รูปแบบของเจดีย์องค์นี้น่าจะเป็นต้นแบบต่อเจดีย์ช้างล้อมอื่นๆ ซึ่งไม่ได้จำกัดเฉพาะในศิลปะสุโขทัยเท่านั้น แต่ยังมีความเกี่ยวข้องกับเจดีย์ในศิลปะล้านนาและอยุธยาด้วย อันอาจหมายถึงเจดีย์องค์นี้เคยเป็นหนึ่งในเจดีย์ศักดิ์สิทธิ์ยิ่งของคนสมัยก่อน
ยุคประวัติศาสตร์
สมัย/รูปแบบศิลปะสุโขทัย
อายุพุทธศตวรรษที่ 20
ศาสนาพุทธ
ลัทธิ/นิกายเถรวาท
ศาสนา/ความเชื่อที่เกี่ยวข้องพุทธศาสนาเถรวาท
งานศิลปะที่เกี่ยวข้อง

1. เจดีย์วัดช้างรอบ จังหวัดกำแพงเพชร เพราะสร้างเป็นเจดีย์ช้างล้อมในช่วงระยะเวลาใกล้เคียงกัน

2. เจดีย์ประธานวัดป่าแดงหลวง จังหวัดเชียงใหม่ เพรระมีรูปแบบที่คล้ายกัน โดยเฉพาะการเป็นเจดีย์ช้างล้อม และการทำซุ้มพระพุทธรูปอยู่ใต้ส่วนรองรับองค์ระฆัง

3. เจดีย์รุวัลเวลิเสยะ หรือสุวรรณมาลิกเจดีย์ หรือมหาสถูป สำนักมหาวิหาร ประเทศศรีลังกา เพราะอาจเป็นต้นแบบการทำเจดีย์ช้างล้อมในสมัยสุโขทัย

รูปแบบลิขสิทธิ์Attribution-NonCommercial-NoDerivs (CC BY-NC-ND)
เจ้าของสิทธิ์ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน)
วันที่จัดทำข้อมูล2015-05-28
ผู้จัดทำข้อมูลดร.รุ่งโรจน์ ธรรมรุ่งเรือง
บรรณานุกรม

คณะกรรมการปรับปรุงโบราณสถาน จังหวัดสุโขทัยและกำแพงเพชร, รายงานการสำรวจและขุดแต่งบูรณะโบราณสถานเมืองเก่ากำแพงเพชร เมืองศรีสัชนาลัย พ.ศ. 2508 – 2512. พระนคร: กรมศิลปากร, 2514

ศักดิ์ชัย สายสิงห์, ศิลปะสุโขทัย : บทวิเคราะห์หลักฐานโบราณคดี จารึก และศิลปกรรม. พิมพ์ครั้งที่ 2, กรุงเทพฯ : ภาควิชาประวัติศาสตร์ศิลปะ คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร, 2551.

ศิลปากร, กรม. ทำเนียบโบราณสถานศรีสัชนาลัย. กรุงเทพฯ : กรมศิลปากร, 2535.

สันติ เล็กสุขุม. ศิลปะสุโขทัย. พิมพ์ครั้งที่ 2, กรุงเทพฯ : เมืองโบราณ, 2549.