ค้นหางานศิลปกรรม

ฐานข้อมูลศิลปกรรมในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

 
 
 
 
 
 
 

เจดีย์ประธานวัดมหาธาตุสุโขทัย

คำสำคัญ :

ชื่อเรียกอื่น-
ชื่อหลักวัดมหาธาตุสุโขทัย
ชื่ออื่น-
ประเภทงานศิลปะสถาปัตยกรรม
ตำบลเมืองเก่า
อำเภอเมือง
จังหวัดสุโขทัย
ภาคภาคกลาง
ประเทศไทย
พิกัดภูมิศาสตร์
ค่าองศาทศนิยม
Lat : 17.016926
Long : 99.703703
พิกัดภูมิศาสตร์
พิกัดกริด
Zone : 47 Q
Hemisphere : N
E : 574899.3
N : 1881562.1
ตำแหน่งงานศิลปะแกนกลางของวัด

ประวัติการสร้าง

วัดมหาธาตุควรสร้างมาแล้วตั้งแต่ครั้งต้นกรุงสุโขทัย ในครั้งนั้นย่อมต้องสร้างพระมหาธาตุหรือเจดีย์ประธานไว้แล้ว อย่างไรก็ตามเจดีย์ประธานองค์ปัจจุบันเป็นเจดีย์ยอดทรงดอกบัวตูม หรือยอดทรงพุ่มข้าวบิณฑ์ ซึ่งไม่ใช่รูปแบบของศิลปะสุโขทัยตอนต้น นักวิชาการส่วนใหญ่จึงเชื่อว่าเจดีย์องค์นี้น่าจะสร้างขึ้นแทนองค์เดิมที่มีมาแล้วตั้งแต่ครั้งสุโขทัยตอนต้น

เจดีย์องค์นี้ไม่มีประวัติการสร้างที่แน่ชัด แต่จากการศึกษาเปรียบเทียบกับวัดอื่นๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งวัดที่มีจารึกระบุการสร้างแน่ชัด ทำให้สันนิษฐานว่าเจดีย์ทรงพุ่มข้าวบิณฑ์ หรือยอดทรงดอกบัวตูม น่าจะสร้างขึ้นในราวปลายพุทธศตวรรษที่ 19 เป็นต้นมา และแพร่หลายอย่างยิ่งในช่วงพุทธศตวรรษที่ 20 จึงเชื่อว่าเจดีย์ประธานวัดมหาธาตุสุโขทัยก็คงสร้างขึ้นในระยะเวลาเดียวกันนี้ โดยอาจเป็นรัชกาลของพระยาเลอไท หรือพระยาลิไท ซึ่งพุทธศาสนาเจริญรุ่งเรืองก็เป็นได้
ประวัติการอนุรักษ์

ประกาศขึ้นทะเบียนโบราณสถานในราชกิจจานุเบกษา เล่ม 52 ตอนที่ 75 วันที่ 8 มีนาคม พ.ศ. 2478

มีการขุดแต่งบูรณะครั้งแรก พ.ศ. 2496 ต่อมามีการบูรณะเป็นครั้งคราว แต่งานยังไม่แล้วเสร็จ ได้ดำเนินงานตามแผนอีกครั้งในระหว่างปี พ.ศ. 2508 – 2511 มีการบูรณะในปี พ.ศ. 2508 – 2511 และในปี พ.ศ. 2524 – 2526

ในปีพ.ศ. 2537 ได้มีโครงการอนุรักษ์ประติมากรรมติดที่ขึ้น โดยมีระยะการปฏิบัติงานตั้งแต่เดือนธันวาคม พ.ศ. 2536 – เดือนกันยายน พ.ศ. 2537

ในปีพ.ศ. 2551 ได้ดำเนินการบูรณะอีกครั้งพร้อมขุดค้นขุดตรวจทางโบราณคดีควบคู่กันไป โดยได้บูรณะพระพุทธรูปในวิหารสูงที่มีสภาพทรุดเอียงอย่างมาก ในปีเดียวกันยังได้บูรณะโบราณสถานและขุดค้นทางโบราณคดีอีกหลายแห่ง ได้แก่ การซ่อมแซมกำแพงแก้วรอบเจดีย์ห้ายอดซึ่งทรุดเอียง การขุดค้นขุดตรวจที่กำแพงวัดมหาธาตุด้านทิศใต้บางส่วน
ลักษณะทางศิลปกรรม

เจดีย์ประธานวัดมหาธาตุสุโขทัยหันหน้าไปทางทิศตะวันออก ก่ออิฐฉาบปูน ตั้งอยู่กลางฐานไพที

องค์ประกอบสำคัญตั้งแต่ส่วนฐานจนถึงยอดมีดังนี้ ฐานเขียงในผังสี่เหลี่ยมจัตุรัสซ้อนลดหลั่นกันต่อด้วยฐานบัวลูกแก้วอกไก่ในผังสี่เหลี่ยมจัตุรัส มีบันไดอยู่ทางด้านตะวันออก ถัดขึ้นไปเป็นฐานบัวลูกฟักเพิ่มมุมหรือย่อมุมซ้อนกัน 2 ชั้น ถัดขึ้นไปเป็นเรือนธาตุในผังเพิ่มมุมหรือย่อมุม จากนั้นเป็นส่วนยอดทรงดอกบัวตูมหรือทรงพุ่มข้าวบิณฑ์
ข้อมูลที่สำคัญทางวิชาการ

1. เจดีย์ประธานวัดมหาธาตุสุโขทัย ซึ่งถือเป็นองค์พระมหาธาตุประจำเมืองสุโขทัยสร้างขึ้นในทรงพุ่มข้าวบิณฑ์ หรือยอดทรงดอกบัวตูม น่าจะสะท้อนให้เห็นถึงความคิดของชาวสุโขทัยสมัยนั้นต่อเจดีย์ทรงนี้ ว่าเป็นรูปทรงเอกลักษณ์ของตน

2. เจดีย์ทรงพุ่มข้าวบิณฑ์ หรือยอดทรงดอกบัวตูม ไม่ได้เกิดขึ้นโดยพัฒนาการที่ค่อยเป็นค่อยไปเช่นเจดีย์ทรงอื่นๆ แต่เกิดขึ้นเพราะการสร้างสรรค์ใหม่ ซึ่งอาจเกี่ยวข้องกับการเมืองการปกครองสมัยนั้นที่พยายามสร้างความเป็นปึกแผ่นแก่อาณาจักรสุโขทัยผ่านพุทธศาสนา การสร้างสรรค์เจดีย์ทรงนี้อาจมีนัยยะทางการเมืองการปกครองแฝงอยู่ก็ได้

อายุพุทธศตวรรษที่ 20
ศาสนาพุทธ
ศาสนา/ความเชื่อที่เกี่ยวข้องพุทธศาสนา
งานศิลปะที่เกี่ยวข้อง

เจดีย์ทรงพุ่มข้าวบิณฑ์ตามวัดต่างๆ ที่สร้างขึ้นในสมัยสุโขทัย ทั้งนี้มีข้อสังเกตด้วยว่าวัดมหาธาตุประจำเมืองต่างๆ ในเขตแดนสุโขทัยน่าจะเคยสร้างเป็นเจดีย์ทรงพุ่มข้าวบิณฑ์มาก่อน เช่น วัดพระศรีรัตนมหาธาตุพิษณุโลก วัดพระศรีรัตนมหาธาตุเชลียง วัดพระธาตุนครชุม กำแพงเพชร

รูปแบบลิขสิทธิ์Attribution-NonCommercial-NoDerivs (CC BY-NC-ND)
เจ้าของสิทธิ์ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน)
วันที่จัดทำข้อมูล2015-05-26
ผู้จัดทำข้อมูลดร.รุ่งโรจน์ ธรรมรุ่งเรือง
บรรณานุกรม

ณรงค์ โคกสันเทียะ, โครงการอนุรักษ์จิตรกรรมฝาผนังเร่งด่วน : การอนุรักษ์ประติมากรรมติดที่วัดมหาธาตุ (วัดร้าง) ตำบลเมืองเก่า อำเภอเมือง จังหวัดสุโขทัย . กรุงเทพฯ: ฝ่ายอนุรักษ์จิตรกรรมฝาผนังและประติมากรรมติดที่ กองโบราณคดี กรมศิลปากร, 2539.

ภาณุวัตถ์ เอื้อสามาลย์, “ขุดฐานพระ บูรณะพระประธานที่วิหารสูง วัดมหาธาตุ เมืองสุโขทัย” ศิลปากร, 54, 5 (ก.ย. – ต.ค. 2554), 41 - 47

ศิลปากร, กรม. ทำเนียบโบราณสถานอุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย. กรุงเทพฯ : กรมศิลปากร, 2531.

คงเดช ประพัฒน์ทอง, โบราณคดีประวัติศาสตร์. กรุงเทพ : กรมศิลปากร, 2529.

ศักดิ์ชัย สายสิงห์, ศิลปะสุโขทัย : บทวิเคราะห์หลักฐานโบราณคดี จารึก และศิลปกรรม. พิมพ์ครั้งที่ 2, กรุงเทพฯ : ภาควิชาประวัติศาสตร์ศิลปะ คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร, 2551.