Plumeria obtusa ภาพจาก http://www.biologie.uni-hamburg.de

“….นภาสิ้นแสงนวลจันทร์
เปรียบเป็นเช่นกัน หทัยเรานั้นมืดดำ
หอมลั่นทม ฉันกลับตรมระทมระกำ
รักระทมโลมจิตนำ เจ็บจำไม่รู้วาย

รักอยู่เคียงชู้แต่เพียงวิญญาณ
ด้วยกรรมบั่นรานสวาทมิหวานดังหมาย
ลั่นทมสมชื่อจริงหรือไร
ฉันนี้เศร้าใจกลิ่นของลั่นทมให้ระทม”

ยามเมื่อทอดสายตาออกไปนอกหน้าต่างเห็นต้นลั่นทมทอดกิ่งก้านอวดทรวดทรงสวยสะคราญ กลีบดอกสีขาวระริกไหวตามสายลม บ้างก็ค่อยร่วงปลิดปลิวลงจากต้น ทว่ายังส่งกลิ่นหอมรวยรินอยู่ในอากาศ ชวนให้สูดกลิ่นอายเย็นชื่นเข้าไปจนเต็มปอด เสียงกระดิ่งที่แขวนไว้ตรงชายคาบ้านต้องสายลมดังแว่วหวานราวทิพยดนตรี ก็อดคิดไม่ได้ว่าช่างเป็นบรรยากาศที่มีอานุภาพปลอบประโลมใจให้สงบเย็นลงอย่างแทบไม่น่าเชื่อ ไม่เห็นรู้สึกถึงความทุกข์ระทมขมขื่นใจ เหมือนคำพร่ำรำพันในเพลง “ระทมในลั่นทม” นี้เลยสักนิดเดียว คงเป็นเพราะในใจผู้เขียนนั้น ไม่เคยนำดอกลั่นทมไปเชื่อมโยงกับความเศร้าโศกดุจเดียวกับชื่อของมัน เพราะดอกไม้สำหรับผู้เขียนนั้นเป็นสิ่งที่นำความชื่นอกชื่นใจให้เสมอมา โดยไม่สำคัญว่าชื่อเสียงเรียงนามของมันจะเป็นอย่างไร

ลั่นทมมีชื่อสามัญภาษาฝรั่งว่า Frangipani บ้างก็เรียก Plumeria ซึ่งเป็นชื่อพฤกษศาสตร์ เป็นไม้ในวงศ์ Apocynaceae วงศ์เดียวกับไม้ดอกหลายชนิดทั้งที่หอมและไม่หอม เช่น ยี่โถ ชวนชม บานบุรี รำเพย หิรัญญิการ์ พญาสัตบรรณ ฯลฯ ไม้วงศ์นี้มีลักษณะเด่นคือลำต้นและกิ่งก้านมีน้ำยางสีขาว ดอกลั่นทมถือเป็นสัญลักษณ์ของเขตร้อนอีกชนิดหนึ่ง เพราะมีถิ่นกำเนิดในทวีปอเมริกา และเติบโตแพร่พันธุ์ในถิ่นร้อนชื้นทั่วโลก

ชื่อ Plumeria นี้ตั้งเพื่อเป็นเกียรติแก่นักพฤกษศาสตร์ชาวฝรั่งเศสยุคศตวรรษที่ 17 ชื่อ Charles Plumier ซึ่งเดินทางไปยังดินแดนใหม่เพื่อบันทึกรายชื่อพันธุ์พืชและสัตว์ที่ไม่เคยพบมาก่อน ส่วนชื่อ Frangipani นั้นว่ากันว่าได้มาจาก Marquis Frangipani ขุนนางอิตาเลียนสมัยศตวรรษที่ 16 ซึ่งเป็นผู้คิดค้นสูตรน้ำหอมที่ใช้ประพรมกล่องใส่ถุงมือ สาวๆ สมัยนั้นนิยมสวมถุงมือนี้มากเพราะเวลากรีดกรายวงแขนก็จะได้กลิ่นหอมละมุนโชยออกมาด้วย กลิ่นดอกลั่นทมที่ฝรั่งค้นพบนี้ไปคล้ายคลึงกับกลิ่นหอมที่ขุนนางชาวอิตาลีคิดค้นขึ้น จึงได้เรียกดอกไม้ชนิดนี้ตามชื่อของเขา แต่ข้อมูลจากบางแหล่งก็ระบุว่า ชื่อนี้มาจากยางสีขาวของต้นลั่นทม ซึ่งชาวฝรั่งเศสที่ไปตั้งถิ่นฐานบนหมู่เกาะเวสต์อินดีส์ คิดว่าคล้ายกับนมข้นที่ภาษาฝรั่งเศสเรียกว่า “frangipanier” นั่นเอง

ผู้เขียนยังไปอ่านเจอตำนานที่เล่าว่าชื่อ Plumeria นี้มาจากชายฝรั่งเศสผู้หนึ่ง ซึ่งเฝ้าเสาะแสวงหาวิธีที่จะทำให้ตัวเองกลายเป็นเศรษฐีภายในพริบตา จนได้รับคำแนะนำว่าให้ไปหาต้นไม้ที่ออกดอกเป็นสีนวลเย็นตาราวกับแสงจันทร์ ให้กลิ่นชวนดื่มด่ำในยามราตรี อีกทั้งเจริญงอกงามในสุสานและอาราม Plumeria จึงเดินทางมาไกลแสนไกลจนถึงอินเดีย เขาออกตามหาดอกไม้ที่ว่าและได้รับคำบอกให้ไปที่สุสานแห่งหนึ่งทางใต้ของอินเดียในเวลาเที่ยงคืนของวันพระจันทร์เต็มดวง เมื่อดอกไม้นี้ส่งกลิ่นหอมตลบอบอวลไปทั่วบริเวณ ก็ให้เขย่าต้นของมันแล้วเหรียญทองคำก็จะร่วงโปรยปรายลงมา

นาย Plumeria เชื่อดังนั้น ก็เขย่าต้นไม้นี้อย่างแรง แต่สิ่งที่พรั่งพรูลงมาก็คือดอกไม้สีกระจ่างตาราวกับเหรียญทองที่วาววามอยู่กลางแสงจันทร์ กลิ่นหอมของดอกไม้นั้นพาใจเขาล่องลอยไปสู่สรวงสวรรค์ เขาจึงตระหนักในนาทีนั้นเองว่าความร่ำรวยที่แท้จริงของชีวิตอยู่ที่ใด ความงามของดอกไม้ที่ส่งกลิ่นขจรขจาย แสงจันทร์สีเงินยวงกระจ่างตา และผืนฟ้ากว้างไกลไร้ที่สิ้นสุดอันเป็นนิรันดร์ เขาจึงล้มเลิกความคิดจะเป็นเศรษฐีเสีย ณ บัดนั้น

ก็เป็นเรื่องเล่าหรือตำนานของชาวอินเดียเขา ซึ่งผู้เขียนว่าให้คติสอนใจได้ลึกซึ้งนัก ชวนให้คิดว่าแม้แต่ชื่อพฤกษศาสตร์ของดอกลั่นทมนี้ก็ยังมีความหมายเป็นมงคลน่าประทับใจ

ลั่นทมแบบที่คนทั่วไปรู้จักคุ้นเคยกันดีก็คือแบบดอกสีขาวกลางเหลืองซึ่งมีหลายชนิดด้วยกัน เช่น Plumeria alba, Plumeria acuminata และ Plumeria obtusa ล้วนมีรูปทรงของดอก ใบ และลำต้นแตกต่างกัน แต่มีกลิ่นหอมขจรขจายเหมือนกัน ส่วนลั่นทมชนิดสีแดงนั้นมีชื่อพฤกษศาสตร์ว่า Plumeria rubra จริงๆ แล้วมีหลายสีตั้งแต่เหลือง ส้ม แดง หรือเหลืองสลับแดง ไปจนถึงชมพูเข้ม ใบรูปไข่กลับแกมรูปหอก กลีบดอกทรงรีเรียงเหลื่อมซ้อนกัน ส่งกลิ่นหวานน่ากินคล้ายลูกพีชสุก ยิ่งเวลาเดินผ่านต้นลั่นทมแดงนี้เวลาสายลมพัดผ่านก็จะได้กลิ่นหอมชื่นใจนัก

ลั่นทมชนิด rubra พันธุ์สีออกแดง (ซ้าย) ภาพโดย Dale Myers จาก http://www.math.hawaii.edu/~dale/myers/flowers/plumeria-pink-hig.html ส่วนอีกพันธุ์มีสีชมพูเข้ม (ขวา) ภาพโดย Don Herbison-Evans & Christine Ashe จาก http://lepidoptera.butterflyhouse.com.au/plants/apoc/apocynaceae.html

ลั่นทมนี้เป็นดอกไม้ประจำชาติของนิคารากัวและบ้านพี่เมืองน้องของเราอย่างลาวด้วย ชาวลาวเรียกว่า “จำปา” เป็นดอกไม้ที่มีค่าทางจิตใจต่อชาวลาวอย่างที่สุด มีบทเพลงอมตะที่ชาวลาวทุกคนรู้จักดี คือ เพลง “ดวงจำปา” หรือ “จำปาเมืองลาว” ซึ่งนายอุตะมะ จุลามะนีอดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวง ศึกษาธิการของลาวเป็นผู้ประพันธ์ขึ้น เมื่อยามที่ต้องระหกระเหินจากบ้านเกิดเมืองนอนไปอยู่แดนไกล สมัยที่ลาวตกเป็นเมืองขึ้นของฝรั่งเศส “ดวงจำปา” นี้เป็นบทพรรณนาถึงความผูกพันกับดอกจำปาหรือลั่นทมซึ่งอยู่เคียงคู่เมืองลาวมาแต่โบราณ สะท้อนความรักความหวงแหนแผ่นดินเกิด อันเป็นความรู้สึกที่ไม่ต่างจากชนชาติใดๆ ในโลก ซึ่งล้วนต้องมีจิตสำนึกในการปกป้องรักษาถิ่นฐานแว่นแคว้นของตนกันทั้งนั้น

“…โอ้ดวงจำปา                 บุปผาเมืองลาว                งามดั่งดวงดาว
ซาวลาวเพิงใจ                  เกิดอยู่ภายใน                  แดนดินล้านซ้าง
ถ้าได้พลัดพราก               หนีลาเฮดจาก                  บ้านเกิดเมืองนอน
เฮาจะเอาเจ้า                    เป็นเพื่อนฮ่วมเหงา           เท่าสิ้นซีวา
เจ้าดวงจำปา                     มาลางามยิ่ง                     มิ่งเมืองเฮาเอย”

เพลงนี้กลายเป็นสัญลักษณ์การต่อสู้เพื่อทวงคืนเอกราชของลาว กระทั่งเมื่อเป็นอิสระจากฝรั่งเศสในปี พ.ศ. 2518 ผู้นำประเทศในสมัยนั้นจึงเลือกดอกจำปาหรือลั่นทมเป็นดอกไม้ประจำชาติ ทุกวันนี้ใครที่ได้ไปเยี่ยมเยือนเมืองลาว ก็มักจะเห็นต้นลั่นทมที่ปลูกไว้ให้ความสวยงามและร่มเงาตามวัดวาอารามซึ่งเป็นที่ยึดเหนี่ยวจิตใจ ถือเป็นต้นไม้ศักดิ์สิทธิที่ชาวลาวให้ความสำคัญอย่างสูง

กระทงดอกลั่นทมสำหรับบูชาพระ วางขายหน้าวิหารในหลวงพระบาง ภาพโดย victoriajaschob จาก http://victoriajaschob.wordpress.com/

เมื่อไม่นานมานี้มีเหตุการณ์ที่เกือบทำเอาสะเทือนความสัมพันธ์ไทย-ลาว ต้นตอมาจากละครที่ออกอากาศทางโทรทัศน์ช่อง 7 สีเรื่อง “เพลงรักสองฝั่งโขง” ซึ่งได้นางเอกสาวลาว อเล็กซานดร้า       บุนซ่วย มาประกบคู่กับพระเอกหนุ่มเวียร์ ศุกลวัฒน์  คณารศ  ฉากหนึ่งในละครเป็นตอนที่ “พิณ” หนุ่มไทย มอบดอกลั่นทมแก่ “จำปา” สาวลูกครึ่งลาว-อเมริกัน แต่สาวเจ้าปฏิเสธไมตรีอย่างไม่ไยดี พระเอกน้อยใจจึงขว้างดอกลั่นทมทิ้งถังขยะ ภาพที่ออกไปนั้นสร้างความโกรธเกรี้ยวให้กับทางการลาว ซึ่งอ้างว่ายังมีอีกหลายฉากที่สะท้อนความไม่เข้าใจวัฒนธรรมและดูถูกเหยียดหยามชาวลาว จึงทำหนังสือประท้วงและขอให้แก้ไขบท จนทางสถานีต้องเลื่อนเวลาออกอากาศชั่วคราว ก็เป็นบทเรียนว่าดอกไม้ประจำชาตินั้นถือเป็นเรื่องสำคัญและละเอียดอ่อนมาก มิใช่จะมองข้ามไปได้ง่ายๆ เหมือนกัน

แสตมป์รูปดอกลั่นทมของลาว จาก http://www.plantstamps.net/stamps/laos.htm

ดอกลั่นทมนี้ส่งกลิ่นหอมแรงที่สุดในยามค่ำเพื่อล่อผีเสื้อกลางคืน แต่ความจริงแล้วในดอกไม่มีน้ำหวานที่ผีเสื้อชอบอยู่เลย ผีเสื้อกลางคืนที่มาวนเวียนไต่ตอมหาน้ำหวาน ก็จะกลายเป็นผู้ช่วยขยายพันธุ์ให้กับต้นไม้โดยที่มันไม่รู้ตัว ก็เป็นเล่ห์กลของดอกไม้แสนสวยที่ลวงผีเสื้อกลางคืนให้หลงตามหาน้ำหวาน แต่ที่จริงกลับหลอกใช้ให้เป็นแม่สื่อเสียนี่

เห็นเป็นไม้งามดอกหอมอย่างนี้ แต่ลั่นทมกลับมีความหมายเชิงอาถรรพ์ในวัฒนธรรมของหลายประเทศ ชาวออสเตรเลียเรียกว่า “Dead Man’s Fingers” เพราะกิ่งก้านของลั่นทมบางพันธุ์เรียวเล็กไร้ใบ ดูคล้ายนิ้วมือของซากศพ ชาวเวียดนามเชื่อว่ามีวิญญาณสิงสถิตในต้นลั่นทม ส่วนชาวบังกลาเทศถือว่าดอกลั่นทมสื่อถึงความตายและงานศพ ในเมืองไทยเองก็เชื่อสืบมาแต่โบราณว่าลั่นทมเป็นไม้อวมงคล เพราะมีเสียงพ้องกับคำว่า ระทม ซึ่งหมายถึงความเจ็บช้ำระกำใจ จึงเชื่อว่าใครนำมาปลูกประดับบ้านจะทำให้มีแต่เรื่องทุกข์ร้อนไม่สบายใจ

จริงๆ แล้วเรื่องที่มาของลั่นทมในประเทศไทยนั้น ข้อมูลจากหลายแห่งก็ไม่ตรงกันจนทำให้เกิดความสับสนอยู่ไม่น้อย หนังสือ “ตำนานไม้ต่างประเทศบางชนิดในเมืองไทย” ของพระยาวินิจวนันดร กล่าวไว้ว่า ภาคใต้ของทวีปเอเชียปลูกลั่นทมกันมาแต่ครั้งดึกดำบรรพ์ ในเมืองไทยก็มีมานานแล้วจนไม่แน่ใจว่าเข้ามาเมื่อใดและอย่างไร แต่หากพิเคราะห์จากชื่อพื้นเมืองแล้วก็อาจสันนิษฐานถึงที่มาได้ เพราะภาคเหนือเรียกว่า “จำปาลาว” หรือจำปาแห่งอีสาน ส่วนทางอีสานเองเรียกว่า “จำปาขาว” ภาคใต้เรียก “จำปาขอม” และ “ไม้จีน” ส่วนภาคกลางเรียก “ลั่นทม” ทางเขมรเรียกว่า “จำไป” และ “จำปาซอ” ชาวมลายูเรียก “บุหงากำโพชา”, “จำปากะ” และจำปาต่างๆ ชาวเกาะชวาเรียก “กำโพชา” ชาวอินเดียเรียกหลายชื่อ เช่น “แคร์จำปา”, “ซอนจำปา” และ “จินจำปา” ส่วนพม่าเรียกว่า “ต่ายกสะกา” แปลว่า จำปาจีน

พระยาวินิจวนันดรท่านจึงสันนิษฐานว่า ภาคเหนือของไทยน่าจะได้ลั่นทมจากอีสานตั้งแต่ยุคที่เขมรเรืองอำนาจในดินแดนสุวรรณภูมิกว่า 1,000 ปีมาแล้ว ส่วนทางอีสานก็ได้ลั่นทมจากเขมรเมื่อครั้งที่อาณาจักรขอมแผ่อำนาจขึ้นเหนือราว 100 ปีก่อนหน้านั้น ขณะที่เขมรเองรับลั่นทมมาจากอินเดียอีกที ตั้งแต่สมัยที่ชาวอินเดียเข้าไปเผยแผ่วัฒนธรรมเมื่อกว่า 1,800 ปีมาแล้ว ภาคกลางและภาคใต้ของไทยก็คงได้ลั่นทมจากเขมรเช่นกัน ไม่เช่นนั้นก็คงมาจากเมืองจีนหรือชาวจีนนำเข้ามา เพราะทางปักษ์ใต้เรียกกันว่าไม้จีนด้วย

ต้นลั่นทมแผ่กิ่งก้านสาขาให้ร่มเงาที่วัดพระพุทธบาท จังหวัดสระบุรี ภาพโดย Naykrok จาก http://www.oknation.net/blog/naykrok/2009/04/08/entry-1

ส่วนผู้เชี่ยวชาญทางพฤกษศาสตร์ของไทยอีกท่านคือคุณหลวงบุเรศรบำรุงการกลับเชื่อว่าลั่นทมน่าจะเข้าสู่เมืองไทยในสมัยหลังจากนั้นมาก กล่าวคือชาวสเปนในยุคล่าอาณานิคมน่าจะนำลั่นทมจากทวีปอเมริกามายังเอเชีย จนแพร่เข้าไปในกัมพูชา จากนั้นก็คงเข้ามาในบ้านเราผ่านทางเขมร ยุคอาณานิคมสเปนในเอเชียแปซิฟิค ที่เรียกว่า Spanish East Indies นี้ เริ่มตั้งแต่ พ.ศ. 2108 หรือราวกลางสมัยกรุงศรีอยุธยา ไปสิ้นสุดลงใน พ.ศ. 2442 ซึ่งตรงกับสมัยรัชกาลที่ 5 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ จึงเป็นไปได้อีกเช่นกันว่า ลั่นทมอาจเข้าสู่บ้านเราในช่วงปลายสมัยกรุงศรีอยุธยา ซึ่งชาวต่างชาติเข้ามาอยู่ในราชสำนักมาก

ดอกลั่นทมนี้เมื่อแรกเข้าสู่เมืองไทย ได้ถูกนำไปปลูกในวัดและวัง จนเชื่อกันว่าเป็นของสูงที่คนทั่วไปไม่สามารถปลูกได้ ทั้งยังนิยมปลูกในสุสาน จึงเข้าใจสืบต่อมาว่าเป็นไม้อวมงคล เป็นสาเหตุที่หลายคนเชื่อว่า ชื่อ ลั่นทม นี้ น่าจะเพี้ยนมาจากคำว่า ระทม เพราะถูกใช้เป็นไม้ประดับสุสานมาตั้งแต่แรก

การที่ชื่อลั่นทมถูกผูกโยงกับความทุกข์ระทม ก็เลยทำให้คนส่วนมากขยาด ไม่กล้านำมาปลูกประดับบ้านมาตั้งนานแล้ว กระทั่งเมื่อไม่กี่ปีมานี้ ลั่นทมถูกเปลี่ยนชื่อเสียใหม่ว่า “ลีลาวดี” ลีลา แปลว่า ท่าทางอันงามหรือการเยื้องกราย ส่วน วดี แปลว่า มี เป็นคำสร้อยที่ใช้เติมท้ายคำนามอื่น เมื่อนำไปใช้กับคำใดก็จะหมายถึงสตรีนั่นเอง ที่เรียกลั่นทมว่า ลีลาวดี ก็คงจะหมายถึงต้นไม้ที่มีลีลาอ่อนช้อยสง่างาม ช่วยเสริมความน่าชมให้กับสถาปัตยกรรมได้ดี เมื่อเปลี่ยนชื่อแล้วก็ได้รับความนิยมอย่างล้นหลาม เชื่อว่ามีหลายคนที่เคยใฝ่ฝันอยากจะครอบครองลั่นทมไว้ในบ้านสักต้นสองต้น แต่ไม่กล้านำมาปลูกเพราะติดความเชื่อเก่าๆ เมื่อเปลี่ยนชื่อเสียเช่นนี้จึงนำมาปลูกได้อย่างสบายใจ เดี๋ยวนี้ลั่นทมกลายเป็นสัญลักษณ์ของโรงแรม รีสอร์ท สปาต่างๆ เพราะสื่อถึงความงามของโลกตะวันออก สร้างความประทับใจแก่นักท่องเที่ยวจากแดนไกลได้มากทีเดียว

ภาพจาก http://balihomeparadise.com

ส่วนตัวผู้เขียนนั้นไม่เห็นความแตกต่างอะไรระหว่างชื่อลั่นทม หรือลีลาวดี เพราะต่อให้ยังไม่ได้เปลี่ยนชื่อ ก็ยังคงรักไม้ดอกชนิดนี้และพอใจจะนำมาปลูกประดับบ้านอยู่ไม่เปลี่ยนแปลง ทุกวันนี้ก็ยังเรียก ลั่นทม เหมือนเดิม เพราะเรียกง่ายคล่องปาก ยังมีผู้แย้งกันด้วยว่า จริงๆ แล้วลั่นทมไม่น่าจะหมายถึงความทุกข์ระทม เพราะคำว่า ลั่น มีความหมายในเชิงแตกหักหรือละทิ้ง ส่วน ทม ก็พ้องเสียงกับคำว่า ระทม รวมความแล้วจึงน่าจะหมายถึง หมดสิ้นความทุกข์ระทม แม้จะฟังดูกำปั้นทุบดินไปสักหน่อย แต่ก็พอจะกล้อมแกล้มเชื่อไปได้ว่า ชื่อ ลั่นทม นี้จริงๆ ก็สื่อความหมายที่เป็นมงคลดีแล้ว

อันที่จริงชีวิตจะเป็นมงคลหรือไม่นั้น ย่อมขึ้นอยู่กับการกระทำของตัวเราเอง มงคลคือเหตุที่นำมาซึ่งความเจริญ ผู้ดำเนินชีวิตไปในทางที่ถูกต้องดีงามย่อมมั่นใจว่าได้สร้างเหตุแห่งความเจริญที่แท้จริง ต่อให้มีอุปสรรคหรือปัญหาใด ก็ย่อมแก้ไขให้ลุล่วงไปได้ด้วยสติปัญญา ไม่เห็นต้องไปโทษชื่อดอกไม้แต่อย่างใด

มีผู้กล่าวว่า การที่คนโบราณห้ามปลูกลั่นทมไว้ในบ้านนั้น น่าจะมีความหมายอื่นแฝงไว้มากกว่าชื่อ ข้อหนึ่งอาจเป็นเพราะคนสมัยก่อนท่านคงเห็นว่าดอกลั่นทมนี้ไม่ใคร่มีประโยชน์อะไรมากไปกว่าเอาไว้สูดดมกลิ่นหอมๆ หากนำมาปลูกในบ้านก็จะเป็นการสิ้นเปลืองเนื้อที่ไปเปล่าๆ น่าจะเอาไว้ปลูกไม้ผลหรือสมุนไพรที่นำมากินหรือรักษาโรคได้จะดีกว่า อีกอย่างคือยางสีขาวของลั่นทมนั้นทำให้ระคายเคืองได้ เด็กๆ ไปปีนป่ายแล้วไปถูกน้ำยางนี้เข้าก็จะเป็นอันตราย จึงได้ทำให้ลูกหลานเข้าใจว่าลั่นทมเป็นไม้อวมงคลไปเสีย

ประเทศเขตร้อนหลายแห่งในโลกถือว่าลั่นทมเป็นดอกไม้ศักดิ์สิทธิและใช้ในเทศกาลเฉลิมฉลองต่างๆ มานานแล้ว ตรงกันข้ามอย่างสิ้นเชิงกับความเชื่อดั้งเดิมของคนไทยที่ว่าลั่นทมเป็นไม้อาถรรพ์ ชนเผ่ามายาในอเมริกากลางถือว่าลั่นทมสีแดงเป็นสัญลักษณ์แทนดวงอาทิตย์ ส่วนลั่นทมสีขาวแทนพระจันทร์ พวกหมอผีหรือคนทรงเจ้ามักใช้น้ำดอกลั่นทมบูชาเทพเจ้าหรือสิ่งศักดิ์สิทธิ ส่วนชาวฮินดูนิยมปลูกดอกลั่นทมไว้ตามปูชนียสถานต่างๆ จึงมีชื่อเรียกว่า Pagoda tree หรือ Temple Tree นั่นเอง

ภาพวาดต้นลั่นทมที่หมู่บ้านฮัมปี ทางเหนือของรัฐกรณาฏกะ ในประเทศอินเดีย หมู่บ้านฮัมปีนี้ตั้งอยู่กลางเมืองวิชัยนคร ซึ่งเป็นอดีตเมืองหลวงของจักรวรรดิวิชัยนคร เป็นที่ตั้งของปูชนียสถานสำคัญหลายแห่ง และได้รับยกย่องเป็นมรดกโลก ภาพโดย Bhagvati Nath จาก http://www.paintingsilove.com/image/show/146395/frangipani-tree-hampi?path=group&group=654

จริงๆ แล้วชาวอินเดียเองก็ปลูกลั่นทมไว้ในสุสานด้วยเช่นกัน แต่เขาไม่ยักกลัวอาถรรพ์เหมือนคนไทย กลับเชิดชูว่าเป็น “ต้นไม้แห่งชีวิต” เป็นสัญลักษณ์ของวิญญาณอมตะ เพราะลั่นทมเป็นไม้ทรหด ไม่ตายง่าย แม้จะถูกถอนขึ้นมาจากพื้นดินแล้ว ใบและดอกก็ยังงอกงามออกมาได้เสมอ สามารถนำไปปลูกเลี้ยงให้เจริญเติบโตขึ้นใหม่ได้อีก นอกจากนี้ยังเชื่อว่ากลิ่นหอมของลั่นทมสื่อถึงความสูงส่งทางจิตวิญญาณ ความรัก และความไว้วางใจ จึงเหมาะจะใช้ในพิธีศักดิ์สิทธิอย่างพิธีศพ นัยว่าเป็นการให้พรแก่ดวงวิญญาณของผู้ที่จากไป และเตือนให้ผู้ที่เหลืออยู่ได้ตระหนักถึงความเป็นอมตะของวิญญาณ ซึ่งจะต้องผ่านวงจรการเวียนว่ายตายเกิดที่เปรียบได้กับการเดินทางอันยาวนาน

ประเทศหมู่เกาะในมหาสมุทรแปซิฟิคอย่างตาฮิติ ฟิจิ ฮาวาย ตองก้า และเกาะคุกนั้น พวกผู้หญิงนิยมใช้ดอกลั่นทมทัดหูเพื่อบอกสถานะของตนเอง ถ้าทัดหูขวาหมายถึงยังโสด แต่ถ้าทัดหูซ้ายหมายถึงแต่งงานแล้ว นอกจากนี้ยังนิยมใช้ดอกลั่นทมร้อยเป็นมาลัยมอบแก่กันเป็นสัญลักษณ์สื่อถึงความรัก ชาวฮาวายชอบคล้องมาลัยที่เรียกว่า lei ซึ่งร้อยขึ้นจากดอกไม้หลายชนิด เช่น มะลิ ซ่อนกลิ่น และกล้วยไม้ แต่ที่นิยมมากก็คือลั่นทม เมื่อพูดถึง Hawaiian lei คนทั่วไปจึงมักจะนึกถึงมาลัยดอกลั่นทมเป็นอันดับแรก ถือเป็นสัญลักษณ์ที่บ่งบอกความเป็นฮาวายได้ดีที่สุด ดังจะเห็นว่าสาวนักเต้นระบำฮูล่าของฮาวายก็มักคล้องมาลัยลั่นทมหลายชั้นดูสวยงาม

โปสเตอร์รูป Hula girl

มาลัยดอกไม้นี้มักใช้ในพิธีสำคัญอย่างงานวันเกิด งานฉลองจบการศึกษาหรือเกษียณอายุ งานแต่งงาน หรือกระทั่งงานศพด้วยเช่นกัน วันที่ 1 พฤษภาคมของทุกปี ถือเป็น “วันพวงมาลัย” หรือ “Lei Day” มีการแข่งขันร้อยมาลัยแบบต่างๆ การเต้นระบำฮาวาย และการแสดงคอนเสิร์ตอย่างยิ่งใหญ่ตระการตา

ธรรมเนียมการมอบมาลัยดอกไม้ซึ่งริเริ่มในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 เป็นต้นมานั้น ชาวฮาวายจะมอบมาลัยดอกไม้ให้แก่กันพร้อมกับการจูบ แต่ประเพณีเก่าแก่ของฮาวายนิยมมอบมาลัยด้วยการโค้งเล็กน้อยและชูมาลัยขึ้นเหนืออกของผู้รับ ให้อีกฝ่ายเอื้อมมือมารับไป เพราะถือว่าการยกมือเหนือศีรษะหรือแตะถูกใบหน้าอีกฝ่ายเป็นการกระทำที่หยาบคาย

สาวฮาวายคล้องมาลัยลั่นทมกับผลไม้เมืองร้อนนานาชนิด จาก http://tinypineapple.com/gallery/page/6/

นักร้องนักดนตรีที่ได้รับมาลัยดอกไม้แต่ไม่สามารถนำไปคล้องคอด้วยเหตุอันใดก็ตาม จะคล้องมาลัยไว้ที่ขาตั้งเครื่องดนตรีหรือขาตั้งไมโครโฟนแทนเพื่อแสดงความขอบคุณต่อผู้ให้ แน่นอนว่าการโยนมาลัยทิ้งถังขยะเป็นเรื่องต้องห้าม ผู้ที่ถอดมาลัยออกแล้วควรนำไปวางคืนไว้ในสถานที่ที่ดอกไม้นั้นถูกเก็บมา แต่โดยทั่วไปก็มักนำไปแขวนตามต้นไม้ อาจนำไปฝังหรือเผาก็ได้ ทั้งนี้เพราะมาลัยดอกไม้หมายถึงความรัก การโยนมาลัยทิ้งย่อมเหมือนการปฏิเสธไมตรีของผู้ให้อย่างไม่ไยดี

สรรพคุณทางการแพทย์ของลั่นทมก็มีหลากหลายไม่แพ้ไม้ดอกหอมชนิดอื่น ยางสีขาวของลั่นทมนั้นแม้จะทำให้เกิดอาการระคายเคือง แต่ก็มีฤทธิ์ต้านอาการไขข้ออักเสบ ส่วนเปลือกต้นใช้รักษาเนื้องอก บรรเทาอาการท้องร่วงและโรคหนองใน มีการทดลองพบว่าสารสกัดจากลั่นทม Plumeria acuminata ใช้แก้อาการอักเสบขั้นรุนแรงหรือเรื้อรังได้อย่างดี ส่วนสรรพคุณด้านความงามนั้น ลั่นทมมีสารต้านอนุมูลอิสระ หรือ antioxidant บริษัทเครื่องสำอางบางแห่งจึงใช้สารสกัดจากลั่นทมในผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดและบำรุงผิวต่างๆ

Dr. Richard Criley แห่งคณะพืชสวน มหาวิทยาลัยฮาวาย ได้ศึกษาเปรียบเทียบสารหอมในลั่นทมพันธุ์ต่างๆ ของฮาวาย เพราะดอกลั่นทมแต่ละพันธุ์นั้นจะมีกลิ่นเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว ตั้งแต่หอมอ่อนๆ ไปถึงหอมแรง และมหัศจรรย์ตรงที่มีกลิ่นคล้ายพืชหลากหลายชนิด ตั้งแต่พืชตระกูลส้ม มะพร้าว กุหลาบ อบเชย คาร์เนชั่น มะลิ พุดซ้อน ไปจนถึงกลิ่นไม้หรือผลไม้

นักวิจัยผู้นี้พบว่าลั่นทมพันธุ์ Common Yellow (คือชนิด Plumeria rubra) มีสารประกอบถึง 73 ชนิด ที่สำคัญคือ phenylacetaldehyde, linalool, nerol และ geraniol ทำให้ลั่นทมพันธุ์นี้มีกลิ่นหอมสดชื่นออกเปรี้ยวนิดๆ คล้ายกุหลาบและพืชตระกูลส้ม ส่วนลั่นทมพันธุ์ Irma Bryan (เป็นชนิด Plumeria rubra เช่นกัน) มีสารประกอบ 67 ชนิด ที่สำคัญคือ beta-phenylethyl alcohol ซึ่งมีปริมาณสูงกว่าในพันธุ์แรกถึง 3 เท่า ทำให้ลั่นทมชนิดนี้มีกลิ่นหวานคล้ายกุหลาบผสมน้ำผึ้ง

น้ำหอมกลิ่นลั่นทมที่เด่นๆ ในปัจจุบัน Songes จาก Annick Goutal (ซ้าย) ให้กลิ่นโรแมนติคชวนฝันของลั่นทม พุดตาฮิติ มะลิ กระดังงา และวานิลลา, Frangipane จาก Chantecaille (กลาง) เป็นกลิ่นหวานละมุนของไฮยาซินธ์น้ำ มะลิ กระดังงา และลั่นทม ปิดท้ายด้วยกลิ่นเย้ายวนของกำยาน อำพัน มัสค์ และวานิลลา ส่วน Frangipani จาก Ormonde Jayne (ขวา) เป็นกลิ่นสดชื่นของมะนาว ดอก linden แม็กโนเลีย ลั่นทม มะลิ กุหลาบ ซ่อนกลิ่น บัวสาย รวมทั้งกลิ่นผลไม้อย่างลูกพลัมและกลิ่นกล้วยไม้เขียว

การสกัดกลิ่นหอมจากลั่นทมนั้นนิยมใช้วิธี solvent extraction หรือการสกัดด้วยตัวทำละลาย ซึ่งจะทำให้ได้ “absolute” หรือ หัวน้ำมันดอกไม้เข้มข้นสำหรับใช้ในอุตสาหกรรมน้ำหอม มีราคาสูงมากและไม่สามารถนำมาทาบนผิวได้โดยตรง หากจะนำมาใช้ในการบำบัด เช่นหยดลงในอ่างอาบน้ำหรือใช้นวดตัว ก็ต้องนำไปเจือจางในน้ำมันกระสายยาหรือน้ำมันตัวพา (carrier oil) เช่น น้ำมันมะพร้าว น้ำมันโจโจ้บา น้ำมันอัลมอนด์หวาน น้ำมันเมล็ดองุ่น ฯลฯ เสียก่อน แม้แต่น้ำมันหอมกลิ่นลั่นทมที่มีขายในร้านบางแห่ง ซึ่งได้จากหัวน้ำมันลั่นทมแท้ๆ ที่ผ่านการเจือจางแล้ว ก็ยังมีราคาค่อนข้างสูง ส่วนชนิดใดที่ราคาถูกมากๆ ก็ให้ตั้งข้อสงสัยไว้ก่อนเลยว่า เป็นกลิ่นที่ได้จากสารสังเคราะห์และน้ำมันหอมระเหยจากพืชที่ต้นทุนต่ำกว่า นำมาผสมกันให้ได้กลิ่นหอมใกล้เคียงกับลั่นทม

tropical vacation ซึ่งเต็มไปด้วยสีสันเจิดจ้าสดใส เข้ากันดีกับน้ำหอมกลิ่นดอกไม้และผลไม้เมืองร้อน ภาพโดย Gilles Bensimon จาก Elle Thailand ฉบับเดือน พ.ค. 2547

น้ำหอมแบรนด์ดังทั้งหลายมักผสมกลิ่นลั่นทมเข้ากับดอกไม้ถิ่นร้อนอื่นๆ อย่างมะลิ กระดังงา ดอกส้ม ซ่อนกลิ่น พุดซ้อน รวมทั้งกลิ่นผลไม้เมืองร้อนนานาชนิด เช่น เสาวรส ลิ้นจี่ มะม่วง สับปะรด หรือมะพร้าว เพราะให้กลิ่นที่ช่วยสร้างบรรยากาศสดใสสบายๆ เหมือนได้ไปพักตากอากาศตามหมู่เกาะต่างๆ น้ำหอมประเภทนี้มีอาทิ Oscar Tropical Flower ของ Oscar de la Renta, Island Fiji จาก Michael Kors, Very Irresistible Soleil d’Eté ของ Givenchy, CK One Summer 2005 จาก Calvin Klein หรือ Sun Delight ของ Jil Sander

ส่วนใครที่ชื่นชอบการบำบัดด้วยกลิ่นหอมธรรมชาติก็สามารถหาซื้อหัวน้ำมันลั่นทมหรือ frangipani absolute ได้ตามร้านที่ผ่านการรับรองมาตรฐานคุณภาพ กลิ่นลั่นทมนี้จะใช้เดี่ยวๆ หรือนำมาผสมกับกลิ่นดอกไม้ต่างๆ ข้างต้นก็ได้ และหากชอบกลิ่นสดชื่นก็สามารถเติมกลิ่นผลไม้ตระกูลส้มอย่าง lemon, lime, grapefruit หรือ bergamot รวมทั้งกลิ่นเขียวของ tea tree และ petitgrain (ใบและก้านของต้น bitter orange) โดยอาจเพิ่มกลิ่นอบอุ่นของยางไม้ (Tolu balsam หรือ Peru balsam), ไม้จันทน์ หรือไม้ซีดาร์เข้าไปสักเล็กน้อย ผู้เขียนเคยทดลองแล้วพบว่าทั้งหมดนี้สามารถเข้ากับกลิ่นลั่นทมได้ดี น้ำมันหอมที่ผสมแล้วนี้ให้นำมาเจือจางก่อนแล้วใช้ทาบนจุดชีพจรแทนน้ำหอมแบรนด์ดังได้เลย เชื่อว่ากลิ่นลั่นทมมีสรรพคุณปรับอารมณ์ให้สดชื่นกระปรี้กระเปร่า ช่วยคลายความตึงเครียดทางจิตใจอันเกิดจากปัญหาด้านความรักหรือความสัมพันธ์ ได้ยินอย่างนี้แล้วใครยังจะเชื่ออีกไหมว่าลั่นทมเป็นดอกไม้แห่งความทุกข์ระทม…

*ผู้ที่ต้องการนำข้อมูลบางส่วนไปเผยแพร่ในเว็บไซต์หรือสิ่งพิมพ์ต่างๆ กรุณาระบุที่มาของข้อมูลด้วย ขอบคุณค่ะ

น้ำหอมที่ใช้กลิ่นลั่นทมเป็นส่วนผสม

Mainstream/classic brands :

Guerlain Mahora และ Eau de Cologne du 68, Givenchy Very Irresistible Summer Vibrations และ Very Irresistible Soleil d’Eté, Nina Ricci Love by Nina และ L’Air du Temps L’Air du Printemps, Fragonard Belle de Soleil และ Eclat, Cacharel Liberté, Amor Amor Absolu และ Amor Amor Sunshine, Grés Cabotine Rose, Lalique Flora Bella, Giorgio Armani Onde Vertige, Escada Escada, Cerruti Cerruti 1881 Fraicheur d’éte, Kenzo Kenzo Amour, Kenzo Amour Le Parfum, Kenzo Amour Indian Holi, Kenzo Amour Florale และ L’Eau de Kenzo Amour, Lolita Lempicka Coral Flower, Estée Lauder Beyond Paradise Blue, Ralph Lauren Glamourous, Oscar de la Renta Oscar Tropical Flower, Calvin Klein CK One Summer 2005, CK IN2U Heat for Her, Donna Karan DKNY Women Summer 2010, Michael Kors Island Fiji, Alfred Sung Jewelและ Sha, Valentino V และ V Absolu, Roberto Cavalli Serpentine และ Just Cavalli I Love Her, Salvatore Ferragamo Attimo, Emilio Pucci Acqua 330, Celine Fever, Chantal Thomass Osez-Moi, Jil Sander Jil Sander Sun Men Fresh และ Sun Delight, Laura Mercier Eau de Lune, Mont Blanc Femme Individuelle Soul & Senses, Charriol Charriol Eau de Parfum, Liz Claiborne Spark Seduction, Avon Bali Bliss, TerraNova Plumeria, Bath and Body Works Twilight Woods, Oriflame Midnight Pearl, Victoria`s Secret Dream Angels Desire, Jessica Simpson Fancy Love, Paris Hilton Siren และ Tease, Gwen Stefani L, Harajuku Lovers Wicked Style Baby และ Harajuku Lovers Sunshine Cuties Love, David & Victoria Beckham Intimately Yours Women, Halle Berry Reveal, Usher Usher She, Morgan Sweet Paradise, Puma Puma I’m Going Woman, Roxy Roxy, Clean Clean Simply Soap, Mexx Mexx XX Wild และ XX Very Wild, Lilly Pulitzer Beachy, Lulu Castagnette Lulu, Cathy Guetta Ibiza Femme, Jacomo Silences Purple, Tommy Bahama Tommy Bahama, Jeanne Arthes Guipure & Silk

Niche/exclusive brands :

Ormonde Jayne Frangipani, Guerlain Mayotte (exclusive line), Chanel Les Exclusifs de Chanel Beige, Chantecaille Frangipane, Annick Goutal Songes, L’Artisan Parfumeur Fleur de Liane และ Mandarine Tout Simplement, Carthusia Caprissimo,Acqua di Parma Blu Mediterraneo – Mandorlo di Sicilia, Calypso St. Barth Jala, Calypso Christiane Celle Bellini, Santa Maria Novella Frangipane, Comptoir Sud Pacifique Aloha Tiare, Jo Malone Vanilla & Anise, Strange Invisible Perfumes Heroine, DSH Perfumes En Fleur, Lucy B Pink Frangipani, Histoires de Parfums Tubereuse Trilogy #2 Virginale, Huitieme Art Parfums Manguier Métisse, Monotheme Fine Fragrances Venezia Frangipane delle Maldives, Aloha Beauty Hawaiian Plumeria, Ayala Moriel  Frangipanni Gloves, Laurence Dumont Vanille Frangipanier, Nicolas Danila Polynesian Gardens, Tesori d’Oriente  Frangipani delle Indie, The Party The Garden Party Frangipane, Memo Jannat, Melange Perfume Melange Solid Perfume Floral, Czech & Speake No 88, Koto Parfums Hello Kitty Woman