แห่น้ำขึ้นโฮง

4080 ครั้ง |

ชื่อเรียกอื่น : งานแห่น้ำ,งานเลี้ยงหอเจ้าฟ้าฮ่ามกุมาร
เดือนที่จัดงาน : พฤษภาคม
เวลาทางจันทรคติ : วันขึ้น 13 ค่ำ เดือน 6 ของทุกปี
สถานที่ : ลานอนุสาวรีย์เจ้าฟ้าฮ่ามกุมาร เชิงม่อนอารักษ์ ตำบลฝายหลวง อำเภอลับแล จังหวัดอุตรดิตถ์
ภาค / จังหวัด : ภาคเหนือ
: อุตรดิตถ์
ประเภท : ประเพณีตามเทศกาล หรือประเพณี 12 เดือน,ประเพณีเกี่ยวกับการเฉลิมฉลองและเพื่อสิริมงคล
ประเพณีที่เกี่ยวข้อง :
คำสำคัญ : เจ้าฟ้าฮ่ามกุมาร,โฮงเจ้าฟ้าฮ่ามกุมาร,อนุสาวรีย์เจ้าฟ้าฮ่ามกุมาร,ลับแล
ผู้เขียน : ธีระวัฒน์ แสนคำ
วันที่เผยแพร่ : 20 ก.ย. 2560
วันที่อัพเดท : 11 ต.ค. 2561

แห่น้ำขึ้นโฮง จังหวัดอุตรดิตถ์

           การเกิดวัฒนธรรมประเพณีที่ถือปฏิบัติสืบต่อกันมาของผู้คนในสังคมนั้นๆ เกิดจากวิถีชีวิตและความเชื่อของผู้คนในสังคมที่เป็นผู้หล่อหลอมให้คนในสังคมได้ตระหนักถึงวัฒนธรรม ขนบธรรมเนียม ประเพณี ที่สืบต่อกันมาจากรุ่นสู่รุ่น เช่นเดียวกันชาวเมืองลับแลในตำบลฝายหลวง อำเภอลับแล จังหวัดอุตรดิตถ์ ก็มีประเพณีแห่น้ำขึ้นโฮง (โฮง หรือ โรง) ซึ่งจัดขึ้นในช่วงวันขึ้น 13 ค่ำ เดือน 6 ของทุกปี โดยเป็นการรวมกลุ่มของชาวบ้านในตำบลฝายหลวงและชุมชนใกล้เคียงในอำเภอลับแล จังหวัดอุตรดิตถ์ เพื่อทำพิธีสรงน้ำเจ้าฟ้าฮ่ามกุมาร ซึ่งเป็นวีรบุรุษทางวัฒนธรรมของชาวลับแลในอดีต

          ความเป็นมาของประเพณีแห่น้ำขึ้นโฮงมีความสัมพันธ์กับประวัติศาสตร์ท้องถิ่นซึ่งเล่าสืบต่อกันมาว่า บรรพบุรุษของชาวเมืองลับแลเคลื่อนย้ายมาจากเมืองเชียงแสนในรัชสมัยพระเจ้าพรหมกุมาร กษัตริย์ครองนครชัยปราการ หลักฐานที่ยึดเป็นที่ยืนยันได้คือ หมู่บ้านเชียงแสน หมู่ที่ 1 ตำบลฝายหลวง อำเภอลับแล จังหวัดอุตรดิตถ์  โดยการนำของเจ้าฟ้าฮ่ามกุมารผู้เป็นโอรสของพระเจ้าเรืองธิราช พระเจ้าเรืองธิราชได้ยกพลช้างม้า ไพร่พล นำเจ้าฟ้าฮ่ามกุมารออกจากเมืองเชียงแสนมายังเมืองลับแล  และได้เกิดสงครามกับขอมเพื่อแย่งดินแดน เจ้าฟ้าฮ่ามกุมารจึงได้ยกทัพไปปราบขอมและมีชัยชนะ จึงทำให้ชาวเมืองลับแลอยู่อย่างร่มเย็นเป็นสุข จนกระทั่งพระองค์สิ้นพระชนม์ ชาวเมืองจึงได้ฝังพระศพของพระองค์ไว้ที่ม่อนอารักษ์ และสร้างหอหรือโฮงเพื่อเป็นที่สถิตของดวงวิญญาณและใช้ในการทำพิธีบวงสรวงบูชาอยู่ที่เชิงม่อนอารักษ์

          ด้วยคุณงามความดีของเจ้าฟ้าฮ่ามกุมารที่มีต่อชาวลับแลตามประวัติศาสตร์ท้องถิ่นที่เล่าสืบต่อกันมาให้ประชาชนได้ระลึกถึงคุณงามความดีของปฐมกษัตริย์แห่งเมืองลับแล จึงได้มีการสร้างอนุสาวรีย์เจ้าฟ้าฮ่ามกุมารที่เชิงม่อนอารักษ์ หมู่ที่ 7 บ้านท้องลับแล ตำบลฝายหลวง จังหวัดอุตรดิตถ์ เมื่อปี พ.ศ.2526 และได้มีการจัดงานประเพณีแห่น้ำขึ้นโฮงขึ้นเพื่อระลึกถึงคุณงามความดีของพระองค์เรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน

          ในอดีตการแห่น้ำขึ้นโฮงจะมีการนำน้ำจากบ่อน้ำที่บ้านเรือนของตนมาร่วมกันทำพิธีสรงน้ำในช่วงเช้า ของวันขึ้น 13 ค่ำ เดือน 6 ต่อมาทางราชการก็เข้ามีส่วนร่วมในการจัดการประเพณีทำให้มีการจัดขบวนแห่น้ำขึ้นโฮงอย่างยิ่งใหญ่ โดยเริ่มต้นขบวนจากที่ว่าการอำเภอลับแลมายังอนุสาวรีย์เจ้าฟ้าฮ่ามกุมาร แต่ภายหลังเห็นว่าเป็นการแห่ที่ใช้เวลานานและระยะทางค่อนข้างไกล จึงย้ายสถานที่เริ่มขบวนแห่มาอยู่ที่หน้าวัดดอนสักซึ่งอยู่ห่างจากอนุสาวรีย์เจ้าฟ้าฮ่ามกุมารประมาณ 2 กิโลเมตร

          การจัดงานประเพณีแห่น้ำขึ้นโฮงในปัจจุบันจะมีองค์การบริหารส่วนตำบลฝายหลวงเป็นหน่วยงานหลักในการจัดงาน ซึ่งจะจัดขึ้นในช่วงวันขึ้น 13 ค่ำ เดือน 6 ของทุกปี ที่เป็นช่วงเวลาของการเข้าสู่ฤดูฝนของชาวลับแล ซึ่งจะมีการจัดขบวนแห่เป็น 3 ส่วนหลักๆ ด้วยกัน  ในส่วนแรกจะเป็นขบวนตุงที่จะมีการประดับตุงถือตุงในขบวน ขบวนส่วนที่สองจะเป็นขบวนคานหาบ ซึ่งจะมีน้ำที่จะใช้ในการสรงอนุสาวรีย์และของเซ่นไหว้ที่จะนำไปถวายเจ้าฟ้าฮ่ามกุมาร และขบวนส่วนที่ ๓ จะเป็นขบวนวัฒนธรรมพื้นบ้านที่แสดงถึงวิถีชีวิตชาวบ้านตำบลฝายหลวง ผู้เข้าร่วมในขบวนก็จะมีการแต่งกายชุดผ้าทอพื้นเมืองสะพายย่ามเล็กๆที่เป็นเอกลักษณ์ของชาวลับแล

          หลังจากที่ตั้งขบวนที่ถนนหน้าวัดดอนสักเสร็จเป็นที่เรียบร้อย ชาวบ้านจะพากันเดินแห่ไปยังอนุสาวรีย์เจ้าฟ้าฮ่ามกุมารที่ลานอนุสาวรีย์เจ้าฟ้าฮ่ามกุมาร  พอไปถึงที่ลานอนุสาวรีย์เจ้าฟ้าฮ่ามกุมารก็จะมีการนำเครื่องไหว้หรือเครื่องบวงสรวงไปวางรวมกันบนแท่นบวงสรวง  น้ำที่หาบมาร่วมขบวนซึ่งเป็นน้ำจากชุมชนต่างๆ ก็จะถูกนำมาเทรวมกันในตุ่มเพื่อใช้สรงน้ำอนุสารีย์เจ้าฟ้าฮ่ามกุมาร ส่วนตุงหรือธงต่างๆ ก็จะถูกนำมาปักไว้รอบๆ ลานอนุสาวรีย์

          เมื่อเครื่องไหว้ถูกวางเป็นที่เรียบร้อย พราหมณ์ในพิธีก็จะทำพิธีบวงสรวงดวงวิญญาณเจ้าฟ้าฮ่ามกุมาร หลังจากทำพิธีบวงสรวงเสร็จต่อมาก็จะเป็นขั้นตอนเปิดงาน โดยการกล่าวรายงานจากผู้จัดงาน และมีประธานในพิธีเป็นผู้รับคำกล่าวรายงานและกล่าวเปิดงาน ซึ่งส่วนใหญ่ประธานในพิธีก็จะเป็นข้าราชการผู้ใหญ่ระดับจังหวัดหรือนักการเมืองระดับจังหวัด เมื่อกล่าวเปิดงานเสร็จแล้วประธานในพิธีก็จะลั่นฆ้องชัย และขึ้นไปผูกผ้าแพรเจ็ดสี พร้อมถวายพวกมาลัยและนำน้ำอบน้ำหอมขึ้นถวายสักการะดวงวิญญาณเจ้าฟ้าฮ่ามกุมารซึ่งเชื่อว่าสถิตในอนุสาวรีย์เจ้าฟ้าฮ่ามกุมาร 

          หลังจากที่ประธานและแขกผู้มีเกียรติถวายสักการะและสรงน้ำอนุสาวรีย์เจ้าฟ้าฮ่ามกุมารเสร็จเรียบร้อยแล้ว ก็จะเป็นการแสดงถวายสักการะเจ้าฟ้าฮ่ามกุมาร โดยเริ่มจากการแสดงฟ้อนรำและปี่ซอพื้นเมืองจากหน่วยงานและผู้ศรัทธาต่างๆ ที่ขาดไม่ได้เลยก็คือการแสดงชกมวย เนื่องจากชาวบ้านเชื่อว่าเจ้าฟ้าฮ่ามกุมารท่านโปรดการชกมวยเป็นอย่างมาก หากมีการบนบานศาลกล่าวก็มักจะแก้บนด้วยการชกมวยถวาย

          ในระหว่างบนลานอนุสาวรีย์เจ้าฟ้าฮ่ามกุมารมีการแสดงต่างๆ นั้น ที่โฮงเลี้ยงหรือหอเลี้ยงเจ้าฟ้าฮ่ามกุมารซึ่งอยู่ตรงข้ามอนุสาวรีย์ก็จะมีการทำพิธีเซ่นไหว้เจ้าฟ้าฮ่ามกุมารแบบชาวบ้าน โดยจะมีผู้นำในการประกอบพิธีทำการบวงสรวงบูชาและมีร่างทรงเจ้าฟ้าฮ่ามกุมารเพื่อทำการประทับทรง ชาวบ้านก็จะถวายเครื่องเซ่นไหว้ซึ่งเป็นเนื้อดิบ เหล้า อาหารที่ปรุงจากควายหรือหมูซึ่งทำการฆ่าเพื่อการเซ่นไหว้เป็นการเฉพาะ มีการเล่นปี่ซอและฟ้อนรำแบบพื้นเมืองถวายอยู่ในหอ จากนั้นร่างทรงเจ้าฟ้าฮ่ามกุมารก็จะทานเครื่องเซ่นและให้พรแก่ผู้ที่มาร่วมงาน

          เมื่อเสร็จสิ้นพิธีการแล้ว จากนั้นชาวบ้านที่มาร่วมงานก็จะแบ่งปันเครื่องเซ่นไหว้เพื่อนำไปเป็นศิริมงคลแก่ตนเอง และทำการถวายน้ำสรงอนุสาวรีย์เจ้าฟ้าฮ่ามกุมารไปเรื่อยๆ ตลอดทั้งวัน ในบางปีภาคกลางคืนก็จะมีการชกมวยถวายด้วย รอบๆ ลานอนุสาวรีย์และตามสองข้างทางในบริเวณนั้นก็จะมีร้านค้าของพ่อค้าแม่ค้านำสินค้าพื้นเมืองและสินค้าต่างๆ จำหน่ายเป็นจำนวนมากอีกด้วย 

          นอกจากนี้ หลังเสร็จพิธีถวายน้ำสรงอนุสาวรีย์เจ้าฟ้าฮ่ามกุมารแล้วชาวบ้านก็จะนำน้ำไปสรงน้ำตามศาลเจ้าปู่ที่อยู่ตามชุมชนของตนเองด้วย ซึ่งถือเป็นการแสดงความเคารพนับถือต่อผีบรรพบุรุษในหมู่บ้านของตนเองควบคู่ไปกับการนับถือเจ้าฟ้าฮ่ามกุมาร

          จะเห็นได้ว่าประเพณีแห่น้ำขึ้นโฮงเกิดจากตำนานประวัติศาสตร์ท้องถิ่นที่เล่าต่อกันมา และขั้นตอนพิธีการแห่น้ำขึ้นโฮงก็สื่อถึงความผูกพันและความเชื่อของชาวลับแลที่เชื่อว่าเจ้าฟ้าฮ่ามกุมารเป็นปฐมกษัตริย์องค์แรกที่เป็นผู้ปกครองเมืองลับแล ทำให้ชาวเมืองลับแลต่างพากันเคารพนับถือสักการะในฐานะกษัตริย์ผู้ปกครองเมืองลับแลให้อยู่ร่มเย็นเป็นสุข และได้สำนึกระลึกถึงความดีของเจ้าฟ้าฮ่ามกุมารที่ทรงปกครองให้ชาวเมืองลับแลให้อยู่ดีมีสุข ฝนตกต้องตามฤดูกาล พืชผลทางการเกษตรมีความอุดมสมบูรณ์ดี 

          สิ่งหนึ่งที่สังเกตเห็นได้อย่างชัดเจนก็คือ รูปแบบการจัดการบวงสรวงเจ้าฟ้าฮ่ามกุมารแบบราชการกับแบบชาวบ้าน  ดังจะพบว่าในระหว่างที่ทางหน่วยงานราชการกำลังดำเนินการประกอบพิธีกรรมบวงสรวงโดยใช้วิธีให้พราหมณ์แบบราชสำนักอ่านโองการอยู่ที่หน้าอนุสาวรีย์เจ้าฟ้าฮ่ามกุมาร ก็ยังมีชาวบ้านอีกกลุ่มหนึ่งที่ทำการบวงสรวงแบบดั้งเดิมอยู่ที่โฮงเลี้ยงด้านล่างตรงข้ามกับอนุสาวรีย์ มีการเข้าทรงเจ้าฟ้าฮ่ามกุมารไปพร้อมๆ กัน ซึ่งเป็นสิ่งที่ควรทำการศึกษาและปรับประยุกต์รูปแบบการจัดงานแห่น้ำขึ้นโฮงให้สอดคล้องกันทั้งแบบดั้งเดิมและแบบที่ราชการประดิษฐ์ขึ้นใหม่ เพื่อไม่ให้เกิดความแตกแยกทางความเชื่อและความคิดขึ้นในชุมชนในอนาคต

          แต่อย่างไรก็ดี ประเพณีแห่น้ำขึ้นโฮงของชาวอำเภอลับแล จังหวัดอุตรดิตถ์ ก็ถือเป็นประเพณีที่แสดงให้เห็นถึงความเชื่อของชุมชนที่มีต่อเจ้าฟ้าฮ่ามกุมารซึ่งเป็นวีรบุรุษทางวัฒนธรรมของชุมชน ตลอดทั้งศักยภาพของชุมชน วิถีชีวิต ภูมิปัญญาในรูปแบบของเชิงวัตถุ  โดยเฉพาะอย่างยิ่งการแต่งกายแบบพื้นเมืองของผู้ที่มาร่วมงานอย่างเป็นเอกลักษณ์เฉพาะของท้องถิ่น ตลอดจนเป็นประเพณีที่สร้างความภาคภูมิใจ ความรัก ความสามัคคีที่เกิดขึ้นภายในชุมชน อันจะนำมาซึ่งการสร้างชุมชนที่เข้มแข็งเพื่อความมั่งคงยั่งยืนทางสังคมวัฒนธรรมต่อไป


บรรณานุกรม

คณะกรรมการฝ่ายประมวลเอกสารและจดหมายเหตุฯ. วัฒนธรรม พัฒนาการทางประวัติศาสตร์ เอกลักษณ์  และภูมิปัญญาจังหวัดอุตรดิตถ์. กรุงเทพฯ : คุรุสภาลาดพร้าว, 2544.

จงกลรัตน์ เขียวจันทร์แสง. การวิเคราะห์คำขวัญประจำตำบลในจังหวัดอุตรดิตถ์. วิทยานิพนธ์ปริญญาศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาภาษาไทย มหาวิทยาลัยนเรศวร, 2550.

ธวัชชัย ปทุมล่องทอง. เกร็ดความรู้ประเทศไทยภาคเหนือ. กรุงเทพฯ : น้ำฝน, 2544.

มณเฑียร ดีแท้. ประวัติเมืองอุตรดิตถ์. อุตรดิตถ์ : วิทยาลัยครูอุตรดิตถ์, 2519.

รุ่งทิวา โตธินา. ประวัติศาสตร์และขนบธรรมเนียมประเพณีวัฒนธรรมพื้นบ้าน อำเภอลับแล จังหวัดอุตรดิตถ์. วิทยานิพนธ์ปริญญาการศึกษาศิลปศาสตรบัณฑิต สาขาศิลปศาสตรบัณฑิต วิชาเอกประวัติศาสตร์ (เน้นการท่องเที่ยว) มหาวิทยาลัยนเรศวร, 2536.

Konsilaat. “เล่าเรื่องเมืองอุตรดิตถ์ตอน...ประเพณีแห่น้ำขึ้นโฮง”. สืบค้นเมื่อ 12 กรกฎาคม 2560.สืบค้นจาก http://oknation.nationtv.tv/blog/wut2013/2014/11/09/entry-1.

สัมภาษณ์

          1. นางจุรีรัตน์ จันทร์ศรี อายุ 64 ปี บ้านเลขที่ 3 หมู่ที่ 10 ตำบลฝายหลวง อำเภอลับแล จังหวัดอุตรดิตถ์, สัมภาษณ์วันที่ 8 พฤษภาคม 2560.

          2. นางอบ กันภัย อายุ 64 ปี บ้านเลขที่ 8/1 หมู่ที่ 10 ตำบลฝายหลวง อำเภอลับแล จังหวัดอุตรดิตถ์, สัมภาษณ์วันที่ 8 พฤษภาคม 2560.

          3. นางวัน พรหมอินทร์ อายุ 78 ปี บ้านเลขที่ 14/1 หมู่ที่ 7 ตำบลฝายหลวง อำเภอลับแล จังหวัดอุตรดิตถ์, สัมภาษณ์วันที่ 8 พฤษภาคม 2560.

          4. นางแกละ ศรีสิทธิ์ อายุ 77 ปี บ้านเลขที่ 6 หมู่ที่ 8 ตำบลฝายหลวง อำเภอลับแล จังหวัดอุตรดิตถ์, สัมภาษณ์วันที่ 8 พฤษภาคม 2560.

          5. นายสำราญ พัดลม อายุ 62 ปี บ้านเลขที่ 119/2 หมู่ที่ 2 ตำบลฝายหลวง อำเภอลับแล จังหวัดอุตรดิตถ์, สัมภาษณ์วันที่ 8 พฤษภาคม 2560.