สถานที่ท่องเที่ยวจังหวัดพะเยา

———————————————————————————————–

อนุสาวรีย์พ่อขุนงำเมือง

อดีตกษัตริย์ผู้ปกครองเมืองภูกามยาวลำดับที่ 9 ระหว่างปี พ.ศ. 1801 – 1841 เป็นยุคที่เจริญรุ่งเรืองมาก ประดิษฐานอยู่ที่สวนสาธารณะเทศบาลเมืองพะเยา (สวนสมเด็จย่า 90) หน้ากว๊านพะเยา เป็นพระสหายร่วมน้ำสาบานกับพ่อขุนเม็งรายแห่งเมืองเชียงราย และพ่อขุนรามคำแหงแห่งกรุงสุโขทัย ซึ่งทั้งสามพระองค์ได้กระทำสัตย์ต่อกัน ณ บริเวณแม่น้ำอิง ซึ่งปัจจุบันอยู่บริเวณสถานีประมงน้ำจืดพะเยา พ่อขุนงำเมืองเป็นผู้ทรงอิทธิฤทธิ์กล่าวกันว่าเมื่อพระองค์เสด็จไปทางไหน แดดก็บ่อฮ้อน ฝนก็บ่อฮำ จักให้แดดก็แดด จักให้บดก็บด จึงได้พระนามว่างำเมือง

—————————————————————————————————————————————————————-

กว๊านพะเยา

กว๊านพะเยา กว๊าน หมายถึง หนองน้ำหรือบึงน้ำขนาดใหญ่ คำนี้มีใช้ในท้องถิ่นล้านนาเฉพาะที่จังหวัดพะเยาแห่งเดียวเท่านั้น กว๊านพะเยา เป็นบึงน้ำขนาดใหญ่ รูปพระจันทร์เสี้ยวเกือบครึ่งวงกลม แหว่งทางด้านตะวันออกเฉียงเหนือ ที่เกิดจากการยุบตัวของเปลือกโลกเมื่อประมาณ ๗๐ ล้านปีมาแล้ว โอบล้อมดอยแม่ใจซึ่งเป็นภูเขาสูงยาว เป็นแอ่งน้ำที่รวบรวมของลำห้วยต่างๆ ๑๘ สาย ต่อมาในปี ๒๔๗๘ กรมประมงได้ตั้งสถานีประมงน้ำจืดจังหวัดพะเยาขึ้นบริเวณต้นแม่น้ำอิง และสร้างฝายกั้นน้ำทำให้เกิดเป็นบึงขนาดใหญ่ มีความลึกเฉลี่ย ๑.๕ เมตร กว๊านพะเยาเป็นแหล่งน้ำที่สำคัญที่สุดของจังหวัดพะเยา เป็นทั้งแหล่งประมงน้ำจืดที่สำคัญที่สุดของภาคเหนือตอนบน และเป็นสถานที่ท่องเที่ยวของจังหวัดพะเยา มีเนื้อที่ประมาณ ๑๒,๘๓๑ ไร่ เป็นแหล่งเพาะพันธุ์ปลาชนิดต่างๆ เช่น ปลากราย ปลาสวาย ปลาเทโพ ปลาจีน ปลาไน รวมทั้งปลานิล อันลือชื่อของจังหวัดพะเยา ทัศนียภาพโดยรอบกว๊านพะเยา มีความร่มรื่น สามารถมองเห็นแนวทิวเขาสลับซับซ้อน งดงามมาก บริเวณริมกว๊านมีร้านอาหารและจัดเป็นสวนสาธารณะเหมาะที่จะไปนั่งเล่น พักผ่อนหย่อนใจในยามเย็น ชมพระอาทิตย์ตกริมกว๊านเป็นภาพที่สวยงามมาก

—————————————————————————————————————————————————————-

 

หอวัฒนธรรมนิทัศน์

อยู่ใกล้กับวัดศรีโคมคำ เป็นพิพิธภัณฑ์ที่มีรูปแบบการตกแต่งสวยงามจัดแสดงโบราณวัตถุ เอกสารข้อมูลสำคัญทางประวัติศาสตร์ของจังหวัดพะเยา และเรื่องราวความเป็นมาทั้งด้านวรรณกรรม ภูมิปัญญาท้องถิ่น วัฒนธรรมประเพณี และวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของชาวพะเยา เปิดให้เข้าชมทุกวัน เวลา 09.00-16.00 น. ค่าเข้าชม ชาวต่างชาติ 40 บาท ผู้ใหญ่ 20 บาท เด็ก 10 บาท
โทร. 0 5441 0058-9

—————————————————————————————————————————————————————-

สถานีประมงน้ำจืดพะเยา และพระตำหนักกว๊านพะเยา

ตั้งอยู่ถนนพหลโยธินระหว่างหลักกิโลเมตรที่ 734-735 เป็นสถานีเพาะพันธุ์ปลาน้ำจืด มีพิพิธภัณฑ์ปลาบึก แสดงเกี่ยวกับการเพาะพันธุ์ปลาบึกครั้งแรกของโลก โดยใช้พ่อแม่พันธุ์ที่เลี้ยงไว้ในบ่อดิน ปลาบึกเป็นปลาน้ำจืดไม่มีเกล็ด ขนาดใหญ่ที่สุดในโลก โตเต็มที่ยาว 3 เมตร น้ำหนัก 250 กิโลกรัม อาศัยอยู่ในแม่น้ำโขง นอกจากนั้นยังเป็นที่เพาะพันธุ์ปลาเพื่อแจกจ่ายแก่เกษตรกรได้แก่ ปลานิล ปลาไน ปลาตะเพียนขาว ปลายี่สกเทศ ภายในพิพิธภัณฑ์ยังจัดแสดงพันธุ์ปลาสวยงามที่หาดูยากไว้หลายชนิด เปิดให้ชมทุกวันเวลา 8.30–16.30 น. นอกจากนั้นยังมีเรือนประทับสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี เมื่อครั้งเสด็จมาทรงงานที่จังหวัดพะเยาอยู่ในบริเวณเดียวกัน บริเวณรอบตำหนักจะมีดอกไม้เมืองหนาวนานาพันธุ์ สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ โทร. 0 5443 1251

 —————————————————————————————————————————————————————-

 

ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงปังค่า

เริ่มดำเนินงานเมื่อ พ.ศ.2530 ในเขตหมู่บ้านปางค่า ต.ผาช้างน้อย เพื่อส่งเสริมอาชีพให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่มขิ้นและป้องกันปัญหาการบุกรุกทำลายป่า ตลอดจนส่งเสริมคุณภาพชีวิตของราษฎรให้ดีขึ้น พื้นที่เป็นภูเขาและเนินเขา อุณหภูมิเฉลี่ย 25.8 องศาเซลเซียส ประชากรประกอบด้วยชนเผ่าม้ง และเผ่าเย้า ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงปังค่า ได้จัดทำแปลงสาธิต เปิดให้นักท่องเที่ยวเข้าเยี่ยมชมกิจกรรมภายในศูนย์ฯ ประกอบด้วยชมแปลงสาธิตพืชผัก ไม้ดอก ไม้ผล ภายในโครงการฯมีบริการบ้านพัก 3 ห้อง ราคา 800 บาท ติดต่อจองห้องพักได้ที่ แผนกประขาสัมพันธ์ มูลนิธิโครงการหลวง โทร. 0 5381 0765-8 ต่อ 108 ดูข้อมูลเกี่ยวกับมูลนิธิโครงการหลวงได้ที่http://www.doikham.com
การเดินทาง ใช้ทางหลวงหมายเลข 1148 ถนนสายเชียงคำ-น่าน และเลี้ยวซ้ายที่ กม. 90 ตรงไปตามถนน รพช.ประมาณ 5 กิโลเมตร

—————————————————————————————————————————————————————-

ถนนดอกไม้

เมื่อถึงเดือนกุมภาพันธ์จากอำเภอดอกคำใต้ไปจนถึงอำเภอจุน จังหวัดพะเยาจะเห็นดอกทองกวาวบานอยู่สองข้างทางในช่วงเวลาเช้าและเย็น
ของถนนเส้นนี้มีระยะทางราว 20 กิโลเมตรนับจากกิโลเมตรที่ 5 เป็นต้นไปเป็นถนนสายดอกไม้ที่บานสวยที่สุดและยังเป็นจุดชมวิวที่มีสีสันตระการตา    ดอกทองกวาว (Butea monosperma) มีสีแสดซึ่งมองเห็นเด่นชัดไปไกลสุดสายตา

การเดินทาง 

จากจังหวัดพะเยา ใช้ทางหลวงหมายเลข 1 และ1021 สู่ อำเภอดอกคำใต้แล้วมุ่งหน้าไปทางอำเภอจุน เลยอำเภอดอกคำใต้ไปราว 4 กิโลเมตรจะเริ่มมีต้นทองกวาวขึ้น เรียงรายสองข้างทางรวมระยะทางราว 20 กิโลเมตร

—————————————————————————————————————————————————————-

………….สถานที่ท่องเที่ยว………….

สถานที่อื่นๆ>>> สถานที่ศักดิ์สิทธิ์ >>> แหล่งท่องเที่ยวอุทยาน <<<

ใส่ความเห็น

ใส่ความเห็น