คำเตือนทิฟฟี่-ดีคอลเจน

Tiffy-Decolgen

การรู้จักการใช้ยา ใช้ยาอย่างสมเหตุผล หลีกเลี่ยงการใช้ยาซ้ำซ้อน นอกจากจะทำให้การรักษาอาการป่วยหรือโรคเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพแล้ว ยังช่วยลดความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นจากการใช้ยาด้วย ยาหลายแม้ว่าจะเป็นยาที่ดีแต่ถ้าเลือกใช้ไม่ถูกต้องหรือใช้อย่างไม่เหมาะสมแล้วก็เป็นอันตรายได้ และโปรดอ่านคำเตือนหรือคำแนะนำบนฉลากยาก่อนการใช้ยา

ขอยกตัวอย่างผลิตภัณฑ์ที่น่าจะคุ้นเคยในประเทศไทย ผลิตภัณฑ์ตัวอย่างทั้งคู่นี้มี ตัวยาเหมือนกัน คือ พาราเซตามอล 500 มิลลิกรัม (สำหรับบรรเทาอาการปวด ลดไข้) คลอร์เฟนิรามีน มาลีเอต 2 มิลลิกรัม (สำหรับบรรเทาอาการแพ้ ลดน้ำมูก) และเฟนิลเอฟริน ไฮโดรคลอไรด์ 10 มิลลิกรัม (สำหรับบรรเทาอาการคัดจมูก)

เนื่องจากยานี้มีพาราเซตามอลเป็นส่วนประกอบ หากจะรับประทานพาราเซตามอลเพิ่มอีก (เช่น ไทลินอล ซารา ฯลฯ) ก็ต้องลดจำนวนลง เหลือเพียง 1 เม็ด มิฉะนั้นจะเสี่ยงกับการได้รับยาพาราเซตามอลเกินขนาด หากไม่มีไข้ ไม่มีอาการปวดหัว ควรหลีกเลี่ยงใช้สูตรยานี้เพราะจะทำให้ตับได้รับอันตรายจากพาราเซตามอลโดยไม่จำเป็น

[คำเตือน]
ผู้ทำงานประเภทห้ามง่วง ผู้มีโรคประจำตัว หรือมีการใช้ยาอื่นอยู่แล้ว พึงตระหนักถึงคำเตือนของการใช้ยานี้ โดยอาจปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรของท่านเพื่อความปลอดภัยในการใช้ยา หรือลดความเสี่ยงจากยาให้มากที่สุด หากลองสังเกตที่เอกสารกำกับยาจะมีคำเตือนเหล่านี้ปรากฏอยู่ คือ
1. ห้ามใช้ในเด็กอายุต่ำกว่า 12 ปี ผู้ป่วยโรคความดันโลหิตสูง โรคหัวใจ โรคตับ โรคไต โรคเบาหวาน โรคต่อมไทรอยด์ (เนื่องจากผลของฟีนิลเอฟริน) ผู้ที่กำลังมีอาการหอบหืด โรคต้อหิน (เนื่องจากผลของคลอร์เฟนิรามีน) ต่อมลูกหมากโต หรือปัสสาวะขัด (เนื่องจากผลของฟีนิลเอฟรินหรือคลอร์เฟนิรามีน)
2. ถ้าใช้ยานี้เกินขนาดที่ระบุไว้บนฉลากหรือเอกสารกำกับยา จะทำให้เป็นพิษต่อตับได้ และไม่ควรใช้ยานี้ติดต่อกันเกิน 5 วัน (เนื่องจากผลของพาราเซตามอล)
3. ยานี้ทำให้ง่วงซึม จึงไม่ควรขับขี่ยานยนต์หรือทำงานเกี่ยวกับเครื่องจักรกล หรือทำงานที่เสี่ยงต่อการพลัดตกจากที่สูง (เนื่องจากผลของคลอร์เฟนิรามีน ที่ทำให้ง่วง)
4. ไม่ควรรับประทานร่วมกับสุรา หรือสิ่งที่มีแอลกอฮอล์เป็นส่วนประกอบ (เนื่องจากจะเพิ่มการทำลายตับมากขึ้น)
5. ระวังการใช้ยานี้ในสตรีมีครรภ์ระยะ 3 เดือนแรกและสตรีให้นมบุตร
6. ยานี้ทำให้ปากแห้ง ปัสสาวะขัด เสมหะเหนียวข้น ตาพร่า วิงเวียนสับสนและเม็ดเลือดผิดปกติได้ (เนื่องจากผลของคลอร์เฟนิรามีน)
7. เด็กและผู้สูงอายุ จะไวต่อยานี้มากขึ้น ทำให้ง่วงนอน วิงเวียน ประสาทหลอน ปากแห้ง ปัสสาวะคั่ง ความดันโลหิตต่ำ หงุดหงิด นอนไม่หลับ และบางรายอาจมีอาการชักได้ (Paradoxical reaction) (เนื่องจาก anticholinergic effects ของคลอร์เฟนิรามีน)
8. ระวังการใช้ยานี้ร่วมกับยาที่มีฤทธิ์กดระบบประสาทส่วนกลาง เช่น ยากลุ่ม Benzodiazepines ยาที่มีฤทธิ์แอนติโคลิเนอร์จิก และยาต้านอาการซึมเศร้าชนิดต่าง ๆ
9. ระวังการใช้ยานี้ใน ผู้ที่มีประวัติโรคหอบหืด โรคถุงลมโป่งพอง
[สถานะตามกฎหมาย]
ยานี้หากจัดประเภทตาม พ.ร.บ.ยา พ.ศ.2510 แล้ว ถือว่าเป็นประเภทยาอันตราย ตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง ยาอันตราย ฉบับที่ 24 (ราชกิจจานุเบกษา 19 กันยายน 2554) เนื่องจากสูตรดังกล่าวมีพาราเซตามอลถึง 500 มิลลิกรัม ซึ่งมีพาราเซตามอลเกิน 325 มิลลิกรัม จึงไม่เข้าข้อยกเว้นยาที่ไม่ใช่ยาอันตราย

[สถานที่ที่สามารถขายยานี้ได้]
ต้องขายในร้านขายยาแผนปัจจุบันประเภท ข.ย.1 เท่านั้น (สังเกตป้ายที่เขียนว่า “สถานที่ขายยาแผนปัจจุบัน” จะเป็นสีน้ำเงิน) และต้องมีเภสัชกรเป็นผู้ขายเท่านั้น (ตามมาตรา 32 ผู้ฝ่าฝืนต้องได้รับโทษตามมาตรา 107 กล่าวคือ ต้องระวางโทษปรับตั้งแต่หนึ่ง 1,000 – 5,000 บาท)

[สถานที่ห้ามขายยานี้] เช่น
ห้ามขายในร้านขายยาประเภท ข.ย.2 (สังเกตป้ายที่เขียนว่า “สถานที่ขายยาแผนปัจจุบันเฉพาะยาบรรจุเสร็จที่ไม่ใช่ยาอันตรายหรือยาควบคุมพิเศษ” จะเป็นสีเขียว) เนื่องจากเป็นการขายยาแผนปัจจุบันไม่ตรงตามประเภทใบอนุญาต (ฝ่าฝืนมาตรา 19(2) ต้องรับโทษตามมาตรา 102 กล่าวคือ ต้องระวางโทษปรับตั้งแต่ 2,000 – 5,000 บาท)
ห้ามขายในร้านชำหรือร้านสะดวกซื้อ (เนื่องจากไม่มีใบอนุญาตขายยาแผนปัจจุบัน ฝ่าฝืนมาตรา 12 ต้องรับโทษตามมาตรา 101 กล่าวคือ โทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี และปรับไม่เกิน 10,000 บาท)

[การโฆษณา]
เนื่องจากยาในสูตรนี้เป็นยาอันตราย จึงห้ามโฆษณาขายยาที่แสดงสรรพคุณยาอันตรายโดยตรงต่อประชาชน ตามมาตรา 88 (ฝ่าฝืนต้องระวางโทษตามมาตรา 124 กล่าวคือ ต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 100,000 บาท) ทำได้เพียงโฆษณาขายยาต่อผู้ประกอบวิชาชีพโดยต้องขออนุญาตก่อน ซึ่งเลขที่โฆษณาจะเห็นคำว่า ฆศ
สูตรที่เห็นในโฆษณาเป็นสูตรที่ยกเว้นไม่เป็นยาอันตราย (และมีชื่อการค้าเกือบเหมือนกับสูตรยาที่โฆษณาไม่ได้ ต่างกันตรงที่สูตรที่โฆษณาได้ ชื่อยาจะไม่มี “เดย์” หรือ “พริน” หรืออื่น ๆ ต่อท้าย

[เรื่องศึกษาเพิ่มเติม]
– สถานะของยาที่มี phenylephrine เป็นส่วนประกอบ http://rparun.blogspot.com/2011/10/phenylephrine.html
– เมื่อร้านขายยา ประเภท ข.ย.2 ขายยาอันตรายหรือยาควบคุมพิเศษ http://rparun.blogspot.com/2012/07/khoryor2.html
– ข้อสังเกตการโฆษณายาชื่อการค้า ดีคอลเจน (Decolgen) หรือทิฟฟี่ (Tiffy) http://rparun.blogspot.com/2011/05/decolgen-tiffy.html

1 thought on “คำเตือนทิฟฟี่-ดีคอลเจน

Leave a comment