พาชมห้องสมุดวัฒนธรรม กรมส่งเสริมวัฒนธรรม



ผมขออนุญาตพาทุกท่านไปชมห้องสมุดวัฒนธรรม กรมส่งเสริมวัฒนธรรม  เป็นห้องสมุดที่อยู่ในศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย ถ้าท่านใดเคยไปที่หอประชุมใหญ่ของศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย  ถ้าท่านเดินเลยเข้าไปจะเจออาคารนิทรรศการและบริการทางการศึกษา  เลี้ยวซ้ายจะเจอบันไดทางขึ้นสองฝั่ง  ถ้าขึ้นบันไดฝั่งขวามือ  ขึ้นไปถึงชั้น 3  ท่านจะถึงห้องสมุดวัฒนธรรม 

สำหรับห้องสมุดวัฒนธรรม กรมส่งเสริมวัฒนธรรม แห่งนี้  นอกจากจะเป็นห้องสมุดที่ให้บริการหนังสือทั่วไปและหนังสือสำหรับเด็กแล้ว  ห้องสมุดวัฒนธรรมยังถือว่าเป็นห้องสมุดเฉพาะทาง  ที่รวบรวมหนังสือเกี่ยวกับวัฒนธรรมของไทยไว้จำนวนมาก  ทั้งหนังสือที่ทางหน่วยราชการต่างๆ จัดพิมพ์  และหนังสือที่เป็นชุดรวบรวมผลงานวิจัยของนักวิจัยด้านวัฒนธรรมของเมืองไทย  ถือว่าเป็นห้องสมุดที่มีหนังสือด้านวัฒนธรรมที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทยในเวลานี้

ที่สำคัญที่สุด สำหรับคนไทยทุกท่านสามารถเข้าไปใช้บริการได้ฟรี โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายใด ๆ ทั้งสิ้น   อีกทั้งห้องสมุดแห่งนี้ติดแอร์เย็นฉ่ำและพื้นของห้องสมุดทั้งหมดปูพรมอย่างดี นุ่มสบายเท้าเวลาเดิน จึงให้บรรยากาศที่ดูผ่อนคลาย ห้องสมุดแห่งนี้อยู่ใต้โครงหลังคาจั่วสามเหลี่ยม จึงมีเพดานที่สูงเป็นพิเศษ ดูโปร่งโล่งมาก ส่วนผนังฝั่งที่เป็นด้านนอกตัวอาคารบางส่วนเป็นกระจก มีห้องอ่านหนังสือมีโต๊ะที่อยู่ติดกับกระจกบานใหญ่เป็นรูปสามเหลี่ยม  มองออกไปเห็นต้นหางนกยูงต้นใหญ่กำลังออกดอกสวยงาม มองเลยไปเห็นวิวของอาคารกระทรวงวัฒนธรรมที่อยู่ภายนอกได้ด้วย  ทำให้ได้บรรยากาศแบบสบาย ๆ เหมือนนั่งอ่านหนังสืออยู่ในบ้านของคุณเอง

ว่าแล้วก็ไปชมห้องสมุดวัฒนธรรมแห่งนี้กัน  โดยผมนำเสนอผ่าน 3 ส่วนคือ 1. ข้อมูลทั่วไปของห้องสมุดวัฒนธรรม  2. ภาพบรรยากาศภายในห้องสมุดวัฒนธรรม  และ 3. คลิปวีดีโอที่เป็นบทสัมภาษณ์คุณขัตติยา ทองทา บรรณารักษ์ชำนาญการ หัวหน้าห้องสมุดวัฒนธรรม  ซึ่งเป็นผู้ให้ข้อมูลและพาผมชมห้องสมุดวัฒนธรรมแห่งนี้


1. ห้องสมุดวัฒนธรรม  ก่อตั้งขึ้นตามแนวคิดของท่านใด? 
  
ห้องสมุดวัฒนธรรม ก่อตั้งขึ้นมาพร้อมกับศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย โดยมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 7 สิงหาคม 2527 ให้จัดตั้งศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย โดยมอบหมายให้กระทรวงศึกษาธิการเป็นผู้รับผิดชอบดำเนินการ เพื่อเป็นแหล่งกลางในการศึกษาและส่งเสริมงานศิลปวัฒนธรรมของชาติ อำนวยความสะดวกแก่เยาวชนและประชาชนในการประกอบกิจกรรมที่ส่งเสริมและเผยแพร่ศิลปวัฒนธรรม ซึ่งได้รับความช่วยเหลือจากรัฐบาลญี่ปุ่นในรูปของการให้เปล่าในด้านการก่อสร้างอาคารและจัดหาอุปกรณ์ รัฐบาลไทยรับผิดชอบในเรื่องจัดเตรียมที่ดินสำหรับก่อสร้างและจัดสาธารณูปโภค 
          
สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี หรือ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี พระอิสริยยศในขณะนั้น เสด็จพระราชดำเนินทรงวางศิลาฤกษ์ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย เมื่อวันจันทร์ที่ 1 เมษายน 2528 เวลา 08.30 น. กำหนดจะแล้วเสร็จเดือนมีนาคม 2530 และพร้อมเปิดบริการแก่ประชาชนเดือนธันวาคม 2530  
          
อาคารต่างๆ ของศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทยประกอบด้วย หอประชุมใหญ่ หอประชุมเล็ก อาคารนิทรรศการและบริการทางการศึกษา ศาลาไทย ศาลาญี่ปุ่น ในส่วนของห้องสมุดวัฒนธรรมตั้งอยู่ที่ชั้น 3 อาคารนิทรรศการและบริการทางการศึกษา เป็นห้องสมุดสำหรับประชาชน เปิดให้บริการตลอดทั้งปี ให้ประชาชนอ่านหนังสือ วารสารด้านศิลปวัฒนธรรม หนังสือพิมพ์ บริการฟังเทปบันทึกเสียงละคร กวีนิพนธ์ ดนตรี เทปโทรทัศน์ทั้งสารคดีและบันเทิง

ในปัจจุบัน เมื่อโครงสร้างหน่วยงานราชการเปลี่ยนแปลงไป ห้องสมุดวัฒนธรรม สังกัดกลุ่มส่งเสริมการเรียนรู้ทางศิลปะการแสดง กองส่งเสริมและถ่ายทอดศิลปวัฒนธรรม กรมส่งเสริมวัฒนธรรม เป็นห้องสมุดเฉพาะที่ให้บริการทรัพยากรสารสนเทศด้านมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม ศิลปินแห่งชาติ และความรู้ด้านอื่นที่หลากหลาย แก่เจ้าหน้าที่กรมส่งเสริมวัฒนธรรมและประชาชนทั่วไป
 

2. พื้นที่ให้บริการของห้องสมุดฯ ครอบคลุมพื้นที่บริเวณใดบ้าง?
 
ห้องสมุดวัฒนธรรมให้บริการทุกพื้นที่ทั้งแบบ ON-SITE การเข้ามาใช้บริการในพื้นที่ห้องสมุด และ ON-LINE การใช้บริการผ่านเครือข่ายอินเทอร์เน็ต แอปพลิเคชัน เว็บไซต์ Facebook Line Youtube  
 
3. ในห้องสมุดฯ มีหนังสือประเภทใดบ้าง?  มีหนังสือในหมวดเฉพาะด้านหรือเฉพาะทางหรือไม่?
 
ทรัพยากรสารสนเทศที่ห้องสมุดวัฒนธรรมมีให้บริการ ได้แก่ หนังสือพิมพ์, วารสาร, หนังสือทั่วไปหมวด 000-900, หนังสืออ้างอิง, หนังสืออาเซียน, หนังสือราชวงศ์, งานวิจัย, ปริญญานิพนธ์, วิทยานิพนธ์, นวนิยาย,  เรื่องสั้น, วรรณกรรมเยาวชน, หนังสือเด็กและเยาวชน, หนังสือพระไตรปิฎก และวารสารเย็บเล่มย้อนหลัง
          
Collection พิเศษ ที่ห้องสมุดวัฒนธรรมจัดบริการ ได้แก่ หนังสือสวธ., หนังสือสวธ. วิจัย, หนังสือศิลปินแห่งชาติ, หนังสือผู้มีผลงานดีเด่นทางวัฒนธรรม, หนังสือบูรพศิลปิน, หนังสือมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม, สูจิบัตร, หนังสือและงานวิจัยหน่วยงานสังกัดกระทรวงวัฒนธรรม, 100 เล่มหนังสือดีสำหรับเด็กและเยาวชน (คัดเลือก โดยกรมส่งเสริมวัฒนธรรมร่วมกับมูลนิธิหนังสือเพื่อเด็ก) และหนังสืออดีตอธิบดีสวธ. นันทิยา 
 
นอกจากนี้ยังมีวิดีโอ, เทปคลาสเซท และซีดีรอมให้บริการประเภทเพลงไทยเดิม, เพลงบรรเลง, ลีลาศ, ดนตรี, การแสดงพื้นบ้าน, เพลงไทยลูกกรุง, เพลงไทยลูกทุ่ง, ละครเวที, คอนเสิร์ต, คีตศิลป์, สารคดี, ชีวประวัติผลงาน และรวมเรื่องทั่วไป
 

4. การได้มาของหนังสือในห้องสมุดฯ ได้มาอย่างไร? (ตามงบประมาณ หรือจัดซื้อเอง ฯลฯ)
 
การจัดหาทรัพยากรสารสนเทศของห้องสมุดวัฒนธรรมได้มาจากงบประมาณประจำปี โครงการบริหารจัดการศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย ประมาณ 400,000-700,000 บาท ในแต่ละปีงบประมาณจะได้ไม่เท่ากัน ปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 ได้มา 554,540 บาท ซึ่งเป็นงบประมาณที่นำมาบริหารจัดการทุกอย่างในห้องสมุด โดยห้องสมุดดำเนินการจัดซื้อจัดจ้างเอง และหนังสือส่วนหนึ่งได้มาจากการรับบริจาค เช่น ได้รับจากผู้บริหารกรมส่งเสริมวัฒนธรรม, หน่วยงานในกรม, หน่วยงานราชการอื่น หน่วยงานเอกชน มูลนิธิ และประชาชน
 

5. ขั้นตอนการใช้บริการของประชาชนทั่วไป  มีขั้นตอนอย่างไรบ้าง?  และขั้นตอนการใช้บริการในช่วงสถานการณ์โควิด-19
 
การให้บริการของห้องสมุดวัฒนธรรม 
          
1. ผู้มีสิทธิ์ใช้บริการ ได้แก่ เจ้าหน้าที่กรมส่งเสริมวัฒนธรรม และประชาชน 
          
2. การสมัครสมาชิกห้องสมุด แสดงบัตรประจำตัวประชาชน โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย 
          
3. การยืมคืนทรัพยากรสารสนเทศ เจ้าหน้าที่กรมส่งเสริมวัฒนธรรม ยืมได้ไม่เกิน 15 รายการ 20 วัน, ประชาชน ยืมได้ไม่เกิน 3 รายการ 7 วัน, ยืมหนังสือต่อได้ไม่เกิน ๒ ครั้ง โดยแจ้งที่เคาน์เตอร์บริการหรือยืมต่อทางโทรศัพท์, ในการยืมครั้งต่อไปจะต้องไม่มีรายการหนังสือค้างส่ง, หากไม่ส่งคืนตามเวลาที่กำหนดจะถูกตัดสิทธิ์ในการยืมครั้งต่อไป, กรณีทำหนังสือหายหรือชำรุดต้องชดใช้ตามราคาหรือซื้อหนังสือเล่มใหม่ทดแทน
          
การให้บริการของห้องสมุดวัฒนธรรมในช่วงสถานการณ์โควิด-19
          
ในสถานการณ์ปกติ ห้องสมุดเปิดบริการ วันอังคาร-เสาร์ เวลา 09.00-16.00 น.
          
ในสถานการณ์โควิด-19 ห้องสมุดเปิดบริการ วันอังคาร-ศุกร์ เวลา 09.00-15.00 น. โดยลดจำนวนที่นั่งให้เว้นระยะห่างมากขึ้น และมีมาตรการเข้าใช้บริการห้องสมุดวัฒนธรรม 
                           
1. สวมหน้ากากอนามัยหรือหน้ากากผ้า
2. วัดอุณหภูมิร่างกาย ณ จุดตรวจ ชั้น 1 
3. สแกน QR Code ไทยชนะ หรือลงชื่อในแบบฟอร์ม
4. ล้างมือด้วยเจลแอลกอฮอล์ 
5. เว้นระยะห่างทางกายภาพ
          
ช่องทางการติดต่อ-ติดตามห้องสมุด 
E-mail: clibdcp@gmail.com
Facebook: ห้องสมุดวัฒนธรรม กรมส่งเสริมวัฒนธรรม
Youtube: ห้องสมุดวัฒนธรรม
Website: http://lib.culture.go.th  (สืบค้นทรัพยากรสารสนเทศ)
Website: http://libculture.vlcloud4.net/  (ห้องสมุดดิจิทัล)


ทำความรู้จักห้องสมุดวัฒนธรรม กรมส่งเสริมวัฒนธรรม โดยคุณขัตติยา ทองทา บรรณารักษ์ชำนาญการ หัวหน้าห้องสมุดวัฒนธรรม
คลิกเพื่อดูคลิปวิดีโอ


พาชมห้องสมุดวัฒนธรรม กรมส่งเสริมวัฒนธรรม
คลิกเพื่อดูคลิปวิดีโอ

6. ห้องสมุดฯ มีบริการพิเศษอะไรบ้าง? (อาทิเช่น มีบริการถ่ายเอกสาร , มีให้ยืมหนังสือ , มีไวไฟฟรี ฯลฯ)
 
บริการห้องสมุดดิจิทัล 
          
เป็นบริการอ่านหนังสือออนไลน์ได้ทุกที่ทุกเวลา โดยดาวน์โหลด Application จาก App Store หรือ Google play ค้นหาคำว่า “Digital Cultural Library” หรืออ่านจากเว็บไซต์ห้องสมุดดิจิทัล http://libculture.vlcloud4.net  
          
สมัครสมาชิกเพื่อรับ Username และ Password ก่อนเข้าสู่ระบบ (ไม่เสียค่าใช้จ่าย) ทาง Google Form https://forms.gle/9Nv37raxgNCNTu6P7
          
สามารถค้นหายืมคืนหนังสือได้ใน Application (อ่าน ebook ฟรี ประมาณ 490 เล่ม) 


บริการอ่านออนไลน์ 
          
เป็นบริการทรัพยากรสารสนเทศในรูปแบบ Infographic และ Poster ในหัวข้อ วัฒนธรรมน่ารู้, สาระน่ารู้, เล่มนี้มีอะไร, รีวิวหนังสือน่าอ่าน อ่านแล้วดี ต้องบอกต่อ, แนะนำหนังสือใหม่, แนะนำ ebook น่าอ่าน, นิทรรศการหนังสือ, ข่าวหน้าหนึ่ง, แนะนำสารบัญวารสาร, คำคม ข้อคิด สะกิดใจ, ธรรมะวันละนิด และมีมหนังสือน่าอ่าน ให้บริการทางสื่อสังคมออนไลน์ เพจห้องสมุดวัฒนธรรม กรมส่งเสริมวัฒนธรรม และ Line ภายในกรมฯ กองฯ


บริการดาวน์โหลดหนังสือสวธ. และหนังสือสวธ. วิจัย
          
หนังสือสวธ. เป็นหนังสือที่จัดพิมพ์โดยกรมส่งเสริมวัฒนธรรม และหนังสือสวธ. วิจัย เป็นงานวิจัยที่ได้รับทุนสนับสนุนจากกรมส่งเสริมวัฒนธรรม สามารถดาวน์โหลดในรูปแบบ PDF จากเว็บไซต์สืบค้นทรัพยากรสารสนเทศ http://lib.culture.go.th หนังสือที่ดาวน์โหลดได้จะปรากฏคำว่า “e-book” ในช่องมัลติมีเดีย 


พาพันขยัน
แก้ไขข้อความเมื่อ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่