*** การปฏิวัติฝรั่งเศส ฉบับเข้าใจง่าย ***

การปฏิวัติฝรั่งเศสกินระยะเวลาเพียงสิบปี (1789-1799) แต่อัดแน่นด้วยความพลิกผันมากมาย เป็นเหตุการณ์ที่ทรงอิทธิพลเป็นอย่างยิ่งซึ่งจะเปลี่ยนแปลงประวัติศาสตร์โลกไปตลอดกาล

มันเป็นจุดเปลี่ยนเทรนด์แนวคิดของชาวโลกจาก "อำนาจอยู่ที่คนวรรณะสูง" ไปสู่ "อำนาจอยู่ที่มวลชน" แม้เป็นอุดมการณ์ที่ดี แต่การเปลี่ยนแปลงดังกล่าว ห่างไกลจากการโรยด้วยกลีบกุหลาบ

...เรื่องที่ท่านอ่านต่อไปนี้ จะแสดงภาพลักษณ์สองอย่าง ซึ่งขัดแย้งกัน...

...เรื่องที่ท่านอ่านต่อไปนี้ จะแสดงภาพอันสวยงาม...
มันมีการโค้นล้มอำนาจศักดินาอันฟอนเฟะ การเลิกทาส การให้สิทธิคนผิวสี การสร้างสังคมในอุดมคติซึ่งเปี่ยมด้วยเหตุผล และมนุษยธรรม

...เรื่องที่ท่านอ่านต่อไปนี้ จะเป็นเรื่องราวที่น่าทุเรศ
...นี่เป็นยุคที่ความดีถูกหลอมรวมเป็นสิ่งเดียวกับความบ้าคลั่ง
...ท่านจะได้เห็นคนดีเปลี่ยนเป็นคนเลว
...ท่านจะได้เห็นยุคสมัยแห่งความชั่วช้า
...เราจะได้เห็นทั้งการตกต่ำที่สุด และการรุ่งเรืองที่สุดของฝรั่งเศส ก่อนจะส่งไม้ผลัดไปยังยุคถัดไป

ขอเชิญทุกท่านเป็นประจักษ์พยานในเหตุสำคัญทางประวัติศาสตร์ที่แสดงให้เห็นว่า มนุษย์เราต้องผ่านพ้นอะไรบ้าง กว่าจะได้สิทธิ ความเสมอภาค และระบอบประชาธิปไตยในปัจจุบัน


การปฏิวัติฝรั่งเศสเกิดขึ้นหลังฝรั่งเศสบรรลุถึงยุคพีคเป็นมหาอำนาจอันดับหนึ่งของโลกในสมัยพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 (1643-1715) แต่ต่อมาพอถึงสมัยพระเจ้าหลุยส์ที่ 15 (1715-1774) นั้นเขาบริหารผิดพลาด ทั้งรบแพ้สงครามเจ็ดปีกับอังกฤษ ทำให้ฝรั่งเศสสูญเสียอาณานิคมอเมริกา และอ่อนแอลง

หลุยส์ที่ 15 จากไปโดยทิ้งประเทศที่บอบช้ำจากสงครามให้หลานของเขาหรือพระเจ้าหลุยส์ที่ 16 บัดนั้นฝรั่งเศสไม่ได้ร่ำรวยยิ่งใหญ่เหมือนเก่า แต่ชนชั้นสูงก็ยังติดความหรูหราฟูฟ่าจากยุครุ่งเรืองที่ผ่านมาไม่นาน

ภาพแนบ: หลุยส์ที่ 15

หลุยส์ที่ 15 จะมากน้อยยังหล่อเหล่าสง่างาม แต่หลุยส์ที่ 16 นั้นถูกญาติตัวเองนินทาว่า "อ้วน น่าเกลียด เป็นเชื้อพันธุ์ไม่ดี" แม้นิสัยส่วนตัวเขามิได้โหดร้าย แต่ความติ๋ม ขี้อาย เอ้อระเหย โลเล ชอบเล่นไม่เอาราชการ ล้วนเป็นลักษณะโทษของผู้เป็นกษัตริย์

ภาพแนบ: หลุยที่ 16

หลุยส์ที่ 16 แต่งงานกับพระนางมารี อังตัวเนต เจ้าหญิงจากออสเตรียซึ่งขณะนั้นเป็นชาติมหาอำนาจเช่นกัน มารี อังตัวเนตเยาว์วัย สดใส น่ารัก คนนินทาว่าแต่งกับหลุยส์แล้วเหมือนเอาดอกไม้งามไปปักบนมูลโค เพราะหลุยส์เองมีโรคทางเพศ (องคชาติหากถอกจะเจ็บมาก) ทำให้ไม่โปรดร่วมเตียงกับภรรยาเป็นเวลาหลายปี เขาหวาดกลัวหลีกหนีการผ่าตัด ต่อมาถูกกดดันให้มีบุตรจนยอมผ่าตัดแล้วจึงหาย
ภาพแนบ: มารี อังตัวเนต

แต่ถ้าท่านคิดว่าความแบ๊วน่ารัก ในยุคศตวรรษที่ 18 เป็นประมาณการ์ตูนกุหลาบแวร์ซายแล้วล่ะก็ขอบอกเลยว่าท่านคิดผิด

มารี อังตัวเนตของจริงเป็นประมาณนี้ คือ เอ้อ... ชอบไว้ผมทรงประหลาด... ให้คิดถึงเธอเป็นเจ้าหญิงจากแดนไกลที่ต้องมาแต่งงานกับราชสำนักที่ยิ่งใหญ่ ชีวิตตลอดวันผ่านพ้นไปกับพิธีรีตองหยุมหยิม เช่นพิธีตื่นนอน พิธีกินข้าว พิธีเดินเล่น พิธีส่งเข้านอน ทุกขั้นตอนล้วนมีคนมากมายห้อมล้อม เธอจึงคลายเครียดโดยการเป็นผู้นำแฟร์ชัน ทำทรงผมอลังการ เช่นภาพนี้เป็นทรงผมรูปเรือ

ราชสำนักฝรั่งเศสฟู่ฟ่ามีงานเลี้ยงทุกวัน ใช้จ่ายสิ้นเปลืองเป็นอย่างยิ่ง ภาพการแต่งกายหรูหราของมารี อังตัวเนต ย่อมขัดกับภาพราษฎร (ที่เธอแทบไม่เคยเห็น) โดยขณะนั้นประเทศกำลังยากจนจากภัยสงคราม บวกกับภัยธรรมชาติ ชาวนาจำนวนมากกำลังจะอดตาย...

ถามว่าหลุยส์ที่ 16 แก้ปัญหาอย่างไรน่ะเหรอ? คำตอบคือตอนนั้นเขาเห็นประชาชนอเมริกากำลังพยายามปฏิวัติอังกฤษ จึง "สนับสนุนการปฏิวัติอเมริกา!" เพื่อล้างอายให้พระเจ้าปู่ ชำระแค้นที่เคยพ่ายแพ้ในสงครามเจ็ดปี ...โฮะ โฮะ พระเจ้าปู่เคยบอกว่าเราอ้วนๆ โง่ๆ เราจะทำให้พระเจ้าปู่ภูมิใจ

ภาพแนบ: นายพลจอร์จ วอร์ชิงตัน นำการทำสงครามประกาศอิสรภาพอเมริกา

ความสำเร็จของสงครามประกาศอิสรภาพอเมริกา เป็นการตบหน้าอังกฤษอย่างรุนแรง ...แต่นอกจากสะใจที่ได้ตบหน้าแล้ว หลุยที่ 16 ก็ไม่ได้อะไรมากกว่านั้นเท่าใด ...เพราะชาติเกิดใหม่อย่างอเมริกาย่อมไม่มีเงินมาใช้หนี้สงครามฝรั่งเศส

และที่น่ากลัวคือการปฏิวัติอเมริกาได้เป็นตัวอย่างแรงบันดาลใจให้คนฝรั่งเศสเห็นว่า ประเทศนั้นปกครองโดยประชาชนก็ได้นี่หน่า ไม่เห็นต้องมีกษัตริย์เลย

สงครามอเมริกาแม้รบชนะ แต่ทำให้เศรษฐกิจฝรั่งเศสย่อยยับคนอดอยากล้มตายมากกว่าเดิม หลุยส์จึงแก้ปัญหาโดยการ "เก็บภาษีคนจนหนักขึ้นอีก!"

ตอนนั้นฝรั่งเศสมีคนอยู่สามกลุ่ม คือนักบวช, ขุนนาง, และชาวบ้านอื่นๆ ที่เหลือ ชาวบ้านอื่นๆ ที่เหลือนั้นมีจำนวน 98% ของประชากรในประเทศ (ขุนนางมี 1.5% นักบวชมี 0.5%) แต่ทรัพย์สินส่วนใหญ่กลับตกอยู่กับคนสองพวกแรก อีกทั้งสองพวกแรกยังแทบจะไม่ต้องเสียภาษีเลยอีกด้วย!

ภาพแนบ: ฝรั่งเศสสามฐานันดร

ผู้คนเริ่มไม่พอใจ อยากให้หลุยส์เก็บภาษีนักบวชกับขุนนาง แต่หลุยส์ก็ไม่กล้าทำ เพราะราชวงศ์ฝรั่งเศสอยู่ได้ด้วยการสนับสนุนของนักบวชกับขุนนางนี่แหละ เนื่องจากเขาติ๋มเกินกว่าจะสั่งการอย่างไรไปเด็ดขาด จึงหาทางออกโดยการตั้ง "สภาฐานันดร" ขึ้น เพื่อโยนการตัดสินใจให้คนอื่น

สภาฐานันดรเป็นสิ่งที่ไม่ได้เกิดในฝรั่งเศสมานับร้อยปีแล้ว มันคือการอนุญาตให้ประชาชนมากำหนดแนวทางของประเทศ ดูผิวเผินเหมือนช่วยเรื่องกระจายอำนาจ แต่ในความจริงคือหลุยส์ให้ฐานันดรนักบวช, ขุนนาง, และประชาชนมีจำนวนเสียงโหวตเท่ากัน

ในลักษณะนี้ไม่ว่าตัวแทนประชาชนจะโหวตอะไร จะถูกนักบวชกับขุนนางโหวตชนะในอัตรา 2 ต่อ 1 เสมอ ทำให้เสียง 98% ของประเทศไม่มีความหมาย

การตั้งสภาฐานันดรจึงทำให้ประชาชนซึ่งเมื่อก่อนยังเบลอๆ ได้เห็นชัดขึ้นไปอีกว่าประเทศนี้อยุติธรรมแค่ไหน


ในที่สุดฝ่ายประชาชนไม่พอใจ เห็นว่าเรามี 98% ไม่ต้องฟัง 2% ก็ได้มั้ง จึงจัดตั้งสมัชชาแห่งชาติ ประชุมบริหารกันเอง ไม่ต้องมีขุนนางนักบวช หลุยส์ไม่ชอบ แต่ติ๋มเกินกว่าจะห้ามตรงๆ อีกนั่นแหละ จึงใช้วิธีไปล็อคห้องประชุมไม่ให้พวกนี้เข้าได้ ฝ่ายประชาชนเห็นห้องถูกล็อคจึงไปจัดประชุมใหม่ที่สนามเทนนิสข้างๆ

เดือนมิถุนายน 1789 พวกเขาออกปฏิญญาสนามเทนนิส ปฏิญานว่า “ประชาชนจะช่วยกันต่อสู้อย่างไม่ย่อท้อ จะปฏิรูปประเทศ ร่างรัฐธรรมนูญขึ้นมาให้จงได้!”

สมัชชาแห่งชาติได้รับความนิยมอย่างกว้างขวาง ผู้นำที่โดดเด่นขึ้นมาคือ มักซีมีเลียง โรแบสปีแยร์ เขามีพื้นฐานเป็นทนายเนิร์ดๆ แต่มีจิตใจรักความเป็นธรรมเป็นอย่างมาก คอยต่อสู้เพื่อประโยชน์สุขของมวลชน ไม่เห็นแก่อามิสสินจ้างมาตลอด จนผู้คนขนานนามเขาว่าเปาบุ้นจิ้น ...เอ้ย "The Incorruptible" ท่านผู้ซื่อตรงเข้มแข็ง ไม่ย่อท้อต่อความอยุติธรรม

ภาพแนบ: มักซีมีเลียง โรแบสปีแยร์

ประชาชนในปารีสอินกับการสมัชชาแห่งชาติเป็นอันมาก พอมีข่าวว่าหลุยส์ส่งทหารตำรวจมาล้อมปารีส ก็เกรงว่าจะมาทำลายสมัชชา จึงพากันช่วยปกป้อง

กรกฎาคม 1789 หลุยส์ถูกพวกขุนนางกดดันให้ไล่รัฐมนตรีคลังชื่อ ฌัก แนแกร์ ออก ประชาชนเห็นว่าแนแกร์นี้เป็นขุนนางดีไม่กี่คนที่ต้องการช่วยคนยากจนจริงๆ จึงพากันโกรธแค้นมาก

ตอนนั้นประชาชนทราบว่าในคุกบาสตีย์ มีกระสุนดินดำอยู่ จึงกรูกันถล่มคุกเพื่อเอากระสุนดินดำมาใช้สู้รัฐบาล

นัยสำคัญอีกอย่างคุกบาสตีย์นั้นยังเป็นที่กักขังนักโทษการเมือง (จริงๆ ตอนนั้นเหลือไม่กี่คน) เป็นสัญลักษณ์ของอำนาจมืดของรัฐบาล การถล่มคุกจึงเป็นการท้าทายรัฐบาลโดยตรง

ภาพแนบ: การถล่มคุกบาสตีย์

...แต่จุดเปลี่ยนสำคัญของเรื่องนี้ไม่ใช่การถล่มคุก ...จุดเปลี่ยนสำคัญของเรื่องนี้คือประชาชนที่บ้าคลั่งได้ตัดหัวผู้คุมคุกเอามาเสียบไม้ ชูประจานไปตามท้องถนนด้วยความสนุกสนาน

...และเมื่อสมัชชาแห่งชาติได้ยินเรื่องราวพฤติกรรมที่ป่าเถื่อนนี้พวกเขาก็ตัดสินใจเออออ เป็นการสร้างมาตรฐานว่าความป่าเถื่อนสามารถใช้ได้ในการกำจัดความอยุติธรรม

...เป็นมาตรฐานที่จะได้ย้อนกลับมาทำร้ายทุกๆ คน รวมถึงตัวคนทำ ตัวสมัชชาแห่งชาติ ...จะทำร้ายทุกคนจริงๆ ดังจะกล่าวในตอนต่อๆ ไป

และในวันที่คุกบาสตีย์แตกนั้น หลุยส์อยู่ในวังแวร์ซายที่ห่างจากปารีส 20 กิโลเมตร เขาพึ่งกลับมาจากการท่องเที่ยวล่าสัตว์ บรรยากาศสงบสุขสวยงาม เขาลงไดอารี่วันนั้นว่า "ไม่มีอะไร (หมายถึงจับสัตว์อะไรไม่ได้)" แสดงถึงความเอ้อระเหย เหมือนที่ผ่านมา

สิงหาคม 1789 สมัชชาแห่งชาติได้ออกประกาศ "สิทธิของมนุษย์" พูดถึงมนุษย์ทุกคนควรจะมีสิทธิเสรีภาพ เสมอภาคกัน กลายเป็นพื้นฐานของรัฐธรรมนูญในประเทศประชาธิปไตยเรื่อยมาจนปัจจุบัน (สัญลักษณ์ปีรามิดมีตาข้างบนสุดเป็นสัญลักษณ์เก่าแก่ในหมู่ชาวยุโรป หมายถึงดวงตาของพระเจ้าที่เฝ้ามองคุ้มครองชาวโลก ในที่นี้ไม่ใช่สัญลักษณ์ของอิลลูมินาตินะครับ)

ตอนนั้นความนิยมของกษัตริย์ในหมู่ประชาชนตกต่ำถึงขีดสุด มีภาพล้อหลุยส์ และมารี อังตัวเนตออกมาเป็นจำนวนมาก ส่วนใหญ่จะล้อว่ามารีมีชู้เยอะ ส่วนหลุยโง่เง่า ไร้ความสามารถ มีคนมาเข้าด้วยฝ่ายประชาชนจำนวนมาก รวมทั้งทหารแปรพักตร์

ตุลาคม 1789 เกิดเหตุกลุ่มแม่ค้าตลาดปลาซึ่งปกติไม่ค่อยยุ่งการเมือง อยู่ๆ ก็ตระหนักขึ้นเองว่าพวกตนขาดขนมปังจะเลี้ยงลูกแล้ว จึงบิ้วๆ กัน จนลุกฮือกลายเป็นกลุ่มก้อนใหญ่ พอกันถือปังตอหั่นปลาเดินขบวน 20 กิโล ไปยังวังแวร์ซายด้วยความโกรธแค้น มีประชาชนและทหารแปรพักตร์ตามไปด้วยมากมาย

นี่อาจจะเป็นครั้งแรกที่มารี อังตัวเนตได้สัมผัสกับประชาชนของตัวเองอย่างใกล้ชิดจริงๆ ตอนนี้คือตอนที่มีเรื่องเล่าว่าเธอกล่าวว่า "มาประท้วงเพราะไม่มีขนมปังกินเหรอ ...ก็กินเค้กสิ" ซึ่งจริงๆ ในประวัติศาสตร์เธอไม่ได้พูดนะครับ

ภาพแนบ: ภาพล้อเลียน มารี อังตัวเนต ซ่อนอาหารในผม

กองทัพมดของบรรดาป้าๆ ขายปลาได้กรูกันเอาปังตอเข้าหั่นทหารเฝ้าวังเป็นสามารถ กดดันจนหลุยส์ต้องขอยอมแพ้ และยอมตอบสนองต่อคำเรียกร้องข้อเดียวของพวกเธอคือ "ไม่อยากให้กษัตริย์อยู่แต่ในแวร์ซาย ให้กลับไปปารีส ไปดูว่าประชาชนเดือดร้อนอย่างไร"


*** อ่านต่อใน comment นะครับ ***
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่