คัดลอก URL แล้ว
ทำความรู้จัก Monster Asian Heatwave  ปีศาจคลื่นความร้อนปกคลุมเอเชีย

ทำความรู้จัก Monster Asian Heatwave ปีศาจคลื่นความร้อนปกคลุมเอเชีย

คลื่นความร้อนรุนแรงในปี 2566 ส่งผลกระทบต่อผู้คนนับล้าน ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ประเทศไทยก็หนีไม่พ้นเช่นกัน

Follow Up – ไอความร้อนและแสงแดดที่แผดเผา อุณหภูมิที่สูงขึ้นทะลุปรอทในตอนกลางวัน ทำให้หลายคนพร้อมใจพากันตั้งข้อสังเกตว่า อุณหภูมิในปีนี้ของประเทศไทยสูงขึ้น และร้อนกว่าปกติหรือไม่? ที่น่าสนใจคือคลื่นความร้อนรุนแรงในปีนี้ ยังได้ส่งผลกระทบต่อผู้คนนับล้านในหลายประเทศ ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ด้วยเช่นกัน

ย้อนไปเมื่อช่วงปลายเดือน เม.ย.ที่ผ่านมา ประเทศไทยและหลายประเทศในเอเชีย ต้องเผชิญกับสภาพอากาศร้อนจัด อันแสนโหดร้ายรุนแรง เกิดขึ้นจากปรากฎการณ์ “ปีศาจคลื่นความร้อนแห่งเอเชีย” หรือ Monster Asian Heatwave โดยมีการคาดการณ์ว่า 1 ใน 3 ของประชากรโลก ได้รับผลกระทบจากปรากฎการณ์นี้

ปีศาจคลื่นความร้อน ทำให้ในอินเดียมีรายงานผู้เสียชีวิตจาก “โรคลมแดด” มากถึง 13 ราย และรักษาตัวที่โรงพยาบาลอีก 60 ราย หลังจากที่เข้าร่วมพิธีกรรมกลางแดดจัด รัฐบาลอินเดียยังเปิดเผยด้วยว่า เด็ก ๆ ต้องเผชิญกับปัญหาทางด้านสุขภาพ เช่น อาการปวดหัวที่เกิดจากสภาพอากาศร้อน จึงจำเป็นต้องสั่งปิดโรงเรียนหลายแห่ง ในรัฐเบงกอลตะวันตก เนื่องจากไม่มีเครื่องปรับอากาศ 

สำหรับ “คลื่นความร้อน” หรือ Heat Wave นั้น หมายถึงปรากฏการณ์ตามธรรมชาติ ที่อากาศมีปริมาณความร้อนมากกว่าปกติอย่างรวดเร็ว ในช่วงระยะเวลาหนึ่ง และเกิดขึ้นเพียงไม่กี่วัน หรือเป็นเวลานานหลายสัปดาห์

องค์การอุตุนิยมวิทยาโลก ได้กำหนดนิยามคลื่นความร้อนไว้ว่า เป็นภาวะที่อุณหภูมิสูงสุดประจำวัน เกินค่าอุณหภูมิสูงสุดโดยเฉลี่ย 5 องศาเซลเซียส ติดต่อกันเป็นเวลาอย่างน้อย 5 วัน โดยส่งผลกระทบต่อสิ่งมีชีวิตและสิ่งแวดล้อมทั่วโลก เพราะอากาศบนบกและท้องทะเลมีอุณหภูมิเฉลี่ยร้อนขึ้น ทำให้พืชและสัตว์ล้มตายและเสี่ยงสูญพันธุ์ รวมถึงสภาพอากาศจะยิ่งแปรปรวนมากขึ้นเรื่อย ๆ

ที่ผ่านมานักวิทยาศาสตร์ ได้ส่งสัญญาณเตือนมานานแล้วว่า คลื่นความร้อนจะเลวร้ายลง เมื่อผลกระทบของวิกฤตสภาพภูมิอากาศ ที่เกิดขึ้นจากน้ำมือของมนุษย์ได้เร่งตัวเร็วขึ้น โดยเฉพาะการเผาไหม้พลังงานเชื้อเพลิงฟอสซิล

อุณหภูมิที่สูงขึ้นในประเทศเวียดนาม ลาว รวมทั้งกรุงเทพมหานคร เมืองหลวงของประเทศไทย ล้วนเกิดขึ้นในฤดูหมอกควัน ที่ทำให้ระดับมลพิษพุ่งสูงขึ้น

เมื่อวันที่ 7 เมษายน 2566 อุณหภูมิที่เมือง Tuong Duong ทางภาคเหนือของประเทศเวียด นามพุ่งสูงไปถึง 44.2 องศาเซลเซียส ซึ่งนับว่าเป็นอุณหภูมิสูงที่สุดในประวัติศาสตร์ของประเทศ

ขณะที่เพื่อนบ้านอย่างประเทศลาว อุณหภูมิที่เมืองหลวงพระบาง พุ่งสูงแซงหน้าไปแตะที่ 43.5 องศาเซลเซียส และได้ทำลายสถิติเดิมที่เคยมีการบันทึกไว้ที่ 42.7 องศาเซลเซียส ซึ่งตัวเลขนี้เพิ่งถูกบันทึกไว้เมื่อเดือนที่ผ่านมา ส่วนที่เวียงจันทร์ก็ทำลายสถิติเช่นเดียวกัน อุณหภูมิวัดได้ 42.5 องศาเซลเซียส

สำหรับประเทศไทย อุณหภูมิในกรุงเทพมหานคร ที่วัดได้ 41 องศาเซลเซียส นับว่าร้อนที่สุดเท่าที่เคยมีการบันทึกไว้

‘มักซิมิเลียโน เอร์เรรา’ นักภูมิอากาศวิทยาและนักประวัติศาสตร์สภาพอากาศ บอกว่า จากข้อมูลของกรมอุตุนิยมวิทยาของไทย พบว่า กรุงเทพมหานครได้อยู่ภายใต้อุณหภูมิที่ร้อนระอุ ระหว่าง 30 – 40 องศาเซลเซียส มาตั้งแต่เดือน มี.ค. และในช่วงกลางเดือน เม.ย.ที่ผ่านมา จ.ตาก ได้กลายเป็นพื้นที่แรกของประเทศ ที่อุณหภูมิพุ่งสูงถึง 45 องศาเซลเซียส

โดยปกติเดือน เม.ย. และ พ.ค. มักเป็นเดือนที่ร้อนที่สุดในแต่ละปี สำหรับภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เนื่องจากเป็นช่วงที่อุณหภูมิสูงขึ้น ก่อนที่ฤดูมรสุมจะนำฝนมาช่วยบรรเทาความร้อน

แม้อุณหภูมิที่สูงขึ้นทั่วภูมิภาคในขณะนี้ คาดว่าน่าจะกลับมาใกล้เคียงค่าเฉลี่ยในอีกไม่กี่วันข้างหน้า แต่ปรากฎการณ์คลื่นความร้อนที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน จะเกิดถี่ขึ้นจากวิกฤติสภาพภูมิอากาศ ที่ทวีความรุนแรงมากขึ้น 

อ้างอิง : CNN, Accuweather

ขอบคุณภาพจาก : Peter D Carter, Climate Emergency Institute


ข่าวที่เกี่ยวข้อง