“คุณหญิงกัลยา” เปิดโครงการเกษตรประณีตทฤษฎีใหม่ ภายใต้แนวคิด “ทำเกษตรบนเนื้อที่ 1 ไร่ มีรายได้ 100,000 บาท ต่อเดือน”

2 พฤษภาคม 2566 – คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธานเปิดโครงการเกษตรประณีตทฤษฏีใหม่ โดย ว่าที่ร้อยตรี ธนุ วงษ์จินดา เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา เรืออากาศโท สมพร ปานดำ รองเลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา ผู้บริหารวิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีและสถาบันการอาชีวศึกษาเกษตร เข้าร่วม ณ ห้องประชุมสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา และผ่านระบบออนไลน์

รมช.ศธ. กล่าวว่า วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีในสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) ที่มีอยู่ทั่วประเทศ เป็นกลไกสำคัญในการพัฒนาด้านการเกษตรผ่านกระบวนการเรียนรู้ด้วยการวางแผนการทำเกษตรอย่างเป็นระบบ (Coding for farm) สู่โครงการเกษตรประณีตทฤษฎีใหม่ ภายใต้แนวคิดที่ว่า “ทำเกษตรบนเนื้อที่ 1 ไร่ มีรายได้ 100,000 บาท ต่อเดือน”

หลักการที่สำคัญคือ การทำเกษตรอินทรีย์แบบผสมผสาน จัดการน้ำ ดิน พืช และสัตว์ให้เกิดประโยชน์สูงสุด เป็นเกษตรกรมืออาชีพ ปรับเปลี่ยนแนวคิดและวิธีการทำงานด้านการเกษตรให้สอดคล้องกับบริบทของวิถีชีวิต ชุมชน สังคม ซึ่งปัจจัยเหล่านี้จะช่วยให้การทำเกษตรในพื้นที่สำหรับกลุ่มเกษตรกรผู้มีรายได้น้อย กลุ่มผู้ว่างงาน นักเรียน นักศึกษา ประชาชน และชุมชนในพื้นที่ได้ยกระดับทักษะอาชีพเกษตรกรไทยจากรูปแบบเดิมสู่เกษตรประณีตทฤษฎีใหม่ ให้มีความยั่งยืนและมีความเข้มแข็งในอนาคต

โครงการเกษตรประณีตทฤษฎีใหม่ ถือเป็นแหล่งเรียนรู้ให้กับนักเรียน นักศึกษา ประชาชนทั่วไปให้เกิดคุณค่าสูงสุด สามารถบริหารจัดการพื้นที่แบบครบวงจร ทั้งต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ ทั้งการปลูกพืชผักสวนครัวทำนา เลี้ยงสัตว์โดยไม่ใช้สารเคมี นำเทคโนโลยีสมัยใหม่มาใช้ เช่น ใช้โดรนระบบให้น้ำอัจฉริยะ ระบบพลังงานแสงอาทิตย์โซล่าเซลล์ การเก็บข้อมูลระบบสาระสนเทศพืชพันธุ์โดย QR Code ใช้ศาสตร์พระราชาจัดการเรียนการสอน Active Learning STEM ส่งเสริมให้ผู้เรียนมีทักษะชีวิตคิดวิเคราะห์อย่างมีวิจารณญาณในการเรียนรู้ พัฒนานวัตกรรมสู่การประกอบอาชีพเกษตรกรรุ่นใหม่ที่รองรับชีวิตวิถีใหม่

“จากสภาพปัญหาปัจจุบันทำให้เกษตรกรตกงานจากโควิด ถูกเลิกจ้างงานกลับสู่ชนบท ไม่มีอาชีพ รายได้น้อยวิทยาลัยเกษตรจึงมีส่วนร่วมในการกำกับดูแลประชาชนที่ประสบปัญหา เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานรากของประเทศ ผลิตคนที่มีความสามารถในการสร้างคน สร้างงาน สร้างรายได้ภาคเกษตร ไปจนพัฒนาความเข้มแข็งให้กับชุมชนเกิดรายได้หมุนเวียนอย่างยั่งยืน รวมถึงส่งเสริมพัฒนาคนในชุมชนให้เห็นถึงความสามารถทักษะในการประกอบอาชีพเกษตรไปจนถึงประกอบธุรกิจด้านเกษตรได้ และพร้อมรับมือกับต่อบริบทของประเทศที่เปลี่ยนแปลงไป”

พบพร ผดุงพล / ข่าว
ณัฐพล สุกไทย / ภาพ
ศุภณัฐ วัฒนมงคลลาภ / วีดิทัศน์

ใส่ความเห็น

Website Built with WordPress.com.

Up ↑