อำเภอแม่ลาน้อย

คำขัวญแม่ลาน้อย

แม่ลาน้อยเลิศล้ำ ถ้ำแก้วงามวิจิตร ผลผลิตถั่วเหลือง ลื่อเลื่องวัดแม่ปาง เมืองสร้างคนดี ประเพณีเขาวงกต

อำเภอแม่ลาน้อย เป็นอำเภอหนึ่งของจังหวัดแม่ฮ่องสอน ตั้งอยู่ทางทิศของจังหวัด มีอาณาเขตติดต่อกับเขตการปกครองข้างเคียงดังต่อไปนี้…

ทิศเหนือ ติดต่อกับอำเภอขุนยวม
ทิศตะวันออก ติดต่อกับอำเภอแม่แจ่ม (จังหวัดเชียงใหม่)
ทิศใต้ ติดต่อกับ อำเภอแม่สะเรียง
ทิศตะวันตก ติดต่อกับรัฐกะยา (ประเทศพม่า) และอำเภอแม่สะเรียง

ประวัติ

แม่ลาน้อยแต่เดิมเป็นถิ่นที่ตั้งของชาวลัวะ (ละว้า) อาศัยประกอบการทำมาหาเลี้ยงชีพตามลำน้ำสองแง่ ซึ่งมีต้นน้ำจากทิวเขาเดียวกัน แง่ที่ไหลไปทางแม่ลาหลวงเป็นแง่ที่กว้างใหญ่และมีความยาวกว่าแง่ที่ไหลมาทางแง่แม่ลาน้อย และเนื่องจากที่ราบข้างลำน้ำเป็นถิ่นฐานทำมาหากินของพวกชาวลัวะมาก่อน จึงเรียกชื่อแม่น้ำทั้งสองสายว่า “แม่ลัวะหลวง” และ “แม่ลัวะน้อย” ต่อมาชาวลั๊วะถูกชาวเงี้ยว (ไทยใหญ่) เข้าแย่งที่ทำกิน พวกลัวะจึงร่นถอยอพยพห่างออกไป นาน ๆ เข้าการออกเสียงคำว่า “ลัวะ” ก็เพี้ยนไปเป็น “ลา” ตามสำเนียงของชาวเงี้ยว ในที่สุดเรียกชื่อเป็น “แม่ลาน้อย” มาจนถึงปัจจุบัน

การปกครองส่วนภูมิภาค

อำเภอแม่ลาน้อยแบ่งพื้นที่การปกครองออกเป็น 8 ตำบล 69 หมู่บ้าน ได้แก่

1. แม่ลาน้อย (Mae La Noi) 15 หมู่บ้าน
2. แม่ลาหลวง (Mae La Luang) 9 หมู่บ้าน
3. ท่าผาปุ้ม (Tha Pha Pum) 8 หมู่บ้าน
4. แม่โถ (Mae Tho) 8 หมู่บ้าน
5. ห้วยห้อม (Huai Hom) 9 หมู่บ้าน
6. แม่นาจาง (Mae Na Chang) 7 หมู่บ้าน
7. สันติคีรี (Santi Khiri) 8 หมู่บ้าน
8. ขุนแม่ลาน้อย (Khun Mae La Noi) 5 หมู่บ้าน

สถานที่ท่องเที่ยว

น้ำตกดาวดึงส์

อยู่เขตบ้านทุ่งรวงทอง ตำบลแม่ลาน้อย ห่างจากอำเภอประมาณ 6 กิโลเมตร เป็นน้ำตกที่สวยงามแห่งหนึ่ง น้ำตกดาวดึงส์ ตั้งอยู่บริเวณบ้านทุ่งรวงทอง หมู่ที่ 10 ต.แม่ลาน้อย ห่างจากอำเภอแม่ลาน้อยประมาณ 6 กิโลเมตร เป็นน้ำตกขนาดเล็กที่สวยงาม สูงประมาณ 20 เมตร

หมู่บ้านละว้า (ลัวะ) แม่ละอูบ

ตำบลห้วยห้อม เป็นหมู่บ้านเขตติดต่อระหว่างอำเภอแม่แจ่ม จังหวัดเชียงใหม่ อำเภอแม่ลาน้อย และอำเภอแม่สะเรียง มีลักษณะวัฒนธรรม การสร้างที่อยู่อาศัย การแต่งกายและอุปนิสัยแตกต่างไปจากชาวไทยภูเขาเผ่าอื่นๆ และโดยที่ตั้งอยู่บนยอดดอยสูง ซึ่งมีทิวทัศน์สวยงาม การคมนาคมห่างจากอำเภอ 32 กิโลเมตร และสะดวก จึงเป็นที่แปลกตาแปลกใจแก่นักท่องเที่ยวมาก

บ้านกะเหรี่ยงห้วยห้อม

บ้านกะเหรี่ยงห้วยห้อม ห่างจากบ้านละอูบประมาณ 4 กิโลเมตร โดยใช้เส้นทางสาย 1266 ราษฎรเคร่งศาสนาและสุภาพอ่อนโยน เป็นหมู่บ้านที่ตั้งศูนย์พัฒนาชาวเขา ราษฎรจึงได้รับการพัฒนาให้สามารถทำผ้าจากขนแกะ การปลูกไม้ผลเมืองหนาวอื่นๆ จึงเป็นหมู่บ้านตัวอย่างของชาวเขาทั่วไปได้เป็นอย่างดี

บ้านกะเหรี่ยงแม่สะกั๊วะ

อยู่ในเขตตำบลท่าผาปุ้ม ห่างจากอำเภอประมาณ 13 กิโลเมตร ใช้เส้นทางสาย 1266 เป็นทางขึ้นเขา บ้านเรือนแถบเชิงเขาดูแปลกตา ในฤดูแล้งจะมองเห็นภาพดอกไม้ป่า ใบไม้เป็นสีส้มสวยงามมาก มีแหล่งน้ำตกใกล้หมู่บ้าน ใช้เป็นที่พักผ่อนได้เป็นอย่างดี ราษฎรหมู่บ้านนี้ยังคงมีวิถีชีวิตแบบดั้งเดิม

ถ้ำแม่ฮุ

อยู่เขตบ้านป่าหมาก ตำบลแม่ลาน้อย ห่างจากอำเภอไปทางทิศตะวันออกประมาณ 7 กิโลเมตร โดยมีทางแยกจากทางหลวงหมายเลข 108 ไปตามทางเข้าเหมืองขุดแร่ ถ้ำนี้ลึกประมาณ 15 เมตร ภายในประกอบด้วยหินงอกหินย้อยที่สวยงาม ผู้ที่จะเข้าชมถ้ำต้องนำไฟฉายไปเอง

ถ้ำแก้วโกมล

ถ้ำแก้วโกมล (วนอุทยานแม่ลาน้อย) ตั้งอยู่ที่ ต.แม่ลาน้อยห่างจากอำเภอประมาณ 15 กิโลเมตรลักษณะของถ้ำเป็นโพรงสลับซับซ้อนเข้าไปตามอุโมงค์ของเหมือง ภายในถ้ำมีหินงอก หินย้อย เกิดจากผลึกแคลไซด์รูปต่างๆ เช่น ปะการัง ซึ่งสมเด็จพระนางเจ้าฯพระบรมราชินีนาถได้พระราชทานนาม ถ้ำแม่ลาน้อย เมื่อวันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2544 ว่า”แก้วโกมล”จากถ้ำประมาณ 500 เมตรมีบ่อน้ำร้อนที่แรกำมะถันซึมออกมาตลอดทั้งปี

ความสวยงามของ ถ้ำแก้วโกมล หรือที่ชาวบ้านเรียกกันว่า ถ้ำน้ำแข็ง ถูกค้นพบโดยบังเอิญ ในปี พ.ศ. 2536 ขณะที่วิศวกรสำรวจเหมืองแร่ของสำนักงานทรัพยากรธรณีแม่ฮ่องสอน ขุดเจาะอุโมงค์เข้าไปตามสายแร่ ลักษณะถ้ำมีผนังแวววาว ถูกเคลือบฉาบด้วยผลึกแร่แคลไซด์สีขาวใส รูปทรงต่าง ๆ มองดูเหมือนเกล็ดน้ำแข็งเกาะคลุมไปทั่ว ลักษณะถ้ำเช่นนี้พบเห็นได้เพียง 3 แห่งในโลก คือประเทศออสเตรเลีย ประเทศจีน และประเทศไทยเป็นหนึ่งในนั้น

วนอุทยานแก้วโกมล อยู่ในพื้นที่เขตป่าสงวนแห่งชาติแม่ยวมฝั่งซ้าย จังหวัดแม่ฮ่องสอน มีเนื้อที่ประมาณ 51 ไร่ ในวนอุทยานจะพบถ้ำผลึกแคลไซต์บนไหล่เขาที่ความสูง 500 เมตร จากระดับน้ำทะเล ปากถ้ำเป็นปากอุโมงค์เหมืองเดิม มีการตรวจพบน้ำพุร้อนในลำห้วยแม่ฮุ ห่างจากปากถ้ำประมาณ 800 เมตร แต่ถูกน้ำท่วมหลังการสร้างฝาย ลักษณะพื้นที่ป่าเป็นป่าเบญจพรรณและป่าสนเขา ซึ่งไม่พบว่ามีสัตว์ป่าอาศัยอยู่ ภายในวนอุทยานฯ ไม่มีบ้านพัก นักท่องเที่ยวที่จะนำเต็นท์มากางเอง กรุณาติดต่อขออนุญาตจากหัวหน้าอุทยานฯ หรือที่สำนักงานอุทยาน กรุงเทพฯ โทรศัพท์ 0-2561-4292-3 ต่อ 719 ในวันและเวลาราชการ

บ่อน้ำร้อนแม่ฮุตั้ง

บ่อน้ำร้อนแม่ฮุตั้ง อยู่ในบริเวณ ต.แม่ลาน้อย มีลักษณะเป็นบ่อน้ำร้อนที่มีความร้อนสูงมาก สามารถต้มไข่สุกได้

น้ำตกแม่ปาง

น้ำตกแม่ปางหรือปางชมพู อยู่ที่บ้านแม่ปาง หมู่ที่ 1 ตำบลสันติคีรี ห่างจากอำเภอประมาณ 7 กิโลเมตร ยังพบน้ำตกอีกแห่งหนึ่งอยู่ที่บ้านแม่แป หมู่ที่ 2 ตำบลสันติคีรี

ใส่ความเห็น