xs
xsm
sm
md
lg

ตามรอย “พรหมลิขิต” ไหว้พระเจ้าเสือ เที่ยววัดโพธิ์ประทับช้าง จ.พิจิตร

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ปิ่น บุตรี


ตามรอยพรหมลิขิต ไหว้พระเจ้าเสือ เที่ยววัดโพธิ์ประทับช้าง จ.พิจิตร
ละคร “พรหมลิขิต” ภาคต่อของ “บุพเพสันนิวาส” ออกอากาศตอนแรก (18 ต.ค.66) ไปแล้ว นอกจากจะได้รับกระแส-เรตติ้งที่ดีมากแล้ว ยังได้รับคำชื่นชมจากแฟนละครและนักวิจารณ์อีกครั้ง

พร้อมกันนี้แม่หญิงการะเกดยังปลุกให้คนไทยจำนวนมากตื่นตัวเรื่องประวัติศาสตร์อีกครั้ง โดยเฉพาะในโลกโซเชียลที่มีการพูดคุยถกเถียงแลกเปลี่ยนข้อมูลด้านประวัติศาสตร์ในสมัยกรุงศรีอยุธยากันอย่างกว้างขวาง

พระเจ้าเสือตัวละครที่มีอยู่จริงในประวัติศาสตร์ในละครพรหมลิขิต
สำหรับหนึ่งในตัวละครที่มีอยู่จริงในประวัติศาสตร์ที่เพียงแค่ปรากฏตัวในตอนแรกก็ถูกพูดถึงอย่างมากคือ
“หลวงสรศักดิ์” หรือ “พระเจ้าเสือ” ที่รับบทโดยนักแสดงมากฝีมือ “ก๊อต-จิรายุ ตันตระกูล” ที่ตีบทแตกกระจุย

พระเจ้าเสือ หรือ “สมเด็จพระเจ้าสุริเยนทราธิบดี” หรือ “หลวงสรศักดิ์“ (เดื่อ) เป็นมหากษัตริย์องค์ที่ 29 แห่งอาณาจักรอยุธยา และได้ชื่อว่าเป็นพระมหากษัตริย์ผู้ดุร้ายอย่างมากในประวัติศาสตร์ ซึ่งต่อมาพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ทรงวินิจฉัยพระนามพระเจ้าเสือว่าเป็น “สมเด็จพระสรรเพชญ์ที่ 8”

ก๊อต-จิรายุ ผู้รับบทหลวงสรศักดิ์หรือพระเจ้าเสือในพรหมลิขิต
เรื่องราวประวัติความเป็นมาของพระเจ้าเสือ ข้อมูลส่วนใหญ่ต่างระบุว่า พระองค์ท่านไม่ได้สืบสายโลหิตจากพระเพทราชา แต่ทรงเป็นพระราชโอรสลับในสมเด็จพระนารายณ์มหาราชกับพระสนม โดยบ้านเกิดหรือสถานที่ประสูติของพระเจ้าเสือปัจจุบันคือบ้านโพธิ์ประทับช้าง จังหวัดพิจิตร

ทั้งนี้ได้มีตำนานเล่าขานว่า ในสมัยพระนารายณ์มหาราช พระองค์ได้เสด็จไปนมัสการพระพุทธชินราช ระหว่างทางนางสนมเกิดเจ็บครรภ์และคลอดทารกเพศชายตรงลานระหว่างต้นโพธิ์กับต้นมะเดื่อ ทรงให้นำรกเด็กน้อยไปฝังไว้ที่ใต้ต้นมะเดื่อ และทรงพระนามว่า “พระเจ้าดอกเดื่อ” ตามชื่อต้นไม้

ศาลสมเด็จพระเจ้าเสือ จ.พิจิตร
ต่อมาในปีพ.ศ.2246 พระเจ้าดอกเดื่อหรือหลวงสรศักดิ์ ได้ปราบดาภิเษกขึ้นเป็นกษัตริย์คือ “สมเด็จพระเจ้าสุริเยนทราธิบดี” หรือที่รู้จักกันดีในนาม “พระเจ้าเสือ”

ปัจจุบันจังหวัดพิจิตรเมืองชาละวันได้สร้าง “ศาลสมเด็จพระเจ้าเสือ” ไว้ที่ ต.โพธิ์ประทับช้าง อ.โพธิ์ประทับช้าง เพื่อรำลึกถึงพระเจ้าเสือซึ่งเป็นอีกหนึ่งบุคคลสำคัญในประวัติศาสตร์ชาติไทย

รูปเคารพของพระเจ้าเสือในศาลสมเด็จพระเจ้าเสือ
ภายในศาลสมเด็จพระเจ้าเสือประดิษฐานรูปเคารพของพระเจ้าเสือ อันเป็นที่เคารพบูชาของชาวจังหวัดพิจิตร และผู้ที่เลื่อมใสศรัทธาทั่วฟ้าเมืองไทย โดยแต่ละวันจะมีประชาชนเดินทางมาขอพรบนบานศาลกล่าว เมื่อได้สิ่งที่ต้องการแล้วก็มักจะเดินทางมาแก้บนด้วยรูปปั้นไก่ชน ซึ่งสมเด็จพระเจ้าเสือนั้น ทรงโปรดกีฬาตีไก่ชน ชกมวย เป็นอย่างมาก

นอกจากนี้ทางอำเภอโพธิ์ประทับช้าง จะจัดงานประเพณีบวงสรวงดวงพระวิญญาณขึ้นในระหว่างวันที่ 10-12 กุมภาพันธ์ เป็นประจำทุกปี โดยมีการเล่นไก่ชน ชกมวย รำแม่ไม้มวยไทยถวายศาล เพื่อแสดงความจงรักภักดีต่อพระเจ้าเสืออีกด้วย

วัดโพธิ์ประทับช้างสถานที่ประสูติของพระเจ้าเสือ
ขณะที่บริเวณสถานที่ประสูติของเด็กชายเดื่อ พระเจ้าเสือได้สร้างวัดขึ้นข้างต้นโพธิ์ใหญ่และพระราชนามวัดนี้ว่า “วัดโพธิ์ประทับช้าง” เพื่อให้เป็นอนุสรณ์ว่าบริเวณนี้เป็นสถานที่ประสูติของพระองค์

วัดโพธิ์ประทับช้าง ตั้งอยู่ที่ อ.โพธิ์ประทับช้าง นอกจากจะเป็นวัดคู่บ้านคู่เมืองพิจิตรแล้ว ยังเป็นโบราณสถานเก่าแก่ที่มีอายุมากกว่า 300 ปี วัดแห่งนี้สร้างขึ้นประมาณปี พ.ศ. 2242-2244 ปัจจุบันได้รับการประกาศขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานสำคัญของเมืองชาละวัน

วัดโพธิ์ประทับช้างโบราณสถานสำคัญคู่เมืองชาละวัน
ภายในวัดโพธิ์ประทับช้างมีสิ่งสำคัญคือ “พระอุโบสถ” โครงสร้างก่ออิฐถือปูน มีกำแพงล้อมรอบ 2 ชั้น เป็นศิลปะแบบอยุธยาตอนปลาย ด้านหน้าพระอุโบสถมีเฉลียงยื่นออกมา แสดงให้เห็นว่าเป็นวัดหลวง มีการสร้างมุขเด็จไว้สำหรับพระมหากษัตริย์ยามเมื่อเสด็จประพาสมายังที่วัดแห่งนี้ก็จะออกมาพบปะประชาชนบริเวณมุขเด็จนั่นเอง

ก่อนจะเข้าไปชมภายในพระอุโบสถจะมองเห็นพระปรางค์ที่ยังหลงเหลืออยู่ให้เห็น มีลักษณะฐานสี่เหลี่ยมย่อมุม 28 ตั้งอยู่บนฐาน ทั้งสี่ด้านเจาะช่องรูปกลีบบัว ถัดขึ้นไปเป็นชุดฐานบัวลูกแก้วอกไก่ ส่วนเรือนธาตุจะรองรับส่วนยอดของพระปรางค์ที่ซ้อนลดหลั่นกันขึ้นไป

พระพุทธรูปหลวงพ่อโต
ส่วนด้านนอกพระอุโบสถประดิษฐานแท่นเสมาพร้อมใบเสมาทั้ง 8 ทิศ ใบเสมาจำหลักจากหินทรายเป็นตัวเหงากนกเปลว มีแถบเส้นขนาดใหญ่เท่าของเสมา ตกแต่งด้วยรูปขนมเปียกปูนบริเวณกลางใบเสมา

ภายในพระอุโบสถมีพระพุทธรูปหลวงพ่อโต เป็นพระพุทธรูปปูนปั้นสมัยอยุธยา เป็นพระประธานประจำพระอุโบสถ

และนี่ก็คือส่วนหนึ่งของแหล่งท่องเที่ยวตามรอยละครพรหมลิขิต ซึ่งต้องตามดูกันต่อว่ากระแสของละครเรื่องนี้จะเปรี้ยงปร้างจนก่อให้เกิดกระแสแต่งชุดไทยไปตามเที่ยวรอยพรหมลิขิตเหมือนเมื่อคราวละครบุพเพสันนิวาสหรือไม่?!?

พระปรางค์ที่ยังหลงเหลืออยู่ให้เห็น



กำลังโหลดความคิดเห็น