xs
xsm
sm
md
lg

ต้องมนต์ “พะเยา” ไหว้พระอิ่มบุญ ชมวัดงามเมืองล้านนา

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


วัดนันตาราม วัดสวยแห่งจังหวัดพะเยา
“พะเยา” จังหวัดเล็กๆ ในภาคเหนือตอนบน หลายครั้งที่ถูกมองเป็นเมืองผ่าน แต่หากใครได้มีโอกาสไปเที่ยวสักครั้งก็มักจะต้องมนต์เสน่ห์อันชวนค้นหา

พะเยาเป็นหนึ่งในพื้นที่ของอดีตเมืองล้านนา ที่ยังคงสืบทอดความงดงามของดินแดนล้านนาไว้อย่างเต็มเปี่ยม โดยเฉพาะสิ่งก่อสร้างในวัดวาเก่าๆ ที่ล้วนสะท้อนความมีเอกลักษณ์และภูมิปัญญาของคนยุคก่อนให้คนรุ่นหลังแบบเราได้ยลกัน

วิหารไม้สักอายุกว่า 100 ปี

เพดานประดับกระจกศิลปะแบบมัณฑะเลย์
หนึ่งในวัดสวยของจังหวัดพะเยาต้องยกให้ “วัดนันตาราม” แห่งอำเภอเชียงคำ ซึ่งเมื่อเข้าไปด้านในวัดแล้วก็จะเห็นวิหารไม้สักที่งดงาม อายุกว่า 100 ปี ภายในวิหารยกเป็น 3 ชั้น ชั้นสูงสุดคือชั้นพุทธะเป็นชั้นประดิษฐานของพระประธานและพระพุทธรูป รองลงมาเป็นชั้นของพระสงฆ์ และชั้นสุดท้ายคือชั้นที่นั่งของอุบาสก อุบาสิกา ในวิหารมีเสาทั้งหมด 68 ต้น ลงรักปิดทอง 40 ต้น เพดานลงลวดลายประดับด้วยกระจก ศิลปะแบบมัณฑะเลย์

ภายในวิหารประดิษฐานพระประธานไม้สักทองนาม พระพุทธเมตตา เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัยทรงเครื่องแบบมัณฑะเลย์ แกะสลักด้วยไม้สักทองขนาดใหญ่ทั้งองค์ มีพระพักตร์งามสงบเปี่ยมด้วยเมตตา มีขนาดหน้าตักกว้าง 51 นิ้ว สูงจากฐานถึงยอดเกศาประมาณ 9 ศอก

พระพุทธเมตตา

กามเทพตัวน้อยด้านหลังพระประธาน
องค์พระประดิษฐานบนสิงหบัลลังก์ไม้ประดับลวดลายและกระจกสี งามอลังการด้วยไม้ฉลุศิลปะพม่า เป็นลวดลายเครือเถา ทั้งยังมีกามเทพตัวน้อย (คิวปิด) เทพแห่งความรัก8 องค์ แกะสลักอยู่ในด้านหลังพระประธานด้วย คาดว่าได้รับอิทธิพลจากชาติตะวันตก เพราะสร้างในสมัยที่พม่าเป็นคนในบังคับของอังกฤษ และมีลวดลายสัตว์หิมพานต์เป็นนางนกกิงกะหร่า (กินรี)

พระเจ้าแสนแส้

พระพุทธรูปหยกขาว
นอกจากนั้นภายในวิหารยังมีพระพุทธรูปสำคัญอีกหลายองค์ อาทิ พระเจ้าแสนแส้ พระพุทธรูปเก่าแก่เนื้อทองสัมฤทธิ์ปางมารวิชัย หน้าตักกว้าง 19 นิ้ว สูง 24 นิ้ว สร้างขึ้นด้วยศิลปะแบบเชียงแสน องค์พระสามารถถอดประกอบเป็นชิ้นๆ ได้โดยมีสลัก หรือแซ่ ตอกให้ชิ้นส่วนขององค์พระเชื่อมติดกันอย่างมั่นคง ปัจจุบันกรมศิลปากรจดทะเบียนรับรองเป็นโบราณวัตถุ

นอกจากนั้นพระพุทธรูปหยกขาวงดงามศิลปะพม่า พระพุทธรูปเกสรดอกไม้ที่สร้างจากดอกไม้หอมนานาชนิดในเมืองตองจี ประเทศพม่า ซึ่งนำมาตากแห้งและบดให้ละเอียดผสมกับยางรัก เถ้าฟางเผาคลุกกับดินจอมปลวก แล้วปั้นเป็นพระพุทธรูปลงรักปิดทอง ประดิษฐานอยู่ภายในวิหาร

ด้านในวัดยังมีพิพิธภัณฑ์ที่จัดเก็บข้าวของเครื่องใช้เก่าแก่ ส่วนด้านนอกนั้นเป็นที่ประดิษฐานเจดีย์ยี่สิบห้าศตวรรษ เป็นเจดีย์ก่ออิฐถือปูน สร้างเมื่อ พ.ศ.2500 ลักษณะเป็นเจดีย์แปดเหลี่ยม

พระเจ้าทันใจ วัดศรีชุม

วิหารพระเจ้าทันใจ
อีกหนึ่งวัดสวยของพะเยา “วัดศรีชุม” ใน ต.สว่างอารมณ์ อ.ดอกคำใต้ ที่นี่มีพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์อย่าง “พระเจ้าทันใจ” พระพุทธรูปทองสำริด ศิลปะเชียงแสน อายุกว่า 1,000 ปี ซึ่งเป็นศูนย์รวมจิตใจของชาวบ้านในละแวกนั้น โดยพระเจ้าทันใจ ได้หายออกไปจากวัดแห่งนี้ร่วมร้อยปี ก่อนจะถูกอัญเชิญกลับมาประดิษฐานที่เดิมเมื่อปี 2554

จากนั้น จึงมีแนวคิดที่จะสร้าง “วิหารพระเจ้าทันใจ” เพื่อประดิษฐานองค์พระเจ้าทันใจ โดยเป็นวิหารปูปั้นสีขาวสะอาดตา ศิลปะล้านนาประยุกต์ ตั้งอยู่บนฐานยกสูงจากพื้นดิน 6 เมตร พื้นที่ด้านล่างวิหารจะทำเป็นถ้ำวิปัสสนา สำหรับผู้ที่ต้องการมาถือศีลทำบุญในบรรยากาศเงียบสงบ

ด้านในวิหารแกะสลักด้วยไม้สักทอง

บริเวณที่ประดิษฐานพระเจ้าทันใจ
ส่วนด้านในวิหาร ภายในแกะสลักด้วยไม้สักทองทั้งหมด บอกกล่าวเรื่องราวของชาดกพระพุทธเจ้า 10 ชาติ รูปสัตว์ในวรรณคดี ตลอดจนลวดลายลายกนก-ลายไทย ส่วนบริเวณที่ตั้งประประธาน ซึ่งเมื่อวิหารแล้วเสร็จจะอัญเชิญพระเจ้าทันใจมาประดิษฐาน ก็ยังมีรูปเหมือนหลวงปู่ทวดและเกจิดังทั่วประเทศ ที่แกะสลักด้วยไม้สักทอง โดยขณะนี้วิหารพระเจ้าทันใจกำลังอยู่ในระหว่างการก่อสร้าง แต่ก็เปิดให้พุทธศาสนิกเข้าชมด้านในได้

กว๊านพะเยา

วัดติโลกอาราม
มาถึงพะเยาแล้วก็พลาดไม่ได้ที่จะแวะ “กว๊านพะเยา” หนึ่งในสัญลักษณ์คู่บ้านคู่เมืองของจังหวัดพะเยา เป็นทะเลสาบน้ำจืดขนาดใหญ่ตั้งอยู่ใจกลางเมืองพะเยา

กว๊านพะเยานอกจากจะเป็นดังแหล่งชีวิตเส้นเลือดหลักของเมืองพะเยาแล้ว ที่นี่ยังขึ้นชื่อในเรื่องของทัศนียภาพอันงดงาม โดยเฉพาะบรรยากาศในยามเช้าและเย็นอันทรงเสน่ห์ เป็นแม่เหล็กดึงดูดให้ใครต่อหลายคนมาเยือนยังกว๊านพะเยาแห่งนี้

นอกจากนี้กลางทะเลสาบกว๊านพะเยายังเป็นที่ตั้งของ “วัดติโลกอาราม” วัดกลางน้ำที่ตั้งเด่นอยู่บนเกาะกลางกว๊าน สามารถมองเห็นได้ไกลๆ จากบนฝั่ง

นั่งเรือแจวไปยังวัดติโลกอาราม
วัดติโลกอาราม เป็นวัดที่สันนิษฐานว่า พระเจ้าติโลกราชแห่งอาณาจักรล้านนาเมืองเชียงใหม่ โปรดฯให้เจ้าหัวแสน เจ้าเมืองพะเยาสร้างขึ้นมาในช่วงราวปี พ.ศ. 2019-2030 ครั้นเมื่อเวลาล่วงเลยมาถึงยุคปัจจุบันในปี พ.ศ. 2484-2484 ทางกรมประมงได้กั้นประตูน้ำเพื่อกักเก็บน้ำจนเกิดเป็น “กว๊านพะเยา” ขึ้นมา แต่การกั้นประตูน้ำในครั้งนั้นส่งผลให้ ชุมชน บ้านเรือน เรือกสวน และวัดหลายแห่งในพื้นที่กักเก็บน้ำ รวมถึงวัดติโลกอารามที่ต้องจมลงอยู่ใต้ผืนน้ำ

จากนั้นในปี พ.ศ. 2526 ชาวบ้านวัดศรีอุโมงค์คำได้ขุดค้นพบพระเครื่องและพระพุทธรูปหินทรายปางมารวิชัยอายุเก่าแก่กว่า 500 ปี ที่ต่อมาเรียกขานว่า “หลวงพ่อศิลา” หรือ “พระเจ้ากว๊าน” ซึ่งทางชาวบ้านได้อัญเชิญมาประดิษฐานเป็นการชั่วคราวที่ “วัดศรีอุโมงค์คำ” โดยได้มีการทำพิธีสมโภชน์ถึง 7 วัน 7 คืนด้วยกัน

ต่อมาในปี 2550 ได้มีการสำรวจวัดร้างกลางกว๊านที่ค้นพบหลวงพ่อศิลา พบหลักฐานเป็นศิลาจารึกเขียนด้วยตัวอักษรฝักขาม แปลได้ว่า “วัดติโลกอาราม” ทางจังหวัดจึงได้ลงมือบูรณะปรับแต่งวัดติโลกอารามแล้วเสร็จภายในปี 2550 จึงได้อัญเชิญหลวงพ่อศิลาให้มาประดิษฐานที่วัดติโลกการามเป็นการกลับคืนสู่กว๊านพะเยาอีกครั้ง

หลวงพ่อศิลา

เวียนเทียนรอบองค์หลวงพ่อศิลา
ปัจจุบันวัดติโลกอารามมีหลวงพ่อศิลาที่มีพุทธลักษณะอันงดงามเป็นพระประธาน ประดิษฐานโดดเด่นเป็นสง่าอยู่กลางแจ้งบนเกาะกลางกว๊านพะเยา ให้พุทธศาสนิกชนได้นั่งเรือแจวพื้นบ้านจากท่าเรือวัดติโลกอาราม มาสักการะหลวงพ่อศิลาท่ามกลางบรรยากาศแวดล้อมของสายน้ำขุนเขาอันสวยงามเป็นเอกลักษณ์แห่งกว๊านพะเยา

ไฮไลต์สำคัญที่ห้ามพลาดเมื่อมาที่วัดติโลกอารามแห่งนี้ คือการ “เวียนเทียนกลางน้ำ” ที่ทางจังหวัดพะเยาได้จัดอย่างต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี 2550 โดยเฉพาะในทุกๆ วันพระใหญ่ซึ่งเป็นวันสำคัญทางศาสนา คือ วันมาฆบูชา วิสาขบูชา และอาสาฬหบูชา จะมีการจัดพิธีเวียนเทียนกลางน้ำ ใครอยากเห็นความงดงามก็สามารถเลือกมาให้ตรงกับวันพระใหญ่ได้ แต่หากว่ามาในวันอื่นๆ ก็ยังสามารถนั่งเรือออกไปเวียนเทียนกลางน้ำได้ และขึ้นไปเดินเวียนเทียนรอบๆ องค์หลวงพ่อศิลาได้ด้วยเช่นกัน

ยามเย็นที่กว๊านพะเยา
ทำบุญไหว้พระกันเสร็จแล้ว ช่วงเย็นๆ ชวนแวะนั่งริมกว๊านพะเยา ชมพระอาทิตย์ตกดินในบรรยากาศสงบเงียบ แสงสีส้มส่องสะท้อนผืนน้ำในกว๊าน เป็นการอำลาวันแห่งความสุขที่พร้อมต้อนรับวันรุ่งขึ้นอย่างสดใส

วัดนันตาราม

#########################################

สามารถส่งข้อมูลข่าวสารด้านการท่องเที่ยว-อาหารมาได้ที่ อีเมล์ travel_astvmgr@hotmail.com หรือ ชมคลิปต่าง ๆ ได้ที่ Youtube :Travel MGR และ Instagram : @travelfoodonline และ TikTok : @travelfoodonline




กำลังโหลดความคิดเห็น