xs
xsm
sm
md
lg

13 ไฮไลต์ “อุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย” ชวนเดินเที่ยวโบราณสถานมรดกโลก

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


อุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย จ.สุโขทัย
“อุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย” หนึ่งในแหล่งท่องเที่ยวชื่อดังของ จ.สุโขทัย

นอกเหนือจากการเป็นแหล่งท่องเที่ยวยอดนิยม ที่นี่ยังมีความสำคัญทางด้านประวัติศาสตร์ เป็นโบราณสถานสำคัญของไทย และยังได้รับการประกาศขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกภายใต้ชื่อ “เมืองประวัติศาสตร์สุโขทัยและเมืองบริวาร” ตั้งแต่ปี 2534 (ร่วมกับอุทยานประวัติศาสตร์ศรีสัชนาลัย-กำแพงเพชร)

อุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย ตั้งอยู่ใน อ.เมืองสุโขทัย จ.สุโขทัย มีโบราณสถานทั้งในและนอกกำแพงเมืองรวมทั้งหมดไม่ต่ำกว่า 200 แห่ง ซึ่งหากว่าจะเดินชมให้ครบทุกแห่งในทริปเดียวก็อาจจะเป็นเรื่องยากมาก เราเลยขอรวบรวม 13 ไฮไลต์ “อุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย” สำหรับคนที่มีเวลาเที่ยวน้อย แต่ก็ได้ชมความงดงามของสถานที่สำคัญทางประวัติศาสตร์แห่งนี้

วัดมหาธาตุ

วัดมหาธาตุ

วัดมหาธาตุ
วัดมหาธาตุ
“วัดมหาธาตุ” เป็นวัดขนาดใหญ่ที่สำคัญที่สุดแห่ง(อดีต)อาณาจักรสุโขทัย มีเจดีย์อยู่มากมายรวมแล้วกว่า 200 องค์ โดยมีเจดีย์ประธานเป็นเจดีย์ทรง“ดอกบัวตูม” หรือ “ทรงพุ่มข้าวบิณฑ์” ที่คงความเป็นเอกลักษณ์และความคลาสสิกแห่งงานสถาปัตยกรรมสุโขทัยอย่างเด่นชัด สืบตกทอดมาจนถึงปัจจุบัน

องค์เจดีย์ประธานวัดมหาธาตุสันนิษฐานว่าเป็นที่บรรจุพระบรมสารีริกธาตุของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า โดยชั้นล่างสุดมีพระพุทธสาวกเดินพนมมือประทักษิณ ส่วนบนฐานเดียวกันยังมีปรางค์ 4 องค์ประจำอยู่บริเวณมุมทั้ง 4 ทิศ และบริเวณมุมทั้ง 4 ทิศยังมีเจดีย์ทรงปราสาทแบบศรีวิชัยผสมลังกา 4 องค์

นอกจากนี้ที่วัดมหาธาตุยังมี “เจดีย์ 5 ยอด” เป็นเจดีย์รองประธานของวัด ซึ่งสันนิษฐานว่าภายในเจดีย์บรรจุอัฐิของพระมหาธรรมราชาลิไท และมี “วิหารพระศรีศากยมุนี” หรือ “วิหารหลวง” เป็นอีกหนึ่งจุดเด่น ในวิหารหลวงประดิษฐานพระพุทธรูปศิลปะสุโขทัยที่มีพระวรกายอวบอิ่ม พระพักตร์อมยิ้ม ดูอิ่มบุญเปี่ยมศรัทธา

ในช่วงยามเย็นวัดมหาธาตุ นับเป็นอีกหนึ่งจุดชมพระอาทิตย์ตกแสนสวยแห่งดินแดนมรดกโลกสุโขทัย ซึ่งแต่ละวันจะมีนักท่องเที่ยวมาเฝ้ารอถ่ายรูปพระอาทิตย์ตกที่วัดมหาธาตุกันเป็นจำนวนมาก

ตักบาตรยามเช้าที่ วัดตระพังทอง

วัดตระพังทอง

หลวงพ่อขาว วัดตระพังทอง
วัดตระพังทอง
เริ่มต้นยามเช้าที่เมืองเก่าสุโขทัยด้วยกิจกรรมตักบาตรยามเช้า ใส่บาตรสะพานบุญ รับอรุณสุโขทัย ที่ “วัดตระพังทอง” โดยจะมีการตักบาตรทุกวัน เวลาประมาณ 06.20 น. บริเวณสะพานบุญ วัดตระพังทอง ตั้งอยู่ทางเข้าอุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย

ตักบาตรยามเช้าแล้วก้เดินเข้ามาชมภายในวัดกันต่อ วัดตระพังทอง เป็นวัดบนเกาะกลางน้ำ ซึ่งคำว่าตระพัง มีรากศัพท์มาจากภาษาเขมรว่า “ตรฺพำง” (อ่านว่า ตรอ-เปียง) แปลว่า บ่อหรือสระน้ำที่ขุดขึ้น และคติการสร้างวัดบนเกาะกลางน้ำ เชื่อว่าได้รับอิทธิพลมาจากการเผยแผ่พุทธศาสนาลัทธิลังกาวงศ์ ซึ่งแพร่หลายในสมัยสุโขทัยเป็นราชธานี

ภายในวัดมี “เจดีย์ประธาน” เป็นเจดีย์ทรงลังกา หรือทรงระฆัง มีลักษณะเฉพาะที่เรียกว่าเจดีย์ทรงระฆังสมัยสุโขทัย ด้านหลังของเจดีย์ประธาน มี “พระอุโบสถ” ที่สร้างขึ้นใหม่บนฐานพระอุโบสถหลังเก่าสมัยสุโขทัย ภายในประดิษฐาน “หลวงพ่อขาว” เป็นพระประธาน นอกจากนี้ ยังมีมณฑปจัตุรมุข ประดิษฐาน “รอยพระพุทธบาทเบื้องขวา” ที่สร้างขึ้นตั้งแต่สมัยพระมหาธรรมราชาลิไท กรุงสุโขทัย

วัดศรีสวาย

วัดศรีสวาย
วัดศรีสวาย
เชื่อว่าแต่เดิมเคยเป็นเทวสถานในศาสนาฮินดูมาก่อนแล้วแปลงเป็นพุทธสถาน โดยต่อเติมวิหารขึ้นที่ด้านหน้าเป็นวัดในพุทธศาสนาในภายหลัง โดดเด่นไปด้วยพระปรางค์ 3 องค์เรียงกัน ศิลปะแบบลพบุรี บนยอดขององค์ปรางค์มีลวดลายปูนปั้นบางส่วนที่ยังคงมีสภาพสมบูรณ์สวยงาม

อีกทั้งยังมีการค้นพบทับหลังสลักรูปนารายณ์บรรทมสินธุ์ ชิ้นส่วนของเทวรูปและศิวลึงค์ ซึ่งแสดงให้เห็นว่าวัดนี้เคยเป็นเทวสถานของพราหมณ์มาก่อนแล้วจึงแปลงเป็นพุทธสถาน

วัดสระศรี

วัดสระศรี
วัดสระศรี
ตั้งอยู่บนเกาะกลางสระน้ำขนาดใหญ่ชื่อ“ตระพังตระกวน” ภายในวัดมีเจดีย์รายขนาดเล็ก และเจดีย์ประธานองค์ใหญ่ทรงลังกาเป็นจุดเด่นสำคัญ ด้านหน้าวิหารประดิษฐานพระพุทธรูปางมารวิชัย จากฝั่งไปบนเกาะมีสะพานเล็กๆสร้างทอดเชื่อมดูมีเสน่ห์สวยงาม

วัดสระศรีได้ชื่อว่าเป็นอีกหนึ่งจุดชมพระอาทิตย์ตกที่งดงาม โดยเฉพาะในมุมมองผ่านสระน้ำสะท้อนเงาองค์เจดีย์ที่มีนักท่องเที่ยวนิยมมาถ่ายรูปกันเป็นจำนวนมาก

พระบรมราชานุสาวรีย์พ่อขุนรามคำแหงมหาราช

พระบรมราชานุสาวรีย์พ่อขุนรามคำแหงมหาราช
พระบรมราชานุสาวรีย์พ่อขุนรามคำแหงมหาราช
“พระบรมราชานุสาวรีย์พ่อขุนรามคำแหงมหาราช” สร้างขึ้นเพื่อถวายเป็นราชสักการะแด่พ่อขุนรามคำแหงมหาราช พระมหากษัตริย์ในสมัยสุโขทัยผู้มีพระมหากรุณาธิคุณอันยิ่งใหญ่และทรงมีพระปรีชาสามารถนานัปการ อาทิ การประดิษฐ์อักษรไทย การปกครองแบบพ่อปกครองลูก บ้านเมืองร่มเย็นเป็นสุข และอุดมสมบูรณ์

มีลักษณะพระพักตร์และทรวดทรงของพระบรมรูป ที่ทางกรมศิลป์ได้จินตนาการตามลักษณะของสุภาพชนและเจ้านายสมัยสุโขทัย อีกทั้งลักษณะของพระพักตร์ยังเป็นการจำลองแบบตามพระพุทธรูปสมัยสุโขทัยอีกด้วย

วัดศรีชุม

พระอจนะ วัดศรีชุม
วัดศรีชุม
“วัดศรีชุม” ตั้งอยู่ด้านนอกกำแพงเมือง เป็นที่ประดิษฐาน “พระอจนะ” (อจนะหมายถึงผู้ไม่หวั่นไหว หรือการบูชานับถือ) พระพุทธรูปศิลปะสุโขทัยปางมารวิชัยสูง 15 เมตร กับพุทธลักษณะอันงดงามสมส่วน จัดเป็นหนึ่งในงานพุทธศิลป์ชิ้นเอกและเป็นพระพุทธรูปสุโขทัยโบราณองค์ใหญ่ที่สุดที่ยังหลงเหลือตกทอดมาจนถึงปัจจุบัน

พระอจนะ ได้ชื่อว่า “พระพุทธรูปพูดได้” เพราะในสมัยกรุงศรีอยุธยา สมเด็จพระนเรศวรมหาราชได้มาชุมนุมทัพที่วัดศรีชุม พระองค์ทรงวางแผนสร้างกำลังใจให้กับทัพทหารโดยการให้คนปีนบันไดขึ้นไปทางด้านหลังองค์พระเพื่อและพูดให้กำลังใจแก่เหล่าทหาร ทำให้เกิดตำนานพระพุทธรูปพูดได้ขึ้นที่วัดแห่งนี้ นับเป็นภูมิปัญญาคนโบราณที่น่าทึ่งเป็นอย่างยิ่ง

วัดพระพายหลวง

วัดพระพายหลวง
วัดพระพายหลวง
“วัดพระพายหลวง” ตั้งอยู่นอกกำแพงเมือง ใกล้กับวัดศรีชุม ผังบริเวณวัดเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า มีคูน้ำล้อมรอบ 3 ชั้น คูชั้นนอกเรียก "คูแม่โจน" วัดพระพายหลวงนี้เป็นศูนย์กลางของชุมชนในระยะแรกก่อนการสถาปนาอาณาจักรสุโขทัย ซึ่งโดดเด่นด้วยองค์ปรางค์ศิลาแลง 3 องค์ เป็นศิลปะในยุคเดียวกับศิลปะเขมรแบบบายน สมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 ส่วนด้านหน้าของวัดเป็นอาคารที่ประดิษฐานพระพุทธรูปปูนปั้น 4 อิริยาบถ คือนั่ง นอน ยืน เดิน

หอพระพุทธสิริมารวิชัย

พระพุทธสิริมารวิชัย

ภาพจิตรกรรมฝาผนังภายในหอพระพุทธสิริมารวิชัย
หอพระพุทธสิริมารวิชัย
ภายในประดิษฐาน "พระพุทธสิริมารวิชัย" พระพุทธรูปสำริดปางมารวิชัยสมัยสุโขทัยองค์เก่าแก่ที่แต่เดิมได้หักพังเสียหายหลังจากเกิดเพลิงไหม้ครั้งใหญ่ขึ้นในเมืองสุโขทัยเมื่อปี 2511 แต่ต่อมามีการบูรณะซ่อมแซมองค์พระขึ้นใหม่ รวมทั้งสร้างหอพระที่ประดิษฐานให้แก่พระพุทธรูป

ใครที่มากราบองค์พระพุทธสิริมารวิชัยแล้ว ก็ไม่ควรพลาดการชื่นชมความงามของภาพจิตรกรรมฝาผนัง ที่เขียนขึ้นอย่างสวยงามด้วยเทคนิคสมัยใหม่ด้วยการเขียนภาพลงบนผืนผ้าใบ ก่อนนำไปติดบนฝาผนังเพื่อให้ภาพคงทนยืนยาว และตัวอาคารหอพระพุทธอันงดงามซึ่งสร้างขึ้นตามแบบงานสถาปัตยกรรมยุคสุโขทัย โดยพลอากาศตรีอาวุธ เงินชูกลิ่น ศิลปินแห่งชาติสาขาทัศนศิลป์ อดีตอธิบดีกรมศิลปากร

วัดช้างล้อม

วัดช้างล้อม
วัดช้างล้อม
เป็นวัดในเขตนอกกำแพงเมืองทางฝั่งตะวันออก เชื่อว่าสร้างเพื่ออุทิศให้กับพระมหาธรรมราชาที่ 1 ราวศตวรรษที่ 20 จุดเด่นที่ตัวเจดีย์ทรงลังกา หรือระฆังคว่ำ มีช้างล้อมรอบคล้ายคลึงกับเจดีย์วัดสรศักดิ์ (มีช้างล้อมชั้นเดียว) และเจดีย์วัดช้างล้อม อีกแห่งในอุทยานประวัติศาสตร์ศรีสัชนาลัย แต่ที่นี่จะต่างกันตรงที่มีฐานช้างล้อมสูงสองชั้น ในสภาพค่อนข้างสมบูรณ์ โดยรอบฐานประกอบด้วยช้างจำนวน 32 เชือก และยังมีฐานกำแพงแก้วก่อด้วยอิฐล้อมรอบ

วัดเจดีย์สี่ห้อง

วัดเจดีย์สี่ห้อง
วัดเจดีย์สี่ห้อง
เป็นโบราณสถานทางตอนใต้ของอุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย คาดว่าสร้างราวพุทธศตวรรษที่ 20 เป็นวัดที่มีคูน้ำล้อมรอบ มีเจดีย์ประธาน เป็นทรงระฆังกลมส่วนยอดของเจดีย์ได้พังทลายลง คงปรากฏส่วนปล้องไฉนตกอยู่ที่ฐานเจดีย์ ฐานเจดีย์ประธานมีภาพปูนปั้นประดับอยู่โดยรอบ ปั้นเป็นรูปบุคคล รูปบุรุษและสตรี สวมอาภรณ์และเครื่องประดับต่าง ๆ กัน ในมือถือภาชนะมีพันธุ์พฤกษางอกโผล่พ้นออกมาแสดงถึงความเจริญงอกงามและความอุดมสมบูรณ์ ภาชนะนี้เรียกว่า หม้อปูรณฆฏะ

วัดเชตุพน

วัดเชตุพน
วัดเชตุพน
เป็นวัดโบราณขนาดใหญ่ ตั้งอยู่นอกอุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย รอบวัดมีคูน้ำล้อมรอบเพื่อแสดงเขตพุทธาวาส ซึ่งเป็นแบบแผนของวัดในอาณาจักรสุโขทัย ด้านในมี "มณฑปจัตุรมุข" ทรงสี่เหลี่ยม ประดิษฐานพระพุทธรูปสี่อิริยาบท ซึ่งประกอบด้วย อิริยาบถยืน เดิน (ลีลา) นั่ง นอน (ไสยาสน์) ส่วนแกนกลางมณฑปนี้ใช้รองรับโครงสร้างของหลังคา โดยมณฑปนี้ยังมีอยู่ที่วัดอื่นๆ อีกเช่น วัดพระพายหลวง และวัดพระสี่อิริยาบถ

ด้านหลังมณฑปจัตุรมุขมี เจดีย์ทรงวิมานย่อมุมไม้ยี่สิบ มีเสาก่อซ้อนกันเป็นหลังคา ที่ผนังมีลายเขียนเส้นสีดำลวดลายพรรณพฤกษา ล้อมรอบด้วยกำแพงแก้ว ซึ่งเป็นลูกกรงสร้างจากหินชนวน เป็นแท่งขนาดใหญ่และหนา มีการสกัดทำเป็นรูเดือยเพื่อรับซี่ลูกกรง

พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติรามคำแหง

พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติรามคำแหง
พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติรามคำแหง
ตั้งอยู่ตรงทางเข้าอุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย จัดแสดงโบราณวัตถุที่ได้จากการขุดแต่งบูรณะโบราณสถานในเขตเมืองเก่าสุโขทัย เมืองโบราณใกล้เคียง และอีกส่วนหนึ่งเป็นโบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ ที่พระโบราณวัตถาจารย์(พระราชประสิทธิคุณ) อดีตเจ้าอาวาสวัดราชธานีและเจ้าคณะจังหวัดสุโขทัย ได้อนุญาตให้เคลื่อนย้ายจากพิพิธภัณฑ์ในวัดราชธานีมาเก็บรักษาและจัดแสดง

ตลาดท่าน้ำรับเสด็จ

ตลาดท่าน้ำรับเสด็จ
ตลาดท่าน้ำรับเสด็จ
เป็นตลาดยามเย็นที่จะเปิดขายเฉพาะคืนวันศุกร์-อาทิตย์ เวลา16.00-20.00น. บริเวณริมหนองน้ำในอุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย

ภายในตลาดท่าน้ำรับเสด็จ มีร้านค้าขายสินค้าพื้นบ้าน เครื่องปั้นดินเผา เครื่องเงิน ขนมผิง ถั่วทอด ผลไม้กวน เสื้อผ้าพื้นเมือง รวมทั้งร้านขายอาหาร มีจุดนั่งรับประทานอาหารริมน้ำ สามารถชมพระอาทิตย์ตกดินยามเย็นไปพร้อมๆ กับลิ้มรสอาหารท้องถิ่น

ปั่นจักรยานชมอุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย
สำหรับการท่องเที่ยวในอุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย จะแบ่งออกเป็นภายในเขตกำแพงเมืองและนอกเขตกำแพงเมือง โดยด้านนอกเขตกำแพงเมืองอาจจะต้องเดินทางโดยรถยนต์หรือเช่ารถท้องถิ่น แต่หากว่าใครมีแรงพออาจจะใช้จักรยานปั่นชมรอบๆ ก็ได้

ส่วนในเขตกำแพงเมือง นักท่องเที่ยวนิยมปั่นจักรยานชมโบราณสถานรอบๆ ในแบบไม่รีบเร่ง จะได้ซึมซับบรรยากาศรอบๆ ได้เต็มอิ่ม แต่ถ้าใครไม่อยากปั่นจักรยาน ก็ยังมีบริการรถรางชมรอบๆ และรถไฟฟ้านำเที่ยวอีกด้วย

#########################################

สามารถส่งข้อมูลข่าวสารด้านการท่องเที่ยว-อาหารมาได้ที่ อีเมล์ travel_astvmgr@hotmail.com หรือ ชมคลิปต่าง ๆ ได้ที่ Youtube :Travel MGR และ Instagram : @travelfoodonline และ TikTok : @travelfoodonline




กำลังโหลดความคิดเห็น